Monday, 12 May 2025
GoodsVoice

EA ส่ง ‘สมาร์ท เวสท์ เมนเนจเมนท์’ เซ็นสัญญา PPP กับเมืองพัทยา ตั้งศูนย์จัดการขยะครบวงจรในเกาะล้าน ยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวยั่งยืน

บจก. สมาร์ท เวสท์ เมนเนจเมนท์ บริษัทย่อยในกลุ่ม บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ได้เข้าร่วมลงนามสัญญาร่วมลงทุนแบบ PPP กับ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยมีสัญญาระยะเวลา 25 ปี 

บจก. สมาร์ท เวสท์ เมนเนจเมนท์ ได้ชนะการประมูลศูนย์กำจัดขยะชุมชนบนพื้นที่เกาะล้าน ต่อมาได้มีการลงนามสัญญากับเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ร่วมลงทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) จัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน โดยแต่งตั้ง บจก. รอยัล กรีน เอ็นเนอร์จี เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาโครงการด้วยวิธีเผาทำลายบนพื้นที่เกาะล้านแบบครบวงจร มีวัตถุประสงค์ลดปริมาณขยะในชุมชน โดยการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการเผามาใช้ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนสะสมที่บ่อขยะเกาะล้าน กว่า 65,000 ตัน และยังมีการคาดการณ์ในอนาคตจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 25 ตัน/วัน 

ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีแบบแผนและเร่งด่วน ซึ่งได้แบ่งการกำจัดขยะมูลฝอยเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นการจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และการจัดการขยะมูลฝอยที่สะสมอยู่ในบ่อพักขยะมูลฝอย โดยคาดว่ามีปริมาณขยะที่ต้องกำจัดไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน พร้อมเตรียมกำจัดขยะมูลฝอยแบบถาวร ในระยะที่ 2 ต่อไป 

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ปัจจุบัน จากการขยายตัวของชุมชน และการขยายตัวของภาคธุรกิจร้านค้าหรือสถานประกอบการต่างๆ บนเกาะล้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยว จึงส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างสะสมและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

เมืองพัทยาเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาให้มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงได้ดำเนินโครงการให้เป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน เพื่อให้การอนุมัติโครงการดังกล่าวเกิดความสัมฤทธิ์ผล และสามารถที่จะดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

นายวสุ กลมเกลี้ยง Executive Vice President บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ กล่าวว่า EA ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ ‘Green Product’ มาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere โดย EA ได้ส่ง บจก. สมาร์ท เวสท์ เมนเนจเมนท์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการขยะ ที่สามารถชนะประมูลในรูปแบบร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยตามสัญญาสัมปทาน แบบ Build Operate Transfer (BOT) มีระยะเวลาดำเนินการรวม 25 ปี นับจากวันที่เริ่มดำเนินการกำจัดขยะมูลเพื่อชุมชน

“โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดธุรกิจใหม่ของ EA ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะมูลฝอยสะอาดอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองพัทยาและประเทศไทยต่อไป” นายวสุ กล่าวทิ้งท้าย

‘หม่าล่า’ เครื่องเทศเผ็ดร้อนสไตล์จีน อร่อยถูกปากคนไทย ฟีเวอร์จนขึ้นแท่นสุดยอดเมนูฮอตฮิต ติดชาร์ตทุกโซเชียล

กระแสความนิยม ‘หม่าล่า’ เครื่องเทศรสเผ็ดชาจากจีน ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านสุกี้ ขนมขบเคี้ยว พิซซ่า ในไทย หยิบ ‘หม่าล่า’ มาสร้างสรรค์เป็นเมนูเสิร์ฟให้กับกลุ่มลูกค้ากันอย่างต่อเนื่อง ด้วยรสชาติที่มีลักษณะเฉพาะตัวและเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับคนไทยชอบทานรสเผ็ดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และที่สำคัญแบรนด์ต่าง ๆ ในไทยฟัง ‘เสียงผู้บริโภค’ ในโลกสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ว่า ทำไมหม่าล่าหม้อไฟ และหม่าล่าสายพานถึงเป็นเมนูยอดนิยมของเหล่าหม่าล่าเลิฟเวอร์

จากการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ที่มีการพูดถึงหม่าล่า ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 11 กันยายน 2566 พบว่า สังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดียมีการพูดถึงหม่าล่ามากถึง 3,697 ข้อความ และ มี Engagement ทั้งหมดจำนวน 315,561 ครั้ง โดยแบ่งได้ดังนี้

- Twitter มีการพูดถึง 2,691 ข้อความ มีจำนวน Engagement 4,875 ครั้ง
- Facebook มีการพูดถึง 455 ข้อความ มีจำนวน Engagement 175,225 ครั้ง
- Instagram มีการพูดถึง 281 ข้อความ มีจำนวน Engagement 95,804ครั้ง
- YouTube มีการพูดถึง 270 ข้อความ มีจำนวน Engagement 39,657 ครั้ง

ทำไมเมนู ‘หม่าล่า’ ถึงเป็นที่นิยม?
ในช่วงปีนี้กระแส ‘หม่าล่าชาบู’ หรือ ‘หม่าล่าสายพาน’ ในประเทศไทยมาแรงมาก ซึ่งหม่าล่าฟีเวอร์นั้นก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2018 แต่ในปีนั้นเมนูที่ได้รับความนิยมจะเป็น ‘หม่าล่าปิ้งย่างเสียบไม้’ ที่เรามองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ร้านที่ขายเมนูนี้ ซึ่งในช่วงนั้นจุดเริ่มต้นกระแสหม่าล่าก็ได้เกิดขึ้น

โดยร้านที่ปลุกกระแสหม่าล่าฟีเวอร์นั่นก็คือ ‘Hai Di Lao’ ร้านหม่าล่าหม้อไฟชื่อดังจากประเทศจีนที่เข้ามาเปิดสาขาที่ประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้าน  และจากการเข้ามาของร้าน Hai Di Lao ทำให้ตลาดร้านอาหารในประเทศไทยมีเมนูที่นำหม่าล่าเข้ามาเป็นส่วนประกอบและก็ยังมีร้านหม่าล่าหม้อไฟใหม่ ๆ เข้ามาลงเล่นในตลาดอีกด้วย

'จับกัง 1' เล็งปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในปีหน้า คาด!! สรุปแนวทางที่ทุกฝ่ายรับได้ภายในเดือน 11

(15 ก.ค. 66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า สรุปเนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ค่าแรง) ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 

ทั้งนี้ จะดูอัตราเงินเฟ้อประกอบด้วย เพื่อประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2567 ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานช่วงใกล้สิ้นปีนี้ 

"กระทรวงแรงงานได้หารือกับส.อ.ท.ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าใจในปัญหาแรงงาน เพื่อรับทราบความคิดเห็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำซึ่งทุกภาคส่วนมีความกังวล และหลังจากนี้กระทรวงจะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ"

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนนี้ ต้องการให้ยึดมติคณะกรรมการไตรภาคี โดยค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 328- 354 บาทต่อวัน การขึ้นราคาเดียว 400 บาทต่อวัน หรือขึ้น 19-20% อาจทำให้หลายอุตสาหกรรมกระทบหนักจากต้นทุนที่กระชากแรง เพราะปัจจุบันจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมมีประมาณ 20 อุตสาหกรรมจ่ายไม่สูงเพราะใช้แรงงานเข้มข้น 

และยังมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน ที่เหลือจ่ายเกิน 400 บาทต่อวัน บางอุตสาหกรรมถึง 800 บาทต่อวันแต่ก็หาแรงงานยาก ดังนั้นการปรับค่าจ้างต้องสอดรับศักยภาพแรงงาน และความสามารถของผู้ประกอบการ

"วิธีปรับขึ้นค่าจ้างที่เหมาะสมคือ การขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อแต่ละปี หรือจะขึ้นตามต้นทุนเงินเฟ้อบวกเอ็กซ์ และปัจจุบันประสิทธิภาพแรงงานไทยในกลุ่มอาเซียน ยังไม่เทียบเท่าเวียดนามและอินโดนีเซียได้ เนื่องจากยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เต็มที่นัก ดังนั้นไทยควรรีบเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย ให้แข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ เพราะต้องทำงานเป็นปาท่องโก๋ อุตสาหกรรมจะเติบโตได้ ต้องมีกระทรวงแรงงานคอยสนับสนุน”

ออมสิน ช่วยลูกหนี้ NPL จากสินเชื่อสู้ภัยโควิด ตั้งต้นผ่อนเดือนละร้อย ดึงบัญชีกลับมาเป็นปกติ

(15 ก.ย. 66) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ก่อนหน้านี้ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการ ‘สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19’ วงเงินรายละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 20,000 ล้านบาท และสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินไม่เกินรายละ 10,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวให้กับประชาชนที่ขาดรายได้ช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ขยายระยะเวลาเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถึงเดือนตุลาคม 2567

อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในระยะเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือแก้ไขเครดิตแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ลูกหนี้บัญชี 21) ที่มีสถานะเป็น NPL ให้กลับมามีสถานะหนี้ปกติ 

ธนาคารออมสินจึงออกมาตรการ ‘ไม่คิดดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด และนำเงินที่ชำระไปตัดเงินต้นทั้งจำนวน’ สำหรับโครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 โดยให้ลูกหนี้เริ่มผ่อนชำระเพียง 100 บาทต่อเดือนสำหรับงวดที่ 1-6 หลังจากนั้นงวดที่ 7-12 ผ่อนชำระ 300 บาทต่อเดือน และขยายระยะเวลาการชำระจนถึงเดือนตุลาคม 2567

สำหรับลูกหนี้สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบ สามารถลงทะเบียนสมัครเข้ามาตรการช่วยเหลือดังกล่าวได้ที่ช่องทาง MyMo หรือ www.gsb.or.th สำหรับลูกหนี้ที่ไม่มี MyMo สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางเว็บไซต์ธนาคาร www.gsb.or.th ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

'แบงก์ชาติ' แนะ!! เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจกเฉพาะกลุ่ม ชี้!! ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้ แง้ม!! ใช้กับ CBDC ไม่ได้

เมื่อวานนี้ (14 ก.ย. 66) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายเงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะออกมานั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แต่ข้อกังวลของแบงก์ชาติเกี่ยวกับนโยบายนี้ จะเป็นเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวมที่ตัวเลข โดยรวมดูไม่ค่อยสวยนัก โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.8% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ถ้าดูที่มาของการเติบโตแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ขาดไปไม่ใช่เรื่องของการบริโภค แต่เป็นเรื่องของการลงทุน 

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ เสนอว่า นโยบายดังกล่าวถ้าทำเฉพาะกลุ่มก็อาจจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้เงิน 10,000 บาท อีกทั้งการทำนโยบายต่าง ๆ รัฐบาลต้องฉายภาพระยะกลางของมาตรการที่จะทำให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องของภาพรวมรายจ่าย ภาพรวมหนี้ การขาดดุลต่าง ๆ ตรงนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น แสดงให้เห็นถึงวินัยทางการคลัง ที่จะบริหารให้อยู่ในกรอบได้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าแบงก์ชาติ ย้ำว่า เงินดิจิทัลขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะออก แต่ถ้าจะทำเป็น digital asset คือ ไม่ได้ หรือถ้าจะใช้วิธีการผสมกับ CBDC โครงการที่แบงก์ชาติกำลังดำเนินอยู่นั้น มองว่าไม่สามารถที่จะเป็นไปได้ เพราะโครงการนี้ โดยเฉพาะ Retail CBDC ที่เป็นการนำร่องเพื่อศึกษาเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการเอาออกมาเป็นการทั่วไป

ด้านสถานการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เศรษฐกิจตอนนี้มันก็มีการฟื้นตัวของมัน อาจจะช้ากว่าที่อื่น แต่ก็เห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจน สำหรับนโยบายอยากให้กลับมาสู่สภาวะปกติ จากทั้งฝั่งการเงินและการคลังทั่วโลก ในช่วงโควิดหลายประเทศมีการเหยียบคันเร่ง อย่างที่พูดมาโดยตลอดว่า ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับเสถียรภาพหลายมิติ และสิ่งที่กังวลเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ เรื่องเสถียรภาพทางด้านการคลัง เราเห็นตัวอย่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา โดน Downgrade Credit ดังนั้นเรื่องของการคลังจึงเป็นโจทย์สำคัญ ที่ทำให้เราต้องออกนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่นโยบายพักหนี้ของรัฐบาลที่จะออกมานั้น ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า การพักหนี้ควรเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ได้ แต่เป็นเครื่องมือหลักหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ควร และไม่ได้พักในวงกว้าง เพราะผลข้างเคียงจะสูง แต่ต้องดูให้สมควร และนโยบายนี้อาจเหมาะกับคนมีศักยภาพในการชำระหนี้อยู่แล้ว แต่เจอปัญหาชั่วคราวมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ทางรัฐบาลจะทำ 

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยและผลกระทบในการออกนโยบาย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินการคลัง หรือผลข้างเคียงด้านอื่น ๆ ที่อาจจะไม่พึงประสงค์

จับจังหวะเศรษฐกิจ ‘อีสานใต้’ หลังดัชนีความเชื่อมั่น ศก.เพิ่มสูง

รากฐานทางเศรษฐกิจ ชาวอีสานใต้ ศักยภาพคนตัวเล็ก ที่ขับเคลื่อนภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ ในพื้นที่นี้ เป็นอย่างไร มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในหลาย ๆ ด้าน กันครับ

ก่อนอื่น คงต้องแนะนำตัวก่อน กับ บทความแรก ของคอลัมน์ ‘คนตัวเล็ก’ ที่เราจะนำพาท่าน ไปลองดูมุมมองต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ อีสานใต้ ว่าการใช้ชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีของท้องถิ่น กับ กลไกทางเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนจังหวัดต่าง ๆ การสร้างงาน สร้างอาชีพ หลังสภาวะการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) กลับมาพลิกฟื้นในด้านไหนบ้าง หรือยังมีกลุ่มธุรกิจอะไร ที่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ 

คงต้องเริ่มต้นกับภาพใหญ่ก่อน ในส่วนของ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ‘ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออก, ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ’

- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 80.2 
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 77.2 
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 77.0 
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตของภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 73.0
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 72.3
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 70.4
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 69.1

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก
ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคเกษตรในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรจะปรับตัวขึ้น ประกอบกับการมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ 

ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลายพื้นที่ จึงมีความน่าสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการที่จะเริ่มการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้

บทความต่อไป เราจะค่อย ๆ ย่อยลงมาในกลุ่มภาคธุรกิจต่าง ๆ ว่าภาคธุรกิจใด มีดัชนีความเชื่อมั่นในระดับใด ทิศทางการเติบโตมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน รอติดตามกันนะครับ

เรื่อง: The PALM

อัปเดตความยิ่งใหญ่โครงสร้างพื้นฐานยกระดับเศรษฐกิจไทย 'ถนน-รถไฟ-รถไฟฟ้า-เมกะโปรเจกต์แสนล้าน' ใกล้เป็นจริง

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 ก.ย.66 ได้พูดคุยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของไทย กับ 'คุณจิรวัฒน์ จังหวัด' เจ้าของเพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ที่ EP นี้ได้มาอัปเดตโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร พร้อมอัปเดตการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้าเส้นทางไหนเปิดใช้บริการแล้ว เส้นทางไหนกำลังก่อสร้างใกล้เปิดบริการ เปิดแผนการลงทุน โปรเจกต์แสนล้าน! โครงการ Land Bridge เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ศูนย์กลางเดินเรือภูมิภาค โดยคุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า...

ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวหลายๆ ส่วน ตั้งแต่สิ่งที่สร้างไปแล้ว สิ่งที่กำลังก่อสร้าง และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

>> ราง
สิ่งที่เปิดไปแล้วใหญ่ๆ เลยก็คือ สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ตอนนี้พอมารวมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ส่งผลให้พิกัดนี้กลายเป็น Hub สำคัญแห่งการคมนาคมของอาเซียนไปแล้ว (รถไฟจากลาวจีน สามารถวิ่งตรงมาที่ประเทศไทยได้เลย)

"โดยรถไฟสายสีแดง ถือเป็นรถไฟฟ้าเส้นสำคัญ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหารถติดช่วงตั้งแต่ บางซื่อถึงรังสิต ได้ดีอย่างมาก"

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่เปิดบริการไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ คือ โมโนเรล (Monorail) สายสีเหลือง ซึ่งเป็นโมโนเรล สายแรก ที่เป็นขนส่งมวลชนในเมืองไทย เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งจะแก้ไขปัญหารถติดบนถนนลาดพร้าวได้เป็นอย่างดี 

"สายนี้สำคัญมาก เพราะมาเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่ลาดพร้าว ขณะที่ในอนาคตจะมาเชื่อมต่อสายสีส้มที่สถานีลำสาลี ซึ่งลำสาลีจะวิ่งอยู่บนถนนรามคำแหง แล้วสุดท้ายจะไปจบที่สถานีสำโรง อีกทั้งสายนี้จะยังมีจุดจอดรถจอดแล้วจร ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นขนทางจราจรและป้อนคนเข้าออกชานเมืองได้อย่างดี"

ไม่เพียงเท่านี้ รถไฟฟ้าที่กำลังเตรียมตัวเปิดอีกไม่นาน ก็จะมี สายสีชมพู ซึ่งเป็นแบบโมโนเรล เหมือนสายสีเหลือง เริ่มตั้งแต่ศูนย์ราชการ นนทบุรี ไปมีนบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกหลายสายเช่นกัน 

"ความสำคัญของรถไฟฟ้าเส้นนี้คือการเชื่อมต่อไปเมืองทองธานี เป็นสายแรกในเมืองไทยที่ทำรถไฟฟ้าสายแยก โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งสายสีชมพูจะเริ่มเปิดประมาณต้นปี 2567"

อีกส่วนหนึ่งที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดบริการ คือสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ซึ่งสายนี้จะไปเชื่อมกับสายสีชมพูที่มีนบุรี และในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อไปถึง ศิริราช และสถานีบางขุนนนท์ได้เลย โดยสายสีส้มจะวิ่งในแนวขวางตัดกรุงเทพมหานคร 

ข้ามมาที่ สายสีม่วง ก็จะมีการเชื่อมต่อกับสายสีม่วงเดิม หรือสีม่วงด้านบน ช่วงเตาปูน ไปบางไผ่ ส่วนด้านล่าง เตาปูน ลงมาถึงพระประแดง ก็จะมาตัดสีส้มแถวราชดำเนิน ซึ่งสายสีม่วงส่วนล่างกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จปี 2572

คุณจิรวัฒน์ เผยอีกว่า รถไฟฟ้าที่เล่ามายังไม่จบเท่านี้แน่นอน เพราะตอนนี้ สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) และกรมการขนส่งทางราง ได้มีการศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครใหม่ทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการวางแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP ที่ได้วางกันมานาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมศึกษาเส้นทาง ภายใต้ประเด็นการใช้ตั๋วร่วม ให้เกิดขึ้นจริงบรรจุอยู่ด้วย

ในส่วนของ รถไฟทางคู่ คุณจิรวัฒน์ เล่าว่า "ตอนนี้เรามีประมาณ 5 โครงการทั่วประเทศ โดยเส้นทางหลักๆ ที่คืบหน้าไปมาก คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สายอีสาน อีกเส้นหนึ่ง คือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ อีกสายหนึ่งที่สำคัญมาก คือ รถไฟสายใต้ นครปฐม-ชุมพร ตรงนี้คือคอขวดของรถไฟสายใต้ ถ้าสร้างช่วงนี้เสร็จไม่ต้องรอสับรางแล้วสามารถวิ่งตามกันได้เลย"

ส่วนรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ของเมืองไทยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-โคราช โดยโครงการนี้ไทยเป็นคนก่อสร้างเองในส่วนของงานโยธา และซื้อระบบมาวางบนทางวิ่งที่ก่อสร้างเอง 

"ในอนาคตเราสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผลิตรถไฟ ทางการก่อสร้างเส้นทาง การซ่อมบำรุง การประกอบของรถไฟความเร็วสูง โดยนำข้อมูลตัวเดียวกันมาผลิตรถไฟทางคู่ หรือ ราง 1 เมตรได้ คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2570" 

ส่วนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน แต่จะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่านมาเมืองนั้น จะมีสถานีระหว่างเมือง 3-4 สถานี ที่อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2571-2572 

>> ถนน
ด้าน มอเตอร์เวย์ 2 สายที่กำลังก่อสร้างอยู่ อาทิ บางปะอิน-โคราช มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปเยอะมากแล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปี น่าจะสร้างเสร็จ (ประมาณ ปี 2568) อีกเส้น คือ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กำลังดำเนินการก่อสร้างเป็นส่วนๆ  ประมาณกลางปี 2567 น่าจะแล้วเสร็จ

>> เมกะโปรเจกต์
สำหรับโครงการในอนาคต กับ โครงการสะพานข้ามเกาะสมุย ขนอม-สมุย ระยะทางการสร้างสะพานประมาณ 8 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกในการรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นจากการขึ้นเรือเฟอร์รี่มายังเกาะสมุยนั้น จะสามารถเชื่อมโยงกับโครงการ SEC (Southern Economic Corridor : ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) ได้ 

อีกโครงการที่สำคัญคือ โครงการ Landbridge ซึ่งเป็นการสร้างสะพานเศรษฐกิจข้าม 2 ฝั่งทะเล ซึ่งโครงการนี้จะมีช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามฝั่งทะเลได้โดยง่าย โดย Landbridge จะมีโครงการย่อยๆ เชื่อมโยงกันอยู่ 3 โครงการหลักๆ ได้แก่...

1.ท่าเรือ ซึ่งจะสร้างทั้ง 2 ฝั่งทะเล บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอีกฝั่งหนึ่งแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ซึ่งการสร้างท่าเรือ จะช่วยในการพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อาทิ การแปรรูปผลไม้ เช่น สับปะรด ได้ด้วย

2.การสร้างมอเตอร์เวย์ แบบคู่ขนาน ถนน และรถไฟสายใหม่ 

และ 3.การสร้างทางรถไฟ เชื่อมโยงกับทางรถไฟระบบเดิม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างมาก

"สำหรับโครงการนี้สำคัญต่อประเทศอย่างมาก ซึ่งผมอยากฝากให้ประชาชนในพื้นที่ได้ติดตามและเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของโครงการต่างๆ เพื่อเสนอแนะ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ในฐานะประชาชนในพื้นที่กันครับ" คุณจิรวัฒน์ ทิ้งท้าย

‘พาณิชย์’ นำร่อง 20 จังหวัด เปิดจุด ‘ขายไข่ราคาถูก’ 50 จุด หวังเพิ่มช่องทางเลือกซื้อ-ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับปชช.

(16 ก.ย.66) นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เปิดจุดจำหน่ายไข่ไก่ราคาประหยัด ณ ศาลากลางจังหวัด โดยได้ทยอยเปิดจุดจำหน่ายแล้ว 20 จังหวัด กว่า 50 จุด นำไข่ไก่เบอร์ 3 จำหน่ายถาดละ 105-120 บาท หรือเฉลี่ยฟองละ 3.50-4.00 บาท

เพื่อเพิ่มช่องทางเลือกซื้อไข่ไก่ราคาประหยัดให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ โดยเน้นในจังหวัดที่อยู่ไกลแหล่งผลิตไข่ไก่

สำหรับ 20 จังหวัดที่กรมได้นำร่องนำไข่ไก่ราคาประหยัดไปจำหน่าย ได้แก่ นครสวรรค์ ตรัง พังงา นราธิวาส สตูล ลำปาง นครราชสีมา ภูเก็ต มุกดาหาร พิจิตร สุราษฎร์ธานี นนทบุรี เลย ปราจีนบุรี สุรินทร์ กำแพงเพชร นครปฐม นครพนม นครนายก และปทุมธานี

ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กรมได้จัดรถโมบายธงฟ้าเคลื่อนที่เข้าไปยังในพื้นที่ชุมชนจำนวน 100 จุดหมุนเวียนกันไป ซึ่งนอกจากไข่ไก่ราคาถูกแล้ว ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นอื่น ๆ ที่นำมาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดด้วย เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจปริมาณไข่ไก่ในช่วงนี้ พบว่า ผลผลิตมีเพียงพอกับความต้องการบริโภค และไข่ไก่เบอร์ใหญ่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนที่มีปริมาณน้อยในตลาด โดยกรมจะมีการกำกับดูแลและติดตามสถานการณ์ราคาไข่ไก่อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อสร้างความเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้เลี้ยงไก่ไข่จนถึงประชาชนผู้บริโภคในราคาในทุกระดับการค้ามีความสอดคล้องกัน ตามโครงสร้างที่กรมกำกับดูแล

โดยประชาชน หากพบผู้ค้ารายใดมีพฤติกรรมจำหน่ายไข่ไก่ในราคาสูงเกินสมควร สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และหากพบการกระทำผิด จะมีความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

‘เซเว่นฯ’ เปิดพื้นที่สร้างโอกาสให้กับ ‘คุณยายจำลอง’ หน้าสาขาพระองค์ดำ เพื่อเป็นสถานที่ขายสินค้า ‘นำมาสู่รายได้-เลี้ยงตนเอง’ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

(16 ก.ย.66) ซีพี ออลล์ เปิดพื้นที่หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาพระองค์ดำ (พิษณุโลก) (RC 5072) อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก ให้กับคุณยายจำลอง วงค์หงษา อายุ 104 ปี เพื่อเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นำมาสู่รายได้และการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนส่งมอบกำลังใจ ในนาม ‘ซีพี ออลล์’ โดยวันนี้ 12 กันยายน 2566 คุณธีระสิทธิ์ เตียมคำ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สำนักปฏิบัติการ 1 พื้นที่ RN ให้เกียรติเป็นประธาน เปิดงาน พร้อมด้วยคุณบุศริน ศิริจันทเวท ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สำนักปฏิบัติการ 1 พื้นที่ RN, คุณสาวิตรี บุญนะ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแผนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก, คุณดาหวัน กลิ่นเกษม อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ให้เกียรติเข้าร่วมแสดงความยินดี ใครผ่านไปแถวนั้นสามารถอุดหนุนสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจแก่คุณยายจำลอง ได้ที่หน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาพระองค์ดำ (พิษณุโลก)

'กทพ.' สานต่อเมกะโปรเจกต์ เล็งศึกษา 'ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง' ช่วยลดระยะเวลาเดินทาง-เพิ่มทางเลือกนอกเหนือจากเรือเฟอร์รี่

(16 ก.ย.66) ที่ผ่านมา ‘กทพ.’ เร่งผลักดันทางด่วนในภูมิภาคหลายแห่งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางและคนในพื้นที่สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหารถติดในอนาคต

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้กทพ.ประสานงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในการดำเนินการศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 กทพ.ได้ประสานขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2567 ระยะเวลาศึกษาประมาณ 2 ปี เนื่องจากโครงการอยู่ในพื้นที่ของอุทยานฯ คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2569  

หากโครงการฯ ศึกษาแล้วเสร็จ เบื้องต้นกทพ.จะเสนอรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯพร้อมรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบอนุมัติโครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณปี 2570 ใช้ระยะเวลาเร็วสุดประมาณ 1 ปี และเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 2569-2570

“หากโครงการดังกล่าวสามารถขออนุมัติได้ภายใน 1 ปี กทพ.ประเมินว่า โครงการจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้ภายในปี 2571 ซึ่งคาดว่าการประมูลอาจจะใช้ทางเลือกในรูปแบบการประมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2572 ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2576”

รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่กทพ.ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ เพราะได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการรับโอนโครงการดังกล่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.)  

ขณะเดียวกันในปัจจุบันการเดินทางข้ามเกาะช้างโดยเรือเฟอร์รี่ที่นำรถยนต์ข้ามเกาะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน โดยเฉพาะการรอขึ้น-ลงเรือเฟอร์รี่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้มากขึ้น

ที่ผ่านมาพบว่าทางจังหวัดตราดได้ขอความอนุเคราะห์ให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ศึกษาออกแบบโครงการฯแต่กรมได้พิจารณาแล้วเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างมาก ซึ่งต้องใช้เทคนิคและข้อกำหนดพิเศษทางด้านวิศวกรรมในการออกแบบก่อสร้าง จำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ประกอบกับแนวก่อสร้างโครงการพาดผ่านทะเลอ่าวไทย, ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

ทั้งนี้ จังหวัดตราดได้ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยแจ้งผลให้ทราบเพื่อประกอบการพิจารณาของโครงการฯ เชื่อมเกาะช้าง ซึ่งจังหวัดตราดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง โดยเป็นการทำแบบสำรวจภาคประชาชน ใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เกาะช้าง, อ.แหลมงอบ และพื้นที่อื่น ๆ พบว่า เห็นด้วย 95.19% ที่ไม่เห็นด้วย 4.81% เห็นว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้จะเสียหาย ส่วนพื้นที่ อ.เกาะช้าง เห็นด้วย 98.63%

สำหรับโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) มีจุดเร่งต้นโครงการบริเวณพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราดเชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางซึ่งส่งผลดีต่อการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เกาะช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top