Wednesday, 9 July 2025
GoodsVoice

พลิกวิกฤต“โควิด” เป็นโอกาส รัฐดันอุตสาหกรรมสมุนไพร ส่งออกโต 93% ส่งเสริมปลูก“ฟ้าทะลายโจร” สร้างรายได้เข้าประเทศและเกษตรกร

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาสมุนไพรไทย ว่า  ขณะนี้ สมุนไพรไทยเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชสุขภาพที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ (รวมที่นำเข้าด้วย)  เพิ่มขึ้นจาก 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2560 เป็น 5.2 หมื่นล้านบาทในปี 2562 การส่งออกสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพร ไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 93% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สานต่อนโยบายรัฐบาลร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพตามความต้องการของตลาด สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรกว่า 6.4หมื่นไร่ มีการจัดทำมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพร มีการจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) จำนวน  24 ชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขมิ้นชัน ไพล พริกไทย เพชรสังฆาต เป็นต้น 

นางสาวรัชดา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีแผนร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ส.ป.ก.ในเขตอีอีซี  ประมาณ 10,000 ไร่ โดยจะส่งเสริมการทำแปลงใหญ่สมุนไพร การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษา  ส่วนเรื่องการตลาด ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และเอกชน เตรียมเปิดโครงการตลาดสดขนาดใหญ่ จำหน่ายพืชสมุนไพรสดและเครื่องเทศปลอดภัย และจัดทำตลาดออนไลน์ภายใต้ชื่อ “DGT Farm” เป็นพื้นที่ให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ขายของกับผู้บริโภคโดยตรง

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบันนั้น  มีหลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมมือกับกระทรวงฯ อาทิ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดส่งกล้าและเมล็ดพันธุ์ ให้กับสำนักงาน กศน.ทั่วประเทศ เพื่อแจกแก่นักศึกษากศน. และประชาชน ขณะที่กระทรวงยุติธรรมได้เดินหน้าให้เรือนจำ/ทัณฑสถานที่มีความพร้อม  ดำเนินการเพาะปลูกฟ้าทะลายโจร เบื้องต้นมี 125แห่ง ทั้งนี้ เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจจะปลูกฟ้าทะลายโจรหรือพืชสมุนไพรอื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถติดต่อเกษตรอำเภอได้ เพื่อรับคำแนะนำในเรื่องการเพาะปลูกและการตลาด  

“รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศหันมาปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย อีกทั้งผลักดันต่อเนื่องถึงการปลูกในระดับอุตสาหกรรมและการส่งออก ที่ต้องคำนึงถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าและปริมาณการผลิต โดยแนวทางที่ได้ดำเนินการและมีการบูรณาการระหว่างภาคส่วนแล้วนั้น จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน คนไทยมีพืชสมุนไพรบริโภคอย่างพอเพียง อีกทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมาก” นางสาวรัชดา กล่าว

#INTERLINK จัดงานสัมมนา Total Solution Indoor / Outdoor & Data Center for Professional

#INTERLINK (17 ก.ค. 2564)

คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธาน บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ฯ จัดงานสัมมนา Total Solution Indoor / Outdoor & Data Center for Professional

โดยเล่าถึงความตั้งใจในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย​ พร้อมนำประสบการณ์มาอัปเดตรายละเอียดเรื่องระบบสายสัญญาณ และอุปกรณ์เน็ตเวิร์ค​ รวมถึง Data Center​ มาแชร์ให้กับกลุ่ม Consult อาจารย์มหาวิทยาลัยกว่า 50 หน่วยงาน เพื่อให้กลุ่มอาจารย์เห็นภาพจริง และเข้าใจอย่างชัดแจ้ง และตอบโจทย์ทุกความต้องการ

???? LIVE จากสนง.ใหญ่ อินเตอร์ลิ้งค์ กรุงเทพฯ

รัฐเดินหน้าแก้ปัญหาสินเชื่อ-ไกล่เกลี่ยเจ้าหนี้ อุ้มร้านค้า/ร้านอาหารฝ่าวิกฤต"โควิด"  พรุ่งนี้! เริ่มลงทะเบียนพักหนี้ ช่วยSMEและรายย่อย ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการรัฐ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ทุกภาคส่วนออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีความสามารถประคับประคองธุรกิจให้ก้าวข้ามความยากลำบากช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 โดยเฉพาะผู้ประกอบการSME ซึ่งขณะนี้ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ได้ขานรับโดยออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 2เดือน ช่วยSME และรายย่อย ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการของรัฐ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นความประสงค์ที่ธนาคารเจ้าหนี้ ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. ถึง 15 ส.ค. บางแห่งถึง31ส.ค.นี้ สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ร้านตึกแถว ร้านในห้าง ฟู้ดทรัค บู๊ทขายอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบมาหลายระลอก  ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเป็นการเฉพาะ โครงการ ”สินเชื่ออิ่มใจ” ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย  ไม่ต้องใช้หลักประกัน ปลอดการชำระเงินงวด 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี นาน 5 ปี  โดยเปิดให้ยื่นขอสินเชื่อแล้วจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ

ขณะที่ กรมบังคับคดียังเร่งให้ความช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าและร้านอาหาร ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับเจ้าหนี้ ซึ่งจะมีถึงวันที่ 31 ส.ค.นี้ ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี และสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ จำนวน 116 แห่ง ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ ได้เจรจากันด้วยความพึงพอใจ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ และลูกหนี้ก็สามารถชำระหนี้ได้เช่นกัน อีกทั้งช่วยลดปัญหาหนี้สิน ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่ถูกยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ หรือนำไปขายทอดตลาดในที่สุด จึงขอเชิญชวนประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ระหว่างการบังคับคดี เข้าร่วมการไกล่เกลี่ย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์กรมบังคับคดีwww.led.go.th และแอปพลิเคชัน Session call หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี หมายเลขโทรศัพท์ 02 881 4840 /02 887 5072 หรือสายด่วนกรมบังคับคดี 1111 กด 79 และสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ

“อนุชา” เผย รัฐ เร่งช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ “พักชำระหนี้ 2 เดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ เน้นช่วยธุรกิจที่ถูกปิดสั่งปิด ให้ยืนได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเข้าใจผลกระทบจากการออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเร่งประสานหน่วยงานทางการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางโดยเร็ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ขนาดกลางและขนาดย่อม( SMEs )และรายย่อย ที่เป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง ในสถานประกอบการที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการหรือตามคำสั่งของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงระยะเวลาระยะเวลา 2 เดือนนี้  เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนก.ค. -ส.ค.2564 นี้ โดยมาตรการพักชำระหนี้ คือเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปเป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งเป็นเพียงมาตรการที่ช่วยเหลือระยะสั้น ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ส่วนลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ แนะนำให้ชำระหนี้ต่อเนื่องไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคต เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินในขณะนี้ ควรดำเนินการต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

นายอนุชา กล่าวว่า สถาบันการเงินที่เข้าร่วม ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ไทย ต่างประเทศสถาบันและการเงินเฉพาะกิจ (Non-bank)ชมรมผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต จำนำทะเบียนรถ  ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท รวมถึงหนี้บัตรเครดิตของลูกหนี้ขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกหนี้รายย่อย ซึ่งลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. เป็นต้นไป

นายอนุชา กล่าวว่า ธปท. ย้ำว่าที่สถาบันการเงินพักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 2 เดือน เป็นการให้ลูกหนี้ไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ให้แก่สถาบันการเงินในระยะเวลาดังกล่าว สถาบันการเงินต้องห้ามไปเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักชำระไว้จากลูกหนี้หลังพ้น 2 เดือนนี้แล้วทันที แต่ให้ทยอยเรียกเก็บเงินจำนวนนี้หรือเรียกเก็บในช่วงท้ายของสัญญา และจะไม่ถือว่าลูกหนี้มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ และไม่เป็นหนี้ค้างชำระในเครดิตบูโร และสถาบันการเงินจะไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยในการผิดนัดชำระหนี้ได้ เพราะยังถือว่าเป็นหนี้ดีอยู่

"การพักชำระหนี้ เป็นเพียงมาตรการเร่งด่วน ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ธปท.และสถาบันการเงินร่วมกันช่วยลูกหนี้ที่ฐานะทางการเงินอ่อนแอ ยืดเวลา ชะลอภาระทางการเงินเป็นการชั่วคราว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะคนตัวเล็ก ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลานี้ ให้รักษาและดำเนินกิจการได้ต่อไปในขณะที่ยังต้องมีการจำกัดกิจกรรม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกระยะหนึ่ง" นายอนุชา ฯ กล่าว

หวั่นเศรษฐกิจเจอผลกระทบล็อกดาวน์หนักสูญ 1.2 แสนล.

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งหอการค้าไทยมีความเป็นห่วงสถานการณ์อย่างมาก โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดอีก 3 จังหวัด รวมเป็น 13 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สายการผลิตเพื่อการส่งออก โดยต้องการให้รัฐบาลแยกผู้ติดแยกออกมาให้ได้ และเร่งกระจายการฉีดวัคซีนควบคู่ไปกับการเยียวยา โดยหากดูตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลจะต้องขยายล็อกดาวน์เพิ่มมากกว่า 14 วัน 

นายสนั่น กล่าวว่า หากมีการขยายล็อกดาวน์ออกไปมากกว่า 14 วัน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ล่าสุดหอการค้าประเมินความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเบื้องต้น คาดว่า จะเพิ่มจากเดิมที่ประมาณไว้ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อวัน เป็นวันละ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อวัน ถ้าคำนวณผลกระทบ 1 เดือน ประมาณ 90,000-120,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การล็อกดาวน์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น คนลดการเคลื่อนย้ายจริง ต้องมีมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายและเสริมรายได้ในช่วงนี้ เงินกู้ที่เตรียมไว้ 500,000 ล้านบาท จำเป็นต้องนำมาเร่งใช้ในช่วงนี้ หรือภายในไตรมาส 3 และหากไม่พอรัฐบาลก็สามรถกู้เพิ่มเติมได้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแผนจะกู้เพิ่ม 7 แสนล้านบาท แต่กู้เพิ่มล่าสุด 5 แสนล้านบาท ก็ยังมีกรอบที่จะดำเนินการเพิ่ม

ครม.ปรับ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ขยายเวลาใช้สิทธิ์ถึง30พ.ย.-เพิ่มวงเงินคำนวณเป็น 10,000 บาทต่อคนต่อวัน- ลดคนใช้สิทธิ์-ลดงบประมาณเกือบ2หมื่นล้านบาทเหตุประกาศ ศบค. ทำคนเดินห้างน้อยลง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แหลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีว่า(ครม.)ว่า ครม.อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”โดยขยายระยะเวลาการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับการสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์(  e-Voucher )จากเดิมระหว่าง 1 ก.ค.- 30 ก.ย.2564เป็นตั้งแต่ 1 ก.ค.-30 พ.ย.2564 และเพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ ไม่เกิน 10,000 บาทต่อคนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. -30 พ.ย.นี้ โดยจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิe-Voucher ไม่เกิน60,000 บาทต่อคน นอกจากนั้นปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จากเดิมไม่เกิน  4 ล้านคน เป็นไม่เกิน 1.4 ล้านคน ทำให้กรอบวงเงินโครงการลดลงจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 9,800 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 18,200 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า จากประกาศข้อกำหนดของศบค.ที่ผ่านมา ให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ในเขตพื้นที่กทม.และปริมณฑล และในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ของประเทศ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 20.00 น.เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ส่วนร้านค้าและร้านอาหาร ที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าต้องปิดชั่วคราว อาจมีผู้ใช้สิทธิ์น้อยลง จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงการเพื่อความเหมาะสมด้วย

กรมการจัดหางาน  แนะประชาชนรับบริการผ่านระบบออนไลน์ ปลอดภัยจาก COVID-19

อธิบดีกรมการจัดหางาน แนะนำประชาชนใช้บริการช่องทางออนไลน์ของกรมการจัดหางาน เลี่ยงการเดินทางไปสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามมาตรการล็อกดาวน์ 

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน  เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศข้อกำหนดและข้อปฏิบัติออกตามความในมาตรา 9  แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ . 2548 (ฉบับที่  28) ข้อ 9 ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบ ดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และมุ่งเน้นการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคล ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป 

“อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานได้เตรียมช่องทางการให้บริการประชาชน ผ่านทางออนไลน์ (E – Services) เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดความเสี่ยงรับเชื้อโควิด -19 จากการเดินทางและการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก โดยสามารถใช้บริการผ่านช่องทางต่อไปนี้
1. ผู้ที่ต้องการหางานทำ หรือนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการหาคนทำงาน สามารถใช้บริการได้ที่ smartjob.doe.go.th หรือ ไทยมีงานทำ.com  
2. ขึ้นทะเบียน/รายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน  ใช้บริการได้ที่  empui.doe.go.th 
3. ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co-Payment) ได้ที่ www.จ้างงานเด็กจบใหม่.com  
4. ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ แจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง /แจ้งการเดินทางกลับไปทำงานต่างประเทศ ใช้บริการได้ที่ toea.doe.go.th 
5. ระบบแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ทาง Application ชื่อ  e-inform

นอกจากนี้ยังมีสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ให้บริการตอบข้อซักถามแก่ประชาชน ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อราชการ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ขอให้ตรวจสอบวันและเวลาให้บริการก่อนเดินทางเพื่อไม่เป็นการเสียเวลาหากมีการปิดสถานที่ให้บริการ รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ใช้บริการ และปฏิบัติตามมาตรการที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด  ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ออมสินช่วยลูกหนี้กู้ไม่เกิน 2 แสน “พักต้น-ดอก” นาน 6 เดือน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ สูงสุด 6 งวด (พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์ยากลำบากให้กับลูกหนี้กลุ่มที่เป็นลูกค้ารายย่อย ซึ่งจากฐานข้อมูลลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประเมินว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่มีสิทธิ์พักหนี้ตามมาตรการนี้ ในจำนวนมากถึงกว่า 750,000 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือกว่า 50,000 ล้านบาท

สำหนับมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ได้รับผลกระทบทำให้ต้องเลิกกิจการ ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ฯลฯ (ยกเว้นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) โดยพักเงินงวดผ่อนชำระให้สูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม 2564 หลังจากนั้นเมื่อสิ้นสุดระยะการพักชำระหนี้ ให้กลับมาจ่ายเงินงวดตามเงื่อนไขเดิม โดยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักไว้ จะถูกนำไปรวมชำระในงวดสุดท้ายของสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงที่ทำกับธนาคาร 

ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระและไม่ส่งผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกค้า รวมถึงไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระและค่าปรับใด ๆ โดยธนาคารแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 เฟส เริ่มเฟสแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 และเฟสที่สองช่วงเดือนสิงหาคม ลูกค้าจะทยอยได้รับ SMS หรือ Notification แจ้งทางแอป MyMo ให้สามารถกดรับสิทธิ์เพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านแอป MyMo จนเสร็จสิ้นกระบวนการ กรณีที่ลูกค้ายังไม่มีแอป สามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานด้วยตนเอง หรือ ติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขา

“ประยุทธ์” มอบทีมเศรษฐกิจหาทางเยียวยากลุ่มเพิ่มเติม “ระบุ”เห็นใจปชช.ใช้ชีวิตลำบากหลังยกระดับล็อกดาวน์ แนะรีบลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมโดยเฉพาะอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง Taxi รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่หาเงินวันต่อวัน ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะไปจ่ายเงินเพื่อเข้าระบบประกันสังคม ว่า ในส่วนการเยียวยาต่างๆ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ฝ่ายเศรษฐกิจไปพิจารณาในพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์เพิ่มเติม โดยยืนยันว่านายกฯ พยายามจะดูแลอะไรที่สามารถเยียวยาได้เร็วก็จะนำเข้าพิธีการพิจารณาอนุมัติในที่ประชุมครม.เร็วที่สุด ดังนั้นสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งนายจ้างลูกจ้างที่อยู่ในมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และแม้กระทั่งคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนขอให้รีบลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.นี้ เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรการ 

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มอื่นๆที่ยังไม่ได้รับการเยียวยานายกฯ ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาหาทางเยียวยาเพิ่มเติม จึงขอให้ทุกคนมีความมั่นใจว่านายกฯ มีความใส่ใจดูแลเพื่อให้มีการเยียวยาเพิ่มเติมในกลุ่มอื่นๆได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้นายกฯและครม. เห็นใจประชาชน โดยเฉพาะที่ไม่สะดวกสบายในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่คณะแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่ขนาดนี้ต้องดูแลพี่น้องประชาชนต่างมีความเหน็ดเหนื่อย จึงต้องให้กำลังใจกัน 

นายอนุชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้นายกฯ ติดตามการดำเนินงานของทุกส่วนราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถสั่งการและมอบหมายนโยบายเพิ่มเติมให้ได้ตลอดเวลา โดยมีการประชุมพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นขอให้ทุกคนพิจารณาข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันด้วย ซึ่งรัฐบาลพยายามให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและชัดเจนให้มากที่สุด

“โฆษกศบศ.”เผย”นายกฯ”ถกศบศ.หารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน 22ก.ค.นี้  ยัน เยียวยานายจ้าง-ผู้ประกันตน ม.33,39,40 คาดต้น ส.ค.เงินเข้าบัญชี

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.)กล่าวว่า ในวันที่22ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)ครั้งที่3/2564 หารือสถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมไปถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ

สำหรับความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเร่งด่วนผู้ประกอบการนายจ้าง ลูกจ้าง แรงงานกลุ่มอาชีพอิสระ และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย  9สาขากิจการ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ที่ครม.อนุมัติวงเงินโครงการเยียวยา ม.33 เพิ่มอีก10,985.316 ล้านบาท รวมเป็น 13,504 .696 ล้านบาท ทางสำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 40 ตามลำดับ ภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ และความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม สำหรับผู้ประกอบการในระบบ  161,839 ราย ลูกจ้างมาตรา 33 สัญชาติไทย จำนวน 2,871,592 ราย ที่เข้าสู่ระบบแล้ว ส่วนอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยานั้น จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามลำดับต่อไป 

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาล และตรวจสอบข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน ส่วนนายจ้างมาตรา 33 ที่เป็นนิติบุคคลที่เคยผูกบัญชีกับธนาคารเอาไว้แล้ว จะโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่แรก โดยรายละเอียดการจ่ายเงินให้กับลูกจ้างตามมาตรา 33 กระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินกองทุนประกันสังคมเป็นเงินเยียวยา 50% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โอนเข้าบัญชีให้กับลูกจ้างที่กรอกมาในระบบ E-Service  และรัฐบาลจะสมทบเพิ่มเติมอีก 2,500 บาท ผ่านพร้อมเพย์  ส่วนนายจ้างตามมาตรา 33 รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้นายจ้าง 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ผ่านพร้อมเพย์  และผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท โอนเงินผ่านพร้อมเพย์เช่นเดียวกัน คาดว่าจะโอนเงินช่วยเหลือรอบแรกได้ภายในต้นเดือนส.ค.นี้  

นายธนกร กล่าวว่า ผู้ที่มีอาชีพอิสระ ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีแต่ไม่เกิน 65 ปี ที่ยังไม่เคยเข้าระบบประกันสังคม สามารถลงทะเบียนมาตรา 40 เพื่อรับการช่วยเหลือและความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวสมัครผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) บิ๊กซี (Big C)หรือสมัครด้วยตนเองที่ www.sso.go.th โดยสามารถเลือกการจ่ายเงินสมทบเพื่อได้รับความคุ้มครองที่ต่างกันใน 3 ทางเลือก คือ จ่าย 70 บาท จ่าย 100 บาท และจ่าย 300 บาท ต่อเดือน ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองทันทีเมื่อชำระเงินงวดแรก 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top