Tuesday, 13 May 2025
NewsFeed

จับตา ศบศ. ออกมาตรการประคองการจ้างงานใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) วันที่ 4 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมเตรียมพิจารณามาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องทำอย่างรวดเร็วหลังจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในระลอกล่าสุด และมีผู้ประกอบการที่รอความช่วยเหลือของมาตรการนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอาจเป็นผู้ประกอบการระดับกลาง ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ยาก และกลุ่มนี้ต้องได้รับมาตรการในการช่วยเหลือที่แตกต่างไปจากเดิม  

ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้มีการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แล้วได้ข้อสรุปในแนวทางร่วมกันว่ามาตรการที่จะออกมาจะเป็นลักษณะของการช่วยอุดหนุนค่าจ้างแรงงานหรือการช่วยจ่ายเงินเดือน ซึ่งล่าสุดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาว่า จะช่วยเหลือในสัดส่วนเท่าใดของเงินเดือน รวมทั้งระยะเวลาการจ่ายด้วย  

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีหลักการที่สำคัญคือ เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้องและยังคงประกอบกิจการอยู่ เป็นกิจการและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือไม่ได้มีปัญหามาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาด และเป็นกิจการหรือธุรกิจที่เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดและไปต่อได้หลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง

“บิ๊กตู่” เข้าทำเนียบฯ เตรียมประชุม ศูนย์บริการเศรษฐกิจ บ่ายนี้ จับตาเคาะมาตรการ เปิดเมืองภูเก็ต (Phuket Sandbox) รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ก.ค.นี้ นำร่องก่อนเปิดรับอีก 9 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ว่า วันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี เข้าทำเนียบรัฐบาล ช้ากว่าปกติ เมื่อเวลา 10.00 น.และเตรียมเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 2/2564  หรือ ศบศ.ในเวลา 13.30 น. โดยมีวาระที่น่าสนใจ คือการรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดและความคืบหน้ามาตรการด้านเศรษฐกิจที่ดำเนินการไปแล้ว ทั้งโครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจ 

นอกจากนี้จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระตุ้นการซื้อการลงทุนด้านอสังหาฯของชาวต่างชาติซึ่งต้องเป็นสมาชิกบัตรไทยแลนด์ Elite Card ภายใต้โครงการ Elite Flexible Program ขณะเดียวกันจะปรับปรุงระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและดึงดูดการลงทุน ที่สำคัญ ที่ประชุมจะพิจารณาแผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นำร่อง 10 จังหวัด ในไตรมาสที่ 3และ 4 โดยนายกรัฐมนตรีจะได้พิจารณาและรับทราบแผนที่การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะเปิดเมืองภูเก็ต (Phuket Sandbox) เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป  ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วรวมถึง เช่น ไม่กักตัวนักท่องเที่ยวหากฉีดวัคซีนครบโดส โดยแสดงหลักฐานใบรับรองการรับวัคซีน โดยหมายกลุ่มแรกที่จะเดินทาง เข้ามาท่องเที่ยว คือ กลุ่มยุโรป อเมริกา เป็นหลัก ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถึง 129,000 คน  ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศใกล้เคียงต้องจับตาดูนโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่ง ททท.จะประเมินสถานการณ์ในทุกๆ เดือน 

ส่วนอีก 9 จังหวัด แหล่งท่องเที่ยว สมุย กระบี่ พังงา พัทยา เชียงใหม่ หัวหิน ชะอำ บุรีรัมย์ และ กทม. ที่กำลังจะเปิดรับนักท่องเที่ยวก็ต้อง ดู ภูเก็ตโมเดล ก่อน  พร้อมกันนี้ ททท. จะรายงาน แผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทั้งโครงการเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ทัวร์เที่ยวไทย ที่จะเริ่มในกลางเดือน ก.ค.นี้

"แรมโบ้” จวก “จาตุรนต์" นักการเมืองเสื่อมคุณภาพ บิดเบือนข้อมูลวัคซีน แจงเหตุไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เหตุที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ของประเทศไทย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงไปแล้วว่าไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้วัคซีนฟรี

แต่ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนที่จะให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันได้เพียงพออย่างแน่นอน ขออย่าตำหนินายกฯ และรัฐบาล เพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมานายจาตุรนต์ ก็เห็นแล้วว่านายกฯ รัฐบาล ทำงานหนัก ทำทุกอย่างเต็มที่ แตกต่างกับคนที่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อชาติบ้านเมือง มีแต่ออกมาตำหนิกล่าวหาคนทำงาน และนายจาตุรนต์ ควรหัดทำตัวเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง อย่าเอาวัคซีนมาตีกินทางการเมือง หรือฝ่ายค้านตกงาน ว่างงานมาก จึงพยายามตีกินเรื่องวัคซีน แต่ประชาชนไม่ได้โง่และเข้าใจรัฐบาลดีและเห็นว่าฝ่ายค้านพยายามให้ข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงมาตลอด ส่วนนายจาตุรนต์ ก็เกาะกระแสบิดเบือนไปด้วยจนกลายเป็นนักการเมืองที่ไร้คุณภาพไปในสายตาประชาชน 

"เครือข่าย We Fair" ยื่นหนังสือ จี้ "กมธ.งบ 65" จัดลำดับความสำคัญงบ ทุ่มนโยบายสวัสดิการสังคมมากกว่าซื้ออาวุธ ด้าน "พิธา" อัด เป็นการจัดงบระหว่างอภิสิทธิ์ชน-ปชช. ในขณะที่ประเทศดิ่งเหว

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เวลา 09.40 น ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย  และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นตัวแทนรับหนังสือจากเครือข่าย We Fair เพื่อขอให้กรรมาธิการงบประมาณฯจัดลำดับความสำคัญในนโยบายสวัสดิการสังคม ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา ประกันสังคม ที่อยู่อาศัย เงินอุดหนุนเด็ก บำนาญประชาชนมากกว่านโยบายที่ไม่ใช่ลำดับความสำคัญ เช่น งบประมาณการจัดซื้ออาวุธ

โดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แกนนำเครือข่าย We Fair กล่าวว่า งบประมาณ 65 ไม่ตอบโจทย์ 3 ประเด็น ได้แก่

1.ทำไมงบสวัสดิการของประชาชนถึงลดลง 10% ขณะที่ยังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 แต่งบราชการยังเพิ่มสูงขึ้น และยังไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของงบโดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ยังคงสูงมากเป็นลำดับที่ 4 แต่กลับมีการปรับลดในส่วนของประกันสังคม บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และงบประมาณสปสช. ทำให้มีข้อกังวลว่าจะทำให้มีการปรับลดลงอีกหรือไม่ในวาระที่ 2 

2.การจัดงบครั้งนี้ยังพบวิกฤตการณ์ของความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะเงินอุดหนุนประชาชนใน 3 นโยบาย ได้แก่ นโยบายดูแลเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี และนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุที่ยังไม่มีการปรับขึ้น รวมถึงเบี้ยนโยบายคนพิการก็ยังเท่าเดิม แต่เงินสวัสดิการราชการกลับมากกว่าสวัสดิการของประชาชน เพราะงบประมาณ 40% ล้วนแต่เป็นเงินข้าราชการที่าจากงบประมาณของประเทศ ดังนั้น ต้องมีการปฏิรูประบบข้าราชการ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับกำลังพล กองทัพ มากกว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาหรือไม่ ซึ่งดูได้จากงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ได้มากกว่ากระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ

3.วิกฤติการณ์โควิดและไม่ตอบโจทย์กับเศรษฐกิจ ทางเครือข่ายจึงเดินทางมายื่นหนังสือถึงกมธ. เพื่อขอให้พิจารณาและให้ครม.ต้องทบทวนการจัดสรรงบประมาณใหม่

ด้านนายพิธา กล่าวว่า ยืนยันว่างบประมาณปีนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและไร้สามัญสำนึก มีการจัดงบระหว่างอภิสิทธิ์ชนกับประชาชนในยามที่ประเทศดิ่งเหว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมไทยว่ายังเป็นแบบไหน เรามีหน้าที่ปกป้องสวัสดิการของประชาชนที่ให้สัญญาไว้ คือ การรีดไขมันเพื่อนำงบของอภิสิทธิ์ชนและงบของทหารมาเป็นกองกลางให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีนมากว่าการจัดซื้ออาวุธและกระจายงบประมาณคืนกลับหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ต้องถูกตัดงบไป ทั้งนี้จะไปพูดคุยในกมธ.และรัฐบาลถึงเรื่องรัฐสวัสดิการในประเทศให้เขาได้เข้าใจ เพราะเราต้องโอบอุ้มคนเปราะบางให้ใช้ชีวิตต่อไปได้และประเทศไทยต้องฟื้นฟูใหม่

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายที่เราต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันประเทศเกิดวิกฤตเชื้อโรคที่โจมตีกับทุกคน ดังนั้นชีวิตมนุษย์ย่อมสำคัญกว่าวัตถุ โดยการจัดงบประมาณปี 65 ให้ความสำคัญกับวัตถุ การก่อสร้าง และการซื้ออาวุธมากกว่าชีวิตประชาชน ทางกมธ.งบประมาณฯ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและสื่อไปถึงรัฐบาลว่าประชาชนไม่ใช่ลูกหนี้ผู้รับใช้ แต่รัฐบาลและข้าราชการเป็นหนี้กับประชาชนเพราะเงินเดือนทุกบาทมาจากภาษีของประชาชน

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไม่ใส่ใจประชาชน ซึ่งในวาระแรกในชั้นพิจารณารับหลักการ ทางส.ส.ฝั่งรัฐบาลก็อภิปรายอย่างดุเดือด ชี้ให้เห็นความบกพร่องถึงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แต่ท้ายสุดกลับลงมติรับหลักการ ซึ่งตนคิดว่าเราต้องติดตามในการพิจารณาหลักการในวาระ 2 และจะร่วมกันตรวจสอบต่อไป

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุม เชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและประเมินผลแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 และยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 5 ครั้งที่ 1 พื้นที่ภาคใต้

วันนี้ (4 มิถุนายน 2564) เวลา 09.00 น. นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและประเมินผลแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2556 - 2570) ครั้งที่ 1 ในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ Cisco Webex Meeting โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมสะท้อนปัญหา และ ร่วมจัดทำแผนระดับพื้นที่พัฒนาเป็นแผนระดับชาติ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ และคณะเป็นที่ปรึกษาโครงการ 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่นำมาวิเคราะห์ยก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2556 - 2570) กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนำเสนอร่างเข้าสู่การกระบวนการ พิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป เพื่อให้แผนสามารถประกาศใช้ได้ทันตามรอบเวลา ทั้งนี้การประชุมฯ ดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม จำนวน ประมาณ 80คน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จำนวน 4ครั้ง ดังนี้ (1) พื้นที่ภาคเหนือ ในวันพุธที่ 9 มิถุนายน 2564 (2) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2564 (3) พื้นที่ภาคกลาง ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564 (4) พื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2564 

69 เครือข่ายแพทย์แผนไทย ร้องประธานสภาฯ ขอโอกาสมีส่วนร่วมเข้ารักษาผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.เวลา 10.15 น.ที่รัฐสภา นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือร้องเรียน จาก 69 เครือข่ายแพทย์แผนไทย  ที่ขอให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยมีส่วนเข้ารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการคลายกฎระเบียบที่ห้ามใช้การแพทย์แผนไทย ทำการรักษาและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 จัดตั้งศูนย์กระจายยาสมุนไพรที่ใช้ในสถานการณ์แพร่ระบาดให้ทั่วถึงควบคู่กับการกระจายการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และเปิดโอกาสให้คลินิกการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศรักษาผู้ติดเชื้อที่ยังต้องรอการส่งตัวเข้าสู่โรงพยาบาลได้ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เช่น การสอบถามอาการทางโทรศัพท์ การจัดส่งยาให้แทนการเข้าไปยังสถานพยาบาล พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยสามารถช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น พื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนหรือในโรงพยาบาลต่างๆ และให้แพทย์แผนไทยสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก ใน Hospitel และในสถานกักกันผู้ติดเชื้อ ที่ยังไม่มีอาการและผู้มีอาการไม่มาก ใช้การรักษาด้วยสมุนไพรตามตำรับแพทย์แผนไทยที่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการจ่ายยา ยาแพทย์ทางเลือก เพื่อความสอดคล้องกับวิชาชีพแพทย์แผนไทย

ศรีสุวรรณ ยื่น ป.ป.ช. สอบ ศบค. มีผลประโยชน์จัดหาวัคซีนหรือไม่

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนสอบสวนกรณีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนกรณีการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกของ อปท. แต่ติดล็อกคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่วินิจฉัยว่าระยะแรกเท่านั้นที่รัฐจะเป็นผู้ซื้อ อปท.และภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อโดยตรง ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็แสร้งปัดไปว่าไม่รู้ว่าเขาซื้อได้หรือเปล่า ซึ่งอาจเป็นข้อพิรุธในการจัดซื้อจัดหาวัคซีน

ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการฯระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง แต่ขณะนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ประกาศว่า ได้เตรียมจัดซื้อจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มมาใช้ในประเทศเป็นวัคซีนทางเลือกได้แล้ว ดังนั้น ถ้า อปท.จะจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ย่อมทำได้ ไม่ขัดต่อคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินแต่อย่างใด ซึ่งนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยควรจะสนับสนุนไม่ใช่มากระตุกขา ทำให้เกิดความล่าช้า

นอกจากนั้น ในการอภิปรายร่างกฎหมายงบประมาณในภาผู้แทนฯเมื่อวันก่อนมีการอภิปรายว่าทำไมรัฐบาลเชียร์วัคซีนกับบางยี่ห้อ เหมือนเจตนาดีเลย์ ยี่ห้ออื่น ทำให้ประชาชนเชื่อว่า รัฐบาลมีผลประโยชน์ มีส่วนต่าง มีเงินทอนกับวัคซีนใช่หรือไม่ และการที่ รมว.กระทรวงมหาดไทยและนายกรัฐมนตรีขัดขวางการจัดซื้อจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาป้องกันโควิด-19 ของ อปท. จึงเป็นการตอกย้ำข้อพิรุธ ข้อสงสัยในการจัดซื้อจัดหาว้คซีน และการฉีดให้ประชาชน อาจไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้เพราะมีการเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลาย ก.พ.64 มาจนถึงปัจจุบัน 3 เดือนกว่ายังฉีดไปได้แค่ 3 ล้านกว่าคนเท่านั้น อีก 7 เดือนจะหมดปีแล้วจะฉีดให้ครบ 65 ล้านคนได้อย่างไร ถ้าไม่เร่งรีบให้ท้องถิ่นหรือ อปท. ออกมาช่วยกันทุกวิถีทาง ซึ่งถ้าติดขัดปัญหาระเบียบหรือข้อกฎหมายใด ก็ควรเร่งแก้ไขและยกเลิกไปเสียไม่ใช่มาอ้างข้อกฎหมาย อ้างระเบียบเลอะเทอะไปหมดเช่นนี้

ที่สำคัญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ได้ออกมาระบุชัดแล้วว่า รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการ ส่วนประเด็นการเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นเรื่องที่ สตง.พร้อมให้คำแนะนำ ตอบข้อสงสัย หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานที่มีความตั้งใจและพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น การดีเลย์ให้ อปท.สั่งจองและใช้วัคซีนฉีดให้ประชาชนแม้เพียงวันเดียว ก็ถือได้ว่าเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามกฎหมายของ ป.ป.ช.แล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้สอบสวนไต่สวนเอาผิด ศบค. โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงมหาดไทย อันเนื่องมาจากการใช้เทคนิคดีเลย์การจัดหาวัคซีนของ อปท.และข้อพิรุธต่างๆ ข้างต้น 

เลขาฯ ศาลยุติธรรม เเจงไทม์ไลน์คดีภาษีโตโยต้า เร่งประสานหาข้อมูล ข้อเท็จจริงทุกมิติ เตรียมประสานขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ไต่สวนที่อเมริกา

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 64  ที่ชั้น12 สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นาย พงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เเถลงข่าวกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวการสอบสวนเกี่ยวกับคดีภาษีของ บริษัท ในเครือโตโยต้าในประเทศสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งมีการกล่าวอ้างถึงชื่อข้าราชการและอดีตข้าราชการตุลาการผู้ใหญ่ว่าอาจมีส่วนพัวพันธ์กับเรื่องนี้

นั้นตนขอเรียนว่าคดีที่มีการอ้างถึงเป็นคดีที่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษีเป็นจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษามีคำขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีฟ้องคดีแรกวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้แยกฟ้องโจทก์จึงยื่นฟ้องคดีเข้ามาใหม่อีก 9 คดีในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 10 มิถุนายน 2559 มีการสืบพยานต่อสู้คดีกันเป็นระยะเวลาปีเศษ ศาลภาษีอากรกลางจึงมีคำพิพากษาทุกคดีในวันที่ 29 กันยายน 2560 พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดทางภาษีอากร

ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับคดีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 และต่อมาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวันที่ 10 มิถุนายน 2562 เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานรัฐโจทก์จึงยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาโดยศาลภาษีอากรกลางได้อ่านคำสั่งคดีขออนุญาตฎีกาไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างศาลภาษีอากรกลางดำเนินการให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 หากยื่นคำแก้ฎีกาแล้วศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมสำนวนส่งคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป

ดังนั้นในคดีนี้ศาลฎีกาจึงยังไม่ได้พิจารณาพิพากษาคดีเพียงพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาเท่านั้นซึ่งการอนุญาตให้ฎีกาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ที่กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาเมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย

เมื่อคดีนี้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญทั้งเกี่ยวพันกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทยและยังเป็นกรณีที่ไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อนศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาได้โดยพิจารณาเพียงว่าปัญหาที่ ยื่นฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหรือไม่ยังไม่ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี แต่อย่างใด

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีภาษีอากรซึ่งเป็นคดีชำนัญพิเศษในการพิจารณาพิพากษาจะมีผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษีอากรตลอดทั้งสายตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนกระทั่งถึงศาลฎีกา 

โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีการวางระบบการทำงานในรูปแบบการประชุมคดีที่เข้มข้นขององค์คณะนับตั้งแต่เริ่มเปิดทำการเป็นต้นมาโดยองค์คณะจะร่วมกันพิจารณาคดีมีผู้ช่วยผู้พิพากษาทำหน้าที่เลขานุการคณะในการทำเอกสารสรุปข้อเท็จจริงประเด็นข้อพิพาทในคดีและข้อกฎหมายเมื่อประชุมแล้วท่านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนก็จะยกร่างคำพิพากษาตามมติการประชุมแล้วจึงส่งร่างคำพิพากษานั้นให้ผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือผู้ช่วยเล็กหลังจากผู้ช่วยเล็กตรวจสำนวนแล้วจะเสนอร่างคำพิพากษาดังกล่าวต่อผู้พิพากษาประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือเรียกว่าผู้ช่วยใหญ่เพื่อตรวจร่างคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่งเมื่อตรวจแล้วจะเสนอร่างคำพิพากษาดังกล่าวต่อรองประธานเมื่อเห็นว่าเป็นคดีสำคัญจึงส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือประธานศาลฎีกาแล้วแต่กรณีพิจารณาหากเห็นว่ามีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญก็จะสั่งให้นำปัญหานั้นเข้าสู่การพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกท่านในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีประมาณ 70 คนส่วนศาลฎีกามี 176 คน
เมื่อร่างคำพิพากษาผ่านที่ประชุมแล้วจึงจัดทำคำพิพากษาเพื่อส่งให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังต่อไป

ในส่วนของการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกานั้นแม้จะเป็นเพียงชั้นขออนุญาตฎีกาก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็กำหนดจำนวนองค์คณะไว้อย่างน้อย 4 คนโดยหนึ่งในนั้นต้องเป็นรองประธานศาลฎีกาด้วยสำหรับคดีภาษีอากรนั้นคำร้องขออนุญาตฎีกาก็จะถูกพิจารณาโดยผู้พิพากษาที่อยู่ในแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกาเป็นองค์คณะภายหลังจากองค์คณะพิจารณาแล้วในคดีนี้ได้นำเข้าประชุมแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกาเพื่อให้ผู้พิพากษาในแผนกทุกคนได้ร่วมกันพิจารณาและลงมติก่อนจะที่จะมีการส่งมาให้ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในแต่ละชั้นศาลนั้นเป็นไปอย่างมีระบบโปร่งใสมีการปรึกษาคดีและตรวจทานความถูกต้องในทุกขั้นตอนยากที่จะมีการแทรกแซงหรือกระทำการใดที่จะก่อให้เกิดผลตามที่ใครต้องการได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะมั่นใจในระบบ แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าอาจมีการกระทำที่แทรกแซงกระบวนการจนถึงขั้นอาจมีการเสนอให้สินบนขึ้นซึ่งต้องยอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์และศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง

สำนักงานศาลยุติธรรมจึงไม่นิ่งนอนใจนับตั้งแต่มีการรายงานข่าวจึงได้ดำเนินการส่งหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านกระทรวงการต่างประเทศอย่างที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วต่อมาเมื่อในเนื้อหาข่าวปรากฏชื่อบุคคลในศาลยุติธรรมขึ้นสำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลโดยที่ผมเป็นประธานคณะทำงานด้วยตัวเองคณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ติตามหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกรณีนี้ซึ่งผมได้ดำเนินการส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศแล้ว ได้แก่ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท โตโยต้าอเมริกา กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และกระทรวงการต่างประเทศรวมถึงส่งเมล์ติดต่อไปยังนักข่าวที่เขียนรายงานข่าวอันเป็นต้นทางของเรื่องนี้ และจะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนของคณะลูกขุนในรัฐเท็กซัสสหรัฐอเมริกาด้วย

ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม นาง เมทินี ชโลธรประธานศาลฎีกาได้อาศัยอำนาจตามพ. ร. บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง“ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง” 4 ท่านประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์เป็นกรรมการโดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต. ) กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยให้เสร็จโดยเร็วทั้งนี้ให้กรรมการชุดนี้เสนอความเห็นว่ากรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากมีมูลความผิดทางวินัยก็ให้พิจารณาด้วยว่าเป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใดและควรได้รับโทษสถานใดเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป 

และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิดหรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกันคณะทำงานติดตามข้อมูลที่ผมเป็นประธานจะทำงานสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงต้องการให้ความกระจ่างปรากฏต่อสาธารณชนโดยเร็วและหากพบว่าผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมายก็จะดำเนินการต่อไปอย่างเด็ดขาด ดังนั้นหากพี่น้องประชาชนสื่อมวลชนหรือหน่วยงานใดมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้เรื่องนี้กระจ่างชัดทุกท่านสามารถส่งข้อมูลมายังสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตลอดเวลา

โดยคณะทำงานติดตามข้อมูลจะดำเนินการทุกวิถีทางให้เร็วที่สุดและสำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอผลความคืบหน้าของการทำงานต่อพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นระยะ 

การพบปะสื่อมวลชนในวันนี้นอกจากจะยืนยันการตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดและจริงจังแล้วผมขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนและสังคมว่าหากคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาคู่ความจะได้รับความเป็นธรรมทุกอย่างตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนองค์คณะในศาลฎีกาจะพิจารณาคดีอย่างไม่หวั่นไหวส่วนการให้สินบนตามข่าวหากมีจริงก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการและดำเนินคดีต่อไป

วุฒิสภาจ่อถก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท 14 มิ.ย.นี้ หากผ่านสภาฯ

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมวุฒิ วันที่ 7 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.รบ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2565 เพื่อพิจารณาคู่ขนานไปพร้อมกับสภาผู้แทนราษฎร โดยกมธ. จะเป็นผู้แทนจากคณะกมธ.สามัญของวุฒิสภาจำนวน 25 คณะ คณะละ 1 คน รวม 25 คน นอกจากนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องมา คือ พ.ร.ก.ลดอัตราดอกเบี้ย และพ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ และตามขั้นตอนเมื่อที่ประชุมให้ความเห็นชอบก็จะส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป  

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ในสัปดาห์หน้าจะประชุมในวันที่ 9 มิ.ย. ซึ่งกมธ.ได้เชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วคาดว่าจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของวุฒิสภาในวันที่ 14 มิ.ย.นี้

“กลุ่มโมกหลวง” ร่อนจม.ถึง ”บิ๊กตู่” ร่วมรับผิดชอบ ครบ 1 ปี “วันเฉลิม” ถูกอุ้มหาย ชี้ มีส่วนทำให้ต้องลี้ภัย บี้ คืนความเป็นธรรมปชช.ถูกดำเนินคดีสมัยคสช.

วันที่4 มิ.ย.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ นำโดย นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่ม We Volunteer น.ส.มณฑาทิพย์ ศรีสุนทร ยื่นจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบต่อการถูกอุ้มหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ครบ1ปี โดยให้เร่งตามหาตัว พร้อมคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ถูกคสช.และรัฐบาลชุดนี้คุกคาม

น.ส.มณฑาทิพย์ อ่านแถลงการณ์ ว่า นายวันเฉลิม ถูกกล่าวหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. เมื่อปี 2557 คดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2561 กรณีโพสต์ข้อความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด และคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ในยุคคสช. 

แต่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช.ขณะนั้น และผู้เกี่ยวข้อง ไม่เหลียวแลทั้งที่คสช.มีส่วนในการคุกคาม จนต้องลี้ภัยไปประเทศกัมพูชา กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองตลอดเวลา 1 ปีเต็ม ไม่เห็นถึงความพยายามในการตามหา หรือดำเนินการช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อรักษาสวัสดิภาพของประชาชน รวมถึงคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีโดยคสช.

‘กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบในฐานะผู้บริหารประเทศ และในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินคดีนายวันเฉลิม และกดดันให้เขาต้องลี้ภัย นำไปสู่การถูกอุ้มหาย  โดยเร่งสืบสวนและตามหานายวันเฉลิม ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ และคณะมักกล่าวว่ารักชาติ จะนำความสุขสงบมาสู่ประเทศ หากเห็นความสำคัญของชาติจริงอย่างที่กล่าวอ้าง ขอให้คืนความยุติธรรมกลับสู่ประชาชน’ 

จากนั้นตัวแทนกลุ่มโมกหลวงฯ ได้หย่อนจดหมายเปิดผนึกผ่านตู้ไปรษณีย์ หน้าทำเนียบรัฐบาล ไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนแยกย้ายเดินทางกลับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top