Saturday, 10 May 2025
GoodsVoice

SCBX เลื่อนยุติการให้บริการส่งอาหาร 'Robinhood' หลังพบหลายกลุ่มทุนเสนอซื้อกิจการเข้ามามากเกินคาด

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) เลื่อนการยุติการให้บริการส่งอาหาร (Food Delivery) ของแอปพลิเคชัน Robinhood ออกไปจากกำหนดเดิม คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เนื่องจากบริษัทอยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเสนอเข้าซื้อกิจการทั้งหมดจากผู้ที่สนใจ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ โดยยังคงการยุติการให้บริการส่วนอื่น ได้แก่ Travel, Ride, Mart และ Express ตามกำหนดเดิม คือในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567

ทั้งนี้ บริษัทมีความตั้งใจและพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะทำให้แอปพลิเคชัน Robinhood ซึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยคนไทยเพื่อคนไทย ได้มีโอกาสที่จะได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน อันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ร้านค้า และไรเดอร์ส่งอาหาร

SCBX หวังว่าการเลื่อนการยุติการให้บริการส่งอาหาร (Food Delivery) ออกไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 จะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากลูกค้า เพื่อช่วยเหลือร้านค้าและไรเดอร์ส่งอาหาร ผ่านแอปพลิเคชัน Robinhood เช่นเดียวกับตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป

ก่อนหน้านี้ SCBX ได้แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่ม SCBX มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป หลังจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิดได้ตามเป้าประสงค์

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงโควิด แอปพลิเคชัน Robinhood ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของร้านอาหารและธุรกิจต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองท่องเที่ยว จนผู้ประกอบการเหล่านั้นผ่านพ้นวิกฤต Robinhood ยังได้ช่วยเหลือต่อจนผ่านเข้าสู่สภาวะปกติได้

นอกจากนั้น Robinhood ยังช่วยสร้างงานให้กับไรเดอร์หลายหมื่นชีวิตในช่วงที่ยากลำบากอย่างต่อเนื่อง และดูแลอย่างเป็นธรรมจนหลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในส่วนของลูกค้าผู้ใช้บริการ Robinhood ได้เป็นตัวกลางช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายในราคาที่เป็นธรรมมาโดยตลอด

บัดนี้ เมื่อวิกฤตโควิดผ่านพ้นไปและธุรกิจต่าง ๆ เข้าสู่สภาวะปกติ แอปพลิเคชัน Robinhood จึงตัดสินใจยุติบทบาทลง เพื่อให้การยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood เป็นไปอย่างราบรื่น และส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อลูกค้าผู้ใช้งาน ร้านค้า ไรเดอร์ ผู้ขับรถยนต์โดยสาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โปรดทราบถึงข้อมูลสำคัญ ดังนี้

ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป ลูกค้าจะไม่สามารถใช้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ได้เป็นการถาวร, ผู้ประกอบการร้านค้า ไรเดอร์ ผู้ขับรถยนต์โดยสาร สามารถใช้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood Shop, Robinhood Rider, Robinhood Driver เพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้จนถึงวันที่ 31 ก.ค.2567 เวลา 20.00 น.

‘คลัง’ ปลดล็อก!! ‘ผู้ป่วยติดเตียง’ ใช้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ตได้ ชี้!! ลงทะเบียนไม่ต่าง อาจแตกต่างที่วิธีใช้สิทธิ รอเคาะ!!

(30 ก.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากที่ประชุม ครม.รับทราบหลักการไปแล้ว สามารถดำเนินการลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ให้รับทราบอีกครั้งเมื่อได้ยอดจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ชัดเจนอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับกระทรวงพาณิชย์ที่สามารถดำเนินการแถลงถึงความชัดเจนในเรื่องของขั้นตอน และในส่วนของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งวันเดียวกันนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อตรวจสอบถึงความพร้อมต่าง ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนรายละเอียดโดยเฉพาะของผู้ป่วยติดเตียงได้มีการระบุขั้นตอนที่ชัดเจนแล้วหรือยัง รวมทั้งผู้ป่วยบางประเภทที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นผู้พิการ แต่ไม่สามารถไปใช้จ่ายด้วยตัวเองได้ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยและหารือในประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่จะต้องมีการเช็กรายละเอียดอีกครั้งร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในส่วนของผู้พิการจะต้องมีกระบวนการยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ป่วยประเภทใด เพราะในการใช้เงินในโครงการดังกล่าวจะมีความแตกต่างกัน แต่การลงทะเบียนไม่แตกต่าง ใครมีมือถือระบบสมาร์ทโฟนก็ใช้ระบบดังกล่าว ใครไม่มีก็ใช้บัตรประชาชน ในส่วนของผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนนั้นจะมีการประกาศความชัดเจนว่าให้ลงทะเบียน ณ สถานที่แห่งใดในช่วงกลางเดือนก.ย.นี้

“ผู้ป่วยติดเตียงในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้มีการหารือกันว่าจะมีการใช้สิทธิอย่างไร แต่ในกระบวนการใช้ลงทะเบียนเหมือนกับบุคคลทั่วไปไม่มีความแตกต่าง แต่ในกระบวนการใช้สิทธิจะมีความแตกต่าง คนมีมือถือสมาร์ทโฟนก็ลงและใช้ผ่านสมาร์ทโฟน คนไม่มีสมาร์ทโฟนก็ต้องใช้ในกระบวนการที่แตกต่าง ซึ่งจะต้องปลดล็อกในกระบวนการ Face to Face หรือซื้อขายแบบตัวต่อตัว ผู้ที่ไม่มีมือถือสมาร์ตโฟน รัฐบาลจะประกาศรายละเอียดการลงทะเบียนเงินดิจิทัลอีกครั้งในช่วงเดือนก.ย.67 ส่วนรายละเอียด ขั้นตอน และคุณสมบัติของร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้นั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ จะแถลงความชัดเจนในวันที่ 1 ส.ค.67” รมช.คลัง กล่าว

เมื่อถามถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายหากสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในวาระ 2-3 จะสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายอะไรหรือไม่ เพราะมีการมองว่าเป็นการใช้งบเหลื่อมปีไปแล้ว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 8 หน่วยงาน ตามที่ทุกฝ่ายร้องขอและได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจให้มีความเข้าใจตรงกัน

“การที่มีบางฝ่ายมีข้อห่วงใย ว่าจะสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายนั้น ก็เป็นการชี้ชัดแล้วว่ามีการดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านกฎหมายก็ยืนยันชัดเจนว่าเป็นไปตามกรอบสามารถดำเนินการได้ และทั้ง 8 หน่วยงานที่เชิญมาให้ความมั่นใจว่าเราดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว” รมช.คลัง กล่าว

‘สุชาติ-รวมไทยสร้างชาติ’ นำทัพถกความร่วมมือการค้า ‘ไทย-จีน’ เล็ง!! ขยายสินค้าตลาดปศุสัตว์-ผลไม้-ดึงนักลงทุนจีนลุยไทยเพิ่ม

(30 ก.ค.67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุน หรือ ‘ซับ-คอมมิทตี ไทย-จีน’ ครั้งที่ 3 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเวทีการประชุมในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างไทยและจีน โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 

ทั้งนี้ ในการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยรมช.สุชาติฯ กล่าวว่า ”ในการประชุมครั้งนี้ตนจะเป็นประธานร่วมกับนายหลี่ เฟย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้นำประเด็นทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่สำคัญมาหารือกันในประเด็นสำคัญ อาทิ ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร โดยเฉพาะขอให้จีนเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์และผลไม้ให้ไทย และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าไทยไปจีน ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าของทั้งสองฝ่าย และในโอกาสนี้ตนได้เชิญชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ และการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง การค้าเสรีที่ไทยกับจีนมีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป“

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 การค้าไทยกับจีนมี มูลค่า 104,999 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับปี 2565 และในปี 2567 (มกราคม - พฤษภาคม) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 45,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.24 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี2566 โดยจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญของไทย อาทิ ผลไม้สด เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์และ ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีน อาทิ เครื่องจักร ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก และชิ้นส่วน ยานยนต์

‘ไทยออยล์’ ร่อนแถลง ยัน!! จ่ายค่าจ้างเอกชนตามสัญญาครบถ้วน พร้อมจี้ ‘UJV-Sinopec’ ดูแล-จ่ายเงินลูกจ้าง ก่อนยกระดับการชุมนุม

(30 ก.ค.67) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการชี้แจง ความคืบหน้ากรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า Unincorporated Joint Venture of Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (Petrofac), Saipem Singapore Pte. Ltd. (Saipem) และ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิม Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (Samsung) ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างตามกำหนดรวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยระบุว่า…

“ตามที่มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งได้รวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาตามกำหนด จากการสอบถามของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) เข้าใจว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานดังกล่าวเป็นพนักงานชาวไทยและเวียดนาม ของ บริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด (One Turn Ten), บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด (EMCO) และ บริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (Thai Fong)... 

ซึ่งทั้ง 3 บริษัทเป็นนายจ้างและเป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งของ บริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (Sinopec) ที่เป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV: Unincorporated Joint Venture of Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (“Petrofac”), Saipem Singapore Pte. Ltd. (Saipem) และ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิม Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (Samsung) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ให้กับ บริษัทฯ 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าจ้างจากนายจ้างทั้ง 3 บริษัท (One Turn Ten, EMCO, Thai Fong) รวมถึง Sinopec และ UJV ด้วย โดยทั้ง 3 บริษัทไม่ได้รับค่าจ้างจาก Sinopec และทาง Sinopec เองก็ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างช่วงจาก UJV ด้วยเช่นกัน จึงทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมารายย่อยต่าง ๆ รวมถึง 3 บริษัทข้างต้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายค่าตอบแทนให้ UJV ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาจ้างเหมาทำของ ออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) อย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว ซึ่ง UJV ได้ไปว่าจ้างผู้รับเหมาช่วงและมีสัญญาจ้างกับผู้รับเหมาช่วงอีกประมาณ 60 ราย รวมถึง Sinopec ด้วย 

ดังนั้น การที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วงมารวมตัวชุมนุมที่หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาช่วง (Sinopec) รวมถึง UJV ที่จะต้องรับผิดชอบในการชำระค่าจ้างและดำเนินการเพื่อให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานกลับไปทำงานได้ตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยได้ประสานให้มีการหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนของผู้รับเหมาช่วง และผู้แทน UJV มาอย่างต่อเนื่อง จากการเจรจาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ แต่บริษัทฯ ได้รับแจ้งว่าผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วง ผู้แทนของผู้รับเหมาช่วง และผู้แทน UJV มีความเข้าใจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและน่าจะบรรลุข้อตกลงได้และได้นัดหมายการเจรจาครั้งต่อไปในวันนี้ (30 กรกฎาคม 2567) เมื่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้รับทราบผลความคืบหน้าในการเจรจาและการนัดหมายครั้งต่อไป จึงได้สลายการชุมนุม เวลา 20.30 น. วันที่ 26 กรกฎาคม 2567

โดยในวันนี้ (30 ก.ค.67) ได้มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานมารวมตัวชุมนุมกันอีกครั้ง เพื่อรอฟังความคืบหน้าจากการประชุมร่วมกันระหว่าง Sinopec UJV นายจ้างของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้แทนจากภาครัฐ และ ผู้แทนจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อเจรจาหาข้อยุติการชำระเงินค้างจ่ายกับผู้รับเหมา ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการดูแลและมีบุคลากรที่มีความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยของโรงกลั่นไทยออยล์ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำแผนฉุกเฉินและการส่งกำลังพลเพื่อเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น โดยครอบคลุมพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ควบคุมการเข้า - ออกอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่าการรวมตัวชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ปลอดภัย และลดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ

เปิดใจ 'มาเฟียสายขาว' ที่ Startup รุ่นใหม่ต้องรู้ หากหวังชนะใจ 'วิชัย ทองแตง' 'โปร่งใส-ทุ่มเท' พร้อมพาเฮเข้าตลาดใน 3 ปี แง้ม!! 'เฮลท์เทค' โอกาสรุ่งสูง

เชื่อได้ว่าหลาย ๆ คนที่กำลังทำบริษัทสตาร์ตอัปอยู่ คงอยากจะรู้ว่าคุณวิชัย ทองแตง เศรษฐีพอร์ตหุ้นระดับหมื่นล้าน ผู้ได้ฉายา 'มาเฟียสายขาว' แห่งวงการสตาร์ตอัปท่านนี้ จะอยากสนับสนุนใครบ้าง โดยช่วงหนึ่งที่คุณวิชัย เคยแชร์ไว้ในงาน Beartai Best Buy ผ่านหัวข้อ The Money For Startup ระบุว่า…

“จริง ๆ คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มถอยห่างจากการเป็นพนักงานกินเงินเดือนมาเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากจะทดสอบและใช้ความรู้ความสามารถของตัวเอง เดินอยู่บนเส้นทางที่ตัวเองเป็นผู้กําหนด ซึ่งผมก็มองเห็นว่าศักยภาพของคนรุ่นใหม่ และคิดว่าเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย จึงได้ตัดสินใจเข้าไปช่วยส่งเสริม ผลักดัน ให้คำแนะนำ และในบางบริษัทก็เข้าไปร่วมลงทุนด้วย”

คุณวิชัยได้กล่าวถึงเป้าหมาย ขอบเขต และอนาคตของสตาร์ตอัปในมุมมองของตัวเองว่า “คำว่า ‘สตาร์ตอัป’ ในความหมายของผม ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ IT เท่านั้น แต่รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ด้วย แต่ที่ให้น้ำหนักกับธุรกิจ IT มากนั้น บอกตรง ๆ เลยว่าเวลาเราดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ ‘ตัวคูณ’ เยอะ และเป้าหมายการลงทุนของผม ในทุก ๆ การลงทุน จะมองไปยังเป้าหมายสุดท้ายคือเรื่องการเข้าตลาดทุนอยู่เสมอ”

“ผมเชื่อมั่นว่าสตาร์ตอัปสาย ‘เฮลท์เทค’ หรือธุรกิจสายสุขภาพในประเทศไทย สามารถเติบโตและก้าวเป็นผู้นำในระดับนานาชาติได้ ฉะนั้นผมจึงเปิดกว้างสำหรับสตาร์ตอัปที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบของการทำธุรกิจทางด้านสุขภาพ เพราะผมเชื่อว่าอย่างไรแล้วก็ไม่มีวันตกเทรนด์ สามารถเติบโตได้  และหากทำสำเร็จก็จะยั่งยืน เป็นจุดแข็งของประเทศได้เลย”

คุณวิชัยยังได้เผยถึงขั้นตอนการเข้าพบ เพื่อนำเสนอไอเดียธุรกิจ และเกณฑ์การตัดสินใจไว้ว่า “การเข้ามาพูดคุยกับผม เรียนตามตรงว่าจะยุ่งยากสักหน่อย ขั้นตอนแรกก็ต้องผ่านผู้ช่วยของผมก่อน 2 ท่าน หากผู้ช่วยเห็นว่าเหมาะสมและดูมีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคต ก็จะพาเข้ามาพรีเซ็นต์กับผม”

“ส่วนเรื่องเกณฑ์การตัดสินใจก็คือ ‘ความถูกใจ’ ผมจะมองถึงเรื่องความคิดใหม่ ๆ ที่ผ่านการทุ่มเทมามากพอสมควร เพราะคนที่จะเข้ามาทำสตาร์ตอัปได้นั้น หากขาดความอดทน ทุ่มเทอย่างแท้จริง ก็ยากที่จะทำได้ ไม่ว่ากับธุรกิจใด ๆ ก็ตาม” คุณวิชัยกล่าว

นอกจากนี้ คุณวิชัยยังได้กล่าวถึงการพาธุรกิจสตาร์ตอัปที่ผ่านเกณฑ์เข้าตลาดทุน แม้ว่าเจ้าของธุรกิจนั้น ๆ ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเข้าตลาดทุนว่า “ก่อนอื่นคือต้องปรับจูนความเข้าใจ ให้เห็นตรงกันก่อน ว่าการจะเดินเข้าสู่ตลาดทุนได้ ต้องมีการปรับตัวเอง เพราะมีกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างชัดเจน แต่หัวใจหลักใหญ่ก็คือ ‘ต้องโปร่งใส’ ไม่ว่าจะทําธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องคํานึงถึงความโปร่งใส ไม่เอาเปรียบ…

“อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เวลาผมจะลงทุนในธุรกิจใดก็ตาม สิ่งที่มองเป็นหลักสำคัญคือหากเอาเข้าตลาดทุน ต้องมองไปที่อนาคตว่าสามารถไปต่อได้หรือไม่? ธุรกิจนั้นมีอุปสรรคหรือมีข้อขัดข้องอะไรบ้าง หรือมีคู่แข่งมากเกินไปหรือไม่? ซึ่งตอนนี้ผมกําลังพยายามที่มอบความรู้เหล่านี้ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำสตาร์ตอัปอยู่…”

สุดท้าย คุณวิชัยได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับระยะเวลาพาบริษัทสตาร์ตอัปเข้าตลาดหลักทรัพย์ไว้ว่า “กว่าจะเข้าตลาดทุนได้นั้น ใช้เวลาปกติประมาณ 3 ปี แต่ก็มีโอกาสเร็วกว่านั้นหากว่ามีจังหวะที่เหมาะสม ธุรกิจนั้น ๆ แมตช์กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยมีทิศทางที่สอดคล้องกัน และสามารถไปด้วยกันได้ เพื่อให้ธุรกิจนั้น ๆ แข็งแรงและเติบโตได้ตามความฝันของคนรุ่นใหม่”

‘รมว.ปุ้ย’ หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เดินหน้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ปล่อยสินเชื่อ 'SME Green Productivity' วงเงิน 15,000 ลบ. ส.ค.นี้

(30 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบและอนุมัติโครงการสินเชื่อ 'SME Green Productivity' วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ นำไปเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน พัฒนายกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างราบรื่น ที่สำคัญช่วยให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถตอบโจทย์กติกาการค้าโลกยุคปัจจุบัน แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขับเคลื่อนกิจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน  

ด้าน นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ SME D Bank ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในโครงการสินเชื่อ 'SME Green Productivity' ซึ่งเป็นสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน เปิดกว้างกู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 3% ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือน และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำ โดยกำหนดจะเปิดยื่นคำขอกู้ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 นี้  

ทั้งนี้ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์ต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ หรือลดการใช้พลังงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านการพัฒนาหรือยกระดับด้านผลิตภาพ (Productivity) จากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนที่ธนาคารกำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357

'ปตท.สผ.' ชี้!! ครึ่งปีแรก 67 นำส่งรายได้ให้รัฐแล้ว 30,170 ล้านบาท พร้อมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 4.50 บาทต่อหุ้น

เมื่อวานนี้ (30 ก.ค.67) ปตท.สผ. เผยความคืบหน้าการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2567 ประสบความสำเร็จในการขยายฐานการลงทุนในตะวันออกกลาง ช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้บริษัทได้ทันที พร้อมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 4.50 บาทต่อหุ้น โดยนำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจให้กับรัฐประมาณ 30,170 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาประเทศ 

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 ว่าบริษัทมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยได้ขยายฐานการลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จากการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 10 ในแปลงสัมปทานกาชา หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยูเออี ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้บริษัทได้ทันที และช่วยเสริมประโยชน์และประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการร่วมกับโครงการสำรวจอื่น ๆ ซึ่งบริษัทมีการลงทุนอยู่แล้วในยูเออี โดยคาดว่าแปลงสัมปทานกาชาจะมีปริมาณการผลิตก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2573 และมีแผนที่จะทำการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อีกด้วย

ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. ได้จัดทำ 'EP Digital Platform' ซึ่งเป็นศูนย์รวมโครงการนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งที่บริษัทพัฒนาขึ้น และพัฒนาร่วมกับพันธมิตร กว่า 65 โครงการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอย่างครบวงจร ตั้งแต่งานด้านการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียม การซ่อมบำรุง โลจิสติกส์ และความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร รวมถึง สร้างประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งปัจจุบันและต่อไปในอนาคต 

ปตท.สผ. ยังได้ทำโครงการ 'Subsurface Data for U' เพื่อส่งมอบข้อมูลทางด้านธรณีศาสตร์จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจริงจากการดำเนินงานของบริษัท ให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนในสาขาธรณีศาสตร์และวิศวกรรมปิโตรเลียม เช่น ข้อมูลการสำรวจคลื่นไหวสะเทือน ข้อมูลหลุมเจาะ และข้อมูลด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัยให้กับสถาบันการศึกษาและนิสิตนักศึกษา เพื่อส่งเสริมการสร้างบุคลากรด้านธรณีศาสตร์ให้กับประเทศและส่งเสริมอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

สำหรับการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลนั้น ปตท.สผ. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือ PTTEP Ocean Data Platform ขึ้น โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการใช้แท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งเป็นสถานีเก็บข้อมูล เช่น ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ รวมทั้ง แสดงผลการศึกษาปริมาณไมโครพลาสติกในทะเล การตรวจติดตามและระบุชนิดสัตว์ทะเลใต้ขาแท่นผลิตปิโตรเลียม เพื่อใช้ในการจัดทำแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ 

ส่วนการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) นั้น ณ สิ้นไตรมาส 2 นี้ ปตท.สผ. ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 3.22 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีฐาน 2563 โดยการบริหารจัดการการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนต่ำ การจัดการหลุมผลิตที่เหมาะสม รวมถึง การจัดทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

สำหรับผลประกอบการในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2567 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 166,887 ล้านบาท (เทียบเท่า 4,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.)) มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 489,879 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 สู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลงเล็กน้อยจากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง โดยในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทมีกำไรสุทธิ 42,660 ล้านบาท (เทียบเท่า 1,177 ล้านดอลลาร์ สรอ.) และมีต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) อยู่ที่ 28.6 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ร้อยละ 76

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2567 ที่ 4.50 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 14 สิงหาคม 2567 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 สิงหาคม 2567

นอกจากนี้ ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 ปตท.สผ. ยังได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ  จำนวนกว่า 30,170 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่รัฐได้รับโดยตรงจากการผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย

นับถอยหลัง 'วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ' ในประเทศไทย สถาบันการศึกษาเฉพาะด้านพลังงาน ใต้การผลักดันของ 'พีระพันธุ์'

ปัจจุบัน สถาบันการศึกษามากมาย ต่างพยายามแข่งขันกันเปิดสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ประเทศอย่างถึงที่สุด

นั่นก็เพราะ ในความเป็นจริงแล้ว ที่ผ่านมาการผลิต ‘บุคลากร’ ให้ตรงกับงาน โดยเฉพาะงานที่มีความเป็น ‘เฉพาะด้าน’ ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่มักจะได้สถาบันการศึกษา ‘เฉพาะด้าน’ ภายใต้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‘เฉพาะด้าน’ เป็นแรงหนุนสำคัญ

ตัวอย่างที่เห็นปรากฏอยู่ อาทิ คณะวิชาด้านการสาธารณสุขทั้งแพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, นักเทคนิคการแพทย์ และพยาบาล ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งต่างมีโรงพยาบาล เพื่อให้การศึกษาและฝึกฝน หรือแม้แต่ด้านทหาร ก็มีโรงเรียนนายทหารทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนของเหล่าทัพต่าง ๆ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี และสถาบันการบินพลเรือน ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ฯลฯ

ในส่วนของพลังงาน ภายหลังจาก ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการลดราคาพลังงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า แก๊ส ให้ได้ราคาที่มีความถูกต้อง ยุติธรรม และเหมาะสม เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด 

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ตระหนักควบคู่กันนั้นคือ การบริหารจัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ ‘รู้จริง’ และ ‘ทำเป็น’ อีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรเหล่านี้ ‘กระทรวงพลังงาน’ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่อง ‘พลังงาน’ โดยตรง สมควรจะเป็นหน่วยรับผิดชอบและดำเนินการในการจัดตั้งและบริหารจัดการ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ให้เกิดขึ้น

ปัจจุบัน ทุกครั้งที่ ‘พีระพันธุ์’ มีโอกาสได้เจรจาหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐและภาคเอกชนต่างชาติ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ ก็มักจะหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเป็นประเด็นในการเจรจาหารืออยู่เสมอ อาทิ เมื่อ 7 มิถุนายน 2567 นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า CHANGAN (ฉางอาน) ได้เข้าพบ ‘พีระพันธุ์’

ครั้งนั้น ทางฉางอาน ได้แสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ ในการตั้งวิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ โดยกระทรวงพลังงาน โดยทางบริษัทจะร่วมให้การสนับสนุนด้วยการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี และการศึกษาของภาคยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย ด้วยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยานยนต์ที่ยั่งยืนของประเทศไทย และเสริมสร้างทักษะแรงงานในท้องถิ่นให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยานยนต์ยุคใหม่ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังกลุ่มผู้ประกอบการผลิตอะไหล่รถยนต์ภายในประเทศ และการจัดหาพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในอนาคต และร่วมผลักดันให้ไทยเป็น EV Hub ของอาเซียนต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นาย Sergey Mochalnikov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่เข้าเยี่ยมคารวะ ‘พีระพันธุ์’ ก็มีการหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือเช่นกัน โดยรัสเซียมีการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นถึงเรื่องของ ‘พลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy)’ ด้วยแนวคิดที่ว่า...

“ความยั่งยืนของพลังงานจะเกิดขึ้นได้ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยผลกระทบเหล่านี้ มีตั้งแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ไปจนถึงความขาดแคลนด้านพลังงาน และของเสียที่เป็นพิษ จึงต้องเริ่มคำนึงถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานลม, พลังน้ำ, พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และมีความยั่งยืนมากกว่าแหล่งเชื้อเพลิงจากฟอสซิล พร้อม ๆ ไปกับแนวคิดในการอนุรักษ์พลังงานด้วย”

แม้กระทั่ง ในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ของ ‘พีระพันธุ์’ และคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทย ก็ได้หยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือด้วย ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียก็ยินดีให้การสนับสนุนการจัดตั้ง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ เช่นกัน 

ทั้งนี้เพราะซาอุดีอาระเบียตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งมีแหล่งพลังงานชนิดต่าง ๆ รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนมากมาย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การศึกษาด้านวิศวกรรมพลังงานในซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนาแหล่งทรัพยากรของประเทศและยกระดับเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานต่าง ๆ รวมถึงหมุนเวียนในระดับชาติได้ อันจะช่วยสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศต่อไป

แม้ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ อาจแลดูเหมือนเป็นการแข่งขันกับสถาบันศึกษาทั่วไป แต่เพื่อภารกิจการบริหารจัดการเรื่องของ ‘พลังงาน’ ให้ดีที่สุด จะช่วยเพิ่มบุคลากรที่นอกเหนือ ‘นักคิด-นักทฤษฎี’ แต่จะได้ ‘นักปฏิบัติ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อไทย

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ ที่ไทยจำเป็นต้องมี ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ โดย ‘กระทรวงพลังงาน’ เพื่อให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ผลิตบุคลากรด้านพลังงานทั้งระบบให้ได้ทั้ง ‘คุณภาพ’ และ ‘ปริมาณ’ แบบ ‘ทันเวลา’ สามารถรองรับต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศ และการใช้พลังงานในภาพรวมทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และสูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทยต่อไป 

‘ร้านชำ จ.ชัยนาท’ ประกาศไม่เข้าร่วมโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หวั่น!! ‘ทุนจม-ถอนเงินไม่สะดวก’ เผย รับเงินสดสบายใจกว่า

(31 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ซึ่งในวันนี้มีเสียงสะท้อนจากร้านขายของชำในพื้นที่ จ.ชัยนาท ที่ส่วนใหญ่บอกว่า จะไม่เข้าร่วมโครงการเพราะกังวลกับสารพัดปัญหาที่จะต้องเจอ

รายแรกเจ๊โบ๊ะ แม่ค้าร้านชำประจำหมู่บ้านเขาดิน ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท บอกกับทีมข่าวว่า ตนเองจะไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอย่างแน่นอน เพราะเป็นการขายที่ไม่ได้รับเป็นเงินสด ซึ่งตนกังวลว่าจะจมทุน เพราะเงินดิจิทัลที่ได้มา ไม่สามารถเอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้สะดวกนัก เพราะถ้าจะแปลงเป็นเงินสดก็ต้องใช้เวลา ซึ่งตนมองว่าจะเป็นการจมทุนเสียเปล่า ๆ ยิ่งร้านตนเป็นร้านเล็ก ๆ ทุนน้อย ยิ่งจะเอาทุนไปจมกับเงินดิจิทัลก็จะเกิดความเสี่ยง จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมดีกว่า ขายเงินสดก็เพียงพอที่จะมีกำไรและอยู่ได้

ด้านเฮียเป้า เจ้าของร้านขายของชำหน้าวัดท่าช้าง อ.เมืองชัยนาท ก็พูดทำนองเดียวกันว่า ตนเคยเหนื่อยกับโครงการบัตรคนจนมาแล้ว และจะไม่ขอเหนื่อยกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตอีกอย่างแน่นอน เพราะตนมองเห็นปัญหาล่วงหน้า ทั้งระบบการสแกนจ่าย การยืนยันตัวตน ที่ระบบจะมีปัญหาเวลาคนใช้พร้อมกันมาก ๆ และที่สำคัญตนเองจะต้องเอาเงินสดลงทุนไปก่อน จึงจะมาขาย รับเป็นเงินดิจิทัล ที่จะดึงออกมาเป็นเงินสดก็ไม่สะดวกตามที่ต้องการ ดังนั้นตนจึงไม่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างเด็ดขาด เพราะเห็นความยุ่งยากลำบากที่กำลังจะเกิดขึ้น

ส่วนลุงจงเจ้าของร้านชำอีกแห่งหนึ่งก็ยอมรับว่า ตนเองมีความกังวลกับการแปลงเงินดิจิทัลเป็นเงินสดในโครงการนี้ แต่เมื่อนึกถึงว่า ลูกค้ามีเงินอยู่ในมือคนละ 10,000 บาท นั่นหมายถึงกำลังซื้อมหาศาลที่รออยู่ จะปฏิเสธรายได้จุดนี้โดยไม่เข้าร่วมก็น่าเสียดาย ตนจึงจะลงทะเบียนร่วมโครงการในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างก็ตาม

'กกพ.' เคาะค่าไฟใหม่เป็นทางการ 4.18 บาท กลุ่มเปราะบาง 3.99 บาท หลัง 'พีระพันธุ์' สั่งตรึงราคา จบตัวเลขก่อนหน้าที่จ่อพุ่งแตะ 6 บาท

(31 ก.ค.67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประชุมเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บในงวดสุดท้ายของปี ก.ย.-ธ.ค. 67 อย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค. 67 ใน 3 กรณี คือ กรณีแรก หน่วยละ 4.65 บาท กรณี 2 หน่วยละ 4.92 บาท และกรณี 3 หน่วยละ 6.01 บาท แต่ละกรณีแตกต่างกันที่การชำระหนี้คงค้างจำนวน 98,495 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

อย่างไรก็ตาม แม้ กกพ.จะประกาศ 3 ราคา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นค่าไฟทั้งหมด จากงวดปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท แต่ทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ขอที่ประชุม ครม.พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายไว้เท่าเดิม คือ หน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งทาง ครม.วันที่ 23 ก.ค. 67 ได้อนุมัติแนวทางตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการภาระค่าเชื้อเพลิงร่วมกับ กฟผ. และบมจ.ปตท. รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่กรอบไม่เกินลิตรละ 33 บาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 ซึ่งขณะนี้ทาง กกพ.ได้รับหนังสือยินยอมภาระต้นทุนคงค้าง และจะทยอยคืนทีหลังจาก กฟผ.แล้ว และคาดว่า วันที่ 30 ก.ค. ทาง ปตท.จะส่งหนังสือรับภาระต้นทุนคงค้าง และทยอยจ่ายคืนทีหลังเช่นกัน

ทั้งนี้หากที่ประชุมบอร์ด กกพ. อนุมัติและประกาศเป็นทางการแล้ว คาดว่า ใช้เวลา 1-2 วัน หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังจากบอร์ดเห็นชอบ ส่งผลให้บิลค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย.–ธ.ค. 67 อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไปจะอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท ส่วนกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ยังคงไว้ในอัตราเดิมหน่วยละ 3.99 บาท มีจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือนเช่นเดิม โดย ครม.จะนำงบกลางมาชดเชย

อย่างไรก็ตามผลจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท จากที่ควรต้องปรับขึ้นตามแนวทางที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นที่ 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย ทำให้ ปตท.และ กฟผ. จะยังไม่ได้รับการคืนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หรือเอเอฟก๊าซ ที่ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันแบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อน 15,083.79 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับคืนภาระต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงเพียงหน่วยละ 5 สตางค์ จากภาระต้นทุนคงค้างที่สะสมอยู่จำนวน 98,495 ล้านบาท จะต้องรอทยอยเรียกเก็บคืนจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในภายหลัง ซึ่งยังไม่รู้อนาคตว่า งวดแรกของปี 68 (ม.ค.-เม.ย.) จะต้องรับภาระยืดการชำระไปอีกหรือไม่ เนื่องจากทิศทางราคาพลังงานยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top