Monday, 12 May 2025
Lite

‘รมว.สรวงศ์’ คอนเฟิร์ม ‘ลิซ่า Blackpink’ ขึ้นเวที Countdown 2025 ไอคอนสยาม

(21 ต.ค. 67) ‘รมว.สรวงศ์’ คอนเฟิร์ม ‘ลิซ่า Blackpink’ ร่วม Amazing Thailand Countdown 2025 ไอคอนสยาม พร้อมเดินแผนดึงคอนเสิร์ตระดับโลกเข้ามาจัดในไทย ยัน ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ มาแน่ ชงรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวให้ 50%

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ล่าสุดได้รับการคอนเฟิร์มจาก “ลิซ่า Blackpink” หรือ ลลิษา มโนบาล ในการขึ้นเวทีร่วมงาน Amazing Thailand Countdown 2025 ที่ ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นการว่าจ้างโดยภาคเอกชน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมสนับสนุนคอนเสิร์ตระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ และสถานที่ในการรองรับผู้เข้าชมที่ต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ สะดวกเพียงพอในการรองรับผู้เข้าชมทั้งไทย รวมถึงแฟนคลับชาวต่างชาติที่จะตามเข้ามาด้วยในช่วงเคาต์ดาวน์ปี 2568 นี้

นอกจากนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 (ตุลาคม-ธันวาคม) ได้เตรียมหารือร่วมกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ภายในปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพิจารณางบประมาณใช้ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งยืนยันว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ประโยชน์ทั้งระบบ

โดยใน 5 เฟสแรกที่ผ่านมา เราเที่ยวด้วยกันก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 58,621 ล้านบาท จากการใช้งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในรอบนี้คาดว่าจะดำเนินการในขนาดไม่แตกต่างจากเดิม และจะนำข้อเสนอของภาคเอกชนในการสนับสนุนสัดส่วนระหว่างรัฐบาล 50% และประชาชน 50% หรือคนละครึ่ง

จากเดิมเป็นรัฐบาลอุดหนุน 40% ประชาชนออกเอง 60% ซึ่งประเมินว่าเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะได้มากกว่าเฟสแรก บวก 5-10% เนื่องจากจะเปลี่ยนมาจองผ่านแพลตฟอร์มตัวแทนจองออนไลน์ (โอทีเอ) ที่เป็นของไทยเอง เพื่อให้เม็ดเงินไม่ไหลออกไปสู่ต่างประเทศ

โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ในครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบที่ปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในเฟสเดิมทั้งหมด อาทิ การโกงการเข้าพักจริง จำนวนห้องพักที่ถูกใช้มากเกินกว่าจำนวนที่มีจริง จากนั้นจะพิจารณางบประมาณและรูปแบบสัดส่วนการอุดหนุนของรัฐบาลที่ใช้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้ในช่วงต้นปี 2568 นี้” นายสรวงศ์ กล่าว

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 สถาปนา ‘องค์การสหประชาชาติ’ ด้วยจำนวนสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation : UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ จึงถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ หรือ 'ยูเอ็น' (United Nation : UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ นำโดยประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน ลงนามให้สัตยาบันรับรอง 'กฎบัตรสหประชาชาติ' (United Nations Charter) ซึ่งเป็นธรรมนูญของสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ 

ยูเอ็นเป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพและความยุติธรรม มีความมั่นคงระหว่างประเทศ พัฒนาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและประสานงานของชาติต่าง ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ (เกือบทุกประเทศในโลก) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก และถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น 'วันสหประชาชาติ'

๒๓ ตุลาคม วันปิยมหาราช วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES 

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น 'กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ' ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น 'กรมขุนพินิตประชานาถ' บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ทรงพระนามว่า 'พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว'

เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี

ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า 'พระปิยมหาราช' หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น 'วันปิยมหาราช'

25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญาบัตร ครั้งแรกของสยาม

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรเวชศาตรบัณฑิต (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการพระราชทานปริญญาบัตร ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ (ตึก 1 คณะอักษรศาสตร์ปัจจุบัน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ห้องประชุม พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร-เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานครุยกิตติมศักดิ์แก่ข้าราชการของมหาวิทยาลัย 2 ท่าน คือ

1.) บัณฑิตชั้นโท (มหาบัณฑิตในปัจจุบัน) ทางวิทยาศาสตร์แก่พระยาภะรตราชา(หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บัญชาการ (อธิการบดีในขณะนั้น)

2.) บัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่ศาสตราจารย์ น.พ. A.G.Ellis คณบดีคณะแพทยศาสตร์ (ต่อมาเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2478-2479)

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานประกาศนียบัตร (ปริญญาบัตรในปัจจุบัน) แก่เวชบัณฑิตชั้นตรี จำนวน 29 คน ประกอบด้วยผู้สอบได้บัณฑิตชั้นตรีในปี 2471 จำนวน 18 คน และปี 2472 จำนวน 16 คน

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชโชวาทแก่บัณฑิตในครั้งนั้น ตอนหนึ่งว่า “…ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาให้ปริญญาแก่นักเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในวันนี้ นับว่า เป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของมหาวิทยาลัย และโดยเหตุนั้น นับว่าเป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของประเทศสยามด้วย เพราะว่าไม่ว่าประเทศใดๆ ความเจริญของประเทศนั้นย่อมวัดด้วยความเจริญของการศึกษานั้นอย่างหนึ่ง…”

อนึ่ง ในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือเชิญผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมยุทธศึกษาทหารบก, กรมยุทธศึกษาทหารเรือ, สภากาชาดสยาม, วชิรพยาบาล, มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ราชบัณฑิตยสภา, โรงเรียนกฎหมาย, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงต่างๆ เอกอัครราชทูตของประเทศที่มาประจำประเทศไทย ฯลฯ มาร่วมพิธีด้วย

26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ห้วงเวลาแห่งความทรงจำ!! ครบรอบ 7 ปี พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

โดยวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง ทางคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ประชาชนร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด เหตุปลอมแปลงง่าย หันมาใช้เหรียญกลมแบนแทน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศลงวันที่ 27 ตุลาคม 2447 มีความสำคัญว่า ได้โปรดให้สั่งว่า เงินพดด้วงซึ่งได้จำหน่ายออกจากพระคลังฯ ใช้กันแพร่หลายอยู่ในพระราชอาณาจักรเวลานี้ มีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย สมควรให้เลิกใช้เงินพดด้วงเสีย โดยตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2447 เป็นต้นไป ให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ยกเป็นเงินตราที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับ เงินพดด้วง ทางราชอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา กรุงศรีอยุธยา ได้ผลิตคิดค้นเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นก็ยอมรับเงินตราของต่างชาติด้วย เงินตราที่ใช้ในอาณาจักรล้านนา ได้แก่ เงินไซซี เงินกำไล เงินเจียง เงินท้อก เงินดอกไม้ ส่วนราชอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ผลิตเงินพดด้วง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นใช้ และใช้เบี้ยหอยแทนเงินปลีกย่อย บางครั้งเบี้ยหอยขาดแคลนก็ได้ผลิตเบี้ยโลหะและประกับดินเผาขึ้นใช้ร่วมด้วย

ภายหลังราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสลายลง กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ถือกำเนิดขึ้นตามลำดับ ก็ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 การเปิดประเทศสยามสู่อารยประเทศ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินตราให้เป็นสากล นำไปสู่การผลิตเงินตราในลักษณะเหรียญกลมแบนออกใช้เป็นครั้งแรก ต่อมารัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง นับตั้งแต่นั้นเงินตราไทยจึงคงเป็นลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนต่อเนื่องมาจนถึง ปัจจุบัน

28 ตุลาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯเยือนไทย ร่วมฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในหลวง รัชกาลที่ 9

วันนี้ เมื่อ 28 ปีที่แล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานพระราชอาคันตุกะ ในหลวง รัชกาลที่ 9

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ให้การถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 เนื่องในโอกาสปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

29 ตุลาคม ของทุกปี วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ ร่วมตระหนักในคุณค่ามรดกทางภูมิปัญญาของไทย

วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวัน 'ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ' เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ทรงจารึกตำราแพทย์แผนไทยให้เป็นภูมิปัญญาของชาติ

เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ปวงชนชาวไทยนานัปการ พระราชกรณียกิจที่สําคัญในการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่ในวงกว้าง ทําให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นรากฐานของชาติไทย และตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ครั้งรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1193 ตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2374

ตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร และได้ทอดพระเนตรเห็นพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง กุฏิเสนาสนะต่าง ๆ ชำรุดปรักหักพังมาก จึงมีพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์และขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิมและมีพระบรมราชโองการให้รื้อพระอุโบสถเดิม และก่อเสนาสนะสงฆ์ต่าง ๆ มีการจารึกตำราการแพทย์แผนไทยติดประดับไว้ตามศาลาราย เช่น แผนฝีดาษ ฝียอดเดียว แผนชัลลุกะ แผนลำบองราหู แผนกุมารและแม่ซื้อ อีกทั้ง มีการจัดสร้างรูปฤๅษีดัดตน ตั้งไว้ศาลาละ 4-5 รูป รวม 16 หลัง 

ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้การแพทย์แผนไทยมีความเจริญ รุ่งเรือง เกิดคุณูปการแก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและแสดงถึงความกตัญญูกตเวที กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา 'พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย' แด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น 'วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ'

30 ตุลาคม พ.ศ. 2369 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์คุณหญิงโมเป็น ‘ท้าวสุรนารี’

30 ตุลาคม พ.ศ. 2369 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ คุณหญิงโม ภริยาของพระยามหิศราธิบดี (พระยาปลัด) ที่ปรึกษาราชการแห่งเมืองนครราชสีมา ขึ้นเป็น "ท้าวสุรนารี” จากวีรกรรมที่ใช้อุบายต่อสู้กับทหารลาวของ เจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งก่อกบฏยกทัพมาตีเมืองนครราชสีมา หลังจากเจ้าอนุวงศ์ยึดเมืองนครราชสีมาสำเร็จ และได้กวาดต้อนชาวโคราชไปเป็นเชลย รวมทั้งคุณหญิงโมด้วย 

ระหว่างการเดินทางคุณหญิงโมได้ออกอุบายขอมีดพร้าจอบเสียมจากทหารลาว ว่าจะนำไปตัดไม้ทำที่พักแรม แต่แท้จริงได้นำมาเสี้ยมไม้เก็บซ่อนไว้เป็นอาวุธ ทั้งยังหลอกล่อให้การเดินทางล่าช้า เพื่อรอกำลังสนับสนุนจากรุงเทพฯ จนเมื่อเข้าเขตทุ่งสัมฤทธิ์ เมืองพิมาย 

คุณหญิงโมจึงวางแผนโจมตีกองทัพของเจ้าอนุวงศ์จนได้รับชัยชนะ ต้องล่าถอยออกไป ก่อนที่ทัพจากกรุงเทพฯ จะมาสมทบ จากความดีความชอบครั้งนี้ รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ คุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี พร้อมเครื่องยศทองคำ เช่น ถาดทองคำ จอกหมาก กู่ ตลับทองคำสามใบ เต้าปูนทองคำ คนโทน้ำทองคำ ขันทองคำ เป็นต้น นับเป็นสตรีสามัญชนในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรสตรีของชาติ 

31 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ขณะทรงผนวช เสด็จฯ ทรงบิณฑบาต ณ ทำเนียบรัฐบาล

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ขณะทรงพระผนวช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบิณฑบาต ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาประมาณ 08.55 น. และเสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 09.35 น.

หลังจากนั้น ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายที่ทรงดำรงสมณเพศ ในตอนเช้าทรงปลูกต้นสัก 1 ต้นที่ข้างพระตำหนักปั้นหยา และทรงปลูกต้นสนฉัตร 2 ต้น ที่หน้าพระตำหนักทรงพรต และในเวลา ในเวลา 10.15 น. เสด็จออกพระตำหนักปั้นหยาในพระราชพิธีลาผนวช 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top