Monday, 24 June 2024
NewsFeed

มูลนิธิยังมีเรา” ร่วม “มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์-ไทยสมายล์ กรุ๊ป” มอบทุนการศึกษา “เยาวชน" พร้อมมอบวิลแชร์ให้ผู้พิการ ณ จ.ลำพูน

24 พ.ค. 67 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ร่วมกับกลุ่มไทยสมายล์ กรุ๊ป และ นายศิรวิฑย์ ชัยเกษม ผู้ประกาศข่าวท็อปนิวส์ ในฐานะตัวแทนจากมูลนิธิยังมีเรา โดยสถานีข่าวท็อปนิวส์ พร้อมด้วยสื่อมวลชน มอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดโอกาส และมีฐานะครอบครัวยากจน ตามโครงการสานฝันการศึกษา ประจำปี 2567 ของมูลนิธิยังมีเรา สถานีข่าวท็อปนิวส์  ณ สำนักพัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ลำพูน โดยมี นางสาวอาภากร ว่องเขตกร ผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นผู้ร่วมรับมอบ  โดยนักเรียนที่จะได้รับทุนการศึกษา ต้องเรียนอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า และอุดมศึกษา

โดยวันนี้ มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ กลุ่มไทยสมายล์ กรุ๊ป และมูลนิธิยังมีเรา ได้มอบทุนการศึกษาด้วยกัน ทั้งหมด 10 ทุนการศึกษา สร้างความปลาบปลื้มให้กับเด็กที่ได้รับทุนการศึกษารวมถึงครอบครัวของเด็กเป็นอย่างมาก

โดยนักเรียนที่ได้พัฒนาความรู้และได้ทุนการศึกษา จากสำนักพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยความรู้สึกกับทีมข่าวท็อปนิวส์ว่า ดีใจมากที่ได้ทุน และจะนำไปเป็นทุนการศึกษา จะตั้งใจเรียน ไม่เกเร

ขณะที่นางเธียรรัตน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ หวังว่า เงินทุนการศึกษาเหล่านี้ สามารถเป็นทุนให้กับเด็ก และเยาวชนที่จะเป็นอนาตที่ดีต่อชาติ ที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้ร่วมสนับสนุนทุนการศึกษา ผ่านโครงการสานฝันการศึกษา 2567 ในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเด็กนักเรียนและเยาวชน ซึ่งเขาเหล่านี้จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

และในช่วงบ่าย  นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วย  นางสาวอาภากร ว่องเขตกร ผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.ลำพูน ลงพื้นที่มอบรถเข็นวีลแชร์ และเครื่องอุปโภค บริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ที่ประสบภัย ในพื้นที่ ต.บ้านกลาง และ ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน

ประกอบไปด้วย รถเข็นวีลแชร์ 2 คัน วอร์คเกอร์ช่วยเดิน และเครื่องอุปโภค บริโภคซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มไทยสมายล์ (รถและเรือโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า) มามอบให้กับ ผู้สูงอายุและผู้พิการ ตามที่ได้รับการประสานจาก  น.ส.ศิริลักษณ์ ประศาสตร์อินทาระ แรงงานจังหวัดลำพูน  น.ส.พุทธชาติ อินทร์สวา จัดหางานจังหวัดลำพูน และ นายสมเกียรติ  เจษฎารมณ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดลำพูน  ให้แก่ นางบัวปัน สาวะธรรม อายุ 80 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 59 ม.10 ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง มีฐานะยากจน และประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมและเป็นผู้ประสบภัย  เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน เติมขวัญและกำลังใจ ให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือดังกล่าวมากกว่าบุคคลทั่วไป ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันจัดหาอุปกรณ์และสิ่งอำนวย ความสะดวกเป็นลำดับแรก

ผู้บัญชาการทหารเรือ (รอง ผอ.ศรชล.) ประกอบพิธีเปิดอาคาร ศรชล.ภาค 1 และประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 1/2567

วันที่ 24 พ.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล (ผอ.ศรชล.) ได้มอบหมายให้ พลเรือเอก อดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) เป็นผู้แทนประกอบพิธีเปิดอาคาร ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 ณ อาคารศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ตามที่ ศรชล. ได้รับงบประมาณก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 ม.ค.65 และแล้วเสร็จและส่งมอบอาคารให้ ศรชล.ภาค 1 เมื่อวันที่ 29 พ.ย.66 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 670 วัน 

อาคารแห่งนี้มีชั้นใต้ดิน และชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 4 ถูกออกแบบให้มีห้องปฏิบัติงาน ห้องประชุม ห้องแถลงข่าว ห้องศูนย์ยุทธการ ที่สามารถใช้งานในการอำนวยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เผ้าติดตามสถานการณ์ในทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อจากนั้นผู้บัญชาการทหารเรือ (รอง ผอ.ศรชล.) ได้เป็นประธานการประชุมกรรมการบริหาร ศรชล.ภาค 1 โดยก่อนเริ่มการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. เป็นการประชุม Senior Officials Meeting : SOM โดยเรียนเชิญผู้บริหาร ศรชล. ทั้ง 7 หน่วยงาน หารือในประเด็นที่สำคัญในระดับผู้บริหาร ศรชล. ได้แก่ การเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าสู่ระบบ Big Data ตามนโยบาย ผอ.ศรชล. ในการขับเคลื่อนการบูรณการฐานข้อมูลความมั่นคงทางทะเลไปสู่การเป็นองค์กร Maritime Data Driven Joint Inter-Agency Task Forces เพื่อให้ ศรชล. และหน่วยงานทางทะเลมีกลไกตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล ในการรวมรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประดทศ เพื่อให้ระบบสารสนเทศแบบ One Marine Chart เกิดความสมบูรณ์ โดยจัดทำในรูปแบบ One Marine Chart มาตรส่วนแผนที่ 1 ต่อ 50,000 ซึ่งจะทำให้หน่วยงานทางทะเลที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต และเรื่องแนวทางการประชาสัมพันธ์ร่วมระหว่างหน่วยงานหลักใน ศรชล. ในการสร้างความตระหนักรู้ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นหุ้นส่วนการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (Maritime National Interest Strategic Partnership)

จากนั้นผู้บัญชาการทหารเรือ (รอง ผอ.ศรชล.) ได้เริ่มการประชุมกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 1 โดยสรุปเรื่องที่สำคัญได้แก่ การจัดทำรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 แผนงานที่สำคัญและร่างคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2568 เครื่องหมายราชการ ศรชล. การจัดทำแผนที่แบ่งเขตจังหวัดทางทะเลเพื่อใช้ราชการภายในหน่วยงาน ศรชล. การจัดทำ MOU เชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ศรชล. กับกรมสรรพสามิต การตรวจรับเรือปฏิบัติการความเร็วสูงบริเวณชายฝั่ง การเตรียมการสำหรับการเป็นเจ้าภาพการประชุม ASEAN Coast Guard Fotum ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 การลงนาม MOU ระหว่าง ศรชล. กับหน่วยยามฝั่งเวียดนามในการความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล

ก่อนปิดประชุม ผู้บัญชาการทหารเรือ (รอง ผอ.ศรชล.) ได้กล่าวของคุณทุกนห่วยงานอีกครั้งที่ได้ให้ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของ ศรชล. ในมิติต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามความมุ่งหมายดังวิสัยทัศน์ "ศรชล." เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน

สมนึก เชื้อสนุก รายงาน

‘เม็กซิโก’ เวทีหาเสียงพังถล่ม หลังลมกระโชกแรงเป็นเหตุ สร้างความสูญเสีย 9 ชีวิต - บาดเจ็บอย่างน้อย 50 คน

เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.67) กล่าวว่า เกิดอุบัติเหตุเวทีปราศรัยหาเสียงพังถล่มจากอิทธิพลของลมกระโชกแรง ทางตอนเหนือของเม็กซิโก จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ด้าน ซามูเอล การ์เซีย ผู้ว่าการรัฐนวยโว เลออน ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ ระบุว่า จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วเป็นผู้ใหญ่ 8 รายและผู้เยาว์ 1 ราย รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 50 คน โดยบางรายมีอาการสาหัส

โดยภาพของสื่อท้องถิ่นจากจุดเกิดเหตุในเมืองซาน เปโดร การ์ซา การ์เซีย เผยให้เห็นความโกลาหลของฝูงชนที่พยายามวิ่งหนีออกจากเวทีที่กำลังโค่นล้ม ขณะที่เสาไฟและจอทีวีขนาดยักษ์พังถล่มใส่บริเวณที่ฮอร์เก้ อัลวาเรซ เมย์เนซ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเม็กซิโก และสมาชิกพรรค Citizens' Movement ของเขายืนอยู่

เมย์เนซที่หลบหนีออกมาได้โดยไม่มีอาการบาดเจ็บสาหัส กล่าวว่า เวทีพังทลายลงเนื่องจากมีลมกระโชกแรง

"ผมสบายดีและกำลังให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น" เมย์เนซ วัย 38 ปีกล่าว พร้อมเสริมว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกคือการดูแลผู้ประสบเหตุ

งานที่จัดขึ้นนี้เป็นการชุมนุมหาเสียงสำหรับผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมืองซาน เปโดร การ์ซา การ์เซีย โดยมีผู้สมัครวุฒิสมาชิกและฝ่ายนิติบัญญัติจากพรรค Citizens' Movement เข้าร่วมด้วย

เมย์เนซซึ่งระงับกิจกรรมหาเสียงทั้งหมดทันที กล่าวว่า เขาจะยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุจนกว่าผู้บาดเจ็บคนสุดท้ายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของเม็กซิโกเตือนว่าจะมีฝนตกหนัก, ลมกระโชกแรงถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจมีพายุทอร์นาโดในนวยโว เลออนและรัฐอื่น ๆ ทางตอนเหนือ

ผู้ว่าการการ์เซียเรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอก เนื่องจากพายุอาจสร้างอันตรายถึงชีวิต

ในโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโก กล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนของผู้ประสบเหตุที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ เช่นเดียวกับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 2 คนก็แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ทั้งนี้ ในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ ชาวเม็กซิกันจะออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไป รวมทั้งตำแหน่งสมาชิกสภาคองเกรส, ผู้ว่าการรัฐ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

‘รทสช.’ กำชับ สส.พรรค ห้ามยุ่งเกี่ยวผู้สมัคร สว. สร้างความชอบธรรมให้สภาสูงแยกจากการเมือง

(24 พ.ค. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ  สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า พรรครวมไทยสร้างชาติได้มีการกำชับสมาชิก และสส. ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ที่มีการเปิดรับสมัครวันนี้เป็นวันสุดท้าย เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมายและคงเจตนารมณ์ของความเป็นอิสระของสภาสูงให้แยกออกจากการเมืองเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน ให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้แจ้งเตือนไปยังผู้สมัครและพรรคการเมืองแล้ว หากมีการตรวจสอบพบว่าผู้สมัครคนใดยินยอมให้ผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมือง รวมถึง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใด ๆ หากฝ่าฝืน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท   หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี 

“ท่านหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคและผู้บริหารรวมไทยสร้างชาติ ได้กำชับ สส. และการเมืองทุกระดับไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือผู้สมัครสว. เพราะถือว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องได้มาด้วยความอิสระ โปร่งใส ไม่ยึดโยงกับพรรคหรือกลุ่มการเมือง เพื่อผู้ที่ได้รับตำแหน่งจะเข้ามาปฎิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อติดตามตรวจสอบและออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติในอนาคต โดยเชื่อว่าการสมัครสว. วันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย” นายธนกร กล่าว

‘อิสราเอล’ เดือด!! ออกมาตรการโต้กลับ ประเทศที่หนุนตั้งรัฐปาเลสไตน์ ล่าสุดตอบโต้ทางการทูต ‘สเปน-นอร์เวย์-ไอร์แลนด์’

อิสราเอล ตอบโต้ประเทศที่สนับสนุนการตั้งรัฐปาเลสไตน์ ด้วยการเรียกตัวเอกอัครราชทูตของไอร์แลนด์, นอร์เวย์ และสเปน ประจำอิสราเอล เข้ารับทราบคำตำหนิ ขณะเดียวกัน ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตของอิสราเอล ที่ประจำการในกรุงดับลินของไอร์แลนด์, กรุงออสโลของนอร์เวย์ และกรุงมาดริดของสเปน เดินทางกลับประเทศทันที

(24 พ.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล กำลังพิจารณาขั้นตอนทางการทูตเพิ่มเติม เช่น ยกเลิกการเยือนอิสราเอลของเจ้าหน้าที่จากประเทศเหล่านี้ และการเพิกถอนวีซ่า 

ขณะที่ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เชื่อว่า เรื่องการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ควรมีการเจรจาทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การยอมรับฝ่ายเดียว 

สำหรับ รัฐบาลสเปน, นอร์เวย์ และไอร์แลนด์ ประกาศเตรียมรับรองสถานะ ‘รัฐปาเลสไตน์’ อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ หลังจากรัฐบาลทั้งสามประเทศเห็นพ้องว่า การรับรองดังกล่าวเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ตาม ‘แนวทางสองรัฐ’ (Two-State Solution) 

เวลานี้มีรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) มากกว่า 140 จาก 193 ประเทศทั่วโลกได้ประกาศรับรองสถานะนี้ให้กับปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอาหรับและมุสลิมในตะวันออกกลาง ขณะที่ 3 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส รวมถึงอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ยังไม่ได้ประกาศรับรองสถานะ ‘การเป็นรัฐ’ ให้ปาเลสไตน์ 

“พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ” เยี่ยมให้กำลังใจตำรวจ EOD ที่ได้รับบาดเจ็บจากการตรวจพื้นที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและซุ่มยิงในพื้นที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ยืนยันช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่

วันนี้ (24 พฤษภาคม 2567) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ข่วย ผบ.ตร. เดินทางไปเยี่ยม จ.ส.ต.วรวิทย์ ณะรัตตะ อายุ 35 ปี ผบ.หมู่ กก.ปฏิบัติการพิเศษ ภ.จว.นราธิวาส ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 , พล.ต.ต.เชาวลิต เลี้ยงสุพงศ์ ผบก.ภ.จว.สงขลา , พล.ต.ต.ชุมพล ศักดิ์สุรีย์มงคล ผบก.สส.จชต. ร่วมคณะ

ทั้งนี้ จ.ส.ต.วรวิทย์ฯ ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 13.55 น. เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด หรือ EOD , เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัดนราธิวาส พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุคิริน และเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย เข้าร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ กรณีคนร้ายลอบวางระเบิดและซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ อส.ชุดคุ้มครองตำบลเกียร์ ชุดรักษาความปลอดภัยครู บริเวณริมถนนเส้นทางสายเกียร์-สากอ หมู่ที่ 2 ต.เกียร์ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่ง จ.ส.ต.วรวิทย์ฯ ได้เหยียบวัตถุระเบิดที่คนร้ายลอบวางไว้ จนเกิดระเบิดขึ้นซ้ำ เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขาด 2 ข้าง เจ้าหน้าที่ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลสุคิริน จ.นราธิวาส เพื่อรักษาตัว และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา 

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ ได้พูดคุยให้กำลังใจและขอบคุณในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง พร้อมมอบกระเข้าและเงินช่วยเหลือให้กับ จ.ส.ต.วรวิทย์ฯ ยืนยันว่า จะดูแลสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้กับ จ.ส.ต.วรวิทย์ฯ อย่างเต็มที่

‘คุณพ่อชาวจีน’ คุกเข่ากลางถนน ขอโทษ ‘ลูกสาว’ หลังไม่มีเงินมากพอ เพื่อซื้อโทรศัพท์ iPhone ให้

เมื่อไม่นานมานี้ ในโลกโซเชียลของจีน ได้แชร์คลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งเป็นภาพคุณพ่อชาวจีน กำลังนั่งคุกเข่าก้มศีรษะขอโทษลูกสาววัยรุ่น เนื่องจากเขาไม่มีเงินซื้อสมาร์ตโฟน ยี่ห้อไอโฟนให้ลูกสาว จากเหตุการณ์นี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงอันเผ็ดร้อนเกี่ยวกับการดูแลบุตรหลานในสังคมจีนปัจจุบัน

ตามรายงานของเว็บไซต์ Jinyun Video ระบุว่า คลิปนี้ถูกบันทึกไว้ได้โดยผู้สัญจรผ่านไปมารายหนึ่งในเมืองไท่หยวน ทางตอนกลางของมณฑลซานซี เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยที่เขาบังเอิญพบเห็นพ่อลูกคู่นี้บนถนนพอดี

ผู้เห็นเหตุการณ์นี้รายที่มีชื่อว่า จง เล่าว่าพ่อลูกคู่นี้พูดกันเสียงดังมาก จนกระทั่งเขาได้ยินทุกอย่างอย่างชัดเจน เด็กหญิงตะโกนใส่ผู้เป็นพ่อ บอกว่า "พ่อแม่คนอื่น ๆ สามารถซื้อไอโฟนให้ลูก ๆ แต่ทำไมพ่อถึงไม่มีเงิน"

หลังจากถูกด่าอย่างรุนแรง ผู้เป็นพ่อได้คุกเข่าลงและก้มศีรษะแสดงอาการกล่าวโทษตนเองที่ไม่สามารถหาเงินได้มากพอ กระตุ้นให้ลูกสาวตวาดลั่นว่า "ลูกขึ้น! ลุกขึ้นเร็ว ๆ" ดูเหมือนเด็กหญิงจะอับอายสายตาคนอื่น ๆ ต่อการกระทำของผู้เป็นพ่อ

จง เล่าต่อว่า เขายืนดูอยู่ไม่ไกลนัก เฝ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนทั้ง 2 เป็นเวลาราว 5 นาที และแสดงความเห็นใจผู้เป็นพ่อ พร้อมกับแสดงความขุ่นเคืองต่อพฤติกรรมลูกสาวของชายรายนี้ "ผมรู้สึกถึงขั้นอยากเดินไปตบหน้าเธอเลยทีเดียว" เขากล่าว

คลิปนี้เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์และทั่วประเทศ มีผู้เข้าชมบนเว่ยปั๋ว 91 ล้านคน และบนแพลตฟอร์มโต่วอินมากกว่า 6 ล้านครั้ง หลายคนประณามพฤติกรรมของลูกสาว แต่บางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ผู้เป็นพ่อว่าไร้ความสามารถในการสอนลูกสาวอย่างที่ถูกที่ควร

"ลัทธิบริโภคนิยมนำมาซึ่งผลกระทบทางลบต่อเยาวชน พวกเขาหมกมุ่นอยู่กับความสะดวกสบายทางวัตถุ แต่เพิกเฉยต่อความยากลำบากของพ่อแม่ มันเรื่องน่าเศร้าของสังคม" ผู้ใช้รายหนึ่งเขียน

"ผมรู้สึกเศร้าใจกับทั้ง 2 คน ลูกสาวไร้สาระมากๆ แต่การคุกเข่าของผู้เป็นพ่อก็ไม่เหมาะสม" ความเห็นหนึ่งระบุ "แน่นอนว่า พ่อน่าสงสาร แต่การกระทำของเขาจะยิ่งทำให้ลูกสาวเป็นคนหัวดื้อมากยิ่งขึ้น เขาไม่ได้ชี้ถึงความผิดพลาดของลูก เขาทำหน้าที่พ่อได้แย่มาก ๆ"

กะเทาะแก่น 7 ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านเลนส์ 'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ‘เครื่องมือ-ความหวัง’ ขับเคลื่อนอากาศเมืองไทยให้บริสุทธิ์

เมื่อไม่นานมานี้ ช่องยูทูบ ‘รู้ ช่อง ส่อง กฎหมาย (สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา)’ ได้เผยแพร่วิดีโอสัมภาษณ์ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่สี่ ในประเด็น ‘ความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …’ โดยได้พูดคุยกับ นายธีรพัฒน์ พิเชษฐวงศ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานกฎหมาย 1 พร้อมด้วย นางพัชรา พุกเศรษฐี วิทยากรชำนาญการพิเศษ และ นายอมร สุวรรณโรจน์ นิติกรชำนาญการ

>> คำถามที่ 1 ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ฉบับที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการในทํานองเดียวกันอีกจํานวน 6 ฉบับอย่างไร?

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 7 ฉบับนี้ ล้วนเป็นความหวังและเป็นเครื่องมือ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับที่กล่าวมา มีสถานภาพเป็น 2 อย่าง (ความหวัง และ เครื่องมือ) หลายครั้งที่ร่างกฎหมายเข้าผ่านสภาไป หวังว่าจะเป็นแค่เครื่องมือเฉย ๆ บางครั้งบางหน่วยงานมักจะบอกว่าทําเรื่องนี้ไม่ถนัด เพราะขาดอํานาจทางกฎหมาย หรือยังไม่มีหลักการที่กําหนดเอาไว้โดยตรง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่ สามารถไปดำเนินการได้ เมื่อมาขอฝ่ายนิติบัญญัติ สภาก็พิจารณาให้ แบบนี้แปลว่าทํากฎหมายให้เป็นเครื่องมือ 

ส่วนแบบที่ 2 จะแตกต่างจากแบบแรก เราจะเห็นว่า 7 ร่างฯ มาจากคนทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่เข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมาย จากรัฐบาลมาในนามของร่างคณะรัฐมนตรี และร่างที่มาจากพรรคการเมือง เนื้อหาในร่างฯ ไม่ได้แตกต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหวังของผู้เสนอร่างฯ นั้นๆ ว่าไม่ค้าน สังเกตว่าทั้ง 7 ร่างฯ ที่เมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง รับหลักการโดยถ้วนหน้า แม้จะอภิปรายกันเยอะ แต่ว่ารับหลักการโดยถ้วนหน้า 

เมื่อเป็นแบบนี้ ก็แปลว่ามันแสดงถึงสัญลักษณ์ ‘เป็นความหวัง’ มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือด้วยซ้ำไป ส่วนในเรื่องของเครื่องมือ จาก 7 ร่างฯ ที่กล่าวมา หากอ่านรายละเอียดเปรียบเทียบทั้งหมด คือกฎหมายเพื่อการตั้งสมมติฐาน 4 เรื่อง ได้แก่…

🟢1.อาศัยอํานาจของหลาย ๆ กฎหมาย และหลาย ๆ คณะกรรมการที่มีอยู่แล้วก่อนมีพระราชบัญญัตินี้ นำมากองรวมกัน และคณะใดคณะหนึ่งมีอํานาจในการสื่อสารและมอบหมายให้แต่ละคณะไปมีมติสอดคล้องหรือดึงกฎหมายที่มีผูกรวมกัน แล้วนำไปดําเนินการได้ แปลว่าเป็นการรวมหลาย ๆ เครื่องมือที่ขนาดต่างกันมากองรวมกัน 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เวลาที่เกิดปัญหา ‘อากาศสะอาด’ ก็มักไปใช้ยืมอํานาจพระราชบัญญัติการสาธารณสุข หรือยืมอํานาจของป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของมหาดไทย ซึ่งไว้ใช้ประกาศเขตภัยพิบัติ เมื่อประกาศแล้วจะทําให้สามารถหยิบเงินออกมาเยียวยาผู้คนได้ แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่า ประกาศกว้างแค่ไหน? เพราะว่าอากาศสะอาด มีปัญหาเรื่องการครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก ไม่เหมือนน้ำท่วม ที่สามารถรู้จุดเกิดเหตุได้แน่ชัด แต่พอเป็นอากาศสะอาดจะพูดยาก ส่งผลให้เขาประกาศได้น้อย 

ส่วนมากจะใช้ 2 พระราชบัญญัติที่กล่าวไป แต่ในความเป็นจริง มีกฎหมายอื่น ๆ อีก แต่ต้องไปอาศัยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ คณะกรรมการอุทยาน คณะกรรมการที่เกี่ยวกับเรื่องของการจัดการที่ดิน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ แต่ถามว่าคณะฯ เหล่านั้นมีความรู้สึกว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องอากาศสะอาดหรือไม่? เขาอาจจะไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าหากเชื่อมเข้ามาได้ ก็จะสามารถหยิบยืมองคาพยพที่มีมาช่วยทํา ‘อากาศสะอาด’ ได้

ส่วนเรื่องการบูรณาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ระบุไว้อย่างน้อย 3 ระดับ ได้แก่

(1) ระดับนโยบายสูงสุด นายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูแลที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด 

(2) ระดับคณะกรรมการที่เป็น วอร์รูมแห่งชาติ (ในบางร่าง) เสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นประธานฯ แต่บางร่าง ระบุว่า ไม่เอารัฐมนตรี แต่ให้อำนาจปลัดกระทรวงฯ มานั่งเป็นประธานฯ ดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นมืออาชีพด้านนี้

(3) ระดับพื้นที่ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ที่แบ่งเป็นเขตหรือจังหวัด และพื้นที่ที่กําหนดเฉพาะ เช่น ลุ่มอากาศ ร่องน้ำ ชายแดน เป็นต้น

🟢2.แทบทุกร่างจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อให้ฝ่ายตุลาการในอนาคต หากมีคดีสิ่งแวดล้อมที่ไปกระทบผู้อื่น เรื่องนี้มีการพูดถึงมานาน เรียกว่า Polluters Pay Principle: PPP แปลว่าผู้ใดก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยต่อสิ่งแวดล้อม ผู้นั้นต้องมีภาระในการจ่าย แต่ว่าภาระพิสูจน์สําหรับผู้ที่ไปก่อ ไม่อยู่กับผู้ก่อเท่าไหร่ กลับกลายเป็นว่า ‘ผู้เดือดร้อน’ ต้องไปพิสูจน์ต่อศาลเองว่าได้รับผลกระทบมาอย่างไรบ้าง ซึ่งการพิสูจน์นี้มีต้นทุนสูง แต่ถ้าผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคน (มากกว่า 1 คน) ก็ต้องไปหาเอกสารวิชาการมายืนยัน และใช้เวลานาน

แต่สิ่งที่จะช่วยบรรเทาเรื่องตรงนี้ไปได้คือ ‘ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์’ ซึ่งจะรวมตั้งแต่เรื่องของข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ลมพัดพาฝุ่นหรืออากาศไม่สะอาด หรือรวมถึงเรื่องกลิ่น สารเคมีในอากาศว่ามันพัดพาไปทางไหน มีจุดความร้อน มีรอยไหม้ หรือมีข้อมูลหลักฐานว่ามีจุดรั่วของสิ่งที่ทําให้อากาศไม่สะอาดมาจากตรงไหน ขอแค่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่า ‘ไม่ต้องพิสูจน์’ แล้วว่าเสียหายหรือไม่ เหลือแค่พิสูจน์ว่าเสียหายเท่าไหร่ และหากเกิดในพื้นที่ของใครก็ต้องออกมาชี้แจง เพราะภาพจากดาวเทียมมันชี้ชัด จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

🟢3. PM 2.5 ในปัจจุบันเป็นตัวชี้ที่เห็นว่าคนไทยเสียชีวิตสูงมาก เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมะเร็งในทางเดินหายใจ สูงที่สุดอยู่ในภาคเหนือ เช่น จังหวัดลําพูน ภาคกลาง เช่น กรุงเทพมหานคร สถิติทิ้งห่างภาคอื่น ๆ เรื่องการห้ามจุดไฟเผา ก็ห้ามกันมาหลายปี แล้วแต่ไม่เกิดผล หรือจะเป็นการ ‘ชิงเผา’ เพื่อจะได้จัดการกับเชื้อไฟในช่วงก่อนที่อากาศมันจะปิด เพราะว่าพอความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาประเทศไทย ทําให้เพดานเตี้ย เมื่อเพดานเตี้ย หากมีควันมันก็จะอบอวล 

ในเรื่องการ ‘ชิงเผา’ ก็มีปัญหาและคำถามว่ากระบวนการจัดการชิงเผาได้ประสิทธิภาพหรือเปล่า และเมื่อมีคนเริ่มชิงเผาอย่างเป็นทางการ ก็จะมีคนแอบเผาต่อเนื่องกันไป เราเห็นข้อมูลจากดาวเทียมและเป็นข้อมูลยืนยันย้อนหลัง 20 ปี ทำให้เห็นเลยว่าพื้นที่ใดบ้างที่เกิดปัญหาซ้ำซาก (เผาใหญ่ 5 ครั้งต่อปี) ตัวเลขระบุเลยว่า 64% ของ 20 ปีที่ผ่านมาที่เป็นจุดความร้อนเกิดขึ้นอยู่ในเขตป่า เขตป่าอนุรักษ์ เขตห้ามล่า เขตอุทยานแห่งชาติ รองลงมาคือป่าเสื่อมโทรม ป่าเศรษฐกิจ ป่าของกรมป่าไม้ ส่วนอีก 24% เกิดอยู่ในนาข้าว เป็นการเผาเพื่อจะขจัดวัชพืช ขจัดซังต้นข้าว เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับปลูกต้นข้าวชุดใหม่ รวม ๆ แล้วอยู่ที่ 88% ถ้าบริหารจัดการได้ จะต้องดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาแน่

ดังนั้นในร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ก็จะใส่เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาด้วย เช่น การให้รางวัลสำหรับคนไม่เผา คนลดการเผา หรือคนที่ทำกิจกรรมที่ลดการเผา ควรจะมีการสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับล้วนพูดเรื่องนี้กันทั้งนั้น

สำหรับเรื่องความแตกต่างของร่างฯ ทั้ง 7 ฉบับ นายวีระศักดิ์ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้...

1.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า แก้เรื่องอากาศสะอาด ต้องใช้เงิน ฉะนั้นขอให้ตั้งกองทุนส่วนล่าง ส่วนอีก 6 ร่างฯ ไม่ได้ไปแตะเรื่องกองทุนฯ

2.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า หากปล่อยให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นฝ่ายเลขาของทุก ๆ คณะกรรมการไปเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ และไม่ยกระดับให้เขาให้มีอำนาจในการจัดการ จะต้องแย่แน่  ส่งผลให้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศไม่ได้ จึงเขียนให้มีการจัดกรมเฉพาะ ดูแลเรื่องอากาศสะอาดอย่างเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ตั้งกรมขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ให้เสริมแกร่งให้กรมเก่า

3. การแต่งตั้งประธานในคณะกรรมการระดับพื้นที่และระดับวอร์รูม สำหรับในระดับชาติทุกร่างระบุว่าให้นายกฯ ลงมานั่งเป็นประธาน เนื่องจากมีอํานาจในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง แต่ในระดับที่เป็นวอร์รูม ความต่างจาก 7 ร่างฯ จะมีร่างฯ ของก้าวไกลที่ระบุว่าอย่าให้รัฐมนตรีนั่งประธานเลย แต่ให้เป็นปลัดแทน ส่วนระดับที่เป็นคณะกรรมการดูแลรายพื้นที่หรือหลายจังหวัด ทุกร่างเสนอให้ผู้ว่าราชการเป็นประธาน ยกเว้นร่างฯ ของก้าวไกลที่เสนอให้เลือกคนที่มาจากการเลือกตั้งกัน เพราะเขาจะอยู่ได้นานกว่าเป็นซ้ำได้หลายสมัย อีกทั้งจะรู้จักพื้นที่นั้นดีกว่า แนะให้นำนายกฯ อบจ. มานั่งประธาน เพราะมีงบท้องถิ่น

>> คำถามที่ 2 การตราพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันอีกจำนวน 6 ฉบับ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน หรือไม่ อย่างไร

นายวีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ประโยชน์มีแน่นอน เพราะอย่างที่เรียนไปแล้วว่า 1. มันเป็นความหวัง การมีร่างตั้งหลายร่างนั้น มันทำให้ความรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นแย้งเลยในเป้าหมาย และทุกคนก็ร่วมวิธีการเข้ามา มีความแตกต่างในปลีกย่อยรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งอย่างน้อยมีความหวัง…และไม่เพียงแต่มีร่างกฎหมายเสนอมาคุยกัน ซึ่งการได้คุยกันเยอะ ๆ อย่างจริงจัง เอาความรู้มาพูดกัน มันทําให้รู้สึกว่าเรากําลังจะมีทางออก

2. มันเป็นเครื่องมือ อย่างน้อยบรรดากรมกองต่าง ๆ ตอนนี้ก็กําลังศึกษาร่างกฎหมายเหล่านี้ว่าถ้ามันออกมานั้นต้องไปเตรียมตัว เตรียมขั้นตอนวิธีการในการทํางานของกรม ของกอง ของหน่วย ของแผนก และของสํานักงานในต่างจังหวัดของตนกันอย่างไร โดยเริ่มสนทนากันเอาไว้ล่วงหน้า มีการสัมมนากันเล็กน้อยเพื่อจะเตรียมตัวต้อนรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็ทําให้เครื่องมือนี้มันถูกขัดสีฉวีวรรณ แม้กระทั่งในวันที่พระราชบัญญัติยังไม่ได้จบออกมาลงประกาศในราชกิจจาฯ อย่างน้อย 2 ท่อนนี้ดี

แต่ท่อนที่ 3 เวลานี้มันเกิดผลพลอยได้ที่ไม่ได้ตั้งใจกันไว้คือ ถ้าเรื่องนี้นํามาสู่การคิดว่าไล่วิธีการคณะกรรมการชุดใหญ่เต็มไปหมดนั้น มันอาจจะยิ่งทําให้ล่าช้า เรามีวิธีคิดใหม่ ๆ ที่มันแหวกแนวไหม? ซึ่งความแหวกแนวนั้นนี่เองที่ทําให้เกิดความหวังอีกด้านหนึ่งของเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ทําให้เกิดความรู้สึกว่าเราอาจจะได้เครื่องมือใหม่ ๆ ในทางนิติบัญญัติ หรือไม่นิติบัญญัติก็ได้…

ซึ่งเรื่องนี้สามารถทําได้โดยไม่ต้องรอพระราชบัญญัติ เช่น การเอากลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ในนโยบาย ไม่ใช่ในกฎหมาย ซึ่งกรณีตัวอย่างก็มีได้ เช่นการที่บอกว่าถ้าหากแปลงนาไหนไม่เกิดรอยเผาในปีนั้น ๆ ก็จะได้รับสิทธิในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกในตอนปลาย แต่ถ้าใครมีรอยไหม้เท่าไหร่ ก็มาหักลดลงไปตามสัดส่วนของรอยไหม้นั้น ซึ่งเห็นไหมไม่ต้องมีกฎหมาย แต่ถ้าหน่วยใดก็ตามในระบบราชการไทยฝ่ายบริหาร ที่บอกว่าทําหน้าที่ในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกให้อยู่นั้น เขาประกาศแบบนี้ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในสนามทันที 

หรือ BOI ประกาศบอกว่าใครที่ไปลงทุนทํากิจการในการรับซื้อฟาง ก็จะได้สิทธิประโยชน์ อย่าปล่อยให้มันอยู่ในนาเลย เพราะทิ้งไว้ในนาเดี๋ยวก็จุดไฟเผา หรือแม้กระทั่งการจิ้มลงไปจากกระทรวงพลังงาน บอกว่ากําหนดให้ต้องไม่เห็นรอยไหม้ของชีวมวลอยู่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกต่อไป โดยในเมื่อเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็ต้องไปหาชีวมวลเศษไม้ เศษหญ้า เศษผักอะไรต่าง ๆ มาเผาอยู่แล้ว ทําไมไม่ไปซื้อพวกฟาง พวกใบไม้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวมาใช้ ทําไมมันยังปล่อยให้เกิดรอยไหม้อยู่ แล้วมันขนง่ายด้วย ซึ่งของแบบนี้ไม่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ แค่บอกนโยบายมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้…

>> คำถามที่ 3 ท่านคิดว่ามาตรการและกลไกทางกฎหมายใด มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กลไกที่สําคัญที่สุด ถ้านับเฉพาะเรื่องการเผาในที่โล่ง คือกลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ไม่เผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ช่วยทําให้ไม่เกิดการเผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่คนที่ไปทําให้เกิด ‘กิจกรรมเชื่อมโยง’ ที่ทําให้คนทั้งนึกจะเผาเลยไม่ต้องเผา หรือที่กําลังเผาแล้วเปลี่ยนใจที่จะไม่เผา

พร้อมยกกรณีตัวอย่าง กลไกเหล่านี้มันเป็นกลไกที่ทําให้คนรู้สึกว่า ‘มีรายได้’ ซึ่งถ้าเปลี่ยนให้เขาได้รายได้ มันก็ชดเชย แลกกับการที่ไม่มีคนต้องบาดเจ็บล้มตาย หรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม คิดว่าคุ้มกัน แม้กระทั่งการที่จะกําหนดพื้นที่ที่เราเห็นแล้วในดาวเทียมมา 20 ปี ว่าตรงนี้เผาซ้ำซากเหลือเกิน พูดยังไงก็ไม่เข้าหูกัน ขีดตารางเลยไหม…ว่าใครจะรับผิดชอบตรงนั้น แล้วถ้าผ่านฤดูนั้นไปได้โดยไม่มีเผาเลย หรือมีรอยน้อยกว่า 5% 10% มารับรางวัลไปเลย

ทั้งนี้ ไม่ใช่ให้งบไปเพื่อจะไปดับไฟ เพราะเรื่องมันดับไฟให้งบไปเท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันอยู่ในที่ลึกที่ไกลเดินทางยาก แต่ถ้าให้เขาไปเฝ้าเลย เฝ้าให้มันไม่เกิด…คนจุดมีอยู่น่าจะนับตัวกันได้ มีไม่ถึงแสนคนแน่ เพราะจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมันก็หลักแสน

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสามารถทําให้เปลี่ยน ‘พรานผู้จุด’ กลายเป็น ‘พรานผู้เฝ้า’ ไม่ให้เกิดไฟแล้วเขาได้รายรับเทียบเท่ากับที่เคยไปจุด และไม่มีคดี มีแต่ใบยกย่อง หนังสือรับรอง เขาก็น่าจะสบายใจกว่าที่จะทําอย่างนั้น

หรือการที่จะให้ความรู้ อย่างมีคนอ่านดาวเทียมเป็น แล้วเอามาอธิบายเป็นภาษาที่ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง ถ้าอ่านเป็นภาษาราชการคนก็อ่านไม่รู้อีก แต่ถ้าอ่านระดับชาติ คนในแต่ละพื้นที่บอกว่าทําไมอากาศวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เธออ่าน ซึ่งถ้าอย่างงั้นก็แบ่งภาคไหม…เหนือตอนบน เหนือตอนล่าง อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง สร้าง ‘นักอ่าน’ ขึ้นมา แล้วก็รายงานเป็นประจําทุกวัน 

รวมทั้งสามารถบอกด้วยว่าอัตราการระบายลมของแต่ละวันใน 3-4 วันข้างหน้านั้นจะเป็นยังไง การชิงเผาจะได้สามารถบริหารจัดการได้ แล้วใครจะเป็นคนจัดคิวให้การเผานั้นมันออกมาแล้วมันระบายฝุ่นไปได้ มันก็จะได้เกิดขึ้น และเรื่องนี้ยังให้ความร่วมมือไปกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะเขาก็อยากจะได้ข้อมูลแบบนี้เหมือนกัน เขาก็อยากจะระบายลมของเขา และอยากจะช่วยทําให้ลดการเผาในบ้านเขาเหมือนกัน เพราะสุขภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมของเขาก็สําคัญเช่นกัน เพียงแต่เขาอาจจะไม่มีเทคโนโลยี วิทยาการ และความเชี่ยวชาญ หรือไม่มีแม้กระทั่งกฎหมาย ตลอดจนกระทั่งผู้ที่จะอ่านดาวเทียม ซึ่งถ้าเราทําแล้วเชื่อมกับเขาด้วย คิดว่าได้ทั้งมิตร ทั้งสุขภาพ และก็ได้พลังในการทํางานร่วมมือภาคประชาสังคมที่ดี

>> คำถามที่ 4 ประเด็นอื่น ๆ ที่มีความประสงค์อยากจะแนะนำเพิ่มเติม

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเรื่อง ‘การสื่อสาร’ ซึ่งภาษาราชการในยุคน้ำท่วมปี 54 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาษาราชการคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง…และภาษากฎหมายยิ่งไปกันใหญ่ เพราะภาษากฎหมายยากกว่าภาษาราชการ การมีร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ยังไงก็เป็นภาษากฎหมาย และถูกใช้ด้วยระบบราชการ ต้องแปลภาษาเหล่านี้ให้ได้ มาสู่ภาษาที่เป็นทั้งความหวัง เป็นทั้งเครื่องมือในการทําให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตัดสินใจกล้าที่จะลงทุน หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเขาเอง จากการเป็นผู้สร้างมลพิษ กลายเป็นผู้ช่วยแก้มลพิษ แล้วก็ทําให้รู้สึกว่าคนเมืองต้องสนใจคนต่างจังหวัด เพราะเมื่อคนต่างจังหวัดเผา ควันมันมาถึงคนเมือง คนเมืองมีพลังมากกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ และทางธุรกิจ ช่วยกันส่งเสริมพลังนั้นไปไหม อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของงบประมาณแผ่นดินท่าเดียว คนเมืองอยากจะได้อากาศสะอาด เพราะคนเมืองเองแม้เขาไม่เผา ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศในเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนเมืองมาช่วยกันเถอะ

"เงินที่มีในระบบต่าง ๆ เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, บริษัทขนาดใหญ่, กิจการอันเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง, ขยะ และสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อหรือผู้เก็บออก ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่มีพลังที่จะช่วยทําให้ปัญหาที่มันเคยเชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้ มันถูกหลอมรวมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และถ้าทําเช่นนั้นได้พระราชบัญญัติอาจจะมีผลน้อยมากก็ได้ แต่การมีพระราชบัญญัติไม่ได้เป็นเครื่องมือหรือการันตีที่จะบอกว่า…แล้วมันจะดีขึ้นเองเลย" นายวีระศักดิ์ ทิ้งท้าย

ตะลึง ! ตำรวจ ปส. เปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น เครือข่าย 'ใหม่ Logistics' ยึดทรัพย์กว่า 2,034 ล้านบาท

ตามนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เน้นใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อทำลายเครือข่ายยาเสพติดอย่างจริงจังทั้งระบบ ประกอบกับนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รรท.ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.ปส.ตร. และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา, พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี, พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. มุ่งปราบปรามจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ และขยายผลเครือข่ายที่จับกุมได้ทุกระดับอย่างจริงจังทุกพื้นที่รวมทั้งการขยายผลเพื่อยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด ทั้งของผู้ค้า ผู้ช่วยเหลือและสนับสนุนเครือข่ายทั้งหมดมาตรวจสอบ                          

วันนี้ 24 พ.ค.67 เวลา 10.00 น.  พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส., พล.ต.ต.สมเกียรติ วัฒนพรมงคล, พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว, พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง ,พล.ต.ต.พลัฎฐ์ วิเศษสิงห์ รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต.พรพิทักษ์ รู้ยืนยง รอง ผบช.ฯ ช่วยราชการ บช.ปส., พล.ต.ต.นพสิทธิ์ มิตรภักดี ผบก.ปส.1, พล.ต.ต.ธนรัชน์ สอนกล้า ผบก.ปส.2, พล.ต.ต.อดิศ เจริญสวัสดิ์ ผบก.ปส.3, พล.ต.ต.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผบก.ปส.4, พล.ต.ต.อิทธิพล จันทร์ศรีบุตร ผบก.ขส. และ พล.ต.ต.วิทัศน์ บริรักษ์ ผบก.สกส. ร่วมแถลงผลการปราบปรามยาเสพติดที่สำคัญ ของ บก.ปส.2 ดังนี้ 

1.ผลงานตามแผนปฏิบัติการตามล่า 100 เครือข่าย : ปิดล้อมตรวจค้นเครือข่าย “ใหม่ Logistics” สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มี.ค.66 ตำรวจ บก.ปส.2 ได้สืบสวนพบว่าจะมีเครือข่ายลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านบริษัทขนส่งสินค้าระบบ Logistics จำนวนมาก จึงได้ระดมกำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด จนตามจับกุมผู้ต้องหา ได้ 8 คน ในพื้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาใช้เวลาเพียงไม่ถึงชั่วโมงทำการกระจายคีตามีนของกลางจาก 300 กิโลกรัม จึงสามารถตรวจยึดคีตามีนที่เหลืออยู่ได้เพียง 46 กิโลกรัม และจากการสืบสวนขยายผลทำให้ทราบว่าอีก 10 วันถัดมา เครือข่ายนี้จะมีการส่งยาเสพติดล็อตใหม่มาทดแทนของกลางที่ถูกตำรวจตรวจยึดไป จนวันที่ 25 มี.ค.66 สามารถตรวจยึดคีตามีน 300 กิโลกรัม ซุกซ่อนในกล่องพัสดุ 15 กล่อง ได้ที่บริษัทไทยพาร์เซิล จำกัด (TP logistics) แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กทม. 

ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์ใช้ชื่อบุคคลที่เสียชีวิตแล้วเป็นผู้รับพัสดุ และใช้สถานที่นัดหมายกับพนักงานส่งสินค้าตามถนนสาธารณะ ได้สืบสวนจนออกหมายจับและจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 คน ที่ทำหน้าที่รับพัสดุดังกล่าว ต่อมาพบว่าเครือข่ายนี้ยังมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเรื่อยมา กระทั่งพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ต้องหาได้แจ้งเปลี่ยนสถานที่จัดส่งพัสดุ จาก จว.ปทุมธานี เป็น จว.พิษณุโลก ในวันที่ 28 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่ได้แฝงตัวเข้าจับกุม 2 ผู้ต้องหา พร้อมของกลางยาบ้า 4,000,000 เม็ด ที่ซุกซ่อนมาในกล่องน้ำผลไม้ 27 กล่อง ส่งผ่านบริษัทขนส่งในพื้นที่ ต.ปากโทก อ.เมือง จว.พิษณุโลก นับเป็นการส่งยาบ้าผ่านผู้ให้บริการขนส่งทางพัสดุมากสุดเท่าที่เคยมีการจับกุมได้ในประเทศไทย เบื้องต้นขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับเครือข่ายนี้เพิ่มเติม 4 คน หนึ่งในนั้นคือ ด.ต.ใหม่ อดีตข้าราชการตำรวจสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งถูกจับกุมตัวตามหมายจับช่วงกลางปี 66 และ อีก 2 ราย จับได้ช่วงต้นปี 67 เหลือหลบหนีอีก 1 ราย สำหรับ ด.ต.ใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการคนสำคัญ ทำหน้าที่จัดส่งยาเสพติดมาแล้วถึง 1,096 กล่อง และทุกครั้งจะใช้ชื่อหญิงสาวคนสนิท เป็นผู้จัดส่งพัสดุผ่านบริษัทไทยพาร์เซิล จำกัด (TP logistics) สาขาแม่สาย จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ โดยการลำเลียงยาเสพติดของกลุ่มเครือข่ายนี้ จะมี นายออง ตี๋ อ้า สัญชาติเมียนมาเป็นหัวหน้ากลุ่มโพยก๊วนคนสำคัญในพื้นที่ท่าขี้เหล็ก ทำหน้าที่จัดส่งยาเสพติดเข้ามายัง

ประเทศไทยให้ นายจันทร์ กลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยง ทำหน้าที่รับยาเสพติดโดยใช้บริษัทรับส่งสินค้า ในตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย ที่เปิดเป็นธุรกิจบังหน้า เพื่อรับยาเสพติด และมีนายชาย ผู้กว้างขวางและเป็นเจ้าของโกดังหลายแห่ง ในพื้นที่ อ.แม่สาย ทำหน้าที่ประสานกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานนำยาเสพติด  มาพักคอยไว้ที่โกดังของตน และจะมี ด.ต.ใหม่ ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ประสานกับบริษัทไทยพาร์เซิล จำกัด (TP logistics) สาขาแม่สาย เพื่อส่งยาเสพติดมายังพื้นที่ชั้นใน จากการสืบสวนขยายผล พบความเกี่ยวข้องกับหลายเครือข่ายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และมีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องโยงใยถึงกัน และพบว่าเส้นทางการเงินในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา(ปี 2564 – 2566) มีเงินหมุนเวียนในบัญชีผู้เกี่ยวข้อง 15 บัญชี มากกว่า 2,200 ล้านบาท เมื่อนำมาคำนวณเป็นมูลค่าจากการค้ายาเสพติด (Value Based) เพื่อเสนอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 84 พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1,413 ล้านบาท  โดยเครือข่ายนี้จะนำเงินจากการค้ายาเสพติด แปลงไปเป็นอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ โดยให้เครือญาติเป็นผู้ถือครอง 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 – 21 พ.ค.67 ตำรวจ บก.ปส.2 ได้เปิดปฏิบัติการปูพรมปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่และขยายผล เพื่อยึดอายัดทรัพย์สินและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในขบวนการนี้ ในพื้นที่ 8 จังหวัด ของภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 35 จุด ได้แก่ เชียงราย 10 จุด เชียงใหม่ 5 จุด ลำพูน 1 จุด สุโขทัย 2 จุด อำนาจเจริญ 2 จุด ปทุมธานี 1 จุด สมุทรปราการ 1 จุด และกรุงเทพมหานคร 13 จุด สามารถยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อาทิ โฉนดที่ดิน 55 แปลง, สิ่งปลูกสร้าง 18 หลัง, รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ 16 คัน, รถแบคโฮ, แทรกเตอร์,รถเกี่ยวข้าว รวม 6 คัน, อาวุธปืน 2 กระบอก และเครื่องใช้ไฟฟ้า 3,000 รายการ ซึ่งเครือข่ายได้ฟอกเงินโดยการเปิดเป็นร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า รวม 3,097 รายการ มูลค่า 2,034,491,309 บาท 

2. จับกุมคดียาเสพติดคดีรายสำคัญ 1 เครือข่าย สืบเนื่อง ตำรวจ กก.3 บก.ปส.2 ได้ขยายผลการจับกุมผู้ต้องหา พร้อมของกลาง ไอซ์ 50 กก. เคตามีน 50 กก. ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จว.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.67  จนทราบเป้าหมายนักบินลำเลียงยาเสพ ติดต่อมาวันที่ 13 พ.ค.67 เวลา 01.30 น. ชุดจับกุมพบรถยนต์เป้าหมาย 2 คัน คือ รถหมายเลขทะเบียน ผฉ 65xx นครสวรรค์ และ 
3 ฒศ 91xx กรุงเทพมหานคร ขับขี่ตามกันมาบนถนน อ.ธาตุพนม – มุกดาหาร มุ่งหน้าเข้า อ.เมือง จว.มุกดาหาร จนกระทั่งเวลา 04.00 น. รถยนต์คันเป้าหมายทั้งสองคันขับเข้าไปจอดในบ้านเลขที่ 52 หมู่ที่ 2 บ้านหนองแคน ต.หนองหลวง อ.เสลภูมิ จว.ร้อยเอ็ด ต่อมาเวลา 05.00 น. พบรถกระบะตู้ทึบ หมายเลขทะเบียน 3 ฒศ 91xx กรุงเทพมหานคร  ได้ขับเข้าไปจอดที่ลานจอดรถปั๊มน้ำมัน ปตท.เสลภูมิ จว.ร้อยเอ็ด ชุดจับกุมจึงแสดงตัว ขอตรวจค้น พบนายทวีศักดิ์ เป็นผู้ขับขี่ และนางสาวมาริสา โดยสารมาด้วย ตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่ยอมรับว่าตนพร้อมพวกได้ไปรับยาบ้าที่ อ.ธาตุพนม จว.นครพนม 

โดยใช้รถของตนที่ขับขี่ขนยาเสพติดมาในครั้งแรก ก่อนจะขนถ่ายยาเสพติดไปไว้ในรถอีกคันหนึ่งซึ่งจอดอยู่ในบ้านพักดังกล่าว ตำรวจชุดจับกุมจึงเดินทางไปตรวจสอบ พบ นายธนัตย์ และ นายสุกฤษฎิ์ พร้อมรถหมายเลขทะเบียน ผฉ 65xx นครสวรรค์ ที่จอดอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าว ตรวจสอบพบยาบ้า 12 กระสอบ วางอยู่ท้ายรถยนต์ โดยมีผ้าใบสีเขียวคลุมและมีที่นอนขนาดใหญ่วางทับอีกชั้นหนึ่ง รวมยาบ้า 5,200,000 เม็ด สอบสวนผู้ต้องหา ทั้ง 4 คน รับสารภาพว่าได้รับจ้างจากผู้ว่าจ้างชาวลาวลักลอบขนยาเสพติดมาจากในพื้นที่ จว.นครพนม เพื่อไปส่งในพื้นที่ภาคกลาง โดยจะได้รับค่าจ้างคนละ 50,000 บาท 

สำหรับ การปราบปรามยาเสพติดในห้วง 7 เดือน ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 22 พ.ค.67  กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สามารถจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดรายสำคัญได้ 849 คดี ผู้ต้องหา 1,240 คน ของกลางเป็นยาบ้า 277,713,203 เม็ด, ไอซ์ 5,857 กก., เฮโรอีน 379 กก., คีตามีน 2,041 กก. และ ยาอี 1,903 เม็ด ยึดอายัดทรัพย์สินไว้เพื่อตรวจสอบมูลค่าประมาณ 3,796 ล้านบาท

ขอนแก่น - เปิดยุทธการ 'พิทักษ์ขอนแก่น' ปิดล้อมหมู่บ้านเป้าหมาย อ.บ้านไผ่

'ยุทธการพิทักษ์ขอนแก่น' ผู้ว่าฯ ขอนแก่น จัดชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองร่วมกับตำรวจ ลงตรวจพื้นที่แหล่งมั่วสุมยาเสพติดในพื้นที่อำเภอบ้านไพ่ขอนแก่น เน้นย้ำ ดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายผลเครือข่ายยาเสพติด เพื่อจัดระเบียบสังคม 

วันที่ 24 พ.ค.67 เวลา 05.30 น. พ.อ.สุรพงษ์ ยอดอินทร์ รองผอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น มอบหมายให้นายณชพัฒน์ ไกรศรีวรรธนะ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านการข่าวกอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น, จ.ส.อ.ศราวุธ สงศิริ เจ้าที่กอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมปล่อยแถวปฏิบัติการ "พิทักษ์ขอนแก่น"และ"ปฏิบัติการไล่ล่า(เด็ดปีก)นักค้าอีสานเหนือ 252 โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น/ผอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น เป็นประธานปล่อยแถวเปิดปฏิบัติการ ,พล.ต.ต.อนุวัตร สุวรรณภูมิ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น,นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น,นายประจวบ รักแพทย์ ปลัดจังหวัดขอนแก่น ,พ.ต.อ.ถนอมสิทธิ์ วงษ์วิจารณ์ รอง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ,นายกองโทพิชัย  วันตา นายอำเภอบ้านไผ่/ผอ.ศป.ปส.อ.บ้านไผ่,พ.ต.อ.ปรัชญามาศ ไชยสุระ ผกก.สภ.บ้านไผ่, สนง.ปปส.ภาค 4, ฝ่ายปกครองอำเภอบ้านไผ่, สมาชิก อส.จ.ขก, สมาชิก อส.อ.บ้านไผ่ ที่ 8 เข้าร่วมปฏิบัติการ 

ผลการตรวจค้น ปิดล้อมหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 4 จุด ดังนี้ 1.คุ้มกกแดง  ม.6 ต.หัวหนอง  ไม่พบการกระทำผิด 2.บ้านลาน ม.4 ต.บ้านลาน พบอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ 2 กระบอก 3.บ้านป่างิ้ว ม.4 ต.หินตั้ง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่นจับกุม นายวินัย (นามสมมุติ)อายุ 41 ปี - พร้อมของกลาง ยาบ้า 390 เม็ด 
- โดยกล่าวหาว่า เสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1(เมทแอมเฟตามีน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำหน่ายโดยมียาเสพติดให้โทษประเภท 1(เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน สถานที่จับกุม กระท่อมนาทิศตะวันออกบ้านป่างิ้ว ม.4 ต.หินตั้ง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ทำการตรวจยึดทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องฯ จักรยานยนต์ จำนวน 2 คัน รวมมูลค่า 230,000 บาท  4.ตรวจยึดยาเสพติด ยาบ้า จำนวน 2,000 เม็ด สถานที่ตรวจยึด ริมถนนสายบ้านไผ่-บ้านหนองแวงโอง บริเวณป้ายทางเข้าทุ่งนาทิศใต้บ้านหนองแวงโอง ม.2 ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งการจับกุมในครั้งนี้ได้ข้อมูลการขยายผลจากกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่เข้าบำบัดฟื้นฟู ณ ศูนย์พักคอยผู้ติดยาเสพติด(CI) อำเภอบ้านไผ่ และ การข่าวสายลับในพื้นที่

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่นได้นำนโยบายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในการจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพล การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย ด้วยการบูรณาการร่วมกันปฏิบัติการตามแผนระดมกวาดล้างอาชญากรรม พร้อมทั้งมีข้อสั่งการและเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดยกระดับการดำเนินการกวาดล้างสิ่งผิดกฎหมายที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ขับเคลื่อนตามพันธกิจของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อเสริมสร้างความผาสุกในสังคมไทย ส่งผลให้พี่น้องประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข

"ตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง บูรณาการเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ทำการขยายผลในทางลับ เพื่อค้นหาเครือข่ายยาเสพติดทั้งรายใหญ่และรายย่อยมาดำเนินคดีให้ได้ เพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปจากพื้นที่จังหวัดขอนแก่น รวมถึงดูแลความปลอดภัยของประชาชนจากแก๊งค้ายาเสพติด กลุ่มที่มั่วสุมยาเสพติด เพราะทางเจ้าหน้าที่มีเบาะแสประเด็นการบังคับให้ขายยาเสพติด และประเด็นการทำร้ายร่างกายเด็กผู้หญิง ซึ่งพนักงานสอบสวนจะเรียกให้ผู้เสียหายและผู้ที่เกี่ยวข้องมาทำการสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดให้เร็วที่สุด" นายไกรสร กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top