กษัตริย์ซาอุฯ ทรงปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ ตั้ง มกุฎราชกุมาร ‘MBS’ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนพระองค์

พระราชกฤษฎีกาซึ่งเผยแพร่ผ่านสำนักข่าว SPA ของรัฐบาลซาอุฯ เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ยังระบุให้เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน รั้งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานตามเดิม เช่นเดียวกับเจ้าชายไฟซอล บิน ฟาร์ฮาน อัล-สะอูด, โมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน และคอลิด อัล-ฟาลิห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ, รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน ตามลำดับ

มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด หรือที่หลายคนเรียกว่าเจ้าชาย MBS ทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากรัฐมนตรีกลาโหมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเท่ากับว่าทรงเป็น “ผู้ปกครองโดยพฤตินัย” ของราชอาณาจักรที่ส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง

บทบาทใหม่ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด นับว่าสอดคล้องกับพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ได้ทรงปฏิบัติแทนพระองค์มาในอดีต เช่น การเป็นผู้แทนรัฐบาลซาอุฯ ไปเยือนต่างประเทศ หรือเป็นประธานการประชุมสุดยอดต่าง ๆ ที่ริยาดเป็นเจ้าภาพ

“มกุฎราชกุมารทรงกำกับดูแลกิจการประจำวันของฝ่ายบริหาร ตามที่สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงมีพระบรมราชโองการมอบหมายไว้ ดังนั้น บทบาทใหม่ของพระองค์ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงถือว่าเข้ากับบริบท” เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าว

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ในวัย 86 พรรษาทรงประชวรด้วยหลายโรค และเสด็จฯ ไปประทับโรงพยาบาลหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

สังคมซาอุดีอาระเบียพลิกโฉมไปอย่างมากนับตั้งแต่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2017 โดยทรงมุ่งมั่นที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจซาอุฯ ให้ลดการพึ่งพาน้ำมัน และยังทรงดำเนินการปฏิรูปด้านต่าง ๆ เช่น อนุญาตให้สตรีขับรถ และจำกัดอำนาจของพวกผู้นำทางศาสนา เป็นต้น

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงชี้ว่า อุตสาหกรรมทางทหารของซาอุฯ เวลานี้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นจากระดับ 2% เป็น 15% และทรงมีแผนที่จะยกระดับให้ได้ถึง 50% ภายใต้การบริหารของรัฐมนตรีกลาโหมพระองค์ใหม่

กระนั้นก็ตาม แผนปฏิรูปของเจ้าชายก็มาพร้อมกับปฏิบัติการกวาดล้างผู้ที่เห็นต่างจากพระองค์ โดยมีนักเคลื่อนไหว นักธุรกิจ และแม้แต่สมาชิกราชวงศ์ซาอุฯ ถูกจำคุกไปแล้วหลายคน

เหตุการณ์ซึ่งให้ภาพลักษณ์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด แปดเปื้อนมากที่สุดในสายตานานาชาติคงจะหนีไม่พ้นกรณีการอุ้มฆ่า “จามาล คาช็อกกี” (Jamal Khashoggi)

ผู้สื่อข่าววอชิงตันโพสต์ ที่สถานกงสุลซาอุฯ ในนครอิสตันบูลของตุรกีเมื่อปี 2018 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกย่ำแย่ลงไปมาก


ที่มา : รอยเตอร์
https://mgronline.com/around/detail/9650000093067