Sunday, 30 June 2024
NewsFeed

'คลัง' เดินหน้า 'ธนารักษ์เอื้อราษฎร์' มอบสัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน 9 จังหวัด 1,900 ราย 7,000 ไร่ ใน 6 เดือน

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล แถลงข่าวในโครงการ “ธนารักษ์เอื้อราษฎร์  มอบสัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน” ว่า

กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ต้องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน และต้องการบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำที่ดินราชพัสดุในความครอบครองของส่วนราชการ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า มาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ทำให้เข้าถึงด้านสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ และบริการสาธารณะของภาครัฐ ด้วยอัตราค่าเช่าต่ำและผ่อนปรน

ซึ่งการมอบสัญญาเช่าที่ดินจะเกิดขึ้นใน 9 จังหวัด กว่า 1,900 ราย กว่า 7,000 ไร่ ภายใน 6 เดือน ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา 248 ไร่ เชียงราย 273 ไร่ เชียงใหม่ 281 ไร่ นครสวรรค์ 1,120 ไร่ นครพนม 661 ไร่ กาฬสินธุ์ 1,174 ไร่ ปัตตานี 29 ไร่ ราชบุรี 1,500 ไร่ และสุราษฎร์ธานี 2,100 ไร่ ทั้งหมดนี้ได้สั่งการให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน 

โดยมี “ค่าเช่าต่ำและผ่อนปรน” ดังนี้ ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย หากไม่เกิน 100 ตารางวา อัตราเช่า 0.25 บาท/ตารางวา/เดือน หากเกิน 100 ตารางวา อัตราเช่า 0.50 บาท/ตารางวา/เดือน และหากเป็นที่ดินเพื่อประกอบการเกษตร เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ อัตราเช่า 20 บาท/ไร่/ปี และหากเกิน 50 ไร่ อัตราเช่า 30 บาท/ไร่/ปี เป็นสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าของกรมที่ดินให้กับประชาชน แต่สามารถขอเป็นสัญญาเช่า 30 ปีได้ หากผู้เช่าประสงค์

เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงการคลังต้องการพลิกชีวิต พลิกคุณภาพชีวิตของประชาชน

'ใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน' นวัตกรรมแปรรูปเกษตรเหลือทิ้ง มอบความหวังแก้ปัญหา PM2.5 ยั่งยืน รายแรกของเมืองไทย

(28 มิ.ย.67) ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี ให้บริการวิชาการและวิจัยการแปรรูปชีวมวลเหลือทิ้ง มาเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆ เพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล ทำงานวิจัยเกี่ยวกับชีวมวลหลากหลาย โดยได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งปัญหาของชีวมวลประเภทหนึ่งเรียกว่า ‘ชีวมวลเบา’ เช่น ใบอ้อย ฟางข้าว ถ้าขนย้ายเพื่อนำไปทำพลังงานทางเลือกจะมีปัญหาค่าขนส่งแพง คนนำไปใช้ไม่คุ้ม

โดยเฉพาะ ‘ใบอ้อย’ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเบาชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาที่ศูนย์วิจัยจุฬาฯ สระบุรี ว่าจะมีแนวทางการแปรรูปอย่างไร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมเกษตรกรไม่ให้เผาอ้อย ซึ่งสุดท้ายได้แนวคิดว่า ชีวมวลเบาทุกชนิดจำเป็นจะต้องทำให้เป็นชีวมวลหนาแน่นก่อน จึงได้มีการทดลองผลิตเป็นเชื้อเพลิงแข็งหนาแน่นประเภท ‘อัดเม็ด’

หลังจาก ศูนย์วิจัยจุฬาฯศึกษาการนำใบ้อ้อยมาอัดเม็ดสำเร็จ จึงศึกษาวิจัยการ ‘อัดก้อน’ โดยได้รับทุนวิจัยจาก บพข. และ สกว. ศึกษาเรื่องใบอ้อยอัดก้อนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว พบว่าการนำใบอ้อยมาอัดเป็นก้อนทำให้มีความหนาแน่นมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการขนส่ง คือจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ขณะที่ต้นทุนการขนส่งลดลงเกือบ 3 เท่าตัว ที่สำคัญเชื้อเพลิงนี้มีความชื้นต่ำ เก็บรักษาได้นาน การป้อนเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ทำได้ง่าย ไม่เกิดฝุ่นขณะการป้อน อีกทั้งยังสามารถเผาใบอ้อยอัดก้อนให้เป็นถ่านที่เรียกว่า ‘ไบโอชาร์’ ได้ สามารถนำไปใช้เพื่อคิดเป็นคาร์บอนเครดิต นี่คือปลายทางที่จะได้จากการแปรรูปดังกล่าว

ปัจจุบัน บริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส จำกัด ได้นำงานวิจัยดังกล่าว ไปแก้ปัญหาการเก็บเกี่ยวอ้อย ที่มีเรื่องการเผาเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีรถตัดอ้อย ต้องใช้คนเก็บเกี่ยว จึงจำเป็นต้องเผา บริษัท ทรัพย์ถาวรฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวไร่ มีพื้นที่ปลูกอ้อยหลายพันไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ทางบริษัทมีรถตัดอ้อยเก็บเกี่ยว จึงไม่ได้มีการเผาอ้อย และยังสามารถนำใบอ้อยที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวขายให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล อีกส่วนหนึ่งบริษัทก็รับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรในเครือข่ายด้วย แต่ปัญหาคือการขนใบอ้อยเป็นฟ่อนๆ ไม่คุ้มกับต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากรถบรรทุกน้ำหนัก 25 ตัน ใช้ขนใบอ้อยได้แค่ 17-18 ตันก็เต็มคันรถ ทางบริษัทจึงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะแปรรูปใบอ้อยก่อนส่งขายให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อสะดวกในการขนส่งและใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ด้วย

บริษัทได้รับคำแนะนำจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ไปดูงานวิจัยของศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี และได้พบงานวิจัยการแปรรูปใบอ้อยเป็น ‘ใบอ้อยอัดเม็ดและอัดก้อน’ ถือเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย ที่นำงานวิจัยไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้  แม้การนำใบอ้อยไปผลิตกระแสไฟฟ้าจะมีมานานแล้ว แต่รูปแบบการใช้เป็นการนำใบอ้อยไปป่นก่อนทำเป็นเชื้อเพลิง แต่ของทางบริษัทเป็นรูปแบบการอัดเม็ดหรืออัดก้อน ขนส่งสะดวก เก็บไว้ได้นาน มีความชื้นต่ำและมีความหนาแน่นสูง ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้หลายประเภท

ขณะที่เครื่องจักรซึ่งนำมาใช้ในการแปรรูปใบอ้อยเป็นใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน บริษัท ทรัพย์ถาวร ได้พันธมิตรคือ บริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) มาผลิตให้ โดยจุดเริ่มต้นความร่วมมือมาจากการที่ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. มีความชำนาญในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ต้องการใช้ความชำนาญในอุตสาหกรรมดังกล่าว มาพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ทางปาล์ม ฯลฯ 

บริษัท ที.เอ็ม.ซี. ได้ทำการศึกษาว่า มีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่ไหนบ้าง ที่สามารถแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมขั้นสูง และพบว่า ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี ทำเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว มีการตั้งศูนย์สระบุรีขึ้นมา เพื่อการวิจัยด้านการเกษตรเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. จึงเข้าไปขอใช้บริการทางวิชาการ โดยให้จุฬาฯช่วยถ่ายทอดงานวิจัย เพื่อผลิตเป็นเครื่องจักรกลการเกษตรแบบต่างๆ

พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจุฬาฯ สระบุรี ได้แนะนำผู้บริหารบริษัท ที.เอ็ม.ซี. ให้รู้จักกับผู้บริหารบริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส ซึ่งมีความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตโดยคนไทย มีนวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาแปรรูปใบอ้อยเป็นผลิตภัณฑ์ใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสองบริษัทมีความร่วมมือกัน โดย บริษัท ที.เอ็ม.ซี.มีความชำนาญในด้านการผลิตเครื่องจักรกล ส่วน บริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส มีวัตถุดิบใบอ้อยที่ต้องการแปรรูป

ความร่วมมือของสองบริษัทที่มี ศูนย์วิจัยจุฬาฯ สระบุรี เป็นจุดเชื่อมโยง จึงเปรียบเสมือนการนำร่องแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร แก้ปัญหาการเผา ลดมลพิษ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในอนาคตอาจมีโรงงานแบบนี้เกิดขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศ เพราะใบอ้อยเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ถ้านำมาทำประโยชน์ด้านพลังงานทางเลือกได้ ก็จะช่วยลดการเผา ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ไม่ใช่ได้ประโยชน์เฉพาะชาวไร่ แต่ได้ทุกฝ่าย แม้กระทั่งประเทศชาติก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาทุกปี นอกเหนือจากไร่อ้อย ยังสามารถนำไปปรับใช้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างอื่น เช่น ข้าว ข้าวโพด หรือ ใบไม้ต่าง ๆ ก็สามารถเก็บมาขายให้กับโรงงานแปรรูปได้ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมบีซีจี ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

‘ลิซ่า’ ปล่อย ‘MV Rockstar’ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงแตะ 1 ล้านวิว พร้อมดึง ‘เสน่ห์เยาวราช’ สู่สายตาชาวโลกอย่างเต็มเหนี่ยว

(28 มิ.ย. 67) ปล่อยออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับมิวสิควิดีโอ Rockstar ของ ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BlackPink’ ที่งานนี้เจ้าตัว ใส่เต็มทำถึงขอลบภาพจำในอดีตถึงประเทศไทย

การกลับมาครั้งนี้ของ ลิซ่า นับเป็นการยืนยันให้ทั่วโลกได้เห็นว่าเธอคือ Rockstar ศิลปินระดับโลก โดย ลิซ่า กลับมาในสไตล์ฮิปฮอปที่เจ้าตัวชื่นชอบ

มีการใช้โลเคชันเยาวราชถ่ายทำเป็นหลัก ตามที่มีรายงานก่อนหน้านี้ว่าปิดถนนถ่ายทำกันถึง 3 คืน เพื่อดึงสีสันยามค่ำคืนที่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเมืองไทย พร้อมใช้เทคนิคพิเศษระดับเดียวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ในมิวสิควิดีโอตัวนี้ด้วย 

นอกจากนั้นในส่วนของการเต้นกับแดนเซอร์ชุดขาวอีก 100 ชีวิต มีรายงานว่าทีมแดนเซอร์ถูกฝึกซ้อมให้นับจังหวะกันเองโดยไม่มีดนตรี จนกระทั่ง ลิซ่า ปรากฏตัวจึงมีการซ้อมร่วมกับเพลงและศิลปินและถ่ายทำกันทันที

Rockstar นับเป็นซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรกของ ลิซ่า หลังจากที่ออกมาตั้งค่ายของตนเองอย่าง LLOUD ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นเทรนด์ขึ้นอันดับหนึ่งในหลายโซเชียลมีเดียทั่วโลก กับแฮชแท็ก #MusicianLISAisBack และ #LLOUD และ Rockstar ยังสามารถแตะทะลุ 1 ล้านวิวภายในไม่ถึงครึ่งชม. อีกด้วย

‘กระทรวงดีอี’ มอบอุปกรณ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน 500 ศูนย์ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน สร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตกับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

วันที่ 27 มิถุนายน 2567  นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบอุปกรณ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 500 ศูนย์ทั่วประเทศ ‘โครงการเช่าอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน’ ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยมีนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , นางอำไพ จิตรแจ่มใส รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางสาวรัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ตลอดจนผู้บริหารศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 6 แห่ง เข้ารับมอบอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน ณ ห้องประชุม MDES1 ชั้น 9 สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้แทนศูนย์ดิจิทัลชุมชนทั่วประเทศ เข้าร่วมรับมอบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยนายประเสริฐ กล่าวแสดงความยินดีพร้อมย้ำว่ารัฐบาลได้มีนโยบายที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทุกคนเข้าถึงได้ให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมทั่วประเทศ

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้ดำเนินโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อเป็นการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่จัดตั้งอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผลักดันให้เกิดสังคมแห่งการสร้างภูมิปัญญาและการเรียนรู้ (Knowledge Base Society) เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน สามารถสืบค้นข้อมูล เรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมการค้าขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน อีกทั้งยังเป็นการขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งทางด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีไปสู่ส่วนท้องถิ่น ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการให้บริการของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น โดยมีความมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีการพัฒนาไปข้างหน้าพร้อมกันทุกด้าน ทั้งคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดประโยชน์ กับประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สดช. ได้จัดให้มี ‘ศูนย์ดิจิทัลชุมชน’ ภายใต้กิจกรรมการเช่าอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน โครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์ดิจิทัลและบุคลากรสนับสนุน เป็นการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับท้องถิ่น ซึ่งกระจายอยู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่เข้าถึงและมีความสะดวกในการใช้บริการ เช่น วัด มัสยิด ที่ทำการหมู่บ้าน สหกรณ์ องค์กรปกครองส่งท้องถิ่น โรงเรียน ห้องสมุด ค่ายทหาร เป็นต้น เพื่อลดช่องว่างทางด้านดิจิทัลให้กับชุมชน ประชาชนทุกกลุ่มและทุกพื้นที่ให้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเชื่อมโลกที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา การสร้างรายได้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในปัจจุบัน กิจกรรมการเช่าอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน กำลังจะสิ้นสุดสัญญา โดย เอสเอ คอนซอเตียม (SA Consortium) ซึ่งเป็นคู่สัญญา ยินดีสนับสนุนอุปกรณ์ตามโครงการฯ ให้แก่หน่วยงานที่เป็นที่ตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 500 แห่ง

นายภุชงค์ กล่าวว่า  โดยในวันนี้ มีผู้บริหารศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 6 แห่ง เข้าร่วมรับมอบอุปกรณ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้แก่  1) ศูนย์ดิจิทัลชุมชน มูลนิธิออทิสติกไทย , 2) ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เคหะชุมชนบางชัน , 3) ศูนย์ดิจิทัลชุมชนมัสยิดประเสริฐอิสลาม , 4) ศูนย์ดิจิทัลชุมชน วัดทองบน , 5) ศูนย์ดิจิทัลชุมชน วัดกระทุ่มเสือปลา และ  6) ศูนย์ดิจิทัลชุมชน บางพูนพัฒนา และผู้แทนศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 494 แห่ง เข้าร่วมรับมอบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนสามารถใช้บริการศูนย์ดิจิทัลชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถบริหารจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชนได้เองอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับอุปกรณ์ที่ได้มอบให้กับศูนย์ดิจิทัลชุมชน มีจำนวน 24 รายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 5,000 เครื่อง ชุดโปรแกรมติดตั้งคอมพิวเตอร์ จำนวน 5,000 เครื่อง เครื่องพิมพ์ Multifunction จำนวน 500 เครื่อง อุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สาย จำนวน 500 เครื่อง โทรทัศน์ LED TV จำนวน 500 เครื่อง กล้องถ่ายรูปดิจิทัล จำนวน 500 เครื่อง กล้อง โทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่าย จำนวน 500 เครื่อง และชุดสตูดิโอ จำนวน 500 ชุด เป็นต้น

‘สาวสอง’ MV ‘ลิซ่า’ ได้ซีนใหญ่!! โคลสอัปหน้าสะพัดทั่วโลก ทำโลกโซเชียลร้อน!! ไล่ตามตัว 'เป็นใคร?' แม้โผล่เพียงแค่ไม่กี่วิ

(28 มิ.ย. 67) หลังจากที่ ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BlackPink’ เปิดตัวมิวสิควิดีโอ Rockstar ผลงานโซโล่เดี่ยวครั้งแรกในฐานะเจ้าของค่ายเพลง ก็นับว่าทำถึงจนคนไทยขนลุกไปตาม ๆ กัน

งานนี้มีการใช้ทีมงานชาวไทยเกินครึ่งในการถ่ายทำ ซึ่งบรรดาตัวประกอบและแดนเซอร์ที่ปรากฏตัวในมิวสิควิดีโอต่างเป็นปลื้มกันถ้วนหน้าที่ได้มีผลงานร่วมกับ ลิซ่า

แต่งานนี้ซีนใหญ่ที่อดพูดถึงไม่ได้คือการปรากฏตัวของ LGBTQ+ ที่เห็นชัดคือสาวข้ามเพศ มีการโคลสอัพหน้าแบบเดี่ยว ๆ ได้ซีนใหญ่ไปเต็ม ๆ จึงเกิดการตามหาตัวขึ้น

โดยสาวคนแรกคือคนที่หลาย ๆ คนนึกว่าเป็นดาราสาว ‘เนย โชติกา วงศ์วิลาศ’ เพราะความสวยกระแทกตาจนไปละม้ายคล้ายกัน แต่แท้จริงแล้วเธอคือ ‘หมอบรูซ-คชิสรา ศรีดาโคตร’ รองอันดับ 1 มิสทิฟฟานีไทยแลนด์ปีล่าสุด จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและนักเพศวิทยาคลินิก ซึ่งยังนับว่าเป็นแพทย์คนแรกที่ได้รับรางวัลของเวทีมิสทิฟฟานีด้วย

ส่วนอีกหนึ่งคนคือ ชินวัตร พรมศรี  หรือ ชินรวดี ปัญญารัศมิ์สกุล ที่หลาย ๆ คนรู้จักเธอในชื่อ ชินนี่ ออฟฟิเชียล, ชินนี่ แบงค็อก และ ชินนี่ ไทยแลนด์ ที่เคยสร้างเสียงฮือฮากับการใส่ชุดนักเรียนชายแต่เดินข้ามถนนแบบสับด้วยจริตตัวแม่ แม้งานนี้เธอจะยังไม่ได้แปลงเพศ แต่ความสวยและจริตตัวมารดาก็ทำเอาเธอสวยจนชาวต่างชาตินึกว่าหญิงแท้กันเลยทีเดียว

และสาวคนสุดท้ายที่แม้จะไม่มีซีนเดี่ยว แต่ก็ได้ซีนรวมตัว เธอคือ กี้ รินทร์ณิญา พุฒิโภคินลักษณ์  ที่เคยเข้าประกวด Miss Tiffany’s Universe ครั้งที่ 25 โดยผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้าย

การแสดงภาพสะท้อนความสัมพันธ์มนุษย์กับเทคโนโลยี ผ่านดนตรีและการเต้นร่วมสมัย เปิดม่านครั้งแรก 5 ก.ค. 67

เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย. 67) ที่ศูนย์ศิลปะการละครสดใสพันธุมโกมล อาคารมหาจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดแถลงข่าว ‘IBM 1401’ งานแสดงที่เป็นเหมือนภาพสะท้อนความสัมพันธ์ของมนุษย์ในยุคแรกเริ่มของเทคโนโลยี ผ่านการเต้นร่วมสมัย ออกแบบท่าเต้นและกำกับการแสดงโดย ‘คุณทราย สมบูรณ์’ ศิลปินชาวไทยผู้อาศัยและมีประสบการณ์ด้านการแสดงในนิวยอร์กกว่า 20 ปี ด้วยการเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ผ่านการเคลื่อนไหว การเต้น และการถ่ายทอดทางอารมณ์ของตัวละครอย่างเข้มข้น นำแสดงโดย อานันท์ วงศ์ไพศาล, แพรพลอย โตเหมือน, ธนารัฐ ชมพูวณิชกุล และ ภาวิดา วชิรปัญญาพร ทั้งนี้ ยังมีนักแสดงรองโดย กิตติพัฒน์ ศรีนาราง และ ธนกฤต การะมัด

การแสดงนี้ควบคู่ไปกับสกอร์เพลงจากอัลบั้ม IBM 1401 : A User's Manual โดย โยฮันน์ โยฮันน์สสัน (Johann Jóhannsson) นักประพันธ์ดนตรีชาวไอซ์แลนด์ ผสมผสานเข้ากับเสียงหึ่งอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่อง IBM 1401 บรรเลงดนตรีสดด้วยเครื่องสาย 6 ชิ้น โดยนักดนตรีมืออาชีพจาก วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (The Royal Bangkok Symphony Orchestra), วงดุริยางค์ราชนาวี (the Royal Thai Navy Orchestra) และ วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Symphony Orchestra)

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ‘IBM 1401’ ถูกจัดแสดงขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ และถูกพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นเวอร์ชันใหม่ ซึ่งล่าสุดจะมีการจัดแสดงขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม 2567 

คุณทราย สมบูรณ์ ผู้ออกแบบท่าเต้นและกำกับการแสดง เปิดเผยว่า “ผมเป็นคนไทยแต่ใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานแสดงในนิวยอร์กมาหลายปี ซึ่งก็พยายามกลับมาประเทศไทยให้ได้มากที่สุด จึงได้มีโอกาสเจอกับ ‘คุณมาริสา มาร์คีเทลลี่’ ผู้กำกับศิลป์กลุ่มกลมที่ จ.เชียงใหม่ และได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน”

“ผมมั่นใจว่าเรื่องนี้จะเป็นโปรเจกต์ที่สวยงามมาก จะเป็นศิลปะการแสดงใหม่ ๆ ในวงการงานแสดง เพราะไม่มีบทพูด และจะมีไลฟ์มิวสิกที่บรรเลงโดยนักดนตรีออร์เคสตรามากฝีมือ ซึ่งผมฟังครั้งแรกก็น้ำตาไหล เป็นอะไรที่มหัศจรรย์จริง ๆ และที่ยอดเยี่ยมเหมือนกันก็คือ คุณโจนัส แดปท์ ผู้กำกับดนตรี ได้สร้างสรรค์ดนตรีเอง ซึ่งเราก็มีความคิดที่จะพัฒนาเรื่องนี้ต่อไปด้วย"

คุณทราย สมบูรณ์ ระบุอีกว่า “IBM 1401 ในเวอร์ชันนี้จะมีความพิเศษกว่าเวอร์ชันเดิม ทั้งการเต้นที่เพิ่มมากขึ้น มีการสร้างสรรค์ดนตรีขึ้นมา โดยทาง คุณโจนัส แดปท์ ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงของ Jóhann Jóhannsson ซึ่งเป็นเพลงที่ฟังแล้วเพราะมาก รวมทั้งในเวอร์ชันนี้ยังเป็นนักแสดงที่กรุงเทพฯ ที่สำคัญคือเราได้จัดการแสดงในโรงละครอันทรงเกียรติ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

"การแสดงครั้งนี้ อยากให้ผู้ชมเข้ามาแล้วตีความในแบบของแต่ละคนเอง แม้เราจะศึกษาข้อมูลของ IBM 1401 ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นมามากมาย แต่นี่ไม่ใช่สารคดี แต่เป็นประสบการณ์ที่อยากให้ผู้ชมได้ตีความ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่อยากให้ผู้ชมได้เข้าใจจุดนี้"

คุณโจนัส แดปท์ ผู้กำกับดนตรี กล่าวว่า “Jóhann Jóhannsson มีชื่อเสียงในด้านการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ เป็นเพลงที่ฟังแล้วเห็นภาพ ในการแสดงครั้งนี้จะมีเพลงให้ฟังกัน 6 เพลง เป็นเพลงของ Jóhann Jóhannsson จำนวน 5 เพลง และเป็นเพลงที่ผมแต่งเองอีก 1 เพลง และความพิเศษคือผู้ชมจะได้ฟังเสียงพูดของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผสมกับเครื่องดนตรีอีกด้วย”

คุณมาริสา มาร์คีเทลลี่ ผู้กำกับศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความสำคัญของ IBM 1401 เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มาประเทศไทย และทั่วโลกยังเป็นคอมพิวเตอร์ที่ผลิต 1 หมื่นชิ้น ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเยอะมาก และมีราคาสูงมาก ซึ่งในงานแสดงครั้งนี้ได้มี IBM 1401 แบบจำลองมาให้ชมกัน และในส่วนของฉากก็ได้เพิ่มเข้ามาจากเวอร์ชันเดิมค่อนข้างเยอะ”

คุณนลธวัช มะชัย โปรดิวเซอร์ กล่าวว่า “IBM 1401 เราทราบกันว่าเป็นชื่อของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ถูกนำเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราได้จัดแสดงที่นี่ และที่ผ่านมาเราได้พยายามตามหาเครื่อง IBM 1401 แต่เหมือนเป็นการเล่นซ่อนแอบ ก่อนหน้านี้เครื่อง IBM 1401 อยู่ที่ท้องฟ้าจำลอง แต่ได้มีการเคลื่อนย้ายในช่วงน้ำท่วม โดยระหว่างนั้นได้สูญหายไป จนปัจจุบันก็ยังไม่พบ”

"การแสดง IBM 1401 ยังเป็นการรำลึกความทรงจำวัยเด็กของใครหลายคน เมื่อดูแล้วจะยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ค่อย ๆ เข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว ละครจะพาเรากลับไปให้เห็นพัฒนาการเหล่านี้ จึงอยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมสัมผัสในช่วงเวลาเหล่านี้ด้วยกัน"

นอกจากนี้รายได้ส่วนหนึ่งจาก IBM1401 จะถูกบริจาคให้กับโครงการ Glom Dream Wagon ซึ่งเป็นโครงการไม่แสวงผลกำไร เป็นรถโรงละครเคลื่อนที่ที่จะเดินทางไปตามโรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อนำพาเด็ก ๆ ได้ก้าวสู่โลกของละครและสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ของพวกเขา โดยทัวร์ต่อไปมีชื่อว่า Akynum 2 โดยจะเดินทางไปยังโรงเรียนตามชนบทในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในเดือนธันวาคมนี้ สร้างสรรค์การแสดงโดยกลุ่มละคร Part Time Theatre

รอบจัดการแสดง
วันจัดแสดง : 5-7 กรกฎาคม, 12-14 กรกฎาคม, 19-21 กรกฎาคม 2567
รอบแสดง : ศุกร์/เสาร์ เวลา 14.00 น. และ 20.00 น. (เฉพาะวันอาทิตย์ 14.00 น. และ 18.00 น.)
ราคาบัตร : ผู้ใหญ่ 1,200 บาท นักเรียน/นักศึกษา 500 บาท
สถานที่ : ศูนย์ศิลปะการละครสดใสพันธุมโกมล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ

สำรองที่นั่งได้ที่ https://www.ticketmelon.com/glomtheater/ibm1401

ข้อมูลเพิ่มเติม www.glom.cm/ibm-1401

'Clean Politic' เตรียมยื่นไต่สวนฉุกเฉิน ปมรับรอง สว.ไม่ตรงปก ด้าน 'จรูญ หยูทอง' หนึ่งในผู้สมัครฯ พร้อมร่วมแฉการเลือกหนนี้

(28 มิ.ย. 67) นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ เลขาธิการกลุ่ม Clean Politic เปิดเผยว่า ตนเตรียมยื่นศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 1 กรกฎาคม เวลา 10.00 น.เพื่อขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวการประกาศรับรองผลการเลือกสว.ไม่ตรงปก หวั่นการเมืองสภาสูง เสียศูนย์ยิ่งกว่าสภาผัวเมีย 

นายจาตุรันต์ กล่าวว่า “จากการติดตามข้อมูลข่าวสาร และประสบการณ์ตรงในการเลือก สว. น่าจะเป็นการเลือกที่สกปรกทางการเมืองครั้งหนึ่ง ผู้สมัครกรอกประวัติอาชีพ ไม่ตรงกลุ่มก็มี กกต.ปล่อยมาได้อย่างไร และจากมีกลุ่มก้อนทางการเมืองเข้ามาจัดการ”

นายจาตุรันต์ กล่าวอีกว่า “อยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สร้างประวัติศาสตร์เร่งกู้ศักดิ์ศรี ความเชื่อมั่นต่อองค์กร ด้วยการสั่งฟันว่าที่สว.นกแล เหตุเส้นทางเชื่อมโยงพรรคการเมืองชัดเจน รวมถึงผู้สมัครแจ้งประวัติอาชีพกับกลุ่มที่สมัครไม่ตรงกัน ส่อเจตนาบางประการ”

“อยากให้ตรวจสอบบัญชีธนาคารรายรับรายจ่ายของผู้สมัครตั้งแต่กระบวนการสมัครจนถึงหลังเลือกระดับประเทศ มั่นใจกกต.มีหลักฐานเด็ดอยู่ที่ว่าจะกล้าใช้อำนาจทางที่ชอบหรือไม่”

นายจาตุรันต์ กล่าวอีกว่า “การเลือก สว.คราวนี้เต็มไปด้วยกลยุทธ์ หักเหลี่ยม เฉือนคม โกหก หลอกลวง หักหลังกันอย่างน่าเกลียด น่ากลัว แล้วถ้า สว.เป็นอย่างนี้ นึกไม่ออกว่าชาติบ้านเมืองจะเดินไปอย่างไร

จาตุรันต์ บอกว่า ไม่ได้มีเจตนาด้อยค่าอาชีพผู้สมัครท่านใดท่านหนึ่งหรอก แต่การเข้าไปทำหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ มีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินใจ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติโดยตรง แล้วเป็นตำแหน่งที่กินเงินภาษีของพี่น้องประชาชน เรามีสิทธิ์ตรวจสอบที่มา ยิ่งถ้าได้คนที่ไร้วุฒิภาวะและขาดความรู้ขาดประสบการณ์ ในด้านนั้นจริงๆ นึกภาพไม่ออกครับประเทศชาติจะเป็นอย่างไร สุดท้ายการพิจารณากฎหมายก็ดีแต่งตั้งองค์กรอิสระก็ดีจะถูกสั่งซ้ายหันขวาหันจากพรรคหรือบุคคลเบื้องหลังที่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองได้จัดตั้งเข้าไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าสว.ต้องเป็นอิสระเป็นกลางปราศจากการครอบงำทางการเมือง ด้วยเหตุนี้”

“ผมในฐานะผู้เสียหายโดยตรง ซึ่งทั้งเป็นอดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาปี 67 ในครั้งนี้ และเสียหายโดยตรงอีกทางหนึ่งก็คือเป็นประชาชนผู้เสียภาษีเพื่อเป็นเงินประจำตำแหน่งให้กับสมาชิกวุฒิสภาและผู้ช่วยอีก 8 คนในชุดนี้”

“จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองการประกาศรับรองผลสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งคาดว่ากกตจะประกาศรับรองในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ออกไปก่อน”

“เพราะผมไม่ไว้วางใจว่าสมาชิกวุฒิสภาบางท่านในจำนวน 200 คนนี้ ให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติ ให้ปราศจากการครอบงำของบุคคลที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังทางการเมืองได้อย่างไร”

ในขณะ ‘จรูญ หยูทอง’ เตรียมแฉ ความไม่สง่างาม ไม่เป็นสุภาพบุรุษ ของผู้สมัคร

เรื่องเล่า สองข้างทาง บนถนนสายหักหลังและหลอกลวง บทความหลายตอนจบ รออ่านที่นี่และในภาคใต้โฟกัสครับ

นายจรูญ หยูทอง (รูณ ระโนด) หนึ่งในผู้สมัครผ่านเข้ารอบประเทศ แต่สอบตก โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า…

‘ผมเสียค่าผ่านประตู 2,500 บาท ค่าถ่ายรูป ค่าใบรับรองแพทย์ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหารหลายมื้อ เสียเวลาไปสมัคร ไปรับเอกสาร ไปเลือกที่อำเภอ ที่จังหวัด และที่เมืองทอง เพื่อสังเกตการณ์แบบมีส่วร่วม จึงได้พบเห็น พฤติกรรม วัฒนธรรมทางการเมืองของคนที่จะเป็นผู้ทรงเกียรติในสภาสูง ที่ไม่สมประกอบ ไม่สง่างาม ไม่เป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี บางคนอย่าว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย เป็นคนยังไม่ได้เลย ขอเวลาลำดับความคิด เรียบเรียงเรื่องราวตามข้อมูลเชิงประจักษ์ประกอบหลักวิชาการ ผมจะเล่าให้ฟังทุกแง่มุมที่ไม่ละเมิดสิทธิของใครต่อใครครับ ขอเวลาให้ผมหายเหนื่อยหลังจากกลับจากสนามรบใน ‘วันหักหลังและทรยศแห่งชาติ’ ที่ผ่านมา

ผบ.ตร.ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ตรวจเยี่ยม สภ.แม่จัน และด่านกิ่วทัพยั้ง ให้กำลังใจพร้อมกำชับการปราบปรามสกัดกั้นยาเสพติดอย่างเข้มแข็ง

วันนี้ (28 มิ.ย.67) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม รอง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมข้าราชการตำรวจ สภ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยมี พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส.ภ.5 , พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย , พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ จิตรประสาร ผกก.สภ.แม่จัน และข้าราชการตำรวจ สภ.แม่จัน ให้การต้อนรับ โดย ผบ.ตร.ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้ากรณีผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่หลบหนี และเร่งรัดการติดตามจับกุม

จากนั้น ผบ.ตร.พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ด่านตรวจกิ่วทัพยั้ง ซึ่งเป็นด่านสกัดกั้นยาเสพติดจากชายแดนในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อตรวจเยี่ยม และกำชับในการปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดอย่างเข้มแข็ง

ผบ.ตร. ได้ขอบคุณและชมเชยข้าราชการตำรวจ สภ.แม่จัน และเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจกิ่วทัพยั้ง ทุกนาย ที่มีความตั้งใจและทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นอย่างดี ปฏิบัติตนเป็นตำรวจของพระราชาในสายตาของประชาชน และขอให้รักษามาตรฐานไว้เพื่อเป็นตำรวจที่ดีของประชาชน พร้อมมอบแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้อง เทิดทูน และพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข , ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ พร้อมกำชับให้ติดตาม ให้คำแนะนำ เร่งรัดคดียาเสพติดในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างจริงจังในทุกระดับ และให้ข้าราชการตำรวจทุกนายร่วมกันสร้างความสามัคคี

'รัดเกล้า' ชวนร่วมฉลอง 2 กิจกรรมส่งท้าย ‘Pride Month 2024’ ปูทาง ‘ไทย’ เป็นเจ้าภาพ ‘Bangkok World Pride 2030’

(28 มิ.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเชิญชวนร่วมเฉลิมฉลองส่งท้ายเทศกาลเดือน Pride อย่างยิ่งใหญ่ ปลายเดือนมิถุนายน 2567 กับ 2 กิจกรรม งาน Pride Nation Samui International Pride Festival เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และปิดท้ายกับงาน LOVE PRIDE ♡ PARADE 2024 ที่สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพฯ ร่วมกันเฉลิมฉลองความรัก ความมีเสรีภาพ และความหลากหลายทางเพศ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 2 งานที่จะจัดปลายเดือนมิถุนายนนี้ คืองาน Pride Nation Samui International Pride Festival ระหว่างวันที่ 24-29 มิถุนายน 2567 ณ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ โดยภายในงานจะรวบรวมศิลปินทั้งในประเทศและนานาชาติ ถือเป็นการรวมพลังเพื่อเปลี่ยนเกาะสมุยให้เป็น Prideradise กับขบวนพาเหรด Pride และเทศกาลดนตรี (Music Festival) ทั้งนี้ คาดว่างานครั้งนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาสัมผัสกับความงดงามของเกาะในประเทศไทย เช่นเกาะสมุย และยังเป็นโอกาสในการพบปะและแลกเปลี่ยนความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกด้วย

และงาน LOVE PRIDE ♡ PARADE 2024 จะจัดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ระหว่างเวลา 16.00-18.30 น. โดยจะเป็นขบวนพาเหรดที่ยิ่งใหญ่ และยาวที่สุดในเอเชียกว่า 6 กิโลเมตร ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชนมากกว่า 100 องค์กร เพื่อให้ไทยกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของ Pride Festival Destination ภายใต้วิสัยทัศน์ 'IGNITE THAILAND TOURISM' โดยจะเคลื่อนขบวนพาเหรดจากสนามกีฬาแห่งชาติ ไปยังถนนพระรามที่ 1 ผ่านย่านสำคัญต่าง ๆ และไปสิ้นสุดที่อุทยานเบญจสิริ ถือเป็นอีก 1 งานใหญ่โค้งสุดท้ายในเดือน Pride ที่จะเป็นแรงส่งทางการท่องเที่ยว กระตุ้นการเดินทาง ทั้งยังช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride 2030 ได้สำเร็จอีกทางหนึ่งด้วย

“เดือนมิถุนายนของทุกปี ถือเป็นเดือน Pride ที่จะร่วมเฉลิมฉลองความเท่าเทียม โดยในช่วงโค้งสุดท้าย 2024 นี้ จะมี 2 งานส่งท้ายทั้งที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ ซึ่งที่กรุงเทพฯ ท่านนายกฯ จะมาเป็นประธานเปิดงานด้วยตนเองร่วมกับทุกคน จึงอยากขอเชิญชวนมาร่วมเฉลิมฉลองส่งท้ายกันอย่างยิ่งใหญ่ในโอกาสนี้ เพื่อปูทางไปสู่การเป็นเจ้าภาพ World Pride ในปี 2030 ทั้งนี้คาดว่า ในช่วงเดือน Pride จะสร้างเม็ดเงินได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท และพาเหรดที่กรุงเทพฯ จะมีผู้เข้าร่วมชมงานตลอดทั้งขบวน 6 กิโลเมตรกว่า 1 ล้านคน” นางรัดเกล้า กล่าว

‘UN’ ฟุ้ง!! ‘เมียนมา’ ใช้ ‘ธนาคารไทย’ เป็นตัวกลางซื้อขาย-อาวุธ ‘สมาคมธนาคารไทย’ แจง!! ยึดจริยธรรม-ไม่หนุนการจัดซื้ออาวุธ

(28 มิ.ย.67) จากกรณีมีการเปิดเผยรายงานของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยระบุว่ามีธนาคารในประเทศไทย เป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลักให้กับรัฐบาลทหารเมียนมานั้น

สมาคมธนาคารไทย ชี้แจงว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลก และตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้ยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กรกำกับดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งมีการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินของประเทศไทย

นอกจากนี้ ธนาคารสมาชิก ยังมีหน่วยงาน Compliance ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติงานของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงฐานข้อมูลของบุคคล องค์กร และประเทศที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีรายชื่ออยู่ในรายการที่ห้ามทำธุรกรรมธนาคาร ซึ่งแต่ละธนาคารได้ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย มีนโยบายชัดเจน ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และห้ามนำธุรกรรมทางเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top