Friday, 9 May 2025
ESG

‘ธ.กสิกรไทย’ จริงจัง!! เริ่มใช้ ‘รถแลกเปลี่ยนเงินตรา’ พลังงานไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้าผลิตบัตรเครดิต-เดบิตด้วยวัสดุรีไซเคิล 20 ล้านใบใน 7 ปี

(11 ม.ค. 67) นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเดินหน้านโยบายและปรับการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Commitment ตามที่ธนาคารได้ประกาศไว้เมื่อปี 2564

โดยด้านการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 175 คัน และจะทยอยเปลี่ยนจนครบทั้งหมดภายในปี 2573 มีการทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักและสาขา โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบทุกสาขาที่มีศักยภาพในการติดตั้งจำนวน 278 แห่ง ภายใน 2 ปี การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักเพื่อลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ รวมทั้งส่งเสริมพนักงานและบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้บริการของธนาคารที่ใส่ใจเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการที่มีเป้าหมายช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 2 โครงการ เป็นธนาคารแรกในไทย ได้แก่ การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือรถ EV Currency Exchange และการจัดทำและเปลี่ยนบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นบัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งทั้งสองโครงการได้พัฒนาสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และมีการนำไปให้บริการจริงแล้ว

สำหรับรถ EV Currency Exchange เป็นรถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และใช้แบตเตอรี่ที่ได้พลังงานจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคารถสำหรับการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในรถได้ต่อเนื่องสูงสุด 10 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ ปัจจุบันนำร่องเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการแลกเงินแก่นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และมีแผนขยายจำนวนรถให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ด้านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารกสิกรไทย มีการเปลี่ยนมาใช้บัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ใบละ 42 กรัมคาร์บอนฯ หรือลดลง 62% จากการใช้วัสดุแบบเดิม โดยเริ่มมีการทยอยนำบัตรแบบใหม่นี้มาใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ให้แก่ลูกค้าที่ออกบัตรใหม่ บัตรทดแทน และบัตรต่ออายุ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนบัตรกว่า 20 ล้านใบได้ครบทั้งหมดภายใน 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 770 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 51,333 ต้น

นายพิพิธกล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2567 ธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันลูกค้าให้ร่วม GO GREEN Together อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และการพัฒนา Innovation ใหม่ ๆ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้าง Green Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง และร่วมกันพาประเทศสู่ Net Zero อย่างยั่งยืนต่อไป

ถอดรหัสธุรกิจรักษ์โลก สไตล์ 'รอยัล ภูเก็ต มารีน่า'  ย่างก้าวสู่ท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกในเอเชีย

(11 ม.ค.67) รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) ได้ประกาศตัวในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของเอเชีย ความสำเร็จครั้งสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นจากความมุ่งมั่นที่ผ่านมาในการเปลี่ยนแปลงมากมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การได้รับการรับรองในครั้งนี้ RPM ไม่เพียงแต่ตอกย้ำตัวเองในฐานะผู้นำถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืน กำหนดมาตรฐานในการเป็นผู้นำในการสร้างแนวทางปฏิบัติทางเรือที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่ทั่วทั้งเอเชียอีกด้วย

RPM เป็นที่รู้จักกันดีในด้านนวัตกรรมเชิงนิเวศน์ที่มีการผสมผสานความหรูหรา ความยั่งยืน และความสง่างาม เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว มอบประสบการณ์การใช้ชีวิตที่แตกต่างในสภาพแวดล้อมอันเงียบสงบของจังหวัดภูเก็ต

>> RPM พัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

RPM เปรียบเสมือนประตูสู่อ่าวพังงาและทะเลอันดามัน ท่าเรือมาตรฐานระดับสากล ผู้บุกเบิกด้านการบริการท่าจอดเรือที่ได้รับรางวัลและการรับรองมาตรฐานสูงสุดของภูเก็ต สะอาด ปลอดภัย ทันสมัยท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มอบบริการครบวงจร ดั่งสวรรค์ของการใช้ชีวิตริมทะเล

นอกจากบริการที่จอดเรือแล้ว ยังมีที่พักอาศัยระดับ 5 ดาว ตั้งแต่อพาร์ตเมนต์ เพนต์เฮาส์ ไปจนถึงวิลล่าและอความิเนียม (ที่พักพร้อมท่าจอดเรือส่วนตัว) นอกเหนือจากเสน่ห์ในการอยู่อาศัยแล้ว RPM ยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ด้วยทำเลทองที่ตั้งใจกลางเกาะภูเก็ต จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับธุรกิจ พื้นที่เช่าสำหรับร้านอาหารหรือสำนักงาน และพื้นที่ในการจัดกิจกรรม อีเวนต์ต่าง ๆ มากมาย

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ RPM บุกเบิกและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมท่าจอดเรือ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศในการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก สุขภาพ และความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยตั้งแต่ปี 2559 RPM หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารที่จอดเรือในร่ม สามารถจ่ายพลังงานได้มากกว่า 40% ต่อวัน รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย หรือ อบก. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ RPM ยังทำงานร่วมกับพันธมิตร ในการลดการใช้ขวดพลาสติกในกิจกรรมการเดินเรือทุกประเภท ตั้งเป้าหากสำเร็จจะสามารถช่วยลดขวดพลาสติกไปได้ราว ๆ กว่า 4 ล้านขวดต่อปี

ในฐานะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน RPM มีจุดประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจที่กระตุ้นและเน้นย้ำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท่าจอดเรือควรมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับแนวทางกับหลักสากลด้วย ความมุ่งมั่นนี้สอดคล้องกับเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608

RPM ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบมากขึ้น พร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนกับผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันและขยายศักยภาพกับนักลงทุนและชุมชนโดยรอบที่กว้างขึ้น ความมุ่งมั่นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประเทศไทยในฐานะการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างมาตรฐานสำหรับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและทั่วทั้งเอเชีย

นายกูลู ลัลวานี ประธานบริษัท รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) กล่าวว่านอกเหนือจากบทบาททั่วไปในฐานะท่าจอดเรือแล้ว RPM เป็นเหมือนจุดหมายปลายทางที่ผสมผสานความหรูหราและความยั่งยืนได้อย่างลงตัว ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่มอบไลฟ์สไตล์ที่กลมกลืนกับความงามดั้งเดิมของภูเก็ต ในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชีย และนี่คือการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการใช้ชีวิตที่หรูหราแต่ทว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เดือนที่ผ่านมา เรายังเป็นองค์กรธุรกิจผสมผสาน (Mixed-use Development) ที่เป็นกลางทางคาร์บอนแห่งแรกและแห่งเดียวในภูเก็ต ก้าวสำคัญในครั้งนี้ส่งผลให้เรากำลังวางแผนที่จะพัฒนาโครงการใหม่ในปีนี้ รวมถึงโรงแรมระดับ 5 ดาว วิลล่าหรู และคอนโดมิเนียม เพื่อตอกย้ำเส้นทางสู่ความสำเร็จของเรา ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาพื้นที่สำหรับจอดเรือ พื้นที่เชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของท่าเรือที่ผสมผสานความหรูหรา สะท้อนถึงคุณค่าและความมุ่งมั่นของ RPM ได้เป็นอย่างดี

‘บางจาก’ เดินหน้ารุก ‘ธุรกิจสีเขียว’ หวังช่วยยับยั้งคาร์บอนด์ ตั้งเป้า!! 5 ปี เร่งเครื่องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนมากกว่า 50% 

(15 ม.ค.67) นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าบริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า บริษัทมีแนวทางจะมุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจสีเขียวให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนด์

ทั้งนี้ บางจากฯ ได้วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนธุรกิจสีเขียว 5 ปีนับจากนี้ (ปี 2567-2571) ให้เพิ่มเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของพอร์ตการลงทุนรวม และยังกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนแผนงานระยะยาวเป็นไปตามที่วางไว้

อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมาบางจากฯ ได้ปรับวิสัยทัศน์และพันธกิจองค์กร สู่วิสัยทัศน์ใหม่รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว เพื่อให้สามารถมุ่งสู่ช่วงเวลาสำคัญครั้งใหม่ที่ท้าทาย ภายใต้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ. 2593

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบางจากฯ ได้ดำเนินโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต) โดยบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (Smart EV Bike) บริษัทร่วมทุนของบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (Winnonie) บริษัทสตาร์ตอัปในกลุ่มบริษัทบางจาก 

และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเช่าซื้อ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส เพื่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง หรือ Feeder ที่สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี เพื่อลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์การเข้าสู่ธุรกิจรถไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทบางจาก และเป็นการสร้าง Net Zero Ecosystem ตามแผนงานที่วางไว้

‘ปตท.สผ.’ ชวนเยาวชนร่วมอนุรักษ์ ‘ทะเลไทย’ ผ่านโครงการ ‘PTTEP Teenergy ปีที่ 9’ 

(15 ม.ค.67) สุศมา ปิตากุลดิลก รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปตท.สผ. กล่าวว่า นอกจากภารกิจหลักของ ปตท.สผ. ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมดูแล รักษาและปกป้องท้องทะเลไทย

โดยผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนในการทำโครงการเพื่อสังคมผ่านกลยุทธ์ ‘ทะเลเพื่อชีวิต’ (Ocean for Life)

โครงการ PTTEP Teenergy ถือเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมของ ปตท.สผ. ที่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

“ทั้งนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย และสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชนรอบชายฝั่ง ปตท.สผ. จึงจัดการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิดทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ด้วยการเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ถึงระดับปริญญาตรีมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน รวมถึงยังเป็นการปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลไทย และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป”

สำหรับผลงานจากการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลก่อนหน้านี้ ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดย ‘อัครพันธ์ ทวีศักดิ์’ หรือ ‘น้องไอซ์’ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Green Grove รองชนะเลิศอันดับ 1 หัวข้อ ‘Preserve’ ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 1 ปี 2564 จากผลงาน IMPOT ชุดปลูกโกงกางอัจฉริยะเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างมีระบบ

‘อัครพันธ์’ เล่าถึงไอเดียเล็ก ๆ ใน Proposal ที่ตอนนี้ได้รับการพัฒนาเพื่อต่อยอดทำให้ทุกคนได้เห็นคุณค่า และเข้าใจในเรื่องการปลูกป่าชายเลนมากยิ่งขึ้น ว่าตัดสินใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการ โดยได้แนวคิดมาจากถุงเพาะกล้าไม้พลาสติก ที่ส่วนใหญ่ถูกทิ้งไว้หลังจากปลูกป่าชายเลนเสร็จแล้ว

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียที่อยากจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการให้คนที่ปลูกป่าชายเลนเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากร ที่ทุกคนสามารถช่วยทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพียงเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาผลิตเป็นกระถางสำหรับบรรจุต้นไม้พร้อมปลูก เพื่อนำไปใช้แทนถุงพลาสติกแบบเดิม

ขณะที่ ‘อพินญา คงคาเพชร’ หรือ ‘น้องตาล’ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Scraber ผู้ชนะเลิศ หัวข้อ Provide ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 1 ปี 2564 จากผลงาน The Automatic Warning of Crab Molting Detection by Application

เล่าด้วยความภาคภูมิใจถึงจุดเริ่มต้นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ชุมชน และเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์น้ำในเชิงเศรษฐกิจว่าความคิดแรกเริ่มคือต้องการช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัวเพื่อนซึ่งทำฟาร์มปูนิ่มเท่านั้น

“แต่เมื่อส่งผลงานเข้าประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ได้รับโอกาสที่ดีจาก ปตท.สผ. ในการต่อยอดผลงาน เนื่องจากปูนิ่มเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเศรษฐกิจของชุมชนในจังหวัดสตูล สำหรับ Application ระบบการแจ้งเตือนการตรวจจับการลอกคราบปูที่คิดค้นขึ้นนั้น สามารถนำไปช่วยเหลือในการดูและจับการลอกคราบของปูด้วยตาเปล่าในช่วงกลางคืน

ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยชุมชนประหยัดเวลา กำลังคน และสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งในอนาคตยังสามารถต่อยอดนำไปใช้กับปูชนิดอื่น ๆ เพื่อขยายตลาดและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

สำหรับ ‘กวินธิดา ปิ่นทอง’ หรือ ‘น้องฟอร์แทรน’ นิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนทีม Sea the Future ผู้ชนะเลิศหัวข้อ Provide ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 2 ปี 2565 จากผลงาน Fisherman’s Friend Application เชื่อมโยงเครือข่ายชาวประมงชายฝั่ง ให้มุมมองในฐานะที่ตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ PTTEP Teenergy และได้ประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก

“อยากจะเชิญชวนทุกคนส่งผลงานเข้ามาประกวดกันเยอะ ๆ ถึงแม้จะไม่ได้รับรางวัล แต่มั่นใจได้เลยว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ได้รับความรู้ คำแนะนำ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมากมาย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดไอเดีย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้ หรือหากเป็นทีมที่ได้รับรางวัลในการต่อยอดแบบพวกเรา ก็เป็นโอกาสที่ผลงานจะได้รับการพัฒนา และนำมาใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปช่วยชุมชนของเราได้อีกด้วย”

กล่าวกันว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน เพื่อช่วยกันดูแลให้ทรัพยากรทางทะเลได้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ดังนั้น ผู้สนใจสามารถสมัครและส่งผลงานเข้าร่วมประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการ ‘PTTEP Teenergy ปีที่ 9’ ได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 มกราคม 2567 หรือที่ https://www.eventsonlinecenter.com/pttep_teenergy/ รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามข่าวสารที่ www.facebook.com/pttepcsr 

PTTEP ผนึก 'ภาครัฐ-JOGMEC' ร่วมศึกษาศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยา มุ่งเป้า 'กักเก็บ-ดักจับ' คาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน

(16 ม.ค. 67) นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงในการร่วมศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอน บริเวณอ่าวไทยตอนบน ระหว่าง PTTEP และ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) และ INPEX CORPORATION

โดยการศึกษาดังกล่าวอยู่ภายใต้ความร่วมมือระดับประเทศของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ JOGMEC จากญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลด้านธรณีวิทยาที่จำเป็นต่อการวางแผนพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) ในอ่าวไทย รวมทั้ง เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย

'ฮอนด้า' สานต่อกิจกรรมวิ่งการกุศล 'Honda Run 2024' ระดมทุนมอบแก่โรงพยาบาลในอยุธยาและปราจีนบุรี

(16 ม.ค. 67) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด สานต่อความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม จัดกิจกรรม 'Honda Run 2024' เป็นปีที่ 4 ชวนพนักงานฮอนด้าพร้อมครอบครัว รวมทั้งตัวแทนผู้จำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าใน จ.พระนครศรีอยุธยา และใกล้เคียง และตัวแทนสื่อมวลชนกว่า 2,000 คน ร่วมวิ่งการกุศล เพื่อนำรายได้จากการจัดกิจกรรม จำนวน 1 ล้านบาท โดยไม่หักค่าใช้จ่าย สมทบทุนให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฯ ดำเนินงานอยู่ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลน โดยมีกำหนดส่งมอบเงินบริจาคในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567

สำหรับกิจกรรม 'Honda Run 2024' เป็นกิจกรรมวิ่งการกุศลที่ฮอนด้าจะจัดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2567 ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา การวิ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร มีจุดปล่อยตัว ณ ศาลากลางเก่า วิ่งผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ และสถานที่สำคัญของจังหวัดฯ ที่มีความสวยงามจนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก 

นอกจากนี้ ผู้วิ่งยังได้ลุ้นรับรางวัลของที่ระลึกจากฮอนด้า รวมถึงมีรางวัลสำหรับการแต่งกายแฟนซีในแบบไทย ซึ่งเข้ากับบรรยากาศการวิ่งบนเส้นทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ก้าวต่อไป ‘WHA’ ผู้ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่สนามพลังงานทดแทน เล็ง!! เทรดดิ้งไฟฟ้าเสรี-คาร์บอนเครดิต

(16 ม.ค. 67) 'ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป' เปิด 4 กลุ่มธุรกิจ 'โลจิสติกส์-นิคมฯ-สาธารณูปโภคฯ-ดิจิทัล โซลูชัน' ดำเนินงานมา 21 ปี ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท สร้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง 

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จัดกิจกรรม WHA: We Shape the Future Journey เปิดอาณาจักรครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจหลัก โลจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรม, สาธารณูปโภค/พลังงาน และดิจิทัล โซลูชัน โดย นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เผยถึงรายละเอียด ดังนี้...

- กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ : นับเป็นจุดเริ่มต้นของดับบลิวเอชเอ ก่อนที่จะเริ่มขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งดับบลิวเอชเอ เป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่รวมกว่า 2.9 ล้านตารางเมตร บนทำเลจุดยุทธศาสตร์ 52 แห่ง ทั่วประเทศ

- กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม : โครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณูปโภคครบวงจร ได้แก่ การผลิตน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย การทิ้งและฝังกลบขยะ และการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 13 แห่ง บนพื้นที่กว่า 71,300 ไร่ ทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม

- กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า : ให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยกำลังการผลิตน้ำรวมถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 847 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังนำกระบวนการ 'Reverse Osmosis (RO)' มาประยุกต์ใช้ในโรงงานผลิตน้ำระบบอาร์โอ ผลิตน้ำ 2 ประเภท คือ Permeate น้ำที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ และ Concentrate คือน้ำที่มีความเข้มข้นของสารละลายในน้ำสูง

รวมทั้งโครงการ 'Clean Water for Planet' การบำบัดและการจัดการน้ำเสีย ด้วยวิธีการทางชีวภาพมาปรับใช้ ขณะที่การผลิตไฟฟ้า บริษัทเริ่มจากการร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวม 847 เมกะวัตต์

"วันนี้เราขยับเข้าสู่การทำ Renewable Energy โดยเฉพาะ 'Solar Roof Top' ที่เราลงทุนเอง 100% ทั้ง Floating Solar บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ AAT กำลังผลิต 8 เมกะวัตต์

"คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 , Solar Carpark บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) 59,000 ตารางเมตร ขนาดไฟฟ้ารวม 7.7 เมกะวัตต์

"และพร้อมเปิดดำเนินจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในปีนี้เช่นเดียวกันและสุดท้าย Solar Rooftop ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24.24 เมกกะวัตต์" นายไกรลักขณ์ กล่าวเสริม

- กลุ่มธุรกิจดิจิทัล โซลูชัน : ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมระดับโลก โดยพัฒนาธุรกิจและทางเลือกด้านข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อสนับสนุนลูกค้านิคมอุตสาหกรรมทั้งจากบริษัทในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาของ WHA ช่วยสร้างจีดีพีให้กับประเทศไทยแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) กว่า 1.6 ล้านบาท และช่วยจ้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง

3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567 ‘ผลิตภัณฑ์-การระดมทุน’ ไม่เข้าเกณฑ์ อยู่ยาก

(17 ม.ค. 67) ศรชัย สุเนต์ตา CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เผยถึง 3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567 ผ่าน ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ระบุว่า...

สำหรับ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG ประเด็นแรก จะเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มบังคับใช้ รวมถึงประกาศว่าจะออกกฎเกณฑ์ใหม่ปีนี้และเร็ว ๆ นี้มากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) 

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้เพิ่มความเข้มข้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนด้วย เช่น สหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้ ข้อบังคับว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (ยกเว้นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก) ต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม หากบริษัทใดเข้าข่ายนี้ ต้องรายงานข้อมูลภายใต้มาตรฐานการรายงานความยั่งยืนของยุโรป (European Sustainability Reporting Standards : ESRS) 

ดังนั้นปี 2567 ถือเป็นปีแรกที่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูล เพื่อทำรายงานตามมาตรฐาน ESRS เผยแพร่ในปี 2568

ขณะที่ สหรัฐฯ นอกจากกฎหมาย Clean Competition Act หรือ US-CBAM มาตรการภาษีคาร์บอนที่จะเริ่มบังคับใช้ปี 2568 กับอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ก่อนขยายไปอุตสาหกรรมอื่นในปี 2570 ยังมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. การเปิดข้อมูลสภาพภูมิอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย (California’s New Climate Disclosure Rules) 2 ฉบับ คือ SB 253 กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบขององค์กรต่อข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ และ SB 261 กฎหมายว่าด้วยเรื่องก๊าซเรือนกระจก สภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้อง แม้ พ.ร.บ. นี้ มีผลบังคับใช้ปี 2568 แต่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2567 แต่ก็ต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปลายปี เพราะหากเปลี่ยนขั้วอำนาจ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ESG ได้

ทั้งนี้ มีอีกหลายประเทศเตรียมออกกฎหมายและมาตรฐานการรายงานคล้าย ๆ กัน ซึ่งการรายงานที่เข้มข้นขึ้นจะช่วยให้ผู้ลงทุนเห็นว่า หุ้นหรือตราสารหนี้ที่ลงทุนโดยตรง หรือผ่านกองทุนรวม สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร

ประเด็นต่อมาการจัดพอร์ตโฟลิโอคาร์บอนต่ำ เป็นอีกแนวโน้มสำคัญ ไม่ใช่แค่นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย ก็เริ่มให้ความสำคัญ มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์หรือกิจการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำมากขึ้น เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อสังคม หรือหุ้นของบริษัทที่การปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นต้น สอดคล้องกับผลสำรวจ Morningstar ที่ระบุว่า เจ้าของสินทรัพย์ 67% เชื่อว่า ESG สำคัญต่อนโยบายลงทุนมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ประเด็นนี้จะกดดันให้บริษัทที่จะระดมทุนเพิ่ม ต้องพยายามปรับปรุงการดำเนินงานไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ มิฉะนั้น อาจระดมทุนยากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน นานาประเทศและองค์กรทั่วโลก ให้ความสำคัญประเด็น ESG โดยเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม สอดรับเป้าหมายที่โลกต้องเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกทำได้เร็วขึ้น โดยเทคโนโลยีที่คาดว่ายังมาแรง จะเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ยานยนต์ไฟฟ้าหรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน เป็นต้น

ทั้ง 3 ประเด็นนี้ ล้วนสำคัญกับการลงทุน ที่มาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย ซึ่งนักลงทุนคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ESG และ Climate จากองค์กรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

OR เล็งปั้น ‘อุทยานอเมซอนลำปาง’ เป็นแลนด์มาร์กใหม่ หนุนงาน สร้างรายได้ สยายปีกสู่แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว

OR จัดงาน OR Sustainability: SDG In Action ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG ผ่านวิถีการดำเนินงานด้วย SDG ในแบบฉบับของ OR จนเป็นองค์กรต้นแบบในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน จากการจัดอันดับทั้งในระดับสากลและระดับประเทศในปี 2566 พร้อมเผยเรื่องราวความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ผ่านการลงมือทำ

(17 ม.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า OR มีวิสัยทัศน์และแนวคิดในการสร้างความยั่งยืน โดยมีการนำประเด็นความยั่งยืนตามแนวทาง SDG ในแบบฉบับของ OR คือ S-Small โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก D-Diversified โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ G-Green โอกาสเพื่อสังคมสะอาด มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

พร้อมทั้งนำเป้าหมาย OR 2030 Goals มาติดตามและทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนถูกผนวกเข้าไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง ซึ่ง OR ได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง แบบ In Action ตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและเป้าหมายธุรกิจจนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น วิภาวดี 62, โครงการไทยเด็ด และการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นายดิษทัต กล่าวว่า สิ่งที่ทำมาตลอดคือ การคำนึงถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดูแลคนตัวเล็กไปสู่ธุรกิจใหม่และอยู่ในระบบนิเวศด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง คาเฟ่ อเมซอน ที่มี Value Chain ส่งผลให้ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 4,000 สาขา พร้อมมีโรงคั่วกาแฟ และมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการขนส่ง และช่วยคำนวณสต็อก ฯลฯ

นอกจากนี้ ในส่วนของเมล็ดกาแฟ ทาง OR ก็จะนำร่องจังหวัดลำปาง ด้วยการปลูกกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างจริงจังบนพื้นที่ของ OR เองราว 600 ไร่ พร้อมทั้งพัฒนาไปสู่เมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกร สร้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต กระจายรายได้ ดูแลสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมาก

“เราอยากสร้างอุทยานอเมซอนลำปาง ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เพาะพันธุ์กาแฟ เพราะคนไทยชอบดื่มกาแฟ ซึ่งยังไม่มีองค์กรใดทำอย่างจริงจัง จึงหวังว่าอีก 5 ปี เมื่อเราสามารถเพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟและพัฒนาให้แข็งแรงและสมบูรณ์ จนส่งมอบให้กับเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน พร้อมรับซื้อกาแฟด้วยราคาที่เป็นธรรมได้แล้ว ก็หวังว่า 3-5 ปีนี้ เราจะเห็นความสวยงามบนพื้นที่สีเขียว เกิดแหล่งเยี่ยมชมของประชาชน สร้างรายได้ให้จังหวัดลำปางต่อไป”

นายดิษทัต กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณในการสร้างอุทยานดังกล่าว ยังไม่สามารถบอกได้ แต่คาดว่าอีก2-3 เดือน จะขออนุมัติงบการลงทุนจากคณะกรรมการบริการฯ โดยความคืบหน้าขณะนี้ได้เตรียมหน้าดิน เรือนเพาะชำไว้รองรับแล้ว จึงหวังว่ากาแฟที่ OR จะทำการวิจัยพัฒนาและเพาะพันธุ์จะมีความเข้มแข็งมีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด

สำหรับงบลงทุนด้านความยั่งยืนนั้น คาดว่าจะมีความกว้างในแง่ของหน้างานอย่างมาก เพราะจะแฝงเผื่อเพื่อสอดรับไปในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ อาทิ การทำหลังคาโซลาร์รูฟท็อป, ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) รวมถึงอุปกรณ์สนับสนุนที่ก่อให้เกิดพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ OR จะไม่มองเป็นต้นทุน และไม่ได้มองการดำเนินงานในส่วนนี้เป็นเรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่หวังให้อีก 15-20 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนของการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลเพื่อตอบโจทย์พอร์ตพลังงานสะอาดเพิ่มเข้ามา

“เราเอาธุรกิจยั่งยืนเข้ามา สิ่งที่ทำจะลดต้นทุนทางการเงิน ตอบโจทย์คาร์บอนเครดิตอนาคต โดยทำเป็นระบบที่ถูกต้อง เช่น การปลูกกาแฟโดยมีต้นไม้บังแสงแดดจะเคลมคาร์บอนเครดิตในตลาดสากลได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่นี้ในลำปาง” นายดิษทัต กล่าวเสริม

สำหรับดีมานด์ของคาเฟ่อเมซอนตกอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 6,000 ตันต่อปี ในขณะที่ความต้องการกาแฟของทั้งประเทศอยู่ที่ 80,000 ตันต่อปี และการที่ OR เข้ามาจริงจังกับเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาเรื่องของเพาะพันธุ์กาแฟดูจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ดังนั้น OR จะเข้ามาช่วยเพิ่มดีมานด์ในส่วนนี้ ขณะเดียวกันก็เพื่อสะท้อนให้ประชาชนรักและรับรู้ว่า OR ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

‘วสท.-NCC’ จัดงาน ‘วิศวกรรมแห่งชาติ 2567’ 24-26 ก.ค.67 อัปเดต ‘นวัตกรรม ESG-องค์ความรู้ระดับโลก’ สู่ ‘วิศวกรไทย’

(17 ม.ค. 67) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) จัดงาน ‘งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2567’ ภายใต้ชื่อ ‘International Engineering Expo 2024’ พร้อมยกระดับการจัดงานสู่เวทีระดับนานาชาติ สร้างโอกาสให้วิศวกรไทยพร้อมก้าวสู่งานวิศวกรรมระดับโลก เสริมทัพองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมผ่านเสวนากว่า 50 หัวข้อ อัปเดตนวัตกรรมใหม่ระดับโลกจากบูธที่มาร่วมจัดแสดง 150 บริษัท ระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดผู้เข้าชมงานตลอด 3 วัน กว่า 30,000 คน สร้างรายได้จากการซื้อขายและ Business Matching กว่า 1,000 ล้านบาท

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐนับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น คาดว่าปี 2566 มูลค่าการก่อสร้างของภาครัฐอยู่ที่ 8.4 - 8.5 แสนล้านบาทหรือขยายตัว 2.5 - 3.5% จากฐานในปี 2565 ส่วนปี 2567 เชื่อมั่นว่ายังคงเติบโตเช่นเดียวกับปี 2566 เนื่องจากรัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่าง โครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างจากภาคเอกชนขนาดใหญ่ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการอสังหาต่าง ๆ เป็นต้น   

จากการเติบโตของโครงการขนาดใหญ่ทำให้ปัจจุบันความต้องการวิศวกรรมเน้นไปในเรื่องของเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมอัจฉริยะ เครื่องจักร อุปกรณ์ทางการก่อสร้าง วัสดุที่ทันสมัยหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ที่แตกต่าง อาทิ AI โดรน หุ่นยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น วิศวกรรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อตอบรับโอกาสและรองรับความก้าวหน้างานวิศวกรรมระดับโลก นอกจากนี้ ยังต้องมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance: ESG) ด้วย  

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กล่าวถึงการจัด ‘งานวิศวกรรมแห่งชาติ’ ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนในแวดวงวิศวกรได้เข้ามาอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ตลอด 30 ปีที่จัดงานได้รับความสนใจอย่างดี โดยเฉพาะหัวข้อเสวนาซึ่งปีนี้มีถึง 50 หัวข้อว่าด้วยเรื่อง Engineering Sustainability และจะยกระดับสู่การจัดประชุมระดับนานาชาติด้านวิศวกรรม เพื่อให้ไทยเป็นเวทีในการกำหนดเทรนด์ของภูมิภาค 

“หัวข้อเสวนาเราจะดูเรื่องที่เป็นที่พูดถึงในขณะนั้น อย่างตอนที่สนามบินสุวรรณภูมิร้าว เราก็เอาเรื่องนี้มาเสวนากัน ปีนี้เราจะเน้นในเรื่องวิศวกรรมและความปลอดภัยของระบบราง บ้านเรายังไม่มีมาตรฐานเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเราก็อิงมาตรฐานของประเทศอื่นแทน” 

นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการนำหุ่นยนต์ AI หรือนวัตกรรมเกี่ยวกับวิศวกรรมต่าง ๆ มานำเสนอ ผู้เข้าชมงานไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร ประชาชนทั่วไปก็ชมได้ อย่างประชาชนหากต้องการสร้างอาคารสีเขียว มางานนี้จะเข้าใจว่าอาคารสีเขียวเป็นอย่างไร ก็สามารถเอาความรู้ที่ได้ไปสื่อสารกับคนออกแบบ ช่าง หรือวิศวกร ภายในงานมีคลินิกวิศวกรรมสำหรับประชาชน เพื่อให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม เช่น บ้านร้าว บ้านทรุด ต้องแก้ไขอย่างไร 

นายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข ประธานคณะกรรมการจัดงาน International Engineering Expo 2024 กล่าวว่า งานวิศวกรรมแห่งชาติ เป็นงานที่จัดต่อกันมาอย่างยาวนาน จนเป็นที่ยอมรับของวงการวิศวกรทั่วประเทศ โดยงานด้านวิศวกรรมเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการบริหารจัดการแบบดิจิตอล การผลิตและบริหารจัดการด้านพลังงาน อาคารอัจฉริยะต่าง ๆ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีโครงการด้านวิศวกรรมขนาดใหญ่มากมาย จึงเหมาะให้วิศวกรจากประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) เข้ามาศึกษางานวิศวกรรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ งานด้านวิศวกรรมปัจจุบันยังต้องคำนึงถึงความใส่ใจในความยั่งยืน (ESG) และ Net Zero ด้วย 

“การจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด Driving Sustainability Responsiveness ‘ขับเคลื่อนวิศวกรรม เพื่อตอบรับความยั่งยืน’ ภายในงานจะมีการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนมาแสดง ซึ่งปัจจุบัน ESG ในไทยยังเป็นแค่การสมัครใจ แต่ในอนาคตจะต้องบังคับ เพราะต่างชาติจะมาลงในไทยเขาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย”

คุณสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นการรวมความแข็งแกร่งของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในด้านองค์ความรู้ในทุกสาขาวิศวกรรมกับความเชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อยกระดับการจัดงานให้เป็นงานระดับนานาชาติ พร้อมต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ Exhibitor และ Visitor จากนานาชาติ โดยสัญญาความร่วมมือครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในปีนี้และต่อเนื่องไป 3 ปี

“สำหรับพื้นที่ในการจัดงานใช้พื้นที่ 5,000 ตร.ม. มี 150 บริษัททั้งไทยและต่างประเทศมาออกบูธ 50 หัวข้อสัมมนา จากวิทยากร Best Practice หลากหลายแบบอย่างความสำเร็จด้านความยั่งยืน ซึ่งทางเราจะจัดรูทการเดินชมงานและการเข้าฟังสัมมนาที่เหมาะสม สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานทาง NCC มีความพร้อมในการรองรับ อำนวยความสะดวก ทั้งเรื่องการขนย้ายเทคโนโลยีเข้ามาแสดง การจัดห้องพัก และการที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์อยู่ใกล้ MRT ทำให้สะดวกในการเดินทาง” 

คุณสุรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ปีนี้ผู้แสดงสินค้าจะมีทั้งมาจากโซนยุโรปและโซนเอเชีย ซึ่งนับเป็นปีแรกที่โซนเอเชียเข้าร่วม และยังเป็นปีแรกที่วิศวกรจากกลุ่มประเทศ CLMV จะมาเดินชมงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมงานจากภูมิภาคอื่นในปีต่อไป

“องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมได้ช่วยให้เมื่อครั้งรีโนเวตศูนย์ประชุมสิริกิติ์ สามารถเลือกใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมทำให้ใช้เงินลงทุนน้อยและระยะเวลาการก่อสร้างเร็ว งานดังกล่าวจึงเหมาะกับทุกท่านที่ต้องการองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม เครื่องกล นวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งสามารถมาชมแล้วนำไปขยายต่อได้”

งาน ‘International Engineering Expo 2024’ จะจัดพร้อมงาน ‘ASEAN TOOLS EXPO 2024’ งานแสดงนวัตกรรมฮาร์ดแวร์และเครื่องมือช่างระดับภูมิภาคอาเซียน ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดผู้เข้าชมงานกว่า 30,000 คน สร้างรายได้จากการซื้อขายและ Business Matching กว่า 1,000 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top