Friday, 16 May 2025
Econbiz

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เพิ่มโอกาสทางการตลาด กระตุ้นธุรกิจการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโต ผ่านการจัดแสดงสินค้าออนไลน์รูปแบบเสมือนจริง THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition”

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถาการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายสาขา แต่อุตสาหกรรมอาหารยังได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว โดยรายงานของสถาบันอาหาร ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2563 อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 11 เดือน อยู่ที่ 981,430 ล้านบาท หดตัวลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 7.39 แต่แนวโน้มในปี 2564 นี้ มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมอาหารจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 12 และจะมีมูลค่าราว 1.08 -1.10 ล้านล้านบาท เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการเลือกสินค้าอาหาร หรือวัตถุดิบ เพื่อมาประกอบอาหารเองเพิ่มมากขึ้น

“ดีพร้อม เล็งเห็นถึงโอกาส และความสำคัญของการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มให้สามารถเดินหน้าต่อได้ ภายใต้สถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ จึงเร่งออกมาตรการและแนวทางการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเร็วในหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการขยายช่องทาง

"ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดกิจกรรมผ่านเวทีการแสดงสินค้านานาชาติรูปแบบออนไลน์เสมือนจริงในงานแสดงสินค้าอาหาร 2564 หรือ THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” ซึ่งการจัดงานเกิดจากการ่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับหอการค้าไทย"

การจัดงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด Driving the next normal ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม "สู่วิถีใหม่” เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโตได้อย่างต่อเนื่องภายในปี 2564

ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการแสดงคูหาเสมือนจริงผ่านรูปแบบ 3 มิติ โดยผู้ชมงานจากต่างประเทศสามารถเข้าไปเลือกสินค้าในชั้นวางสินค้า ชมคลิปวิดีโอ เปิดแคตตาล็อกสินค้า ฝากข้อความนัดเวลาเจรจาการค้าล่วงหน้า หรือเจรจาการค้าได้ทันที โดยจะเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมแสดงสินค้างาน ได้โอกาสใหม่ ๆ ในการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ทาง ดีพร้อม ยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารที่มีศักยภาพและความพร้อมเข้าร่วมงานในครั้งนี้ จำนวน 20 ราย อาทิ บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน, บริษัท ทิกเกิ้ล ไทม์ จำกัด, บริษัท โคโคเน่ น้ำมันมะพร้าว จำกัด, บริษัท ใบชาโชคจำเริญ จำกัด, บริษัท แคปหมึก ฟู้ดแอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, บริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด, บริษัท พีอันต้า จำกัด, บริษัท ชาโลม เฮลท์ จำกัด, บริษัท จตุพล ชาไทย (ดอยแม่สลอง) ฯลฯ โดยนำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องหอมไทย ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป เข้าร่วมในงานครั้งนี้

คาดว่าการสนับสนุนในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะผู้ซื้อชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานกว่า 1,230 ราย นายณัฐพล กล่าวเสริม

ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้างานแสดงสินค้าอาหาร 2564 พร้อมชมนิทรรศการเสมือนจริง ภายในงาน THAIFEX-Virtual Trade Show ระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2564 และงาน THAILEX-ANUGA “The Hybrid Event” ได้ในระหว่างวันที่ 29 กันยายน-3 ตุลาคม 2564 ผ่านทาง www.dipromvirtual.com


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

งานนี้ CP ไม่เกี่ยว! ปัดเอี่ยวรัฐบาล ซื้อ 'ซิโนแวค' เล็งเอาผิด หากพบคนบิดเบือนข้อมูล

CP ออกแถลงการณ์แจงไม่เกี่ยวข้องกรณีรัฐบาลสั่งซื้อวัคซีน 'ซิโนแวค' ชี้เป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ยืนยันไม่ได้ถือหุ้น 15% ขู่เอาผิดคนบิดเบือนข้อมูล

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 ระบุว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เนื่องจากปัจจุบันปรากฏข่าวสารสับสนเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ทางโลกออนไลน์ โดยระบุว่า

1.) ซีพีถือหุ้นซิโนแวค 15% และ

2.) ซีพีอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

1.) การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค เป็นแบบรัฐบาล ต่อรัฐบาล (G2G) เท่านั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับซีพี ทั้งทางตรง และทางอ้อม

2.) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น บริษัทซิโนแวค 15% ตามที่เป็นข่าว โดย

ข้อเท็จจริง ผู้ลงทุน คือ Sino Biopharmaceutical ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของจีน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัท Sino Biopharmaceutical นี้ เท่านั้น

ข้อเท็จจริง ผู้ขายหุ้น คือ Sinovac Life Sciences เป็นบริษัทลูกของบริษัท ซิโนแวค ต้องการระดมทุน เพื่อต้องการขยายกำลังการผลิตวัคซีนซิโนแวค

ข้อเท็จจริง Sino Biopharmaceutical เข้าไปถือหุ้นใน Sinovac Life Sciences จำนวน 515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15.03% ถือเป็นการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวเอง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีหุ้นใด ๆ และไม่ได้มีสิทธิการเป็นเจ้าของ ในบริษัท Sinovac Life Sciences ใด ๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยใน Sino Biopharmaceutical ที่เข้าไปลงทุนผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ไม่มีสิทธิในการบริหารและแทรกแซงการตัดสินใจใด ๆ ใน Sinovac

และเครือเจริญโภคภัณฑ์ขอยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กับการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาล เข้ามาในประเทศไทยอย่างที่เกิดการบิดเบือนในสื่อออนไลน์แต่อย่างใด ทั้งนี้ หากพบว่า ยังมีการเจตนานำข้อมูลไปบิดเบือน และ สร้างความเสียหาย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

สมาคมธนาคารไทย ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 6 เดือน 1 แสนล.

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธนาคารต่าง ๆ กำลังเร่งพิจารณาคำขออนุมัติสินเชื่อที่สามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะเห็นยอดตัวเลขสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นไปตามเป้า 1 แสนล้านบาท ใน 6 เดือนแรก

“แม้ระยะเวลาที่เปิดให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการไม่นานนัก เพียงแค่ 3 สัปดาห์ ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว 15,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการ SMEs 5 พันกว่าราย ซึ่งจำนวนนี้เป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมกับธนาคาร ทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ครอบคลุมทุกธุรกิจทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทย ยังได้ร่วมมือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวบรวมรายชื่อข้อมูลของผู้ประกอบการที่สนใจขอสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องและหาแนวทางข้อสรุปในการช่วยเหลือแต่ละราย ซึ่งสมาคมธนาคารไทยจะได้ส่งต่อให้กับธนาคารสมาชิกต่อไป

นอกจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว ยังมีอีกมาตรการที่ผู้ประกอบการธุรกิจให้ความสนใจอย่างมาก คือ โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปรกอบธุรกิจสามารถหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราว เพื่อรอเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยไม่สูญเสียกิจการไป แต่เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือนี้เป็นเรื่องใหม่ มีรายละเอียดเงื่อนไขเฉพาะธนาคาร มีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน ต้องอาศัยความเข้าใจและความเห็นชอบของลูกหนี้และเจ้าหนี้ อีกทั้งยังมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับภาษี ค่าธรรมเนียมในการโอนทรัพย์เพื่อพักชำระหนี้ ซึ่งต้องอาศัยระเบียบวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ

“สุพัฒนพงษ์” แจงกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ควบคู่กับการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ในการพักชำระหนี้และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคตที่ไม่แน่นอน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงถึงการแก้ปัญหาโควิค-19 ของรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมาได้ออกพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยและรายอื่นๆ รวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับผลกระทบในปีที่แล้ว

ขณะที่เดือน เม.ย. ปีนี้ มีปริมาณผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อ ครม. จึงออกมาตรการเยียวยาเพิ่ม โดยนำเงินที่เหลือจาก 1 ล้านล้านบาท มาช่วยในปีนี้ ทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 รวมถึงโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.ฟื้นฟู ในโครงการ ซอฟท์โลน 2.5 แสนล้านบาท และ 1 แสนล้านบาท โครงการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อจะดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กในช่วงที่ได้รับผลกระทบ รวม 3.5 แสนล้านบาท (สรุป 3.5 แสนล้านบาท คือเงินเก่าที่กู้มา 1.9 ล้านล้านบาท)

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังมีการออกพระราชกำหนดแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 (ฉบับที่2) วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคต หรือการระบาดที่อาจจะต้องทอดยาวไปอีก โดยยืนยันว่า รัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่ที่จะบริหารและสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดได้ คาดว่าในไตรมาส 2 น่าจะควบคุมได้ แต่ต้องมาจากความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วนที่จะต้องเข้มงวดในมาตราการสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน

แนะเพิ่มโทษอาญา-ฉ้อโกง สายรีวิวสินค้าโฆษณาเกินจริง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกปี 64 มีสถิติการรับร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีจํานวน 3,810 ราย เพิ่มขึ้น 48.9% ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนด้านโฆษณา ถึง 1,1511 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 59.2% ส่วนมากมีลักษณะเป็นการกระทำผิดซ้ำ ๆ เช่น การโฆษณาเกินจริง ซึ่งค่าปรับตามกฎหมายในเรื่องนี้ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับจากการโฆษณา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก 

สศช.จึงเสนอว่า อาจต้องปรับบทลงโทษให้หนักขึ้น หรือนำกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกงประชาชนมาปรับใช้ เนื่องจากเป็นบทลงโทษที่ค่อนข้างหนักและไม่สามารถยอมความได้ เพื่อลดแรงจูงใจและเกรงกลัวในการกระทำความผิด รวมถึงลดโอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ เพราะปัจจุบันความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาเกินจริงมีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. อาหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในกรณีที่มีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

สศช. ยังได้รับทราบข้อมูลในช่วงเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า มีการก่ออาชญากรรมผ่านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เช่น แอปพลิเคชั่นกู้เงินนอกระบบหรือสินเชื่อเงินสดออนไลน์ ที่มีการหักค่าบริการตั้งแต่ต้น และต้องชำระเงินต้นคืน พร้อมดอกเบี้ยเต็มจำนวน เอสเอ็มเอสหลอกให้กู้เงินแต่ต้องโอนค่ามัดจำดอกเบี้ยล่วงหน้าเมื่อหลงเชื่อโอนเงินแล้วไม่สามารถติดต่อได้ และการหลอกลวงให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี่ เช่น บิตคอยน์ ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมาก และสร้างมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท  

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลการจับกุมคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ เช่น หมิ่นประมาท ข่มขู่คุกคาม สื่อลามก เฟกนิวส์ ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรี การพนัน ออนไลน์ หลอกลวงออนไลน์ด้านการเงิน การขายของผิดกฎหมาย การดักรับข้อมูล โรแมนซ์สแกม โดยตั้งแต่เดือนธ.ค.  63-ก.พ. 64 จับกุม 489 คดี มีผู้ต้องหา 613 คน  

ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากงาน ไร้กังวล กองทุนเงินทดแทน ให้การดูแลค่ารักษาพร้อมเงินทดแทนเต็มที่

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งดำเนินงานตามนโยบายของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนจากกองทุน เงินทดแทนที่ลูกจ้างพึงจะได้รับอย่างเต็มที่ ซึ่งจากผลการวินิจฉัยเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานประจำปี 2563 มีลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนไปแล้วจำนวน 25,518 ราย โดยข้อมูล ในปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีลูกจ้างที่อยู่ในข่ายได้รับเงินทดแทนแล้วจำนวน 26,673 ราย 

อย่างไรก็ดี กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมในฐานะที่ดูแลจึงขอให้ลูกจ้างตระหนักถึงความปลอดภัย ในการทำงาน ทั้งนี้ รวมถึงสถานประกอบการต้องให้ความระมัดระวังความปลอดภัยในการทำงาน และหากเป็นเหตุการณ์ที่ประสบอันตราย นายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย ตายหรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 (กท.16) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ ทราบการประสบอันตราย ของลูกจ้าง กรณีลูกจ้างประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคม ขอแนะนำให้นายจ้าง ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน 

โดยที่นายจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้าและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวง ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 ซึ่งค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอ สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้ รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกแต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท 

โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาล ของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกแต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/ สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทรสายด่วน 1506 ติดต่อสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

คืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่งมอบพื้นที่แล้ว 86% รวม 5,521 ไร่ เตรียมพร้อมร่วมเอกชนรุกงานก่อสร้าง ยกระดับบริการแอร์พอร์ต ลิงก์ มั่นใจเปิดบริการปี 2568 ดันท่องเที่ยวโต จูงใจการลงทุน มีงานในพื้นที่ รายได้ดีมั่นคง

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี รายงานความก้าวหน้าการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project list) ภายหลังได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1.) ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง เป็นตามขั้นตอนกฎหมาย ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว

นอกจากนี้ การรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง การส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาของรฟท. ที่เดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อเนื่องเช่นกัน และจะพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

2.) เริ่มแล้วงานก่อสร้าง ถนนสะพาน บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นส่วน ยันพร้อมเปิดบริการปี 2568 งานก่อสร้างโครงการ ฯ จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันบริษัท ฯ เอกชนคู่สัญญา ได้ดำเนินการออกแบบ และเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง (early work) เช่น ก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวสำหรับงานก่อสร้างโครงการ (access road and temporary bridge) ก่อสร้างสำนักงานสนาม (site office) บ้านพักคนงาน (labour camp) และก่อสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างทางวิ่ง (concrete yard) แล้ว

โดยมีความพร้อมเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ทันที เมื่อได้รับมอบพื้นที่โครงการฯ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา จาก รฟท. ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5​ปี และจะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568 ตามแผนเร่งรัด

3.) ยกเครื่องแอร์พอร์ต ลิงก์ โฉมใหม่ คนใช้สะดวกขึ้น บริการทั่วถึงปลอดภัย ซึ่งการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ขณะนี้ รฟท. พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งยืนยันว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 นี้ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ยังสามารถใช้บัตรโดยสารรายเดือนเดิมของ รฟท.ได้ต่อไปหลังการถ่ายโอน และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนบัตรโดยสารใหม่ต่อไป

ขณะที่ด้านความพร้อมของเอกชนคู่สัญญา ในช่วงก่อนการรับโอนสิทธิ์เพื่อเข้าดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้ประกาศใช้งบประมาณสูงถึง 1.7 พันล้านบาท นำผู้เชี่ยวชาญการเดินรถและให้บริการระบบรางทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียด พร้อมทั้งสำรวจสภาพทางเทคนิคของสถานี ระบบรถไฟฟ้า เตรียมความพร้อมปรับปรุงสถานี พัฒนาด้านบุคลากรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพบริการ (Level of Service and Customer Satisfaction) ซึ่งได้เสนอมายัง รฟท. มีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้...

1.) ปรับปรุงระบบไฟฟ้าที่จำเป็น เช่น ระบบติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เพื่อให้ขบวนรถมาตรงเวลามากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิด รักษาความปลอดภัยผู้โดยสาร ระบบรางรถไฟฟ้า ระบบป้องกันอัคคีภัย และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น

2.) ปรับปรุงสถานีรถไฟ เช่น ป้ายสัญลักษณะและบอกทาง ปรับปรุงทางเดิน สิ่งอำนวยความสะดวกสถานีและเพิ่มห้องน้ำสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและปรับปรุงระบบการจราจร ที่จอดรถโดยรอบ เพิ่มระบบแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย เพิ่มพัดลมระบายอากาศ แผงกันสาดป้องกันแสงแดดและฝนภายในสถานี เพื่อสร้างความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

3.) ปรับเปลี่ยนตู้ขนสัมภาระจำนวน 4 ตู้ ให้เป็นตู้รองรับผู้โดยสารแทน โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อชั่วโมง ลดการรอคอยขบวนรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ทุกขั้นตอนดำเนินการโปร่งใส รัดกุม และประเทศได้ประโยชน์สูงสุด มีมูลค่าการลงทุนรวม กว่า 257,464 ล้านบาท (ภาครัฐ 157,872 ล้านบาท และเอกชน 99,592 ล้านบาท) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซี เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์สามารถเชื่อมต่อกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี และเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ

 

https://www.youtube.com/watch?v=vXjfYWBXU8c&ab_channel=EECWECAN


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

สตาร์ทอัพธุรกิจท่องเที่ยว “มาคาเลียส” เผยประเทศไทยแม้เจอวิกฤตโควิด-19 หนักอย่างไร แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไงก็ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการต้องรู้วิธีการรับมือในยุค Next Normal 

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) แหล่งรวมอี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย กล่าวว่า “วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตที่รุ่นแรงที่สุดในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยและทั่วโลกได้พบเจอ ส่งผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอย่างมหาศาลกับธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย แต่ทั้งนี้จากประสบการณ์การบริหารงานของบริษัทแม่ในโซนยุโรปประกอบกับการดำเนินงานในประเทศไทยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ประเมินว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติได้เหมือนทุกครั้งที่เคยเกิดวิกฤตต่างๆ เพราะประเทศไทยมีเอกลักษณ์ที่เป็นแม็กเน็ตสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย อาทิ วัฒนธรรมประเพณี ความงดงามของธรรมชาติ อาหารการกิน ค่าใช้จ่ายต่อการท่องเที่ยว เป็นต้น แต่สิ่งที่จะตามมาภายหลังจากพายุโควิด-19 สงบลง คือการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ยุค “Next Normal” หรือยุค “การเปลี่ยนแปลง” เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องปรับตัวตาม

ดังนั้นการเรียนรู้วิธีการรับมือให้เร็วคือทางรอดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยมาคาเลียสมองว่า 5 แนวทางที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมและสร้างระบบการท่องเที่ยวยุค Next Normal ได้นั้น คือ “คุณภาพและประสบการณ์” (Quality & Experience) ของผลิตภัณฑ์หรือการบริการ คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะพิจารณาเป็นอันดับแรกมากกว่าเรื่องของราคา เพราะการออกไปท่องเที่ยวในแต่ละครั้งนักท่องเที่ยวจะคิดเยอะขึ้น ดูความสมเหตุสมผลระหว่างราคากับคุณภาพ และที่สำคัญในแต่ละทริปต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ได้อีกด้วย 

ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างคุณภาพของบริการที่จับต้องได้มากกว่าการทำโปรโมชั่น ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนการจำหน่ายแพคเกจแบบการลดราคา เป็นการเพิ่มกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างความสนุกให้กับทริปท่องเที่ยว เป็นต้น แนวทางต่อมาคือ “ความปลอดภัย” (Hygiene) ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวในยุค Next Normal ทั้งความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของห้องพัก รวมถึงการให้บริการที่เน้นแบบไร้สัมผัส (Contactless Services) ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น e-Voucher เปลี่ยนจากกระดาษเป็นออนไลน์ e-Concierge เปลี่ยนจากการเช็คอินที่เคาเตอร์เป็นการให้บริการเช็คอินที่ห้องพัก เพื่อลดการแออัดบริเวณพื้นที่ส่วนรวม และ Digital payment การชำระเงินด้วยรูปแบบการโอนจ่าย หรือการจ่ายผ่านเหรียญคริปโต (Crypto Currency) ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นบริการใหม่ของทางมาคาเลียสที่ได้เปิดใช้งานแล้วและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี 

“เทคโนโลยี” (Tech) ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการยกระดับคุณภาพของงานบริการ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการหลายแห่งนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการ เช่น การใช้แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน สำหรับการเช็คอิน การเช็คเอาท์ การสอบถามข้อมูล รวมไปถึงการให้บริการ Room Service แทนการใช้โทรศัพท์ในห้องพัก เพิ่มความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว เพราะสามารถใช้บริการได้ทุกที่ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการติดตามนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย และที่ขาดไม่ได้คือ

“ทักษะ” (Skill) เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริการมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบบริการเปลี่ยนไป บางสายงานอาจถูกลดจำนวนลง ดังนั้น บุคลากรควรมีการ Upskill คือการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมมาพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การเพิ่มทักษะภาษาจีนจากเดิมที่มีทักษะภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นต้น และ Reskill การเปลี่ยนองค์ความรู้เดิมเพื่อรับมือกับสายอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่น เดิมเป็นเจ้าหน้าที่ออฟฟิศรับจองห้องพัก แต่เมื่อ Ai เข้ามาทำงานแทน เราอาจผันตัวเองมาเรียนเป็นผู้สอน SUP Board เพราะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางน้ำที่กำลังได้รับความนิยม และเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ เป็นต้น 

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “แนวทางสุดท้ายที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยนำพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุค Next Normal คือ “บูรณาการ” (Integration) เพราะการทำงานเพียงลำพังคนเดียวอาจไม่ใช้ทางออกที่ดีที่สุดของการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องร่วมมือและผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมไปถึงกลุ่มชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยควรจะเป็น รวมถึงการร่วมมือกันกำหนดแนวทางการแก้ไข ดูแล และป้องกัน หากเกิดวิกฤตต่างๆ  ขึ้นอีกครั้ง”

พร้อม…กับทุกด้านของชีวิต กับ 10 เหตุผลดีๆ ที่ควรเลือกมาสด้า บีที-50 เป็นปิกอัพคู่ใจในยุคนี้

เมื่อพูดถึงรถปิกอัพแล้วต้องบอกว่าเป็นยานพาหนะที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน แต่ปัจจุบันรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากอดีต ถนนหนทางดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก คนส่วนใหญ่จึงนิยมนำมาใช้งานอเนกประสงค์มากขึ้น และต้องตอบโจทย์ทุกความต้องการในรถคันเดียว จึงทำให้การตัดสินใจเลือกรถปิกอัพต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายด้านรวมกัน ทั้งสมรรถนะของเครื่องยนต์ การประหยัดค่าใช้จ่าย ความอเนกประสงค์ สะดวกสบาย ดีไซน์ต้องโดนใจ และที่สำคัญต้องส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้เป็นเจ้าของ แบบว่าขับแล้วต้องหล่อดูดี ซึ่งในท้องตลาดก็มีรถปิกอัพมากมายหลายยี่ห้อให้เลือก หนึ่งในนั้น คือ มาสด้า บีที-50 ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่ผู้คนต่างให้ความสนใจ วันนี้เรามาเจาะลึกถึงคุณสมบัติที่มากับปิกอัพคันนี้กันว่าทำไมถึงต้องเลือกมาสด้า บีที-50 รถปิกอัพสไตล์เอสยูวีรุ่นนี้มาเป็นรถปิกอัพคู่ใจ พร้อมสำหรับการใช้งานในระยะยาว

1.) ดีไซน์สง่างามสไตล์รถเอสยูวี

หากถ้าพูดถึงเรื่องความสง่างาม ความโดดเด่นด้านการออกแบบรถของแบรนด์มาสด้าแล้ว ต้องยกให้กับแนวคิด โคโดะ ดีไซน์ จิตวิญญานแห่งการเคลื่อนไหว เรียบง่ายแต่งดงาม ปิกอัพมาสด้า บีที-50 ถูกออกแบบตามแนวคิดนี้เช่นเดียวกับรถยนต์มาสด้ารุ่นอื่นๆ แต่ยังมีความพิเศษอยู่ที่ มาสด้าได้นำแนวคิดนี้มาผสมผสานกับรูปลักษณ์ที่แข็งแกร่งอันเป็นเอกลักษณ์ของรถปิกอัพ จึงทำให้รถรุ่นนี้กลายเป็นปิกอัพที่โดดเด่นที่สุดในทุกมุมมอง แตกต่างจากปิกอัพทั่วไปในท้องตลาดด้วยการเป็น “ปิกอัพสไตล์เอสยูวี” สไตล์คนยุคใหม่

2.) ภายในเรียบหรู สะดวกสบาย คัดสรรด้วยวัสดุเกรดพรีเมี่ยม

ภายในห้องโดยสารเน้นความประณีตใส่ใจในทุกรายละเอียด โดยคัดสรรเลือกใช้เฉพาะวัสดุคุณภาพสูง จึงช่วยเพิ่มผิวสัมผัสถึงคุณภาพของการตกแต่งภายในห้องโดยสารได้อย่างลงตัว ออกแบบโดยเน้นผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางตามหลัก Human Machine Interface เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากที่สุด นอกจากนี้ ความสะดวกสบายที่จัดมาให้อย่างเต็มเปี่ยม พวงมาลัยปรับได้มากถึง 4 ทิศทาง เบาะนั่งคนขับไฟฟ้าปรับ 8 ทิศทางและระบบดันหลัง ระบบปรับอากาศแบบ Dual Zone ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ลำโพงมากถึง 8 ตำแหน่ง ที่พักแขนพร้อมที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง ช่องเสียบ USB ช่องเก็บของสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกตำแหน่ง

3.) เครื่องยนต์ทรงพลัง ทนทาน แรงและประหยัดน้ำมัน

ผู้ใช้งานรถปิกอัพต้องการรถที่เครื่องยนต์มีกำลังสูง มาสด้า บีที-50 ตอบสนองความต้องการส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี กับตัวเลือกเครื่องยนต์ดีเซล 3.0 ลิตร ในรุ่นขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ กำลังสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร พร้อมระบบหัวฉีดน้ำมันแรงดันสูง 250 MPa ให้ละอองน้ำมันละเอียดและการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ประหยัดน้ำมันได้ถึง 14.1 กิโลเมตร/ลิตร นอกจากนี้ อีกหนึ่งทางเลือกเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1.9 ลิตร กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ประหยัดน้ำมันถึง 16.1 กิโลเมตร/ลิตร ถือว่าดีที่สุดในคลาส

4.) ตัวถังแข็งแกร่ง เสถียรภาพการขับขี่ดีเยี่ยม รองรับการบรรทุกของได้อย่างเหลือล้น

โครงสร้างตัวถังผลิตขึ้นจากเหล็กกล้าที่ทนต่อแรงดึงสูง (High Tensile Steel) ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดการสั่นสะเทือนและเสียงรบกวนจากภายนอก ให้เสถียรภาพในการขับขี่ที่ดีเยี่ยมด้วยระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น กับคอยล์สปริงที่ช่วยเพิ่มความนุ่มสบาย ซับแรงกระแทกที่จะเข้าสู่ห้องโดยสาร พร้อมเหล็กกันโคลงหน้าช่วยเพิ่มเสถียรภาพการทรงตัว ชุดแหนบด้านหลังที่ยาวถึง 1,370 มม. เพิ่มความสามารถในการบรรทุก ทำให้ง่ายต่อการขนถ่ายสัมภาระและบรรทุกได้มากขึ้น

5.) ตอบรับวิถีคนรุ่นใหม่ เชื่อมต่อไร้ขีดจำกัดด้วยระบบ infotainment ครบครัน

ตอบโจทย์รูปแบบการเชื่อมต่อการสื่อสารในยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัวกับระบบ Infotainment ที่มาพร้อมกับหน้าจอแสดงผลความละเอียดสูง WXGA ขนาด 7 นิ้ว หรือ 9 นิ้ว รวมถึงรองรับ Apple CarPlay® และ Android Auto™ ใช้งาน Miracast แบบไร้สาย รองรับการเชื่อมต่อแบบ MirrorLink ระบบนำทางที่ติดตั้งมากับรุ่นหน้าจอขนาด 9 นิ้ว ใช้งานโดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง

6.) สองทางเลือกกับระบบขับเคลื่อนที่ตอบโจทย์การใช้งานอย่างทรหด

ระบบขับเคลื่อน 2 รูปแบบ คือ ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ และระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ ซึ่งในรุ่นระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ ใช้เพลาขับที่ทำจากอลูมิเนียม ทำให้รถเบาขึ้นและสามารถสลับโหมดการขับเคลื่อนและการทำงาน 4H/4L ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับระบบ Electronic Diff-Lock ที่เฟืองท้าย ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการขับขี่แบบออฟโรดและพร้อมรับมือได้ทุกสภาพถนนที่ยากต่อการขับขี่ 

7.) ระบบปลอดภัยเป็นเลิศอุ่นใจกับเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง

เทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูงได้ถูกติดตั้งมาพร้อมกับตัวรถเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัย เพื่อให้ขับขี่มั่นใจยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่ ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM และ ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ ได้แก่ ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (HDC), ระบบช่วยออกตัวรถขณะอยู่บนทางลาดชัน (HLA), เซ็นเซอร์กะระยะทั้งด้านหน้าและด้านหลังรวม 8 ตำแหน่ง, ถุงลมนิรภัยรวมสูงสุดถึง 6 ตำแหน่ง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

8.) ตอบโจทย์การใช้งานทุกสถานการณ์

เนื่องจากปิกอัพรุ่นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ขับขี่ได้ในทุกสถานการณ์ ทั้งในเมืองและออฟโรด จึงสามารถขับบนถนนขรุขระได้อย่างดีเยี่ยม มาพร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล (TCS) ช่วยควบคุมกำลังขับที่เหมาะสม ให้ความคล่องแคล่วและการควบคุมที่แม่นยำ ในรุ่นยกสูงขับเคลื่อน 2 ล้อ (Hi-Racer) และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ยังขับลุยน้ำได้ถึง 800 มิลลิเมตร เนื่องจากท่ออากาศหลักได้ถูกติดตั้งอยู่ด้านหน้าเหนือแผงด้านบนของหม้อน้ำ มีโครงสร้างช่วยให้ช่องว่างรอบท่อปิดสนิท จึงป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่ระบบท่ออากาศเมื่อต้องขับลุยน้ำ และรถรุ่นนี้ยังใช้งานในเมืองได้อย่างคล่องแคล่วและง่ายดาย

9.) คุ้มค่ามากที่สุดกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่ำ

มาสด้า บีที-50 มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตลอดระยะเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กม. เริ่มต้นเพียง 20,985 บาท เท่านั้น มาพร้อมกับโปรโมชั่นพิเศษ ดอกเบี้ยพิเศษ 1.99% ฟรีค่าแรงเช็กระยะ 5 ปี หรือ 100,000 กม. ช่วยลดภาระค่าบำรุงรักษาและยังใช้อะไหล่และของเหลวคุณภาพสูงในราคาเป็นมิตร เรียกได้ว่าคุ้มค่าที่สุดเหมาะที่จะเป็นปิกอัพคู่ใจลูกค้าไปตลอดอายุการใช้งาน

10.) การสื่อสารชัดเจนปิกอัพสำหรับคนรุ่นใหม่พร้อมทุกสถานการณ์

การวางตำแหน่งทางการตลาดภายใต้สโลแกน : พร้อม...กับทุกด้านของชีวิต สะท้อนภาพลักษณ์ของคนยุคใหม่ มีแนวทางการใช้ชีวิตที่ชัดเจน ไม่เหมือนใคร เต็มที่กับทุกด้านได้ในแบบที่ต้องการ โดยสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของปิกอัพมากยิ่งขึ้น ใช้อาชีพที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมาย ให้คุณพร้อมไปกับทุกภารกิจ ไม่ว่าเค้าจะทำอาชีพอะไร Mazda BT-50 ก็ตอบโจทย์ทุกอาชีพ ทั้งธุรกิจ ครอบครัว และชีวิตส่วนตัว ตามคอนเซ็ปต์ “พร้อม...ทุกเมื่อ เพื่อทุกงาน”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มาสด้ามุ่งมั่นตั้งใจในการผลิตปิกอัพ บีที-50 ยังมีจุดเด่นอีกเพียบที่รอให้ค้นหา ลองแวะไปที่โชว์รูมเพื่อทดลองขับ แล้วคุณจะสัมผัสได้ถึงบุคลิกและพลังที่ซ่อนอยู่ของรถปิกอัพที่ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา แต่นี่คือปิกอัพที่ พร้อม...กับทุกด้านของชีวิต

‘ค้าปลีกไทย’ ผนึก ‘แบงก์’ ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ช่วยคู่ค้า SMEs เข้าถึงแหล่งทุน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้มีการประชุมกับสมาชิกสมาคมและภาคีเครือข่ายกว่า 70 บริษัท ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในห่วงโซ่การค้ามากกว่า 100,000 ราย นับเป็น 40% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกทั้งประเทศหรือคิดเป็น 12% ของจีดีพี ร่วมกับธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 5 รายในเฟสแรก คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุน ผ่าน Digital Factoring Platform

โดยสมาคมฯ เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อ แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเกษตรกรได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่เอสเอ็มอีทั่วประเทศ ขาดสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และต้องการความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เริ่มโครงการแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เซ็นทรัลรีเทล (CRC) และ ธนาคารกสิกรไทย โดยการนำข้อมูลการทำธุรกิจระหว่างบริษัทฯ และซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าเบื้องต้นกว่า 4,000 ราย ของ เซ็นทรัล รีเทล เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย ผ่านแพลตฟอร์มฯ และได้อนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรกให้กับเอสเอ็มอีมากกว่า 1,000 ราย ในวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งกว่า 70% ของเอสเอ็มอีเหล่านี้ยังไม่เคยเข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan มาก่อน

สำหรับแพลตฟอร์มนี้ทำให้ธนาคารฯ สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น บนต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำ และเอสเอ็มอีสามารถชำระหนี้แบบอัตโนมัติผ่านช่องทางดิจิทัลเพราะฉะนั้น ธนาคาร จึงสามารถเสนอสินเชื่อวงเงินที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ความสำเร็จของโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งจะนำต้นแบบนี้ขยายไปสู่เอสเอ็มอีมากกว่า 100,000 ราย ทั่วประเทศ ของสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและภาคีเครือข่ายภายในสิ้นปี 2564

ส่วนในเฟสต่อไปจะขยายผลไปถึงสมาชิกของทุกสมาคมฯ ตั้งแต่ สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับการร่วมมืออย่างเต็มที่จากธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเอกชน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพลิกฟื้น เสริมสภาพคล่อง และได้แต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ

 

ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/104457?fbclid=IwAR2rXpr319wy9klc6gu-qDohjbfzXTG2kHGl5DTl_ylkKfRgjRLFmndue5Y


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top