Friday, 9 May 2025
ESG

‘ห้าดาว’ ร่วมโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ ผลักดันนวัตกรรมสีเขียว ส่งต่อน้ำมันใช้แล้ว ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน

(1 เม.ย.67) ‘ธุรกิจห้าดาว’ (Five Star) ของ บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด ผู้นำธุรกิจจุดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน ร่วมสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ร่วมลงทุน และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 5,000 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ บนเส้นทางการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในไทยมานานกว่า 40 ปี ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ จากความร่วมมือระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BSGF กับกรมอนามัย ในฐานะที่ห้าดาวเป็นหนึ่งกลุ่มพันธมิตรการค้า ที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปรีไซเคิล ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF เพื่อลดปัญหาสุขภาพ และสร้างความยั่งยืน โดยมี นายธนพันธ์ นามวิริยะโชติ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้แทนห้าดาว นำทีมร่วมงาน

“ปัจจุบันมีร้านห้าดาวและเถ้าแก่ห้าดาว ร่วมโครงการฯ นี้แล้วกว่า 130 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และบางสาขาตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันบางจากเอง ตั้งเป้าขยายสาขาเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 5,000 สาขา ทั่วประเทศ ภายในปี 2567 และเดินหน้าเข้าร่วมโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ ตามเกณฑ์มาตรฐาน MOU การรณรงค์ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำในครั้งนี้ โดยเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน CPF ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับทางบางจากในการผลักดันนวัตกรรมสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายธนพันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ เป็นการต่อยอดจากโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ ด้วยการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการไม่นำน้ำมันใช้แล้วที่เป็นอันตรายกับสุขภาพมาใช้ทอดอาหารซ้ำ หรือ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ เพื่อช่วยขับเคลื่อนและผลักดันด้านอาหารทอดปลอดภัย จากความตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภค คุณภาพชีวิต รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม จากการกำจัดของเสียอย่างถูกวิธีด้วยการ และช่วยสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว โดยหลังจาก BSGF รับซื้อน้ำมันใช้แล้ว จะออกใบประกาศนียบัตรให้กับร้านที่จำหน่ายน้ำมันดังกล่าว ว่าเป็นร้านอาหารที่ใช้น้ำมันปรุงอาหารทอดไม่ซ้ำ เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านนั้น ๆ โดยการรับรองของกรมอนามัย

สำหรับร้านอาหารที่จะได้รับใบรับรองฯ ต้องผ่าน 3 เกณฑ์สำคัญ ได้แก่ 1. ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ 2. ขายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว นำไปผลิตเป็น SAF อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน 3. ผ่านการตรวจค่าสารโพลาร์ (Polar compounds) โดยมีค่าสารโพลาร์ไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนักน้ำมันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ทั้งนี้ การลงนาม MOU โครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ มีนายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน BSGF ร่วมลงนามกับ แพทย์หญิงอัจฉรา ปวะบุตร นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ภายในงานห้าดาวนำผลิตภัณฑ์ไก่จ๊อห้าดาวที่ปรุงโดยใช้น้ำมันปรุงอาหารแบบทอดไม่ซ้ำไปร่วมออกบูธด้วย

‘EA’ จับมือ ‘BAFS’ ลุยส่งเสริมการใช้ SAF ในอุตฯ การบิน ปักหมุดลดการปล่อย CO2 ก้าวสู่ Net Zero ในปี 2573

(9 เม.ย. 67) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) รักษ์โลก ผนึกกำลัง บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ศึกษาแผนร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ประกอบธุรกิจผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel (SAF) ส่งเสริมเป้าหมายอุตสาหกรรมการบินก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2573 โดยมี ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ใช้นวัตกรรมของคนไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ การลงทุนต่อยอดในธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพใช้สำหรับเครื่องบินในครั้งนี้ สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนให้ประเทศไทยไปสู่ Carbon Neutral ตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ กับประชาคมโลกใน COP26 ว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก

การลงนามความร่วมมือกันของ EA และ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ในครั้งนี้นั้นเป็นการรวมจุดแข็งของสององค์กรของไทยที่จะควบรวมองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจผลิต น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ธุรกิจจัดเก็บและบริหารจัดการน้ำมัน SAF รวมทั้งธุรกิจอื่น ๆ 
ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งในประเทศไทยเอง และในอาเซียน

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บาฟส์) เปิดเผยว่า บาฟส์ ในฐานะผู้ให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบครบวงจรตามมาตรฐานสากล ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการนำองค์ความรู้และประสบการณ์กว่า 40 ปี ในการบริหารจัดการและให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน จับมือกับ EA ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อผลักดัน SAF ให้เป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบิน โดยร่วมมือกัน เพื่อศึกษาโอกาสในการ สร้างสถานีบริการผสมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF Blending Facility) แบบ Open-Access เพื่อรองรับ SAF ที่ผลิตมาจากวัตถุดิบทางชีวภาพและวัตถุดิบอื่น ๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงความสะดวกในการเข้าถึงของทุกบริษัทน้ำมัน เพื่อส่งเสริมให้ตลาดการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนเป็นไปอย่างเสรี สนับสนุนผู้ผลิตน้ำมันอากาศยานทุกราย พร้อมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันอากาศแบบยั่งยืนของภูมิภาค 

ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์การตรวจสอบคุณภาพน้ำมันอากาศยานของบาฟส์ ทำให้สายการบินจากทั่วทุกมุมโลกมั่นใจได้ว่าน้ำมันที่ บาฟส์ ให้บริการเป็นน้ำมันอากาศยานที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ บุคลากรของบาฟส์ ได้ผ่านการรับรองจากองค์กร ISCC จึงมีความพร้อมสำหรับบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองคุณภาพ SAF ให้ตรงตามมาตรฐานสากล ทั้งการตรวจสอบความสอดคล้องด้านความยั่งยืนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และปริมาณคาร์บอนที่ลดลงตามกรอบมาตรฐานด้านความยั่งยืน

การลงนามความร่วมมือระหว่าง EA และ BAFS เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม การบินที่ไร้มลพิษ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในอุตสาหกรรมการบิน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เเละเป็นเเรงผลักดันขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ในธุรกิจของประเทศให้เติบโตบนหลัก Sustainability Business ตลอดจนทำให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น สร้างสมดุลทางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยให้แข็งเเกร่ง

‘OR’ จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567  ยึดถือแนวทาง ‘Carbon Neutral Event’

(10 เม.ย. 67) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท และ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปี 2566 การจ่ายเงินปันผล และการอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ตามกฎหมาย ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) 

โดย OR มุ่งมั่นที่จะแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการประชุม ผ่านการขอรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอนตามแนวทาง Carbon Neutral Event ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในปี 2030 ของ OR (OR 2030 Goals) ที่ครอบคลุมทั้งสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินการที่ดี และได้นำหลักการการจัดประชุมอย่างยั่งยืนตามแนวทางการจัดประชุมสีเขียว หรือ Green Meeting ขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นการงดหรือลดการแจกเอกสาร เพื่อลดการใช้ทรัพยากร การใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อใช้งานบริเวณห้องควบคุมการประชุม รวมถึงจัดให้มีการแยกขยะ เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุดอีกด้วย

ส่องวิสัยทัศน์ 'ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง' ซีอีโอป้ายแดง 'ปตท.' 'ไม่เน้นกำไรระยะสั้น-ต้องช่วยสังคม SME-เป็นประโยชน์ต่อชาติในภาพรวม'

(13 พ.ค. 67) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง เข้าดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นวันแรก พร้อมขับเคลื่อน ปตท. ด้วยวิสัยทัศน์ ‘ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน’ โดยการสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการของ ‘ความยั่งยืนอย่างสมดุล’ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ดร.คงกระพัน เปิดเผยแนวคิดการบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย ‘บริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ’ การที่องค์กรจะดำเนินไปได้ ธุรกิจต้องมีกำไร แต่เป็นกำไรที่เหมาะสมและยั่งยืน ไม่เน้นกำไรระยะสั้น ธุรกิจต้องเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ช่วยสังคมไทย SME และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

‘การลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ’ จากสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท. ต้องมีความคล่องตัว มี Agility ธุรกิจใดที่ดี ต้องเร่งต่อยอดขยายผล แต่หากธุรกิจใดที่เคยดี หรือไม่ perform แล้ว ก็ต้องมีความกล้าที่ออกจากธุรกิจอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว

‘สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน’ การทำธุรกิจและการบริหารจัดการต้องโปร่งใส ทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง 

สิ่งสำคัญมาก ๆ คือ ‘บุคลากร’ ปตท. มีบุคลากรที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ต้องสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือ พาองค์กรก้าวผ่านทุกความท้าทาย ต้องทำให้ "ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว

‘สาธารณสุข’ ดันหน่วยในเครือ ติดตั้งระบบโซลาร์ทั่วประเทศ ลดปล่อยคาร์บอนฯ 4.3 หมื่นตันต่อปี ประหยัดไฟ 392 ลบ.

(8 ก.ค. 67) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งการเจ็บป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด การเกิดโรคติดต่อ และภัยจากสภาพอากาศที่รุนแรงต่าง ๆ

กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการสูญเสียพลังงานอย่างไร้ประโยชน์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ข้อมูลล่าสุดถึงเดือนเมษายน 2567 หน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมด 1,857 แห่ง ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,496 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82.02 ขนาดกำลังการผลิตรวม 75,806.09 กิโลวัตต์ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 43,137.43 tonCo2/ปี สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 392,238,903 บาท/ปี โดยยังมีหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 206 แห่ง 

ทั้งนี้ ภายใต้นโยบาย SECA ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานร้อยละ 20, ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (EV), การปรับปรุงและก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน (Energy Building)

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาล, การเพิ่มศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่ไปรับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล, การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอย/น้ำเสีย โดยใช้หลัก 3R (Reduce, Reuse, Recycle) และการรณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยของหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า หากการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 2-3 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้

ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

OR มอบรางวัล การประกวด 'Green Innovation Contest' ประจำปี 2567 ตอกย้ำภารกิจ ‘เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน’ บนโลกเดียวกันที่ยั่งยืน

(8 ต.ค. 67) นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกิจการพิเศษ 1 บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มอบรางวัลและแสดงความยินดีแก่ทีมแข่งขันจากการประกวดโครงการ 'Green Innovation Contest' ประจำปี 2567 ณ ห้อง The Synergy Hall ชั้น 6 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารซี กรุงเทพมหานคร

นางสาวราชสุดา เปิดเผยว่า OR ได้จัดโครงการ 'Green Innovation Contest' เป็นครั้งแรก ในหัวข้อ 'นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกที่ยั่งยืน' โดยมุ่งหวังสนับสนุนให้เยาวชนไทยแสดงศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติต่อไป

ในโดยในปีนี้ OR ได้เปิดรับสมัครเยาวชนจากกลุ่มนิสิต นักศึกษา และอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศ มีทีมเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 100 ทีม การคัดเลือกแบ่งออกเป็น 3 รอบ คัดเหลือ 15 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบชิงถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยทีมที่ชนะการประกวด มีดังต่อไปนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม C-dots Coating Cell ผลงาน นวัตกรรมสเปรย์ฟิล์มเคลือบผิวโซลาร์เซลล์สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยอนุภาคนาโนคาร์บอนดอทจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Plankton collector ผลงาน หุ่นยนต์เก็บแพลงก์ตอนอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Bio-Farmer ผลงาน ถังน้ำหมักชีวภาพจากขยะครัวเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ (Bio-Auto Fermenter)

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมประกาศนียบัตรและทุนการศึกษา 30,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 จะได้รับเหรียญทอง เหรียญเงิน ประกาศนียบัตรและทุนการศึกษา 20,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชย 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ โดยได้รับเหรียญทองแดง ประกาศนียบัตร และทุนการศึกษา 5,000 บาท 

กิจกรรมเด่นภายในงาน นอกจากการนำเสนอผลงานของทั้ง 15 ทีมที่ผ่านเข้ารอบแล้ว ยังมีบูธนิทรรศการแสดงนวัตกรรมของแต่ละทีม รวมถึงบูธเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ OR ซึ่งสะท้อนการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้แก่สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีกิจกรรมสร้างความสนุก อาทิ การร่วมแสดงความคิดเห็น และกิจกรรมคีบของรางวัล เพื่อร่วมลุ้นรับของรางวัลรักษ์โลก การจัดงานทั้งหมดออกแบบเพื่อลดการสร้างขยะให้น้อยที่สุด โดยขยะที่เกิดขึ้นบางส่วนจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น ขวดน้ำและฝาขวดจะถูกคัดแยกและส่งต่อไปยังโครงการ 'แยกแลกยิ้ม x GC Youเทิร์น' เมื่องานเสร็จสิ้น 

โครงการ 'Green Innovation Contest' นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ OR ผลักดันและส่งเสริมให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของ OR ที่มุ่ง “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน ในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับสู่นวัตกรรมในแบบฉบับของ OR” นอกจากนี้ ยังเป็นการวางรากฐานเพื่อพัฒนาเยาวชนที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุนให้ OR บรรลุเป้าหมายที่มุ่งเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Healthy Environment) ซึ่งรวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในสถานประกอบการ และการลดปริมาณขยะ มุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 ทั้งนี้ เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การเป็นองค์กรที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 นางสาวราชสุดา กล่าวเสริมในตอนท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top