Tuesday, 20 May 2025
NewsFeed

ปปร.26 สถาบันพระปกเกล้า บินลัดฟ้าศึกษาเมืองเศรษฐกิจนครซัวเถา-ย้อนรอยต้นตระกูล 'แซ่แต้' ของพระเจ้าตาก

คณะหลักสูตร ประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้ บริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 26 นำโดย…ดร.วิกร ภูวพัชร์ ประธานรุ่น ปปร.26 พร้อมด้วย นายสมชาย ศุภสัญญา กรรมการรุ่น และรองปธ.สภา วัฒนธรรมไทยจีน นำคณะนักศึกษาหลักสูตร ปปร.26 ศึกษาดูงานที่นครซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยเชื้อสายจีนและ สมาคมคนจีนโพ้นทะเลของนครซัวเถา

ทั้งนี้ได้มีผู้แทนจากนครซัวเถา ให้การต้อนรับ และอธิบายถึงประวัตินครซัวเถา หรือซานโถว (汕头) เป็นเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของจีน ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ในสมัยราชวงศ์ซ้อง นครซัวเถาเคยเป็นเมืองท่าของเมืองถัวเจียง ในปี พ.ศ. 2106 (ค.ศ. 1563) นครซัวเถาเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเฉิงไห่ หรือเถ่งไฮ่ (ภาษาแต้จิ๋ว) ในเมืองเฉาโจวหรือเมืองแต้จิ๋วในปัจจุบัน 

ในอดีตนครซัวเถาเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ เมื่อเริ่มมีการขยายตัวของเมืองและเป็นท่าเรือในการคมนาคม เริ่มมีร้านค้ากิจการต่างๆ จนต่อมาถูกยกระดับฐานะขึ้นเป็นเมืองท่านานาชาติ ในศตวรรษที่ 18 ก่อนจะกลายมาเป็น 1 ใน 4 เมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในปัจจุบัน

นอกจากศึกษาดูงานที่ทำการนครซัวเถาแล้ว ได้ดูงานที่เมืองแต้จิ๋ว และเยี่ยมชม สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช

สำหรับที่เถ่งไฮ่ ซัวเถา เป็นบ้านเกิดบิดาของพระเจ้าตากสินมหาราช คนจีนแต้จิ๋วในยุคนั้น จึงภูมิใจและรักพระเจ้าตากสินดังเช่นคนไทย ชื่อจีนของพระเจ้าตากสินมีชื่อว่า แต่อ๊วง ตระกูลของพระเจ้าตากสินจึงมีแซ่ว่า ”แต้”
ที่เมืองนี้มีหลุมฝังศพของพระเจ้าตากสิน แม้ว่าจะเรียกว่าเป็นหลุมศพ แต่เป็นเพียงที่ฝังเสื้อผ้าของท่านเท่านั้น สุสานแห่งนี้จึงมีความหมายต่อใจของคน ในเถ่งไฮ่ เพราะอุตส่าห์ส่งเสื้อผ้าของท่านข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากไทย เพื่อมาสร้างหลุมศพที่นี่ ก็แสดงให้เห็นว่าคนจีนในไทยให้ความสำคัญกับพระเจ้าตากสินมาก

ดร.วิกร ภูวพัชร์ กล่าวถึงการศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสที่คณะนักศึกษาหลักสูตร ปปร.26 ได้ศึกษาประวัติศาสตร์และการเจริญเติบโตวิวัฒนาการของ นครซัวเถา เมื่อครั้งในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่ยากจน อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิดคนไทยเชื้อสายจีน ที่อพยพไปอยู่ในประเทศไทยเมื่อราว 100 ปีก่อน พร้อมทั้งเยี่ยมชมโรงงานผลิตพลาสติกตัวต่อที่ทันสมัยควบคุมด้วยระบบโรบอตและเอไอ ที่ใหญ่ อันดับต้นๆของจีน

'ศิษย์เก่าจุฬาฯ' ถามหามาตรฐานจุฬาฯ ปม 'ณัฐพล ใจจริง' ยังเชื่อ 'จุฬาฯ' เป็นเลิศด้านวิชาการ เคียงคู่คุณธรรม-จริยธรรม

(8 มี.ค. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Sompob Pordi’ หรือ ‘สมภพ พอดี’ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า…

“ผมเป็นนิสิตเก่าธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ไม่ได้เป็นครูอาจารย์ ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษา และไม่มีคุณสมบัติใด ๆ ที่จะเป็นครูอาจารย์ นักวิชาการ หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษาได้แน่นอน

แต่ผมรู้ว่า หน้าที่และความรับผิดชอบคืออะไร ผมสามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ปกติทั่วไป

แล้วผมก็รู้ด้วยว่า จุฬาฯ ไม่ได้มีนโยบายผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านวิชาการเท่านั้น หากจุฬาฯ ยังได้ให้ความสําคัญในด้านคุณธรรม จริยธรรมของบัณฑิตที่จบจากจุฬาฯ

จุฬาฯ โดยสํานักบริหารกิจการนิสิตจึงได้ดําเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ด้านต่าง ๆ ให้แก่นิสิต เพื่อที่นิสิตจะได้ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกับส่วนรวมและสําเร็จการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตที่เปี่ยมคุณภาพทั้งความรู้และคุณธรรม 

ที่ผมรู้เพราะผมคัดลอกข้อความนี้มาจากหน้าแรกของคู่มือนิสิตจุฬาฯ พ.ศ.2564 

ถึงตรงนี้ จุฬาฯ ช่วยตอบนิสิตเก่าอย่างผม ตอบนิสิตเก่าคนอื่น ๆ ตอบสังคมไทยที่อุดหนุนกิจการของจุฬาฯ ผ่านภาษีของชาติด้วยว่า 

นิสิตจุฬาฯ ในระดับปริญญาเอกที่ใช้การโกหก ใช้ข้อมูลเท็จ ใช้การแต่งเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ทำวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษา มีคุณธรรม มีจริยธรรม ตามเจตนารมณ์ของจุฬาฯ หรือไม่? วิทยานิพนธ์ดังกล่าวมีคุณภาพทางวิชาการตามมาตรฐานของจุฬาฯ หรือไม่?

และหากพฤติกรรมดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ วิทยานิพนธ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของจุฬาฯ จุฬาฯ จะปล่อยผ่าน จะวางเฉย จะไม่เพิกถอนปริญญาเอกที่ว่า หรือไม่? เพราะอะไร?

หากจุฬาฯ ตอบว่าไม่สามารถเพิกถอนปริญญาเอกนั้นได้ ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม ผมขอให้จุฬาฯ เปิดคู่มือนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2564 อ่านให้ดี ๆ ดูที่ข้อ 2) การสอบของนิสิต จะพบข้อความต่อไปนี้

2.2) แนวทางในการพิจารณาการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษา
1. ทุจริต และส่อทุจริตในการสอบ
 2. การคัดลอกผลงานทางวิชาการโดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา
 3. การให้ข้อมูลเท็จ การปลอมแปลงเอกสาร
 4. การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

การโกหก การใช้ข้อมูลเท็จ การแต่งเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ในการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกที่เป็นคดีความเป็นข่าวนั้น เป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษาตามข้อ 3 อย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัย

ถึงตรงนี้ จุฬาฯ ช่วยตอบนิสิตเก่ารวมทั้งผมด้วย นิสิตปัจจุบัน และสังคมไทยด้วยว่า 

จะเพิกถอนปริญญาเอกของผู้ที่กระความผิดทางการศึกษา ตามกฎ กติกา ของจุฬาฯ เอง หรือไม่? เมื่อไหร่? และหากไม่เพิกถอนปริญญาเอกดังกล่าว ทำไมถึงไม่เพิกถอน? ทำไมถึงไม่ปฏิบัติไม่บังคับใช้กฎกติกาที่จุฬาฯ กำหนดขึ้นมาเอง? และจะรับผิดชอบต่อความเสียหายของเกียรติภูมิ ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของจุฬาฯ อย่างไร?

ผมแน่ใจและมั่นใจว่า คำถามของผมไม่ยากเกินความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาของครูอาจารย์ ของนักวิชาการ ของผู้บริหารจุฬาฯ ที่มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อจุฬาฯ อย่างแน่นอน

‘กกพ.’ เปิด 3 แนวทางค่าไฟงวดใหม่ สูงสุด 5.44 ต่ำสุดตรึงไว้ที่ 4.18 เท่าเดิม

(8 มี.ค. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ประกอบด้วย

กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น >> 5.4357 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวดๆ ละ จำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.3405 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 คงที่ตามมติ กพช. จึงมีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่ ปตท. (เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ) เป็นจำนวนเงิน 12,076 ล้านบาท และยังคงค้างที่ กฟผ. เป็นจำนวนเงิน 3,800 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้ในการประมาณการค่าเอฟทีรอบคำนวณเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค. - ส.ค.2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค - ส.ค.2567 ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคา LNG ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลทำให้ราคาประมาณการ Pool Gas ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย.2567 แต่ประมาณการปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย

อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมายังมีแนวโน้มที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเสริมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายและเสริมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันและในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง

“กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป” นายคมกฤช กล่าว

‘สาว’ ผุดไอเดีย!! สั่งผลิต ‘กางเกงช้างลายปืน’ เอามาขาย เข้าคอนเซปต์ 'ประตูมีกลอน คนคอนมีปืน' ทำโซเชียลแชร์สนั่น

(8 มี.ค.67) กลายเป็นประเด็นน่าสนใจ เมื่อบนโซเชียลฯ แชร์ภาพจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Meentra Nawakitphaithoon โพสต์ภาพ กางเกงซอฟต์พาวเวอร์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นกางเกงช้างลายปืน หรือเรียกสั้น ๆ ว่ากางเกงปืน พร้อมข้อความ "ประตูมีกลอน คนคอนมีปืน"

โดยเจ้าตัวกล่าวว่า วลีนี้ไม่ได้มาเล่น ๆ กางเกงสั่งทำจากโรงเย็บไทย รับรองว่ากระโดดเตะใครก็เป้าไม่แตก ราคา 269 บาทรวมส่งทั่วไทย ใครอยากได้อินบอกซ์เลย

ทั้งนี้ กางเกงปืนดังกล่าวมีขนาดเดียวคือฟรีไซซ์ เอว 23-40 เป้า 14 สะโพก 42 ขายาว 42 ทำจากผ้าไหมอิตาลี ลายสวย คมชัด ทนทาน ไม่ขาดง่าย มีกระเป๋าสองข้าง

ซึ่งเจ้าตัวกล่าวว่า "เรื่องของเรื่องคือเห็นมีมแล้วอยากได้ แต่ไม่มีที่ไหนขาย เลยทำเองซะเลย" และว่า ขายจริง ๆ ไม่ใช่มีมแต่อย่างใด ทัก ๆ มาได้ งานนี้คนแชร์ภาพนับพันครั้ง

ล่าสุด เจ้าตัวโพสต์อีกว่า "ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจนะคะ ดีใจมากเลยค่า กำลังไล่ตอบแชตอยู่นะคะ พอดีตอนนี้อยู่ในเวลางานอาจจะตอบช้าหน่อย รอก่อนน้า"

คณะวิทยาศาสตร์ 'สจล.' เปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี แด่น้องๆ ที่ศึกษาอยู่ระดับ ม.ปลาย ใน 'ชัยนาท-อุทัยธานี-กาญจนบุรี-อ่างทอง-สุพรรณบุรี'

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘Sci KMITL’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

“📣 คณะวิทยาศาสตร์ สจล. รับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี #TCAS2 โควตาบัณฑิตคืนถิ่นในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
ประจำปีการศึกษา 2567 สำหรับน้อง ๆ ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในจังหวัดชัยนาท อุทัยธานี กาญจนบุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี 

📅 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 28 มี.ค. 67
สมัครได้ที่ >> https://new.reg.kmitl.ac.th/admission

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ทวงผลสอบจุฬาฯ ปม 'ดุษฎีนิพนธ์' บิดเบือนประวัติศาสตร์ เผย!! เคยทวงไปก่อนหน้า แต่ 'จุฬาฯ' แค่ลดความเสียหาย ด้วยการแจ้งระงับเผยแพร่

(8 มี.ค. 67) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่นปี 2512 ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า เรียนนายกสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตามที่ผมและคณะได้เคยทำหนังสือเรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงวันที่ 12 มกราคม 2564 ให้ทางบัณฑิตวิทยาลัยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบความคลาดเคลื่อนและความไม่ถูกต้อง ของดุษฎีนิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง ในหัวข้อเรื่อง การเมืองไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม การจัดระเบียบโลกของสหรัฐ 2491-2500 นั้น

คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งขออนุญาตเอ่ยนามสองท่าน คือ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ ดร.สุจิต บุญบงการ ได้ขอให้ผมให้ปากคำผ่านการประชุมทางซูมไปแล้วนั้น บัดนี้ เวลาล่วงเลยมามากพอสมควร และทราบว่าคณะกรรมการได้รายงานผลการสอบให้ทางมหาวิทยาลัยทราบแล้ว

ผมขอเรียกร้องผ่านสื่อเพื่อทวงถามผลการสอบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเคยรับปากว่าจะแจ้งผลให้ผมทราบในฐานะผู้ร้องเรียน แต่เกรงว่าทางมหาวิทยาลัยจะลืม เลยขอทวงถามผ่านสื่อโซเซียล และคาดหวังว่าทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งผลการสอบให้ผมได้ทราบ

แม้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้พยายามลดความเสียหาย ด้วยการแจ้งไปยังเครือข่ายห้องสมุดให้ระงับการเผยแพร่ แต่ก็ได้มีการตัดตอนบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ไปจัดพิมพ์จำหน่าย

ความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์การเมืองไทย พาดพิงองค์พระประมุข สร้างข้อสงสัยว่า สถาบันจะนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกลับมา ด้วยการให้ผู้สำเร็จราชการเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อครอบงำการประชุม ซึ่งสร้างความเสียหายให้สถาบันที่ไม่มีโอกาสชี้แจงใดๆ

จึงขอทวงถามผลการสอบสวนมา ณ ที่นี้

'ผู้ว่าฯ นครศรีฯ' ตื่น!! เรียกถก แก้น้ำขาดแคลนโซนลุ่มน้ำปากพนัง หลัง 'ชลประทาน' อ้างไม่มีงบซื้อน้ำมันใส่เครื่องสูบน้ำ

"ได้แต่นั่งมองน้ำไหลผ่านคลองราชดำริ แต่ไม่มีโอกาสใช้น้ำ เนื่องจากไม่มีเครื่องสูบน้ำ ชลประทานมีเครื่องสูบน้ำ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีงบค่าน้ำมัน"

นี่เป็นเสียงคร่ำครวญจากเกษตรกรผู้ทำไร่ ทำนา ปลูกผัก ปลูกพริกขี้หนู ปลูกปาล์ม ในโซนลุ่มน้ำปากพนัง ร้องเรียนผ่าน #นายหัวไทร ถึงปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงนี้ 

เข้าใจว่า น้ำไม่ได้ขาด แต่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ เพราะชาวบ้านบอกว่า เห็นน้ำเต็มคลองราชดำริ เพียงไปชลประทานไม่ตื่นขึ้นมาบริหารจัดการ...

- บริหารจัดการเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- บริหารจัดการงบประมาณ การนั่งบ่นว่าไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อน้ำมันมาใส่เครื่องสูบน้ำ นั่งบ่นอย่างไรมันก็ไม่มาหรอกครับ

หน้าที่โดยตรงคือ กรมชลประทาน เขต-โซนลุ่มน้ำปากพนังอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 15 เมื่อรับรู้ว่าชาวบ้าน เกษตรกร มีปัญหาไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ก็ต้องแก้ไขปัญหา ผ่านวิธีคิดแบบบริหารจัดการ ผ่านการประสานงาน

ถามว่ากรมชลประทานมีเครื่องจักรกลไหม มีเครื่องสูบน้ำไหม ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า “มี” ถามว่า กรมชลประทานมีงบประมาณจัดซื้อน้ำมันใส่เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำไหม ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า “มี” ถ้าบอกว่าไม่มีถือว่า บกพร่องต่อหน้าที่ บกพร่องในการจัดทำงบประมาณ ท้องถิ่นมีงบประมาณไหม ตอบว่า “มี”

ถ้ากรมชลประทานบอกว่าไม่มีงบประมาณ ถามว่าทางจังหวัดมีงบไหม งบฉุกเฉินภัยแล้งน่าจะมี อาจจะแย้งกลับมาว่า ทางผู้ว่ายังไม่ประกาศอุบัติภัย (ภัยแล้ง) จะเอางบฉุกเฉินมาใช้ไม่ได้ ก็แค่ประกาศสิครับ จะได้เบิกงบมาช่วยเกษตรกร

หรือถ้าจนปัญญา ก็ลองประสานความช่วยเหลือไปยังท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เชื่อว่าองค์กรท้องถิ่นมีงบแน่นอน เพียงแต่ไม่มีใครประสานขอการสนับสนุนไปมากกว่า ละเลยต่อปัญหาของชาวบ้าน งบประมาณไม่ขาดหรอก

แต่ที่ขาดคือ ขาดการประสานงานที่ดีของสำนักงานชลประทานที่ 15 ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่อยู่ ปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อนได้ไง แค่นั่งบ่นว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีประโยชน์หรือครับ

ท่านได้แจ้งขอความช่วยเหลือไปยังกรมชลประทาน ต้นสังกัดแล้วหรือยัง ท่านได้นำเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าใหญ่ของข้าราชการในจังหวัดแล้วหรือยัง ถ้าบอกว่า แจ้งแล้ว ขอการสนับสนุนไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ก็ต้องโทษไปยังหน่วยงานที่ใหญ่กว่า ทำไมไม่ดูแล รับผิดชอบต่อปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน 'บำบัดทุกข์ บำรุงสุข' คือคำขวัญของกระทรวงมหาดไทย ทางจังหวัดได้ทำหน้าที่แล้วหรือยัง

ย้อนไปเมื่อปี 2564 ซึ่งเกิดภัยแล้งในโซนลุ่มน้ำปากพนังเช่นกัน ทางกรมชลประทานไม่ได้นิ่งเฉย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน มอบหมายให้นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ส่งเจ้าหน้าที่และเครื่องสูบน้ำของ ฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลสูบน้ำที่ 4 (จังหวัดสงขลา) 

ส่วนเครื่องจักรกลสูบน้ำสำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 3 เครื่อง (ติดตั้งหมู่บ้านละ 1 เครื่อง) บริเวณบ้านบางหารหมู่ 1 บ้านปลายคลองหมู่ 6 และบ้านคลองแดนหมู่ 12 ตำบลเชียรเขา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตพื้นที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 โดยสูบน้ำจากคลองเชียรใหญ่ส่งไปยังคลองซอยแต่ละจุดสามารถสูบน้ำได้รวมวันละ 71,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งพืชผลการเกษตร-ไม้สวนยืนต้นพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ 

และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12  นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 3 เครื่อง บริเวณคลองเชียรใหญ่บ้านบางจันทร์ หมู่ 7 ตำบลเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตพื้นที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราชสำนักงานชลประทานที่ 15 โดยสูบน้ำจากคลองเชียรใหญ่ส่งไปยังคลองซอยสามารถสูบน้ำได้วันละ 71,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งทางการเกษตรนาข้าว พืชสวน และไม้ยืนต้นพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ 

และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 3 เครื่องบริเวณประตูระบายน้ำปากคลองค้อ หมู่ 3 ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตพื้นที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 โดยสูบน้ำจากคลองค้อส่งไปยังคลองซอย สามารถสูบน้ำได้วันละ 71,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งทางการเกษตรนาข้าว พืชสวน และไม้ยืนต้นพื้นที่รับประโยชน์ 6,000 ไร่

ก็ต้องย้อนไปดูว่า ทำไมเมื่อปี 2564 กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้นำเครื่องจักรกลมาติดตั้งสูบน้ำให้เกษตรกรได้ ปีนี้ทำไมจึงไม่ได้

ปฐมเหตุของปัญหาในปีนี้เกิดจากเกษตรกรชาวสวนปาล์มย่าน อ.ชะอวด ต้องการใส่ปุ๋ยปาล์ม แต่เนื่องจากปีนี้ฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคม มาจนย่างปี 2567 ต้นปีฝนจึงหยุด ชาวสวนปาล์มย่านชะอวด จึงต้องการให้ชลประทานสูบน้ำออกไป คือดันน้ำลงทะเล ทั้งที่แพรกเมือง และชะอวด แต่พี่น้องประมงชายฝั่งก็จะได้รับผลกระทบ เมื่อน้ำจืดไปผสมอยู่กับน้ำเค็ม ปลาทะเลก็อยู่ไม่ได้

มีข้อเสนอจากชาวบ้านให้กรมชลประทานสูบน้ำดันเข้าคลองไส้ไก่ ส่งน้ำเข้าไปอยู่ในคลองย่อยให้เต็ม เมื่อถึงหน้าแล้ง เกษตรกรจะได้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง แต่หน่วยงานรับผิดชอบไม่ทำ อ้างคำเดียว แบบกระต่ายสามขา "ไม่มีงบประมาณ"…จบข่าว

วันนี้ทราบว่า นายขจรเกียรติ์ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แบบแหกขี้ตาตื่นมา พร้อมหน่วยงานท้องถิ่นด้วย ก็ได้แค่หวังว่า ปัญหาชาวบ้านจะได้รับการปัดเป่า หมดทุกข์ อยู่สุข เสียที

ผวายกลำ!! ‘ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส’ ล้อหลุดกลางอากาศ นับเป็นปัญหากลางอากาศหนที่ 3 ในรอบสัปดาห์

(8 มี.ค. 67) เครื่องบินโบอิ้งของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส เที่ยวมุ่งหน้าสู่ญี่ปุ่น ต้องเบี่ยงไปลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแองเจลิส เมื่อเครื่องบินเกิดล้อหลุดกลางอากาศ ไม่กี่วินาทีหลังจากเทกออฟขึ้นสู่ท้องฟ้า ในซานฟรานซิสโก เมื่อวันพฤหัสบดี (7 มี.ค.) สร้างความแตกตื่นเป็นกังวลแก่พวกผู้โดยสารเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ล้อที่หลุดออกจากเที่ยวบิน 35 ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ก่อความเสียหายแก่รถยนต์หลายคันที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของสนามบินนานาชาติซานฟรานซิสโก ในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังจากเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ลำนี้ ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าตอน 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ภาพในวิดีโอพบเห็นเครื่องบินสูญเสียล้อๆ หนึ่ง จากทั้งหมด 6 ล้อ บริเวณฝั่งซ้าย ระหว่างที่มันกำลังทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ยืนยันกับนิวยอร์กโพสต์ว่า เครื่องบินซึ่งบรรทุกผู้โดยสาร 235 คน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 10 คน และลูกเรือ 4 คน ที่กำลังมุ่งหน้าสู่โอซากา ลงจอดอย่างปลอดภัยที่สนามบินนานาชาติลอสแองเจลิส

"เรากำลังดำเนินการตระเตรียมเครื่องบินลำใหม่เพื่อให้ลูกค้าของเราสามารถเดินทางต่อไปได้" โฆษกสายการบินระบุ ขณะที่ตัวแทนของสายการบินอีกคนบอกกับนิวยอร์กโพสต์ว่าเศษซากล้อตกใส่ลานจอดรถแห่งหนึ่งของสนามบินซานฟรานซิโก ก่อความเสียหายแก่รถยนต์หลายคัน อย่างไรก็ตาม "ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ รันเวย์ปิดทำการเพื่อเคลียร์เศษซากช่วงสั้นๆ และนับตั้งแต่นั้นได้กลับมาเปิดให้บริการแล้ว"

สายการบินชี้แจงว่าเครื่องบินรุ่นนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถลอดจอดได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ ยามที่ล้อเกิดปัญหาหรือได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม มันถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วในรอบสัปดาห์นี้ ที่เครื่องบินโบอิ้งลำหนึ่งของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ประสบปัญหากลางอากาศ

โดยเมื่อวันจันทร์ (4 มี.ค.) เครื่องยนต์ตัวหนึ่งของเครื่องบินโบอิ้ง 737-900 ของสายการบินแห่งนี้เกิดไฟลุกไหม้ไม่กี่นาทีหลังจากขึ้นบินในเทกซัส ทำให้เที่ยวบิน 1118 ของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ลำนี้ต้องวกกลับไปยังท่าอากาศยานจอห์จ บุช อินเตอร์คอนติเนนทัล ฮิวสตัน

ในวันเดียวกัน เครื่องบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส อีกเที่ยวจากโฮโนลูลู มุ่งหน้าสู่ ซานฟรานซิสโก ต้องประสบเหตุเครื่องยนต์ตัวหนึ่งขัดข้องเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม เครื่องบินโบอิ้ง 575-300 ลำนี้ลงจอดอย่างปลอดภัย ณ สนามบินปลายทาง ราว 1 ชั่วโมง หลังพบเหตุขัดข้อง

โบอิ้งต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาต่างๆ เริ่มมาตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นอุดประตู (door plug) หลุดกลางอากาศ บนเที่ยวบินลำหนึ่งของสายการบินอะแลสกา แอร์ไลน์ส เมื่อเดือนมกราคม ต่อมาได้ตรวจพบข้อบกพร่องต่างๆ ในกระบวนการผลิต ระหว่างการตรวจสอบเครื่องบินรุ่นแม็กซ์ 9 ของโบอิ้งเพิ่มเติม

“ป่อเต็กตึ๊ง เสริมสร้าง อนาคตเด็กไทย” จัดพิธีมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร รุ่นที่ 2 ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2567  มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการฯ เป็นประธานในพิธี  พร้อมด้วย นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์  นำทีมลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน รุ่นที่ 2 ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2567 ทั้งในระดับมัธยมศึกษา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกอบด้วย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21  โรงเรียนเพียงหลวง 11 โรงเรียนบ้านแพะพิทยา  โรงเรียนบ้านห้วยโผ  โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์  โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 โรงเรียนสบเมยวิทยาคม โรงเรียนสังวาลย์วิทยา  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ และ วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง  รวม 10 สถาบัน 67 ทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 450,000 บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พร้อมทั้งได้สนับสนุนเงินค่าพาหนะ และอาหารกลางวัน(ข้าวกล่อง) พร้อมน้ำดื่มสำหรับครูและนักเรียนที่เดินทางมารับทุนฯในครั้งนี้ด้วย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 14,500 บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยบาทถ้วน)  โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐแต่ละแห่งเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย เยาวชน และผู้แทนจากสถาบันการศึกษา เป็นผู้รับมอบ

นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการมูลนิธิฯ เปิดเผยว่า การมอบทุนการศึกษาเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เพื่อช่วยเหลือสังคม ให้เยาวชนมีโอกาสเท่าเทียมทางการศึกษา เติมเต็มความหวังเป็นอนาคตของครอบครัว และสังคมประเทศชาติ  โดยมีการมอบทุนระดับชั้นประถมศึกษา ทุนต่อเนื่องในทุกระดับชั้น ทุนทุกระดับชั้นปีสุดท้าย  และ ทุนสำหรับนักเรียนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร 

ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป

#ป่อเต็กตึ๊ง #ช่วยชีวิต #รักษาชีวิต #สร้างชีวิต 
#แอปพลิเคชันป่อเต็กตึ๊ง1418

“ผบ.ตร.” ชื่นชม 4 ตำรวจหญิง “พนักงานสอบสวนหญิง – ครู ตชด.” รับรางวัลสตรีดีเด่น ผลงานยอดเยี่ยม ควรค่าแก่การยกย่อง พร้อมส่งกำลังใจ ขอบคุณตำรวจหญิงทุกสายงาน เป็นกำลังสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมดูแลพิทักษ์รับใช้ประชาชน

วันนี้ (8 มี.ค.67) พ.ต.อ.หญิง ฉันฉาย รัตนพานิช รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ) แสดงความชื่นชมและยินดีกับตำรวจหญิง 4 นาย ที่มีผลการปฏิบัติงาน และความประพฤติยอดเยี่ยมเป็นตำรวจหญิงที่ได้หน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อำนวยความยุติธรรม บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ควรแก่การยกย่อง ได้รับรางวัลสตรีดีเด่น เนื่องใน “วันสตรีสากล ประจำปี 2567”  ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคม และในโอกาสนี้ขอแสดงความยินดีกับสตรีดีเด่นในสาขาอาชีพอื่น ๆ ด้วย

รอง โฆษก ตร. กล่าวว่า วันสตรีสากล ประจำปี 2567 มีตำรวจหญิงที่ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นสตรีดีเด่น 4 นาย จาก 2 ด้าน คือ สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ  คือ ด.ต.หญิง จุฑาภรณ์ เคียนเขา ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 41 ปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านยางโพรง อ.ไชยา จว.สุราษฎร์ธานี และ สตรีดีเด่นด้านพนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น มีพนักงานสอบสวนหญิงได้รับรางวัล 3 นาย ประกอบด้วย
ร.ต.ท.หญิง ภัทรนันท์ คำปวน รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จว.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลพนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น ระดับรองสารวัตร ด้านคดีอาญาทั่วไป  
ร.ต.อ.หญิง เพชรรพี พิมพ์พัฒน์ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองเลย จว.เลย ได้รับรางวัลพนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น ระดับรองสารวัตร ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่เด็กหรือสตรี 
และ พ.ต.ท.หญิง เพชรรัตน์ เลิศวานิช สารวัตร (สอบสวน) สภ.บางปลาม้า จว.สุพรรณบุรี ได้รับรางวัลพนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น ระดับสารวัตรขึ้นไป

“ผบ.ตร. ชื่นชมตำรวจหญิงทั้ง 4 นาย และขอบคุณความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่มาโดยตลอด มีความมุมานะ อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเสียสละ เสมอต้น เสมอปลาย มีความรับผิดชอบ รวมถึงเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม”  รอง โฆษก ตร. กล่าว

พ.ต.อ.หญิง ฉันฉายฯ กล่าวด้วยว่า ผบ.ตร.ได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้หญิงในทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะตำรวจหญิง ซึ่งเป็นกำลังพลที่มีความสำคัญ เป็นหนึ่งฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดูแลสังคมและพี่น้องประชาชน ซึ่งตำรวจหญิงมีบทบาทในหลายสายงานทั้งในฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายสนับสนุน อาทิ พนักงานสอบสวนหญิง, ครู ตชด., นักวิทยาศาสตร์, ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน, ตำรวจจราจร, หน่วยแพทย์ พยาบาล, สันติบาล รวมถึงหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

“เนื่องในวันสตรีสากล ผบ.ตร.ส่งกำลังใจ และแสดงความชื่นชม ไปยังข้าราชการตำรวจหญิงทุกนายในทุกสังกัดทั่วประเทศ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ และขอให้ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติงานในหน้าที่ตำรวจ เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ต่อไป”  รอง โฆษก ตร. กล่าว

ด้าน พ.ต.ท.หญิง เพชรรัตน์ฯ กล่าวว่า ภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล ปัจจุบันรูปแบบอาชญากรรมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจึงจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ พัฒนาศักยภาพของตนเองตลอดเวลาเพื่อให้รู้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทำให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการ มีความเชื่อมั่น ศรัทธา และรู้สึกปลอดภัย ทำงานให้สมกับคำว่า เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ขณะที่ ร.ต.อ.หญิง เพชรรพีฯ กล่าวว่า ปัจจุบันคดีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาเป็นเด็กและสตรีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พนักงานสอบสวนเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม พนักงานสอบสวนหญิงจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่เด็กหรือสตรี การสอบสวนปากคำผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา โดยเฉพาะคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อป้องกันอาชญากรรมต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน แม้ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนหญิง แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ ต่อความยากลำบาก ยึดมั่นในความถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทุกฝ่ายด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ และไม่เลือกปฏิบัติโดยการใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือเหตุผลของความแตกต่าง ไม่เอาประโยชน์ส่วนตนมาทำให้ประโยชน์ส่วนรวมต้องเสียไป

ด้าน ร.ต.ท.หญิง ภัทรนันท์ฯ กล่าวว่า ความเป็นผู้หญิงพื้นฐานแล้วจะมีความสุภาพ อ่อนโยนอยู่ในตัวเอง แต่ก็มีความเข้มแข็งรวมอยู่ด้วย ซึ่งบางครั้งในการปฏิบัติงานการใช้ความสุภาพ อ่อนโยนต่อประชาชนก็มักจะได้รับความร่วมมือที่ดีจากประชาชนกลับมา พนักงานสอบสวนจะต้องแสวงหาพยานหลักฐานทั้งปวงเพื่อพิสูจน์ทั้งความบริสุทธิ์ และความผิดของผู้ต้องหา และยังต้องช่วยเหลือผู้เสียหายที่เสียหายจากการกระทำของผู้ต้องหาด้วย ความซื่อตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการทำงาน เพราะหากเราเอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งแล้ว ย่อมจะทำให้มีฝ่ายหนึ่งที่เสียหาย ตนจึงยึดมั่นในความถูกต้องเป็นหลักในการทำงาน เพื่อจะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ขณะที่ ด.ต.หญิง จุฑาภรณ์ฯ กล่าวว่า ตนเข้ามาเป็นตำรวจหญิง ทำหน้าที่ ครู ตชด. ในโครงการครุทายาท ของ ตชด. เพื่อให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ตั้งปฏิญาณกับตัวเองไว้แล้วว่าจะกลับมาพัฒนาทั้งด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ อาชีพ ความมั่นคงต่าง  ๆ เท่าที่จะทำได้ ได้ดูแลทุกข์สุขของลูกศิษย์ ได้ทำหน้าที่ตำรวจรับใช้ประชาชนให้การช่วยเหลือยามที่ประชาชนเดือดร้อน เช่น การลักเล็กขโมยน้อย การช่วยเหลือประชาชนเจ็บท้องคลอด อุบัติเหตุ เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลจากโรงพักและโรงพยาบาล  ต้องขอขอบพระคุณพ่อแม่ที่สอนให้จักช่วยเหลือคนอื่นช่วยเหลือสังคมมาตั้งแต่เด็กๆ ขอบคุณโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนคุณครูทุกท่านที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์คนนี้ให้เป็นคนดี ขอขอบพระคุณผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นที่ให้โอกาส


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top