Friday, 23 May 2025
NewsFeed

อย่าโทษสายตา ‘คนไทย’ ที่มอง ‘เมียนมา’ เปลี่ยนไป ชี้!! หลายพฤติกรรม และ คำพูด ล้วนบั่นทอนความเป็นมิตร

(3 ต.ค. 67) ช่วงนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กชาวเมียนมาหลายคนออกมาร้องไห้กันว่าถูกคนไทยมองด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ในขณะที่หลายคนเริ่มจะกลัวที่จะออกไปเดินตลาด หรือ เดินทางไปไหนมาไหน เพราะเจ้าหน้าที่เคร่งครัด และตรวจสอบคนต่างด้าวกันมากขึ้น

จากที่เอย่าให้ทีมงานในไทยไปสังเกตการณ์ตามตลาดที่เคยเป็นแหล่งที่มีชาวเมียนมาพลุกพล่าน ก็พบว่ามีคนเมียนมาบางตาไปจริงๆ ส่วนหนึ่งเพราะกลัว และไม่มีความรู้ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนั้น คือ คนที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง

คงจะมาว่าต่อว่าคนไทยไม่ได้ เพราะเอย่า ย้ำเสมอว่า ประเทศไทยให้โอกาสคนต่างด้าวเสมอ เพียงแต่ต้องอยู่ และกระทำตัวให้เหมาะสมกับการที่เข้ามาอาศัยในต่างบ้านต่างเมือง

จากการที่มีคลิปออกตามโซเชียลที่ผ่านมา ตั้งแต่มีชาวต่างด้าวเข้าชุมนุมทางการเมืองขับไล่ผู้นำไทยในรัฐบาลก่อนก็ดี หรือการไปชุมนุมตามที่สาธารณะก็ดี หรือการออกคลิปตามโซเชียลที่กระทำ หรือพูดอะไรที่ไม่เป็นไปตามครรลองของประเทศไทย นั่นคือ ชนวนที่เป็นระเบิดเวลาทำลายความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อคนต่างด้าวในไทย

ยิ่งด้วยสภาพเศรษฐกิจในไทยทุกวันนี้ด้วยแล้ว คนไทยหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกต่างด้าวแย่งงานแย่งอาชีพคงไม่ได้รู้สึกยินดีที่คนเหล่านั้นมาได้ดีในประเทศไทย

และดูเหมือนว่าคนพม่าที่อยู่ในเมียนมาก็ไม่ได้แยแสกับคนเมียนมาที่อยู่ในไทยเช่นกัน หลายคนกล่าวว่าก็เลือกจะไปเองก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ เอย่าก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวเมียนมาที่เข้ามาอย่างถูกต้องไม่ต้องกลัว หากเรามีเอกสารสามารถสำแดงตัวตนว่าเราเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องเจ้าหน้าที่ก็คงจับเราไม่ได้ ส่วนเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจของคนไทยก็คงต้องอาศัยเวลา และอัธยาศัยของคนเมียนมาที่มีน้ำใจไมตรีค่อย ๆ เปลี่ยนภาพลักษณ์ และมุมมองของคนไทยที่มีต่อชาวเมียนมานั้นขอให้อดทน

รมว.กต.เผยนายกฯ เตรียมกล่าวถ้อยแถลงเวทีผู้นำ ACD ครั้งที่ 3 พร้อมหารือทวิภาคีร่วมอิหร่าน-คูเวต-กาตาร์และทาจิกิสถาน - ย้ำยังห่วงคนไทยในตะวันออกกลาง กำชับคอยติดตามข่าวสารทางการ-สอท.

(3 ต.ค. 67) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งร่วมคณะเดินทางกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมประชุม Asia Cooperation Dialogue หรือ ACD ครั้งที่ 3 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เปิดเผยกำหนดการสำคัญของนายกรัฐมนตรี ในการร่วมประชุมในวันนี้ (3 ต.ค.) ว่า นายกรัฐมนตรี มีกำหนดหารือทวิภาคี หรือ Bilateral ร่วมกับผู้นำอิหร่าน ในฐานะที่เป็นประธาน ACD ปีนี้ รวมถึง ผู้นำคูเวต, กาตาร์ และประเทศทาจิกิสถาน

นอกจากนั้น ในเวลาประมาณ 14.20 น. ตามเวลาประเทศไทย นายกรัฐมนตรี จะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2559 มาก่อน และในฐานะประธาน ACD ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคมนี้ โดยนายกรัฐมนตรี ต้องการผลักดันให้ ACD เป็นเวทีการหารือระดับนโยบาย เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย ส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นเวทีที่ประเทศสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้วยความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลก รวมทั้งความท้าทายจากการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจร่วมกัน 

นายมาริษ ชี้แจงด้วยว่า ACD ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 โดยการริเริ่มของไทย ปัจจุบันมีสมาชิก 35 ประเทศ ซึ่งวัตถุประสงค์ และความสำคัญของ ACD นั้น เป็นเวทีหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเอเชียที่ประเทศสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ของโลก ส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นเวทีเดียวในเอเชียที่เชื่อมโยงประเทศในทุกพื้นที่ของทวีปเอเชีย
(Pan-Asian Forum) และกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ BRICS, ASEAN และ CICA เป็นต้น

นายมาริษ ยังย้ำอีกว่า นายกรัฐมนตรี ยังคงติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เนื่องจาก มีความห่วงกังวลต่อพลเมือง และสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม โดยได้ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด และยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย และยังแสดงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงในตะวันออกกลาง จึงกำชับให้คนไทยในพื้นที่ทุกคนติดตาม และปฎิบัติตามคำแนะนำของทางการท้องถิ่น และสถานเอกอัครราชทูตไทยอย่างเคร่งครัด

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เร่งเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ – อีสาน ในโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมมูลค่ากว่า 4.4 ล้านบาท พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตรวจรักษาและจ่ายยาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ พร้อมด้วย นางศิริพร กระจ่างหล้า ผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นายรัชพร ประสงค์ทรัพย์ หัวหน้าแผนกสาธารณภัย ลงพื้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย และนายชุมพล บุญภักดี ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกสาธารณภัยลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช และน้ำปลา ให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด เครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 9,000 ชุด นอกจากนี้ยังได้ มอบเงินสงเคราะห์ค่าฌาปนกิจให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 18 รายๆ ละ 20,000 บาท รวมงบประมาณการช่วยเหลือทั้งสิ้น 4,410,000 บาท (สี่ล้านสี่แสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ทีมงานแผนกบรรเทาสาธารณภัย และแผนกอาสาสมัครมูลนิธิฯ รวมทั้ง อาสาสมัครกิตติมศักดิ์มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริพร โอภาสวงศ์ และ นางศิริวรรณ โอภาสวงศ์ และอาสาสมัครศิลปินมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางสาวอัญชลี จงคดีกิจ (ปุ๊-อัญชลี) ร่วมลงพื้นที่แจกจ่ายและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่  รวมถึง มูลนิธิฯ / สมาคมจีนประจำจังหวัดต่างๆ เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี

นอกจากนี้  นางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้นำทีมหน่วยแพทย์ฯ และเจ้าหน้าที่กู้ชีพ แผนกบรรเทาสาธารณภัยฯ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา คัดกรองเบาหวาน ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น บริการตัดผม ฯลฯ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีประชาชนเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก

นับตั้งแต่เกิดอุทกภัยใหญ่ในช่วงเดือนกรกฎาคม2567 เป็นต้นมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคเหนือ - อีสาน ในโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลดแล้วทั้งสิ้น 10 จังหวัด รวมงบประมาณการช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 9.5 ล้านบาท

เมื่อเกิดอุทกภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดทีมบรรเทาสาธารณภัย พร้อมเรือท้องแบน และ โรงครัวเคลื่อนที่เพื่อประกอบอาหารกล่อง พร้อมถุงยังชีพ ชุดยาเวชภัณฑ์ และอาหารสุนัขและแมว นำแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เพื่อการบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ในเบื้องต้น หลังจากนั้น ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ จะดำเนินการประสานหน่วยงานในพื้นที่เพื่อบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยแจกเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงมอบเงินค่าฌาปนกิจศพแก่ญาติผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย รายละ 20,000 บาท ทั้งนี้ หากมีผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย ญาติของผู้เสียชีวิตสามารถขอรับเงินช่วยเหลือค่าฌาปนกิจศพ จากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่ สายด่วนป่อเต็กตึ๊ง 1418 ต่อ ฝ่ายสังคมสงเคราะห์

ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการภารกิจในพื้นที่ และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านต่าง ๆ ต่อไป

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง www.facebook.com/pohtecktungofficial

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง #ช่วยชีวิต #รักษาชีวิต #สร้างชีวิต”
#แอปพลิเคชัน และ #สายด่วน ป่อเต็กตึ๊ง1418
#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

Molly Tea ชานมมะลิสัญชาติจีนบุกตลาดไทย ดึง ‘ปอร์เช่-ชาช่า’ 2 ศิลปินดัง ร่วมฉลองเปิดสาขาแรกสุดเอ็กซ์คลูซีฟ

(3 ต.ค.67) เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ Molly Tea แบรนด์เครื่องดื่มชานมมะลิสัญชาติจีน พรีเมียม ต้นกำเนิดจากเมืองเซินเจิ้น ที่มีกว่า 800 สาขาทั่วโลก โดยสาขาแรกที่ไทย ได้บุกใจกลางสยามอย่าง เซ็นเตอร์พอยท์สยามสแควร์ชั้น 1

สำหรับ Molly Tea สาขาแรก ได้เปิดให้ทุกคนมาสัมผัสประสบการณ์ชานม มะลิที่มากับเอกลักษณ์แบรนด์สีชมพูสุดคิวท์ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

ขณะที่ภายในงานมี 'ปอร์เช่ ธนธรณ์ เจริญรัตนพร' หนุ่มหล่อนักแสดงนำจากซีรีส์ MY STAND-IN ตัวนาย ตัวแทน และ 'ชาช่า กนกรักษ์งาม ลิขิตเลิศ' เด็กฝึกตัวเต็ง 30 คนสุดท้าย จากรายการ CHUANGASIA THAILAND 2024 มาร่วมโชว์การแสดงสุดเอ็กซ์คลูซีฟ พร้อมลิ้ม รสชาติเครื่องดื่มสุดพิเศษ อีกทั้งยังมีสื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังมากมายมาร่วมสัมผัส ประสบการณ์ ชานมมะลิพรีเมียม ที่ Molly Tea สาขาแรก ในไทย อีกด้วย

สำหรับจุดเด่นและความพิเศษของ Molly Tea ที่ไม่เหมือนใคร คือ ความหอมของกลิ่นมะลิที่ส่งตรงมาจากจีนแบบพรีเมียม พร้อมส่งมอบความสดชื่นตลอดการดื่มด่ำ ไปกับรสชาติแบบต้นตำรับ มากไปกว่านั้นยังมีเมนูคริสปี้ครีม เพิ่มความคลาสสิกได้อย่างลงตัว

ACD มั่นใจวิสัยทัศน์นายกฯของคนไทยย้ำบทบาทไทยในเวที ACD จะสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและส่งเสริมสันติภาพ พร้อมผลักดันวาระ 'ศตวรรษแห่งเอเชีย'

(3 ต.ค.67) เวลา 10.30 น. เวลาท้องถิ่นกรุงโดฮา หรือเวลา 14.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ณ โรงแรม Ritz-Carlton Doha กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 3 และขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ท่ามกลางผู้นำประเทศสมาชิก 35 ประเทศ

โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณ เจ้าภาพกาตาร์ ที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น และกล่าวถึงความสำเร็จของการจัดการประชุม ACD ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ 'การทูตผ่านกีฬา' (Sports Diplomacy) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการใช้การกีฬา ที่สามารถเชื่อมความแตกต่างและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของโลก ซึ่งความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ เมื่อปี 2022 เป็นตัวอย่างที่สำคัญและแนวคิดนี้สอดคล้องกับจุดยืนของประเทศไทยที่จะะส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

ส่วนในประเด็นสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์  และด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมระหว่างประเทศ ไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด และขอให้ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมดโดยทันที เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ ACD ท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนและต้องการการแก้ไข เช่นความขัดแย้งทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในฐานะผู้นำของประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่นำพาและสร้างความร่วมมือเพื่อเสถียรภาพและการเติบโตของประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกัน ศตวรรษที่ 21 นี้ได้ถูกกล่าวขานว่าเป็น 'ศตวรรษแห่งเอเชีย' และเอเชียมีประชาชนกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลกอีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหารของโลก เปรียบเสมือน 'แหล่งพลังงาน' และ 'ครัวของโลก'
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไป ว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการตอบสนอง ต่อความต้องการอาหารทั่วโลก และประเทศไทยเห็นว่าการประชุมในครั้งนี้สมาชิก ACD จะได้ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายทางการค้า และปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก โดยประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่สำคัญ สามารถเป็นประตูสู่การเชื่อมต่อในโลกตะวันออก กับโลกตะวันตกได้เป็นอย่างดี  รัฐบาลไทยจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการขนส่งทางบก การขนส่งทางราง และทางน้ำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และยังพร้อมเพิ่มสนามบินใหม่ ๆ และพัฒนาศักยภาพสนามบินที่มีอยู่เพื่อรองรับทั้งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าต่าง ๆ ทั้งนี้ประเทศไทยขอเชิญชวน ประเทศสมาชิก ACD มาร่วมกันพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อเชื่อมต่อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วทั้งเอเชียในฐานะที่เอเชียเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก
 
ปัจจุบันบทบาทของ ACD มีความสำคัญมากขึ้น โดยเป็นกรอบความร่วมมือระดับทวีปแห่งแรกและแห่งเดียวของเอเชีย ซึ่งรวมภูมิภาคต่าง ๆ ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะสานต่อแนวคิดนี้ในการดำรงตำแหน่งประธาน ACD ในวันที่ 1 มกราคม 2568 นี้โดยเล็งเห็นว่า ACD  จะเป็น 'เวทีหารือของเอเชีย' (converging forum of Asia) และเน้นย้ำว่า ไทยในฐานะผู้เป็นสะพานเชื่อม ACD มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งนี้ ในการเป็นประธาน ACD ของไทยในต้นปีหน้านี้ ประเทศไทยจะขับเคลื่อการทำงานภายใต้การขับเคลื่อนในกรอบ 6 เสาความร่วมมือ (pillar of cooperation ) กันอย่างมียุทธศาสตร์ ผนวกกับความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น ได้แก่ ASEAN GCC (Gulf Cooperation Council: GCC) BRICS CICA และ SCO เพื่อร่วมกันสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก 

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงความสำคัญของการทบทวน สถาปัตยกรรมทางการเงิน โดยบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีตจากวิกฤตการเงิน ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีระบบการเงินที่มีความสมดุลและยืดหยุ่น ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้าง 'สถาปัตยกรรมการเงินที่สมดุล' ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งภายใต้การเป็นประธาน ACD ในปีหน้า ประเทศไทยจะจัดการประชุมเพื่อพิจารณาการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงิน 

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐกาตาร์ที่เป็นเจ้าภาพการประชุม และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในการทำหน้าที่อย่างแข็งขันในฐานะประธานการประชุมปีนี้ พร้อมแสดงความยินดีที่ได้ร่วมงานกับเลขาธิการ ACD คนใหม่ โดยการประชุมนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของ ACD ที่พร้อมร่วมมือกัน มากกว่าการแข่งขันและความขัดแย้ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศของสมาชิก ACD และยกระดับชีวิตประชาชนหลายล้านคน นำไปสู่การฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานในปีหน้า ไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันวาระของ ACD เพื่อสร้างเอเชียที่แข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น พร้อมกับเน้นความร่วมมือเพื่อทำให้ศตวรรษนี้เป็น 'ศตวรรษแห่งเอเชีย' อย่างแท้จริง โดยมี ACD เป็น 'เวทีหารือแห่งเอเชีย' (Forum of Asia) ที่พร้อมจะร่วมกันผลักดัน 'วาระของเอเชีย' (Asia’s agenda) ต่อไปให้ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาที่สำคัญของประเทศสมาชิกต่อไปนายจิรายุกล่าว

อนึ่ง กรอบ ACD มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน 6 เสาความร่วมมือ (pillar of cooperation) ได้แก่ (1) ตุรกีและรัสเซีย เป็นประธานร่วมคณะทำงานด้านความเชื่อมโยง (2) อินเดียเป็นประธานคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (3) อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) จีนเป็นประธานคณะทำงานด้านความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (5) อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (6) ไทยเป็นประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมแนวทางไปสู่การพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยประธานของแต่ละคณะทำงานมีภารกิจในการจัดประชุมเพื่อหารือ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือโดยประธานคณะทำงานดังกล่าวมีวาระ 1 ปี และต้องสรรหาใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประธาน ACD ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก ACD อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งเสาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน

‘พีระพันธุ์’ ให้การต้อนรับพร้อมรายงานต่อ ‘องคมนตรี’ โครงการสนับสนุนการดำเนินงาน รพ.สมเด็จพระยุพราช

รองนายกฯ ‘พีระพันธุ์’ รายงานความก้าวหน้าโครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้การดำเนินงานของ ก.พลังงาน และ กฟผ. ต่อ องคมนตรี ในโอกาสเยี่ยมชมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี

(3 ต.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้าของโครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช คนที่ 2 ในโอกาสเยี่ยมชมโครงการดังกล่าว ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัด กระทรวงสาธารณสุข น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หน่วยงานราชการ ในพื้นที่ ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ได้รายงานถึงความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการนี้ว่า โครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่ง ทั่วประเทศ เป็น 1 ใน 10 โครงการสืบสานพระราชปณิธานองค์ราชัน ที่กระทรวงพลังงานและ กฟผ. จัดทำขึ้นในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเริ่มดำเนินการและส่งมอบโครงการฯ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน การดำเนินโครงการได้มีความคืบหน้าภายใต้กิจกรรมส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและคุณภาพอากาศ กิจกรรมส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข และกิจกรรมส่งเสริมด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมีการล้างเครื่องปรับอากาศไปแล้ว 3,357 เครื่อง มีการติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ หรือ City Tree ครบจำนวน 21 เครื่อง มีการสนับสนุนเลนส์เทียมสำหรับผู้ป่วยต้อกระจกและผู้สูงอายุ ไปแล้ว 1,200 คู่  และออกหน่วยให้บริการแว่นตาในโรงพยาบาล ไปแล้ว 11 แห่ง จำนวน 16,500 แว่นตา รวมทั้งการปลูกต้นรวงผึ้งในโรงพยาบาล ซึ่งจากการดำเนินโครงการฯ คาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานได้ 2.75 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,420 ตันต่อปี รวมถึงก่อให้เกิดคุณภาพอากาศที่ดีภายในโรงพยาบาล และเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านการมองเห็นให้กับผู้สูงอายุและผู้เข้ารับบริการด้วย

ในโอกาสนี้ องคมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมหน่วยให้บริการตรวจวัดสายตา แก้ปัญหาสุขภาพตา และประกอบแว่นโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน  ร่วมปลูกต้นรวงผึ้ง พรรณไม้ประจำสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตล้างเครื่องปรับอากาศ และ นวัตกรรม City Tree ซึ่งนำไปติดตั้งที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง เป็นนวัตกรรมลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และกำจัดเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย สามารถกรองฝุ่นได้ถึง 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ช่วยสร้างอากาศให้มีความสดชื่นเหมือนอยู่ในธรรมชาติ อีกทั้งเป็นที่พักผ่อนให้แก่ผู้ใช้บริการโรงพยาบาล

นอกจากนี้ องคมนตรียังได้มอบถุงของขวัญพระราชทานแก่ผู้ป่วย ประกอบด้วยเครื่องบริโภค จำนวน 100 ชุด และมอบโล่เกียรติยศให้แก่กระทรวงพลังงานในการสนับสนุนการดำเนินงานแก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้รับมอบ

ประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงนโยบาย เน้นย้ำการบริหารจัดการคดีและบังคับคดีด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว พร้อมยกระดับการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยี ก้าวสู่ศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.67) เวลา 09.30 น. นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงนโยบายการบริหารงานศาลปกครอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 เพื่อให้ตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ตลอดจนบุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 10 อาคารศาลปกครองถนนแจ้งวัฒนะ และถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบLive Streaming และระบบ Cisco WebexMeetings ให้แก่บุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค ได้ร่วมรับฟังโดยพร้อมเพรียงกัน

ประธานศาลปกครองสูงสุดได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนศาลปกครองเป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรฐานการบริหารจัดการคดีที่เป็นสากลจึงได้กำหนดนโยบายหลัก
ในการดำเนินงานของศาลปกครอง 

ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 ดังนี้
1. บริหารจัดการคดีและบังคับคดีด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว โดยการเร่งรัดและติดตาม
การบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานศาลปกครอง
พ.ศ. 2566-2570 ในส่วนของการบริหารจัดการคดีค้างนั้น ตั้งเป้าหมายว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จะไม่มีคดีค้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ลงไป และคดีค้างของปี พ.ศ. 2565-2567 จะคงเหลือไม่เกินร้อยละ 25 ของคดีค้างทั้งหมด สำหรับกรณีคดีรับเข้าใหม่และคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการจะต้องพยายามบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จในกรอบระยะเวลาตามประกาศศาลปกครอง เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานคดี
ในศาลปกครอง พ.ศ. 2566 

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว จะต้องเร่งรัดขั้นตอนการกลั่นกรอง
ร่างคำวินิจฉัยที่ค้างอยู่จำนวนมาก รวมถึงจัดทำแนวคำวินิจฉัยต้นแบบ เพื่อเป็นแนวทางในการเรียบเรียง
คำพิพากษาหรือคำสั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดี

นอกจากนี้ จะต้องรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์
พร้อมส่งเสริมให้บุคลากรศาลปกครองขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองโดยใช้ระบบงาน
คดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการสัมมนาปัญหากฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้บุคลากรศาลปกครอง ปฏิรูประบบงาน โดยการสนับสนุนให้วิเคราะห์ปัญหาที่ส่งผลต่อการพิจารณาคดีที่ล่าช้า และนำมาสู่
การกำหนดแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน รวมถึงส่งเสริมให้ตุลาการศาลปกครองนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ในคดีปกครองมาใช้ในการระงับข้อพิพาททางปกครอง และส่งเสริมความร่วมมือของคู่กรณีให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อยุติข้อพิพาทด้วยความเรียบง่าย รวดเร็ว 

รวมทั้งผลักดันการใช้ระบบไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาทในคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คดีเสร็จจากศาลโดยเร็ว และปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ
ที่เกี่ยวข้องให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ศึกษาวิเคราะห์ผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้องเกี่ยวกับรูปแบบของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของคดี

ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองที่ยั่งยืน เป็นธรรม โดยผลักดันการปรับปรุงพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่เกี่ยวข้องกับ
คดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับความรู้ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม
ทั้งบุคลากรศาลปกครอง หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งส่งเสริมระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองให้มีมาตรฐาน

ในส่วนของการบังคับคดีปกครอง จะเร่งรัดการบังคับคดีปกครองให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา และต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบังคับคดี รวมทั้งส่งเสริมให้บุคลากรศาลปกครองใช้ระบบการบังคับคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ชั้นบังคับคดี และศึกษาเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองชั้นบังคับคดีด้วย

2. เสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม โดยการส่งเสริมสนับสนุนการวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดี เพื่อเสนอแนวปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของศาลปกครอง เผยแพร่ต่อหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้แพร่หลายส่งเสริมให้ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์(ALL Cloud) เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองและแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของ
ศาลปกครองเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงเสริมสร้างกลไกภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของศาลปกครองในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแพร่หลายและครอบคลุมทุกภาคส่วน

3. ส่งเสริมผลักดันระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Admincourt) ในประเด็นนี้เป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญ โดยจะผลักดันให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับ
การปฏิบัติงานของศาลปกครองและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์
(e-Admincourt) ที่สมบูรณ์ ทั้งในส่วนของระบบที่สนับสนุนการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน (e-Service) ระบบการใช้งานของศาลปกครอง (e-Court) ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทั้งการไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาท การพิจารณาพิพากษาคดี และการบังคับคดีปกครอง และระบบการใช้งานของสำนักงาน
ศาลปกครอง (e-Office) ให้มีความพร้อมสอดคล้องกัน 

นอกจากนี้ จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบเครือข่าย การเชื่อมโยงข้อมูล และระบบความมั่นคงปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการใช้ระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเพิ่มจำนวนห้องพิจารณา/ไต่สวนคดี
ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Courtrooms) เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่มากขึ้น เสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อวางระบบและรากฐานของศาลปกครองที่จะก้าวสู่การเป็นศาลปกครองอัจฉริยะ (Smart Admincourt)ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2571-2575 ต่อไป

4. พัฒนาองค์กรให้ทันสมัย มีมาตรฐานในระดับสากล โดยการพัฒนาระบบวิธีการปฏิบัติงานของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองให้มีความทันสมัย โปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล โดยผสานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว
นอกจากนี้ จะเร่งรัดการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลปกครองในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น 
ในด้านการพัฒนาบุคลากร 

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนภาระงานต่าง ๆ ก็จะส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรม
ศาลปกครอง (TRUST) ให้บุคลากรทุกคนสามารถดำรงตนได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน

สำหรับการพัฒนาองค์กรให้มีมาตรฐานในระดับสากล จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการศาลและวิชาการกับองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรของศาลปกครองและเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของศาลปกครอง รวมถึงสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นสากล

ท้ายนี้ ประธานศาลปกครองสูงสุดขอให้ความเชื่อมั่นว่า จะมุ่งมั่นและทุ่มเทในการนำพาศาลปกครองให้ไปสู่การบรรลุเป้าหมายสำคัญ นั่นคือศาลปกครองเป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรฐานการบริหารจัดการคดีที่เป็นสากล ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 โดยขอให้บุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองทุกคน ร่วมกันขับเคลื่อนงานของศาลปกครองตามนโยบายสำคัญข้างต้น
ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ เพื่อให้ศาลปกครองเป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยต่อไป

'นายกฯ อิ๊งค์' ติดลิสต์ ‘Times 100 Next’ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต ‘นิตยสารไทม์’

(4 ต.ค.67) นิตยสารไทม์ (Time) ประกาศรายชื่อ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต Times 100 Next ที่แบ่งแยกออกเป็น 5 หมวดหมู่ ประกอบด้วย ศิลปิน (Artists) ผู้สร้างปรากฏการณ์ (Phenoms) ผู้สร้างนวัตกรรม (Innovators) ผู้นำ (Leaders) และผู้ให้การสนับสนุน (Advocates) โดยในปีนี้ มีชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ติดอันดับในประเภทผู้นำ (Leaders)

ไทม์ ได้เขียนถึง น.ส.แพทองธารว่า เธอได้สร้างประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ไม่กี่วันก่อนวันเกิดปีที่ 38 ของเธอ ด้วยการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดในเอเชียที่เคยมีมา

การขึ้นตำแหน่งของเธอ ไม่เป็นเรื่องน่าตกใจนัก เธอเป็นบุตรสาวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและมหาเศรษฐีแห่งวงการสื่อสาร ของไทยในปี 2544 และ ถูกรัฐประหารในอีก 5 ปีต่อมา กระนั้นยังมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นลุง และ อา ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในประเทศไทย แต่ถูกแทรกแซงโดยตุลาการและทหาร

น.ส.แพทองธาร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลรัฐธรรมนูญไทย ได้มีคำตัดสินให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“ประเทศไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” น.ส.แพทองธาร บอกกับไทม์ เมื่อปีก่อน

อย่างไรก็ตาม 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต Time 100 Next นี้ มี 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็เคยติดอันดับเมื่อปี 2019 และ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ติดอันดับในปี 2023 เช่นกัน

สำหรับนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นครั้งแรกที่ติดอันดับ Time 100 Next แต่ในแง่ของการได้รับการจัดอันดับในระดับสากล 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' เคยถูกจัดอันดับอยู่ใน 'ผู้ทรงอิทธิพล' เช่นกัน แต่เป็นการจัดอันดับโดย นิตยสารฟอร์บส์ที่จัดอันดับ 100 สตรีทรงอิทธิพลของโลก (The Most Powerful Women) ประจำปี 2011 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ลำดับที่ 59 ในปี 2011 และในปี 2012 ยิ่งลักษณ์ ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 31 จาก 100 ผู้หญิงทั่วโลก

'กลุ่ม ปตท.' ชู 3 แนวทาง สู่ Net Zero ตอกย้ำ 'ความยั่งยืนอย่างสมดุล

แนวทาง 3C ของกลุ่ม ปตท. ไม่เพียงช่วยนำสู่เป้าหมาย Net Zero แต่ยังเป็นโอกาสให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และธุรกิจไฮโดรเจน ด้วย 

1. Climate Resilience Business 
ปรับ Portfolio พิจารณาเรื่องการปลดปล่อยคาร์บอน ควบคู่กับการเติบโตทางธุรกิจ 

2. Carbon-Conscious Asset 
-การปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ใช้พลังงานสะอาด อาทิ Hydrogen 
-การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต 
-การนำคาร์บอนไดออกไซด์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Carbon Capture and Utilization: CCU) 
 
3. Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All 
-ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเป็นแกนหลักของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก 
-ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) 
-การเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า 

ดร.สุวินัย ชี้ใกล้ถึงจุดตัดสินเหตุการณ์ปะทะ ‘อิหร่าน-อิสราเอล’ ในตะวันออกกลาง พี่ใหญ่ ‘สหรัฐ’ ไม่เอาสงครามภูมิภาค หวั่น! จีน-รัสเซีย-อิหร่าน เกาะกลุ่มแน่น

(4 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเขียนชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างอิสราเอล-อิหร่านในชื่อ ‘ตุลาคม คือคำตอบ’ บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า

‘ตุลาคม’ คือคำตอบ

อิสราเอลต้องการทำสงครามโดยมีส่วนร่วมของสหรัฐอเมริกา อิหร่านกำลังพยายามป้องกันสงครามใหญ่

‘ยูเครนและอิสราเอล’ ต้องการดึงสหรัฐฯ เข้าสู่ความขัดแย้ง แต่พวกเขาจะพบว่าตัวเองติดกับดัก ต้องการสงครามแต่ทำเนียบขาวไม่ขี่ม้าขาวส่งกองกำลังผสมมาช่วย 

หลังจากนั้นปลายเดือนนี้รัสเซีย​และจีน พร้อมชาติ BRICS ที่ ‘คาซาน’ จะม้วนเสื่อ กรอบความคิดเกี่ยวกับ ‘ทฤษฎีพันล้านทองคำ’ โลกาภิวัตน์และรัฐลึก ไว้ใต้พรมตลอดชีวิต

‘ทฤษฎีพันล้านทองคำ’ เป็นทฤษฎีสมคบคิดที่กลุ่มคนชั้นสูงระดับโลก กำลังใช้เส้นสายเพื่อสะสมความมั่งคั่งให้กับคนรวยที่สุดจำนวนหนึ่งของโลก โดยไม่คำนึงถึงมนุษยชาติที่เหลือ ทฤษฎีนี้เป็นคำศัพท์ที่นิยมใช้กันในโลกที่พูดภาษารัสเซีย

>>>การยับยั้งสงครามใหญ่ ชนวนแห่งสงครามโลกครั้งที่สาม
(1) การโจมตีในพื้นที่มีความหมาย​เฉพาะของอิหร่านบนดินแดนอิสราเอล​ไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อย การโจมตีสำนักงานใหญ่ของ Mossad ในเทลอาวีฟ และหน่วยที่อยู่รอบนอกเพียงครั้งเดียวจะมีผลยับยั้งและไม่น่าจะนำไปสู่สงครามใหญ่

ขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศของอิสราเอลใน Nevatim ซึ่งมีเครื่องบินของอเมริกาและอิสราเอล 30 ถึง 50 ลำประจำการอยู่ พื้นที่นี้ทางการอิสราเอล พยายามปกปิดความเสียหายอยู่

โดยที่อิหร่านไม่ได้ใช้ขีปนาวุธจำนวนมาก แค่บางส่วนเพียงเท่านั้น แต่สามารถเอาชนะระบบป้องกันทางอากาศ/ป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอลและพันธมิตรได้ มีรายงานว่าขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงเกือบทั้งหมดไปถึงเป้าหมาย

การโจมตีที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ที่จะมีผลยับยั้งต่ออิสราเอลและสหรัฐฯ จึงเป็นการยากที่เทลอาวีฟจะเดินหน้าเพิ่มระดับความรุนแรง

อิสราเอลกำลังทำเช่นนี้ เพื่อดึงสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ความขัดแย้ง แต่เตหะรานกำลังพยายามอย่างดีที่สุดที่จะตอบสนองต่อพวกเขา ในลักษณะที่จะป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย

(2) อิหร่านกำลังจัดปาร์ตี้เดือนตุลาคม และการนิ่งของเตหะรานต่อการถูกลอบสังหาร ผู้นำหลายท่านในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่ความอ่อนแอ 

ส่วนสงครามในยูเครนและชายแดนรัสเซียจะจบลงในเดือนตุลาคม หรืออย่างช้าคือสิ้นปีนี้แหละ เพราะ... 

เป็นความจริงที่อิสราเอลตั้งใจที่จะประสานแผนกับสหรัฐฯ เพื่อเปิดฉากโจมตีบนดินแดนของอิหร่านโดยจะต้องอาศัยความร่วมมือเชิงป้องกันกับกองบัญชาการกลางของสหรัฐฯ รวมทั้งอาวุธเพิ่มเติมสำหรับกองทัพอากาศอิสราเอล และอาจต้องได้รับการสนับสนุนปฏิบัติการประเภทอื่น ๆ จากสหรัฐฯ 

แต่ในเดือนหน้า วอชิงตันไม่ต้องการเพิ่มระดับความรุนแรงในตะวันออกกลาง เพราะผลที่ตามมาจากการแลกเปลี่ยนการโจมตี อาจไม่เป็นตามที่อิสราเอลคาดหวัง ไม่ว่าจะผลจะเป็น บวกหรือลบ

ชาติในตะวันออกกลาง อาจมองว่าอิสราเอลเป็นภัยคุกคามระดับใหม่ ซึ่งจะต้องต่อต้านทันที เตหะรานจะกระชับความสัมพันธ์กับมอสโกและปักกิ่งให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ซึ่งมันเป็นผลดีกับทำเนียบขาวตรงไหน วอชิงตันอยากแยกพวกเขาทั้งสามออกจากกัน ไม่ใช่สร้างสถานการณ์​เพื่อให้เกิด สามประสาน และทำลายยาก

สิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ คือความจำเป็นในการแทรกแซงในระดับใหญ่ การส่งทรัพยากรและกระสุนเพิ่มเติมให้กับอิสราเอล และก็ยังต้องแก้ไขกลยุทธ์และวาทกรรมในทิศทางของยูเครนเพื่อรักษาพื้นที่เดิม 

และหากสหรัฐฯ ต้องเข้าแทรกแซงความขัดแย้งโดยตรงในเดือนหน้า (พฤศจิกายน)​ ที่จะมีการเลือกตั้ง รัฐลึกก็จะเปลี่ยนสภาพไปอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมผลการเลือกตั้งไม่ได้อย่างสิ้นเชิง 

ดังนั้น วอชิงตันจะพยายามแก้ไขความขัดแย้งด้วยพลังทั้งหมด ไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่รับประกันการยืดเวลาการโจมตีซึ่งกันและกัน

ขณะนี้ สหรัฐฯ 'ห้ามปราม' อิสราเอลไม่ให้ตอบโต้อิหร่าน และจนถึงขณะนี้ สถานการณ์ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรง 

เหตุผลนั้นชัดเจน ... การปะทะดังกล่าวอาจกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ ทำลายแผนการทางการเมืองทั้งหมด และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากการสื่อสารเคเบิลใต้น้ำทางทะเลในตะวันออกกลางมีบทบาทในการสั่งการเป็นอย่างมาก

แต่สงครามระหว่างอิสราเอลและฮิซบุลเลาะห์ยังคงดำเนินต่อไป 

ณ เวลานี้ ตัวเลือก "สหรัฐฯ กำลังจัดตั้งกองกำลังผสมเพื่อโจมตีอิหร่าน" ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ใช่

แทบจะรับประกันได้เลยว่าผู้นำนาโต้จะไม่รวมอยู่ในกองกำลังผสมดังกล่าว และการร่วมมือกันของอิสราเอลและราชวงศ์อาหรับในอ่าวเปอร์เซียต่ออิหร่านก็ถูกตัดออก เนื่องจากทัศนคติเฉพาะเจาะจงของชาวอาหรับที่มีต่อเปอร์เซีย ดีขึ้นในช่วงหลัง

สหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ต้องการสงครามในตะวันออกกลาง 

และในระหว่างนี้สหรัฐอเมริกาไม่อยากกระตุ้นให้อิหร่าน​กลายเป็นสมาชิกโดยพฤตินัยของ 'Club Nuclear' อย่างรวดเร็ว 

การแก้ปัญหาทางการทูตเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา เพราะวอชิงตันเน้นย้ำว่าอิหร่านเป็นอำนาจนิวเคลียร์ 'ที่ซ่อนอยู่' ซึ่งเป็นอำนาจที่ยังคงไม่ใช้นิวเคลียร์ตามความใจชอบ 

แต่เมื่อเตหะรานตัดสินใจที่จะเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมเป็นอาวุธ อิหร่านจะกลายเป็นสมาชิกโดยพฤตินัยของ 'Club Nuclear' ไปแล้ว

ผลที่ตามมาจะทำให้เตหะรานมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ 

ตะวันออกกลางเป็นจุดตัดระหว่างการค้าโลก โทรคมนาคม และการจัดหาพลังงานให้กับยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ภูมิภาคนี้มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และอิทธิพลของอิหร่านจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

อย่างน้อยที่สุด อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในสหรัฐฯ 

อีกทั้งการคว่ำบาตรอิหร่านจะยากขึ้นมากเนื่องจากไพ่เด็ดด้านนิวเคลียร์สามารถใช้ได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ตะวันออกกลาง 

ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกทั้งหมด อิหร่านยังไม่ได้ครอบงำภูมิภาคนี้ แต่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ อิหร่านจะกลายเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ ในทางภูมิศาสตร์ทันที

สิ่งเหล่านี้คือความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก​ของทำเนียบขาว เหตุผลที่ทำไมเตหะรานรอเดือนตุลาคม โดยชะลอการโจมตีอิสราเอล ปิดปากอยู่เงียบ ๆ จนโลกชี้หน้าว่า อ่อนแอ ไม่แก้แค้นเสียที 

เตหะรานต้องแก้แค้นแน่นอน แต่ต้องควบคุมวิถีของสงครามให้อยู่ในวงจำกัดได้อีกด้วย และส่งไม่ให้ ปูตินและลุงสี ปลายเดือนนี้ในการล้มกรอบความคิดเกี่ยวกับ 'ทฤษฎีพันล้านทองคำ' ของโลกาภิวัตน์และรัฐลึก ไว้ใต้พรมตลอดชีวิต ที่เมืองคาซาน สหพันธรัฐ​รัสเซีย

~ AnneHya

>>>อิหร่านมีรายได้หลักจากการค้าน้ำมัน (แม้จะอยู่ภายใต้มาตรการแซงชันของตะวันตก) ทำให้มีรายได้ สำหรับการพัฒนาด้านกองทัพ และ สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง
>>>หากสถานีน้ำมันของอิหร่านถูกอิสราเอลโจมตี จะสร้างผลกระทบแรง ต่อราคาน้ำมันที่จะพุ่งขึ้น และจะกระทบกับการขนส่งทางทะเลในอ่าวเปอร์เซีย

>>>เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบ เงินเฟ้อจะพุ่งแรง (ราคาทองคำ และ น้ำมันจะพุ่งขึ้นด้วยกันสวนทางกับ ตลาดหุ้น และ ตลาดบอนด์ ที่ถูกหนุนเอาไว้ ด้วย พันธบัตรอเมริกาที่จะดิ่งลง)
>>>ความตึงเครียดที่ยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ ในตะวันออกกลาง จากการเปิดศึกของอิสราเอล ที่หนุนหลังโดย อเมริกา และกลุ่ม G7 รวมทั้งตอนนี้ คือการเปิดหน้า โจมตีกันไปมา ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน

>>>ผู้คุมเกม/ผู้รู้เท่าทัน ได้เล็งเห็น ผลลัพธ์ล่วงหน้าแล้วว่าความขัดแย้งเหล่านี้ จะต้องนำไปสู่สงครามขั้นแตกหัก (สงครามใหญ่ระดับสงครามโลก) และการพังทลายของระบบเศรษฐกิจโลก ที่หนุนด้วย พันธบัตรอเมริกา
>>>ขั้วอำนาจตะวันออก ... ได้ถือกำเนิดกลุ่ม BRICS และสกุลเงินใหม่ที่อิงด้วยทองคำ (BRICS Unit) โดยไม่ต้องอาศัย ดอลลาร์... ที่จะมีการประกาศความชัดเจนมากขึ้น ในการประชุมใหญ่ BRICS Summit ในวันที่ 24 ตุลาคม 2024 ที่รัสเซีย... อิหร่าน และ กลุ่ม East จึงมีการเพิ่มการสะสมทองคำ เพื่อใช้อ้างอิงสกุลเงินใหม่แบบดิจิทัล (Digital payment system)... ที่ท้าทาย ดอลลาร์ (ซึ่งกำลังเสื่อมอำนาจซื้อลงเรื่อย ๆ)

>>>ขั้วอำนาจตะวันตก ... โดยกองทุนจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก คือ BlackRock ซึ่งมี AUM (Asset Under Management ) 10.65 T(rillion dollars) ใน Q2 2024 

รองลงมาคือ Vanguard มี AUM ที่ 8.7T... เพื่อปกป้องความเสี่ยงจากระบบการเงินของโลก ที่มีดอลลาร์เป็นเงินสำรองหลัก ที่กำลังจะล่มสลาย

ด้วยการที่ BlackRock ได้ก่อตั้ง BUIDL (กองทุนเพื่อสภาพคล่องแห่งสถาบันแบบดอลลาร์ดิจิทัล) (BlackRock USD Institutional Digital Liquidity Fund)... โดยแปลง ดอลลาร์ เป็นเหรียญโทเคน (Tokenised fund) บน Ethereum Blockchain (ในความร่วมมือกับ Ethena Labs)... ซึ่งจะจ่ายผลตอบแทนจากดอลลาร์ ผ่านเหรียญโทเคน (Stablecoin UStb) ที่อิงด้วยกองทุน BUIDL ซึ่งลงทุนใน US Dollars, US Treasury bills และ Repo (Repurchase agreements)

รายใหญ่ เขาเตรียมเรือชูชีพ/ทางรอด/Hedging เอาไว้แล้ว เพราะเล็งเห็นแล้วว่า 'เรือใหญ่ดอลลาร์' กำลังจะจม

ย้อนมาดูตัวเล็ก ๆ เช่นเรา ตอนนี้ เราต้องตกผลึกทางความคิดกันแล้วว่า..เรือชูชีพของเรา คือ ปัจจัย 4 ที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบ, ที่หลบภัย, และทองคำแท่งในกำมือ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top