Tuesday, 20 May 2025
GoodVoice

‘พลังงาน’ ยัน กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ชี้ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล จะนำมารวมเต็มกำลังการผลิตไม่ได้

กระทรวงพลังงาน เผยขอยืนยันว่า ปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศหรือ Reserve Margin อยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ไม่ใช่ 50% ตามที่มีการเผยแพร่ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่สามารถนำมานับรวม 100% ได้ เพราะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา และแม้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมากำลังผลิตไฟฟ้าอาจอยู่ในระดับสูงเนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ปัจจุบันก็บริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว

(27 ธ.ค. 67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยที่สูงถึง 50% นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ซึ่งการคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้ 

ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะสูงซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด จึงทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่มีความสอดคล้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่ในปัจจุบันหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจึงไม่ได้สูงถึง 50% ตามที่มีการเผยแพร่

ด้าน  Peak Demand หรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบทั้ง 3 การไฟฟ้า ในปีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. อยู่ที่ 36,792 เมกะวัตต์ ในระยะหลังการเกิด Peak จะเป็นช่วงกลางคืนซึ่งต่างจากในอดีต แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเปลี่ยนไป ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาประมาณ 46,191 เมกะวัตต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงนั้นเพียง 25.5% เท่านั้น

“กระทรวงพลังงาน ขอยืนยันว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ไม่ใช่ 50% ตามที่มีการเผยแพร่ กำลังการผลิตไฟฟ้านั้น ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน จะสามารถนำมาคำนวณกำลังการผลิตได้ 100% แต่หากเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ในวันที่มีแสงแดดปกติจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้แค่ 4-6 ชั่วโมงต่อวันโดยประมาณ ส่วนพลังงานลม พลังงานชีวมวล ก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้ 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ซึ่งได้มีการศึกษาและพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงนโยบายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ดังนั้น แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องพิจารณาให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งต้องพิจารณาถึงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น การคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าจึงต้องคำนวณตามชนิดเชื้อเพลิงและศักยภาพของโรงไฟฟ้าแต่ละโรงที่แท้จริงจึงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และที่สำคัญที่สุด 

แผนการผลิตไฟฟ้านั้น กระทรวงพลังงานได้วางแผนเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมไปพร้อมกับการใช้พลังงานสะอาดที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกในปัจจุบัน นอกจากนั้น ก็ได้เตรียมพร้อมรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้าจาก Data Center ที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในปริมาณที่สูง ซึ่งจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศอีกด้วย” นายวีรพัฒน์ กล่าว

‘คงกระพัน’ ชูวิชั่นปี 68 มุ่งผลักดัน ปตท. ยั่งยืนทุกมิติ ปักหมุดต่อยอดพลังงานสะอาด - ไม่เน้นกำไรระยะสั้น

'คงกระพัน' ชูวิชั่นปี 2568 ดันปตท.ยืนในทุกมิติ ต่อยอดธุรกิจที่มีโอกาส ไม่เน้นกำไรระยะสั้น ตัดใจเลิกธุรกิจที่ไม่ perform มั่นใจก๊าซธรรมชาติ ยังเป็นพลังงานสำคัญ เน้นทำในสิ่งที่ ปตท.ถนัด 

ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ของนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ได้ขับเคลื่อน ปตท.ด้วยวิสัยทัศน์ 'ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' หรือ 'TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD'

กลุ่ม ปตท.ได้พลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง จากการบริหารงาน 7 เดือนของ CEO ปตท.ที่มีการตั้งเป้าหมายการทำงานทั้งกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการของความยั่งยืนอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ทั้งนี้ ปตท.ถือเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลที่ดีมีธรรมาภิบาลตาม Vision ปี 2568 สู่เป้าหมายเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน

นายคงกระพัน ได้ให้แนวคิดการบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย "บริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ” ดังนั้น การที่องค์กรจะดำเนินไปได้ ธุรกิจจึงต้องมีกำไร ซึ่งจะต้องเป็นกำไรที่เหมาะสมและยั่งยืน ไม่เน้นกำไรระยะสั้น รวมถึงธุรกิจต้องเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ช่วยสังคมไทย ผู้ประกอบการ SME และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ส่วนการลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ จากสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ปตท. จะต้องมีความคล่องตัว มี Agility ธุรกิจใดที่ดี ต้องเร่งต่อยอดขยายผล แต่หากธุรกิจใดที่เคยดี หรือไม่ perform แล้ว ก็ต้องมีความกล้าที่ออกจากธุรกิจอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว

นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน การทำธุรกิจและการบริหารจัดการต้องโปร่งใส ทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญมาก ๆ คือ “บุคลากร” ซึ่ง ปตท.มีบุคลากรที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ต้องสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือร่วมใจพาองค์กรก้าวผ่านทุกความท้าทาย สร้างโอกาสที่ดียิ่งขึ้นเพื่อส่งต่อให้ "ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม จากภารกิจ ปตท.ยังคงมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน บริหารต้นทุนราคาที่เป็นธรรมตามนโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน พร้อมเดินหน้าในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องเพื่อรับกับเมกะเทรนด์โลก

'คงกระพัน' เปิดวิชั่น 2568
นายคงกระพัน กล่าวว่า Vision for Opportunity 2025 ของกลุ่ม ปตท. (PTT Group Direction and Strategy) โดยจะเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ.2593

ดังนั้น ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศถือเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเตรียมความพร้อม และพัฒนาด้วยการนำนวัตกรรม และองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยมีความมั่นคงยิ่งขึ้นไป รองรับการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ

“ปตท.ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานคนไทย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานที่สะอาดมากขึ้น สิ่งสำคัญจะต้องสมดุลระหว่างด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะประเทศไทยยังต้องสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ราบรื่นจะต้องบาลานซ์ทั้ง 3 องคาพยพ”

จากการที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีจำนวนประชากรเกือบ 700 ล้านคน ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม โดยผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ของอาเซียนมีขนาดใหญ่ถึง 6% ของโลก สามารถดึงดูดการลงทุนได้ดีเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าโลกต้องมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด

ชี้ก๊าซยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ดังนั้น เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ยังคงเป็นพลังงานที่สำคัญ ส่วนถ่านหินและน้ำมันจะต้องค่อย ๆ ลดปริมาณลงเพราะมีการปล่อยคาร์บอนสูงกว่าก๊าซฯ 

อีกทั้ง แหล่งก๊าซฯ ที่มีมูลค่ามหาศาลที่สำคัญล้วนมีจำนวนมากในบริเวณอ่าวไทย ดังนั้น กลุ่มอาเซียน ทั้งประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมา ต่างล้วนได้รับประโยชน์ในสินทรัพย์ใต้ท้องทะเลนี้

นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียนในอนาคตที่จะมีมากขึ้นทั้งโซลาร์ ลม และน้ำ ยังคงต้องใช้เวลา โดยประเทศในอาเซียน ยังคงพึ่งพาก๊าซฯ ซึ่งในเอเชียแปซิฟิกยังเป็นแหล่งที่การผลิตยังต่ำกว่าความต้องการ จึงต้องนำเข้าก๊าซฯ ปริมาณมาก ทั้ง ๆ ที่ในอ่าวไทยยังมีใช้เพราะเป็นพลังงานที่ใช้ได้สะดวก โดยประเทศไทยพึ่งพาก๊าซฯ ในอ่าวไทย 50% และนำเข้า LNG และก๊าซฯ ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉลี่ยอีก 50%

“รัฐบาลได้พยายามผลักดันเจรจาการนำทรัพยากรจากพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา หรือ OCA (Overlapping Claims Area) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาและใช้มาแล้วกับมาเลเซีย ซึ่งตอนร่วมผลิตไม่สามารถตกลงในเรื่องเขตแดน จึงใช้วิธีร่วมใช้ทรัพยากรมาพัฒนาสร้างเศรษฐกิจความเจริญให้ประเทศได้”

เดินหน้ากักเก็บคาร์บอน-ไฮโดรเจน
ทั้งนี้ จากการนำก๊าซฯ มาผลิตไฟฟ้าจะถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดที่สุดตัวหนึ่งแต่ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอยู่ จึงต้องทำในเรื่องของการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน กลุ่ม ปตท. จะดำเนินควบคู่ใน 2 วิธี คือ การพัฒนาโครงการการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในกลุ่มอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) สัดส่วน 5% รวมถึงการปลูกป่า เป็นต้น

“เทคโนโลยี CCS เป็นการเอาคาร์บอนในอากาศมาเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลวเพื่อเก็บไว้ใต้ดินหรือใต้ทะเลจะช่วยลดโลกร้อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยี CCS มานานแล้ว ส่วนไฮโดรเจนทั่วโลกตื่นตัวมากระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนามาใช้มากมายประเทศไทยจึงหลีกเลี่ยงใน 2 เรื่องนี้ไม่ได้หากจะมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065"

การที่ประเทศไทยต้องนำเข้าทั้งก๊าซฯ 50% และน้ำมันกว่า 90% และด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ปตท. จึงมีวิชั่น “แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” อีกทั้ง ปตท.เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงต้องสร้างความแข็งแรงและผลกำไร สร้างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ยึดกลยุทธ์ทำในสิ่งที่ ปตท.ถนัด
ทั้งนี้ จากการเติบโตของ ปตท.จะทำในสิ่งที่ตนเองถนัดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ผ่าน C3 คือ 

1. ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate-Reilience Business 2. ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business 3. การร่วมมือ การสร้างสรรค์ เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All

“เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจจึงต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน โดยการยกระดับ Operation & Efficiency ด้วยการนำเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI มาประยุกต์ใช้" 

อีกทั้งต้องทำ Lean Organization ร่วมกับ Digital Transformation ซึ่งต้องเริ่มในวันที่องค์กรยังแข็งแรง เพื่อให้เกิดการยอมรับในทุกระดับ และต้องสร้างความเข้มแข็งด้านวัฒนธรรมองค์กร (Culture) สร้างความตระหนัก ปลูกฝังให้พนักงานกล้าที่จะปรับ และพร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท.ต้องปรับตัว มีความคล่องตัว และมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมมุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไป”

รวมผลงานเด่นปี 67 ‘เอกนัฏ’ ขับเคลื่อนกระทรวงอุตฯ “ปลดล็อคโซลาร์รูฟ – ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา – เซฟยานยนต์ไทย”

(30 ธ.ค. 67) รวมผลงานเด่นปี 67 “เอกนัฏ” ขับเคลื่อนกระทรวงอุตฯ “ปลดล็อคโซลาร์รูฟ-ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา-เซฟยานยนต์ไทย” โดนใจประชาชน

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลงานกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 5 เรื่องสำคัญ คือ 1) ปลดล็อก "โซลารูฟท็อป" ไม่ต้องขอนุญาตโรงงาน 2) ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา 3) เซฟยานยนต์ไทย 4) จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ 525 ล้านบาท ดูแลชุมชนรอบเหมือง 5) เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ พร้อมชูแผนงาน พร้อมชูการดำเนินงานในปี 2568 เดินเครื่องเต็มกำลังผ่าน 4 เรื่อง คือ 1) สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“ เป็นครั้งแรก 2) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม 3) ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 4) แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ 

สำหรับผลงานเรื่องแรก : ปลดล็อก "โซลารูฟท็อป" ไม่ต้องขออนุญาตโรงงาน โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ครม. มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ...) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลารูฟท็อปทุกกำลังการผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานและไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งการปลดล็อกจะช่วยอำนวยความสะดวก ลดความยุ่งยาก และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอกชนรายย่อยให้สามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าสะอาดจากพลังแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองต่อเทรนด์การค้าโลกในอนาคตและช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น

เรื่องที่สอง : ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา แจ้งมาจับจริง ไม่กลัวอิทธิพล ปราบโรงงานไร้ความรับผิดชอบ กากของเสีย สินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดย อก. ได้บูรณาการกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เปิด “ปฏิบัติการตรวจสุดซอย”ต่อเนื่อง ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง ที่มีกว่า 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยได้เดินหน้าตรวจตั้งแต่ พ.ย. - ธ.ค. 67 กว่า 13 จังหวัด อาทิ 1) โรงงานในเขตฟรีโซนลอบเปิดกิจการ จ.ฉะเชิงเทรา 2) โรงงานผิดกฎหมายเถื่อน จ.ปราจีนบุรี 3) โรงงานลอบเปิดกิจการ จ.ปราจีนบุรี 4) โรงงานสายไฟไม่ได้มาตรฐาน จ.สมุทรสาคร 5) จับสินค้าไร้ มอก. จ.สมุทรปราการ 6) โรงงานลักลอบฝังกลบโลหะหนัก จ.ลพบุรี 7) โรงงานเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐาน จ.ชลบุรี 8) สั่งหยุดโรงงานไฟไหม้ จ.ระยอง 9) โรงงานผลิตสายไฟไม่ตรงมาตรฐาน จ.อยุธยา 10) โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผา จ.ลพบุรี 11) โรงงานน้ำตาลค่ามลพิษทางอากาศ จ.ชัยภูมิ, มุกดาหาร และกาฬสินธุ์   และยังได้ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด “เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี” โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ สู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชน สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง” ปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ

เรื่องที่สาม : เซฟยานยนต์ไทย จากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ญี่ปุ่น อก. ให้ความสำคัญกับการฟื้นความเชื่อมั่น จึงได้เดินทางโรดโชว์คุยระดับทวิภาคีกับ 6 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่น และได้รับสัญญานบวกในการรักษาฐานการผลิตยานยนต์ในไทยและการลงทุนเพิ่ม ต่อยอด ด้วยเม็ดเงินกว่า 1.2 แสนล้าน และยืนยันสนับสนุนมาตรการส่งเสริมที่เป็นธรรมทั้งทางภาษี และสิทธิประโยชน์ทั้งค่ายรถยนต์สันดาป ICE รถยนต์ไฟฟ้า EV และ XEV พร้อมส่งเสริมให้ใช้ Part Localization ชิ้นส่วนสำคัญให้ผลิตในไทย เพื่อรักษา Supplier และแรงงานคนไทยในระบบ กว่า 4.45 แสนคน ให้มีงานมีรายได้ต่อไป ซึ่งเป็นวาระสำคัญ จึงมั่นใจได้ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า 2568 จะมีการฟื้นตัวอย่างมีสมดุลยภาพขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร ได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่าโตโยต้าจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในไทยและจะนำเม็ดเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุน เพื่ออัปเกรดสายการผลิตไปสู่รถไฮบริด ซึ่งจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตของเครื่องยนต์สันดาปภายใน จะมีเพิ่มเติมในชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ เกียร์ มีการลงทุนเพิ่มซึ่งมีการจ้างงาน ส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาบุคลากรให้มีการเดินหน้าต่อ และโตโยต้าฯ ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลไทยส่งเสริมภาคการผลิต การส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

เรื่องที่สี่ : จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ ที่ได้จากผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ได้รับสิทธิในการสำรวจแร่หรือการทำเหมือง มูลค่ากว่า 525 ล้านบาท มอบให้ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในละแวกพื้นที่การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ จำนวน 187 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้นำไปดูแลชุมชนรอบเหมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “เหมืองแร่เพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม สังคมและชุมชนให้เติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยกรมอุตสาหกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้จัดสรร “เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ”  มูลค่ารวมกว่า 525 ล้านบาท ให้แก่   จ.สระบุรี 248 ล้านบาท จ.ลำปาง 41 ล้านบาท จ.นครราชสีมา 19 ล้านบาท จ.สุพรรณบุรี 19 ล้านบาท จ.ชลบุรี 16 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช 14 ล้านบาท จ.ราชบุรี 11 ล้านบาท เป็นต้น  นอกจากนี้ในปี 2568 กพร. ยังมีแผนที่จะจัดสรรเงินกระจายสู่ชุมชนอื่นที่อยู่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถจัดสรรเงินได้ปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเร่งให้ชุมชนได้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย กพร. มีแนวทางในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องจากกิจการเหมืองแร่ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งแร่ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการด้วยความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว เพื่อมอบรางวัลให้กับเหมืองแร่ดีเด่นที่สามารถรักษามาตรฐานการประกอบการเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าด้วย

เรื่องที่ห้า : เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหาร การบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดมุสลิมที่มีประชากรจำนวนมาก มีแนวโน้มการบริโภคที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการตรวจการรับรองฮาลาล รวมทั้งการบริการที่ต้องมีกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามและสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลตามมติคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 ผ่านกิจกรรม "เรียนแล้ว รับรองได้ ลงทุนง่าย ขายส่งออกเป็น" ภายใต้แนวคิด สานพลังแหล่งเงินทุน รวมพลัง 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมการทดสอบและการรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศให้มีศักยภาพ สามารถเติบโต และแข่งขันสู่สากลได้อย่างยั่งยืน

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนการดำเนินงานในปี 2568 ของ อก. เดินหน้า 4 เรื่อง คือ เรื่องแรก : สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และ มาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก อก.ได้ออกคำสั่งให้โรงงานนํ้าตาล 57 โรง ทั่วประเทศ หยุดรับอ้อย 7 วัน ตั้งแต่เมื่อวานนี้ 27 ธ.ค. 2567 จนถึงวันที่ 2 ม.ค.2568 เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้เที่ยวพักผ่อนในช่วงเทศกาลปีใหม่ แบบไร้ฝุ่นควันที่เกิดจากการลักลอบเผาอ้อย และงดการบรรทุกขนส่งอ้อยบนท้องถนน เพื่อการสัญจรอย่างปลอดภัย เพื่อช่วยส่งคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกท่านเป็นของขวัญในช่วงปีใหม่ รวมถึงมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก โดยเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยในอัตรา 300 บาทต่อตันใบและยอดอ้อย หรือเท่ากับ 51 บาทต่อตันอ้อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดสาเหตการเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่

เรื่องที่สอง : ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม อก. กำหนดนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ผ่านมาตรการสำคัญในการจัดการกากอุตสาหกรรม น้ำเสีย อากาศที่เป็นพิษเกิดจากการประกอบการอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อประชาชน การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME รวมทั้งสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นปรับปรุงกฎหมายทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ และได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม" ในระยะเริ่มแรกได้ยกร่างกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะ รวมทั้งจัดตั้งและรวบรวมกองทุนใน อก. ให้อยู่ในกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองรับภารกิจที่เกิดขึ้นใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพของภารกิจที่มีอยู่เดิม ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ....” ซึ่งมีเนื้อหาในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ครอบคลุมกากอุตสาหกรรมจากสถานประกอบการอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากรถยนต์ โดยได้นำสภาพปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม   ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาถอดบทเรียนและพัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อให้ระบบจัดการกับผู้ประกอบกิจการที่กระทำผิดกฎหมาย ไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมและประชาชน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนที่ชื่อว่า “กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน” ในร่างกฎหมายมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมทั้งการสนับสนุนและเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นแหล่งเงินทุน การร่วมทุนกับวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ แก้ไขปัญหาเยียวยา ชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม รองรับภารกิจในการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ การสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจให้กับภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและการปรับปรุงเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จำเป็นต้องย้ายพื้นที่ไปประกอบการในบริเวณที่เหมาะสม ทั้งนี้การปรับปรุงทุกองคาพยพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งเน้นการสร้างให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง โดยปัจจุบันการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะสามารถเป็นเครื่องมือที่จะจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานทั้งหมดจะนำไปสู่การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติอุตสาหกรรม พ.ศ... ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในปี 2568 อก. จะได้นำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ ครม.พิจารณาและนำเสนอรัฐสภาเพื่อให้มีผลใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

เรื่องที่สาม : ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จากสถานการณ์การทะลักเข้ามาของสินค้าข้ามชาติราคาถูก แต่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เป็นอันตรายกับประชาชนผู้ใช้งาน กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม (INDX)” โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการฯ โดยผลการศึกษาพบว่า ระบบ AI: Artificial Intelligence จะสามารถเพิ่มการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นโดยประมาณการที่ 100,000 รายการ/วัน จากเดิมใช้กำลังคนตรวจที่ 1,600 รายการ/วัน โดยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนอย่างสายไฟ-ปลั๊กพ่วง และหมวกกันน๊อคไม่ได้มาตรฐานจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เร่งให้ความสำคัญก่อน ความคืบหน้าของการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ได้มีแนวทางวิธีการดำเนินการของ สำนักวานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการตรวจจับ ใช้ “คน” ในการตรวจสอบการกระทำความผิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และมีเสนอแนะเพิ่มเติมให้ใช้ “AI” ในการตรวจจับ Keyword (ชื่อ/รีวิว) ภาพลักษณะของผลิตภัณฑ์ (ต้นแบบ) ตรวจสอบกับฐานข้อมูล ผู้รับใบอนุญาต / มาตรฐาน มอก. / พิจารณาขอบข่ายเบื้อง ส่วนด้านกฎหมายใช้ “คน” ในการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดี นอกจากนี้ยังได้เตรียมวางแนวทางการนำเทคโนโลยี AI มาตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 

เรื่องที่สี่ : แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ โดยความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผสานเทคโนโลยี TRAFFY FONDUE นี้ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเรื่องร้องเรียนจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ รวมถึงติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตประทานบัตร และการขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SME โดยมีการแบ่งการใช้งานให้เหมาะสมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งติดตามสถานะคำขอต่าง ๆ 2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเน้นการตรวจสอบและอนุมัติคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงติดตามคำร้องที่ยื่นผ่านระบบ 3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะดูแลการขอรับสินเชื่อและการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านอุตสาหกรรม 4) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะรับผิดชอบการตรวจสอบและติดตามการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ระบบ Dashboard ซึ่งสามารถแสดงสถานะข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทั้งในภาพรวมระดับกระทรวงและแยกย่อยไปยังแต่ละหน่วยงาน ช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะคำร้องหรือบริการที่ต้องการได้อย่างโปร่งใส สะดวก และรวดเร็ว และระบบยังรองรับการจัดการข้อมูลแบบครบวงจร ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผลักดันการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

‘อ.สุวินัย’ ย้ำ ทุนสำรองฯ มีไว้เพื่อความมั่นคงทางการเงิน หลังฝ่ายการเมืองส่อใช้ทำนโยบายประชานิยมสร้างคะแนนเสียง

(3 ม.ค.68) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ทุนสำรองเงินตราฯ เป็นของประชาชน : นักการเมืองห้ามแตะ! มีเนื้อหาดังนี้

ถ้าดูในงบดุลของธนาคารกลางในด้านทรัพย์สินจะประกอบด้วย เงินตราระหว่างประเทศ ทองคำ และพันธบัตรรัฐบาล เป็นทรัพย์สินหลัก ขณะที่หนี้สินหลักคือปริมาณเงินที่เศรษฐกิจใช้อยู่

เงินตราต่างประเทศนี้มาจากการค้าขายระหว่างประเทศ ถ้าขายสินค้า/บริการ(ส่งออก)มากกว่านำเข้าหรือซื้อสินค้า/บริการจากต่างประเทศ ประเทศไทยจะมีส่วนเกินเป็นเงินตราระหว่างประเทศที่ปราศจากพันธะผูกพันไม่ต้องจ่ายให้ใครอีก

เงินตราต่างประเทศส่วนนี้จึงถูกนำเข้ามาบันทึกไว้ในบัญชี ทุนสำรองเงินตราต่างระหว่างประเทศเพื่อเอาไว้ใช้ออกเงินอันเป็นหนี้สินของธนาคารกลางอีกด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องนำสินทรัพย์ต่างประเทศมูลค่าเท่ากับธนบัตรที่จะออกใช้ใหม่เก็บแยกไว้หนุนหลังธนบัตร ดังที่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ. เงินตรา ระบุไว้ว่า

“เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตราให้ ธปท. รักษาทุนสำรองเงินตราไว้กองหนึ่งเรียกว่า ทุนสำรองเงินตรา”

เหตุสำคัญก็เพราะเมื่อขายสินค้า/บริการได้เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เก็บเอาไว้ที่บัญชีทุนสำรองเงินตราฯ และแลกเปลี่ยนจ่ายเป็นเงิน 32 บาทให้ ทุนสำรองเงินตราฯนี้จึงเป็นต้นทางของการเพิ่ม/ลดเงินบาทในระบบเศรษฐกิจไทย

ถ้านับจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเมื่อปี พ.ศ.2540 ที่เราสูญเสียทุนสำรองเงินตราฯนี้ไปเกือบเกลี้ยง คนไทยจึงแก้ไขปัญหา ยอมออมด้วยการซื้อสินค้า/บริการน้อยกว่าที่ขายได้ ทำให้มีเงินตราต่างประเทศสะสมในปัจจุบันถึงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของทรัพย์สินรวมในงบดุลธนาคารกลางทั้งหมด ส่วนที่เหลือคือทองคำและพันธบัตรรัฐบาล

เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของคนไทยโดยแท้ที่ทำให้เงินทุนส่วนนี้งอกเงยขึ้นมา

ดังนั้นทุนสำรองเงินตราฯนี้จึงมิใช่เป็นทรัพย์สินของทางการแต่อย่างใดไม่

เพียงแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล และหาใช่นักการเมืองคนใดจะมาอวดอ้างว่าเป็นผลงานของตนเองไม่

การเกินดุลการค้าและเกินดุลบริการ เช่น การท่องเที่ยว หรือ การไปทำงานต่างประเทศจึงเป็นต้นทางที่มาของเงินตราต่างประเทศที่มั่นคง

ส่วนการกู้ยืมเงินหรือนำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นแม้จะเป็นการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเช่นกันแต่มันสร้างความผันผวนเสียมากกว่าจากที่ต้องส่งคืนเมื่อครบกำหนดกู้ยืมและจากการเก็งกำไร

● ทำไมต้องเก็บเอาไว้ และเก็บเอาไว้มากเกินไปหรือไม่?

แม้ว่าในปัจจุบันเราจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองเงินตราฯเอาไว้แทรกแซงเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มันคงที่เหมือนเมื่อก่อนปีพ.ศ.2540 ที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ แต่การมีเงินทุนสำรองฯเอาไว้มันช่วยสร้างความมั่นคงให้ประเทศได้

มันทำให้คู่ค้าหรือนักลงทุนจะมั่นใจได้ว่าเมื่อขายสินค้าหรือนำเงินลงทุนเข้ามาแล้วจะมีเงินตราต่างประเทศเอาไว้พอเพียงชำระค่าสินค้าหรือให้แลกคืนเมื่อเสร็จสิ้นธุรกรรม

ใครก็อยากค้าขายหรืออยากมาลงทุนด้วย มันดีและได้ผลมากกว่าเอานายกฯคนใดไป โฆษณา “โชว์ตัว” เสียอีก

ทุนสำรองเงินตราฯจึงมิใช่ทรัพย์สินทางราชการที่นักการเมืองแม้จะชนะเลือกตั้งจะมาอ้างว่าตนเองมีอำนาจจัดการได้

เพราะแม้แต่สัก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ นักการเมืองก็มิได้หามาแต่อย่างใด

ขณะนี้ฝ่ายการเมืองกำลัง 'หน้ามืด' อับจนปัญญาหาเงินมาทำนโยบายประชานิยม “แจกเงิน(คนอื่น) ซื้อเสียง(เพื่อตนเอง)” เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

เมื่อไม่กล้าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุนสำรองเงินตราฯนี้จึงถูกมองเป็นแหล่งเงินสำคัญที่สามารถนำมาใช้สนองเป้าหมายชนะเลือกตั้งด้วยนโยบายประชานิยม

ดังนั้นหากสามารถบังคับให้ธนาคารกลางกู้ยืมกับรัฐบาลด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล มันจะส่งผลถึงค่าเงินบาทและความมั่นใจของคู่ค้า/ผู้ลงทุน

เพราะหากในด้านทรัพย์สินธนาคารกลางมีพันธบัตรรัฐบาลไทย (ที่แสดงอำนาจซื้อของเจ้าหนี้ผู้ถือภายในรัฐไทย) เป็นองค์ประกอบสำคัญแทนที่จะเป็นเงินตราต่างประเทศที่เป็นตัวแทนอำนาจซื้อของรัฐไทยในต่างแดน สถานะสัดส่วนพันธบัตรที่มีมากในงบดุลจะตรงกันข้ามกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การโยนหินถามทางว่าจะเอาเงินทุนสำรองฯนี้มาใช้หรือพยายามส่งคนที่มีประวัติเสียเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารในธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำเงินก้อนนี้มาใช้จึงเป็นก้าวย่างสำคัญของหายนะ เฉกเช่นในประเทศที่ล้มเหลวทางด้านการคลังและลามที่ภาคการเงิน เช่น อาร์เจนติน่า หรือ เวเนซูเอลา

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนเสียภาษีต้องออกมาเรียกร้อง “ไม่ยื่นแบบ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง” เพื่อแก้ไขที่ต้นตอ ไม่ให้นักการเมืองใช้นโยบายประชานิยมมาหาเสียงเข้าสภา

‘จีน’ ส่ง BYD ตีชนะ!! Tesla ‘เวียดนาม’ เดินหน้า พัฒนาอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ‘รัฐบาลไทย’ มุ่งสร้าง!! ฐานประชานิยม เน้นแค่หาเสียง เพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาล

(5 ม.ค. 68) ข่าวส่งท้ายปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการเปิดเผยของ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง (24 ธ.ค.2567)

ซึ่งคงต้องมีการสรรหากันใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2568

แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่จะเข้าไปแทรกแซงการกำหนดนโยบายทางการเงิน การคลัง รวมทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศ ก็คงซาไปอีกระยะ จนกว่าจะมีการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหากันอีกครั้ง

และข่าวเริ่มต้นปีมะเส็ง 2568 กับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

ตามด้วยข่าว รัฐบาลเวียดนามเสนอเงินอุดหนุน 50% ของมูลค่าลงทุนให้กับโครงการวิจัยและพัฒนาหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โครงการที่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนดังกล่าวซึ่งระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2024 จะต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านล้านดอง (4.07 พันล้านบาท), ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem), ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำ และผู้พัฒนาโครงการจะต้องไม่มีภาษีค้างชำระหรือหนี้กับรัฐบาล โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องชำระทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอง (1.35 พันล้านบาท) ภายใน 3 ปีนับจากได้รับการอนุมัติการลงทุน

รัฐบาลเวียดนาม ยังคงเดินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุน ในส่วนโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของประเทศ ที่มั่นคง ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา การลงทุนในสินทรัพย์ การผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก

หันกลับมาดูการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย กลับเป็นนโยบายประชานิยม ที่แทบจะสร้างฐานสำหรับอนาคตของประเทศไม่ได้ ซ้ำยังส่งผลเสียต่อวินัยทางการเงินของประชาชนไปเรื่อยๆ เน้นแค่หาเสียงเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไป 

มารอดูกันต่อว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ที่มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน ที่เหมือนต้องแบกการใช้จ่ายงบประมาณ ไปกับนโยบายประชานิยม จะทนต่อได้มากน้อยแค่ไหน หากคนกลุ่มนี้เริ่มส่งเสียง เก้าอี้รัฐบาล จะเริ่มสั่นคลอน ... สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ 

‘ซิกเว่ เบรกเก้’ คัมแบคธุรกิจโทรคมนาคมไทย นั่งแท่น ปธ.บอร์ด กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือซีพี

ซีพี ตั้ง ‘ซิกเว่ เบรกเก้’ นักธุรกิจระดับโลกจากนอร์เวย์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง 'ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์'

(9 ม.ค. 2568) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  เปิดเผยว่า การเข้ามาของ นายซิกเว่ เบรกเก้ ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเครือซีพี  ซึ่งมั่นใจว่าด้วยวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของนายซิกเว่ จะสามารถนำพาเครือซีพีก้าวสู่การเป็น Technology Company ชั้นนำระดับโลก ที่พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ สังคม และประเทศชาติในทุกมิติ ทั้งนี้ บทบาทและความรับผิดชอบของนายซิกเว่ในตำแหน่งสำคัญนี้ จะครอบคลุมถึงการดูแลรับผิดชอบธุรกิจที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุน เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีโทรคมนาคม ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจด้านการเงินดิจิทัล เป็นต้น

“ซีพีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า คุณซิกเว่ เบรกเก้ จะเข้ามาเป็นผู้นำคนสำคัญของเรา โดยดูแลรับผิดชอบด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล ผมรู้จักคุณซิกเว่มาหลายปีแล้ว มั่นใจว่าคุณซิกเว่มีประสบการณ์ระดับโลกในด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล” ซีอีโอ เครือซีพี กล่าว

ทั้งนี้ เครือซีพีมีความเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่กว้างขวางในวงการเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารระดับโลกของนายซิกเว่ รวมถึงการเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กรใหญ่ด้วยนวัตกรรมและกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นอนาคต โดยตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมานายซิกเว่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบริหารโครงการระดับโลก และการสร้างพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนส่งเสริมความก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายประเทศ

ด้าน นายซิกเว่ เบรกเก้ กล่าวว่า “เครือซีพีได้สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้นำระดับภูมิภาคด้านการเชื่อมต่อ โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมดิจิทัล และบริการทางการเงินมายาวนานกว่า 20 ปี ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่คุณศุภชัยเชิญให้มาร่วมพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัลในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญต่อผู้บริโภค องค์กร และสังคม ผมตั้งตารอที่จะได้กลับมาทำงานในประเทศไทยและร่วมเดินหน้ากับทีมงานของเครือซีพี”

นอกจากนี้ นายซิกเว่ ได้กล่าวย้ำต่อไปว่า “เครือซีพี ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผมเชื่อว่าด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ผนวกกับศักยภาพของบุคลากรในเครือซีพี เราจะสามารถผลักดันประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคได้อย่างแน่นอน”

อนึ่ง นายซิกเว่ เบรกเก้ เคยดำรงตำแหน่งประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลนอร์กรุ๊ปเป็นเวลา 9 ปี จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2024 ก่อนหน้านี้ เขาเคยดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารและหัวหน้าภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคในประเทศไทย และเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของบริษัทต่าง ๆ หลายแห่งในกลุ่มเทเลนอร์ ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกคณะกรรมการของ GSMA ตั้งแต่ปี 2017 ถึงปี 2024 การเข้ามาของนายซิกเว่ในเครือซีพีถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลยุทธ์ของเครือซีพีในการลงทุนด้านโทรคมนาคม และการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมนวัตกรรม และการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทย ที่พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติ

ต้นตำรับไก่ทอดเกาหลี เปิดสาขาแรกสยามสเคป ราคาน่าคบ เจาะกลุ่ม Gen Y-Z ตั้งเป้า 3 ปีขยาย 20 สาขา

(10 ม.ค.68) ร้านไก่ทอดเกาหลีชื่อดัง Pelicana (เพลิคาน่า) ต้นตำหรับไก่ทอดเกาหลีที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1982 จากเมืองแกยอง ที่มีกว่า 3,000 สาขาทั่วโลก บุกเปิดร้านแรกที่สยามสแควร์ หวังชิงส่วนแบ่ง 2.5% ของร้านอาหารประเภทไก่ทอดในประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปีและมีอัตราการเติบโต 8% ต่อปี

นาย อรรถวุฒิ นิธิกอบกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เพลิคาน่า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ร้านไก่ทอด เพลิคาน่า เป็น 1 ในร้านไก่ทอดร้านแรก ๆ ของประเทศเกาหลีที่เปิดบริการมากกว่า 40 ปี และได้รับการยกย่องให้เป็น King of Chicken ของเกาหลี และได้ขยายธุรกิจไปทั่วโลกกว่า 3,000 สาขาในเกาหลี สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย และจีน โดยบริษัท เพลิคาน่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้เซ็นสัญญาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศไทยเพียงผู้เดียว โดยได้เปิดสาขาแรกที่ชั้น 3 อาคาร สยาม สเคปใจกลางสยามสแควร์  และเตรียมจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 5 สาขาในปีนี้ และขยายเป็น 10 สาขาในปีหน้า และ 20 สาขาในปีถัดไป บริษัทฯตั้งเป้ารายได้ปีนี้ประมาณ 100 ล้านบาท และตั้งเป้าธุรกิจใน 3 ปี จะมีรายได้รวมประมาณ 500 ล้านบาท 

นาย อรรถวุฒิ ยังเผยอีกว่า สำหรับสาขาแรกที่สยามสเคปจะเจาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเป็นหลัก ซึ่งผู้ปกครองมีกำลังซื้อสูง ขณะที่ในการขยายสาขาอื่น ๆ จะมีคอนเซปต์การตกแต่งร้านที่แตกต่างกันออกไป โดยอาจจะมีการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางสาขาที่อยู่ในแหล่งคนทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และลูกค้าในแต่ละกลุ่ม

“จุดเด่นของร้านไก่ทอดเพลิคาน่า คือ คุณภาพอาหารระดับพรีเมียม รสชาติเหมือนที่เกาหลี ในราคาที่คุ้มค่า เริ่มต้นที่ 99 บาท โดยมีจุดเด่นคือ ทอดไก่ทีละจาน ไก่คุณภาพสูง วัตถุดิบนำเข้าจากเกาหลีทั้งหมด ทานที่ร้านเหมือนไปทานที่เกาหลี ใช้แป้งเครื่องปรุงหมักไก่ 24 ชั่วโมง เปลี่ยนน้ำมันทอดใหม่ทุกวัน และมีไก่ทอดให้เลือกถึง 10 รสชาติ อาทิ ซอสซิกเนเจอร์ ซอสน้ำผึ้ง ซอสสโมกกี้ฮ็อต ซอสกังจอง ซอสเผ็ด ซอสสโมกกี้มาโย ซอสเผ็ดมาโย ซอสกระเทียม ซอสถั่วเหลือง และโรยผงชีส โดย อาหารจะทำทีละออเดอร์ เพื่อความสดใหม่ และใช้ซอสและวัตถุดิบนำเข้าโดยตรงจากเกาหลี นอกจากนี้ ยังมีอาหารเกาหลียอดนิยม อาทิ เบอร์เกอร์ไก่ทอด ซุปกิมจิ ข้าวผัดกิมจิ ต๊อกบกกี ชีสบอล เป็นต้น” 

นางสาวอารดา นิธิกอบกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) บริษัท เพลิคาน่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เราได้พัฒนาเมนูพิเศษเฉพาะในประเทศไทย คือ ข้าวมันไก่ทอดเกาหลี เป็นเจ้าแรกในไทย โดยเราจะเสิร์ฟ ไก่ทอดเกาหลี พร้อมกับข้าวมันหอมมะลิของไทย ในราคา 139 บาท พร้อมเซตน้ำรีฟิล ซึ่งคาดว่าลูกค้าจะให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากกระแสความนิยมข้าวมันไก่และไก่ทอดระดับพรีเมียม ได้เพิ่มขึ้นอย่างสูงและคาดว่าจะเป็นเซกเมนต์ใหม่ที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมและพรีเมียมแมส นอกจากนี้ เรายังได้พัฒนา ขนมปังบัน สูตรพิเศษจากญี่ปุ่น ใช้แป้งขนมปังจากญี่ปุ่น สำหรับเบอร์เกอร์ไก่ทอด ทำให้ บันของเรามีความนุ่มนวล เหนียว เป็นพิเศษ เพิ่มความอร่อยให้ไก่ทอด แบบไม่เหมือนใคร ในราคา 169 บาท มาพร้อมเซตน้ำรีฟิลและเฟรนช์ฟรายส์"

นายอทิต ปัญทเศรษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด (CMO) บริษัท เพลิคาน่า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ใน 2 ปีนี้ บริษัทฯมีแผนที่เจาะตลาดหลักในกรุงเทพมหานคร ในศูนย์การค้าชั้นนำต่าง ๆ เพื่อรองรับ กลุ่มลูกค้าหลักในกลุ่ม Gen Y ช่วงต้นๆ กลุ่ม First Jobber และคนทำงานรุ่นใหม่อายุ 22-30 ปี และ Gen Z คือ นักเรียนมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัย รวมถึงแฟนคลับของซีรีส์เกาหลี แฟนคลับศิลปิน K-Pop ทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวเอเชีย ที่มีกำลังซื้อเป็นลูกค้าเป้าหมายด้วยเช่นกัน โดยภายในปี 2568 เราตั้งเป้าขยาย 5 สาขาพร้อมตั้งเป้ายอดขาย 100 ล้านบาทในปีนี้ นอกจากนี้ เราเตรียมเปิดบริการ Delivery ผ่านทาง Platform ยอดนิยมคือ Grab, Lineman, Robinhood  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในกรุงเทพมหานครและมีแผนจะขยาย CLOUD Kitchen เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“เราเตรียมแผนการตลาดและการสร้างแบรนด์ Pelicana โดยใช้กลยุทธ์การสร้างแบรนด์แบบ Word-of- Mouth ด้วย Social Media, Viral Marketing & PR เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม พร้อมกับการใช้มาสคอต ARI เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์ นอกจากนี้บริษัทยังได้เตรียม Event และ Life Stlye Marketing เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้าทั่วประเทศด้วย"

นายอทิต ปัญทเศรษฐ์ ยังอธิบายว่า ที่มาของชื่อ Pelicana มาจากการผสมคำระหว่างคำว่า นก Pelican ที่มักมีนิสัยคาบอาหารใส่ในอุ้งปากกลับไปให้ลูกกิน กับคำว่า American ซึ่งที่มาความนิยมไก่ทอดในเกาหลีเริ่มต้นหลังยุคสงครามเกาหลีที่ทหารอเมริกันนำเมนูไก่ทอดเข้ามาในเกาหลีจนเป็นที่แพร่หลาย

ด้านนายมาคัส ลี ผู้บริหารจาก Pelicana Korea กล่าวเสริมว่า Pelicana Fried Chicken เป็น 1 ในผู้บุกเบิกร้านไก่ทอดเกาหลี เมื่อ 42 ปีก่อน และได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมีทั้งหมดกว่า 3,000  สาขาทั่วโลก โดยมีถึง 1,245 สาขาในประเทศเกาหลี นอกจากนี้ยังได้ขยายแฟรนไชส์ไปยัง 16 ประเทศที่สำคัญทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย และจีน โดยไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมร้านอาหารขนาดใหญ่ มูลค่าสูงและเติบโตทุกปี เนื่องจากคนไทย ชอบทานอาหารนอกบ้านและมีธุรกิจ Food Delivery ที่มีคุณภาพและเติบโตสูง ขณะเดียวกัน ไทยเป็นตลาดที่มีความท้าทาย เนื่องจากมีการแข่งขันสูง มีแบรนด์ไทย และแบรนด์สากลจากประเทศชั้นนำทั่วโลก มาเปิดสาขาในกรุงเทพ จำนวนมาก อย่างไรก็ดี เรามีความมั่นใจในศักยภาพ และแผนธุรกิจ และ การตลาดของ บริษัท เพลิคาน่า (ประเทศไทย) ว่าจะสามารถ ทำให้ร้านเพลิคาน่า ประสบความสำเร็จในประเทศไทยได้ และทางบริษัทฯแม่ที่เกาหลีพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” 

‘เอกนัฏ’ หนุน!! เปลี่ยนใบอ้อยเป็นเงิน สร้างรายได้เกษตรกร วอน!! หยุดเผา ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 สร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างยั่งยืน

(11 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด และเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงงานที่ใช้พลังงานชีวมวล ซึ่งมาตรการดังกล่าว

จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เนื่องจากจะทำให้ชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของใบและยอดอ้อย ทำให้ลดการเผาใบและยอดอ้อยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ด้านนายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ สอน. ได้ทำจดหมายขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 แห่ง ให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบ ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น. เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กสำหรับเยาวชนไทยทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล สะท้อนได้จากสถานการณ์อ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ณ วันที่ 8 มกราคม 2568 ที่มีตัวเลขอ้อยถูกเผาอยู่ในระดับคงที่กว่า 4 ล้านตัน คิดเป็น 20.18% ของปริมาณอ้อยที่รับเข้าหีบทั้งหมดกว่า 19 ล้านตัน 

“สอน. จึงขอความร่วมมือมายังเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ช่วยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีผลิตส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาล รวมทั้งไม่เผาใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยว ขณะเดียวกันขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลให้งดรับซื้ออ้อยเผา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งผลักดันมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และสร้างอากาศสะอาดและบริสุทธิ์ ไร้มลภาวะฝุ่น PM 2.5 ปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างถาวรตามนโยบาย รัฐมนตรีฯ” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ นั่งหัวโต๊ะ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมฯ’ รากฐานการพัฒนาประเทศด้านเกม - กำลังคนดิจิทัล - เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ

(10 ม.ค.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. ….  เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเสนอความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่กฎหมายที่มีความสมบูรณ์และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนและประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีนายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี , นายอัฐฐเสฏฐ จุลเสฏฐพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี , นางสาวยุพาภรณ์ ศิริกิจพาณิชย์กูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ , ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า , ดร.กษิติธร ภูภราดัย และ นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ , นางสาวกษมา กองสมัคร และ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ , 

รวมถึงคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (THACCA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกม ฯลฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ว่า อุตสาหกรรมเกมขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศด้านเกม ซึ่งเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนากำลังคน การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับผู้ประกอบการเกมไทยผ่านกลไกต่าง ๆ การกำหนดแนวทางป้องกันผลกระทบทางสังคม และการดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย

"ดังนั้นการดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม นักพัฒนาเกม นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับในวันนี้จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานของอุตสาหกรรมเกม เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล ต่อยอดโอกาสสู่อาชีพใหม่ อีกทั้งสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและพัฒนา ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกระจายการจัดจำหน่าย และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกมในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการกำกับ และควบคุมอุตสาหกรรมเกม เพื่อนำไปสู่การกำกับและบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าเกมผ่านกองทุนส่งเสริม

"ทั้งนี้ โครงของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงนิยาม การตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง การขึ้นทะเบียน การกำกับ และกองทุนส่งเสริม โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการปกป้องสังคม โดยเฉพาะการดูแลเยาวชน การป้องกันผลกระทบทางจิตใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้อุตสาหกรรมเกมในเชิงบวก ซึ่ง ดีป้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนจะส่งผลให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมไทย ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป จากนี้ ดีป้า จะนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาเร่งปรับปรุงร่างกฎหมาย โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน และจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2568" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ขณะที่ผู้แทนจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม พร้อมเสนอให้มีการเพิ่มประเด็นเรื่องการพัฒนากำลังคนในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเสนอให้มีภาคเอกชน ภาคการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านเกมเพิ่มขึ้นในส่วนของคณะกรรมการ เนื่องจากอุตสาหกรรมเกมพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนจะทำให้คณะกรรมการสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและรับความรู้ในประเด็นต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ชัดเจน และถูกต้อง

'พิชัย' ถกเข้ม 10 นโยบายเร่งด่วนพาณิชย์ ยกระดับเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสเกษตรกรส่งออกข้าวเสรี ดันราคามันสำปะหลัง เตรียมบิน UAE เจรจาการค้าการลงทุน กุมภาฯนี้ 

(10 ม.ค.68) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมติดตามและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุม 20610 ชั้น 6 กรมการค้าภายใน โดยมีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วม

นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ในการติดตามผลงานและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ตามแนวทางของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุมได้มีประเด็นสั่งการสำคัญดังนี้ 

(1) ให้เร่งติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า สื่อสารประชาชนให้ทราบแนวทางของกระทรวงฯและแนวทางเศรษฐกิจของรัฐบาล 

(2) เรื่อง FTA ถ้าเราปิดจบได้มาก การค้าการลงทุนเราจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเราพยายามจี้ให้สำเร็จ มีเรื่องของ FTA ไทย-UAE ที่เราอยากดำเนินการให้สำเร็จ ซึ่งจะมีการลงทุนขนาดใหญ่จาก UAE เข้ามาอีกหลายเรื่อง โดยจะมีการร่วมมือกันในหลายระดับและตนจะเดินทางไป UAE เพื่อจะได้มีความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในเรื่อง ของ FTA Data Center และ Food Security

(3) เตรียมการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่ดาวอส จะไปเซ็นสัญญา FTA กับเอฟตา และจะมีประเด็นต่างๆเข้าไปร่วมเจรจาด้วย 

(4)เรื่อง Food Storage เพื่อแก้ปัญหา Food Security คลังอาหารของโลกให้กับประเทศต่างๆ เป็นทิศทางที่กระทรวงเร่งดำเนินการ 

(5) เรื่องเปิดเสรีข้าว ปลดล็อก/
ปรับลด เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นนโยบายหลักของท่านนายกรัฐมนตรีที่อยากให้เปิดเสรี เพื่อให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไทยจะได้สามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น มีการลดปริมาณสต๊อกและยกเว้นธรรมเนียมให้รายย่อย โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมและแถลงอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 มกราคมนี้

(6) เรื่องการดูแลราคาสินค้าเกษตร ในเรื่องมันสำปะหลังปีนี้ทางจีนมีการซื้อช้าหน่อย แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาซื้อแล้วทำให้การส่งออกมันสำปะหลังไปจีนเริ่มดีขึ้น และจะมีการเร่งรัดเพื่อนำไปทำอาหารสัตว์เพิ่มเติมให้ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น และจะมีการดำเนินการอีกหลายโครงการ ซึ่งกรมการค้าภายในได้เชิญชวนผู้ซื้อมันสำปะหลังจากจีนผ่านสถานทูตจีนประจำประเทศไทย จะมีการซื้อขายมันเส้นอีกประมาณ 300,000 ตัน จะช่วยพยุงราคามันสำปะหลังให้ดีขึ้น และจะช่วยดันราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นปีทองของสินค้าเกษตรต่อไป 

(7) เรื่องการปรับโฉม Thai SELECT ให้เทียบชั้น MICHELIN Star ยกระดับให้มีมาตรฐาน

(8) แก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้บริโภคของไทย ซึ่งที่ผ่านมามีสินค้าไหลเข้ามาในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องมีการจับนอมมินีมากขึ้น 
(9) ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล APP กระทรวงพาณิชย์ ครอบคลุมทุกกรมฯให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวข้องกับประชาชนในวงกว้างให้สะดวกและครอบคลุม เป็นตัวอย่างให้กับกระทรวงอื่นในการดำเนินการต่อไป
(10) เรื่อง Thailandbrand ให้มี SME ใหม่ๆเกิดขึ้น โดยใช้สัญลักษณ์ Thailand brand มอบให้ท่านปลัดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ ซึ่งคนในอาเซียนมองสินค้าไทยเป็นสินค้าพรีเมียม อยากให้คนไทยมองสินค้าไทยเป็นพรีเมียมด้วย สินค้าเรามีคุณภาพสูงอยากให้ส่งเสริมใช้สินค้าไทยกันเยอะๆ ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของไทยให้ได้รับการยอมรับอย่างสูง

“และจากนี้ตนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมกรมต่าง ๆ ซึ่งคนกระทรวงพาณิชย์มีความสามารถดีเยี่ยมอยู่แล้ว จะได้ไปกระตุ้นให้มีงานออกมาเยอะขึ้น ให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น  เราต้องการให้คนตัวเล็กเกษตรกรสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดสต๊อกส่วนผู้ประกอบการค้าข้าว ซึ่งจะมีการติดตามและประเมินผลต่อไป และเฟสต่อไปจะอำนวยความสะดวกให้มาจดทะเบียนที่เดียว สามารถเป็นทั้งผู้ประกอบการค้าข้าวและผู้ส่งออกข้าว เป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อำนวยความสะดวกผู้ประสงค์ประกอบธุรกิจค้าข้าวและการส่งออกข้าว จะได้ข้อสรุปภายในมีนาคมนี้ในเฟสแรก และถ้าเป็นไปด้วยดีจะเปิดเสรีเลยในอนาคต ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี อยากเห็นการทำลายการผูกขาดและเปิดเสรีในทุกด้าน“ นายพิชัย กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top