Saturday, 18 May 2024
NewsFeed

'นักพี้เยอรมัน' เฮสนั่น!! รัฐบาลผ่านกฎหมายกัญชาเสรี 'ปลูก-เสพ' ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ชี้!! ปลอดภัยกว่าก๊งเหล้า

นักพี้ชาวเยอรมันหลายพันคนเฮสนั่น เมื่อรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายกัญชาถูกกฎหมายอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา และได้มารวมตัวสูบกัญชาฉลองชัยกันอย่างเอร็ดอร่อยที่หน้าประตูบรันเดินบวร์ค สถานที่ไอคอนที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเบอร์ลิน

ตำรวจเบอร์ลินประเมินว่า มีผู้มาร่วมงานบริเวณหน้าประตูบรันเดินบวร์ก ราว 4,000 คน เพื่อมาสูบกัญชา ณ ใจกลางเมืองหลวงร่วมกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม 'Smoke-In' เพื่อฉลองชัยที่สามารถผลักดันให้กัญชาถูกกฎหมายในเยอรมัน ซึ่งนอกจากจะนัดมาสูบกัญชาร่วมกันแล้ว ยังมีงานแสดงคอนเสิร์ต และการกล่าวปราศรัยของนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งด้วย

ในความเห็นของผู้ที่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้มองว่า การเสพกัญชา เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการดื่มสุราหลายเท่า โดยอ้างอิงจากข้อมูลทางสถิติของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราเกินขนาด หรือ คดีอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการดื่มสุรา ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับจำนวนคนที่สูบกัญชา จึงมีผู้สนับสนุนจำนวนไม่น้อยชูป้ายว่า ‘ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการดื่ม’ หากมีกัญชาเป็นตัวเลือกในวงปาร์ตี้ สันทนาการ ที่ดีกว่า

จากร่างกฎหมายใหม่นี้ ชาวเยอรมันมีสิทธิ์ครอบครองกัญชาสดได้ไม่เกิน 25 กรัม หรือในรูปกัญชาตากแห้งไม่เกิน 50 กรัมต่อคน และสามารถปลูกเองที่บ้านได้ไม่เกิน 3 ต้น แต่ต้องอยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะในเยอรมัน หรือ 18 ปีขึ้นไป  

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการเสพคือ ห้ามสูบบนทางเท้า และบริเวณใกล้โรงเรียน หรือ สนามเด็กเล่นในช่วงกลางวัน และยังห้ามสูบกัญชาในบริเวณสถานีรถไฟทั่วประเทศ เพื่อปกป้องผู้โดยสารคนอื่น โดยเฉพาะ เด็ก และเยาวชน ที่สัญจรโดยรถไฟ 

แต่ถึงแม้จะมีชาติตะวันตกอย่างเยอรมัน แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส และ หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ที่รับรองการสูบกัญชาอย่างถูกกฎหมาย แต่การใช้กัญชายังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการแพทย์ว่า อาจนำไปสู่การเสพสารเสพติดที่มีฤทธิ์ร้ายแรงยิ่งขึ้น อาทิ โคเคน หรือ เฮโรอีน หรือไม่ 

ด้าน ดร.สเตฟาน ทอนเนส หัวหน้าแผนกพิษวิทยาทางนิติเวชที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต กล่าวว่า จากข้อมูลของผู้ติดยาในเยอรมันพบว่า ผู้ที่ติดเฮโรอีน มักใช้เสพสารเสพติดชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ในทางกลับกัน กลุ่มผู้ที่เสพกัญชาจำนวนน้อยมากที่จะขยับขึ้นในเสพเฮโรอีน แม้จะมีความเชื่อมโยงระหว่างการเสพกัญชา ที่จะกระตุ้นความต้องการในการเสพยาเสพติดชนิดอื่นๆได้ในอนาคต แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่สามารถระบุว่าเป็นสาเหตุโดยตรงของการติดสารเสพติด อย่างโคเคน หรือ เฮโรอีนได้

เช่นเดียวกันกับการสำรวจข้อมูผลกระทบของกัญชาต่อสุขภาพ และการทำลายสมอง หรือคำกล่าวอ้างที่ว่าการเลือกเสพกัญชา มีอันตรายน้อยกว่าการดื่มเหล้า ก็ยังไม่มีผลงานวิจัยมายืนยันได้อย่างชัดเจนถึงข้อสรุปเหล่านี้ เพราะทั้งสุรา และกัญชา ต่างมีสารที่เป็นอันตรายในตัวเอง และมีฤทธิ์ถึงตายได้เหมือนกันขึ้นอยู่กับปริมาณการเสพ  

ดังนั้น รัฐบาลเยอรมันจึงยกให้เป็นเรื่องของความรับผิดชอบส่วนบุคคล หากเป็นผู้ใหญ่แล้ว เลือกที่จะเสพกัญชา ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย หากสูบในพื้นที่ ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าเสพหนักจนไปก่ออาชญากรรม หรือ กลายเป็นผลเสียต่อร่างกายก็เป็นเรื่องของกรรมต่างวาระ ที่ผู้เสพต้องรับผิดชอบในทุกๆการกระทำของตนเอง 

เพราะฉะนั้น นักพี้ก็ต้องเสพอย่างมีสติ แต่เกรงว่าจะมีสติได้แค่มวนแรก มวนต่อ ๆ ไป สติสตังชักไม่รู้ว่าทิ้งไว้ตรงไหนแล้วนะซี 

'ต่อตระกูล' เปิดภาพแนวคิด ก่อสร้างตึกสูงจากกลุ่มทุนดูไบ ด้าน 'นายกฯ' เสนอ!! สร้างให้สูงที่สุดของโลกเลยได้ไหม?

(22 เม.ย. 67) นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาคว่า "ตึกสูง ที่กลุ่ม EMAAR จาก ดูไบ จะมาลงทุนสร้าง นำบินมาเสนอนายกฯ ไทย หน้าตาเป็นแบบนี้ EMAAR Group เสนอเป็นแนวคิด ที่จะสร้างด้วยเหล็ก สเตนเลส ไร้สนิม แต่ยังไม่ใช่รูปแบบตึกที่จะสร้างให้สูงที่สุดในโลก แต่นายกฯ เศรษฐา เสนอแนะว่า จะสร้างให้สูงที่สุดในโลกเลย ได้ไหม? เขาก็รับไปศึกษาเพิ่มเติม

EMAAR Group เป็นกลุ่มผู้บริหารตึก Burj Khalifa ตัวจริง ที่ดูแลการบริหาร และจัดการตลาด ของตึกสูงสุดของโลกอยู่ในขณะนี้ เขามีความสนใจ ที่จะเสนอโครงการสร้างตึกที่สูงที่สุดในโลกที่ ประเทศไทย! ถ้าเขาอยากเอาเงินของกลุ่มเขาจากดูไบ มาลงทุนในประเทศไทยบ้าง เราก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น และอีกหลายชาติเขาก็ได้มาลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเรากันมานานแล้ว ส่วนใหญ่เขาก็ประสบความสำเร็จกันดี"    

พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย ตม.จว.นครพนม

ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จึงได้กำหนดมาตรการดูแลอำนวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมือง เพื่อบริการให้รวดเร็วประหยัดเวลา ลดความแออัด โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่มีผู้โดยสารหนาแน่น ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความสะดวกเรียบร้อยในทุกพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล 

วันนี้ (22 เม.ย.2567)  เวลา 9.00 น. พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการ ณ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครพนม อ.เมืองนครพนม จว.นครพนม  พร้อมทั้งมอบสิ่งของบำรุงขวัญให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครพนม ครั้งนี้ พล.ต.ต.ปิยะอนันต์ โตสกุลวงศ์ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 กำหนดให้ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครพนม นำโดย พ.ต.อ.ภัทรพงศ์ อินวรรณา ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครพนม รายงานผลการปฏิบัติงานและการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมืองตามนโยบายของผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในห้วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 

จากนั้น พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้เดินทางต่อไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) โดยได้ตรวจดูความเรียบร้อยในการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมือง และ พบปะประชาชนที่มารับบริการ ณ จุดผ่านแดน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครพนม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4

‘เนเธอร์แลนด์’ พบ ‘ชายชราวัย 72 ปี’ ติดเชื้อ ‘โควิด’ จนตาย หลังติดยาวนาน 613 วัน หวั่น!! เป็นตัวกลายพันธุ์อันตรายชนิดใหม่

(22 เม.ย.67) ทีมวิจัยชุดหนึ่งจากเนเธอร์แลนด์ พบการติดเชื้อโควิด-19 ยาวนานเป็นพิเศษในคนชรารายหนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตจากไวรัสมรณะชนิดนี้เมื่อปีที่แล้ว ด้วยวัย 72 ปี ก่อความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการปรากฏตัวขึ้นมาของตัวกลายพันธุ์โคโรนาไวรัสที่อันตรายกว่าเดิม

ถ้อยแถลงที่เผยแพร่โดยพวกนักวิจัย ระบุว่า ชายชรารายนี้ ซึ่งมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ก่อนแล้ว สืบเนื่องจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ก่อนหน้า เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในอัมสเตอร์ดัม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หลังมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก และไม่น่าเชื่อ ที่ผลตรวจไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของเขาออกมาเป็นบวกอยู่ตลอด จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2023 เท่ากับเป็นการติดเชื้อยาวนาน 613 วัน

ตัวอย่างการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลานานของบุคคลหนึ่งที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เคยมีรายงานมากมายก่อนหน้านี้ แต่ในการค้นพบครั้งนี้ที่นำโดย แมกดา เวอร์กัวเว จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เตรียมมีการนำเสนอต่อที่ประชุมด้านจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อแห่งยุโรป ในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 27 ถึง 30 เมษายนนี้

พวกนักวิจัยชี้ว่าเคสนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมันเน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ที่โคโรนาไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญบ่อยครั้งระหว่างการติดเชื้อที่ยาวนาน เพราะฉะนั้นมันจึงก่อความเสี่ยงระดับสูงของการถือกำเนิดตัวกลายพันธุ์ที่มีศักยภาพหลบหลีกการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง

ผลวิคราะห์ตัวอย่างที่เก็บจากคนไข้รายนี้ พบว่ามีการกลายพันธุ์กว่า 50 ครั้งเมื่อเทียบกับตัวกลายพันธุ์ BA.1 โอมิครอน ที่กำลังแพร่ระบาดในวงกว้าง ณ ขณะนั้น บางส่วนเกี่ยวข้องกับการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และสิ่งที่น่ากังวลคือ แค่ 21 วันหลังจากชายรายนี้ได้รับยาต่อต้านโคโรนาไวรัสพิเศษชนิดหนึ่ง ไวรัสได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการพัฒนาการต่อต้านยาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ไวรัสมีพัฒนาการอย่างกว้างขวางในคนไข้รายนี้ แต่ไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าเขาแพร่กระจายไวรัสตัวกลายพันธุ์ไปสู่คนอื่น ๆ

ทั้งนี้ ในถ้อยแถลง พวกนักวิจัยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดต่อวิวัฒนาการของโควิด-19 ในบุคคลที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง พวกเขาเตือนถึงความเป็นไปได้ของการปรากฏตัวและการแพร่ระบาดตัวกลายพันธุ์ที่อาจก่อความท้าทายแก่ระบบภูมิคุ้มกันของบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง

'อ.เทพมนตรี' ชี้!! สติปัญญามีให้เรียนรู้ไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ ยิ่งคิดอย่างพุทธต้องมุ่งหาความจริง ก่อนนิพพานหรือเหนือมนุษย์

(22 เม.ย. 67) อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayorm ว่า...

ฟังคลิปเด็กสอนศาสนาผู้ใหญ่ เหนื่อย! เขาเอาหลายลัทธิศาสนามารวมปะปนกันพระศรีศากยมุนี เจ้าแม่กวนอิม พระพุทธเจ้ามีลูกเป็นนาคคือ ตัวเขา ไหว้พระคเณศ ตกลงอะไรกันแน่ แถมมีลูกแก้วแวววาว งง

พร้อมทั้งโพสต์อีกต่ออีกว่า...ดอกไม้ในความคิดเด็ก…ไร้ความรู้

ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู พุทธ (มหายาน) ให้ความสำคัญสีสันดอกไม้ในการประกอบพิธีกรรม ความเชื่อว่าเทพองค์นั้นองค์นี้ พระพุทธเจ้าประจำทิศนั้นทิศนี้จะต้องบูชาอย่างไร สาวกหรือศาสนิกต้องศึกษาและบูชาดอกไม้ที่มีสีสันให้ถูกต้อง เชื่อว่าจะบูชาได้สำเร็จบริบูรณ์ ที่ว่าดอกไม้สีเหลืองเอาไว้ทำเฉพาะงานศพ ไม่จริงเลยนะครับ เครื่องบูชาวางศิลาฤกษ์สร้างวัดเขาก็ใช้สีเหลืองเป็นองค์ประกอบ !

สติปัญญามีให้เรียนรู้ไม่ให้เชื่ออะไรง่าย ๆ ถ้าคิดอย่างพุทธต้องมุ่งหาความจริงก่อน ก่อนจะไปนิพพานหรือความเหนือมนุษย์

"เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเษกสมรสกับนางนาคตนไหนจึงให้กำเนิดเจ้าชาย 'เพชรภัทรนาคานาคราช' ครับ ขอโทษจริง ๆ ผมพึ่งทราบ" อ.เทพมนตรี ทิ้งท้าย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนเที่ยวเกาหลีใต้ต้องระวัง เว็บไซต์-แอปพลิเคชันลงทะเบียน K-ETA ปลอม เสียทั้งเงิน เสียทั้งข้อมูล

วันนี้ ( 22 เมษายน 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงพี่น้องประชาชนที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวที่สาธารณรัฐเกาหลี หรือประเทศเกาหลีใต้ โดยการสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันลงทะเบียน K-ETA ปลอม แล้วเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ

โดย ระบบ K-ETA หรือชื่อเต็มคือ Korea Electronic Travel Authorization เป็นระบบที่มีไว้ให้นักท่องเที่ยวลงทะเบียนขออนุญาตก่อนที่จะเดินทางเข้าไปที่ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อลดปัญหาการปฏิเสธนักท่องเที่ยวไม่ให้เข้าประเทศ และแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าไปทำงานผิดกฎหมาย โดยนักท่องเที่ยวจะต้องทำการลงทะเบียนล่วงหน้า ซึ่งจำเป็นจะต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลหนังสือเดินทาง ภาพถ่ายใบหน้า อาชีพ รายได้ต่อปี และข้อมูลที่พักอาศัยในประเทศเกาหลีใต้ อีกทั้งจำเป็นต้องชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 10,300 วอน (ประมาณ 270 ถึง 290 บาท) ผ่านช่องทางบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต

ซึ่งถ้าหากพี่น้องประชาชนหลงเชื่อลงทะเบียนผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน K-ETA ปลอม มิจฉาชีพก็จะได้ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อมูลบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ซึ่งสามารถนำไปใช้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเป็นจำนวนมาก เช่น อาจถูกนำข้อมูลบัตรเครดิตไปซื้อสินค้า นำข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้กระทำความผิด หรืออาจถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการหลอกลวงในอนาคต อีกทั้งเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน K-ETA ปลอมอาจมีการหลอกให้ชำระค่าธรรมเนียมที่สูงเกินจริง (ค่าธรรมเนียมปกติอยู่ที่ 10,300 วอน) เพื่อหลอกเอาทรัพย์สินจากพี่น้องประชาชนอีกด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังในการลงทะเบียน K-ETA เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยขอให้ตรวจสอบก่อนว่าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ใช้ลงทะเบียน เป็นของจริงหรือไม่ ซึ่งเว็บไซต์สำหรับลงทะเบียน K-ETA ของจริงคือ www.k-eta.go.kr เท่านั้น ส่วนแอปพลิเคชันลงทะเบียน K-ETA สำหรับโทรศัพท์มือถือ สามารถดาวน์โหลดได้ผ่าน App Store และ Google Play Store ที่ https://apps.apple.com/th/app/k-eta/id1562976724 และ https://play.google.com/store/apps/details?id=kr.go.keta 

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ’ หนุนสองล้อไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจ ใต้โครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงครั้งที่ 3

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมเดินหน้าจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคน ด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ไม่นานมานี้ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) นำโดย นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เเละอาจารย์สมมาตร ทองคำ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดงานเเถลงข่าวโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสปอร์ตคอมแพล็ค มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ร่วมกับทาง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยในปีนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งการจัดเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเเห่งอนาคตในครั้งนี้ เล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้แสดงออกถึงศักยภาพการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่สามารถต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสอดรับกับภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายภาครัฐ”

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในปีนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย เเละ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งในวันนี้เราได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ด้านความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ภายใต้การสนับสนุนบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ วางรากฐาน และแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นอกจากนี้ทางสมาคมฯยังได้รับความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝ่าย ในการจัดงานการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ที่ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการจัดการเเข่งขันขึ้นเป็น ครั้งที่ 3 เเล้ว โดยจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นสถานที่จัดงานการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลง ซึ่งในปีนี้ได้รับความสนใจจากหลายทีมสมัครเข้าร่วมการเเข่งขัน โดยจะมีขึ้นในวันที่ 26 - 27 เมษายน นี้ ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งการจัดงานเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเเห่งอนาคตในครั้งนี้ทางสมาคมฯ มีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันการปลูกฝังเเละผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าป้อนสู่ตลาดโลก”

โดยในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการลงนามระหว่าง 2 ฝ่าย ได้เเก่ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้วัตถุประสงค์…

1. เพื่อการร่วมมือกันในการร่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
2. เพื่อร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาสมรรถนะ กำลังคนให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
3. เพื่อการร่วมมือกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วางรากฐานและแนวทางในการ

ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการนั้น ตามกรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวนี้ มีระยะเวลา 3 ปี มีผลนับตั้งแต่วันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้

เกี่ยวกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand) เป็นสมาคมที่ไม่เเสวงหาผลกำไร โดยแนวทางของสมาคมมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเเลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยังรวมไปถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน และการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปัจจุบันสมาคมมี คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ทำหน้าที่นายกสมาคม และมีสมาชิกที่มาจากภาคเอกชน สถาบันศึกษา รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไปรวมทั้งสิ้นกว่า 379 รายโดยทางสมาคมมีการกำหนดการจัดการประชุม ในทุกๆ เดือน และมีการเเบ่งคณะทำงานในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ที่ www.evat.or.th 

‘สนพ.’ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น ‘5 แผนพลังงานชาติ’ คาด!! แล้วเสร็จ-พร้อมยื่น ครม.พิจารณาภายใน ก.ย.นี้

‘แผนพลังงานแห่งชาติ’ เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะกำหนดทิศทางว่า ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการพัฒนา และวางนโยบายด้านพลังงานไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเมื่อโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ‘พลังงานสะอาด’ เป็นกุญแจสำคัญที่พาประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเป้าหมายที่วางไว้ ควบคู่กับการเสริมศักยภาพเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นที่จับตามองว่า แผนพลังงานที่จะออกมาในเดือนกันยายนนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

>> 1 แผนหลัก 5 แผนรอง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ‘แผนพลังงานชาติ’ (National Energy Plan 2024) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 แผน ดังนี้ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)

และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งประเมินว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนเมษายน จากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในกันยายน 2567

>> PDP 2024 เพิ่มพลังงานสะอาด

สำหรับแผน PDP ฉบับใหม่จะพิจารณาถึง 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ความมั่นคงของระบบ 2.ราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ และ 3.สิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงได้ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 50% ของกำลังการผลิตไฟทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากสัดส่วนเดิมของแผน PDP 2018 เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย

โดยพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานโซลาร์จะมีสัดส่วนเยอะที่สุด ตามด้วยพลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานชีวมวล รวมถึงจะบรรจุเรื่องการใช้เทคโนโลยี อย่างการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage)

ด้าน นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับทางสมาคมพลังงานลมบ้าง ถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานลมในแผน PDP 2024 จากเดิมที่ระบุไว้ในแผน PDP 2018 ที่มีประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันก็จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 1,500 เมกะวัตต์ และกำลังรอเปิดเพิ่มอีกที่เหลือจนครบ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะความปลอดภัยที่ต้องหารือกัน

นอกจากนี้ แผน PDP ฉบับล่าสุดยังเพิ่มพลังงานทางเลือกใหม่อีก 5% อาทิ พลังงานไฮโดรเจนที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่า หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ที่หายไปจากแผน PDP 2018 ก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบ Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งตั้งกำลังผลิตไว้ประมาณ 70 เมกะวัตต์ พร้อมบรรจุเป้าหมายของโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ในแผนฉบับใหม่นี้ด้วย

>> รักษาระดับไฟฟ้า Base Load

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ณ วันที่ 8 เมษายน 2567 พบว่า ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ไฟพีก) ของปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 20.54 น. มีค่าเท่ากับ 34,656.4 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับไฟพีกระบบที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน มีค่าเท่ากับ 34,826.5 เมกะวัตต์ แต่ทาง สนพ.คาดว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 35,000-36,000 เมกะวัตต์

ดังนั้นกำลังผลิตของพลังงานฟอสซิลที่เป็นโรงไฟฟ้า Base Load ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงของระบบ รวมถึงรองรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากในช่วงกลางวันเป็นช่วงกลางคืนมากขึ้น โดยปรับลดสัดส่วนกำลังผลิตลงเหลือประมาณ 30%

“เรายังไม่สามารถระบุกำลังผลิตทั้งหมดของพลังงานหมุนเวียน เพราะไฟฟ้าที่อยู่ในระบบกับไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริงต่างกัน ประเมินว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริง 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่อยู่ในระบบ ซึ่งเราต้องผลิตให้พอดีกับความต้องการใช้ไฟให้ได้ ถ้าสมมุติว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องทำไฟฟ้าในระบบให้ได้ 30,000 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย

เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะพลังงานโซลาร์ที่ไม่สามารถผลิตไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงต้องอาศัยปัจจัยดินฟ้าอากาศ ทำให้เราต้องมาประเมินว่า ไฟฟ้าที่เราสามารถพึ่งพาได้จากพลังงานหมุนเวียนมีเท่าไหร่” นายวีรพัฒน์ กล่าว

>> จ่อเพิ่มสัดส่วน RE อีก 40%

รายงานสถิติพลังงานประเทศไทย 2566 ระบุสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ปี 2565 ว่า เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ได้แก่ 1.ก๊าซธรรมชาติ 114,637 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 53% 2.ลิกไนต์/ถ่านหิน 35,523 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 17% 3.การนำเข้า 35,472 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 16%

4.พลังงานหมุนเวียน 21,876 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 10% 5.พลังงานน้ำ 6,599 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 3% และ 6.น้ำมัน 1,731 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 0.8% โดยประมาณ

โดยสามารถแยกแหล่งที่มาพลังงานหมุนเวียนในระบบของการไฟฟ้าปี 2565 ดังนี้ ไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 338.73 เมกะวัตต์

ขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 2,077.71 เมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าพลังงานน้ำจากในประเทศอยู่ที่ 123.80 เมกะวัตต์ โดยมีแผนติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งบรรจุไว้ในแผน PDP 2018 กำลังผลิตอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ ปัจจุบันติดตั้งสำเร็จแล้วที่เขื่อนสิรินธร กำลังผลิตรวม 45 เมกะวัตต์ ส่วนการนำเข้าพลังงานน้ำอยู่ที่ 4,461.903 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีไฟฟ้าจากพลังงานลมมีกำลังผลิตรวม 1,502.31 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์อยู่ที่ 2,917.33 เมกะวัตต์

>> ส่องพลังงานหมุนเวียนรายภาค

จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พบว่า สัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 รายภูมิภาค มีความแตกต่างกันตามศักยภาพการผลิตและวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิต

โดยสามารถแยกได้ดังนี้ ภาคเหนือมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 1,101.80 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานโซลาร์ 48% พลังงานชีวมวล 41% พลังงานลม 5% พลังงานน้ำ 5% และพลังงานก๊าซ 1%

ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตก มีกำลังผลิตรวม 2,614.87 เมกะวัตต์ ซึ่ง 72% ของกำลังผลิตรวมมาจากพลังงานโซลาร์ ส่วนพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 23% ตามด้วยพลังงานก๊าซ 3% และพลังงานน้ำ 2%

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังผลิตรวม 2,575.68 เมกะวัตต์ โดยมีพลังงานลมคิดเป็นสัดส่วน 50% ตามมาด้วยพลังงานชีวมวล 27% พลังงานโซลาร์ 18% พลังงานก๊าซ 4% และพลังงานน้ำ 1%

และสุดท้ายภาคใต้ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 661.53 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานชีวมวล 48% พลังงานลม 22% พลังงานก๊าซ 22% พลังงานโซลาร์ 6% และพลังงานน้ำ 2%

ดังนั้น หากแผน PDP 2024 ต้องการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี 2580 นั่นหมายความว่า ต้องเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 40% นับเป็นความท้าทายของภาคพลังงานไทยครั้งใหญ่ที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ และนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการลงทุนผลิตพลังงานหมุนเวียนในแต่ละภูมิภาคด้วย

เปิดวิสัยทัศน์ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ ชู 5 ภารกิจสำคัญ สร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าไทย

เมื่อไม่นานมานี้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก อาทิ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กฟผ. ยังให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที

ทั้งนี้ กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

“กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”

‘รมว.ปุ้ย’ มอบรางวัลแด่ ‘เกษตรกรชาวไร่อ้อย-ผู้ประกอบโรงงาน’ สอดรับนโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

(22 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านรางวัลที่กำหนด เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อมๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายใต้นโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

โดยในวันนี้ได้มีการมอบรางวัลให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล รวม 74 รางวัล ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับความสำเร็จของทุกท่านที่ถือได้ว่าเป็นบุคคลและองค์กรต้นแบบและเชื่อมั่นว่างานในวันนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญและเป็นพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกต่อไป

สำหรับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 9 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย…

>> 1. รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น แบ่งเป็น 5 ประเภท รวม 47 รางวัล

1) รางวัลแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
2) รางวัลการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
3) รางวัลการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4) รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง
5) รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย

>> 2. รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น แบ่งเป็น 4 ประเภท รวม 27 รางวัล

1) รางวัลโรงงานน้ำตาลยอดเยี่ยม เป็นรางวัลพิเศษมอบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น ลำดับที่ 1 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 ได้แก่ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม
2) รางวัลอ้อยรักษ์โลก
3) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต
4) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ได้ปิดหีบอ้อยไปแล้ว มีตัวเลขอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 130 วัน รวม 82.16 ล้านตัน แบ่งเป็น อ้อยสด 57.81 ล้านตัน คิดเป็น 70.36% และอ้อยไฟไหม้ 24.35 ล้านตัน คิดเป็น 29.64% ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (Yield) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 106.76 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และมีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.35 C.C.S. ผลผลิตอ้อยรวมลดลงจากปีก่อน 11.73 ล้านตัน คิดเป็น 12.49% ทั้งนี้ ก่อนเปิดหีบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) คาดการณ์แนวโน้มจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 82.40 ล้านตัน ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำจากปีก่อน ๆ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง และราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอบคุณ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่มีความตั้งใจและให้ความร่วมมือในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2566/67 ยังคงมีปริมาณอ้อยไฟไหม้อยู่ในระดับที่สูง ในฤดูการผลิตปีต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้วางแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหาลดการเผาอ้อยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ เช่น…

1) การนำระบบ AI มาจำแนกอ้อยเผาและอ้อยสดก่อนเข้าหีบ
2) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อยและเก็บเกี่ยวอ้อยสด
3) จัดหาเครื่องสางใบอ้อย
4) มาตรการทางกฎหมาย
5) ปรับปรุงการคำนวณราคาอ้อยให้เป็นตามเกณฑ์คุณภาพการผลิตอ้อย
6) ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อย
7) บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดการเผาอ้อยในพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซาก

“ข้อมูลจาก สอน. คาดว่าฤดูการผลิตปีต่อไป จะมีปริมาณอ้อยสดในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากกว่า 240,000 ราย และโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวปิดท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top