Friday, 9 May 2025
ESG

‘พีระพันธุ์’ เปิดอาคาร ‘Net zero energy building’ ใหญ่สุดในไทย หนุน ไทยมีอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ 2,000 แห่ง ภายในปี 79 

(10 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ‘Net Zero Energy Building’ (อาคาร 70 ปี พพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสร้างอาคารใหม่ ๆ ของไทยได้นำแนวคิดด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน โดยการทำให้การใช้พลังงานสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net Zero Energy Building : NZEB) เริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอาคารและที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาอาคารที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลงให้ได้ 45% ในปี พ.ศ. 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593

ในขณะที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ถึง 25% ภายในปี พ.ศ. 2573 ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ในแผนธุรกิจและแผนการบริหารจัดการองค์กรมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้เห็นความสำคัญที่จะต้องวางแผนและเริ่มการศึกษา ออกแบบ และก่อสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ซึ่งมีการดำเนินการในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศยังไม่มีตัวอย่างที่สมบูรณ์ให้ศึกษาเรียนรู้

โดยในปี 2562 พพ. ได้เริ่มศึกษาและได้จัดสรรงบประมาณกว่า 81,600,000 บาท เพื่อสร้างอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ‘Net Zero Energy Building’ หรือ ‘อาคาร 70 ปี พพ.’ แห่งนี้ โดยมีการออกแบบภายใต้หลักการการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อลดการใช้พลังงานอาคารผ่านการออกแบบที่ใช้ประโยชน์จากสภาวะแวดล้อม และการใช้วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง พร้อมการใช้พลังงานทดแทนจากระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดอาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building : NZEB)

ตลอดจนมีการออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวภาครัฐ ‘G–GOODs’ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การก่อสร้างอาคารมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังเป็นโครงการที่เข้ารับการประเมินการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES-NC) ให้การรับรองโดยสถาบันอาคารเขียวไทย ระดับ Platinum และยังเป็นอาคารสำนักงาน ‘Zero Energy Building’ ที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกด้วย

นายโสภณ มณีโชติ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์มากกว่า 2,000 อาคาร แม้ต้นทุนในการพัฒนาอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์จะสูงกว่าอาคารทั่วไป แต่ก็มีความคุ้มค่าในระยะยาว ไม่เพียงอาคารใหม่ที่สามารถพัฒนา เพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ อาคารเก่าที่เปิดใช้งานไปแล้ว ก็ยังสามารถปรับปรุงเพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ได้เช่นเดียวกัน

‘EXIM BANK’ เล็งออก ‘บลูบอนด์’ 5 พันล้าน หนุนธุรกิจรับ ESG พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 50% ภายในปี 71

(13 ธ.ค. 66) นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในเวทีสัมมนา ‘SUSTAINABILITY FORUM 2024’ จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ หัวข้อ ‘Sustainable Finance ถอดสูตรการเงิน สู่ความยั่งยืน’ ว่า ในมุมของสถาบันการเงินที่จะช่วยสนับสนุนทิศทาง ESG คือ การระดมทุน และการปล่อยสินเชื่อด้วยการสร้างกลไกให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้ออกกรีนบอนด์ เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อธุรกิจสีเขียวให้ต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจต่ำลงเรื่อยๆ ภายใต้หลักการที่ว่า เมื่อคนตัวใหญ่ได้ต้นทุนการเงินที่ถูก คนตัวเล็กก็ต้องได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงเช่นเดียวกัน

เขาเห็นว่า ในระยะต่อไป การระดมทุนจะไม่ได้มุ่งไปที่กรีนบอนด์เท่านั้น แต่จะพัฒนาไปยังบลูบอนด์คือ บอนด์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยในปีหน้า ธนาคารมีแผนจะระดมทุนผ่านบลูบอนด์จำนวน 5 พันล้านบาท จะส่งผลให้ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท หรือ 45% ของพอร์ตสินเชื่อกว่า 1.8 แสนล้านบาท และตั้งเป้าว่า ภายในปี 2571 พอร์ตสินเชื่อสีเขียวจะขยับเป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่า เครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวหรือสีฟ้ายังมีไม่เพียงพอ จึงอยากขอให้ภาคเอกชน และภาคการเงินช่วยกัน เพราะสิ่งที่ออกมาช่วยกันทำให้มีซัพพลายทางการเงินตลาดสีเขียวมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าจะได้รับต้นทุนที่ต่ำลง

“แม้เราพยายามแค่ไหน จำนวนความต้องการของโลกที่จะใช้กรีนไฟแนนซ์ เพื่อคุมไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีปริมาณสูงกว่าสิ่งที่ซัปพลายในวันนี้มากถึง 6 เท่า หมายความว่าผลิตภัณฑ์ในการออกกรีนบอนด์ กรีนโลน รวมทั้ง บลูบอนด์นั้น จะออกมายังไงก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดปัจจุบัน เชื่อว่า ทุกคนในวันนี้อยากจะเดินหน้าสู่โลกสีเขียว เราจะต้องช่วยกันมากขึ้นกว่าเดิมถึง 6 เท่า” นายรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับสมการ การให้สินเชื่อ และการระดมทุนใหม่ให้สอดคล้องกับธุรกิจยุคใหม่ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ได้ดูเพียงกระแสเงินสดของบริษัทเท่านั้น แต่ยังดูถึงเรื่องการจ้างแรงงาน รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทที่ทำดีมากๆ ธนาคารจะให้สินเชื่อกรีนสตาร์ต ที่ออกมาช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเอสเอ็มอีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีการดูแลชุมชน แม่น้ำ หรือลำคลองได้ดี จะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%

เขาย้ำว่า ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องร่วมมือกันสร้างบุญใหม่กลบกรรมเก่า เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งขออธิบายง่ายๆ ในภาษาพุทธศาสตร์ว่า ที่เราทำมาในอดีต ถือเป็นกรรมเก่า ต่อไป เราต้องสร้างกรรมดี เพื่อกลบกรรมเก่า ที่สามารถทำได้ด้วยตัวของคุณเอง กล่าวคือ หากต้องการให้การปล่อยคาร์บอนจากในอดีต เหลือศูนย์ เราสามารถสร้างกรรมดีได้ด้วยการซื้อคาร์บอนจากชาวบ้าน แต่หากต้องการเป็น NET ZERO เราต้องปลูกป่า ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต จากเดิมที่อาจจะใช้เครื่องจักรที่ไม่ทันสมัย ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องผู้ประกอบการต้องเข้าใจ เพราะการนำงบดุลย้อนหลังมาโชว์ 3-5 ปี แต่มีตัวเลขสีเขียวอันดับสุดท้าย ธนาคารก็ไม่ได้มีการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเป็นหลักอีกแล้ว เราจะพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจาก DNA ของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม” นายรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ธนาคารได้เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ของหลายบริษัทในไทย เพื่อช่วยสนับสนุนไปสู่การเป็นบริษัทเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเรามี KPI ในการตรวจวัดบริษัทเหล่านี้ เช่น เรือด่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา และธนาคารก็ได้เดินหน้าทำโซล่าฟาร์มตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ธนาคารเดินทางมาตลอด ทำให้เราเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นการสร้าง DNA ให้กับเราด้วย

‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ กางแผน ‘ลดคาร์บอน’ ระยะยาว ปักหมุดปี 2050 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 90%

(14 ธ.ค. 66) นายณัฏฐพัชร์ ชลภัทรธนัทสิริ ผู้อำนวยการกลุ่ม Digital Energy ของ ‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ บริษัทมหาชนข้ามชาติในสหภาพยุโรปผู้ผลิตอุปกรณ์ทางไฟฟ้า ผู้ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา กล่าวในงาน ‘SUSTAINABILITY FORUM 2024’ ในหัวข้อ ‘Climate Tech for Business’ จัดโดย ‘กรุงเทพธุรกิจ’ วันที่ 14 ธ.ค. 2566 ว่าในภาคธุรกิจการเข้าสู่เป้าหมายสู่ Net Zero ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค นั้น ตั้งเป้าไว้ในปี 2050 บริษัทต้องเข้าใจสถานการณ์ก่อนแล้วจึงขยับเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อย่างการใช้พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน โดยชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการองค์กรมีระยะยาวไว้ 4 ช่วง คือ...

1.) ปี 2025 เข้าสู่การดำเนินงาน ‘Carbon Neutral’ ด้วยการลดคาร์บอนในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทโดย มีส่วนร่วม และสนับสนุนผู้ให้การสนับสนุนเพื่อลดคาร์บอน การจัดหาวัสดุคาร์บอนต่ำ และสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างอิทธิพลต่อการลดคาร์บอนทั่วโลก

2.) ปี 2030 ‘Net-Zero’ พร้อมในการดําเนินการ ผลิตภัณฑ์ที่ปลอยก๊าซเรือนกระจกลดลง 25% ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

3.) ปี 2040 ‘คาร์บอนที่เป็นกลาง’ ในการลดก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 50 - 75% ของผลิตภัณฑ์ ยิ่งลดก๊าซเรือนกระจกมากเท่าไร ก็ยิ่งการละเว้นการสูญเสีย รวมถึงชดเชยตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป ซึ่งการชดเชยคาร์บอนจะต้องเท่ากับการปล่อยห่วงโซ่มูลค่าคงเหลือ และชดเชยการปล่อยมลพิษที่เหลือด้วยการกําจัดคาร์บอนคุณภาพสูง

4.) ปี 2050 ลดก๊าซเรือนกระจกลง 90% อย่างสมบูรณ์

การก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนนั้นไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญแก่องค์กรตนเองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างซัพพลายเออร์ให้แข็งแกร่ง เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน อย่างการช่วยลดมลพิษในอากาศสามารถช่วยซัพพลายเออร์ ลดการใช้วัสดุต่างๆ หรือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นสีเขียว รวมถึงบรรจุภัณฑ์หลัก และรองปราศจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และใช้กระดาษแข็งรีไซเคิลเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

รวมถึงการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยเสริมสร้างระดับความเชื่อมั่นของพนักงานในการรายงานพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณ เพิ่มความหลากหลายทางเพศในการจ้างงาน 50% การจัดการพนักงานแนวหน้า 40% และการจัดการความเป็นผู้นํา 30%

ทั้งนี้ ยังเพิ่มโอกาสการจ้างงานสองเท่าสําหรับนักศึกษาฝึกงาน เด็กฝึกงาน และผู้สําเร็จการศึกษาใหม่ ส่งเสริมคนในการจัดการพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความยั่งยืนมากขึ้น และสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสีเขียวให้กับประชาชนอีกด้วย

‘EGCO Group’ ชูแผนขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน มุ่งเป้า ‘ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’

(19 ธ.ค. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ร่วมสนับสนุนการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2023 (International Conference on Biodiversity: IBD 2023) พร้อมร่วมจัดบูธนิทรรศการ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในเวทีสัมมนา ในหัวข้อ ‘EGCO Group บนเส้นทางของความยั่งยืน สู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ เพื่อร่วมแสดงพลังกับเครือข่ายองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จัดขึ้น ณ อาคารหอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกว่า 600 คน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจบนวิสัยทัศน์ “เป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม” EGCO Group ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในทุกพื้นที่ที่ดำเนินกิจการรวม 8 ประเทศ ทั้งในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความเชื่อขององค์กรที่ว่า ‘ต้นทางที่ดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี’ โดยมุ่งเน้นการควบคุมและลดผลกระทบเชิงลบจากกิจการและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งธุรกิจของ EGCO Group เป็นธุรกิจต้นทางที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ ‘Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth’ เพื่อสนองตอบและมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายดังกล่าว และก้าวข้ามข้อจำกัดสู่ยุคเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายวรพงษ์ สินสุขถาวร ผู้จัดการฝ่ายแผนงาน EGCO Group ในฐานะวิทยากรบรรยายพิเศษบนเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการภายในงานนี้ กล่าวว่า EGCO Group ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ที่ 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น คือ การลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2030 เป้าหมายระยะกลาง คือ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2040 และเป้าหมายระยะยาว คือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 

ภายใต้เป้าหมายดังกล่าวนี้ EGCO Group ได้วางโรดแมปการดำเนินกิจการจะต้องไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss) และมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพจากกิจกรรมตลอดทั้งวงจรชีวิตของโครงการโรงไฟฟ้า รวมทั้งไม่ประกอบกิจการโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ใกล้กับพื้นที่ที่เป็นเขตป้องกันขององค์การระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage areas) ตลอดจนหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด (No Gross Deforestation) และมุ่งดำเนินธุรกิจโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้สุทธิ (Net Zero Deforestation) โดย EGCO Group ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยผ่าน ‘มูลนิธิไทยรักษ์ป่า’ องค์กรสาธารณกุศลที่ EGCO Group ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี

ผุด ‘Thai ESG Found’ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน  สะท้อน!! สังคมไทยใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

(25 ธ.ค.66) พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึง ‘กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน’ ว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนตลาดทุนให้ตอบโจทย์ส่งเสริมการทำ ESG ให้กับผู้ลงทุนและผู้ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งเป็นเหมือนผลตอบแทนจากการทำสิ่งที่ดีและจะได้รับสิ่งที่ดีกลับไป โดย กองทุนรวม Thai ESG เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินด้านความยั่งยืนที่มีความหลากหลายที่ผู้ออกทรัพย์สินนั้นเป็นภาครัฐหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

ทั้งนี้ ก.ล.ต สนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศไทย และจัดการกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน รวม 11 ฉบับ โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สามารถจัดตั้งกองทุนรวม Thai ESG Found ได้ทันที ซึ่งชุดแรก จำนวน 25 กองทุน จาก บลจ.16 แห่ง

โดยผู้ลงทุน เป็นกลุ่มการลงทุนสินค้าสีเขียว กลุ่มคนที่สนใจและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนที่พอเหมาะพอสม อย่างผู้ที่จะลงทุนเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็สามารถลงทุนได้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนมากขึ้น สามารถนำเงินลงทุนในกองทุน Thai ESG Found

สามารถมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน ในเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการลงทุน

รวมทั้งเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีถ้าการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด 

โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นการเสริมสร้าง Social lmpact ผ่านการลงทุน Thai ESG Found ซึ่งเกิดประโยชน์เป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ยังยกเว้นให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า บริษัทที่จดทะเบียนด้านความยั่งยืนมีการรายงานผลโดยส่งข้อมูลให้ตลาดหลักทรัพย์ จนทำให้มีผลิตภัฑณ์ที่เกี่ยวกับ ESG มากมาย ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศซึ่งเป็นจุดขายในการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยปัจจุบันไทยมีเรตติ้งสำคัญระดับโลกซึ่งบริษัทไทยอยู่ในดัชนีมากที่สุดในอาเซียนและอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ESG เป็นกระแสที่เข้มข้นมากขึ้น การลงทุนสีเขียวต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนจึงจะสามารถลงทุนได้ และการที่ไทยมีกองทุน Thai ESG Found ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ทั้งโลกให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เป็นอย่างมาก โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้น้ำหนักสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่การเป็น Ageing society (สังคมผู้สูงอายุ) ในไทยทำให้เรื่องการออมต่ำกว่าประเทศในเอเชีย ถ้าสิ่งเสริมทางด้านการออมด้วยกองทุน Thai ESG Found ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนไทยมีความสนใจในการออมได้มาก รวมถึงสามารถเพิ่มนักลงทุนได้อย่างมหาศาล

โดยรายละเอียดของกองทุน Thai ESG สามารถลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุน ในประเทศไทยเท่านั้น โดยตราสารทุนมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้คะแนนจากตลาดหลักทรัพย์ที่มีเรตติ้งขึ้นไปประมาณ 200 ตัว โดยจากรายงานนั้นบริษัทมีการสนับสนุนการลดการใช้ก๊าซ เรือนกระจกที่ลดลงเรื่อยๆ และบางบริษัทมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะเป็นบริษัทที่ได้รับเลือกในการลงทุนในส่วนของกองทุนหุ้น

ในส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้จะใช้เกณฑ์ในการลงทุนของ ก.ล.ต เป็นหลัก และใช้มาตรฐานสากลเป็นหลักโดยต้องมีส่วนของ

Green bond ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถลงทุนได้เช่นกัน

‘กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน’ หรือ ‘Thai ESG Found’ นอกจากทำหน้าที่ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืนของไทยแล้วผลพลอยได้ที่น่าจับตามองคือ ช่องทางการออมและการลงทุนของคนไทยที่มีสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขที่เอื้อต่อทุกคนที่สนใจทั้งการออมและความยั่งยืน 

‘EA’ รับรางวัล ‘Sustainability Disclosure Recognition 2023’ สะท้อนความมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ตามกรอบ ESG

(3 ม.ค. 67) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ‘Sustainability Disclosure Recognition 2023’ หรือ ‘การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2566’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จัดโดยสถาบันไทยพัฒน์ โดยมี นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มอบรางวัลให้กับ นายวิทยา เชียงอุทัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ผู้แทนองค์กรเข้ารับรางวัล ตอกย้ำการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

นายวิทยา เชียงอุทัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ เปิดเผยว่า EA ผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม ด้วยการกำกับดูแลกิจการที่ดี มากว่า 15 ปี

โดย EA เป็นผู้ริเริ่มและยกระดับธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere บนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจตามหลักของธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG สู่สาธารณะอย่างครบถ้วนและโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

การได้รับรางวัล Sustainability Disclosure Recognition 2023 ต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน ถือเป็นความภาคภูมิใจ ที่สะท้อนผลสำเร็จในความมุ่งมั่นการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตามกรอบ ESG และเจตจำนงขององค์กรที่จะร่วมสร้างและแบ่งปันความสำเร็จ ภายใต้แนวคิด ‘นวัตกรรมสังคมองค์กร’ หรือ Corporate Social Innovation (CSI) ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

อนึ่ง สำหรับในปี 2566 มีองค์กรที่ได้รับการเชิดชูเกียรติรวมทั้งสิ้น 132 รางวัล แบ่งออกเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลเกียรติคุณ (Award) 54 แห่ง ประกาศเกียรติคุณ (Recognition) 50 แห่ง และกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) 28 แห่ง 

‘EXIM’ ผุด 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หนุนธุรกิจ ‘SMEs-ส่งออก’ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(8 ม.ค. 67) เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาโลกสีเขียว (Green Development Bank) จึงทำงานสานพลังกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจ รวมถึงคนตัวเล็กหรือ SMEs เข้าถึงบริการด้านความรู้ โอกาส และเงินทุน เพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจสู่เวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

นำไปสู่การจัดเต็มแพ็คเกจของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ด้วยการเปิดตัว 3 ผลิตภัณฑ์ ‘สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ดอกเบี้ยต่ำ 2.99% ต่อปี นาน 3 เดือน และยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ‘สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เริ่มต้นส่งออก’ วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย สำหรับผู้ประกอบการไทย Size S ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจเริ่มต้นส่งออกหรือนำเข้าเพื่อส่งออก และ ‘มาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องแก่กลุ่ม SMEs ที่เป็น NPLs จากช่วงโควิด-19’ ปรับลดดอกเบี้ยและพักชำระดอกเบี้ย-เงินต้นตามเงื่อนไขของธนาคาร

‘EA’ เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตโครงการ E-Bus ในกทม. ให้สวิตเซอร์แลนด์  ตามข้อตกลงปารีส Article 6.2 มุ่งขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย NDC

(9 ม.ค.67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตจากโครงการ ‘รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร’ (Bangkok E-Bus Programme) ซึ่งเป็นโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศโครงการแรกของโลกที่มีการซื้อขายกันเกิดขึ้น ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ผ่านกรอบความร่วมมือกันระหว่างประเทศที่มีการระบุชัดเจนว่าจะต้องเป็นโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่อยู่นอกเหนือจากแผนการดำเนินงานของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) มีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐานด้านคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยมี Klik Foundation เป็นผู้ซื้อ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นและนำ Carbon Credit ดังกล่าวไปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการโครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 ซึ่งรถโดยสารประจำทาง EV นี้เป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลกที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตสำเร็จ โดยทาง EA มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินหน้าของโครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้เราก้าวเข้าสู่สังคม เศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอนฯ อีกทั้งสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเป็นแรงกระตุ้นที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

Mr. Michael Brennwald Head International, Klik Foundation กล่าวว่า “โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการนำร่อง เพื่อการสนับสนุนกิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 นั้น มีการร่วมกันพัฒนามาอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง เพื่อที่จะสร้างโครงการในการร่วมมือกันระหว่างประเทศกับสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงนามในความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส 6.2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565   โดยสัญญาแบบทวิภาคีกำหนดกรอบความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างแนวทางสำหรับ การพัฒนาโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศและเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

‘คลัง’ เตรียมปล่อยแพ็กเกจอุดหนุน ESG ลงทุนเพื่อ ‘สิ่งแวดล้อม’ ลดหย่อนภาษีได้

(9 ม.ค. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์การลงทุนของโลกเนื่องจากธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว

ปัจจุบันมีมาตรการหลากหลายในการส่งเสริม และจูงใจที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นจะพิจารณามาตรการภาษีคาร์บอนเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดมากขึ้น

ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการชำระภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลสำหรับการสนับสนุนด้าน ESG ด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรการสินเชื่อธุรกิจสีเขียวดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสีเขียวหรือการติดตั้งแผงโซลาร์ตามบ้านเรือนซึ่งสถาบันการเงินของรัฐได้ดำเนินการไปแล้ว

“มาตรการใดพร้อมก็จะเดินหน้าไปก่อนได้เลยไม่ต้องรอให้ออกมาเป็นแพ็กเกจเพราะหากรออาจใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ทันต่อสถานการณ์ได้”

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปีนี้กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันมาตรการทางภาษีเพื่อดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมใน 4 รายการประกอบด้วย 

1.มาตรการสนับสนุนการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) และรวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่นโซลาร์เซลล์

2.มาตรการภาษีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 

3.มาตรการสนับสนุนการผลิตไบโอพลาสติก 

และ 4.มาตรการภาษีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยกรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และเร่งหาข้อสรุปเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

สำหรับมาตรการสนับสนุนการผลิต และใช้แบตเตอรี่ BEV จะผูกกับเงื่อนไขกับการมีระบบรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ในปีที่ 2566 ยอดการจดทะเบียนรถ BEV สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 700% และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าการใช้รถ BEV จะสูงขึ้นกว่านี้ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการกำจัดซากแบตเตอรี่ในอนาคตด้วย ทั้งนี้กรมฯ จะได้วางระบบ Track and Test เพื่อติดตามแบตเตอรี่ลูกนั้น ๆ ว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหนด้วย

ทั้งนี้หลักคิดในการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่คือ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ในอัตรา 8% แต่หากมีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วหรือเป็นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพการให้พลังงานได้สูง และมีน้ำหนักเบา เป็นต้น อัตราภาษีที่กรมฯ จะคิดนั้นก็จะต่ำลงโดยอาจกำหนดอัตราภาษีเป็นหลายอัตราตามประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เช่น 1%, 3%, 5% และ 8%

ขณะเดียวกันกรมฯ อาจต้องทบทวนเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับแบตเตอรี่ที่ผูกติดกับเงื่อนไขที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีแผนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ขายออกไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าแนวทางนี้มีความยุ่งยากเพราะเมื่อกรมฯ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่ผู้ประกอบการไปแล้วจะต้องติดตามไปตลอดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลูกนั้นซึ่งอาจนานถึง 20 ปีหากผู้ประกอบการไม่ได้รีไซเคิลตามที่ตกลงกรมฯ จะต้องเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีคืน และต้องมีค่าปรับทางภาษีด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้ประกอบการรายดังกล่าวอาจเลิกกิจการไปแล้วก็ได้ การติดตามทวงภาษีคืนก็อาจทำไม่ได้

“กรมฯ จะต้องทบทวนระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผูกกับการรีไซเคิลซึ่งมีหลายรูปแบบโดยในบางประเทศใช้ระบบ Deposit Refund โดยตั้งเป็นกองทุนเพื่อการนี้ซึ่งเมื่อมีการนำซากแบตเตอรี่ มาคืนกองทุนนี้ก็จะจ่ายเงินให้จำนวนหนึ่งสำหรับแนวทางหนึ่งที่กรมฯ กำลังพิจารณาคือ การมอบให้คนกลางหรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านรีไซเคิลแบตเตอรี่มาทำหน้าที่รีไซเคิลแทนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น”

ส่วนมาตรการภาษีคาร์บอนนั้นหลักคิดคือ นอกเหนือจากมีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศแล้วยังเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้ใช้สินค้า และบริการ

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ เดินหน้าสู่ภารกิจ ‘สายการบินรักษ์โลก’ หวังลด ‘มลพิษ-ก๊าซเรือนกระจก’ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(10 ม.ค. 67) นับเป็นทั้งโอกาสสำคัญและความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินในการเปลี่ยนผ่านสู่ ‘สายการบินรักษ์โลก’ 

โดย กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบิน ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ ฉายภาพว่า เส้นทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ดำเนินภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงความสุขสานต่อถึงชุมชนและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ‘Connect Your Happiness’ ในมิติ ESG

เริ่มด้วย ‘E - Environmental Journey’ การปูเส้นทางการบินสีเขียว ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน เนื่องจาก ‘ECO Friendly’ ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจของทุกวันนี้ โดยเน้นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

“นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินรวมถึงธุรกิจท่าอากาศยานทั่วโลก ทุกภาคส่วนทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อรับมือกับปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มทวีคูณความรุนแรงขึ้นจากหลายปัจจัย”

โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ‘อุตสาหกรรมการบิน’ อาจถูกมองว่าเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนอันดับ 3 ของภาคการขนส่ง หรือ 11% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงกรอบนโยบายของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ‘ไออาต้า’ (The International Air Transport Association: IATA) ที่วางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย ‘Net Zero Carbon Emission’ หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050

เช่นเดียวกับบางกอกแอร์เวย์สที่ให้ความตระหนักต่อการจัดการกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมผ่านหลายโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิ ‘ด้านการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Crisis Management) ประกอบด้วย โครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันได้มีการวางระบบปฏิบัติการสำหรับนักบินประจำสายการบินฯ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมันอย่างคุ้มค่า

อีกทั้งยังได้วางแผนศึกษา ‘การใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน’ (Sustainable Aviation Fuels: SAF) และบูรณาการเทคโนโลยีกับนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมกันนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการ ‘Carbon offsetting and Reduction Scheme for International Aviation’ ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคการบินบรรลุเกณฑ์การรักษาระดับปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิอย่างสมดุล

เพื่อตอกย้ำเป้าหมายการสร้างอุตสาหกรรมการบินสีเขียว หรือ ‘Green Aviation’ ที่มุ่งเน้นลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก บางกอกแอร์เวย์สได้เดินหน้าโครงการพัฒนา ‘สนามบินสีเขียว’ นำร่องด้วย 3 สนามบินภายใต้การบริหารของบริษัทฯ ได้แก่ ‘สมุย ตราด สุโขทัย’ เพื่อชูโมเดลการจัดการทรัพยากรและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการปรับปรุงและพัฒนาการออกแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสารให้มีลักษณะเปิดโล่งและจัดให้มีพื้นที่สีเขียวโดยรอบสนามบิน การันตีด้วยรางวัลตราสัญลักษณ์ G - Green จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ประกาศให้สนามบินสมุยและสนามบินตราดเป็นกรีนแอร์พอร์ต หรือสนามบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2021

“นอกจากนี้ ในอนาคตยังมุ่งกำหนดแนวทางเพื่อปั้นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญระดับประเทศอย่างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เป็นหนึ่งในสนามบินสีเขียวที่มีผลงานโดดเด่นระดับภูมิภาคอีกด้วย”

และเพื่อเน้นย้ำเป้าหมายการลดคาร์บอนในกระบวนการทำงาน ล่าสุดบริษัทฯ ได้ริเริ่มวางแผนสำหรับโครงการ Low Carbon Skies by Bangkok Airways โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2567 เพื่อมุ่งสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนในมิติต่างๆ ตามแนวทางของ IATA ที่เน้นด้านการจัดสรรการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) การกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิด การชดเชยและการดักจับคาร์บอน การศึกษาการนำเทคโนโลยีใหม่ไฟฟ้าและไฮโดรเจนเข้ามาใช้ และการปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐานและประสิทธิภาพการดำเนินงาน

กัปตันพุฒิพงศ์ เล่าถึงอีกมิติของแนวคิด ESG ว่า ‘S - Social Development’ เพราะหัวใจสำคัญของก้าวที่ยั่งยืน คือการก้าวไปพร้อมกับชุมชน ตลอด 55 ปีที่ผ่านมา บางกอกแอร์เวย์สมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนเพื่อเป็นสายการบินที่ดีที่สุดของเอเชีย! โดยคำนึงถึงการสนับสนุนชุมชนและสังคมเป็นหัวใจสำคัญ สะท้อนผ่านพันธกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคม

ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในเส้นทางที่บริษัทฯ ทำการบินรวมกว่า 11 หมุดหมายแห่งอารยธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนถึงการจัดตั้งชุมชนสัมพันธ์สนามบินจำนวน 3 แห่ง ณ สมุย ตราด และสุโขทัย โดยได้เข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อรับรู้ถึงปัญหาและเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพัฒนาในด้านต่างๆ ที่จะสามารถสานพลังสร้างสรรค์ชุมชนให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

“ผู้โดยสารสายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะได้สัมผัสประสบการณ์ความยั่งยืนตั้งแต่ก้าวแรกที่ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการเสิร์ฟอาหาร ณ บูทีคเลาจน์ ซึ่งรวบรวมผลิตผลจากชุมชนเกษตรกร สดจากสวน มารังสรรค์เป็นเมนูสุดพิเศษเสิร์ฟตามเทศกาลต่างๆ เช่น เมนูมะยงชิดลอยแก้ว ส่งตรงจากโครงการเกษตรอินทรีย์ สุโขทัย และกาละแมลำไย วัตถุดิบจากเชียงใหม่”

ด้านมิติ ‘G - Good Governance’ ธุรกิจการบินกับมิติธรรมาภิบาล โดยตั้งแต่แรกก่อตั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บริษัทฯมีเป้าหมายดำเนินงานและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ยึดหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ถ่ายทอดแนวความคิดจากรุ่นสู่รุ่น

เพื่อเป็นการการันตีถึงการดำเนินธุรกิจตามกรอบธรรมาภิบาล และการขับเคลื่อนธุรกิจที่ให้ความสำคัญทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ล่าสุดบริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2566 ‘SET ESG Ratings 2023’ ระดับ BBB ในกลุ่มธุรกิจบริการ (Services) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับคะแนน CGR บริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการระดับ 5 ดาว ‘ดีเลิศ’ (Excellent CG Scoring) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี

อีกทั้งยังได้รับการพิจารณาผ่านเกณฑ์ประเมินสำหรับรางวัลการันตี ‘ดาวแห่งความยั่งยืน’ ระดับ 5 ดาว ในโครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน และรางวัลการันตีด้านสิ่งแวดล้อมโดยได้รับประกาศนียบัตร ‘EIA Symposium and Monitoring Awards 2023’ ซึ่งสนามบินสุโขทัย - สนามบินสมุยได้รับรางวัลยอดเยี่ยม - ดีเด่น ในโครงการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้เสียและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินธุรกิจ สู่การเปลี่ยนผ่านเป็นหนึ่งใน ‘สายการบินรักษ์โลก’ อย่างเต็มขั้นต่อไปในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top