Sunday, 11 May 2025
GoodsVoice

‘รฟท.’ ไฟเขียว!! รถไฟฟ้าสายสีแดง 20 บาทตลอดสาย หวังช่วยลดค่าใช้จ่าย - จูงใจประชาชนใช้บริการมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (21 ก.ย. 66) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด รฟท.) ว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติดำเนินการตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เบื้องต้นจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งตามขั้นตอน ในการขอปรับค่าโดยสารจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 27 ที่ระบุว่าหากหน่วยงานมีมาตรการหรือโครงการใด ๆ ที่กระทบต่อรายได้ขององค์กรสามารถดำเนินการได้ซึ่งจะต้องกำหนดแผนหรืองบประมาณที่ใช้จ่าย รวมทั้งระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับด้วย หากกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษานโยบายดังกล่าว พบว่า รฟท.จะสูญเสียรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนเงินชดเชยประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารนั้น จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5-20% ต่อปี ซึ่งจะมีผลทำให้รายได้ของ รฟท. เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 2 หมื่นคนต่อวัน

‘พิมพ์ภัทรา’ รุกสร้างต้นแบบ ‘Smart Farmer’ พื้นที่ภาคใต้ มุ่งสร้างรายได้-ลดค่าใช้จ่ายด้วย ‘เทคโนโลยี-นวัตกรรมพลังงาน’

(22 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มุ่งสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงาน

ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้มีผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม 2 แห่ง ในจังหวัดชุมพร ประกอบด้วย บริษัท ห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง และ บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง ผู้ประกอบการฟาร์มโคนม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนม ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากิจการให้เป็นเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farmer ต้นแบบ โดยการนำระบบ IoT (Internet of Things) มาใช้ติดตาม วิเคราะห์พฤติกรรมโคนมที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม และบริหารจัดการนำผลิตภัณฑ์นมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า

รวมถึงนำของเสียจากฟาร์ม อาทิ มูลวัว มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ตามแนวทาง BCG Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 11.2 ล้านบาท เพื่อใช้จัดซื้อโคนม เครื่องผลิตอาหาร ปรับปรุงโรงเรือน โรงแปรรูป และเป็นเงินทุนหมุนเวียน จนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ถึง 40 % ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านบาทต่อปี

ส่วนบริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัดผู้ประกอบการสวนผลไม้ผสมผสาน และโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรด้วยวิธีการแช่แข็ง และการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งหรือ Freeze Dry ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อโดรนเพื่อใช้ในการพ่นยาฆ่าแมลงภายในสวนทุเรียน รวมทั้งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน โดยสามารถลดต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และยกระดับการบริหารจัดการสวนผลไม้ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยการพัฒนาโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีแช่แข็งและฟรีซดราย และได้รับมาตรฐาน GMP พร้อมทั้งส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกทุเรียนมาทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบผลิต

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ราย มีการขับเคลื่อนการดำเนินกิจการ ตามนโยบาย MIND 4 มิติ ได้แก่

-ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ

-ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและมีความสุข

-ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก

-การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ด้วยการกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิกระบวนการผลิต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และเป็นแหล่งสร้างงานให้กับชุมชน

‘กรมพัฒนาธุรกิจฯ’ เสริมแกร่งร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปี 67 ปั้น 30 ร้านต้นแบบ เร่งเข้มติว 2 พันราย ดันเป็นสมาร์ตโชห่วย

(22 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงแผนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2567 ว่า กรมตั้งเป้าที่จะเดินหน้าส่งเสริมร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ระดับอำเภอและจังหวัดที่เป็นนิติบุคคล และมียอดขายตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานแข็งแรง สามารถยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการตามแนวทางของกรม และพัฒนาสู่การเป็น ‘ร้านค้าต้นแบบ’ ได้ โดยตั้งเป้าที่จะเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ ที่สนใจพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบจำนวน 30 ร้านค้า ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้

โดยแนวทางการพัฒนาจะเริ่มตั้งแต่การเสริมสร้างองค์ความรู้ การศึกษาดูงานร้านต้นแบบรุ่นพี่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ ตลอดจนการลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำในเชิงลึกที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจได้ตรงจุด ทั้งประเด็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเร่งด่วน รวมถึงการเสริมจุดแข็งให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย หรือ ‘โชห่วย’ ให้มีความเข้มแข็ง เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาร้านค้าโชห่วย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจของห้างโมเดิร์นเทรด ที่ปรับตัวย่อขนาดเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีภาพลักษณ์ดีและเทคโนโลยีทันสมัย ขยายตัวออกสู่ชุมชน รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากเทคโนโลยี จึงต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับโชห่วย โดยกำหนดจัดสัมมนาออนไซต์ใน 4 ภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ พัฒนาโชห่วยไทยทั่วประเทศให้เป็น ‘สมาร์ตโชห่วย’ โดยมีร้านค้าต้นแบบเข้ามาช่วยเหลือ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือร้านโชห่วย จะเน้นการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าตามหลัก 5 ส. (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า และส่งเสริมการใช้ระบบ POS เพื่อผลักดันให้ร้านค้าโชห่วยปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิม สู่การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยในปี 2567 ตั้งเป้าจัดสัมมนาออนไซต์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และ 4 ภูมิภาค เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,000 ราย และพัฒนาต่อยอดเป็น ‘สมาร์ตโชห่วย’ ต้นแบบในพื้นที่ จำนวน 20 ราย

ปัจจุบัน มีร้านค้าส่งค้าปลีก ที่ได้รับการพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบ รวม 307 ร้านค้า และมีร้านโชห่วยที่ผ่านการพัฒนา และได้รับป้ายสัญลักษณ์โครงการ ‘สมาร์ตโชห่วย พลัส’ จำนวน 306 ร้านค้า

'ทีเอ็มบีธนชาต' จัดโปรมือถือ iPhone15 ผ่อน 0% นานสุด 48 เดือน ถึง 31 ต.ค.นี้

ไม่นานมานี้ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี มอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ttb จับมือ 24 ร้านจำหน่ายมือถือชั้นนำ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ iPhone อาทิ TRUE / Studio7 / iStudio by SPVI / iStudio by Copperwired / iStudio by Uficon / BaNANA / TG Fone / Jaymart / Power Buy / Power Mall / IT CITY / CSC / Advice เป็นต้น

***พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ttb เมื่อซื้อ iPhone15 และทำรายการแบ่งชำระดอกเบี้ย 0% นานสูงสุด 48 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2566 - 31 ตุลาคม 2566 นี้

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิพิเศษ 1: รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 5% จากร้านค้าชั้นนำที่ร่วมรายการ โดยร้านที่มอบเครดิตเงินคืนสูงสุดในอัตรา 5% คือร้าน TRUE และ Com7 จำกัดรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 4,000 บาท ต่อบัญชีบัตรหลัก ตลอดรายการส่งเสริมการขาย

สิทธิพิเศษ 2: แลกคะแนนรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 12% เมื่อใช้คะแนนสะสมทุก 1,000 คะแนน และทำรายการแบ่งชำระ 0% บัตรเครดิต ttb reserve infinite และบัตรเครดิต ttb reserve signature รับเครดิตเงินคืน 12% (ทุก 1,000 คะแนน รับ 120 บาท) บัตรเครดิต ttb (บัตรเครดิต ทีเอ็มบี และ บัตรเครดิต ธนชาต) และบัตรเครดิต ttb Global House รับเครดิตเงินคืน 10% (ทุก 1,000 คะแนน รับ 100 บาท) โดยต้องมียอดใช้จ่ายขั้นต่ำ 1,000 บาท ต่อเซลล์สลิป จำกัดการแลกคะแนนไม่เกินยอดใช้จ่าย จำกัดการแลกคะแนนสะสมสูงสุด 50,000 คะแนน ต่อบัญชีบัตรหลัก ตลอดรายการส่งเสริมการขาย

'สุริยะ' เตรียมพร้อมรับ VISA Free 'จีน-คาซัคฯ' ยืนยันทุกสนามบินมีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร

(22 ก.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อรองรับผู้โดยสารชาวจีนและคาซัคสถานตามนโยบาย VISA Free ของรัฐบาล โดยมี นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมคมนาคม กระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้กำหนดนโยบายมาตรการ VISA Free ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวนั้น จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น อันจะนำไปสู่การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566 - 2567 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับเทศกาลวันชาติของจีน คาดการณ์ว่า จะมีเที่ยวบินจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากมาตรการ VISA Free ของรัฐบาล จากเดิม เฉลี่ย 72 เที่ยวบิน/วัน เป็น 96 เที่ยวบิน/วัน และปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย จากเดิม 9,680 คน/วัน เป็น 18,656 คน/วัน โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ล้านคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุดตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย

"ผมได้สั่งการให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต และให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าอากาศยานไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น" รมว.คมนาคม กล่าว

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว บริหารจัดการท่าอากาศยานให้การบริการมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ดังนี้...

(1) ผู้โดยสารขาเข้า

- ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ประสานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เตรียมประจำการเต็มช่องตรวจหนังสือเดินทาง ทั้ง 138 ช่อง ในชั่วโมงหนาแน่น และเตรียมเครื่องตรวจอัตโนมัติ 16 เครื่อง ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ กำกับดูแลและติดตามเวลาการจัดส่งสัมภาระให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกำชับให้ผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน จัดเตรียมอัตรากำลังและอุปกรณ์ให้เต็มขีดความสามารถและสอดคล้องกับเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น

(1.1) ผู้โดยสารขาออก

- ขั้นตอนการเช็กอิน ประสานสายการบินจัดให้มีพนักงานให้บริการเช็กอินเต็มทั้ง 302 เคาน์เตอร์ และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้ผู้โดยสารใช้บริการเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) และใช้บริการเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมการทำ Early Check-in

- ขั้นตอนจุดตรวจค้น จัดเจ้าหน้าที่เกลี่ยแถวผู้โดยสารให้สามารถเข้าสู่จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 3 โซน ในปริมาณใกล้เคียงกัน เพื่อให้การใช้อุปกรณ์ตรวจค้น ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์ 25 เครื่อง ที่ได้ติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) แล้ว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนการตรวจลงตรา ประสานเจ้าหน้าที่ ตม. ให้นั่งเต็ม 69 ช่องตรวจ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเร่งด่วน และเตรียมเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คน ซึ่งในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. จะได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด และการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

'กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ" รมว.คมนาคม ทิ้งท้าย

TrueMoney เปิดชำระเงินในจีนผ่าน Alipay+ เปย์ง่าย สแกนจ่าย ไม่ต้องแลกเงินหยวน

TrueMoney เพิ่มความสะดวกนักท่องเที่ยวไทยไปจีน สามารถใช้ทรู มันนี่ สแกนชำระเงินผ่าน Alipay+ สำหรับร้านค้า และบริการในจีนกว่า 10 ล้านจุดได้ทันที หวังช่วยนักท่องเที่ยวกว่า 7 แสนรายในแต่ละปีเข้าถึงการชำระเงินรูปแบบใหม่นี้

มนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทรู มันนี่ช่วยคนไทยในการใช้จ่ายตั้งแต่ออนไลน์ จนถึงออฟไลน์ ผ่านจุดชำระกว่า 7 ล้านแห่งทั่วประเทศผ่านเครื่องของทรู มันนี่ และพร้อมเพย์ พร้อมกับบริการใหม่ที่สามารถใช้แอป TrueMoney+ ชำระค่าสินค้า และบริการทั่วประเทศจีน ที่มีจุดรับชำระของ Alipay มากกว่า 10 ล้านจุด

“จากบริการใหม่นี้คาดว่าจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวไทยกว่า 7 แสนรายในแต่ละปี โดยผู้ใช้สามารถเลือกใช้เงินที่อยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของทรู มันนี่ ได้ทันที โดยไม่ต้องแลกเงินหยวน”

ทั้งนี้ บริการดังกล่าวได้เข้ามาแก้ปัญหากรณีที่นักท่องเที่ยวไทยที่ไปจีนไม่สามารถใช้จ่ายแบบไร้เงินสดได้ และไม่ใช่ทุกร้านจะรับเงินสด หรือรับบัตรเครดิตที่เข้าร่วม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะรองรับการชำระผ่าน Alipay

นอกเหนือจากทรูมันนี่ เมื่อเร็วๆ นี้ แอนท์ กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับอีก 6 อีวอลเล็ตและแอปชำระเงินชั้นนำในเอเชีย ภายใต้ โครงการ “Alipay+-in-China (A+China program)” เพื่อยกระดับบริการด้านการชำระเงินผ่านแอปในจีนให้มีความเป็นสากลขึ้น โดยการขยายบริการในครั้งนี้ ทำให้มีอีวอลเล็ตและแอปชำระเงินรวม 10 แอปจากต่างประเทศที่สามารถใช้จ่ายที่จีนได้

ดักลาส ฟีกิน รองประธานอาวุโส แอนท์ กรุ๊ป และหัวหน้างานบริการโมบายเพย์เมนต์ระหว่างประเทศ อาลีเพย์พลัส กล่าวว่า ด้วยเครือข่ายของ Alipay+ ผู้ใช้ทรูมันนี่สามารถใช้จ่ายที่ร้านค้าออนไลน์ทั่วโลก

รวมถึงร้านค้าปลีกในประเทศซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปจนถึงสหราชอาณาจักร อิตาลี และฝรั่งเศส และการขยายบริการใช้จ่ายผ่านแอปสู่ประเทศจีนในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งปัจจุบัน มีผู้คนทั่วโลกกว่า 1.4 พันล้านคน ที่สามารถเข้าใช้บริการของ Alipay+ ในการชำระเงินมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

‘กรมทรัพย์สินฯ’ ประสานเกาหลีใต้ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องลิขสิทธิ์เพลง หวังยกระดับอุตฯ เพลงไทยรอบด้าน ดันเป็นหนึ่งใน Soft Power ไทย

(22 ก.ย. 66) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้งานเพลง ให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากงานเพลง ซึ่งเป็นงานลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยให้วัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมโลก”

นายวุฒิไกร ให้ข้อมูลว่า “จากการศึกษาของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศพบว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงของไทยมีมูลค่า 3,689 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอันดับที่ 24 ของโลก และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 20.01 จึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมเพลงของไทยเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดประเภทหนึ่ง”

นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทยให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น สามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากรอบกฎหมาย กฎกติกา เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพลงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ลิขสิทธิ์เพลงในเชิงพาณิชย์ การใช้งานลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ในทางการค้า”

“ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นว่า เกาหลี เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ที่เป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนในประเด็นดังกล่าวอย่างแท้จริง จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนาลิขสิทธิ์ไทย - เกาหลี ประจำปี 2566 ในหัวข้อ ‘เจาะลึกบทบาทลิขสิทธิ์กับธุรกิจเพลง’ เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้ผลงานเพลง ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายการใช้ลิขสิทธิ์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี บทบาทขององค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ตลอดจนแนวทางการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และค่าสิทธิของนักแสดง เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานในบริบทของประเทศไทยต่อไป”

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมั่นว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทย ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงต่อไป” นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ คว้ารางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ปี 66 ตอกย้ำ!! ความมุ่งมั่นผลักดันการเคารพสิทธิมนุษยชนในองค์กร

(22 ก.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป คว้ารางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566’ ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับดี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยชูการพัฒนานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านและครอบคลุม เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) และต่อต้านการล่วงละเมิด (Anti-harassment)

โดยนางสาวสลิล ติระวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป เป็นผู้แทนเข้ารับประกาศนียบัตรจากพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในงานประกาศรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้

นางสาวสลิล ติระวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจบนหลักการกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยตระหนักและให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาค

ในรอบปีที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป ได้ประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ พร้อมนำผลการประเมินมาทบทวนและปรับปรุงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน โดยมุ่งเน้นหลักการไม่เลือกปฏิบัติและการต่อต้านการล่วงละเมิด พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกระดับ เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ตลอดจนพัฒนากระบวนการแจ้งเบาะแสและการสอบสวนในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทไม่ได้รับข้อร้องเรียน รวมถึงไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

“การได้รับรางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ระดับดี ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเอ็กโก กรุ๊ป ในการส่งเสริมและผลักดันการเคารพสิทธิมนุษยชนให้อยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจทุกมิติและปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม รวมถึงส่งเสริมเสรีภาพอันชอบธรรมของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกภายในองค์กรและสังคมภายนอกอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจสำคัญของเรา ในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” นางสาวสลิล กล่าว

สำหรับการพิจารณามอบรางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ดำเนินการโดย คณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาชนสังคม ที่ดำเนินงานตามภารกิจโดยเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่น ๆ ในการส่งเสริมสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมีองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลฯ ประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 109 รางวัล

‘ธุรกิจท่องเที่ยว’ แห่ตั้งบริษัทใหม่ รวมมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้าน ผุดบริการแลกเปลี่ยนเงินตราพุ่ง 1.89 เท่า รองรับตลาดฟื้นตัว

(22 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนสิงหาคม 2566 ทั่วประเทศรวม 7,424 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 24,905.75 ล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 584 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 482 ราย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 360 ราย โดยช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท สัดส่วนมากสุด 64.51% มีจำนวน 4,789 ราย คิดเป็น 64.51%

ขณะที่ธุรกิจเลิกกิจการเดือนสิงหาคม 2566 รวม 2,007 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 7,038.02 ล้านบาท และ 3 ประเภทธุรกิจเลิกกิจการสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 172 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 85 ราย และ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 49 ราย ซึ่งสัดส่วน 70.55% เป็นธุรกิจมีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ 31 สิงหาคม 2566 มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ 888,090 ราย มูลค่าทุน 21.51 ล้านล้านบาท มากสุดเป็นช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือจำนวน 518,247 ราย คิดเป็น 58.36%

“ธุรกิจตั้งใหม่เดือนสิงหาคมปีนี้ เทียบสิงหาคมปีก่อน เพิ่ม 0.08% และเทียบเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่ม 8.41% ขณะที่เลิกธุรกิจสิงหาคมปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.40% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7.50% จากเดือนกรกฎาคมปีนี้ ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 จัดตั้งธุรกิจใหม่รวม 61,558 ราย เพิ่มขึ้น 14.90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งยอดตั้งธุรกิจใหม่สิงหาคม 2566 เป็นจำนวนสูงสุดรอบ 10 ปีเทียบเฉพาะเดือนสิงหาคมด้วยกัน และสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ 8 เดือนแรก2566 มีจำนวนจัดตั้งสูงสุดรอบ 10 ปีด้วย หรือตั้งแต่ปี 2557 – 2566” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนการจดทะเบียนธุรกิจให้เติบโตสูงขึ้นยังคงมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 8 เดือนแรก 2566 มีจำนวนตั้งเพิ่มถึง 60.66% โดยเฉพาะธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเติบโต 1.89 เท่า ตัวแทนธุรกิจการเดินทางเติบโต 1.41 เท่า ธุรกิจจัดนำเที่ยวเติบโต 1.03 เท่า ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเติบโต 45.46% และ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุดเติบโต 42.86%) มีสัดส่วนคิดเป็น 7.94% ของจำนวนธุรกิจที่จัดตั้งทั้งหมดใน 8 เดือนแรก2566

นายทศพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจน่าจับตามองที่เติบโตกว่า 1 เท่า เทียบ 8 เดือนแรกปีก่อน ได้แก่ ธุรกิจขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืชเติบโต 2.07 เท่า เพิ่มขึ้น 118 ราย จากนโยบายส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก

ธุรกิจบริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้างเติบโต 1.70 เท่า เพิ่มขึ้น 311 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว ทำให้มีธุรกิจที่รับบริหารจัดการเกี่ยวกับที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจให้เช่าและให้เช่าแบบลิสซิ่งยานยนต์เติบโต 1.40 เท่า เพิ่มขึ้น 155 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตและภาคธุรกิจที่นิยมการเช่ารถยนต์มากขึ้น และธุรกิจการปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์เติบโต 1.12 เท่า เพิ่มขึ้น 201 ราย

“จากทิศทางที่ดีขึ้น กรมคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 อยู่ที่ 32,000 – 39,000 ราย ซึ่งทำให้ทั้งปี 2566 อยู่ที่ 79,000-86,000 ราย” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนสิงหาคม 2566 มีการอนุญาต 58 ราย มีเม็ดเงินลงทุน 6,840 ล้านบาท เปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 จำนวนเพิ่มขึ้น 14% เงินลงทุนลดลง 32% นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 15 ราย รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในไทย 435 ราย มีเงินลงทุน 65,790 ล้านบาท

'เศรษฐา' ใช้เวทีสมัชชาสหประชาชาติ ประกาศก้อง 'ไทยเปิดแล้ว' ลั่น!! พร้อมลงทุนข้ามชาติ ไม่รอการลงทุนมาไทยฝ่ายเดียว

(23 ก.ย.66) เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สรุปภารกิจในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติเป็นครั้งแรก ว่า มีภารกิจที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะตนเองอย่างเดียว แต่ทั้ง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ และนายจักพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ ซึ่งต่างมีภารกิจมาก ซึ่งตนเองมีโอกาสได้พูดในหลายเวที เรื่องของโลกร้อน เรื่องสันติภาพ อากาศบริสุทธิ์ ความมั่นคงทางอาหาร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอารยะเกษตร รวมถึงมีโอกาสได้พบปะกับผู้นำประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านสำคัญๆ เช่น ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้พูดคุยเรื่องความมั่นคงทางชายแดน และส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนวันนี้ถือเป็นไฮไลต์ของงานที่ได้กล่าวถ้อยแถลง ประมาณ 10 กว่านาที ได้มีการพูดถึงปัญหาของโลกที่เกิดจากอากาศร้อน ที่ไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่เป็นโลกเดือด หลายประเทศก็ยังมองไปข้างหลังเรื่องของตัวเลขดัชนีชี้วัดต่างๆ เราก็ต้องรวมพลัง และทำให้มันเกิดขึ้นได้ ตนเคยบอกไปหลายเวทีแล้วว่าการประชุมของสหประชาชาติครั้งนี้มีเรื่องของปัญหาที่ต่างกันหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่เห็นตรงกัน เรื่องความมั่นคงทางอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ โลกร้อน โลกเดือดก็ทำให้ไม่แน่นอนทางด้านภูมิอากาศที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม ประเทศเราเองเหมาะกับเกษตรกรรม มีความมั่นคงทางอาหารสูง แต่ลดลงเพราะเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศผันผวนอย่างมาก ทำให้เราต้องกลับมาดูเรื่องนี้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องอารยเกษตร ซึ่งต้องใช้พื้นที่ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเพาะปลูก รวมถึงการใช้หนองน้ำเป็นที่เลี้ยงปลา หลายอย่างตนเชื่อว่า สามารถปรับมาใช้ได้

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องปัญหาสุขภาพที่มีโรคเพิ่มมากขึ้น เป็นเหมือน wakeup call หลังมีโรคระบาดทำให้เรารู้ว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษยชนถูกจำกัด หรือได้รับการดูแลเยียวยาอย่างไม่ทั่วถึง แต่ประเทศไทยโชคดีที่มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่ว่ามีสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่มีการเคลื่อนไหวของประชากรเยอะ ดูแลดีอย่างไรก็ตามยังไม่เพียงพอ ถ้าประเทศอื่นไม่ดูแลเพียงพอ ฉะนั้นสหประชาชาติเองก็ควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นแน่ใจว่าทุกๆประเทศ มีระบบ health care ที่ดีเหมือนประเทศไทย ขณะที่ไทยเองยังไม่หยุดยั้ง ยังยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อทำให้คนไทยสบายมากขึ้นในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่จะเข้าที่ตัวเองอยากจะเข้า

เมื่อถามว่าหลายประเทศต้องการสันติภาพที่ยั่งยืน ในความหมายของนายกรัฐมนตรีที่นำเสนอเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า สันติภาพที่ยั่งยืนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ประเทศไทยเรามีความเชื่อเรื่องความสงบ มีความเชื่อเรื่องการเจริญที่ยั่งยืน โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของแต่ละประเทศ

"แต่เป็นที่ทราบดีว่า เรื่องความระหองระแหง ระหว่างประเทศมีหลายคู่ ส่วนประเทศเราแม้จะเป็นประเทศเล็ก ไม่ได้ใหญ่มาก แต่เราภูมิใจในเอกราชที่เรามีมาตลอด เราเองมีความภูมิใจ และมีความสบายใจในการที่เราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศและรัฐบาลนี้ที่จะต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราชและไม่เข้าข้างใคร เรามีความเชื่อในเรื่องสันติสุขและความเจริญที่ยั่งยืน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ถามว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน ในปีนี้ที่เราสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ด้วย นายกฯ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ใช่แค่ดูแลสิทธิมนุษยชนเพียงในประเทศอย่างเดียว เรามีประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ไม่ว่ามาเลเซีย ลาว กัมพูชา และที่ละเอียดอ่อนที่สุดคือ เมียนมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องดูแลหากมีผู้อพยพเข้ามา หรือมีผู้ที่เดือดร้อนบริเวณชายแดน เพราะเรามีชายแดนกับเมียนมากว่า 1,000 กิโล จะต้องดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองความสำเร็จในการร่วมเวทีโลกครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ครั้งแรกก็ต้องขอบคุณ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ช่วยดูแลและเป็นเจ้าภาพในการนำนักธุรกิจเก่งๆ และสนใจมาร่วมทุนในประเทศไทยมาพบปะตนและทีมงาน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีและจุดเริ่มต้นที่ดี 4 วันที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ ถือเป็นก้าวแรกในการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว เราพร้อมที่จะมีการลงทุนข้ามชาติ ทั้ง 2 ทาง ไม่ใช่แค่ให้เขามาลงทุนเราอย่างเดียว เอกชนไทย ที่แข็งแกร่งหลายราย พร้อมลงทุนในต่างประเทศด้วย

เมื่อถามว่า การได้พบผู้นำหลายชาติ ตอบรับกับรัฐบาลใหม่และนายกรัฐมนตรีใหม่อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ดีครับ ทุกคนก็ยินดีด้วย และเข้าใจว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีผู้นำและออกมาค้าขายกันอีก 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top