Monday, 17 June 2024
GoodsVoice

'รมว.ปุ้ย' เตือน!! แผงโซลาร์เซลล์ ไม่มี มอก.ไม่มีมาตรฐาน เสี่ยงไฟไหม้ ย้ำ!! ต้องเลือกที่มี มอก.เท่านั้น เพราะผ่านทดสอบการลุกไหม้มาแล้ว

(9 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่ผ่านมามีการสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนติดตั้ง Solar Rooftop ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวของประเทศ ซึ่งมีสถานประกอบการและประชาชนให้ความสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากขึ้น

"แต่เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หากนำแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่มีมาตรฐาน และไม่ได้ติดตั้งตามมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญ อาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้แผงโซลาร์เซลล์ตามที่มีการแชร์คลิปในโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานของสินค้า ให้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจและให้ความรู้กับประชาชนในการเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก"

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุการเกิดไฟไหม้แผงโซลาร์เซลล์นั้นมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือ กระแสไฟฟ้าไหลได้ไม่สะดวก เนื่องจากมีการต่อแผงเข้าด้วยกันหลาย ๆ แผง หากแผงใดเกิดมีปัญหา จะทำให้แรงดันไฟฟ้าจากหลาย ๆ ที่ไหลไปรวมตัวกันที่แผงดังกล่าว จนทำให้เกิดความร้อนสะสม เมื่อความร้อนเกินกว่าศักยภาพที่แผงโซลาร์เซลล์นั้นจะรับได้ ก็จะเกิดกระแสไฟลุกไหม้ตัวแผงนั้นขึ้นมา จนลุกลามกระจายไปยังแผงอื่น ๆ 

ดังนั้นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด คือ ควรเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐานมี มอก. รับรอง เพราะผ่านการทดสอบการทนความร้อน การลุกไหม้ และการลามไฟมาแล้ว 

"สมอ. มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มอก. 61215 เล่ม 1(1) - 2561 เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่แสดงประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งมีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการทนความร้อน การตัดไฟ การใช้งานในอุณหภูมิสูง การป้องกันไฟรั่ว การลามไฟ และมีระบบป้องกันไม่ให้เกิดความร้อน จนเกิดการลุกไหม้ในจุดที่ถูกบดบังการรับแสง ไม่ว่าจะเกิดจากเงาเมฆ มีใบไม้มาบัง หรือแผงเกิดความสกปรก แผงโซลาร์เซลล์นั้นก็จะยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่มีมาตรฐาน จะมีความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและป้องกันอันตรายจากไฟไหม้ได้" นายวันชัย กล่าว

ปัจจุบัน มีผู้ผลิตภายในประเทศที่ได้รับใบอนุญาต มอก. 61215 เล่ม 1 (1) - 2561 และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 จาก สมอ. แล้ว จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เทลซัน เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด 2. บริษัท ฟูโซล่าร์ จำกัด  3. บริษัท โซล่าเพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด 4. บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด 5. บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท รันเนอร์จี พีวี เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด และ 7. บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) จึงขอฝากถึงประชาชนให้เลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน มอก. และมีเครื่องหมายรับรอง เพื่อความปลอดภัย

‘อรรถพล’ ส่งต่อภารกิจ CEO แก่ ‘ดร.คงกระพัน’ สานต่อ-ขับเคลื่อน ปตท. ทุกมิติ มุ่งสู่ความยั่งยืน

(10 พ.ค. 67) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่งต่อภารกิจ CEO ให้กับ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป 

โดย ดร.คงกระพัน จะสานต่อการขับเคลื่อน ปตท. ให้เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย ผ่านการดำเนินธุรกิจในทุกมิติ สร้างเสถียรภาพทางพลังงาน เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

‘ซีพี แอ็กซ์ตร้า’ โชว์รายได้รวม 1/67 แตะ 1.27 แสนลบ. ลุยขยายสาขา-พัฒนาทุกช่องทางขาย-เพิ่มสัดส่วนรายได้

บมจ. ซีพี แอ็กซ์ตร้า (บริษัทฯ หรือ CPAXT) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2567 กำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และมีรายได้รวม 127,020 ล้านบาท สูงขึ้นกว่า 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากการเติบโตในทุกช่องทาง โดยเฉพาะยอดขาย Omni Channel ที่โตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการขยายสาขาใหม่ และการปรับโฉมสาขา ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ 

เมื่อวานนี้ (9 พ.ค. 67) นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 (เดือนมกราคม-มีนาคม) เติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมียอดรายได้รวม 127,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และมีกำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งผลมาจากการเติบโตของยอดขายภายในสาขาเดิม โดยเฉพาะจากการขายออนไลน์และการขายนอกร้านพร้อมการส่งสินค้าถึงลูกค้า (“Omni Channel”) และการขยายสาขาใหม่ที่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ และผลประกอบการที่แข็งแกร่งของทั้งธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่น”

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าสร้างการเติบโตของรายได้ปี 2567 อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งขับเคลื่อนการเติบโตผ่านทุกช่องทางจำหน่าย  

-ยอดขาย Omni Channel มุ่งเพิ่มสัดส่วนเป็นอย่างน้อยร้อยละ 17 ของยอดขายรวมในปีนี้ โดยเน้นเพิ่มความหลากหลายของสินค้า พัฒนาบริการ และการขยายพื้นที่ให้บริการ รวมถึงใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายของทั้งธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกรวมกว่า 2,600 สาขาทั่วประเทศ เป็นจุดกระจายและจัดส่งสินค้า พร้อมกับการพัฒนาทีมนักขายนอกร้าน เพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร 

-การขยายสาขาใหม่ และปรับโฉมสาขาทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่ในห้างค้าส่งและค้าปลีกให้เป็นศูนย์กลางชุมชน รวมการใช้ชีวิตแบบสมาร์ทของคนทุกวัย สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น

-การผนึกจุดแข็งด้านอาหารสดของบริษัทฯ และบริษัทย่อย โดยเน้นการพัฒนาสินค้ากลุ่มอาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมทาน รวมทั้งสร้างความแตกต่าง และเพิ่มกำไรด้วยการขยายสัดส่วนยอดขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ (Private Label) 

“บริษัทฯ มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจสู่องค์กรที่มีความยั่งยืนระดับโลก พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สะท้อนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สำหรับความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มบริษัทฯ หลังจากได้รับมติอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว คาดว่าธุรกรรมทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567 โดยการควบบริษัทครั้งนี้ ตั้งเป้าสร้างยอดขายและอัตรากำไรที่ดีขึ้น รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดลง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอแก่ผู้ถือหุ้น พร้อมสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน” นายธานินทร์ กล่าวปิดท้าย

'อ.วีระศักดิ์' เผย!! ผลลัพธ์จากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนมานานกว่า 50 ปี พามนุษยชาติก้าวสู่สมรภูมิ 'เกินธรรมชาติ' ที่ยากจะถอยกลับ

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเด็น 'โลกร้อนสู่โลกเดือด' 

เมื่อถามว่าภาวะโลกเดือดคืออะไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า "เป็นปรากฏการณ์เกินธรรมชาติ ปกติเราจะสัมผัสอากาศร้อนทุก ๆ ปี แต่ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่ธรรมชาติแล้ว เกินธรรมชาติ เนื่องจากเราได้ก้าวย่างเข้าสู่สมรภูมิที่ถอยกลับไม่ทันแล้ว แต่แย่ลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากมนุษย์สร้างความเสียหายจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนมายาวนานกว่า 50 ปี อุณหภูมิโลกเริ่มค่อย ๆ อุ่นขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และก้าวกระโดดในยุคที่เราเริ่มมีโทรศัพท์มือถือใช้และในยุคอุตสาหกรรมก็ก่อให้เกิดโลกร้อนอย่างรวดเร็ว"

อ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุเกิดจากภาคอุตสาหกรรม, การทำการเกษตร, การทำปศุสัตว์และการเผาป่า โดยแบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ ได้แก่...

1.มนุษย์ได้ทำลายที่ดินจำนวนมากเพื่อทำปศุสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก หรือจะเรียกว่า 'ปากพาพัง' ก็ได้  

2.ความสะดวกสบายในการขนส่ง 

3.เสื้อผ้า สิ่งทอ ทำให้เกิดขยะจากวัสดุ เสื้อผ้ามากมาย หรือการใช้พลังงานในการผลิตเสื้อผ้าที่เรียก Fast Fashion ซึ่งมีการผลิตออกมาในแต่ละฤดูกาลจำนวนมาก จึงทำให้ต้องโละเสื้อผ้าเก่ากลายเป็นขยะขนาดใหญ่ถูกนำไปทิ้งในทะเลทราย 

"ถ้ามองลงมาจากดาวเทียมในอวกาศก็จะเห็นกองเสื้อผ้าขนาดมหึมาที่มองเห็นได้ ในอเมริกาใต้ แอฟริกา ประมาณการได้ว่า Fast Fashion ได้ใช้พลังงานของโลกไปมากกว่าการขนส่งทางเรือและทางอากาศรวมกัน" อ.วีระศักดิ์ กล่าวเสริม

เมื่อถามว่ามนุษย์จะต้องเจอผลกระทบใดบ้างจากโลกเดือด? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า "ปัจจุบันนี้เราต้องสู้กับทั้งความร้อนและความชื้น เพราะอุณหภูมิในอากาศสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่วนผิวหนังภายในร่างกายเราอาจจะรู้สึกเกือบ 50 องศาเซลเซียส เพราะมันมีความชื้น ทำให้เหงื่อไม่ระเหย จึงทำให้รู้สึกอึดอัด ส่งผลให้เกิดฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้เวลาอยู่กลางแดดนาน ๆ...

"ปัจจุบันในต่างประเทศมีการประกาศคุ้มครองลูกจ้างพนักงานทั่วไป รวมถึงไรเดอร์เพื่อความปลอดภัยในเรื่องนี้ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับคลื่นความร้อนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก เช่น การเปิดเทอมในประเทศอาเซียนปีนี้ ให้นักเรียนสามารถเรียนหนังสือจากที่บ้านแทนเรียนที่โรงเรียน ส่วนฟิลิปปินส์มีการนำเอารถอาบน้ำมาจอดให้บริการประชาชนสามารถมาอาบน้ำเพื่อผ่อนคลายได้...

"ส่วนที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาหน่วยงานรัฐมีการซื้อสีทาบ้านสีขาวสมทบให้กับคนผิวดำรับสีไปเพื่อไปทาบ้าน ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิไปได้ 2 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับที่อินเดียก็เปลี่ยนหลังคาให้สะท้อนความร้อนออกมาได้อย่างน้อย 1-2 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่เคยเห็นในประเทศไทย"

เมื่อถามว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชนทุกคนควรทวงสิทธิในเรื่องนี้จากฝ่ายการเมือง ว่านโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประชาชนต้องทำอย่างไรในฐานะเจ้าของสิทธิ ซึ่งประชาชนต้องเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และผลที่จะตามมาจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ใหญ่ การปรับตัวเรื่องการบริโภคอาหารเนื่องจากอาหารจะมีราคาแพงมากขึ้น ต้องปรับตัวใช้จ่ายอย่างพอเพียง 

"เราต้องถนอมทรัพยากรและถนอมพลังงานมากขึ้น เช่น ในอินเดียรัฐบาลกลางร่วมลงทุนร่วมกันกับชุมชน โดยสร้างโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) คร่อมทางส่งน้ำ และลอยแผงโซลาร์เซลล์ในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ส่วนไทยตอนนี้ก็มีการใช้โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ที่เขื่อนสิริธรและเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้าลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนไปแล้ว อีกประเด็นสำคัญหน่วยงานรัฐต้องมีแผนแก้ปัญหาในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับเมือง ส่วนการแยกขยะของครัวเรือน จริง ๆ เป็นวิธีฝึกเรา หัวใจสำคัญที่สุดคือ การถาม มีกี่บ้านที่ถามคนเก็บขยะว่าอยากให้เราแยกขยะอย่างไร เพราะคนเก็บขยะเค้ามีรายได้เพิ่มจากการนำขยะไปแยกเพื่อขาย แต่ถ้าไม่สื่อสารกันก็อาจจะนำขยะมารวมกันอยู่ดี ทำให้เสียเวลามากขึ้น" อ.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ควรอยู่ใต้กรอบนโยบายรัฐและโฟกัสเฉพาะนโยบายการเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง' เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

คงไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ว่า ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงร่วมกับรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็สมควรมีอิสระในการทำงาน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) focus เฉพาะนโยบายการเงิน และ (2) อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายทางนโยบายของรัฐบาล

ประการแรก ธนาคารกลางที่สำคัญทั่วโลกทำหน้าที่หลักของธนาคารกลาง ซึ่งได้แก่การดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น นโยบายการเงินคือการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำทุกอย่าง ตั้งแต่การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน จนถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน เมื่อทำหลายอย่างก็ย่อมเกิด Conflict of Interest การเข้าไปกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก็อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายธนาคารจนนำไปสู่ความเกรงอกเกรงใจ จนไม่กล้าที่จะลดดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรลดลง

การทำหน้าที่แบบจับฉ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังนำมาซึ่งการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรและการใช้เงินภาษีอากร ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ทางการคลังของรัฐบาล เมื่อธนาคารกลางเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาล แล้วจะไม่ให้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งกับธนาคารกลางได้อย่างไร?

ดังนั้นหากต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระ มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วนเพื่อจำกัดบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยให้อยู่เฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น ไม่ใช่ทำแบบไม้จิ้มฟันยันเรือรบเช่นในปัจจุบัน

ประการที่สอง ความเป็นอิสระย่อมต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบต่อเป้าหมายและสังคม (Accountability) 'การพลาดเป้า' ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้เป็นครั้งแรก เราคงจำวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 กันได้ ความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จนกลายเป็นหนี้สาธารณะจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท และยังใช้หนี้ไม่หมดจนทุกวันนี้

มาถึงวันนี้ นโยบายการเงินพลาดเป้าเงินเฟ้อมา 2 ปีติดต่อกัน และกำลังจะพลาดเป้าอีกครั้งในปีนี้ ปี 2565 เงินเฟ้อไทยขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% สูงที่สุดในอาเซียน พอปี 2566 เงินเฟ้อติดลบจนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืดประเทศเดียวในอาเซียน ความผันผวนทางการเงินยังความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมาก ในภาวะที่นโยบายการเงินพลาดเป้าอย่างน่าอับอายขายหน้าเช่นนี้ คนไทยยังจะยอมให้แบงก์ชาติเป็นรัฐอิสระอยู่อีก หรือจะรอให้เกิดต้มยำกุ้ง ภาค 2 ก่อนจึงค่อยแก้ไข?

‘มาย บาย เคทีซี’ ปักธงผู้นำลอยัลตี้ แพลตฟอร์ม เดินหน้าขยายฐาน โหลดแอปฯ ครั้งแรก ลุ้นบินเวียดนาม

(11 พ.ค.67) นางสาวอุษณีย์ เลาหะวรนันท์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานสื่อสารการตลาดและธุรกิจ MAAI BY KTC ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า มาย บาย เคทีซี (MAAI BY KTC) ผู้ให้บริการด้านดิจิทัล ลอยัลตี้ แพลตฟอร์ม (Digital Loyalty Platform) แบบครบวงจร มอบสิทธิพิเศษแก่สมาชิก MAAI BY KTC ผ่านแคมเปญ ‘โหลด แลก ลุ้น เที่ยวฟิน บินเวียดนาม’ เชิญชวนผู้ที่ยังไม่มีแอปฯ MAAI BY KTC ดาวน์โหลด สมัครใช้งาน และใช้คะแนนมายแลกคูปองส่วนลดร้านค้าใดก็ได้บนแอปฯ MAAI BY KTC และกรณีการแลกคูปองรายการตกอยู่ในลำดับที่ 99 / 499 และ 1,299 สมาชิกจะได้รับรางวัลจากสกายฟันทราเวล Phu Quoc Fun & Easy Package มูลค่า 11,900 บาท ประกอบด้วย บัตรโดยสารสายการบินไทยเวียตเจ็ท (Thai Vietjet) 2 ที่นั่ง ไป – กลับ สุวรรณภูมิ – ฟู่โกว๊ก ประเทศเวียดนาม พร้อมที่พักโรงแรมวินฮอลิเดย์ส เฟียสต้า ฟู่โกว๊ก (Vinholidays Fiesta Phu Quoc) 2 คืน ผู้สนใจสามารถสมัครแอปฯ MAAI BY KTC และแลกคูปองได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 – วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับรางวัลผ่าน Facebook Page: MAAI BY KTC ในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ktc.co.th/maai/skyfun 

มาย บาย เคทีซี พร้อมต่อยอด ให้การสร้างความผูกพัน ผ่านคะแนนสะสมของธุรกิจพันธมิตรแข็งแกร่งขึ้น ด้วยเครือข่ายพันธมิตรคูปองร้านค้าชั้นนำกว่า 40 ร้านค้า มากกว่า 8,000 จุดรับแลกคะแนน และสมาชิกสามารถใช้คะแนนมาย สแกนจ่ายที่ร้านถุงเงินกว่า 1.8 ล้านร้านค้าทั่วประเทศ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทั้ง กิน ช้อป เที่ยว สำหรับสมาชิกใหม่ที่ไม่มีคะแนนมายสามารถโอนคะแนนจากพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจอุตสาหกรรม ดังนี้
• คะแนน Bangchak (สมาชิกสถานีบริการน้ำมัน บางจาก)
• คะแนน J POINT (สมาชิกในเครือเจมาร์ท) 
• คะแนน KTC FOREVER (สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี)
• คะแนน M Point (สมาชิก M Card)
• ONESIAM Coin (สมาชิก ONESIAM)
• คะแนน Max Point (สมาชิก PT Max Card)
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอป MAAI BY KTC ผ่าน App Store Google Play และ AppGallery สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 02 123 5678 หรือ https://www.ktc.co.th/maai/crm

หมายเหตุ : เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด

‘WHAUP’ โชว์ฟอร์มเด่น ธุรกิจ ‘น้ำ-ไฟฟ้า’ ดันกำไรปกติพุ่ง 62% เร่ง!! เดินหน้าต่อจิ๊กซอว์ ‘Green Logistics’ ผุดสถานีชาร์จรถ EV

(11 พ.ค.67) บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘WHAUP’ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2567 โดยบริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 1,047 ล้านบาท และมีกำไรปกติ (Normalized Net Profit) จำนวน 372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% และ 62% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีกำไรสุทธิซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 470 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของกำไรปกติมีสาเหตุหลักจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งจากในส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ที่รับรู้ค่าความพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้นจากการหยุดซ่อมบำรุงที่ลดลง และจากในส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้า SPP ที่ได้รับปัจจัยบวกจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตรากำไรในส่วนของไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายน้ำทั้งในประเทศไทยและเวียดนามยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภค(น้ำ) ในไตรมาส 1/2567 มีปริมาณยอดจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณจำหน่ายและบริหารน้ำในประเทศเพิ่มขึ้น 14% ซึ่งมีการเติบโตขึ้นทุกผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำดิบ (Raw Water) จากปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-added Product) จากปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ารายใหม่ที่ได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว

ในส่วนของธุรกิจน้ำในต่างประเทศ ในช่วงไตรมาส 1/2567 ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณยอดขายน้ำของโครงการ Duong River ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้โครงการ Duong River ยังมีการปรับราคาขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในงวดไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ Duong River จำนวน 18 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนอยู่ที่ -11 ล้านบาท 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตในธุรกิจน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาการให้บริการน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ปริมาณการผลิต 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) โดยคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 3/2567 

ด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงลดลง ส่งผลให้ได้รับค่าความพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้น และจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPPs ที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้นทุนก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้กำไรจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ในส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ประเภท Private PPA เพิ่มจำนวน 15 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 59 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีการลงนามในสัญญาโครงการ Private PPA สะสมทั้งสิ้น 242 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 125 เมกะวัตต์ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกจำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบันได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EGAT และ PEA เสร็จสิ้นแล้ว 4 โครงการ จำนวนรวม 85 เมกะวัตต์ สำหรับอีก 1 โครงการที่เหลือคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้เร็วๆ นี้ ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นจากโรงไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ราว 812 เมกะวัตต์  โดยบริษัทมีเป้าหมายในการเพิ่มสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นไปที่ระดับ 1,000 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการต่อยอดธุรกิจพลังงานสะอาดผ่านการพัฒนา นวัตกรรมและโซลูชั่นด้านพลังงานใหม่ๆ อาทิ การเปิดให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สอดรับกับแผนการลงทุนใน Green Logistics แบบครบวงจรของ WHA Group โดยได้ตั้งเป้าขยายการให้บริการครบ 120 ตู้ชาร์จภายในปีนี้ 

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า WHAUP มีความมุ่งมั่นในการแสวงหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดการเติบโตและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group นอกจากนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.2525 บาทต่อหุ้น แบ่งเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้ผู้ถือหุ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 จำนวน 0.0600 บาทต่อหุ้น และอนุมัติจ่ายปันผลเพิ่มเติมอีก 0.1925 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของ WHAUP  

'อ.อุ๋ย-ปชป.' แนะรัฐบาลสั่ง 6 แบงก์รัฐ นำร่องลดดอกเบี้ย เดี๋ยวแบงก์พาณิชย์จะลดดอกเบี้ยตามเอง เพื่อไม่ให้เสียลูกค้า

เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

ดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป เป็นเครื่องมือหนึ่งของแบงก์ชาติ ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้เกินเป้าหมาย 3% ต่อปี ตามหลักเศรษฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติไม่มีอำนาจสั่งธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงการส่งสัญญาณว่าธนาคารพาณิชย์ควรจะขึ้นหรือลดดอกเบี้ยเท่าใด ส่วนแต่ละธนาคารจะตัดสินอย่างไร เป็นเรื่องของแต่ละธนาคาร โดยดูจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ดังที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือจาก 4 ธนาคารใหญ่ และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ซึ่งสุดท้ายสมาคมธนาคารไทยก็มีการปรับลดดอกเบี้ย MRR ลงร้อยละ 0.25 สำหรับผู้กู้บางส่วน ซึ่งไม่ตรงกับมติของแบงก์ชาติ (กนง.)  

ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับหลักความเป็นอิสระของแบงก์ชาติตามที่หลายฝ่ายกังวล รัฐบาลก็สามารถทำได้มากกว่าการขอความร่วมมือ โดยสั่งให้ธนาคารในกำกับดูแลของรัฐทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธกส., ธอส., ธอท., ธพว. และ ธนาคารกรุงไทย ให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยไม่ต้องไปยุ่งกับดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะเกิดผลกระทบหลายฝ่าย และรุนแรงในระยะยาว และเมื่อธนาคารของรัฐเหล่านี้ ซึ่งมีฐานลูกค้าหลายสิบล้านคน หากลดดอกเบี้ยได้มากพอและนานพอ สุดท้ายธนาคารพาณิชย์ของเอกชนก็จะต้องลดดอกเบี้ยตาม เพราะมิเช่นนั้นก็จะเสียลูกค้าไป

การทำเช่นนี้แม้จะทำให้รายได้หรือกำไรของธนาคารลดลง แต่ในภาพรวมจะทำให้ประชาชนมั่นใจในการลงทุนและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น และรัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น และเอาเงินมาช่วยธนาคารเหล่านี้ภายหลังได้ โดยไม่ต้องไปกดดันแบงก์ชาติให้กระทบกับหลักความเป็นอิสระ ตามที่หลายฝ่ายท้วงติง 

ผมจึงขอฝากให้รัฐบาลนำวิธีนี้ไปพิจารณา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหันมาร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคงจะดีกว่า

จับกระแส!! เดินเครื่องเศรษฐกิจไทย มองยังไงก็ไม่เห็นความชัดเจน หลังผู้ประกอบการแห่ 'ปิดกิจการ-เลิกจ้าง' โครงการใหญ่ก็ค้างเงียบ

ปรากฏการณ์การปรับ ครม. ของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เพื่อเดินเครื่องเศรษฐกิจประเทศไทย แต่งตั้ง ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นำโดย รองนายกฯ นายพิชัย ชุณหวชิร ควบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล จาก เลขานุการ รมว.คลัง ขยับมาเป็น รมช.คลัง ทำให้กระทรวงการคลัง มีรัฐมนตรี 4 คน เต็มอัตราศึก พร้อมรบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ  
แต่จากนั้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากแบ่งงานภายในกระทรวง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง สะท้อนความไม่พอใจต่อ รมว.คลังใหม่ป้ายแดง ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล หลังจาก นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งยื่นใบลาออกเพียงสัปดาห์เดียว สะท้อนถึงการจัดวางทีมรัฐมนตรีของ นายกฯ เศรษฐา ที่เริ่มเห็นความขัดแย้ง รอยร้าว ของรัฐบาล เพิ่มมากขึ้น

เศรษฐกิจไทย ที่รัฐบาลหวังจะกระตุ้น จาก โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ก็ยังไม่อาจคาดหวังได้เต็มร้อย ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ก็แทบจะปรับตัวยกแผง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้น กองทุนน้ำมันเริ่มแบกไม่ไหว 

การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมข่าวการทยอยปิดกิจการของผู้ประกอบการ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา นำโดยกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม...

- 27 พฤศจิกายน 2566 บริษัท คิตากาว่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศปิดกิจการแบบถาวร
- 30 พฤศจิกายน 2566 บริษัท ทีเอ็มที โมลด์ เทคโนโลยี จำกัด ประกาศปิดกิจการ

- 28 ธันวาคม 2566 บริษัท โรงงานผลิตเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ประกาศเลิกจ้างพนักงาน
- 27 เมษายน 2567 วอยซ์ ทีวี (Voice TV) ประกาศยุติการออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป 

- 29 เมษายน 2567 บริษัทขายรถมือสอง สัญชาติอินเดีย CARs24 ประกาศปิดกิจการ 
- 30 เมษายน 2567 'อร่อยดี' แบรนด์ร้านอาหารไทยจานด่วน ในเครือ CRG โพสต์แจ้งปิดทุกสาขา 

- และ 1 พฤษภาคม 2567 ต้อนรับวันแรงงาน บริษัท วี.เอ็ม.ซี. เซฟตี้กลาส (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานย่านเทพารักษ์ ก็ปิดกิจการจากการขาดสภาพคล่อง

หากดูข้อมูลจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ไตรมาสแรกปี 2567 มีโรงงานปิดกิจการพุ่งสูงถึง 367 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุนรวมกว่า 9,417.27 ล้านบาท และพนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 10,066 คน ...!!!

ข่าวคราวการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนในประเทศ ก็เริ่มมีสัญญาณไม่ดี โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ อภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท เส้นทางชุมพร-ระนอง ข่าวคราวของโครงการเงียบหายไปพักใหญ่แล้ว ... ความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการนี้คือ การจัดโรดโชว์ ที่ประเทศจีน Thailand Landbridge Roadshow เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่กรุงปักกิ่งโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นับจากโรดโชว์ครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว จนถึงครั้งล่าสุดโครงการแลนด์บริดจ์ ‘มีแต่ผู้สนใจ’ แต่ยังไม่มีข่าวเลยว่า จะมีใครแสดงความต้องการที่จะ ‘เข้ามาลงทุน’ อย่างจริงจัง แม้แต่รายเดียว 

นายกฯ เดินสายบินพบผู้นำต่างประเทศ ทำสถิติ ใน 6 เดือน กว่า 16 ประเทศ และเตรียมเดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศส และอิตาลี ในช่วงระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2567 นี้ จากนั้นในวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2567 นายกฯ และคณะ จะเดินทางไปญี่ปุ่น ภาพการเจรจาการค้าของนายกฯ ที่ได้ฉายาจากสื่อ ว่า ‘เซลล์แมน’ ผลงานการดึงดูดนักลงทุน ก็ยังไม่มากเท่าที่ควร

ลุ้นกันต่อ ... ลุ้นว่า ประชาชน จะช่วยกันประครองสภาพการเงินของตนเอง ให้ผ่านพ้นปีนี้ไปให้ได้ ลุ้นว่า ผู้ประกอบการ SME รายเล็ก ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ยังคงมีเม็ดเงินจ้างแรงงาน ต่อไปได้ ... ลุ้นจริง ๆ   

'รมว.ปุ้ย' สั่ง 'ดีพร้อม' เร่งเยียวยาพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด ระดมของใช้จำเป็น มอบให้คนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง

(12 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ นายภาสกรชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งเยียวยาและฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและพี่น้องประชาชนในพื้นที่จากเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บวัตถุดิบสารไพโรไลสีส แก๊สโซลีนของบริษัท มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล จำกัด จ.ระยอง โดยเน้นการเคียงข้าง พัฒนา และช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวโดยตรง เพื่อให้พี่น้องประชาชนและชุมชนมีขวัญกำลังใจที่ดี พร้อมทั้งเร่งสำรวจความต้องการในพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพเกิดการสร้างรายได้ และอาชีพอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ทาง รมว.อุตสาหกรรม มีความกังวลและเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบๆ บริเวณพื้นที่ที่เกิดเหตุ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเยียวยาและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน 

“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ขานรับข้อสั่งการดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นหน่วยรับผิดชอบในพื้นที่ เร่งลงพื้นที่และบูรณาการความร่วมมือกับอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการของดีพร้อม ซึ่งเบื้องต้นจะเร่งระดมของใช้ที่จำเป็น เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องเวชภัณฑ์ มอบให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวโดยตรง เพื่อให้พี่น้องประชาชนและชุมชนมีขวัญกำลังใจที่ดี พร้อมทั้งเร่งสำรวจความต้องการในพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพ เกิดการสร้างรายได้ และอาชีพอย่างยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต” นายภาสกร กล่าว

นายภาสกร กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจ ดีพร้อม ได้เตรียมแผนระยะกลาง และระยะยาว ภายใต้โครงการ/กิจกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการ ประชาชน ชุมชนโดยรอบและใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะการประกอบธุรกิจให้พี่น้องประชาชน และชุมชนโดยรอบทั้งในด้านทักษะพื้นฐานการผลิต การบริการ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ 

ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้มีการดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ ในพื้นที่เทศบาลตำบลภาชี จ.อยุธยา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และในพื้นที่ชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสส เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 โดย ดีพร้อมเตรียมแผนสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูพร้อมให้ความช่วยเหลือชุมชนอย่างเต็มที่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top