Tuesday, 8 July 2025
GoodsVoice

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผย ว่าจีนให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของทุเรียนไทย โดยเฉพาะกรณีการสวมสิทธิ์ทุเรียนจันทบุรี

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ (24 มิ.ย.) ว่า สื่อมวลชนจีนให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของทุเรียนไทย โดยเฉพาะกรณีการสวมสิทธิ์ทุเรียนจันทบุรี ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจไปว่าได้สั่งการให้ดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง พร้อมกับถอนใบรับรอง GAP และ GMP สำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดทุกคน

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทางกระทรวงเกษตรฯ เชื่อว่าความสำเร็จในการส่งออกทุเรียนไปจีนได้มากขึ้นทั้งเชิงปริมาณ และมูลค่า จนชาวสวนทุเรียนได้ราคาสูงขึ้นนั้น อาจจะเป็นเหตุจูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าทุเรียนต่างประเทศมาสวมสิทธิ์ทุเรียนจันทบุรี ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางชุดเฉพาะกิจจังหวัดจันทบุรีก็สามารถจับกุมได้ทันท่วงทีและกำลังขยายผลการสืบสวนสอบสวน จนทราบจากรายงานเบื้องต้นว่าทำกันเป็นขบวนการใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้สื่อมวลชนจีนที่มาสัมภาษณ์แสดงความพอใจและมั่นใจที่กระทรวงเกษตรฯ ในการดำเนินมาตรการได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพและเด็ดขาด

ทางด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาการนำเข้าทุเรียนเวียดนามสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยส่งออกไปประเทศจีน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าจากรายงานการจับกุมและข้อมูลใหม่ที่ได้จากหลายหน่วยงานในการประชุมวันนี้ ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นและเป็นไปตามข้อสันนิษฐานว่า ทำกันเป็นขบวนการใหญ่มีหลายบริษัทในหลายจังหวัดเกี่ยวข้องทั้งคนไทยคนจีน ซึ่งจะได้ขยายผลการสืบสวนสอบสวนนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษขั้นเด็ดขาดตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะถือเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศและทำลายภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย ผลไม้เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกไปต่างประเทศในปีที่แล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน 6 มาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ได้แก่...

1.) มาตรการเฝ้าระวังทุกจังหวัดโดยเฉพาะภาคใต้ซึ่งกำลังเริ่มต้นฤดูผลไม้

2.) มาตรการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตราหน้าด่านทั้งด่านบกด่านเรือและด่านอากาศแหลม

3.) มาตรการป้องปรามผู้ผลิต, ล้ง, โรงงาน, ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก

4.) มาตรการปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาด

5.) มาตรการความร่วมมือกับประเทศผู้ค้าเช่นจีนและเวียดนามในการขจัดพ่อค้านักธุรกิจที่ฉ้อฉล

6.) มาตรการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อป้องกันการใช้ใบรับรอง GAP และ GMP ปลอม

ในการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมและหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด, นายณฐกร สุวรรณธาดา, นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา, นายชรัตน์ เนรัญชร คณะที่ปรึกษา รมว.กษ. ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ zoom meeting โดยมี นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการ จังหวัดจันทบุรี, พ.ต.อ.คณกร อัศวเมธี ผู้กำกับการ สภ.เมือง (แทน ผบก.จว.จันทบุรี), นางปัทมา นามวงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี, น.ส.ธารารัตน์ โพธิ์ศรี เกษตรจังหวัดจันทบุรี และนายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 6 นายพีรพัฒก์ อุทัยศรี ผู้อำนวยการกองสำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้แทนกรมศุลกากร ร่วมกันหารือการดำเนินคดีกรณีการจับกุมขบวนการลักลอบนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนามมาสวมสิทธิ์ทุเรียนจันทบุรีส่งออกไปจีน

นายอลงกรณ์เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมได้รายงานผลความคืบหน้าของการประชุมต่อเจ้ากระทรวงเกษตรฯ ซึ่งท่านได้แสดงความชื่นชมการปฏิบัติงานของชุดเฉพาะกิจจังหวัดจันทบุรีและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยเดินหน้ากวาดล้างให้ถึงที่สุด


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ส่งออกรถยนต์ฟื้น! ส.อ.ท. เผยยอดส่งออกรถยนต์ เดือนพฤษภาคม พุ่ง 165.87% ขณะที่ยอดรวม 5 เดือน เพิ่มขึ้น 29.94% หลังประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีทั้งสิ้น 140,168 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 150.14% จากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 126.01% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 193.39% เพิ่มขึ้นจากฐานต่ำปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายนและห้ามจัดงานมอเตอร์โชว์ปลายเดือนมีนาคม ทำให้สต็อกรถยนต์ในโชว์รูมยังมีจำนวนมาก บางบริษัทจึงยังไม่มีการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม แต่การผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ยังสูงกว่าเดือนเมษายน 2564 ถึง 34.32% แต่ยังน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ราว 22.70%

ขณะที่ ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน พฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 79,479 คัน เพิ่มขึ้น 165.87% จากเดือน พ.ค. 63 โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเนื่องจากฐานต่ำเมื่อปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 50.30% จากเดือน เม.ย. 64 เพราะประเทศคู่ค้าเริ่มมียอดขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น เช่น ออสเตรเลียขายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมปีก่อน 68.3% เวียดนามขายในประเทศเพิ่มขึ้น 34.1% ญี่ปุ่นขายเพิ่มขึ้น 46.3% อินโดนีเซียขายเพิ่มขึ้น 1,443% เป็นต้น อย่างไรก็ตามการส่งออกยังลดลง 16.63% จากเดือน พ.ค. 62

อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 64) อยู่ที่ 390,467 คัน โดยเพิ่มขึ้น 29.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 221,429.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 39.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ตลท. เล็งยกระดับ “Settrade Streaming” เป็นแพลตฟอร์มกลางซื้อขายทุกสินทรัพย์ "หุ้น- คริปโต-ดิจิทัลแอสเสท ฯลฯ" เพิ่มความสะดวกนักลงทุน ลดความซ้ำซ้อน เปิดบัญชี-ส่งออเดอร์ผ่านหลายตลาด ตอบโจทย์นักลงทุนรุ่นใหม่

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในโลกสมัยใหม่นักลงทุนหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 สะท้อนจากยอดเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และสัดส่วนมูลค่าซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ Settrade Streaming เพื่อให้สามารถซื้อขายสินทรัพย์การลงทุนได้ทุกประเภท ทั้งหุ้น, สินทรัพย์ลงทุนรูปแบบดิจิทัล (Digital Asset), สกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี), กองทุน, ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ (DR) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ฯลฯ ในที่เดียว

“นักลงทุนไม่ควรต้องเปิดบัญชีซ้ำซ้อน หรือซื้อขายสินทรัพย์ลงทุนผ่านตลาดหลายแห่ง เราจึงมุ่งพัฒนาระบบ Settrade เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขาย เพื่อรองรับการลงทุนทั้งสินทรัพย์ลงทุนรูปแบบเดิม (Traditional), Digital Asset รวมถึงคริปโตเคอเรนซี แม้ในอนาคตอันใกล้ตลท. จะยังไม่ถึงขั้นเปิดให้ซื้อขายคริปโตเคอเรนซี แต่เราจะมีช่องทางเชื่อมต่อให้ซื้อขายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเข้าถึงได้ง่าย ซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เงินลงทุนไม่สูง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนนำหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีศักยภาพแต่มีราคาต่อหุ้นสูง เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ บมจ.ปตท. (PTT) มาออกเป็น DR เพื่อให้สามารถซื้อขายเศษส่วนของหุ้น (Fractional Shares) ได้ด้วยเงินหลักร้อยบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำการสำรวจตลาด (Market Survey) กับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก โดยคาดว่าจะสามารถซื้อขายได้จริงภายในปีนี้

นายภากร กล่าวว่า วานนี้ (24 มิ.ย.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าร่วมงาน Maybank Kim Eng's Invest ASEAN 2021 ในหัวข้อเสวนา The ASEAN investor : Where are the next opportunities? ร่วมกับผู้บริหารตลาดหุ้นอาเซียนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ตลาดหุ้นมาเลเซีย ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และตลาดหุ้นสิงคโปร์ ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยตลาดหุ้นไทยพบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มียอดเปิดบัญชีใหม่สูงถึง 1.03 ล้านบัญชี ทำให้จำนวนบัญชีรวมเพิ่มเป็น 4.54 ล้านบัญชี สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ดังนั้นการพัฒนาตลาดทุนในระยะถัดไปจะเน้นอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้ามาซื้อขายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ผ่านการพัฒนาระบบเปิดบัญชีออนไลน์ที่สามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดทุนได้อย่างยั่งยืน โดยมองว่าหากนักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างยั่งยืนแล้ว จะส่งผลให้ตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน และสุดท้ายคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้นตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ในส่วนการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดหลักสูตรให้ความรู้ (Education) แก่ผู้ประกอบการรายย่อยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นของไทยมีแนวคิดทางธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ยังขาดความรู้ทางการเงินที่จะเข้ามาหนุนการเติบโต ตลอดจนการจับคู่ให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนและผู้ลงทุนมาเจอกัน (Glooming) และสุดท้ายอยู่ระหว่างสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจขนาดเล็ก จากปัจจุบันที่มีแหล่งเงินทุนค่อนข้างจำกัด เช่น ครอบครัว หรือสถาบันการเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน (ESG) โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้ บจ.รายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มเติมในรายงานที่ต้องส่งให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945308


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ไทยส่งออกทุเรียนสด ขึ้นอันดับ 1 ของโลก!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดอันดับ 1 ของโลก โดยการส่งออกเฉพาะเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่ารายเดือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 934.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 95.3% จากปีก่อน โดยส่งออกไปจีนที่เป็นตลาดหลักเติบโตสูงถึง 130.9% รวมแล้วตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ยังคงเร่งตัว 45.2% มีมูลค่า 1,839 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การส่งออกทุเรียนกลายเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจส่งออกสำคัญในลำดับที่ 2 รองจากยางพารา แซงหน้าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปริมาณผลผลิตทุเรียนที่ออกสู่ตลาดในปีนี้มีเพิ่มขึ้นประกอบกับกระแสความต้องการทุเรียนจากตลาดจีนยิ่งหนุนราคาส่งออกทำให้การส่งออกทุเรียนสดของไทยในภาพรวมในปี 2564 น่าจะเร่งตัวได้ราวร้อยละ 35-40 มีมูลค่า 2,800-2,900 ล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นยอดส่งออกสูงสุดครั้งใหม่จากที่เคยทำไว้ในปีก่อนหน้า 

นอกจากนี้ ด้วยทุเรียนที่ได้รับกระแสตอบรับดีอย่างต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นปี 2564 ทุเรียนไทยยังคงทำตลาดได้ดีด้วยพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตที่ยังเพิ่มขึ้นได้อีก แม้ว่าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มรุกทำตลาดต่างประเทศ แต่ด้วยกำลังการผลิตยังมีน้อยและกว่าผลผลิตรุ่นใหม่จะเร่งตัวคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี 

สำหรับปัจจุบัน ไทยจะต้องเจอการแข่งขันมากขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งระหว่างที่คู่แข่งกำลังเพิ่มผลผลิต ไทยก็จำเป็นต้องรุกนำเสนอทุเรียนไทยสายพันธุ์อื่นๆ ให้มีความหลากหลายเพื่อขยายตลาด พร้อมทั้งทำตลาดผ่านช่องทางสื่อโซเชียลและการค้าแบบอี-คอมเมิร์ซ รวมทั้งยกระดับทุเรียนไทยให้มีความพรีเมียมตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนการขนส่งเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานรสชาติเหมือนรับประทานที่ไทย

คลังเปิดความคืบหน้า คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังเหลือสิทธิ 

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 มีประชาชนลงทะเบียนแล้วจำนวน 28.3 ล้านคน และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 มีประชาชนลงทะเบียนแล้วจำนวน 3.82 แสนคน

ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 06.00 น.-22.00 น. ของทุกวันจนกว่าจะครบ 31 ล้านคน และ 4 ล้านคน ตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐแล้ว สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับ ประชาชนที่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนโครงการ ขอให้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ท่านต้องการเข้าร่วมผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เวลา 22.00 น. ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงการทำได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น และถือเป็นการสละสิทธิโครงการเดิม สำหรับการใช้จ่ายของโครงการต่าง ๆ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยผู้ที่ยังไม่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทย จะเริ่มใช้จ่ายได้เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนเมื่อใดก็ได้ก่อนการใช้จ่ายโดยไม่ถูกตัดสิทธิโครงการ

ส่วนโครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.64 และจากข้อมูลพบว่ายังมีวงเงินสิทธิที่ยังไม่ได้ใช้จ่ายอีกจำนวนหนึ่ง จึงขอให้ประชาชนที่ยังมีวงเงินสิทธิเหลือ สำรวจวงเงินสิทธิคงเหลือของท่านและวางแผนใช้จ่ายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด 

“บิ๊กตู่” ประชุมบอร์ดบีโอไอ เพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงนักลงทุน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2564 โดยคาดที่ประชุมจะพิจารณานโยบายสำคัญการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมคุณค่าโครงการ (Merit-based Incentives) สร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม

อีกทั้งที่ประชุมจะมีการพิจารณาในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ กาปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานราชการอื่น 

ทั้งนี้ในการประชุมที่ผ่านมาที่ประชุมได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ด้วย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมการค้าต่างประเทศ สามารถเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับรัฐบาลจีนได้เพิ่มอีก 20,000 ตัน เป็นชนิดข้าวขาว 5% ภายใต้สัญญาการซื้อข้าวจีทูจีของ 2 ประเทศรวม 1 ล้านตัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมการค้าต่างประเทศ สามารถเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับรัฐบาลจีนได้เพิ่มอีก 20,000 ตัน เป็นชนิดข้าวขาว 5% ภายใต้สัญญาการซื้อข้าวจีทูจีของ 2 ประเทศรวม 1 ล้านตัน ซึ่งไทยจะส่งมอบให้เร็ว ๆ นี้ โดยหลังจากนี้แล้ว ไทยจะพยายามเจรจาขายจีนให้ครบสัญญาโดยเร็ว ส่วนการขายข้าวจีทูจีให้กับบังกลาเทศ ล่าสุด บังกลาเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) จะซื้อข้าวจากไทย 1 ล้านตัน น่าจะมีการเจรจาซื้อขายกันได้เร็ว ๆ นี้

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ข้าวขาว 5% ปริมาณ 20,000 ตัน ที่ไทยขายให้กับจีนล่าสุด อยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายจีทูจี 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน ควบคู่กับความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ผ่านมา โดยจีนนำเข้าจากไทยครั้งละ 100,000 ตัน และนำเข้าแล้ว 7 ครั้ง รวม 700,000 ตัน ยังเหลืออีก 300,000 ตัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2562 ไทยพยายามเจรจาให้จีนนำเข้าให้ครบสัญญา แต่จีนระบุว่าข้าวไทยราคาแพง และปริมาณข้าวในประเทศมีมาก จึงชะลอการนำเข้า แต่หลังจากที่ไทยใช้ความพยายามต่อเนื่อง และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คืบหน้ามากแล้ว จีนจึงยอมนำเข้า 20,000 ตัน ราคาเอฟโอบี ตันละ 520 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน ที่ตันละกว่า 400 เหรียญสหรัฐฯ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 10.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยทยอยส่งมอบภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้

“ปกติไทยและจีนจะเจรจาซื้อขายกันครั้งละ 100,000 ตัน แต่ครั้งนี้ ไทยมีความยืดหยุ่นมาก เปิดกว้างให้จีนนำเข้าข้าวจากไทยได้ทุกชนิด ไม่จำกัดเพียงข้าวขาว และปริมาณก็ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 100,000 ตัน จีนจึงได้ยอมนำเข้าที่ 20,000 ตัน ในราคาสูงกว่าราคาตลาด และหลังจากนี้ กรมฯ จะหารือกับคอฟโก (หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลการนำเข้าข้าวของจีน) เพื่อซื้อขายข้าวที่เหลืออีก 280,000 ตัน ให้เสร็จภายในปีนี้” นายกีรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ กรมฯ จะเดินหน้าเจรจาขายข้าวจีทูจี ภายใต้เอ็มโอยูที่ไทยลงนามกับบังกลาเทศและอินโดนีเซีย โดยมีกรอบเอ็มโอยูซื้อข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน เพื่อให้การส่งออกข้าวไทยในปีนี้เป็นไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 6 ล้านตัน รวมถึงจะดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ข้าว ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่มให้มีหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่นิยมบริโภคข้าวนุ่ม ในราคาไม่สูงมาก รวมถึงเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งในเรื่องของคุณภาพ และราคา

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 มิ.ย. 2564 ไทยส่งออกข้าวแล้ว 2.2 ล้านตัน ลดลง 21.03% มีมูลค่า 1,382 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 28.14% เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งสำคัญมาก ทั้งเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน รวมถึงจีน อีกทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

 

ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/107868


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

รมว.แรงงาน ถกสมาคมก่อสร้าง แจงมาตรการเยียวยาคนงานช่วงปิดแคมป์ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 24 คน อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ฤทธา จำกัด บริษั ทวีมงคลก่อสร้าง จำกัด บริษัท ยูเวิร์ด 999 จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เพื่อหารือในแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าว ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

โดย รมว.แรงงาน กล่าว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานนั้น และได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลค่าใช้จ่าย เงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการปิดแคมป์ กระทรวงแรงงานจะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. โดยให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินสด 50 เปอร์เซ็นของค่าจ้าง ให้คนงานทุก ๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีระบบการตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยาจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว กระทรวงแรงงานจะประสานกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่แรงงานในแคมป์คนงาน 100 เปอร์เซ็น หากตรวจพบเชื้อจะต้องแยกตัวแรงงานเพื่อมาเข้าสู่การรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 

รวมทั้งการเฝ้าระวังตรวจสอบทุกโรงงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal 

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปตรวจตราทำความเข้าใจกับนายจ้างผู้ประกอบการให้เข้มงวดถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงาน และกรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบหากกรณีพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

เอกชนขอรัฐต้องออกมาเยียวยาเพิ่มเติม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการครั้งนี้ เช่น คนงานในแคมป์ก่อสร้าง และลูกจ้างร้านอาหาร ให้อยู่รอดต่อไปได้ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องหยุดดำเนินงาน เช่น การช่วยเหลือการเงินเสริมสภาพคล่อง การช่วยชดเชยค่าแรง ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 

ส่วนห้างสรรพสินค้าหรือเอกชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่เช่า ก็ควรช่วยเหลือลดค่าเช่า หรือด้านอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัดจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หากเป็นธุรกิจที่มีหลักฐานจดทะเบียนถูกต้องควรได้รับความช่วยเหลือทันที ส่วนธุรกิจที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหากมีผู้ยืนยันตัวตนได้จริง ก็ควรได้รับความช่วยเหลือ

"มาตรการนี้ถือเป็นการเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับล็อกดาวน์ปิดพื้นที่ เพื่อลดความเสียหายด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการควบคุมโรคได้มากขึ้น หากยังไม่ได้ผล รัฐบาลอาจจะขยายไปสู่การล็อกดาวน์บางธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ภาคเอกชนจะต้องเตรียมรับมือกับมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้น" 

“บิ๊กตู่” เคาะเงินช่วยลูกจ้าง-นายจ้างเจอปิดกิจการ 1 เดือน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศควบคุมที่ออกมา โดยจะเป็นมาตรการพิเศษที่จะทำในช่วง 1 เดือน ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด โดยช่วยเหลือลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ในสาขาก่อสร้าง สาขาที่พักแรมละบริการด้านอาหาร สาขาการบริการอื่น ๆ เช่น ร้านนวด สปา และสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ เช่น งานอีเว้นต์ งานกลางคืน รวม 6.9 แสนคน โดยกระทรวงแรงงานจะจ่ายค่าทดแทนกรณีเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท 

ขณะเดียวกันลูกจ้างกลุ่มนี้รัฐยังช่วยจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้อีก 2,000 บาทต่อราย ซึ่งส่วนนี้จะได้รับเฉพาะลูกจ้างตาม ม.33 ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6 แสนคน ส่วนนายจ้างเองจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง โดยคิดรายหัวลูกจ้างที่อยู่ในบริษัทสูงสุดไม่เกิน 200 คน อีกส่วนหนึ่งผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม โดยพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างและนายจ้างที่มาลงทะเบียนในระบบถุงเงิน หากต้องการรับความช่วยเหลือผ่านมาตรการที่จะออกมานี้ก็ต้องไปรีบลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม โดยกระทรวงแรงงานจะอำนวยความสะดวกให้

“มาตรการนี้จะใช้เงินรวม 7,500 ล้านบาท แยกเป็น เงินจากกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท และใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน อีก 4,000 บาท ที่จะใช้ในส่วนที่รัฐช่วยเหลือรายละ 2,000 บาท โดยจะเสนอครม.วันที่ 29 มิ.ย.นี้ เห็นชอบหลักการ และจะเสนออนุมัติวงเงินในสัปดาห์ต่อไป เพื่อให้เริ่มต้นจ่ายเงินได้ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ ส่วนระยะถัดไปจะมีมาตรการเพิ่มเติมไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ” 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top