Tuesday, 13 May 2025
NewsFeed

ประกันสังคม แจง ศาลพิพากษาดำเนินคดีเอาผิด Facebook รับแลก ม.33เรารักกัน เป็นเงินสด ลงโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมรอลงอาญา 2 ปี

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 และนางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการ สำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม ร่วมแถลงข่าวผ่าน Facebook สำนักงานประกันสังคม เกี่ยวกับผลการดำเนินคดีของศาลพิพากษาผู้กระทำผิดเงื่อนไข โครงการ ม.33เรารักกัน จำนวน 7 ราย พร้อมลงโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมรอลงอาญา 2 ปี

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ประกันสังคม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้กำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายช่วยเหลือเยียวยา แบ่งเบาภาระค่าครองชีพ และลดผลกระทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่แล้ว และได้มอบหมายกระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดทำโครงการ ม.33เรารักกัน ให้ผู้ประกันตน ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาทต่อคน ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วยวิธีการโอนวงเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการ ที่ได้รับอนุญาตเข้าร่วมโครงการ ม33เรารักกัน ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ.2564 ซึ่งจากการตรวจสอบติดตามการใช้สิทธิดังกล่าวของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้ตรวจสอบข้อมูลจากสื่อโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่าง ๆ กลับพบเบาะแสว่ามีผู้ใช้งานบัญชี ในแอปพลิเคชั่น ประกาศเชิญชวนรับซื้อขายสิทธิโครงการ ม.33เรารักกัน เป็นเงินสด โดยไม่มีการซื้อขายสินค้า หรือบริการกันจริง ซึ่งเป็นกระทำโดยทุจริตผิดเงื่อนไขของโครงการ ผมจึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินคดีกับผู้ทุจริตผิดเงื่อนไขของโครงการ ม.33เรารักกัน อย่างเด็ดขาด
          
โดยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมทีมกฎหมายสำนักงานประกันสังคม เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี อาคารเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระชนมพรรษา 60 พรรษา จังหวัดนนทบุรี เพื่อดำเนินคดี กลุ่มผู้ต้องหาทุจริตโครงการ ม33เรารักกัน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้รับการประสานความร่วมมือจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การอำนวยการสั่งการ โดยพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลตำรวจเอกสุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลตำรวจโทปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และพลตำรวจตรีภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยสั่งการให้ พลตำรวจตรีรณชัย จินดามุข ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1, พลตำรวจตรีออมสิน ตรารุ่งเรือง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด โดยประสาน .ความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ได้ทำการสืบสวน ทางสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานการกระทำผิด และสามารถระบุตัวผู้กระทำความผิด
         
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2564 ทีมกฎหมายของสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้สืบสวนสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการดำเนินคดีร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ ความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลบางเขน และได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับบุคคล ซึ่งได้ประกาศโฆษณารับแลกเงินสด โครงการ ม.33เรารักกัน และดำเนินการรับซื้อขายสิทธิจากผู้ประกันตน ม.33 รับแลกเป็นเงินสดแต่ไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการกันจริง จำนวน 7 ราย วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564 สำนักงานประกันสังคม ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางเขน เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำการโดยทุจริตผิดเงื่อนไขของโครงการ ม.33เรารักกัน ซึ่งพนักงานสอบสวน ได้รับแจ้งไว้แล้วตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ลำดับที่ 14 ลงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564 เวลา 14.30 น. โดยมีพันตำรวจโทอนิรุทธิ์ พูลสวัสดิ์ สารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางเขน เป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีผลการสืบสวน

ปรากฏว่า กลุ่มผู้กระทำผิดทั้ง 7 รายนี้ มีพฤติการณ์เป็นร้านค้าที่ร่วมโครงการฯ ประกาศชักชวนผ่านแอปพลิเคชั่น Facebook เชิญชวนผู้มีสิทธิให้นำสิทธิผู้ประกันตนมาแลกสิทธิเป็นเงินสดแทนการซื้อของจากร้านค้า ซึ่งเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ถือเป็นการทุจริตโครงการม.33เรารักกัน และมีผู้หลงเชื่อกลุ่มผู้ต้องหาจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีผู้ต้องหามาพบ 3 ราย ตามหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 2 พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษทางอาญาอื่น ๆ และในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2564 พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาซึ่งให้การรับสารภาพจำนวน 3 ราย ไปยังศาลแขวงพระนครเหนือเพื่อให้พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาต่อศาล ผลคดี ศาลพิพากษาลงโทษ จำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท โดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ให้คืนเงิน 500 บาท แก่ผู้เสียหายส่วนผู้ต้องหาอีก 4 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
  
ในการนี้ นางสาวลัดดา กล่าวในตอนท้ายว่า นายสุชาติ ชมกลิ่ม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน ยังได้ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามโครงการ ม.33เรารักกัน ขออย่าได้หลงเชื่อการประกาศเชิญชวนรับแลกสิทธิ โดยไม่ได้มีการซื้อสินค้าหรือบริการจริงในร้านค้า ที่ได้รับอนุญาต เพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และอาจจะตกเป็นเหยื่อร้านค้า ที่เป็นมิจฉาชีพหลอกแลกสิทธิให้โอนเงินซื้อสิทธิ โดยอาจจะไม่ได้รับเงินจากร้านค้าที่เป็นมิจฉาชีพ ในกรณีร้านค้าที่กระทำผิดจะได้รับโทษ ทางอาญาจำคุกและปรับ ในส่วนของเจ้าของสิทธิที่นำสิทธิไปแลก ตามคำเชิญชวนของร้านค้า อาจเข้าข่ายร่วมกันกระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง” อีกด้วย

รถไฟฟ้าสายสีแดงเตรียมเปิดบริการฟรี ก.ค.นี้ 

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อตลิ่งชันจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีเปิด ก่อนที่จะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้  ซึ่งค่าโดยสารของรถไฟชานเมืองสายสีแดงเริ่มต้นที่ 12 บาท และสูงสุดราคา 42 บาท ถือเป็นราคาที่ถูกที่สุดในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ในอนาคตโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง จะต่อขยายเส้นทางเพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางรางยกระดับจากกรุงเทพฯ ไปสู่ปริมณฑล ด้วยส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ประกอบด้วย

-โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา

-โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช

-โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ- หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก 

โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ของไทยที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายระบบรางทุกรูปแบบ ทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง สู่ทุกภูมิภาคของประเทศ และพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ 2,325 ไร่ จะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด 9 แปลง โดยมี 5 แปลงที่มีความพร้อมและไม่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ

ขณะที่สถานีหัวลำโพง การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปรับลดจำนวนขบวนรถจาก 118 ขบวนเหลือ 22 ขบวนต่อวัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน โดยเมื่อดำเนินการช่วงต่อขยายเสร็จแล้ว จะทำให้ขบวนรถทั้งหมดวิ่งเข้าสู่สถานีบางซื่อได้ 100%  ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางในเมืองได้

ครม.รับทราบ ทส. แจง คืบ ป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง จากไฟป่า-เผาที่โล่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือปี 2564 โดยสถานการณ์ในภาพรวมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18เมษายน พ.ศ.2564 พบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 58,769 จุด ลดลงจากปี 2563 ที่พบจุดความร้อนสะสมจำนวน 122,687 จุดในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลงร้อยละ 52 

โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงสุดได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 11,376 จุด, เชียงใหม่ 7,620 จุด, ตาก 7,253 จุด, ลำปาง 5,716 จุดและเพชรบูรณ์ 4,355 จุด เมื่อแยกตามการใช้ประโยชน์ที่ดินพบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 43,ป่าสงวนแห่งชาติร้อยละ 37, พื้นที่เกษตรร้อยละ15, พื้นที่ชุมชนร้อยละ 4 พื้นที่ริมทางร้อยละ 1

สำหรับปริมาณฝุ่น PM2.5 พบว่าค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดเท่ากับ 402 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ที่ 366 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยมีวันที่ฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรมีจำนวน 96 วัน ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 105 วัน หรือลดลงร้อยละ 9  

ขณะที่สถานการณ์หมอกควันข้ามแดนพบจุดความร้อนสูงสุดในเมียนมา 577,562 จุด, กัมพูชา 307,319 จุด, ไทย 189,637 จุด, ลาว 180,073 จุด และเวียดนาม 61,702 จุด ซึ่งจากการที่พบจุดความร้อนจำนวนมากในเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ.2564 ทำให้จังหวัดภาคเหนือที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก

ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้เร่งดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 มาตรการ จัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งพื้นที่ภาคเหนือปี 2564 ระดับจังหวัด จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและจัดประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการรับมือสถานการณ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบเพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นประจำทุกวัน จัดฝึกอบรมเสริมบทบาทชุมชน เครือข่ายภาคประชาชนและจิตอาสาเพื่อร่วมเป็นชุดปฏิบัติการระดับหมู่บ้านในการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟป่า จัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ประกอบด้วย โครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเก็บขนเชื้อเพลิงจากป่าออกมาใช้ประโยชน์ เป็นการลดการเกิดไฟป่า และได้พัฒนาแอปพลิเคชันบริหารการเผาในที่โล่ง (Burn Check) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบการใช้งาน 

และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันส่วนหน้าในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกำกับการควบคุมและดับไฟป่า รวมทั้งได้ประสานงานประเทศเพื่อนบ้านและรายงานผลการดำเนินงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอให้เร่งรัดควบคุมการเผาในที่โล่งตามกลไกของข้อตกลงอาเซียน และได้ยกระดับการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน ฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง โดยกำหนดให้เดือนเมษายนเป็นเดือนเฝ้าระวังพิเศษ โดยเฉพาะในจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูง

ครม.อนุมัติร่างพรฎ.เวนคืนที่ดินใน จ.ศรีสะเกษ-ขยายทางหลวงแผ่นดิน เป็น 4 ช่องจราจร

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลจานใหญ่ อำเภอกันทรลักษ์ ตำบลเสียวและตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2085 และ 2178 สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24-อุบลราชธานี(บ้านน้ำเกลี้ยง) จังหวัดศรีสะเกษ รวมระยะทาง 10.815 กิโลเมตร วงเงินการก่อสร้าง 278 ล้านบาท  มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประกอบด้วย ที่ดินประมาณ 105 แปลง สิ่งปลูกสร้างประมาณ 94 ราย และต้นไม้ยืนต้นประมาณ 47 ราย และค่าเสียหายอื่น ๆ และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด รวมค่าทดแทนในการเวนคืนเป็นเงิน 52,428,250 บาท  ซึ่งกรมทางหลวงได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการดังกล่าวแล้ว ผลการรับฟังโดยรวมประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ระบุเหตุผลของการจัดทำโครงการขยายทางหลวงครั้งนี้ว่า เนื่องจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2085 และ 2178 สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24-อุบลราชธานี (บ้านน้ำเกลี้ยง) จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ กับจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันยังเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องขยายให้เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุ สนับสนุนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ และเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง

ครม.รับทราบ ผลงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 63 ต่ำกว่าเป้า เหตุ รัฐออกมาตรการเว้นระยะห่างจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับหน่วยบริการจำนวน 140,369.81 ล้านบาท จากงบประมาณ 140,533.42 คิดเป็นร้อยละ 99.88 ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการจำนวน 47.60 ล้านคน จากเป้าหมาย 47.68 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.85 มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนจำนวน 12,245 แห่ง 

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับผลงานบริการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ได้ให้บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น บริการสุขภาพทั่วไป โดยในส่วนของการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน มีผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน พ.ศ.2563 รัฐบาลประกาศมาตรการเว้นระยะทางสังคมจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) 

ส่วนงานบริการเฉพาะกลุ่ม นอกงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผลงานการใช้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีผลงานการใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ ได้แก่ ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด-19, ข้อจำกัดด้านงบประมาณในการบริหารจัดการกองทุน หากเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัว 

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2562 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยพบว่า มีสินทรัพย์ 18,958.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 3,609.29 หนี้สิน 14,380.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,468.98 ล้านบาท 

รมต.สำนักนายกฯ ตรวจเยี่ยม ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายฯ ศปม.

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่กรมยุทธบริการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง รองเสนาธิการทหาร ให้การต้อนรับ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี/กรรมการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในโอกาสตรวจเยี่ยมศูนย์สนับสนุนการ เคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ COVID-19 ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง

ตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศบค.)ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) บูรณาการการใช้ยานพาหนะของกองทัพเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้กำกับดูแล นั้น ปัจจุบัน กองบัญชาการกองทัพไทย ได้จัดตั้งหน่วยปฎิบัติเพื่อบูรณาการการดำเนินงาน ดังนี้ 

1.) ส่วนกองอำนวยการ จัดจาก กรมยุทธบริการทหาร
2.) ส่วนปฏิบัติการ ประกอบด้วย กองบัญชาการ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง, ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพบก, ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพเรือ และ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพอากาศ โดยมีการจัดยานพาหนะสนับสนุนการเคลื่อนย้ายฯ ประกอบด้วย

- จัดยานพาหนะที่ใช้พร้อมใช้งานทันที จำนวน 31 คัน โดยจัดจาก กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 15 คัน กองทัพบก จำนวน 10 คัน กองทัพเรือ จำนวน 3 คัน และกองทัพอากาศ จำนวน 3 คัน โดยได้สนับสนุนศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ มาตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ซึ่งในปัจจุบันยังคงดำรงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทุกวัน

- จัดยานพาหนะเพิ่มเติมอีกจำนวน 21 คัน ประกอบกำลังจากกองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 10 คัน กองทัพบก จำนวน 5 คัน กองทัพเรือ จำนวน 3 คัน และ กองทัพอากาศ จำนวน 3 คัน ได้มีการจัดหมุนเวียนปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ เป็นประจำทุกวัน 

-  จัดยานพาหนะที่พร้อมปฏิบัติเมื่อสั่ง (On call) ไว้อีก จำนวน 16 คัน โดยจัดจากกองทัพบก จำนวน 10 คัน กองทัพเรือ จำนวน 3 คัน และกองทัพอากาศ  จำนวน 3 คัน

- จัดรถพยาบาล จากกองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 4 คัน

- จัดกำลังพล จากสำนักงานแพทย์ทหาร กรมยุทธบริการทหาร เข้าร่วมส่วนสนับสนุน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ COVID-19 ศปม. ณ กรมยุทธบริการทหาร เพื่อประสานนำส่งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามตามที่กำหนด

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี/กรรมการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งและเสียสละในสถานการณ์การแพร่ระบาด พร้อมกันนี้ได้มอบชุด PPE หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และน้ำดื่มให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน  ณ ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายฯ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ต่อไป

'ไฟเซอร์' ออกตัว หลัง 'ทักษิณ' แฉวัคซีนบางส่วนเข้าไทยแล้ว แต่ไม่มากพอฉีดสลิ่ม ย้ำ!! ในภาวะการระบาดต้องส่งมอบผ่านรัฐบาลลูกเดียว

จากกรณีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ นายทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี วู้ดซัม ได้ร่วมพูดคุยในช่อง CARE Clubhouse x CARE Talk : คิดเคลื่อนไทย พลิกฟื้นวิกฤติโควิด กับ Tony Woodsome โดยพูดถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการพื้นที่คลองเตย รวมถึงเรื่องวัคซีนที่ล่าช้านั้น มีช่วงหนึ่งที่พูดว่า...

“วันนี้ไฟเซอร์ หากเข้าไปดูเว็บไซต์ ประเทศไทยมีเอาเข้ามาแล้ว ไม่รู้เท่าไหร่ แต่ว่า เอาเข้าแล้ว ไม่มาก คงใช้กันไม่มีคน / บรรดากองเชียร์หรือสลิ่มทั้งหลาย ก็อยากได้ไฟเซอร์แหละ แต่มันไม่มีให้"

ล่าสุดฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่ได้มีข้อความปรากฎเกี่ยวกับวัคซีนโควิด - 19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค ในประเทศไทยจากหลายแหล่งข่าว และสื่อออนไลน์หลายแห่ง บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับข้อเท็จจริง และการดำเนินงานรวมถึง จุดยืนบริษัทฯ ดังนี้...

1.) ไฟเซอร์มุ่งมั่น และยืนหยัดที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ เพื่อให้คนทั่วโลกรวมถึงประชาชนชาวไทยได้สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของเราได้อย่างเท่าเทียมกัน

2.) ภาวะของการระบาดในขณะนี้ ไฟเซอร์จำเป็นต้องมุ่งจัดลำดับความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการส่งมอบวัคซีนผ่านหน่วยงานรัฐบาลแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ ไฟเซอร์อยู่ระหว่างการทำงาน และหารืออย่างต่อเนื่องกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทย

และ 3.) เราขอรับรองว่าไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค ไม่มีนโยบายจัดจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่านตัวแทนหรือตัวกลางใด ๆ

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันไม่เคยมีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ผ่านสำนักงานในประเทศไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น


ที่มา: https://www.nationtv.tv/main/content/378822851

https://www.matichon.co.th/politics/news_2706774

ก.เกษตร เร่งพัฒนาให้ความรู้เกษตรกร ดันงานวิจัย ‘กัญชง’ มอบศูนย์ AIC 77 จังหวัดร่วมขับเคลื่อน ‘สวพส.’ เตรียมเมล็ดกัญชง (Hemp) ล็อตแรก 5,600 กิโลกรัม พร้อมสนับสนุนการพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (5 พ.ค.) ว่า ตามนโยบายของ รัฐบาลมุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ รวมทั้งการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะ พืชเศรษฐกิจ “กัญชา-กัญชง-กระท่อม” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ หลังจากที่กฎหมายได้อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองกัญชงได้

โดยประเทศไทยนับว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเป็น “ฮับกัญชา-กัญชง-กระท่อม” อีกทั้งยังเป็นโอกาสของไทยที่จะช่วงชิงตลาด กัญชา กัญชงและกระท่อม มูลค่า 8 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 30% ต่อปีและอีก 4 ปีข้างหน้ามูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็น กว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้าถึงปลายน้าใน 4 รูปแบบ คือ เกษตร อาหาร (คนและสัตว์) เกษตรสุขภาพ เกษตรพลังงาน และเกษตรท่องเที่ยว เพื่อจะสามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นกัญชา กัญชง และกระท่อม

ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายพืชแห่งอนาคต (Future Food Future Crop) ให้เร่งพัฒนาเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรทางด้านความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับกัญชา กัญชงและกระท่อมในทุกมิติ ตั้งแต่กฎหมายข้อระเบียบจนถึงสถานการณ์ตลาด และราคาทั้งในและต่างประเทศ โดยมอบหมายศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัดเป็นกลไกสนับสนุนในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกัญชงซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้วิจัยและพัฒนากัญชงและผลิตภัณฑ์กัญชงมากว่า 17 ปี

ทางด้านนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการ สวพส. กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ศึกษาและวิจัยกัญชงอยู่ในปัจจุบัน จึงได้จัดสรรเมล็ดกัญชงที่ผลิตไว้สำหรับการศึกษาและวิจัยของ สวพส. นำมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวงและสวพส. หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่ดำเนิน โครงการวิจัยร่วมกับ สวพส. หน่วยงานของรัฐ และบุคคลทั่วไป หรือนิติบุคคลที่สนใจ จำนวนรวม 5,600 กิโลกรัม และได้ตั้ง คณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางการควบคุม การจาหน่าย การกำหนดราคาเมล็ดพันธุ์ ส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ของเฮมพ์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้แทนมูลนิธิโครงการหลวง, ผู้แทนสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), ผู้แทนสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม, ผู้แทนสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการจำหน่ายและราคาเมล็ดกัญชง ที่เหมาะสมสำหรับการสนับสนุนและผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยมีเมล็ดกัญชงที่จะจำหน่าย 2 พันธุ์ คือ RPF1 ที่เหมาะ สาหรับปลูกบนพื้นที่สูงมากกว่า 1,000 เมตร และพันธุ์ RPF3 ที่เหมาะสำหรับปลูกบนพื้นที่สูงระดับ 500-1,000 เมตร จาก ระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งประกอบด้วย

1.) เมล็ดพันธุ์รับรอง (Certified seed) จำนวน 3,000 กิโลกรัม โดยจำหน่ายสำหรับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ราคา 300 บาท/กก. หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือ หน่วยงานของรัฐ ราคา 400 บาท/กก. และสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 520 บาท/กก.

2.) เมล็ดบริโภค (Grain) จำนวน 2,600 กิโลกรัม โดยจำหน่ายสำหรับหน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ราคา 250 บาท/กก. และสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 750 บาท/กก.

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนา และการทดลองปลูก ได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทาง สวพส. ได้พิจารณาและกำหนดปริมาณเมล็ดที่จะจำหน่ายให้แก่ผู้ขอซื้อแต่ละราย ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ ดังนี้

1.) เมล็ดพันธุ์รับรอง (Certified seed) : สำหรับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ไม่เกิน 20 กก./ราย หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 30 กก./ราย และสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่เกิน 20 กก./ราย

2.) เมล็ดบริโภค (Grain) : สำหรับหน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 50 กก./ราย และสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่เกิน 20 กก./ราย (R&D)

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ทาง สวพส. ได้ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

โดยได้มีการพัฒนาพันธุ์กัญชงจำนวน 4 พันธุ์ คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 สำหรับการปลูกเพื่อผลิตเส้นใย โดยทุกพันธุ์ที่มีปริมาณสารเสพติด (THC) 0.2% ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด มีเปอร์เซ็นต์เส้นใย 12-14.7% และมีปริมาณสารที่เป็นประโยชน์ (CBD) 0.8-1.2% และได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2554 และพันธุ์ดังกล่าวจัดเป็นเมล็ดพันธุ์ รับรองตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 เฉพาะ เฮมพ์ ปี 2559

และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศ “กฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ.2563” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองกัญชงได้

โดยในส่วนของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ ใบ เมล็ด (seed และ grain) ราก ลำต้น และสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% เป็นผลให้ความสนใจในการทดลองปลูก และศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชง เพิ่มขึ้นอย่างมากภายในระยะเวลาอันสั้น ในขณะที่ยังไม่มีการผลิตเมล็ดกัญชงไว้ล่วงหน้า

“สำหรับผู้สนใจที่ต้องการขอซื้อ ทั้งเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคล สามารถแจ้งความ ประสงค์ขอซื้อ ผ่านทางเว็บไซต์ของ สวพส. https://www.hrdi.or.th/PublicService/HempInfo หรือยื่นเอกสารด้วยตนเอง หรือ ทางไปรษณีย์ โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ https://www.hrdi.or.th/public/files/PublicService/HempInfo/HRDIPurchaseRequestForHemp.pdf ระหว่างวันที่ 26 เมษายน ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 โดยปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่กำหนด ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ https://www.hrdi.or.th/ หรือ Facebook Fanpage : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)” ผู้อำนวยการ สวพส. กล่าว

พีค of the week EP.16

ข่าวประเทศไทยเวลานี้ ยังร้อนแรงด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังน่าเป็นห่วง และควรต้องปฏิบัติตัวเรื่องความปลอดภัยกันอย่างเคร่งครัด ดังเช่น ข่าวนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถอดหน้ากากอนามัยขณะเข้าประชุม งานนี้ก็เลยโดนปรับกันไป 6,000 บาท เป็นตัวอย่างให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎกันนะจ๊ะ

อีกหนึ่งข่าวเศร้าระดับประเทศ กับการจากไปของ ‘น้าค่อม’ ดาวตลกคนดัง หลังจากเข้ารับการรักษาตัวจากการติดโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ 13 เมษายน แต่อาการกลับทรุดหนักลง และเสียชีวิตเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ทำเอาบรรยากาศเศร้ากันไปทั้งเมือง

ไล่เรียงข่าวเด่นรอบสัปดาห์มาพอสมควร ตามไปดูกันต่อในพีค of the week EP.16 ที่เราคัดสรรกันมาแบบเต็ม ๆ ได้เลย Let’s go! go! go! 

.

.

เมียนมาในเวทีอาเซียน!! ภายใต้บริบทแห่ง 'การเกา' ไม่ถูกที่คัน

จากการประชุมอาเซียนระดับผู้นำประเทศนัดพิเศษครั้งที่ผ่านมา สร้างความฮือฮาตรงที่ 'นายพล มินอ่องหล่าย' ได้เป็นตัวแทนของเมียนมาไปร่วมประชุมในครั้งนี้ที่ประเทศบรูไน แต่ที่ประชุมมีฉันทามติออกมา 5 ข้อ ดังต่อไปนี้...

1.) ทางกองทัพเมียนมาต้องยุติการใช้ความรุนแรงในเมียนมาทันทีและทุกฝ่ายต้องยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2.) ต้องจัดการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหาทางออกอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา

3.) ผู้แทนพิเศษของอาเซียนจะอำนวยความสะดวกในการเป็นตัวกลางในการหารือดังกล่าวโดยความช่วยเหลือจากเลขาธิการอาเซียน

4.) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

5.) ผู้แทนพิเศษและคณะจะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แต่ในความเป็นจริงนั้น ทางเมียนมาสามารถทำเช่นนั้นได้จริงหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันนี้ยังมีการปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมาและกองทัพกะเหรี่ยงกลุ่ม KNU และกองทัพคะฉิ่นกลุ่ม KIA

อย่างก่อนหน้านี้ก็มีการประทะกันใกล้เมืองสะเทิม (Thaton) เป็นผลให้มีการปิดการจราจร ซึ่งสร้างผลกระทบในการคมนาคมและการขนส่งในช่วงเวลาที่มีการต่อสู้กัน และล่าสุดก็มีการต่อสู้จากชาวบ้านในเมือง Mindat ในรัฐชิน

ฉะนั้นในส่วนข้อ 2 ที่บอกว่า ต้องมีการจัดการหารืออย่างสร้างสรรค์นั้น แม้ทางรัฐบาลทหารจะต้องการที่จะทำมากเพียงใด แต่ไม่มีการตอบรับจากกลุ่ม National Unity Government อยู่ดี ซึ่งดูจากวันนี้เหมือนทั้งสองฝ่าย ก็ไม่ได้มีความต้องการจะประนีประนอมกันหรือยอมหันหน้าเข้าหาเพื่อเจรจากันอยู่แล้ว

พูดตรง ๆ คือ ต่อให้อาเซียนจะบอกว่าพร้อมเป็นตัวกลางแค่ไหน? แต่ถ้าผู้นำของทั้งสองฝ่ายหรือแต่ละฝ่ายมองแค่ผลประโยชน์ตัวเอง มันก็ไม่มีประโยชน์

...และนั่นหมายความว่า ข้อ 4 ข้อ 5 ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากทั้งสองฝ่ายยังเป็นเช่นนี้

นาทีนี้ สงสารก็เพียงชาวบ้านคนเมียนมาที่ต้องหนีตายหรือต้องมาตายกับอุดมการณ์อันเปล่าประโยชน์

ดังนั้นการแก้ปัญหาในครั้งนี้ มันคงไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่าควรหันหน้าเจรจาหรือยัง แต่ควรจะบอกให้ฝ่ายต่อต้านเลิกปลุกระดมให้ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์หยุดจับอาวุธเสียก่อน

เพราะฝ่ายยึดอำนาจได้ออกมาชี้แจงแล้วถึงสาเหตุการยึดอำนาจว่าเกิดจากการนับคะแนนไม่ถูกต้องและเตือนกรรมาธิการการเลือกตั้งของเมียนมาถึง 2 ครั้ง แต่ทางกรรมาธิการการเลือกตั้งที่ถูกคัดสรรมาจากรัฐบาล NLD เลือกจะนิ่งเฉยและนั่นคือสาเหตุที่ทำให้กองทัพทำการรัฐประหาร ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามชอบธรรมที่ระบุไว้ในธรรมนูญที่ร่างไว้ฉบับปี 2008 ในการปกครองประเทศของเมียนมา ในข้อ 20 วรรค D ว่า...

"กองทัพมีหน้าที่หลักในการปกป้องการไม่สลายตัวของสหภาพและการไม่สลายตัวของความเป็นเอกภาพของประเทศรวมถึงการคงอยู่ตลอดไปของอำนาจอธิปไตย" ซึ่งการกระทำของกลุ่มต่อต้านในวันนี้ขัดกับที่รัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ในเมียนมา จนยิ่งส่งเสริมให้เกิดความชอบธรรมในการปฏิบัติการของทหารเข้าไปอีก

การต่อต้านทุกวันนี้เอย การที่อาเซียนไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้เอย ทั้งหมดทั้งมวลก็เนื่องจากรัฐธรรมนูญของเมียนมาได้ระบุไว้หมดทุกอย่างแล้วนั่นเอง


ที่มา: AYA IRRAWADEE


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top