ผลโฉม ‘สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9’ สะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในไทย
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 67 นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก หลังการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้จัดมหกรรมแห่งความสุข บนสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองจากทางพิเศษ สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก่อนเปิดใช้งานจริง
ภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘Luck Lock Love : รักล้นสะพาน’ เป็นกิจกรรมที่ชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย เป็นครั้งแรกที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถขึ้นมาบนสะพานแห่งนี้ เพื่อเก็บบันทึกความทรงจำ ความสวยงามของกรุงเทพมหานคร ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน บนโค้งน้ำที่สวยที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา
โดย กิจกรรมจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยการเปิดให้คู่รัก 111 คู่ จดทะเบียนลอยฟ้าบนสะพาน หลังจากนั้นเปิดให้ประชาชนทั่วไป ขึ้นมาเทควิว 360 องศา บนสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 กับโค้งน้ำที่สวยที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา แลนด์มาร์กใหม่ของประเทศไทย
- กิจกรรมคล้องกุญแจ ล็อคใจคู่รัก เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นกว่าเดิม (นำกุญแจมาเอง)
- กิจกรรม Street Show สนุกสนานไปกับเหล่าแก๊งค์ตัวตลกโบโซ่ ที่จะมาสร้างเสียงหัวเราะ เติมเต็มรอยยิ้มให้กับทุกคนในครอบครัว
- กิจกรรม รวมเมนูเด็ด จากร้านอาหารชื่อดังที่จะมาเสิร์ฟให้ทุกคนได้อิ่มท้อง กับเมนูอาหารหลักร้อยวิวหลักล้าน
- กิจกรรม ฟังดนตรีสดจากศิลปิน และวงดนตรี ที่พร้อมบรรเลง สร้างความสุข ให้กับทุกคน ถึง 18 กุมภาพันธ์และวันที่ 23 – 25 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ในเส้นทางของทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตก เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งตระหง่านเคียงคู่สะพานพระราม 9
สามารถรองรับการสัญจร ถึง 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ความยาวของสะพาน 780 เมตร ท้องสะพานมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 41 เมตร (สูงเท่าสะพานพระราม 9)
มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ในพื้นที่แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และบรรจบกับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ในพื้นที่แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครโดยตรง รวมระยะทางทั้งโครงการประมาณ 2 กิโลเมตร โดยคาดการณ์สามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้มากถึง 150,000 คัน/ วัน
ด้านนวัตกรรมการก่อสร้างของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง ทำให้สะพานมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานแห่งนี้จึงมีความมั่นคงและแข็งแรงอย่างมาก ในการรองรับเหตุแผ่นดินไหวหรือพายุ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความสวยงามด้วยสถาปัตยกรรม ที่ผสมผสานความเป็นไทยอันทรงคุณค่า
โดยสถาปัตยกรรมถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานความเป็นไทย พร้อมด้วยงานประติมากรรมลวดลายอันละเอียดประณีต อลังการ สื่อถึงคติความเชื่อที่แสดงเอกลักษณ์ไทยอย่างเด่นชัด ประกอบไปด้วย
ยอดเสาสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ฝาพระหัตถ์แห่งความเมตตา ส่วนยอดเสาสะพานเปรียบดั่งพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 แสดงถึงการโอบอุ้ม ปกป้อง ความรักความห่วงใย และความเมตตาต่อพสกนิกร
รูปปั้นพญานาคตัวแทน ความยิ่งใหญ่คู่ควรสถาบันอันสูงส่ง โดยพญานาคสีเหลืองทอง แทนปีมะโรงหรือปีงูใหญ่ (พญานาค) อันเป็นปีพระราชสมภพ ตั้งตระหง่านบริเวณโคนเสาสะพาน 4 ต้นตามความเชื่อที่ว่าพญานาค จะทำหน้าที่อารักขาสถาบันอันสูงส่งของไทย
รวงผึ้งทองอร่ามสัญลักษณ์แทนต้นไม้ประจำพระองค์ ซึ่งรั้วสะพานกันกระโดดเป็นลวดลายดอกรวงผึ้งสีทอง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์ถูกออกแบบอย่างอ่อนช้อย มอบความรู้สึกสบายตาทั้งยังป้องกัน ไม่ให้ยานพาหนะตกสู่ด้านล่าง
สะพานขึงสีทองอร่าม เฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย มีการออกแบบภาพรวมสะพานด้วยโทนสีเหลืองทอง อันเป็นสีตัวแทนพระองค์ เพื่อเทิดทูนสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือเกล้า พสกนิกรไทย
สายเคเบิลสีเหลือง สื่อถึงความมงคลพระราชสมภพ ซึ่งสายเคเบิลสีเหลือง ตัวแทนสีวันจันทร์ อันเป็นวันพระราชสมภพ โทนสีที่เปรียบไปด้วยพลังแห่งความหวัง ความสุข ความสงบความรุ่งเรือง มั่งคั่ง อีกทั้งยังเป็นสีที่มองแล้วผ่อนคลาย
เสาสะพานโค้งมน งดงามอ่อนช้อย ด้วยการออกแบบเสาสะพานให้โค้งมน เพื่อลดความแข็งกระด้างของโครงสร้างคอนกรีตภาพรวมของโครงสร้างจึงดูอ่อนช้อย ไม่ว่าจะมองจากระดับพื้นดินหรือระดับทางพิเศษ
ราวกันตกออกแบบให้โปร่ง รับวิวแม่น้ำเจ้าพระยา โดยราวกันตกบริเวณด้านนอกสุดของสะพาน ออกแบบให้โปร่ง นอกจากเพื่อไม่ให้ต้านลมที่ปะทะ ตัวสะพานแล้วยังช่วยไม่ให้บดบังทัศนียภาพอันงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) แบบเสาคู่ที่สร้างคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 ซึ่งถือว่าเป็นสะพานคู่ขนานแห่งแรกของประเทศไทยที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
กทพ. อยากให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความภาคภูมิใจ เพราะออกแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานความเป็นไทย ผนวกกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง ทำให้สะพานมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความสวยงาม และเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศไทย
“สะพานจะช่วยลดความแออัดทางจราจรบริเวณทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 จาก 100,470 คัน/ วัน ลดลงเหลือ 75,352 คัน/ วัน หรือลดลง 25% และยังสามารถเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้วอีกด้วย” นายสุรเชษฐ์กล่าว
