Monday, 19 May 2025
GoodVoice

‘ธนาคารโลก’ ห่วง!! ฐานะการคลังของประเทศไทย ชี้!! แจกเงินดิจิทัล ดัน GDP แค่ 0.3% แลกหนี้พุ่ง

(22 ก.พ. 68) ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย กุมภาพันธ์ 2568 โดยได้ประเมินเบื้องต้นว่ามาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรอบแรกสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน หรือประมาณ 42% ของประชากรในกลุ่มรายได้ต่ำสุด อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 ได้ประมาณ 0.3% โดยอิงจากตัวคูณทางการคลังที่ 0.4

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้มาพร้อมกับต้นทุนทางการคลังที่สูงถึง 145,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของ GDP

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปีพ.ศ. 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 2.9% ในปีพ.ศ. 2568 (แผนภาพที่ ES 5 และ ตาราง ES 1) โดยมีการฟื้นตัวของการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจแม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ภายในกลางปีพ.ศ. 2568 

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเงินอุดหนุน (ดิจิทัลวอลเล็ต) 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคอาจเผชิญอุปสรรคจากวงจรการลดหนี้และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ในด้านการค้า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม 

สำหรับปีพ.ศ. 2569 คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแตะระดับศักยภาพได้ภายในปีพ.ศ. 2571

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากรายรับของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวและต้นทุนการขนส่งที่ลดลง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 3.6% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2568 ด้วยแรงหนุนจากการค้าภาคบริการ อย่างไรก็ตามดุลการค้าสินค้าคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากอุปสงค์ด้านการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากคู่ค้าหลัก

สำหรับปีพ.ศ. 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็น 0.8% แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการบริโภคและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในทางตรงกันข้าม ราคาพลังงานคาดว่าจะปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลดลง

ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งบริหารงบประมาณ การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็น 3.1% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หลังจากเกิดความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 450,000 ล้านบาทที่รัฐบาลประกาศไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 140,000 ล้านบาทสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของมาตรการและแหล่งเงินทุนโดยรวมภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยังคงไม่ปรากฏอย่างชัดเจน

ธนาคารโลกประเมินว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสามประการ ได้แก่ การตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การฟื้นฟูการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน

โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.8% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP ภายในอีกห้าปีข้างหน้า

แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีความยั่งยืนทางการคลังโดยมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำ (1.0% ของหนี้ทั้งหมด) และมีต้นทุนการระดมทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่แรงกดดันในการใช้จ่ายทางสังคมและการลงทุนของภาครัฐในทุนมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ  และมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อการเติบโต เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้เพิ่มแรงกดดันทางการคลัง ทั้งนี้ข้อเสนอแนะสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มีดังนี้:

• ปรับลดการอุดหนุนพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อการกระจายรายได้ (เช่น ในภาคการขนส่ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันของรัฐขาดดุล โดยควรเปลี่ยนไปเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการโอนเงินแบบมุ่งเป้ามากขึ้นเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

• เพิ่มรายได้จากภาษี ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่ทางการคลัง แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้นถึง 16% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการลดความยากจน เช่น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับลดแรงจูงใจทางภาษีที่ไม่จำเป็น การขยายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี และการนำภาษีคาร์บอนมาใช้

• เร่งการลงทุน การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีใหม่ และทุนมนุษย์ที่สนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคที่ล้าหลังได้ (ดูบทที่ 2 เรื่องนวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง: เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ตอัป และรายงานเศรษฐกิจโลกประจำประเทศไทย มิถุนายน 2567: การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง)

ธนาคารโลก ยังระบุอีกว่า แม้ว่าแนวทางการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินอย่างระมัดระวังจะเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการที่สมดุลระหว่างการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายและการลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อให้น้อยที่สุดควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพทางการเงินก็ยังคงมีความจำเป็น ในระยะต่อไป 

การกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดสำหรับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือหนี้ควรเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การออกจากโครงการในอนาคต (Exit Strategy) เพื่อลดความไม่แน่นอนของเจ้าหนี้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงิน ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการกำกับดูแลที่สำคัญ (Prudential Regulations) อย่างระมัดระวัง

เช่น กรอบการจำแนกความเสี่ยงของสินเชื่อ (Loan Classification Framework) ข้อกำหนดในการจัดสรรเงินสำรอง (Provisioning Requirements) และมาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากล รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนคำจำกัดความหรือการจำแนกประเภทที่อาจบั่นทอนความเข้มแข็งของระบบการกำกับดูแล

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจควรเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปนโยบายระยะยาวและเชิงโครงสร้างโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในภาคการเงิน อาทิการปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Financial Consumer Protection) และการนำกรอบการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending Framework) เช่น การกำหนดขีดจำกัดอัตราส่วนการชำระหนี้ (Debt Service Ratio Limits) และการใช้กรอบการกำกับดูแลเชิงมหภาค (Macroprudential Framework) เป็นต้น

‘มาสด้า’ ประกาศดัน!! โรงงานผลิตในไทย ให้ขึ้นเป็นศูนย์กลาง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เผย!! เตรียมผลิต รถยนต์ไฟฟ้า คอมแพ็คเอสยูวี 100,000 คันต่อปี ส่งออกทั่วโลก

(22 ก.พ. 68) มาสด้าประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ดีลเลอร์ และพันธมิตรทางธุรกิจ

นำทัพโดย มร. มาซาฮิโร โมโร ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น พร้อมด้วย นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย 

ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ครั้งสำคัญสุดในรอบทศวรรษ เพื่อเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน ภายใต้ธีม The Future, Crafted by the Joy of Driving ชูวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ล่าสุด เพื่อส่งมอบความสุขในการขับขี่ตามแนวทาง Multi-solution ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าควบคู่กับแผนเปิดตัวรถยนต์ใหม่ 5 รุ่น ภายใน 3 ปี เชื่อมั่นระบบเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศไทย

ประกาศทุ่มเงินลงทุนอีกกว่า 5,000 ล้านบาท ผลักดันโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ หรือ xEVs นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบในอนาคต โดยทำการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็คเอสยูวี 100,000 คันต่อปี เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก

WHA ประกาศแผน Spin-off WHAID บริษัท Flagship ในธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เตรียมเดินหน้า!! เข้าจดทะเบียนใน ‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ พร้อมมุ่งขยายธุรกิจทั้ง 5 กลุ่ม

(24 ก.พ. 68) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“WHA” หรือ “บริษัทฯ”) แจ้งมติคณะกรรมการบริษัทฯ เดินหน้าแผนเตรียมการออกและเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“WHAID”) ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (“IPO”) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“SET”) โดยจำนวนหุ้นสามัญที่จะเสนอขายในครั้งนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.73 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ซึ่ง บริษัทฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ WHAID โดยจะถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.95 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO)

กลุ่มบริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านแผนการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวสำหรับทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งได้แก่ 

1) ธุรกิจโลจิสติกส์ 

2) ธุรกิจโมบิลิตี้ (ภายใต้แบรนด์ Mobilix) 

3) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 

4) ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน 

5) ธุรกิจดิจิทัล โดยแผนการเสนอขายหุ้น IPO ของ WHAID จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงโอกาสในการสร้างการเติบโตของทุกธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ คณะกรรมการของบริษัทฯ และของ WHAID ยังมีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (“WHAUP”) ผ่านการขายหุ้น WHAUP ในสัดส่วนร้อยละ 10.00 โดย WHAID และบริษัทย่อยของ WHAID ให้แก่ WHA เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความสามารถเชิงกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจของ WHAUP และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นของทั้ง WHA, WHAID และ WHAUP โดยภายหลังการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ WHA และ WHAID จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน WHAUP ที่ร้อยละ 10.00 และร้อยละ 61.59 ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าธุรกรรมการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จก่อนการเสนอขายหุ้น IPO ของ WHAID

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า WHAID ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน WHAID มีนิคมอุตสาหกรรมกว่า 15 แห่ง และมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกว่า 78,500 ไร่ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 13 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 แห่ง (และส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 2 แห่ง) นอกจากนี้ ยังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่และส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่รอการพัฒนาอีกจำนวน 7 โครงการ โดย WHAID ได้มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) อย่างต่อเนื่อง พร้อมเป็นพันธมิตรที่ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจรแก่ลูกค้า

กลุ่มบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจากแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากผู้ลงทุนต่างชาติ โดยทั้งประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ถือเป็นพื้นที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์รวมของห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร อีกทั้งมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค และมีความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัทฯ จึงได้พิจารณาให้ WHAID ซึ่งประกอบธุรกิจหลักในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รองรับการเติบโตของธุรกิจด้วยโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม รวมถึงจะช่วยเพิ่มช่องทางการระดมทุนให้ WHAID สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยตนเองมากขึ้นในอนาคต การระดมทุนของ WHAID ครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงของธุรกิจพัฒนานิคมและที่ดินอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ ในระยะยาว ทั้งจากการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) และการสร้างความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสจากการเติบโตจากภายนอกผ่านการเข้าซื้อกิจการ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ (Inorganic Growth) ในอนาคต

ในการ IPO ของ WHAID ในครั้งนี้ WHAID และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ร่วมเสนอขายหุ้น จะเสนอขายหุ้นสามัญรวมเป็นจำนวนไม่เกิน 970,518,600 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.73 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ WHAID คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 9.09 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) และ 2) หุ้นสามัญเดิมของ WHAID คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 13.64 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ทั้งนี้ ภายหลังการ IPO WHAID ยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะถือหุ้นใน WHAID ทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.95 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการ IPO ทั้งนี้ WHAID ร่วมกับคณะที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อยื่นให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนที่จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นใน WHAUP โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถเชิงกลยุทธ์ของ WHAUP ในการขยายธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้ ทั้งบริษัทฯ และ WHAID เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงของ WHAUP  จะเพิ่มความยืดหยุ่นสำหรับ WHAUP ในกรณีที่จำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต 

การเดินหน้าแผน Spin-off WHAID และปรับโครงสร้างการถือหุ้นใน WHAUP ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ขับเคลื่อนทุกธุรกิจหลักของบริษัทฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยแต่ละธุรกิจจะมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง และสามารถนำเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเดิมของ WHAID ไปสนับสนุนแผนการเติบโตเพื่อสร้างมูลค่าระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายและงบประมาณการลงทุนในระยะ 5 ปี (2568-2572) สำหรับแต่ละธุรกิจ ดังนี้

1) ธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัทฯ มีเป้าหมายภายในปี 2568 ที่จะเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเป็นประมาณ 3,309,000 ตารางเมตร มีโครงการให้เช่าพื้นที่ใหม่ประมาณ 200,000 ตารางเมตร โดยคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปีที่ 19,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมขยายธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งในไทยและเวียดนาม 

2) ธุรกิจโมบิลิตี้ (ภายใต้แบรนด์ Mobilix) ตั้งเป้าหมายให้มีผู้ใช้บริการเช่าแล้ว 1,700 คันภายในปี 2568 และ 20,000 คัน ภายในปี 2572 โดยบริษัทฯ ได้กำหนดงบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 30,000 ล้านบาท ธุรกิจโมบิลิตี้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งในปัจจุบันประกอบไปด้วย 3 บริการหลัก ได้แก่ บริการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV Rental Service) บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (On Premise & Public EV Charging Solution) และโมบิลิกส์ซอฟต์แวร์โซลูชัน (Mobilix Software Solution) ซึ่งตั้งเป้าให้บริการทั้งในกลุ่ม B2B และ B2C  

3) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินเป็นจำนวน 2,350 ไร่ ในปี 2568 และคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 37,000 ล้านบาท โดยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย และการเร่งขยายการเติบโตในประเทศเวียดนาม เพื่อเน้นดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซนเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ คลาวด์เซอร์วิส  

4) ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภค ตั้งเป้าการจำหน่ายน้ำในปี 2568 ที่ 173 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านการขยายธุรกิจน้ำอุตสาหกรรมและบำบัดน้ำเสียทั้งในไทยและเวียดนาม สำหรับธุรกิจพลังงานจะขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนทั้งในไทยและเวียดนาม โดยตั้งเป้าหมายสำหรับปี 2568 ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเป็น 1,185 เมกะวัตต์ โดยคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปีที่ 29,000 ล้านบาท 

5) ธุรกิจดิจิทัล ตั้งเป้าหมายพัฒนา 5 แอปพลิเคชันใหม่ ภายในปี 2568 และคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 4,000 ล้านบาท สำหรับการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ โดยธุรกิจดิจิทัลนั้นเป็นแกนกลางในการช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI และ IoT มาประยุกต์ใช้ในแต่ละธุรกิจภายในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงาน 

สุดท้ายนี้ กลุ่มบริษัทฯ ขอตอกย้ำความมั่นใจ ว่าการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการขยายการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียในทุกส่วน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ “WHA: WE SHAPE THE FUTURE” ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับผู้คน สังคม และประเทศไทยต่อไป

‘SPCG’ ประกาศ!! กำไรสุทธิปี 67 ที่ 746.8 ล้านบาท เตรียมจ่าย!! ปันผลครึ่งปีหลัง 0.70 บาทต่อหุ้น

(24 ก.พ. 68) บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG ประกาศผลการดำเนินงานปี 2567 ทำรายได้จากการขายและการให้บริการ 2,049.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 746.8 ล้านบาท เตรียมจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลัง 0.70 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปีจ่ายปันผลอัตรา 1.20 บาทต่อหุ้น สะท้อนฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง รวมถึงมีอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ มั่นใจศักยภาพการสร้างรายได้และกำไรในอนาคตของโครงการโซลาร์ฟาร์ม แม้สิ้นสุดระยะเวลาได้รับ Adder บริษัทฯ ยังคงได้รับเงินจากการขายไฟตามปกติ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้และผลกำไรอย่างต่อเนื่องจากการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 455.2 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 127.8 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2567 สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งสิ้นจำนวน 372.5 ล้านหน่วย ส่งผลให้มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 2,049.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 746.8 ล้านบาท ชะลอตัวจากปีก่อนที่มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 4,125.6 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,973.9 ล้านบาท เนื่องจากโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 36 แห่ง ได้สิ้นสุดระยะเวลาได้รับรายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 8 บาทต่อหน่วย และรายได้จากธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟ ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ได้รับ Adder แต่โครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีศักยภาพสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง  

จากผลการดำเนินงานปี 2567 ที่สามารถสร้างกำไรอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 จึงพิจารณาจ่ายเงินปันผลอัตรา 1.20 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,266,948,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 14.90% เมื่อเทียบกับราคาหุ้น SPCG ที่ 8.05 บาท ณ สิ้นวันทำการของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 ไปแล้วในอัตรา 0.50 บาทต่อหุ้น คงเหลือที่จะจ่ายเงินปันผลในงวดนี้ 0.70 บาทต่อหุ้น กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 11 มีนาคม 2568 และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568

ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจศักยภาพธุรกิจจะสามารถสร้างรายได้และกำไรอย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบันมีโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการรวม 36 แห่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัดของประเทศไทย อาทิ นครราชสีมา, ขอนแก่น, สกลนคร, นครพนม, บุรีรัมย์ ฯลฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม260 เมกะวัตต์ (MW) รวมถึงยังมีรายได้ธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟสำหรับบ้านพักอาศัย สำนักงาน อาคารธุรกิจขนาดเล็ก-ใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมและอื่น ๆ

“แม้ผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมาชะลอตัวลง แต่บริษัทฯ ยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีอัตราหนี้สินต่อทุน ณ สิ้นปี 2567 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.01 เท่า รวมถึงมีกระแสเงินสดอยู่ในระดับที่ดี สามารถจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอและเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG กล่าว

ดุสิตธานีพลิกกำไร 310 ล้าน ไตรมาส 4 ปี 67 รายได้รวม 6.1 พันล้าน เป้าธุรกิจโรงแรม-อาหารโต 15-25% ปี 68

(26 ก.พ. 68) นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 4 (ตุลาคมถึงธันวาคม) ปี 2567 ของกลุ่มดุสิตธานี บริษัทฯ มีรายได้รวมที่ 6,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1,089 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 310 ล้านบาท พลิกจากที่เคยขาดทุนในงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 146 ล้านบาท (YoY) และจากที่เคยขาดทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ที่ 538 ล้านบาท (QoQ)

สำหรับผลประกอบการงวด 1 ปี (มกราคมถึงธันวาคม) ปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 11,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 โดย EBITDA อยู่ที่ 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.4%  และมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 237 ล้านบาท ลดลงจากผลขาดทุน 570 ล้านบาทในปีก่อน

“ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มดุสิตธานีเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเราสามารถพลิกผลขาดทุนให้กลับมาเป็นกำไรสุทธิได้ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการส่งมอบงานก่อสร้างพื้นที่อาคารค้าปลีก (Bare Shell) ของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค รายได้จากช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงแรมที่มีลูกค้าทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่รับรู้รายได้เต็มไตรมาส หลังจากเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารเติบโตได้อย่างน่าพอใจ จากการขยายตลาดและการเพิ่มลูกค้าใหม่ของบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด (Epicure) และบองชู เบเกอรี่ (Bonjour Bakery)” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานีกล่าว

ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของผลประกอบการในปี 2567 ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของแผนยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน 3 ประการของกลุ่มดุสิตธานี ได้แก่ สร้างสมดุล สร้างการเติบโต และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ทั้งธุรกิจอาหาร รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของดุสิตธานี ทำให้บริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการใช้ประสบการณ์และความสามารถจากธุรกิจหลักในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ลดการพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจโรงแรม และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับกลุ่มดุสิตธานี

สำหรับปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงเวลาปลดล็อคมูลค่าลงทุน ตามแผนกลยุทธ์เพื่อการสร้างความเติบโตในระยะยาว บริษัทฯ จะเดินหน้าพลิกฟื้นธุรกิจให้แข็งแกร่ง โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ แม้ว่า จะยังมีภาระดอกเบี้ยจากการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่เป็นปัจจัยหน่วงที่มีนัยสำคัญก็ตาม ซึ่งในส่วนของธุรกิจโรงแรมนั้น คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้ประมาณ 15-18% จากปี 2567 (ไม่รวมรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ)  โดยจะเน้นการขยายพอร์ตโรงแรมในรูปแบบรับจ้างบริหารจัดการ (Asset-light) เป็นโรงแรมเปิดใหม่ 5-7 แห่ง และคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาบริหารเพิ่ม 12-14 แห่ง

ส่วนธุรกิจอาหารซึ่งยังเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี บริษัทฯ ประมาณการการเติบโตของรายได้ธุรกิจอาหารในปีนี้ไว้ที่ 20-25% โดยมีแผนขยายแฟรนไชส์บองชูเบเกอรี่ เพิ่ม 12-15 สาขา รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่น Green House เพื่อขยายตลาด พร้อมกันนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะนำธุรกิจอาหารเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า จะสามารถขับเคลื่อนมูลค่า โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จากการเปิดให้บริการในส่วนของอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าได้ในครึ่งหลังของปี 2568 และเริ่มทยอยโอนโครงการพักอาศัยดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต พาร์คไซด์ ในช่วงปลายปีนี้ โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 95% ของพื้นที่ขาย

“ปี 2568 เป็นช่วงสุดท้ายของแผนกลยุทธ์เพื่อการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เราแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ปี 2559-2568 ซึ่งตลอดระยะทาง 9 ปีของแผนที่เราวางไว้ เราต้องเจอกับเรื่องไม่คาดคิด รวมถึงปัจจัยท้าทายต่างๆ มากมาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ถือหุ้น รวมถึงความไว้วางใจจากลูกค้าและคู่ค้าของดุสิตธานี ที่พร้อมการให้สนับสนุนเราเสมอ ทำให้วันนี้เราจะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจของกลุ่มให้กลับมาเติบโตได้อย่างน่าพอใจ ในช่วงเวลาหลังจากนี้ที่เราเรียกว่า เป็นช่วงปลดล็อคมูลค่าลงทุน กลุ่มดุสิตธานีจะเดินหน้าสร้างสมดุลของรายได้ระยะสั้นและรายได้ระยะยาวตามแผน เพื่อตอกย้ำความมั่นคงและต่อยอดไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต พร้อมๆ กับการเดินหน้าขยายแบรนด์ 'ดุสิตธานี' ในอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกที่เป็นหมุดหมายใหม่ของเรา” นางศุภจีกล่าว

EEC จับมือ HSBC ดึง FDI 5 แสนล้านบาท ปั้นไทยสู่ศูนย์กลาง 5 อุตสาหกรรมอนาคต

(27 ก.พ.68) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคาร HSBC ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเสริมศักยภาพการลงทุนในพื้นที่ EEC และยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมมูลค่าสูงระดับโลก

ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนระดับนานาชาติ โดยอาศัยเครือข่ายของ HSBC ที่ครอบคลุม 58 ประเทศและเขตดินแดน เชื่อมโยงโอกาสการลงทุนจากจีน ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น พร้อมสนับสนุนโซลูชันทางการเงินและคำปรึกษาครบวงจร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนใน EEC

ความร่วมมือนี้ตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนรวม 5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี โดยเน้น 5 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมสีเขียว BCG และภาคอุตสาหกรรมบริการ

ดร.จุฬา กล่าวว่า "EEC เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ความร่วมมือกับ HSBC ซึ่งมีเครือข่ายและความเชี่ยวชาญระดับโลก จะช่วยเชื่อมโยง EEC เข้ากับองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ กระตุ้นการลงทุนที่มีมูลค่าสูง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในพื้นที่และชุมชน"

HSBC หนุนโรดโชว์ ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก

HSBC จะสนับสนุนกิจกรรมโรดโชว์ในปี 2568 เพื่อประชาสัมพันธ์โอกาสการลงทุนใน EEC ไปยังจีน สิงคโปร์ ยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น ตอกย้ำบทบาทของ EEC ในฐานะจุดหมายสำคัญของการลงทุนระดับโลก

นายจอร์โจ กัมบา ระบุว่า "ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะใน EEC ซึ่งคิดเป็น 78% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ความร่วมมือนี้จะช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ และเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างแข็งแกร่ง"

ข้อมูลจาก HSBC ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจจากจีนสนใจขยายการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนสะสมในไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 สูงถึง 2.75 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ยังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มั่นคงและเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็วเป็นอันดับสองในอาเซียน

‘รัฐบาล’ จะเอาเศรษฐกิจอยู่ไหม ?? คำถาม ที่ต้องการคำตอบ อย่างเร่งด่วน

(2 มี.ค. 68) เศรษฐกิจโลก น่าจะไม่สงบไปอีกพักใหญ่ หลังการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน ประสบความล้มเหลว ล่มไม่เป็นท่า สองผู้นำปะทะคารมดุเดือด ฟากสหรัฐ อยากให้ยุติสงคราม พร้อมให้ยูเครน รับภาระเป็นลูกหนี้ กว่า 500,000 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ ฝ่ายยูเครน ต้องการให้สหรัฐสนับสนุน เพื่อต่อสู้กับรัฐเซีย ต่อ... เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่สงบ ราคาพลังงาน ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 2.00% ถือเป็นข่าวดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ อย่างน้อยการลดดอกเบี้ยนโยบาบ ก็สามารถเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจและประชาชน โดยเฉพาะ SMEs ที่มีหนี้สะสมกว่า 3.15 ล้านล้านบาท จะได้รับผลดีจากการลดดอกเบี้ย ช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินและเพิ่มโอกาสในการขยายกิจการ 

การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณบวกที่ภาคธุรกิจรอคอยอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดและส่งผลดีต่อการส่งออก ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังต้องการการฟื้นตัวและการสนับสนุนจากภาครัฐ

ซึ่งปัจจุบัน สินค้าเกษตรส่งออก โดยเฉพาะข้าวไทย ประสบปัญหา ยอดส่งออกลดลงกว่า 32% ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2568 อินเดียกลับมาเป็นผู้นำในการส่งออกข้าว ประสิทธิภาพในเชิงผลผลิตต่อไร่ ไทยสู้เวียดนามไม่ได้แล้ว 

ตลาดโลกแข่งขันสูง ผลผลิตข้าวไทยลดลงเรื่อยๆ จนสู้คู่แข่งอย่างเวียดนามไม่ได้แล้ว ศักยภาพการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำเวียดนามแซงหน้าไทยไปมากถึง 1.6 เท่า ที่สำคัญประสิทธิภาพในเชิงผลผลิตต่อไร่ เวียดนามก็สร้างผลผลิตต่อไร่ได้ดีกว่า พร้อมกับเตรียมตัวเจออุปสรรคการส่งออก สหรัฐอเมริกา จ่อขึ้นภาษีนำเข้าข้าว และสินค้าเกษตร อีก 10% 

ส่งออกได้ลดลง เพราะ ‘ข้าวไทย ราคาแพงขึ้น’ เหมือนจะเป็นข่าวดี สำหรับ เกษตรกรชาวนาไทย ที่จะลืมตาอ้าปาก มีกิน มีใช้ แต่กลไกข้าวไทยในปัจจุบัน ชาวนาขายข้าวได้ราคาสูง จริงหรือ? หรือแพงขึ้น จากอะไร? และใคร? ที่ได้ประโยชน์จากข้าวแพง กันแน่ !! 

สถานการณ์ตลาดหุ้นไทย (SET) ปรับลงอีก 22 จุด หลุด 1,200 จุด โดยหุ้นใน SET100 แดงเกือบยกแผง นับจากต้นปี SET ร่วงลงมาแล้วเกือบ 190 จุด หรือเศรษฐกิจไทย จะกู่ไม่กลับแล้ว นักลงทุนไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี กังวลการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่จะกระทบต่อการส่งออกสินค้า

‘รัฐบาล’ จะเอาเศรษฐกิจอยู่ไหม ? เป็นคำถาม ที่ต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วน ก่อนที่เศรษฐกิจไทย จะพังทลายมากไปกว่านี้.. 

'อลงกรณ์' ชี้คาร์บอนเครดิตและไบโอเครดิตคือภารกิจที่ท้าทายอนาคตของประเทศไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “คาร์บอนเครดิตและไบโอเครดิต :ภารกิจที่ท้าทายอนาคตของประเทศไทยภายใต้กรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม“เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจจึงเห็นควรนำมาถ่ายทอดผ่านสื่อเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ของสาธารณชน

โดยอดีตรัฐมนตรีอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า

“…ปัญหาโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกและปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัญหาความยั่งยืนของโลกแต่ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ…“

ประเทศไทยประกาศเป้าหมายจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 ภายในปี 2030 และเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมในการลด ก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มอบแนวคิดว่า

“เราชนะธรรมชาติได้บางอย่าง แต่เราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้ทุกอย่าง เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือการเปลี่ยนแปลงและต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วย” 

“เราต้องเปลี่ยนมุมมองของโลก หลายคนมองว่าการบริหารต้องมีมือดีทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน แต่ตนมองว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนอาศัยอยู่ เพราะอย่างไรเราก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม”

จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวจึงนำมาสู่ กรอบภารกิจ 6 ด้าน
1.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2.ด้านทรัพยากรน้ำทั้งระบบ
3.ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขยะ และมลพิษ 
4. ด้านยุทธศาสตร์ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
6.ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยเฉพาะภารกิจสำคัญและเร่งด่วนคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวทุกประเภท 55% ของพื้นที่ประเทศ ในจำนวนนี้เป็น
พื้นที่ป่า 40% ของพื้นที่ประเทศซึ่งเป็นแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ
แบ่งเป็น
1.พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% 
2.พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15%

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ราว 102,353,484 ไร่ หรือ 31.64% ของพื้นที่ประเทศจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 8.36 %หรือ 26.75 ล้านไร่

ป่าชุมชนเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งในการเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนโดยมีป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวนรวม 11,327 โครงการ 13,028 หมู่บ้าน มีเนื้อที่รวม 6,295,718 ไร่
ซึ่งแต่เดิมมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ทรัพยากรของป่าชุมชน5 ประการคือ
1. ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน/พักผ่อนหย่อนใจ
2. เก็บหาของป่า
3. ใช้ประโยชน์จากไม้ เพื่อการยังชีพและสาธารณะประโยชน์
4. ใช้บริการทางนิเวศ เช่น น้ำ
5. ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ส่วนแนวทางการพัฒนาใหม่ในการพัฒนาป่าชุมชน (Community Forest) สู่ป่าคาร์บอน (Carbon Forest)เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนกว่า1.1หมื่นแห่งทุกภาคทั่วประเทศให้เป็น
1.แหล่งอาหารชุมชน (Community Food Bank)
2.แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity Bank)
3.แหล่งคาร์บอน(Carbon Bank)
4.แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(Ecological Tourism)
5.แหล่งผลิตอาหารแบบสมาร์ทฟาร์ม(3F’s: Food Farm Forest)
โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการใหม่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในพื้นที่ด้วยโมเดล3หุ้นส่วน( 3‘P : Public-Private-People Partnership model)ซึ่งถอดบทเรียนจากโครงการสระบุรี แซนด์บ็อกซ์และโค้งตาบางโมเดล

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาป่าชุมชนแนวใหม่นอกจากจะช่วยตอบโจทย์การลดโลกร้อนยังได้ให้ความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพและไบโอ เครดิต

ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำนโยบายและมาตรการระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ สอดคล้องกับมาตรา 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำหนดให้ภาคีจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ระดับชาติ เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ประเมินว่า GDP ของโลก กว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะที่รายงานความยั่งยืน(Sustainability Trends 2024 )ระบุว่า Bio-Credits เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ การเพิ่มจำนวนความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Net Gain) เพื่อก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืน โดยไบโอเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สามารถตรวจสอบปริมาณ คุณภาพ ชนิดพันธุ์ ระบบนิเวศ และที่อยู่อาศัยผ่านการซื้อขายหน่วยความหลากหลายทางชีวภาพได้ ทำให้ทราบถึงการเพิ่มจำนวนของความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน
 
ทั้งนี้ หลายหน่วยงานได้เริ่มมีความสนใจใน Bio-Credits เช่น สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เมื่อปี 2565 ได้ริเริ่มโครงการสำรวจศักยภาพของสินเชื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance) เพื่อปลดล็อกการจัดหาเงินทุนใหม่สำหรับผลลัพธ์เชิงบวกที่วัดได้สำหรับธรรมชาติและผู้ดูแลธรรมชาติ และสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินเชื่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ แต่ก็ยังไม่สามารถทำ Biodiversity Finance ได้เต็มที่ เนื่องจากยังขาดมาตรฐานการออกไบโอเครดิต ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับโลก

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อไบโอเครดิต (Biodiversity Credit Alliance) ขึ้นในปี 2565 โดยมีสมาชิกเป็นองค์กรจากภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร หน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคส่วนอื่นๆ และได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida)

ในส่วนประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) อธิบายถึง Bio-Credits (Biodiversity Credits) หรือ เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ ว่า เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่มีการนำกลไกตลาดมาใช้ในการระดมทุนเพื่อดูแลธรรมชาติและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่โดยมีลักษณะการทำงานที่คล้ายกับคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Credits) ซึ่งเป็นการซื้อ - ขาย ระหว่างผู้ซื้อที่มีความยินดีในการจ่ายเพื่อปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และผู้ขายที่เป็นผู้ลงทุนดำเนินโครงการที่สามารถปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพได้

ซึ่งหลังจากนวัตกรรมของตลาดไบโอเครดิตเกิดขึ้น จะส่งผลให้เกิดการปกป้องหรือฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสามารถนำผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณมาแสดงเพื่อขอใบรับรอง ว่ามีการดำเนินงานที่เกิดขึ้นได้จริง และผู้ผลิตสามารถนำไบโอเครดิตที่อยู่ในใบรับรองไปขายให้ผู้ซื้อที่ยินดีจ่ายเงินได้
 
สถานการณ์ภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย แบ่งได้ดังนี้
1) พรรณไม้ จำนวนทั้งสิ้น 12,050 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามจำนวน 999 ชนิด
2) สัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวนทั้งสิ้น 5,005 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ประกอบด้วย ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 676 ชนิด
3) จุลินทรีย์ก็อยู่ในภาวะถูกคุกคามเช่นกัน

ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังถูกคุกคามและไบโอ เครดิตจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในพื้นที่ทรัพยากรป่าและป่าชุมชนเช่นกรณีตัวอย่าง“ทีมปรับป่าโดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ริเริ่ม โครงการศึกษาความหลากหลาย ขึ้นเพื่อติดตามความสมบูรณ์ของป่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน โดยการเก็บข้อมูลและสำรวจพื้นที่ป่าดอยตุงอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะ อยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีทีมทำงานเก็บข้อมูลที่เรียกว่า 'ทีมปรับป่า' ที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และชุมชนร่วมกันทำงานได้ช่วยต่อยอดภูมิปัญญาของคนบนดอยตุงในการอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลตัวอย่าง

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงของโลก แต่ก็ยังมีภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เกิดจากมนุษย์และภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ ไบโอเครดิตจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อประโยชน์ในการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้คงอยู่เป็นมรดกของลูกหลาน

กล่าวโดยสรุป คือ ปัญหาโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกและปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัญหาความยั่งยืนของโลกแต่ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศโดยมีการกำหนดภาษีคาร์บอนเช่นภาษีระบบCBAMของสหภาพยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยและอีกไม่นานก็จะมีมาตรการทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพเช่นเดียวกับภาษีคาร์บอน 
ดังนั้นคาร์บอน เครดิตและไบโอเครดิต จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายต่ออนาคตความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้บทบาทและความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งขอชื่นชมกรมป่าไม้ที่ได้พัฒนาบุคคลากรให้เกิดความรู้และทักษะในเรื่องคาร์บอน เครดิตและไบโอ เครดิต เป็นประโยชน์ต่อการลดคาร์บอนและเพิ่มความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง

ถนนสาย R11 เชื่อมมิตรภาพ 75 ปี ไทย-ลาว หนุนการค้าการลงทุน - ท่องเที่ยวระหว่าง 2 -ประเทศ

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA เปิดเผยว่า การพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ - บ้านโนนสะหวัน -สานะคาม - บ้านวัง - บ้านน้ำสัง ได้ถูกออกแบบให้เป็นถนน 2 ช่องจราจรตามมาตรฐานทางหลวงอาเซียน โดยเป็นส่วนสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ - เวียงจันทน์ (CVEC) ซึ่งมุ่งเสริมสร้างการเชื่อมโยงและการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว เริ่มต้นเชียงใหม่ - ลำพูน - ลำปาง - แพร่ - อุตรดิตถ์ - ด่านภูดู่ - เมืองสังข์ทอง - เวียงจันทน์ รวมระยะทางในประเทศไทยประมาณ 391 กม. ผ่านเข้าสู่ สปป.ลาว ประมาณ 238 กม. รวมระยะทางตามแนวการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ - เวียงจันทน์ ประมาณ 629 กิโลเมตรเพื่อให้เห็นภาพรวมของแนวการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ - เวียงจันทน์ที่ สพพ. ได้ให้ความช่วยเหลือทำงการเงินสำหรับโครงการแรก คือ 

(1) โครงการก่อสร้างถนนภูดู่ (อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์) ถึง เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ระยะทางรวม 32 กม. ในวงเงิน 718 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนธันวาคม 2555 แล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2557 (2) โครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 ช่วงบ้านตาดทอง-น้ำสัง และเมืองสังข์ทอง ระยะทางรวม 82 กม. ในวงเงิน 1,392 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง เดือนพฤษภาคม 2554 แล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2557 และ (3) โครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ - บ้านโนนสะหวัน - สานะคาม - บ้านวัง -บ้านน้ำสัง ระยะทางรวม 124 กม. ในวงเงิน 1,826.50 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง เดือนตุลาคม 2562 แล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งทั้ง 3 โครงการมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเมืองหลักทรงเศรษฐกิจของไทยและสปป.ลาว รวมถึง เชียงใหม่และเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือของไทยและสปป.ลาว ตำมลำดับถนนสายนี้ เชื่อมจาก ด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นด่านถาวร เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศ ไปยัง แขวงไชยะบุรี เมืองปากลาย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวในลุ่มแม่น้ำโขง ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมืองปากลาย โดยเชื่อมต่อจากด่านภูดู่ถึงเมืองปากลายระยะทาง 32 กม. และต่อไปยังเมืองสังข์ทอง แขวงนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านโครงการถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงบ้านตาดทอง -น้ำสัง และเมืองสังข์ทอง รวมระยะทาง 82 กม.เส้นทางนี้ เป็น Missing Link สุดท้ายที่เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมของระเบียงเศรษฐกิจ CVEC โดยช่วยลดระยะทางกว่า 234 กิโลเมตร จากเส้นทางเดิม (เชียงใหม่-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-ขอนแก่น-หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) ที่มีระยะทางประมาณ 863 กิโลเมตร ทำให้ประหยัดเวลาเดินทางได้มากกว่า 3 ชั่วโมง และมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เส้นทางนี้ ลัดเลาะไปตามแม่น้ำโขง มีทัศนียภาพงดงาม และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในเมืองสานะคาม บ้านวัง และบ้านน้ำสัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของพื้นที่ 1 โดยรวมแล้วการเดินทางจากเชียงใหม่สู่ด่านภูดู่ และเข้าสู่เส้นทาง R11 ผ่านเมืองสังข์ทองไปจนถึงครกข้าวดอ ใช้เวลารวมประมาณ 10 - 11 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพถนนและสภาพอากาศ เส้นทางนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างภาคเหนือของไทยกับนครหลวงเวียงจันทน์ แต่ยังเป็นเส้นทางที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและ สปป.ลาว ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของโครงการ R11. สร้างความเชื่อมโยงเชิงกายภาพระหว่างสองประเทศและอนุภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนและการขนส่งตามแนว CVEC มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้นทำให้ต้นทุนการเดินทางและขนส่งระหว่างกันลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการค้าชายแดน ณ ด่านภูดู่ 2. ส่งเสริมการใช้สินค้า วัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้างของไทย และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น 3. ส่งเสริมการเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและลาว โดยเฉพาะในแขวงไชยะบุรี เมืองปากลาย และแขวงนครหลวงเวียงจันทน์ และเพิ่มโอกาสทางการค้าชายแดนผ่านด่านภูดู่ ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นด่านถาวร 4. สนับสนุนการท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน 5. ลดระยะทางและระยะเวลาการเดินทาง และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญในเส้นทางอาเซียน-จีน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ GMS (Greater Mekong Subregion)

กรุงเทพมหานคร ยึดเบอร์ 2 ของโลก เมืองแห่งอาหารที่ดีที่สุด ประจำปี 2568

แบงค์คอก สตรีทฟู้ด กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเมืองแห่งอาหารอันดับ 2 ของโลก จาก Time Out ชี้จุดแข็งความอร่อยสุดฮิต ดันเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว

(14 มี.ค. 68) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองอาหารที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลกประจำปี 2568 จากนิตยสารระดับโลก Time Out ขยับขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว เป็นรองเพียง นิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา เท่านั้น โดยการสำรวจพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ ติดอันดับสูงขึ้นคือ 'รสชาติที่อร่อย' ตามมาด้วย 'ความสะดวกและรวดเร็ว' ที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอาหารคุณภาพได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านสตรีทฟู้ดริมทางที่พร้อมเสิร์ฟในเวลาไม่กี่นาที หรือบริการเดลิเวอรี่ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเพลิดเพลินกับอาหารจานโปรดได้ทุกที่

กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองแห่งสตรีทฟู้ดระดับโลก มากกว่าการเป็นศูนย์รวมร้านอาหารหรู โดย ‘ย่านเยาวราช’ ยังคงเป็นย่านอาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยเมนูชื่อดังอย่าง ก๋วยจั๊บ ข้าวต้มโต้รุ่ง และเกาลัด รวมถึงบาร์ค็อกเทลที่เปิดให้บริการตลอดคืน ขณะที่ ‘ย่านบรรทัดทอง’ ซึ่งเคยเงียบเหงา ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งรวมสตรีทฟู้ดที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็น ถนนที่ดีที่สุดอันดับ 14 ของโลก จาก Time Out ด้วยเสน่ห์ที่เต็มไปด้วยสีสัน

อย่างไรก็ตาม แม้กรุงเทพฯ จะขึ้นแท่นเป็นเมืองอาหารระดับโลก แต่ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า วงการอาหารไทยยังสามารถเติบโตได้อีก หากร้านอาหารมีการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ในราคาที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ร้านอาหารที่มีนวัตกรรมและนำเสนอเมนูสร้างสรรค์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มร้านพรีเมียมที่มีราคาสูง ขณะที่ร้านระดับกลางที่พัฒนาเมนูใหม่ ๆ ในราคาที่เข้าถึงได้ยังมีไม่มากนัก หากมีการเพิ่มทางเลือกที่สร้างสรรค์และราคาเป็นมิตร จะช่วยให้กรุงเทพฯ ก้าวขึ้นไปอีกระดับในฐานะศูนย์กลางแห่งรสชาติที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักชิมจากทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยสนับสนุนการใช้วัตถุดิบคุณภาพดีในประเทศ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร (Food Hub) ของภูมิภาค อาหารไทยถือเป็น ซอฟต์พาวเวอร์สำคัญ ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ประเทศในเวทีโลก การที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตในหลายมิติ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การส่งออกอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรรม โรงแรม และโลจิสติกส์ ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย” นางสาวศศิกานต์ ระบุ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top