Sunday, 5 May 2024
MBS

รู้จัก 'เจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด' เจ้าของฉายา 'มิสเตอร์ เอเวอรีธิงส์' ผู้เปิดประตู 'ไทย-ซาอุฯ' หลังล้างรานาน 32 ปี

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ในฐานะผู้นำประเทศ เพื่อฟื้นสัมพันธ์เป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปี โดยระบุว่า “มิสเตอร์ เอเวอรีธิงส์ ผู้เปิดประตู ไทย-ซาอุฯ หลังจาก 32 ปี ที่หายไป”

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด เป็นพระมหากษัตริย์ซาอุดีอาระเบียองค์ปัจจุบัน พระชนมพรรษา 79 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

ทรงมีพระมเหสี 3 พระองค์ พระราชบุตร 9 พระองค์

เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ เจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน พระชันษาเพียง 36 ปี ผู้เป็นโอรสองค์ที่เจ็ดของกษัตริย์ซัลมาน และบุตรชายคนโตในจำนวนหกคนอันที่เกิดจากภรรยาคนที่ 3 ของกษัตริย์ซัลมาน ได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาทแห่งซาอุฯ 

ซึ่งทำให้พระองค์ขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จในหลายส่วน กล่าวคือ นอกจากเป็นมกุฏราชกุมารแล้ว เจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ประธานสภากิจการฝ่ายเศรษฐกิจและพัฒนา เป็นประธานสภากิจการการเมืองและความมั่นคงเป็นที่ปรึกษาพิเศษของกษัตริย์และยังเป็นประธานกองทุนความมั่งคั่งซาอุฯ PIF

เจ้าชายซัลมานมีทรัพย์สินส่วนตัวอยู่ที่ราว 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 600,000 ล้านบาท 

ทรงเป็นเจ้าของ ”เดอะชาโต หลุยส์ ที่ 14” ในลูฟวร์เซียนส์ ใกล้กับพระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส บ้านที่มีมูลค่าแพงที่สุดในโลก ด้วยราคา 313 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 10,600 ล้านบาท

นอกจากพระองค์ได้ประมูลภาพเขียนล้ำค่า “ซัลเวเตอร์มุนดี” ของเลโอนาร์โด ดา วินชี ในราคาประมูล 450 ล้านดอลลาร์ หรือราว 15,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาประมูลภาพวาดที่สูงที่สุดในโลก

ส่วนทรัพย์สินของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย มีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 57 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าราชวงศ์อังกฤษที่มีมูลค่า 425 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

พระองค์ทรงได้รับเสียงชื่นชมจากหลายชาติตะวันตกจากการเดินหน้าปฏิรูปสังคมซาอุดีอาระเบียในหลายด้าน โดยเฉพาะเปิดเสรีแก่สตรีมากขึ้น ท่ามกลางสังคมซาอุฯ ซึ่งเป็นแบบอนุรักษ์นิยมมาโดยตลอด

พระองค์เป็นผู้ริเริ่มแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ซึ่งเป็นแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน แล้วหันไปเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เช่น 

การพัฒนาภาคบริการสาธารณะ พัฒนาซาอุฯ ให้เป็น hub แห่ง logistic การเปิดกว้างด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุน การเพิ่มการค้าระหว่างประเทศอื่นๆ ที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมัน 

ส่อง Saudization ยุทธศาสตร์แห่งซาอุดีอาระเบีย ภารกิจเพื่อยกระดับชีวิตและสังคมทั้งประเทศ

หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียกลับสู่ภาวะปกติ หนึ่งในข่าวที่น่าสนใจ คือ การที่แรงงานไทยจะมีโอกาสก้าวเข้าไปสู่ตลาดงานในซาอุฯ ได้มากขึ้น ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้เป็นทั้งเรื่อง ‘ดีที่ปกติ’ ไม่ได้น่าตื่นเต้นพอจะไปมองเป็นประเด็นให้ต้องดิสเครดิต หรือดูแคลนการรื้อฟื้นความสัมพันธ์นี้แต่อย่างใด 

นั่นก็เพราะ หากใครพอจะทราบ ย่อมรู้ดีว่าซาอุดีอาระเบียได้มีการประกาศนโยบาย Saudization หรือนโยบายที่ว่าด้วยวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการจ้างงานของแรงงานต่างชาติลง และกำหนดให้ต้องจ้างคนซาอุดีอาระเบียเข้าทำงาน ที่กำหนดให้ภาครัฐและเอกชนต้องจ้างคนซาอุดีอาระเบียเข้าทำงานร้อยละ 20 ของคนงานทั้งหมด

ทว่าพลันที่นโยบายนี้ถูกประกาศ ก็ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มชะลอการส่งแรงงานไปซาอุฯ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์หรือแม้แต่ปากีสถาน ซึ่งถือว่ามีจำนวนแรงงานที่ไปทำงานยังซาอุฯ นับล้านชีวิต และนั่นก็เริ่มส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียเจอปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะคนท้องถิ่นเองก็ไม่นิยมทำงานหนัก ทั้งไม่มีการอบรมทักษะอาชีพและการศึกษาที่ดี รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีที่เคร่งครัด จึงทำให้สูญเสียโอกาสการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลก

ฉะนั้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ของไทยกับซาอุฯ ภายใต้ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด เจ้าชายหัวทันสมัยที่มองข้ามเรื่องเก่าๆ และดราม่าน้ำเน่าที่หาได้อัดแน่นด้วยสาระ จึงไม่น่าจะหยิบมาเป็นสาระสำคัญไปกว่าหมุดหมายในการพาประเทศของตนเดินหน้าไปในแนวทางที่ถูกต้องเท่าไรนัก

ฉะนั้นในเรื่องของแรงงาน ก็คงเป็นองค์ประกอบหนึ่งในเชิงยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Win-Win กันทั้งไทยและซาอุฯ ที่ฝ่ายหนึ่งก็ขาดแคลนแรงงาน ส่วนอีกฝ่ายก็สามารถส่งแรงงานในยังประเทศที่มีความต้องการตลาดสูงกว่าในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ ทางด้าน พัฒนพงศ์ (แพท) แสงธรรม อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ Saudization หรือยุทธศาสตร์ของซาอุดีอาระเบียจนทำให้พอเข้าใจว่า สัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ในครั้งนี้ เป็นสาระสำคัญที่เหมาะสมและก็ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกอันใด ว่า…

Saudization เป็นยุทธศาสตร์ของซาอุดีอาระเบีย ที่เริ่มขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสังคมให้กับชาวซาอุฯ ทั้งในมิติของการว่าจ้างงาน สิทธิพลเมือง สิทธิสตรี และสวัสดิการต่างๆ เช่น…

>> เพิ่มจำนวนลูกจ้างและพนักงานชาวซาอุฯ ในบริษัทและภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นคนซาอุฯ ทำงานเองโดยเฉลี่ย ประมาณ 20% เท่านั้น

>> ตำแหน่งภาครัฐ จ้างแต่ชาวซาอุฯ อยู่แล้ว ซาอุฯ สงวนอาชีพในบางสาขาไว้ให้ชาวซาอุฯ เท่านั้น เช่น ภาคเกษตรกรรม, อสังหาริมทรัพย์, การบริหารสาธารณูปโภค, ไฟฟ้า, น้ำประปา, การสื่อสาร ฯลฯ

>> อย่างไรก็ตาม การจ้างแรงงานต่างชาติ และการจ้างแรงงานคนซาอุฯ ทำคู่ขนานกันไปตาม Demand ของงาน ไม่ได้แย่งกัน เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยใช้แรงงานต่างชาติ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยมีงานทำที่นั่นทุกคน

>> ซาอุฯ มีประชากร 36 ล้านคน มีแรงงานต่างชาติอยู่ราว 14 ล้านคน ถ้าจ้างคนซาอุฯ แทนประชากรต่างชาติ เท่ากับพลเมืองครึ่งหนึ่งต้องมาทำงานแทน 

>> ตำแหน่งงาน 8 ล้านคน ที่ซาอุฯ ต้องการ ไม่ได้หมายถึงจ้างคนไทย 8 ล้านตำแหน่ง หากแต่รับทุกชาติ!!

มกุฎราชกุมารซาอุฯ ทรงตอบรับเยือนไทย ฟื้นความสัมพันธ์ กระชับแน่นแฟ้น 2 ประเทศ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย หลังมีการปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็นปกติอย่างเต็มรูปแบบ ว่า หลังจากนี้นอกจากเรื่องการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตของกันและกันแล้ว เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซิซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ทรงตอบรับการกราบเรียนเชิญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อถึงเวลาที่มกุฎราชกุมารซาอุฯ เสด็จฯ เยือนไทยก็ต้องมีการลงนามในความตกลงใหญ่ที่ครอบคลุมความสัมพันธ์ทั้งหมด

กษัตริย์ซาอุฯ ทรงปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ ตั้ง มกุฎราชกุมาร ‘MBS’ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนพระองค์

พระราชกฤษฎีกาซึ่งเผยแพร่ผ่านสำนักข่าว SPA ของรัฐบาลซาอุฯ เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ยังระบุให้เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน รั้งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานตามเดิม เช่นเดียวกับเจ้าชายไฟซอล บิน ฟาร์ฮาน อัล-สะอูด, โมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน และคอลิด อัล-ฟาลิห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ, รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน ตามลำดับ

มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด หรือที่หลายคนเรียกว่าเจ้าชาย MBS ทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากรัฐมนตรีกลาโหมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเท่ากับว่าทรงเป็น “ผู้ปกครองโดยพฤตินัย” ของราชอาณาจักรที่ส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง

บทบาทใหม่ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด นับว่าสอดคล้องกับพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ได้ทรงปฏิบัติแทนพระองค์มาในอดีต เช่น การเป็นผู้แทนรัฐบาลซาอุฯ ไปเยือนต่างประเทศ หรือเป็นประธานการประชุมสุดยอดต่าง ๆ ที่ริยาดเป็นเจ้าภาพ

“มกุฎราชกุมารทรงกำกับดูแลกิจการประจำวันของฝ่ายบริหาร ตามที่สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงมีพระบรมราชโองการมอบหมายไว้ ดังนั้น บทบาทใหม่ของพระองค์ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงถือว่าเข้ากับบริบท” เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าว

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ในวัย 86 พรรษาทรงประชวรด้วยหลายโรค และเสด็จฯ ไปประทับโรงพยาบาลหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

สังคมซาอุดีอาระเบียพลิกโฉมไปอย่างมากนับตั้งแต่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2017 โดยทรงมุ่งมั่นที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจซาอุฯ ให้ลดการพึ่งพาน้ำมัน และยังทรงดำเนินการปฏิรูปด้านต่าง ๆ เช่น อนุญาตให้สตรีขับรถ และจำกัดอำนาจของพวกผู้นำทางศาสนา เป็นต้น

ศาลสหรัฐฯ ยกฟ้อง ‘มกุฎราชกุมารซาอุฯ’ ปมสังหาร ‘คาช็อกกี’ อ้างสิทธิคุ้มกันทางกฎหมาย

ศาลสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีคำพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ กรณีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงตกเป็นจำเลยพัวพันคดีสังหารนักข่าวชาวซาอุฯ จามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้รับรอง ‘สิทธิคุ้มกันทางกฎหมาย’ ให้แล้ว

จอห์น บาเตส ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ ระบุในคำวินิจฉัยวานนี้ (6 ธ.ค.) ว่า แม้ศาลจะ ‘ลังเล’ ที่จะสั่งยกฟ้องกรณีที่ น.ส.เฮทิซ เซนกิซ คู่หมั้นของ คาช็อกกี ร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหว DAWN เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอาผิดเจ้าชายโมฮัมเหม็ด แต่ก็จำเป็นต้องยอมรับจุดยืนของรัฐบาลอเมริกันที่ประกาศแล้วว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นทั้งมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุฯ ทรงได้รับสิทธิคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีในฐานะที่ทรงเป็น ‘ประมุขรัฐ’

บาเตส ยังระบุด้วยว่า เซนกิซ และกลุ่ม DAWN ได้นำเสนอข้อโต้แย้งที่ ‘มีน้ำหนัก’ และ ‘น่าชมเชย’ ว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงอยู่เบื้องหลังเหตุฆาตกรรมซึ่งเกิดขึ้นที่สถานกงสุลซาอุฯ ประจำนครอิสตันบูล เมื่อปี 2018 ทว่าศาลไม่มีอำนาจที่จะปฏิเสธจุดยืนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งศาลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่าเจ้าชายทรงได้รับสิทธิคุ้มกันในฐานะผู้นำรัฐบาลต่างชาติ

'สีจิ้นผิง’ เยือนซาอุฯ กระชับสัมพันธ์อาหรับ MBS ต้อนรับสมเกียรติ ผิดกับครั้ง ‘ไบเดน’

มกุฎราชกุมาร เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองโดยพฤตินัยของซาอุดีอาระเบีย ต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดี (8 ธ.ค.) ด้วยพิธีการซึ่งมุ่งให้เกียรติอย่างเต็มที่ เป็นการส่งสัญญาณว่า ‘ริยาด’ มีความสนใจเพิ่มพูนสายสัมพันธ์กับปักกิ่งให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ถึงแม้สหรัฐฯแสดงท่าทีจับตามองอย่างระแวงระวัง

กองทหารราชองครักษ์ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งขี่ม้าอาหรับและถือธงชาติจีนและธงชาติซาอุดีฯ เข้าคุ้มกันรถยนต์ของ สี ขณะที่แล่นเข้าสู่พระราชวังหลวงในกรุงริยาด และเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ออกมาต้อนรับด้วยการยื่นมือให้สัมผัสพร้อมรอยยิ้มสดชื่น ในทันทีที่ผู้นำจีนก้าวลงจากรถ

จากนั้นผู้นำทั้งสองได้จัดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยที่มกุฎราชกุมาร ‘แสดงความปรารถนาให้เขา, คณะผู้แทนของเขา พำนักอย่างมีความสุข’ ระหว่างอยู่ในซาอุดีอาระเบีย สำนักข่าวเอสพีเอ ของทางการซาอุดีอาระเบียรายงาน

บรรยายกาศเช่นนี้ช่างตรงกันข้ามกับการต้อนรับแบบเรียบ ๆ ที่จัดให้แก่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองที่มีรอยร้าวฉานสืบเนื่องจากสหรัฐฯ ไม่พอใจนโยบายด้านน้ำมันของซาอุดีฯ และกรณีสังหารโหด ‘จามาล คาชอกกี’ นักหนังสือพิมพ์ซาอุดีเมื่อปี 2018

ทั้งนี้ในคราวนั้นเจ้าชายโมฮัมเหม็ด เพียงแต่ยกกำปั้นมาชนกับไบเดนเท่านั้น ไม่ได้มีการจับมือกัน

สหรัฐฯ ซึ่งเฝ้าจับตามองอย่างระแวงระวังทั้งต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน และการที่สายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับ ริยาด กำลังอยู่ในช่วงต่ำสุด ให้ ‘จอห์น เคอร์บี้’ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ออกมาแถลงในวันพุธว่า การเยือนครั้งนี้เป็นตัวอย่างของความพยายามของจีนที่จะแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก แต่จะไม่ทำให้นโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลงไป

สี เดินทางถึงซาอุดีอาระเบียตั้งแต่วันพุธ โดยกระทรวงการต่างประเทศจีรายงานว่า ทางกองทัพอากาศซาอุดีฯ ได้ส่งเครื่องบินมาคุ้มกันตั้งแต่ที่เครื่องบินของผู้นำจีนเข้าสู่น่านฟ้าของซาอุดีอาระเบีย และเมื่อเดินทางมาถึง ก็มีการยิงปืนสลุต 21 นัด รวมทั้งมีเชื้อพระวงศ์อาวุโสของซาอุดีหลายท่านมาต้อนรับ สี ที่สนามบิน

ทางด้าน เจ้าชายอับดุลลาซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย แถลงวันพุธว่า ริยาดจะยังคงเป็นหุ้นส่วนพลังงานที่ไว้วางใจได้สำหรับปักกิ่ง และสองประเทศจะกระชับความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานพลังงานด้วยการจัดตั้งศูนย์ประจำภูมิภาคสำหรับโรงงานจีนในซาอุดีฯ

ทั้งนี้ จีน ผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นคู่ค้าสำคัญของซาอุดีอาระเบียที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลก และการขยายความสัมพันธ์ระหว่างกันภายใต้ความพยายามในการแตกแขนงเศรษฐกิจของตะวันออกกลางทำให้อเมริกากังวลหนักเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของจีนในโครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนไหวในอ่าวอาหรับ

การเยือนของประธานาธิบดีสี ยังเกิดขึ้นขณะที่ตลาดพลังงานโลกแขวนอยู่กับความไม่แน่นอน หลังจากมหาอำนาจตะวันตกบังคับใช้มาตรการจำกัดราคาน้ำมันของรัสเซียที่หันไปเพิ่มปริมาณการจัดส่งน้ำมันให้จีนพร้อมส่วนลด

สำนักข่าวเอสพีเอ รายงานด้วยว่า เมื่อวันพุธ บริษัทจีนและซาอุดีฯ ได้ลงนามข้อตกลง 34 ฉบับครอบคลุมการลงทุนในพลังงานสะอาด เทคโนโลยีสารสนเทศ บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง การขนส่ง การก่อสร้าง ฯลฯ โดยไม่มีการระบุมูลค่า แต่ก่อนหน้านี้เอสพีเอรายงานว่า สองประเทศจะทำข้อตกลงกันรวมมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์

เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า การเยือนคราวนี้นอกจาก สีจะหารือกับฝ่ายซาอุดีฯ แล้ว หลังจากนั้นริยาดยังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดระหว่างจีนกับผู้นำอาหรับซึ่งจะถือเป็น หลักหมายสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาหรับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top