Friday, 23 May 2025
NewsFeed

บก.ทท. แจ้งผลสอบ เอกสารขอสนับสนุนวัคซีนโมเดอร์นาจริง ชี้ เป็นการทำโดยพลการ ระบุไม่ได้รับมอบจากทางผบ.ทสส. จึงไม่ถือเป็นหนังสือที่ถูกต้อง พร้อมพิจารณาโทษทางวินัยกำลังพลดังกล่าว

พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพหนังสือ กรมสารบรรณทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ กห 0312.3/218 ลง 23 ก.ค.64 เรื่อง ขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 Moderna ให้กับกำลังพลและครอบครัว นั้นทางกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นการเร่งด่วน โดยผลการสอบสวนพบว่า ผู้อำนวยการกองพิธีการ กรมสารบรรณทหาร ได้ทำหนังสือเพื่อขอรับการสนับสนุนวัคซีนจริง เป็นการกระทำโดยพลการ ซึ่งผู้ที่ลงนามในหนังสือดังกล่าว ไม่ได้รับมอบอำนาจจาก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงไม่ถือเป็นหนังสือที่ถูกต้อง และไม่ได้ส่งไปยังสภากาชาดไทย ซึ่งได้ถูกยกเลิกหนังสือดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้กองบัญชาการกองทัพไทยได้พิจารณาลงโทษทางวินัยแก่กำลังพลดังกล่าว

คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีมติอนุมัติการปฏิรูปนโยบายการจัดหาเงินกู้เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำให้สามารถฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น

แถลงการณ์ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า "การปฏิรูปนโยบายการจัดหาเงินกู้ให้กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำนั้น มีเป้าหมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า ในระยะกลางนี้ไอเอ็มเอฟมีศักยภาพในการตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ โดยไอเอ็มเอฟจะจัดหาเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้กับประเทศกลุ่มนี้

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟจะขยายเพดานการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ตามปกติเพิ่มขึ้นอีก 45% และจะลดข้อจำกัดที่เข้มงวดเพื่อให้ประเทศที่ยากจนที่สุดสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้"

นายฌอน โนแลน รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของไอเอ็มเอฟ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “การตัดสินใจปรับเพิ่มเพดานการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการไอเอ็มเอฟ อนุมัติการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นในทุก ๆ โครงการ แต่จะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ ด้วยการจัดหาเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อให้ประเทศกลุ่มนี้มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเพียงพอในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพในวันข้างหน้า”

ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 6% ในปีนี้ อย่างไรก็ดี นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวในแต่ละประเทศยังคงมีความแตกต่างกัน โดยบางประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่บางประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า

นอกจากนี้ นางจอร์เจียวาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ หากอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ และหากอัตราการฉีดวัคซีนยังคงอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไป โลกจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในสิ้นปี 2565


ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/950641

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมหารือ กระทรวงแรงงาน และบีโอไอ ขอรับการจัดสรรโควตาฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรม หวังเร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันนักลงทุนเดินหน้าเศรษฐกิจได้อย่างไม่สะดุด!

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เข้าประชุมหารือร่วมกับนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานที่เป็นชาวต่างชาติในประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ มีนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากความร่วมมือของกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประมาณ 36,000 คน ในการนี้ตนได้แจ้งว่า ยังมีชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของนักลงทุนบีโอไออีกประมาณ 8,000 คน จึงขอให้กระทรวงแรงงานและบีโอไอนำไปพิจารณาเพื่อขอโควตาเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุขให้แก่นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มนี้เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นบุคลากรกลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ กนอ.มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงานชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ซึ่งกระทรวงแรงงานเห็นควรให้ กนอ.ประสานข้อมูลการขอรับการจัดสรรวัคซีนร่วมกับบีโอไอในคราวเดียว เพื่อให้การจัดสรรวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที สำหรับหลักเกณฑ์การสนับสนุนวัคซีนแก่นักลงทุนต่างชาติของ กนอ. คือ ผู้บริหารและผู้ชำนาญการจากต่างประเทศ กลุ่มสมาร์ทวีซ่าที่อยู่ในไทยเกิน 6 เดือน และครอบครัวอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรกที่อื่นมาก่อน

ส่วนวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับกลุ่มดังกล่าวคือ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น สถานที่ฉีดจะใช้จุดบริการที่มีอยู่แล้วของกระทรวงแรงงาน โดยกำหนดจุดในกรุงเทพมหานคร 10 จุด และในต่างจังหวัดที่ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ จังหวัดละ 1 จุด คาดว่าจะเริ่มทยอยฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้

“กนอ.จะพยายามติดตามความคืบหน้าในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับบุคลากรภายใต้การกำกับดูแลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ผู้ปฏิบัติงานในนิคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนเหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการผลิตและการส่งออก และช่วยนำพาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศให้มีความแข็งแกร่งตามไปด้วย เมื่อปัญหาโควิดบรรเทาลง” นายวีริศ กล่าว


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top