โปรเจ็กต์นี้ทาง ‘กรมเจ้าท่า’ ได้ร่วมกับ บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด เพื่อให้บริการจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) - ท่าเรือเซ้าท์เธิร์น โลจิสติกส์ 2009 จังหวัดสงขลา ด้วยความเร็ว 17 น็อต จาก 330 ไมล์ทะเล (611 กม.) ใช้เวลาเดินทาง 18-20 ชม. เร็วกว่าทางบกที่ระยะทาง 1,130 กม. ช่วยร่นระยะทาง 519 กม. ไม่ต้องหลังแข็งขับรถ 23-24 ชม. ใช้เวลานอนพักผ่อนบนเรือได้เต็มที่
โดยโครงการนี้ ทางผู้ประกอบการลงทุน100% ได้ซื้อเรือเฟอร์รี่มือสองมาจากเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางถึงเมืองไทยแล้ว อยู่ระหว่างซ่อมบำรุงที่อู่เรือ บริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด จำกัด
จากนั้นก็เตรียมแผนทดสอบระบบการเดินเรือและทดลองเปิดบริการเพื่อรับรถของลูกค้าบริษัทก่อนประมาณวันที่ 7 ม.ค. นี้ แล้วก็คาดว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการให้ประชาชนทั่วไปภายในเดือนมกราคม หรืออย่างช้าก็เดือนกุมภาพันธ์
ส่วนรายละเอียดอัตราค่าโดยสารเนื่องจากกำลังจัดทำรายละเอียดของต้นทุนในการเดินเรือนำเสนอและรอผลการทดสอบก่อน แต่ได้ให้ข้อแนะนำว่าควรกำหนดอัตราที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกและประชาชนรับได้
ทั้งนี้ หากมองถึงประโยชน์ที่จะมาพร้อมกับ เฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ นั้นมีเพียบ ตั้งแต่...
• ขนรถบรรทุกได้ถึง80คัน
• รถส่วนตัว20คัน
• ผู้โดยสาร586คน
• สร้างระบบโลจิสติกส์แบบวาร์ป จาก ‘ตะวันออกไปถึงภาคใต้’
• และถ้าเวิร์คเฟสต่อไป ก็จะไปจอดท่า ‘ปราณบุรี’
ตามมุมมองของ วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ให้ความเห็นว่า โครงการเดินเรือเฟอร์รี่ ระหว่าง ‘สัตหีบ-สงขลา’ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ภาพรวมการขนส่งภายในประเทศ ผ่านระบบการขนส่งทางน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่ ‘Very Good’
เนื่องจากเป้าหมายของโครงการนี้ ไม่แค่เพื่อการขนส่งอย่างเดียว แต่ยังมาช่วยลดปัญหา ความแออัดของการจราจร และลดการเกิดอุบัติเหตุท้องถนน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)
อีกทั้งสามารถประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนนของภาครัฐ อันนี้คือข้อดีตามแผนของโครงการดังกล่าว
โดยในระยะแรกจะให้บริการในเส้นทางชลบุรี(สัตหีบ) – สงขลา เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก กับเขตเศรษฐกิจภาคใต้พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว
ฟังๆ ดูแล้วที่เล่ามาทั้งหมด ช่างดูเป็นโปรเจ็กต์ที่สวยหรู และพร้อมเดินหน้าได้โลด!!
แต่เดี๋ยวก่อน หากหันไปมองดู ‘ข้อสะดุด’ บางอย่างก็ยังมี และเหมือนจะมีแบบหนักหนาด้วย!
นั่นก็เพราะมีคนในโลกโซเชี่ยลตั้งประเด็นเรื่องเรือเฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นว่า ‘ไม่ปลอดภัย’
จากข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ ที่ทราบชื่อภายหลังว่า ‘นฤพันธ์ โชติช่วง’ ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น และอดีตเจ้าหน้าที่ ได้มีมุมมองที่ย้อนแย้งที่ทำให้ต้องสะอึกกับโครงการเฟอร์รี่ สัตหีบ-สงขลา พอดู
อันที่จริงแล้ว นฤพันธ์ เห็นด้วยกับโครงการนี้ว่ามีความน่าสนใจ เพราะลดลดทั้งความหนาแน่นบนท้องถนน และมลพิษที่ออกจากรถยนต์ตามที่กรมเจ้าท่าบอก แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการเอาเรือเฟอร์รี่ ซีฮอร์ส หรือเรือเฟอร์รี่มือสองจากญี่ปุ่นมาวิ่งเส้นทาง สัตหีบ – สงขลา
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ถูกโพสต์ทิ้งไว้ในเพจให้ต้องคิดตามหลายเรื่อง!!
“เรือลำนี้ เป็นเรือมือสอง (ถ้านับจริงๆ ก็มือสาม) ที่ต่อตั้งแต่ปี 1994 อายุสิริรวมก็ได้ 27 ปี ช่วงรอยต่ออายุระดับเกือบ 30 ปีนั้น ทำให้เกิดข้อกังขาในเทคโนโลยีความปลอดภัยด้านตัวเรือ
แถมถ้ามองเส้นทางวิ่ง สัตหีบ-สงขลา ที่มีระยะทางมากกว่า 100 ไมล์ทะเลแล้ว ต้องบอกเลยว่ามันอาจจะเกินประสิทธิภาพไปมาก เพราะทราบหรือไม่ว่าเรือลำนี้ก่อนจะถูกซื้อมา ถูกใช้วิ่งบริเวณช่องแคบสึกะรุ ที่มีเส้นทางวิ่งไกลสุดเพียง 65 ไมล์ทะเลเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้นรูปแบบเส้นทางวิ่งของเรือลำดังกล่าว เป็นการวิ่งข้ามฝั่งระหว่างช่องแคบ แต่ของเราจะเอามาวิ่งตัดอ่าวไทย เพราะอยากประหยัดเวลามากขึ้น มันก็ต้องวิ่งตัดอย่างเดียว ไม่สามารถวิ่งเลาะชายฝั่งได้
ประเด็นเหล่านี้ คงพอทำให้คิดตามได้เล็กๆ ว่า ‘มันไม่อันตรายหรือ?’
ผมจะไม่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเลย หากประเทศไทยมีระบบการช่วยเหลือทางน้ำที่ยอดเยี่ยมอย่างญี่ปุ่น เพราะเอาแค่เหตุการณ์ที่เรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะพะงัน-สมุย กับ สุราษฏร์ฯ ที่ล่มห่างจากฝั่งไม่ถึง 10 กิโลเมตร แล้วไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทั้งหมด
ผมใบ้ให้คร่าวๆ ละกัน!!
1. ประเทศไทยมีระบบกู้ภัยของรัฐที่เชื่องช้าครับ ที่เราเห็นว่าปอเต็กตึ้ง หรือร่วมกตัญญู สามารถไปถึงได้เร็ว เพราะว่าเป็นเอกชน แม้แต่เคส 13 หมูป่า คนที่เริ่มลงมือช่วยเหลือกลุ่มแรกก็เป็นกู้ภัยอาสาสมัคร
2. ปัญหากู้ภัยทางบกเราถูกปิดบังด้วยความสามารถของเอกชน แต่ทางทะเล นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าอุปกรณ์และความชำนาญต่างๆ มันเฉพาะด้านมากกว่ากันเยอะ เอกชนเลยไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า การช่วยในกลุ่มเล็กๆ โดยมีนักประดาน้ำจำนวนไม่เยอะ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการกู้ภัยล้วนมีราคาแพงมาก เฮลิคอปเตอร์ เรือกู้ภัย บลาๆ ระดับเกิน 10 ล้านบาทขึ้น แถมต้องการเจ้าหน้าที่เฉพาะทางอีก เรื่องนี้เลยต้องเป็นราชการเป็นผู้รับผิดชอบ
3. อุปกรณ์ที่หลากหลาย และความชำนาญเฉพาะด้าน ก็เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่นั้นอยู่คนละองค์กร แต่ต้องทำงานร่วมกัน ภายใต้คำสั่งการของ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย แล้วมีผู้ว่าคนไหนชำนาญด้านการช่วยเหลือทางทะเลบ้าง?
กู้ภัยไม่ทันไร ‘มืด’ ก็ยกเลิกการค้นหา รอฟ้าสว่าง ค่อยทำต่อ ไม่ทราบว่า เอาอะไรคิด ไม่ได้หลงป่านะ นี่อยู่กลางทะเล จะเอาตัวให้อยู่พ้นเหนือน้ำก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ยังต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะเช้าอีก
ประเด็นนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน หากทราบเรื่องนี้แล้ว จะสามารถฝากชีวิตไว้บนเรือนี้ได้เกิน 24 ชั่วโมงหรือไม่? แน่นอนว่าโครงการนี้ไม่แย่นะครับ ผมชอบนะ แต่ปัญหาคือ ลดต้นทุนด้านความปลอดภัยด้วยการซื้อเรือเก่ามาให้บริการเนี่ยนะ”
แม้ทางผู้ประกอบการจะเน้นย้ำถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือ ท่าเรือ ตัวเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยประจำเรือ คนประจำเรือ และการจัดการแผนเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
แต่ในมุมของคนที่ไม่ใช่ช่างเทคนิค ก็ไม่กล้าตัดมุมมองของ นฤพันธ์ ที่แม้จะไม่ใช่คนเด่นคนดัง แต่พลังข้อมูลมันก็สะท้อนให้ประชาชนตาดำๆ สัมผัสได้ถึง ‘ความเสี่ยง’ พอตัว
ช่วยไม่ได้ ก็เหรียญมันมี 2 ด้านนิหว่า!!
อ้างอิง: ที่มาฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่าเรือ
เฟซบุ๊ก Naruphun Chotechuang