Thursday, 23 May 2024
NewsFeed

'มธ.' แจง!! มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเคสดัง หลัง 'ไอลอว์' ตั้งคำถามเล่มจบ ป.เอก 'สว.สมชาย'

(24 เม.ย.67) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่สังคมได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการกระทำผิดจริยธรรมทางวิชาการด้วยเหตุการณ์ลอกงานทางวิชาการของนักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายหนึ่งนั้น

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอชี้แจงว่า ก่อนที่ข้อมูลดังกล่าวจะได้รับการเผยแพร่เป็นการทั่วไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บริหารของหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และได้ดำเนินการสรุปข้อเท็จจริงและเสนอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อไป

ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอยืนยันว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการกำชับและส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมทางวิชาการ เพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สืบไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก iLaw ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ 'รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย' ของนายสมชาย แสวงการ สว. ที่ระบุว่า พบความคล้ายกับข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งหลายจุดนั้น เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร

‘Operation Alpha’ ปฏิบัติการลับที่ดำเนินการโดย ‘อินโดนีเซีย’ เพียงหวังซื้อเครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล


ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1980 ช่วงยุคสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งระหว่างสองค่ายขั้ว นั่นก็คือ ค่ายประชาธิปไตย+เผด็จการ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อินโดนีเซียแม้จะเป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะนั้นต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในติมอร์ตะวันออกและภายนอกประเทศที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความขาดแคลนเครื่องบินรบสมัยใหม่ตอนนั้นกองทัพอากาศอินโดนีเซียมีเพียงแต่เครื่องบินรบที่ล้าสมัยของสหรัฐฯ เช่น F-86 Saber และ T-33 T-Bird ที่เก่ามากแล้วและมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการปรนนิบัติบำรุงอันเนื่องจากอายุใช้งานที่ยาวนานและอะไหล่ซึ่งขาดแคลนเพราะสหรัฐฯ เลิกผลิตแล้ว รวมทั้งเครื่องบินรบไอพ่นที่จัดหามาจากสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960 เช่น เครื่องบินรบแบบ MiG, Il-28 และ Tu-16 ซึ่งต้องจอดอยู่กับพื้นเนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านเทคนิคหลังจากประสบปัญหาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ G30S* ตอนนั้นเองสหรัฐฯ ยินดีที่จะขายเครื่องบินไอพ่น F-5 E/F Tiger2 จำนวน 16 ลำให้กับกองทัพอากาศอินโดนีเซีย แต่เครื่องบินจำนวนนี้อินโดนีเซียเห็นว่ายังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามของประเทศได้

*G30S : เหตุการณ์ความพยายามในการทำรัฐประหารโดยสมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา


(เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล)

หน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียได้รับข้อมูลว่า อิสราเอลยินดีที่จะขายเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ที่ผ่านการใช้งานแล้วจำนวน 32 ลำให้กับอินโดนีเซีย แต่ข้อตกลงนี้มีปัญหาหลายประการ เริ่มตั้งแต่อินโดนีเซียและอิสราเอลไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารจากอิสราเอลยังเสี่ยงต่อการถูกประท้วงอย่างรุนแรงจากประชาชนชาวอินโดนีเซียซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นมุสลิม อย่างไรก็ตามกองทัพแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ABRI) ได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อไปด้วยแผนการ ‘Operation Alpha’ โดยมี 2 ระยะคือ Operation Alpha I ในปี 1980 และ Operation Alpha II ในปี 1982 ทำให้อินโดนีเซียได้รับเครื่องบินโจมตี Douglas A-4 Skyhawk จำนวน 30 ลำ (14 ลำจากปฏิบัติการ Alpha I และ 16 ลำระหว่างปฏิบัติการ Alpha II) จากกองทัพอากาศอิสราเอล

(พล.อ.อ. Djoko Poerwoko หนึ่งนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอล)

สำหรับปฏิบัติการ Alpha ดังกล่าวนอกจากเครื่องบิน 30 ลำแล้ว ยังรวมไปถึงการฝึกนักบินชาวอินโดนีเซีย โดยครูการบินชาวอิสราเอล และมีการแปลงโฉมเครื่องบินระหว่างการขนส่งจากอิสราเอลไปยังอินโดนีเซีย โดย พล.อ.อ. Djoko Poerwoko อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศอินโดนีเซียหนึ่งในนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอลเล่าว่า ปฏิบัติการ Alpha เป็นปฏิบัติการลับที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการโดยกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (Angkatan Bersenjata Republik Indonesia : ABRI) ก่อนที่จะส่งนักบินไปฝึกที่อิสราเอล รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งช่างเทคนิคของกองทัพอากาศจำนวนหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มไปฝึกในอิสราเอลเป็นเวลา 20 เดือน ในปี 1979 หลังจากช่างเทคนิคกลุ่มสุดท้ายเสร็จสิ้นภารกิจในการฝึกอบรมแล้ว นักบินอินโดนีเซีย 10 นายได้รับแจ้งว่าจะถูกส่งไปฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งให้เดินทางไปยังอิสราเอลในเดือนกันยายน 1980 โดยพวกเขาออกเดินทางด้วยเที่ยวบิน Garuda ไปยังสิงคโปร์ หลังจากเครื่องลงจอดในสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI หลายนายก็ได้มาพบกับพวกเขาระหว่างรับประทานอาหารเย็น เจ้าหน้าที่ได้ขอเก็บหนังสือเดินทางและแทนที่ด้วยหนังสือเดินทางพิเศษ ‘Travel Document in Lieu of a Passport (SPLP)’


(พลตรี Leonardus Benyamin Moerdani) 

ตอนนั้นเองพลตรี Leonardus Benyamin Moerdani ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI (ต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย) ก็มาพบนักบินทั้งสิบและได้บรรยายสรุปว่า “ภารกิจนี้เป็นภารกิจลับ หากพวกคุณรู้สึกไม่มั่นใจก็อนุญาตให้ถอนตัวกลับบ้านไปได้ เพราะหากภารกิจนี้ล้มเหลว ประเทศจะไม่ยอมรับว่าพวกคุณเป็นพลเมืองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อนำพวกคุณกลับบ้าน ภารกิจนี้จะถือว่าสำเร็จหาก A-4 Skyhawk (ชื่อรหัส 'Merpati') ไปถึงอินโดนีเซียแล้ว” ซึ่งนักบินทั้ง 10 นายจึงทราบว่า ภารกิจของพวกเขาจะเกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบินรบจากอิสราเอล และในคืนเดียวกันนั้นนักบินทั้ง 10 คนได้ใช้ตัวตนใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นพลเมืองของอินโดนีเซีย จากนั้นพวกเขาก็บินไปที่แฟรงก์เฟิร์ต และเดินทางต่อไปสนามบินเบนกูเรียนในกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล และเมื่อมาถึงอิสราเอล พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนามบินพาตัวออกไปที่ชั้นใต้ดินอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI


(นักบินอินโดนีเซียทั้งสิบนาย)

ทั้งนี้ นักบินทั้ง 10 ได้รับการบรรยายสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปที่ต้องพิจารณาขณะอยู่ในอิสราเอล พวกเขาได้รับการสอนให้จำประโยคภาษาฮีบรูที่จำเป็นสองสามประโยค หลังจากการบรรยายสรุปพวกเขาก็เดินทางต่อทางบกไปทางใต้เลียบทะเลเดดซีไปยังฐานทัพอากาศ Etzion ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ‘Arizona’ เนื่องจากการฝึกอย่างเป็นทางการนั้นนักบินเหล่านี้จะต้องถูกส่งไปฝึกในมลรัฐ Arizona ณ ฐานทัพอากาศ Etzion พวกเขาได้ฝึกบินกับเครื่องบิน A-4 Skyhawks ด้วยเทคนิคและยุทธวิธีมากมาย หรือแม้แต่การฝึกบินเจาะทะลุผ่านชายแดนซีเรีย ซึ่งการฝึกบินสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1980 นักบินทั้ง 10 คนสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของ ABRI ที่ตามมาด้วยได้รวบรวมและเผาทำลายประกาศนียบัตรเหล่านั้นต่อหน้านักบิน เพื่อให้ไม่มีหลักฐานของความร่วมมือทางทหารระหว่างอินโดนีเซียและอิสราเอลปรากฎ


(ฐานบินนาวิกโยธินยูมาในมลรัฐแอริโซนา)

เพื่อให้เรื่องราวบังหน้าครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ นักบินทั้ง 10 นายจึงถูกพาตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างหลักฐาน เช่น รูปถ่าย ฯลฯ พวกเขามาถึงนิวยอร์กและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น น้ำตกไนแอการา พวกเขาได้รับคำสั่งให้ถ่ายรูปหน้าสถานที่สำคัญของสหรัฐฯ ให้มากที่สุด จากนิวยอร์กพวกเขาถูกนำตัวไปที่ฐานบินนาวิกโยธิน Yuma ในมลรัฐแอริโซนา พวกเขาใช้เวลา 3 วันในฐานบินนาวิกโยธิน Yuma และได้รับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 ของหน่วยบัญชการนาวิกโยธินสหรัฐฯ (USMC) และถ่ายรูปเพิ่มเติม นอกจากนี้พวกเขายังได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของ USMC และได้ถ่ายภาพการรับประกาศนียบัตรอีกด้วย ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI ได้ย้ำเตือนนักบินว่า แท้จริงแล้วพวกเขาได้รับการฝึกฝนในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อิสราเอล หลังจากนั้นพวกเขาก็บินไปสิงคโปร์แล้วกลับอินโดนีเซีย


(A-4 Skyhawk ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5')

ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 1980 เครื่องบินลำเลียงแบบ C-5 Galaxy ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดในฐานทัพอากาศ Iswahjudi พร้อมด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F Tiger II และในวันรุ่งขึ้น A-4 Skyhawks ชุดแรกของอิสราเอล ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินที่นั่งเดี่ยว 2 ลำ (หมายเลข TT-0401 และ TT-0414) และเครื่องบิน 2 ที่นั่ง 2 ลำ (หมายเลข TL-0415 และ TL-0416) ก็เดินทางมาถึงท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเครื่องบินไอพ่นดังกล่าวถูกห่อหุ้มที่ฐานทัพอากาศ Etzion และขนส่งทางเรือโดยตรงจากอิสราเอล A-4 ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5' เพื่อให้ดูเหมือนเป็นการจัดส่งจากสหรัฐฯ อีกรายการหนึ่ง หลังจากแกะออกจากห่อแล้วเครื่องบินทั้งหมดก็ได้รับการตรวจสอบและประกอบด้วยความช่วยเหลือจากช่างเทคนิคชาวอิสราเอล จากนั้นจึงบินไปยังฐานทัพอากาศฮาซานุดดินในมากัสซาร์ เพื่อเข้าประจำการในฝูงบินที่ 11 


(A-4 Skyhawk ฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศฮาซานุดดิน)

อย่างไรก็ตาม A-4 Skyhawks ยังคงมาถึงอินโดนีเซียเป็นระยะ ๆ โดยรวมแล้ว อินโดนีเซียได้รับเครื่องบิน A-4 Skyhawks 14 ลำ (+1 ลำเพื่อทดแทนที่ตก) จากอิสราเอลในปี 1980 และ A-4 จำนวน 16 ลำในปี 1982 รวมทั้งหมด 30 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็นแบบ A-4E และส่วนที่เหลือเป็นรุ่นฝึก TA-4H และ TA-4J ซึ่งในปี 1997-1998 อินโดนีเซียได้ซื้อ TA-4J (2 ที่นั่ง) 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และได้รับการปรับปรุงในนิวซีแลนด์ ในปี 1981 อิสราเอลได้ส่ง A-4E 2 ลำ (ลำหนึ่งคือ TT-0417) เพื่อทดแทน A-4 ที่ตกในระหว่างการรับประกัน เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของอินโดนีเซียได้ร่วมปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งได้แก่ ปฏิบัติการโลตัส (1980-1999) ในติมอร์ตะวันออก ปฏิบัติการออสการ์ (1991-1992) ในสุลาเวสี และปฏิบัติการเรนคอง เตร์บัง (1991-1995) ในอาเจะห์ เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียทั้งหมดถูกปลดระวางในปี 2005 และถูกนำไปตั้งแสดงอยู่ในฐานทัพอากาศและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วอินโดนีเซีย

'พวงเพ็ชร' สั่งสำนักพุทธตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากพบเข้าข่าย 'หลอกลวง-หาประโยชน์' สั่งฟันทันที

(24 เม.ย. 67) ที่ทำเนียบ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาตรวจสอบ 'น้องไนซ์' เด็กอายุ 8 ขวบที่อ้างตัวเป็นบุตรพระพุทธเจ้า สอนธรรมมะด้วยการเชื่อมจิตที่ไม่มีอยู่ในคำสอน โดยได้สั่งการไปยัง นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่บ้านพักของครอบครัวเด็กอายุ 8 ขวบ พร้อมกับนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือกัน จอมพลัง เพื่อตรวจสอบโดยด่วนแล้ว ว่าการกระทำของเด็กอายุ 8 ขวบ เป็นอย่างไรและมีความเหมาะสมหรือไม่ 

นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาประสานงานกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมลงไปตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จะต้องเข้าไปตรวจสอบกับผู้ปกครองด้วยว่ามีการป้อนข้อมูลที่ผิดให้กับลูกหรือไม่ เพราะลำพังเด็กที่มีอายุยังน้อยน่าจะยังไม่มีการนึกคิดไตร่ตรองอะไรได้มาก รวมถึงตรวจสอบว่ามีใครอยู่เบื้องหลังเพื่อหวังหาประโยชน์จากน้องไนซ์หรือไม่

“ส่วนตัวมองว่าการที่นำเรื่องพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงเช่นนี้ ไม่ตรงกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา อีกทั้งทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ดังนั้นจึงให้สำนักพุทธฯ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ และหากมีประเด็นใดที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน จะดำเนินการตามกฎหมายหรือมีพระภิกษุสามเณรรูปใดเข้าไปเกี่ยวข้องให้ดำเนินทันทีโดยไม่มีการละเว้น ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณก่อนรับฟังคำสอนดังกล่าวด้วย” นางพวงเพ็ชร กล่าว

‘Tesla’ กำไรไตรมาสแรกดิ่งฮวบ 55% ท่ามกลางสงครามรถยนต์อีวีที่เข้มข้น

(24 เม.ย.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เทสลา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าผลกำไรในไตรมาสแรกของปี 2024 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้มข้น แต่หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้น หลังนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาได้ประกาศว่าจะเร่งแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง

เทสลาได้เปิดเผยว่า เทสลามีผลกำไรในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 40,570 ล้านบาท จากรายได้ของเทสลา 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 785,362 ล้านบาท ถือว่ามีผลกำไรลดลง 55% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 11% ในการซื้อขายหลังตลาดปิด หลังเทสลาให้คำมั่นว่าจะเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลง โดยการประกาศดังกล่าวมีขึ้นขณะที่บรรดานักลงทุนต้องการให้มัสก์ออกมาแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัทมากขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์เทสลากำลังลดลง และข่าวการปลดพนักงานเทสลาทั่วโลกราว 14,000 คนเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายของเทสลากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รวมถึงการเรียกคืนรถยนต์ Cybertruck รุ่นใหม่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเร่งเครื่องยนต์

ถึงแม้ว่าเทสลาจะกำลังใช้มาตรการรัดเข็มขัด แต่เทสลายังให้รายละเอียดว่าพวกเขาเตรียมที่จะเร่งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่มีราคาถูกลง โดยมัสก์เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์รุ่นใหม่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025 เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ซึ่งรายงานดังกล่าวได้สร้างความพอใจให้แก่นักลงทุนบางส่วนอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ชี้แจงถึงแผนการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่บอกว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

แม่เผยคลิป ‘ลูกน้อย’ ทำ ‘ลาบูบู้’ เล่นเอง เหตุราคาดีดแรงซื้อไม่ได้ ด้านชาวเน็ตเอ็นดู!! ความใสซื่อ-ไม่รู้จักฟุ่มเฟือย-รู้คุณค่าของเงิน

(24 เม.ย. 67) เรียกว่ากระแส ‘ลาบูบู้’ (Labubu) มาแรงแบบทั่วบ้านทั่วเมือง จากที่หายากอยู่แล้ว พอสาว ‘ลิซ่า’ ถือ ก็ยิ่งหายากและราคาพุ่งทยานมากขึ้นไปอีก บางคนพร้อมจ่ายก็ยอมเสียแพงกว่าราคาปกติให้ได้มา แต่บางคนที่ไม่พร้อมก็จำต้องตัดใจ

เช่นเดียวกับคุณแม่ผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งที่ได้โพสต์คลิปวิดีโอ เป็นภาพ ลาบูบู้ เวอร์ชันตุ๊กตากระดาษทำเองของลูกน้อย

ซึ่งเจ้าของคลิปขึ้นข้อความว่า เมื่อแม่กลับมาเห็นลาบูบู้ของลูก ลูกพูดว่าลาบูบู้ของหนูน่ารักไหม หนูทำเองเพราะมันแพงซื้อไม่ได้ แม่ขอโทษนะ ที่แม่ซื้อให้หนูไม่ได้ พร้อมระบุแคปชันว่า “แม่ขอโทษนะลูก แม่จะพยายามเก็บเงินซื้อให้หนูนะลูก”

หลังคลิปนี้ถูกโพสต์ไปก็มีผู้คนเข้าชมกว่า 6 ล้านครั้ง คนที่ได้เห็นต่างรู้สึกจุกอกกับความใสซื่อของเด็กน้อย ที่รู้ว่า ลาบูบู้ เป็นของเล่นราคาแพงเกินไป จึงเลือกที่จะสร้างความสุขจากสิ่งของใกล้ตัวแทน

จากนั้นก็มีคนเข้ามาเสนอตัวจะซื้อของจริงให้ แต่ทางคุณแม่ก็ปฏิเสธ บอกว่า “ขอบคุณพี่ที่เมตตาน้องนะคะ แต่คุณแม่คิดว่าตอนนี้มันราคาสูงไปค่ะ เราน่าจะรอให้ราคามันลดลงมาปกติได้ค่ะ คุณแม่ไม่อยากรบกวนพวกพี่ ๆ ด้วยค่ะ คุณแม่เกรงใจทุกคนมากค่ะ ขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่ใจดีมากค่ะ”

ทำเอาหลายคนแห่เข้ามาชมทัศคติที่ดีของทั้งแม่และลูก ลูกก็ไม่ฟุ่มเฟือย รู้จักคุณค่าของเงินตั้งแต่ยังเด็ก ไม่งอแงจะเอาของแพง ส่วนแม่ก็ไม่อยากได้ของคนอื่นทั้งที่ไม่จำเป็น แม้จะมีคนเสนอให้ฟรี สอนให้ลูกรู้จักความเหมาะสม

“พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ” เปิดโครงการ CSI Challenge 2024 เฟ้นหาสุดยอดทีมปฏิบัติการพิสูจน์หลักฐาน มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาศักยภาพการตรวจสถานที่เกิดเหตุของตำรวจพิสูจน์หลักฐานไทย ในระดับสากล

วันนี้ (24 เม.ย.67) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ  พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มพูนทักษะ และพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติงานด้านการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (CSI Challenge 2024) โดยมี พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ , พล.ต.ท.ยงเกียรติ มนปราณีต ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และข้าราชการตำรวจสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ร่วมพิธี ณ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี

ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กล่าวว่า สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจให้ความสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะ และพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจ                 สถานที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักและเป็นกระบวนการแรกของการได้มาซึ่งพยานหลักฐาน และจะต้องมีขั้นตอนการเก็บวัตถุพยานตามมาตรฐานสากล โดยใช้หลัก 12 ขั้นตอน ของ FBI ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17020 ทั้งนี้ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้ตรวจติดตามคุณภาพภายใน (Internal Audit) การตรวจสถานที่เกิดเหตุของทุกศูนย์ทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานอยู่เสมอ แต่ปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกครั้ง ด้วยการจัดโครงการ CSI Challenge 2024 ขึ้น โดยคัดเลือกหน่วยที่มีผลคะแนนสูงสุดของการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ในรอบ Internal Audit ในคดีเกี่ยวกับชีวิต ได้แก่ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 , คดีเกี่ยวกับทรัพย์ ได้แก่ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 6 และคดีเกี่ยวกับระเบิด ได้แก่  ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 มาแข่งขันเพื่อหาทีมที่มีความสมบูรณ์ที่สุด

การแข่งขัน CSI Challenge 2024 จะมีการจำลองสถานการณ์ในรูปแบบเดียวกัน มีคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการอาวุโส และคณะกรรมการประจำจุด เป็นผู้ตัดสิน โดยเกณฑ์การให้คะแนน จะให้คะแนนตามขั้นตอนวิธีปฏิบัติ การตรวจสถานที่เกิดเหตุ 12 ขั้นตอน ตามมาตรฐาน ISO 17020  โดยพิจารณาจากความสามารถในการทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน ตรวจเก็บวัตถุพยานได้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามหลักวิชาการ สามารถเชื่อมโยงคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาที่จำกัด ซึ่งโครงการ CSI Challenge 2024 จะช่วยเพิ่มพูนทักษะ และประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งนำความรู้และประสบการณ์ในการแข่งขันครั้งนี้ไปพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน

ภายหลังพิธีเปิด รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ได้เดินชมบูธนิทรรศการแสดงเครื่องมืออุปกรณ์อันทันสมัยของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐานในปัจจุบัน

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ กล่าวว่า สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจเป็นหน่วยหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวบรวมวัตถุพยาน และตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ มีนักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักในการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ภายใต้การปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล จึงขอให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตำรวจทุกคนได้ใช้ความรู้ความสามารถในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ไปใช้ในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปพัฒนาการทำงานให้สามารถนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิด โดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์อย่างมีมาตรฐานสากล

'หนุ่มเมา' ควงมีดเดินป่วนโรงพยาบาล อ้างมาขอพาราเซตามอล สะท้อน!! ความปลอดภัย 'ชีวิตแพทย์-บุคลากร' น่าห่วง

(24 เม.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย ร.ต.อ.ไกรศักดิ์ เฉยฉิว รอง สวป.สภ.บางปะกง กำลังเจ้าหน้าที่สายตรวจ นำอุปกรณ์ไม้ง่ามเข้าสกัดเหตุความวุ่นวาย หลังมีชายคนหนึ่งเมาพกมีดเข้ามาโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 หมู่ 1 ตงบางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

โดยชายคนดังกล่าว ได้พกมีดเข้ามาโรงพยาบาล แล้วเดินป่วนขึ้นไปถึงชั้น 7 ของตึก ทำให้หมอและพยาบาลที่เข้าเวรอยู่ต้องปิดประตูในห้องที่ทำงานเพื่อความปลอดภัย

ต่อมาเจ้าหน้าที่เวรเปลได้เดินตามหาชายคนดังกล่าว จนมาพบว่าแอบเข้าไปหลับในห้องสังเกตอาการผู้ป่วย โดยวางอาวุธมีดยาว 1 ฟุต ไว้ข้างตัว จึงรีบโทรแจ้งตำรวจ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะบุกเข้าทำการจับกุมชายคนดังกล่าวทันที

จากการตรวจสอบพบว่าชายคนดังกล่าวคือ นายนิกร จันทร์เรือง อายุ 31 ปี อยู่ในอาการมึนเมา และเปิดเสียงสวดมนต์ในมือถือ ก่อนที่ตำรวจจะควบคุมตัวไปที่ สภ.บางปะกง

ด้าน ร.ต.อ.ไกรศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นายนิกร ขี่รถจักรยานยนต์พาคนเมาที่นอนข้างทางมาส่งที่โรงพัก โดยให้นอนอยู่ที่หน้าโรงพัก แล้วรีบขี่รถจักรยานยนต์ออกไปทันที ซึ่ง นายนิกร บอกว่าตนมีอาการปวดหัวเลยขี่รถไปโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 เพื่อจะหาหมอเอายาแก้ปวดหัวเท่านั้น แต่จำไม่ได้ว่าต้องไปที่ห้องไหน จึงเดินไปทั่ว ก่อนจะง่วงนอน เลยเดินหาห้องนอนพักผ่อน ส่วนมีดแค่พกไว้ป้องกันตัวเฉย ๆ

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ส่งหนังสือด่วนถึง ครม. เตือน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ก่อหนี้มหาศาล

(24 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เม.ย.67 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 เม.ย.67 มองว่าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ต้องใช้เงินจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดภาระหนี้ผูกพันต่อรัฐบาลในอนาคตดังนี้…

1. ความจำเป็น โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ 

1.1 ควรดูแลครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 15 ล้านคน ซึ่งดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณเพียง 150,000 ล้านบาท และควรทำแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง โดยความจำเป็นกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวร้อยละ 7.1 เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553 - 2565 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 ต่อปี

1.2 โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11 มองว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะทำให้มีอัตราสูงกว่าเกณฑ์ในปี 2568 หากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น

1.3 การเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนๆ มากกว่า 100,000 ล้านบาท อาจกระทบการจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน ภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติมีความรุนแรงมากขึ้น

1.4 รัฐบาลควรคำถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้งบเฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) สร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) สนับสนุนได้นานถึง 6 ปี โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) พัฒนาได้กว่า 10 สาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) พัฒนาได้กว่า 2 สาย

>> 2. แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

วงเงิน 500,000 ล้านบาท นำมาจากงบประมาณรายจ่าย และกู้เงินจาก ธ.ก.ส. โดยรัฐบาล รับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจและอยู่ภายใต้กฎหมาย วัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง และรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลความเสี่ยงและฐานะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท

>> 3. ผู้พัฒนาระบบสำหรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

นับว่ามีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ธปท. จึงห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ จึงควรใช้ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุด จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่

ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งเป็นระบบเปิด (Open-loop) ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการหลากหลาย ควรกำหนดโครงสร้าง และสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ รองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก ไม่ให้ติดขัด หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ

>> 4. การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต

หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับเงื่อนไขการใช้จ่ายประเภทสินค้าต้องห้าม

ธปท. มีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและ รายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการมีรายละเอียดซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก กระทบต่อภาระการคลังในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ จึงต้องรัดกุมอย่างเต็มที่ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย

บทสรุปราคาน้ำมันอาเซียน ใต้ ‘อุณหภูมิโลก-ตะวันออกกลาง’ เดือด ราคาเบนซินไทยเกาะกลุ่มกลางตาราง ส่วนดีเซลราคายังรั้งท้าย

เดือดปุดทั้งอาเซียน สมกับเป็นหน้าร้อนจริง ๆ เมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเร็วและแรงไปทั่วโลก จากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผสานเข้ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งไม่แพ้กัน จากโลกที่ร้อนเข้าขั้นเดือด เพราะดวงอาทิตย์มาอยู่แถวนี้พอดี ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วทั้งโลก และหมายรวมถึงอาเซียนบ้านเรา ก็คงได้รับผลกระทบจากราคาที่ปรับขึ้นนี้ไปตาม ๆ กัน

ว่าแล้ว วันนี้เลยขอถือโอกาสมาเช็กราคาน้ำมันเชิงเปรียบเทียบ เอาแค่ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนดูกันสักเล็กน้อย ว่า ณ ตอนนี้ ที่ไหน ถูก- แพง กันบ้าง? เผื่อคนไทยเราจะสบายใจกันขึ้นเล็ก ๆ

อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจก่อนว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันถูกหรือแพงนั้น จะขึ้นอยู่กับ…

1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศไหนสามารถผลิตเองได้ ก็นับว่าโชคดีไป ที่บรรพบุรุษหามาให้เป็นทรัพย์สมบัติ
2. ค่าขนส่งน้ำมัน ถ้าประเทศที่ต้องนำเข้าคงไม่ต่างกันมากนัก แต่ประเทศที่ผลิตเองได้ ก็จะทำให้ค่าขนส่งถูกลง
3. ประเทศที่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง ซึ่งในอาเซียน มีอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย และ เวียดนาม 
4. ภาษีต่าง ๆ ที่ในแต่ละประเทศเรียกเก็บ

ทั้งนี้ หากในส่วนของอาเซียน ก็มีประเทศที่สามารถขุดน้ำมันมาใช้เองได้ โดยแทบไม่ต้องนำเข้าด้วย ได้แก่... 
1. มาเลเซีย
2. บรูไน
3. อินโดนีเซีย

ส่วน ประเทศไทย และ เวียดนาม ผลิตใช้เองได้เล็กน้อย คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของปริมาณความต้องการเท่านั้น

คราวนี้ ก็ได้เวลาพามาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป ในกลุ่มอาเซียน ที่รายงานอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 พบว่า…

>> ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ในสิงคโปร์ แพงที่สุด คือ 80.29 บาทต่อลิตร ตามมาด้วย ลาว 57.57 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 48.33 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ไทย 40.35 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 40.23 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 33.23 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 15.79 บาทต่อลิตร และ บรูไน 14.33 บาทต่อลิตร

>> ส่วนราคาน้ำมันดีเซล แพงสุดก็ยังเป็น สิงคโปร์ 72.99 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 45.59 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ลาว 36.62 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 35.85 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 31.11 บาทต่อลิตร, ไทย 30.94 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 16.56 บาทต่อลิตร และ บรูไน 8.38 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ ต้องบอกให้ทราบกันก่อนว่า ราคาจากประเทศที่มีเห็นว่าน้ำมันถูกนั้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลแต่ละประเทศจะมีการอุดหนุนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน ที่แม้จะเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันใช้เองได้ก็ตาม

แต่จากภาวะสงครามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้แต่ละประเทศเริ่มอุ้มไม่ไหวแล้ว จะเริ่มลอยตัวราคาน้ำมันตามกลไกตลาดกันแล้ว เพราะการอุ้มนาน ๆ จะทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นไม่รู้ต้นทุนจริง สุดท้ายประเทศจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย ก็ได้ออกมาระบุว่า มาเลเซียเตรียม ‘ลดการอุดหนุน’ ราคาน้ำมันเบนซินในปีนี้ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลมาเลเซีย เตรียมลดการอุ้มราคาน้ำมันนั้น เป็นเพราะผลจากการอุ้ม ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณประเทศที่มีตัวเลขพุ่งไปแตะ 5% ของ GDP ในปี 2566 จนกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลให้สกุลเงินริงกิตของมาเลเซียใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 2541 อีกด้วย

ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซีย จึงตั้งเป้าหมายในปีนี้ว่า จะลดภาวะขาดดุลงบประมาณจาก 5% ของ GDP ลงเหลือ 4.3% ของ GDP โดยเริ่มจากลดการอุดหนุนน้ำมันเบนซิน RON95 ซึ่งเป็นประเภทเบนซินราคาถูกที่สุด และชาวมาเลเซียใช้มากที่สุดด้วย โดยในปีที่แล้วรัฐบาลใช้งบประมาณไปกับการอุดหนุนเหล่านี้มากถึง 81,000 ล้านริงกิต หรือราว 622,000 ล้านบาท

*** ขนาดประเทศที่ผลิตน้ำมันใช้ได้เองอย่างมาเลเซียยังวิกฤต ก็เลยไม่อยากให้คิดว่าเมืองไทยไม่ทำอะไร ปล่อยแพงเอา ๆ

เพราะถ้าลองหันกลับมาดูประเทศไทยเราดี ๆ จะพบว่าราคาน้ำมันของไทย อยู่ในระดับกลาง ๆ ค่อนไปทางราคาถูกด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล เพราะมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปอุ้มอยู่ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป หรืออุ้มน้ำมันดีเซลนาน ๆ ประเทศก็จะสูญเสียการแข่งขันเช่นกัน 

เนื่องจากตอนนี้ กองทุนน้ำมันบ้านเรา ได้เข้าอุ้มน้ำมันดีเซลอย่างเดียวก็ร่วม 60,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งถ้าจะให้พูดเชิงสำนึกกันสักหน่อย ก็น่าจะหมายถึงว่า “เวลาที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันประหยัดน้ำมันกัน มันมาถึงแล้ว” เพราะต้องตระหนักรู้ด้วยว่า ประชาชนทุกคนที่ไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซลก็มีเยอะ และเขาก็ต้องมาช่วยอุ้มน้ำมันดีเซลด้วยเช่นกันในตอนนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสาเหตุที่ประเทศไทย ราคาน้ำมันไม่แพงพุ่งกระฉูด เพราะเรามีโรงกลั่นน้ำมันของเราเอง อยู่ที่จังหวัดระยอง, ชลบุรี และกรุงเทพฯ ที่มีความสามารถในการกลั่นเองมาใช้เองภายในประเทศได้หมด แถมส่งออกได้อีกต่างหาก เรียกว่าประเทศไทยแทบไม่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แต่ทว่าก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบอยู่

อีกเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันพุ่งหรือไม่ คือ สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันมีจุดเริ่มต้นจาก ‘อิสราเอล’ กับ ‘กลุ่มฮามาส’ ที่กำลังลุกลามยกระดับไปเป็น ‘อิสราเอล’ กับ ‘อิหร่าน’ แล้วนั่นเอง!!

ทำไมต้องจับตามอง? เพราะนอกจากจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบพุ่งแล้ว โดยภูมิศาสตร์ภูมิภาคแถบนั้น การขนส่งน้ำมัน 30 %ของโลกต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ของอิหร่านทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเกิดสงครามลุกลามขึ้นมา แล้วอิหร่านคิดจะกดดันด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซแบบเบ็ดเสร็จ ก็ต้องมีการขนอ้อมไปทางอื่น ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งพุ่งกระฉูดอีกทางหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้นคงไม่ต้องคิดว่าคนไทยและชาวโลกจะเดือดร้อนขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม เห็นข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กำลังเร่งจัดทำระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR เพื่อสำรองน้ำมัน เตรียมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะทำให้ราคาในประเทศไม่ผันผวนตามตลาดโลกแม้มีภาวะสงคราม ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ได้รับความสนใจจากทุกหน้าสื่อสักหน่อย 

ส่วน THE STATES TIMES เองก็สนใจเรื่องนี้พอสมควร ไว้ขอไปศึกษาและคราวหน้าจะเอารายละเอียดมาฝาก...

เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES

'กมธ.พลังงาน' ต้อนรับอุปทูตด้านเศรษฐกิจจีน ชู 5 แผนเด่น พาพลังงานไทยสู่ความมั่นคง

กมธ.พลังงานให้การต้อนรับอุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะในโอกาสเข้าเยี่ยม กมธ.ผลการหารือชื่นมื่น

(24 เม.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ กมธ.พลังงาน ให้การต้อนรับ น.ส.จาง เซียวเซียว (Ms. Zhang  Xiaoxiao) อุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้า ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย พร้อมคณะที่เดินทางมาเยี่ยมคณะกมธ.อย่างเป็นทางการ บรรยากาศการพบกันเป็นไปอย่างชื่นมื่น 

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวถึงภารกิจของ กมธ.พลังงาน ว่า ได้มีการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับแผนพลังงานชาติ ซึ่งเป็นแผนที่รวบรวมแผนด้านพลังงานไว้ทั้ง 5 ด้าน ให้อยู่ภายใต้แผนเดียวกัน โดยจะช่วยให้เกิดการวางแผนพลังงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกรอบของแผนพลังงานชาติ จะมุ่งเน้นไปสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070 สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเน้นการลดโลกร้อน ซึ่งแผนดังกล่าวนี้จะทำให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนเทรนด์ใหม่ของโลก

ทั้งนี้ แผนด้านพลังงานทั้ง 5 ด้าน ได้แก่...

1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ Power Development Plan: PDP 
2.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan 
3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ Alternative Energy Development Plan: AEDP
4.แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ Energy Efficiency Plan: EEP 
และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงาน กมธ.พลังงานได้มีการพิจารณาศึกษาเรื่องสำคัญ เช่น สถานการณ์พลังงานของประเทศ การพิจารณารับเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานด้านพลังงาน การพิจารณาเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ กมธ.พลังงานได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 3 คณะ เพื่อพิจารณาศึกษาตามหน้าที่และอำนาจของกมธ.พลังงาน และตามที่สภาผู้แทนราษฎรมอบหมาย ได้แก่...

1.คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานไฟฟ้า 
2.คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 
และ 3.คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการ 

ทั้ง 3 คณะ อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อจัดทำรายงานผลการพิจารณาศึกษาเสนอต่อที่ประชุมคณะกมธ.พลังงาน เพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top