Monday, 12 May 2025
Lite

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 2

วิกฤตการณ์สุเอซ (The Suez Crisis) หรือสงคราม อิสราเอล-อาหรับ ครั้งที่ 2 เป็นการรุกรานอียิปต์ในช่วงปลายปี 2499 โดยฝ่ายอิสราเอล ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส จุดมุ่งหมายคือการควบคุมทางด้านตะวันตกของคลองสุเอซ และเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีแห่งอียิปต์ ญะมาล อับดุนนาศิร ที่ได้ถือสิทธิ์ว่าคลองนั้นให้กลายเป็นของรัฐ แต่หลังจากการสู้รบได้เริ่มต้นขึ้น แรงกดดันทางการเมืองจากสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และสหประชาชาติ นำไปสู่การถอนตัวจากรุกรานของทั้ง 3 ประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต้องได้รับความอับอาย ในขณะเดียวกันก็ทำให้นัสเซอร์เข้มแข็งขึ้น

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม อิสราเอลได้ส่งทหารมาบุกรุกคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ ขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศส ก็ได้ยื่นคำขาดร่วมกันเพื่อให้มียุติการยิง ซึ่งก็ถูกเพิกเฉย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน อังกฤษและฝรั่งเศสได้ส่งทหารโดดร่มลงพื้นตามคลองสุเอซ และก็เป็นที่ชัดเจนว่าอิสราเอล ฝรั่งเศส และอังกฤษได้สมคบคิดกันเพื่อวางแผนการบุก แต่ก่อนที่กองกำลังอียิปต์จะพ่ายแพ้ พวกเขาได้ปิดกั้นคลองไม่ให้เรือเดินสมุทรทั้งหมดผ่าน โดยการจมเรือ 40 ลำในคลอง ทำให้การคมนาคมทางน้ำในขณะนั้นถือว่าถูกตัดขาด เกิดกระทบระดับโลก

ผลพวงมาจากความขัดแย้งครั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations:UN จึงได้เข้ามาจัดการ เหตุการณ์นี้จึงได้จบลงโดยการที่อังกฤษ ฝรั่งเศสและอิสราเอลต้องถอยทัพกลับ ส่วนอียิปต์ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายจากการล่มเรือถึง 81.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ย้อนไปเมื่อ 46 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์

ภายหลังการผนวชแล้วเสด็จฯ ทรงไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาลผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช

จับนักร้องดังมาเลเซีย พร้อมยาบ้ากว่า 6 พันเม็ด แต่แฟนคลับแห่ให้กำลังใจแน่นโรงพักสุไหงโก-ลก

(4 พ.ย. 67) ตำรวจจับ Eda Ezrin นักร้องดังมาเลเซีย พร้อมยาบ้ากว่า 6 พันเม็ดคาโรงแรม ขณะที่แฟนคลับแห่ข้ามแดนให้กำลังใจแน่นโรงพัก สุไหงโก-ลก ฝั่งตำรวจต้องจัดกำลังคุมความสงบ

เรียกได้ว่าเป็นข่าวที่ทำเอาแฟนเพลงถึงกับช็อก! เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส บุกจับนักร้องสาวสุดฮอตจากมาเลเซีย พร้อมยาบ้ากว่า 6,000 เม็ด คาห้องพักโรงแรมดัง งานนี้แฟนคลับแห่ข้ามแดนมาให้กำลังใจแน่นโรงพัก จนเจ้าหน้าที่ต้องระดมพลคุมสถานการณ์กันเลยทีเดียว!

สำหรับนักร้องสาวคนดังกล่าวคือ วัน โนรชาฮีดา อัซลิน บินตี วันอิสมาอีล (MISS.WAN NORSHAHEEDA AZLIN BINTI WAN ISMAIL) อายุ 28 ปี เจ้าของเพลงฮิต “CINTA SETANDAN PISANG” หรือ “แบซอบาซอ” ที่แปลเป็นไทยว่า “ใจเย็นๆ” มียอดวิวถล่มทลายในมาเลเซีย

เธอถูกจับพร้อมกับเพื่อนร่วมแก๊งอีก 5 คน พร้อมของกลางยาบ้าจำนวน 6,060 เม็ด ภายในโรงแรมหรูแห่งหนึ่งในสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ข่าวการจับกุมครั้งนี้สร้างความฮือฮาอย่างมากในมาเลเซีย แฟนคลับและญาติๆ ของนักร้องสาว พากันข้ามแดนมาให้กำลังใจที่ สภ.สุไหงโก-ลก จนเจ้าหน้าที่ต้องจัดกำลังเสริมกว่า 50 นาย เพื่อดูแลความเรียบร้อย แถมยังมีตำรวจและสื่อมวลชนจากมาเลเซีย เดินทางมาเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สะท้อนให้เห็นถึงความดังของนักร้องสาวคนนี้

จากการสอบสวนเบื้องต้น ยังไม่มีใครรับสารภาพว่าเป็นเจ้าของยาบ้า แต่ผลตรวจปัสสาวะพบว่าทั้ง 6 คนมีสารเสพติดในร่างกาย เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหา “ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติด” และ “เสพยาเสพติด” ส่วนเพื่อนร่วมแก๊งอีก 2 คน โดนเพิ่มข้อหา “เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” เนื่องจากไม่มีเอกสารผ่านแดนที่ถูกต้อง

งานนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า บทสรุปของคดีนี้จะเป็นอย่างไร นักร้องสาวคนดังจะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาหรือไม่?

ย้อนฟังสัมภาษณ์ “Eda Ezrin” เคยเผยถูกบังคับให้ร้องเพลงด้วยความกลัวในประเทศตัวเอง!
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ (พฤษภาคม 2567) Eda Ezrin เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ Sinar Harian ในมาเลเซีย โดยเปิดเผยว่า เธอถูกบังคับให้ร้องเพลงด้วยความกลัวในประเทศของตัวเอง

เนื่องจากในรัฐกลันตัน มีกฎห้ามผู้หญิงแสดงดนตรีในที่สาธารณะ แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงมุ่งมั่นร้องเพลงต่อไป เพราะถือเป็นพรสวรรค์และอาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิต แม้จะมีข้อจำกัดในกลันตัน แต่เธอก็ได้รับเชิญไปแสดงทั่วประเทศ

Eda Ezrin ยังเผยอีกว่า เพลง “Cinta Setandang Pisang” ที่ร้องร่วมกับ Den Manjo ทำให้เธอโด่งดัง และได้รับรางวัล Malaysian TikTok Music Chart อีกด้วย

จากนักร้องสาวที่เคยเผยว่าต้องร้องเพลงด้วยความกลัว สู่การเป็นนักร้องดังที่ถูกจับกุมพร้อมยาบ้า เรื่องราวของ Eda Ezrinจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องติดตาม!

‘พลัฏฐ์’ ชวนร่วมงานวัดภูเขาทอง 2567 วัดสระเกศฯ ชูไฮไลต์ ‘ประเพณีห่มผ้าแดง’ มงคลพิธีที่สืบทอดตั้งแต่สมัย ร.5

‘พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์’ ชวนร่วมงานเทศกาลลอยกระทง งานวัดภูเขาทอง 2567 พร้อมร่วมสืบสาน ประเพณีห่มผ้าแดง บูชาพระบรมมาสารีริกธาตุ องค์พระเจดีย์บรมบรรพต ที่ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดย งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ภูเขาทอง จัดขึ้นในตั้งแต่ วันที่ 8-17 พฤศจิกายน 2567

นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อดีตผู้สมัคร สส. กทม. เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ เชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมวัดภูเขาทอง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในงานวัดที่ต้องไม่พลาด และช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ทางวัดก็งดจัดกิจกรรมไปเนื่องจาก โควิด-19 สำหรับในปีนี้ งานวัดภูเขาทอง 2567 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-17 พฤศจิกายน 2567 

ขณะที่ พิธีห่มผ้าแดง ถวายองค์พระเจดีย์บรมบรรพต  (ภูเขาทอง) ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเป็นไฮไลต์ของงานในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 06.00 น. 

นอกจากนี้ ขอเชิญชวนประชาชน และนักท่องเที่ยว สักการะพระบรมสารีริกธาตุ และ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ
- ต้นพระศรีมหาโพธิ์
- พระประธาน พระอุโบสถ วัดสระเกศ
- หลวงพ่อโต
- หลวงพ่อดำ วัดสระเกศ
- พระอัฏฐารส
- หลวงพ่อดุสิต
- คัมภีร์โบราณ 2,000 ปี
- พระพุทธมงคลบรมบรรพต (หลวงพ่อดวงดี)
- พระพุทธมงคลสุวรรณบรรพต (หลวงพ่อโชคดี)

นอกจากการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวได้สัมผัสประเพณี วัฒนธรรมไทย 4 ภาค อาทิ
- สนุกสนานกับ เกมส์งานวัด ชิงช้าสวรรค์ การแสดงดนตรีลูกทุ่งย้อนยุค
- ตื่นตากับการแสดงศิลปะวัฒนธรรม
- แต่งชุดไทย เดินเที่ยวตลาดย้อนยุค
- ลอยประทีปเทียนหอมบูชาพระพุทธเจ้าน้อย
- การออกร้านค้าชุมชน ชอปของกินอาหารอร่อยมากมาย
- ตระการตาไฟประดับกว่า 1 ล้านดวง

สำหรับประเพณีการห่มผ้าแดง นี้มีที่มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เล่ากันว่า หลังจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 3 พรรษา ทรงเสด็จไปโปรดเมืองเวสาลี ที่กำลังเดือดร้อนจากโจรผู้ร้ายเที่ยวเข่นฆ่าชาวเมือง 

เมื่อเหตุร้ายนั้นหมดไป ชาวเมืองจึงพากันสรรเสริญพระองค์ แต่พระองค์ตรัสว่า ที่เป็นเช่นนี้มิใช่ความอัศจรรย์ แต่เป็นเพราะอานุภาพแห่งบุญบารมีที่พระองค์เคยนำผ้ามาประดับบูชาเจดีย์ในอดีตชาติ ซึ่งความเชื่อนี้ได้สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน 

ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงนำเอาผืนผ้าสีแดงมาห่มคลุมให้องค์พระเจดีย์ โดยหวังให้ชีวิตในชาติหน้าของตัวเองมีความสงบร่มเย็นเช่นกัน

ส่วนประเพณีการห่มผ้าแดงภูเขาทอง เป็นประเพณีเก่าแก่ตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สืบมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการจัดมานานกว่า 130 ปีแล้ว หลังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้มีการจัด พิธีการห่มผ้าแดง ขึ้นทุกปีใน วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 จนถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังพิธีลอยกระทง รวม 10 วัน 10 คืน

ความหมายของการห่มผ้าสีแดง
ความหมายของการห่มผ้าสีแดงให้กับ องค์พระบรมสารีริกธาตุ ภูเขาทอง เนื่องจากสีแดงตามความเชื่อโบราณคือ สีแห่งความเป็นมงคล นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เขียนชื่อ และนามสกุล ลงบนผ้าสีแดงแล้วนำผ้านั้นไปห่มพระบรมสารีริกธาตุก็จะได้รับความเป็นสิริมงคล มีความเจริญก้าวหน้า แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้สละราชบัลลังก์เพื่อประชาชน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 น. หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 

โดยเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 96 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 14 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

โดยตลอดรัชสมัยพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” เป็นต้น ความไม่พอพระราชหฤทัยและการเพลี่ยงพล้ำในการคัดค้านคณะราษฎรในหลายโอกาสนำไปสู่การสละราชสมบัติ และพระองค์ยังทรงถูกฟ้องคดียึดทรัพย์

สำหรับชีวิตส่วนพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (ต่อมาเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่มีพระราชโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต 

ทั้งนี้พระองค์ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริพระชนมพรรษา 47 พรรษา หลังสวรรคต พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ว่าเป็น "กษัตริย์นักประชาธิปไตย" ผู้เผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยอมสละราชบัลลังก์ เพื่อให้คนกลุ่มใหม่ปกครองประเทศ เพราะไม่อยากสู้รบให้คนไทยต้องเสียเลือดเนื้อ

7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ในหลวง ร. 9 เสด็จฯ ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามฯ

วันนี้ เมื่อ 28 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ครองราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัชกาล ครั้งใหญ่ซึ่งเป็นที่จดจำ คือ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เฉลิมฉลองในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 

ซึ่งทรงครองราชย์นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีต โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 อย่างยิ่งใหญ่ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม

ซึ่งขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ได้มีการจัดริ้วขบวนอย่างยิ่งใหญ่และสง่างาม อีกทั้งยังมีเรือพระราชพิธีลำใหม่ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย

โดยได้นำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มาเป็นแม่แบบ ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินการสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือ พายและคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด

โดยหัวเรือพระที่นั่ง จำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ ซึ่งได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น

ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑ เจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาค เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 จำนวน 15 ครั้ง

และจัดขบวนเรือพระราชพิธี จำนวน 2 ครั้ง สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม

ส่วนการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้ง ได้แก่ การจัดขบวนเรือพระราชพิธี เนื่องในการประชุมเอเปก 2003 (20 ตุลาคม พ.ศ. 2546)

และเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (12 มิถุนายน พ.ศ. 2549) โดยการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้งนี้ เป็นเพียงการสาธิตแห่ขบวนเรือซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จในขบวนด้วย

สิ้นนักแสดงอาวุโส ‘คุณยายบรรเจิดศรี’ จากไปอย่างสงบในวัย 100 ปี

วงการบันเทิงสูญเสีย สุดอาลัย นักแสดงอาวุโส คุณยาย บรรเจิดศรี ยมาภัย ในวัย 100 ปี ดาราสาวโพสต์อาลัยคุณย่าสุดเศร้า

(6 พ.ย.67) วงการบันเทิงสูญเสียอดีตนักแสดงอาวุโส คุณยายบรรเจิดศรี ยมาภัย ในวัย 100 ปี โดยกำหนดการสวดอภิธรรม ณ ศาลา 10 วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร มีพิธีสวดอภิธรรม เวลา 18.30 น. วันที่ 7 พ.ย. – วันที่ 11 พ.ย.และวันที่ 12 พ.ย. มีพิธีฌาปนกิจ เวลา 17.00 น.

โดย แดนดาว ยมาภัย นักแสดงดังจาก ละคร พรหมลิขิต ซึ่งเป็นหลานของคุณย่าบรรเจิดศรี โพสต์อาลัย คุณย่าด้วยว่า “You are in my heart and you will always be in there forever หลับพักผ่อนให้สบายนะคะคุณย่า ไว้เราเจอกันใหม่นะ แค่นี้ก็คิดถึงแล้ว”

ประวัติ คุณยายบรรเจิดศรี ยมาภัย (2 มิถุนายน พ.ศ. 2467 – 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567) เข้าสู่วงการแสดงเมื่ออายุราว 50 ปี มีผลงานการแสดงละครเรื่องแรก ๆ อย่าง ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ , เคหาสน์สีแดง ปี 32 ละคร คู่กรรม (รับบทยายอังศุมาลิน) ปี 33 ละคร หลงเงาจันทร์ และละคร ดาวพระศุกร์ นอกจากนี้ในปี 2537 ยังแสดงภาพยนตร์เรื่อง อำแดงเหมือนกับนายริด และทำให้ได้รับรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 5 ประจำปี 2537 ในสาขาผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้

คุณยายบรรเจิดศรี สมรสกับบุคคลนอกวงการ มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ 1.อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นักเขียนบทละครชื่อดัง และ 2.ดอน พฤกษ์พยุง นักแสดงชาวไทย

รวมทั้งยังเป็นคุณย่าของ แดนดาว พฤกษ์พยุง หรือใช้ชื่อในการแสดงในพรหมลิขิตว่า แดนดาว ยมาภัย โดย ยมาภัย เป็นสกุลก่อนสมรสของคุณยายบรรเจิดศรี และคุณยายบรรเจิดศรีเป็นญาติกับมนฤดี ยมาภัย อดีตนักแสดงชาวไทยด้วย

'รัสเซล โครว์' เยือนไทยอีกครั้ง แวะชิมเมนูดัง 'เจ๊ไฝ' พร้อมอวยยศฉ่ำ “เธอเป็นร็อคสตาร์ตัวจริง”

(8 พ.ย.67) นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง ‘รัสเซล โครว์’ กลับมาไทยอีกครั้ง ไม่พลาดทำหน้าที่ทูตท่องเที่ยว แวะหา ‘เจ๊ไฝ’ ชิมเมนูดัง พร้อมบอ “เธอเป็นร็อคสตาร์ตัวจริง” หยอดคำชมกรุงเทพฯ ฉ่ำ

กลับมาทำหน้าที่เป็นทูตเที่ยวไทยอีกแล้ว สำหรับ 'Russell Crowe' (รัสเซล โครว์) นักแสดงชื่อดังแห่งวงการฮอลลีวูด เจ้าของรางวัลออสการ์ระดับตำนาน ที่ฝากผลงานไว้ให้โลกจดจำมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น Gladiator (2000),A Beautiful Mind (2001), American Gangster (2007), Les Misérables (2012), Proof of Life (2000), The Insider (1999)

หลังเคยเดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ 'The Greatest Beer Run Ever' ที่เมืองไทย ในปี พ.ศ. 2564 และได้โพสต์ภาพต่าง ๆ ในเมืองไทย จนกลายเป็นไวรัลเรียกเสียงฮือฮา ชาวเน็ตแห่แซวว่า เหมือนเป็นทูตด้านการท่องเที่ยว

ล่าสุด นักแสดงคนดัง ก็ได้ออกมาโพสต์ภาพคู่กับ 'เจ๊ไฝ' ในแพลตฟอร์ม X พร้อมบอกว่า
“Popped in to see my friend Jay Fai at her unique and wonderful restaurant.
Crab curry!
Crab omelette!!
If you know, you know.
If you don’t … you should.
She is an absolute rockstar!
Bangkok remains an exhilarating experience. So nice to be back in amazing Thailand !!”

โดยแปลเป็นไทยว่า “แวะมาเยี่ยมเพื่อนของผม เจ๊ไฝ ที่ร้านอาหารอันเป็นเอกลักษณ์และยอดเยี่ยมของเธอ แกงปู! ไข่เจียวปู!! ถ้าใครรู้จัก ก็จะรู้ว่าอร่อยแค่ไหน ถ้าใครยังไม่รู้จัก… ควรต้องมาลอง
เธอเป็นร็อคสตาร์ตัวจริงเลย!

กรุงเทพฯ ยังคงเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น ดีใจมากที่ได้กลับมาเมืองไทยอันน่าทึ่งอีกครั้ง!!”

แน่นอนว่า นี่เป็นการพบกันของสองตำนานจากสองวงการอีกครั้ง ซึ่งการพบกันในครั้งนี้ ก็ทำชาวเน็ต รวมถึงแฟน ๆ เข้ามาคอมเมนต์รอตามรอย 'รัสเซล โครว์' เป็นจำนวนมาก และลุ้นว่าเจ้าตัวจะไปเที่ยวที่ไหน ในประเทศไทยอีกบ้าง จนมียอดชมกว่า 1 แสนครั้ง

9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 สหพันธ์พิทักษ์เด็ก ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณ แด่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วันนี้เมื่อ 43 ปีที่แล้ว ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สหพันธ์พิทักษ์เด็ก (Save The Children Federation) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย รางวัลเกียรติคุณ (First Distinguished Service Award) แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่ ทรงเป็นบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก อันเนื่องมาจากการที่ทรงช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเขมรที่เขาล้าน จ.ตราด และทรงมีพระเมตตาอย่างยิ่งแก่เด็ก ๆ 

สำหรับ พระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองของกัมพูชากับเขมรแดงเมื่อ พ.ศ. 2522 ส่งผลให้เกิดการอพยพของชาวกัมพูชาจำนวนมากสู่ชายแดนไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยร่วมมือกับสภากาชาดสากลในการช่วยเหลือผู้อพยพโดยการจัดตั้ง “ศูนย์ราชการุณย์” บ้านเขาล้าน จังหวัดตราด และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เมื่อพบเห็นสภาพที่ย่ำแย่อย่างยิ่งของผู้อพยพ พระองค์จึงพระราชทานความช่วยเหลือทันที ทั้งพยาบาลสนาม และอาสาสมัครไปช่วยเหลือจัดหาอาหารและยาบรรเทาความเจ็บไข้ พร้อมทั้งพระราชทานครูสอนวิชาชีพแก่ผู้อพยพเพิ่มเติมอีกด้วย โดยทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะช่วยเหลือประชาชนโดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น

10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กลับคืนสู่ไทย หลังถูกลักลอบนำออกนอกประเทศกว่า 30 ปี

วันนี้ เมื่อ 36 ปีก่อน นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทย เมื่อ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังศิลาโบราณวัตถุล้ำค่าของไทย ซึ่งถูกลักลอบนำไปจากปราสาทหินเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเวลาเกือบ 30 ปี กลับคืนสู่ไทยอีกครั้ง 

โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นประติมากรรมศิลาจำหลักบนทับหลังประตูของปรางค์ประธาน ด้านทิศตะวันออกของปราสาทหินพนมรุ้ง โบราณวัตถุชิ้นนี้ มานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์พิเศษ แห่งกรมศิลปากร ได้สำรวจและบันทึกภาพไว้เมื่อ พ.ศ. 2503 ปรากฏว่าทับหลังชิ้นนี้นั้น หักออกเป็นสองท่อน ตกอยู่ที่เชิงประตูปรางค์ประธาน และต่อมาทับหลังทั้งสองชิ้น ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย จนปี พ.ศ. 2508 จึงได้ พบทับหลังชิ้นนี้ขนาด 1 ใน 3 ของด้านขวาที่ร้านขายของเก่าแห่งหนึ่ง กรมศิลปากรจึงได้ยึดมาเก็บรักษาไว้ แล้วนำไปประดับไว้ที่เดิม เมื่อมีการซ่อมปราสาทแต่ยังขาดชิ้นส่วนของทับหลังที่เหลืออีกสองส่วน 

ต่อมาในปี 2515 ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ไปพบทับหลังส่วนที่เหลือซึ่งเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่สถาบันศิลปะชิคาโก (The Art Institute of Chicaco) ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยบังเอิญ จึงแจ้งให้กรมศิลปากรทราบ จนเกิดการเรียกร้อง จนผู้ครอบครองยอมคืนให้ในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top