
เมื่อวานนี้ (27 พ.ค.68) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม Green Heart ชั้น 2 โรงแรมเดอะกรีนวิว ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยนายพิชากร ศรีจันทร์ทอง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรปราการ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม สรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการศึกษา ออกแบบ วิเคราะห์ แผนการพัฒนาโครงข่าย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาและสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่มีต่อการศึกษาของโครงการจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้พิจารณาประกอบการออกแบบรายละเอียด รวมทั้งการกำหนดมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ
โดยทางด้าน นายนิรันดร์ จันทร์ชม วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการตั้งอยู่บริเวณทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ประมาณกิโลเมตรที่ 25+900 ถึง กิโลเมตรที่ 30+800 ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล 2 อำเภอ 1 จังหวัด ได้แก่ บริเวณพื้นที่ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง ตำบลเปร็ง ตำบลบางบ่อ และตำบลระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาโครงการจะเป็นการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับรถเข้าทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยถนนโครงการจะออกแบบเป็นสะพานยกข้ามถนนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยได้มีการคัดเลือกตำแหน่งที่ตั้งทางแยกต่างระดับของโครงการ ซึ่งมีแนวทางเลือกทั้งหมด 3 แนวทาง ได้แก่
ตำแหน่งที่ 1 จุดตัดระหว่างถนนสายร่วมพัฒนา-ทล.34 บริเวณกิโลเมตรที่ 26+500 ในเขตตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตำแหน่งนี้มีจุดเด่นที่ลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบและมีชุมชนในพื้นที่ค่อนข้างน้อย แต่มีจุดด้อยคือมีตำแหน่งใกล้กับด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจราจรระหว่างการก่อสร้าง และต้องรอแผนการพัฒนาแนวเส้นทางของกรมทางหลวงชนบทที่ชัดเจน อีกทั้งการขนส่งวัสดุเพื่อการก่อสร้างยาก เนื่องจากไม่มีถนนเชื่อมต่อ และเขตทางเดิมเหลือพื้นที่น้อยสำหรับก่อสร้างทางชั่วคราว

ตำแหน่งที่ 2 จุดตัดระหว่างถนน สป.2003 บริเวณกิโลเมตรที่ 27+900 ในเขตตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตำแหน่งนี้มีจุดเด่นที่ลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบและมีชุมชนในพื้นที่ค่อนข้างน้อย แต่มีจุดด้อยคือมีตำแหน่งใกล้ด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจราจรระหว่างก่อสร้าง ต้องรอแผนการพัฒนาแนวเส้นทางของกรมทางหลวงชนบทที่ชัดเจน การขนส่งวัสดุเพื่อการก่อสร้างยาก เนื่องจากไม่มีถนนเชื่อมต่อ และเขตทางเดิมเหลือพื้นที่น้อยสำหรับก่อสร้างทางชั่วคราว
ตำแหน่งที่ 3 จุดตัดระหว่างถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี บริเวณกิโลเมตรที่ 30+200 ในเขตตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีจุดเด่นคือสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับโครงข่ายถนนเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีระยะห่างจากด่านเก็บค่าผ่านทางลาดกระบังที่เหมาะสม ลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบ และพื้นที่ก่อสร้างไม่ผ่านลำน้ำสำคัญ แต่มีจุดด้อยคือมีบ้านเรือนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
โดยจากการพิจารณาคัดเลือกพบว่า ตำแหน่งที่ 3 มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีแนวเส้นทางที่ชัดเจน สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายถนนเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับปริมาณจราจรได้ดีและเอื้อต่อการเข้าถึงพื้นที่ก่อสร้างอย่างสะดวก ลดความยุ่งยากด้านการก่อสร้างและต้นทุนการขนส่งวัสดุ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินต่ำ และให้ประโยชน์ต่อผู้ใช้ทางมากกว่าแนวทางอื่น ส่วนการคัดเลือกรูปแบบทางแยกต่างระดับของโครงการ มีแนวทางเลือกทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่
ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 1 Double Trumpet มีการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับการสัญจรระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อในทุกทิศทาง ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 2 Partial Cloverleaf with Semi Directional Ramp ฝั่งตะวันตกของแนวทางเลือก มีการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับการสัญจรระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อในทุกทิศทางทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 3 Partial Cloverleaf with Semi Directional Ramp ฝั่งตะวันออกของแนวทางเลือก มีการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับการสัญจรระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อในทุกทิศทาง

ทั้งนี้ แม้ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 2 และรูปแบบที่ 3 จะมีลักษณะทางกายภาพและจุดเด่น-จุดด้อยโดยรวมใกล้เคียงกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดด้านทิศทางการเดินทางบางจุดที่แตกต่างกัน
ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 4 Trumpet with Semi Directional Ramp มีการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับการสัญจรระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อในทุกทิศทางโดยจากการพิจารณาคัดเลือกพบว่า ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 4 Trumpet with Semi Directional Ramp มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีจุดเด่นในด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด และยังมีความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ทั้งในแง่ความสะดวกในการก่อสร้างและการบริหารจัดการด่านเก็บค่าผ่านทาง สำหรับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ สำรวจและเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยมีประเด็นที่ศึกษาครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดลอมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปศึกษาต่อในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อเตรียมกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมหารือมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กลุ่มย่อย ครั้งที่ 2) ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม - กันยายน 2568 และกำหนดจัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2568 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ เว็บไซต์ www.m7-m9-interchange-ruamphathana-rd34.com หรือ Line Official : @515fcrum