Thursday, 15 May 2025
Econbiz

เอกชนยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ชง 5 ข้อแก้ปัญหาเหล็กแพง

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็ก เปิดเผยว่า ผู้แทนกลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็ก ได้ยื่นหนังสือเรื่องขอความอนุเคราะห์พิจารณาข้อเสนอแนวทางบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าเหล็ก ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเน้นย้ำข้อเสนอ 5 ข้อ คือ

1.) สร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน

2.) กลุ่มผู้ผลิตในประเทศจะรายงานข้อมูลการผลิต

3.) สนับสนุนให้ภาครัฐพิจารณาปรับเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่าเค)

4.) ขอให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ และ

5.) เร่งนำเสนอ และผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0

เชื่อมั่นว่า หากนายกรัฐมนตรีสนับสนุน และมอบนโยบายตามข้อเสนอของ 7 สมาคมฯ เหล็กให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันทั้งห่วงโซ่การผลิตจะสามารถบรรเทาผลกระทบผู้ใช้สินค้าเหล็กได้

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สินค้าวัสดุก่อสร้างที่ใช้สินค้าเหล็กเป็นวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาสินค้าเหล็กเช่นกัน แต่เป็นสถานการณ์ที่เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการปรับราคาขึ้นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก และอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศยังมีส่วนช่วยชะลอการขึ้นราคาขายในประเทศ เนื่องจากราคาขายเป็นไปตามต้นทุนการผลิตที่สามารถจัดหาได้ ไม่ได้ปรับตามราคาซื้อขายตามราคาตลาดโลกทันที

โฆษก กมธ.ติดตามเงินกู้แก้ปัญหาโควิด19 หนุนรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท แต่ต้องปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารงบ ให้การใช้เงินเกิดประสิทธิภาพดีขึ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.จำนวน 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาโควิด-19 กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาโควิด-19 ว่า หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินก้อนนี้มาใช้ ตนก็เห็นด้วย เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 3 มีผลกระทบไม่ใช่เฉพาะเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลกู้รอบแรกมาแล้ว 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการเยียวยา ฟื้นฟู และด้านสาธารณสุข ตามที่ได้มีการติดตามเงินกู้ก้อนนี้ก็มีการเบิกจ่ายเกือบเต็มวงเงินกู้แล้ว

ดังนั้นหากจะต้องกู้มาอีก 7 แสนล้านบาท รัฐบาลจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลไกในการใช้เงิน ทั้งเรื่องของหน่วยงานที่จะควบคุมเงินกู้ การตรวจสอบ การเบิกจ่าย ที่จะต้องทำให้ให้การใช้เงินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไปถึงมือประชาชน และสามารถที่จะฟื้นฟู เยียวยาได้อย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นการขับเคลื่อนการแก้ไขทางเศรษฐกิจก็จะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังและกำหนดไว้ 

“ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องกู้ แต่ประเด็นที่สำคัญ คือ กลไกที่รัฐบาลจะต้องทำอย่างไรให้การใช้เงินกู้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาจากที่ตนเป็นกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการใช้เงินกู้ ต้องยอมรับว่าการใช้เงินยังล่าช้า เบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และยังไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชน มีหลายโครงการที่ทำแล้วไม่สำเร็จ และหลายโครงการที่จะต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย เบิกจ่ายงบล่าช้าเนื่องจากความไม่ชัดเจนของโครงการ เเละที่สำคัญการใช้จ่ายงบเงินกู้ไม่เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนก็ไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลและพี่น้องประชาชนคาดหวังไว้" นายอัครเดช กล่าว

ชาร์จ แมเนจเม้นท์ เปิดแผนธุรกิจ 5 ปี จับมือพันธมิตร สร้าง Ecosystem ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมการใช้งานทั้งกลุ่มชาร์จตามบ้าน-ชาร์จที่จุดหมายปลายทาง-ชาร์จตามสถานี ปักหมุดเบอร์หนึ่งธุรกิจชาร์จรถ EV ครบวงจร 

นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า “SHARGE มองว่าภายใน 5 ปี การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลกและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ พร้อมเร่งหาทางลดการสร้างมลภาวะ ในประเทศไทยเองก็พบว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเรือนกระจกมาจากภาคการขนส่งถึง 27% ประเทศไทยจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เกิดการตื่นตัวในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการขนส่งจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่รถ EV โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว (BEV) ที่จะเข้ามาช่วยลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์โดยตรง ซึ่งรถ BEV จะกลายเป็นเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ในอนาคต และปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากรถยนต์สันดาปมาสู่รถ EV อย่างยั่งยืนนั่นคือการมีสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับเพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงหัวชาร์จได้อย่างทั่วถึง 

SHARGE จึงได้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อเข้ามาสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศต่อการเติบโตของรถ EV ด้วยการเป็นผู้ให้บริการด้านการชาร์จรถ EV อย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบของการจำหน่ายอุปกรณ์ชาร์จสำหรับติดตั้งตามที่อยู่อาศัย และแหล่งไลฟ์สไตล์ รวมถึงการพัฒนาสถานีชาร์จ (EV Charging Station) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายแผนการดำเนินว่าภายใน 5 ปี (ปี 2563-2568) SHARGE จะสามารถสร้างยอดขายได้ 3,000 ล้านบาท จากการขายเครื่องชาร์จ 16,000 เครื่อง โดยเป้าหมายรายได้ดังกล่าวจะมาจากการขายอุปกรณ์ให้กับโครงการที่พักอาศัย 30% และ 70% มาจากยอดขายไฟฟ้า จากหัวชาร์จที่กระจายอยู่ 250 แห่ง ให้บริการหัวชาร์จในแหล่งไลฟ์สไตล์ชั้นนำ ตลอดเส้นทางกรุงเทพ หัวหิน พัทยา และเขาใหญ่ ซึ่งมั่นใจว่าจะส่งผลให้ SHARGE ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ครองส่วนแบ่งการตลาดผู้ให้บริการด้านธุรกิจการชาร์จรถ EV ในทุกรูปแบบมากกว่า 30% 

ภายใต้โรดแมป 5 ปี จะดำเนินผ่านกลยุทธ์ ‘LIFESTYLE CHARGING ECOSYSTEM: NIGHT, DAY, ON-THE-GO’ เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของลูกค้าอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการใช้รถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยร่วมมือกับภาคอสังหาริมทรัพย์ (ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยและศูนย์การค้า) ผู้ประกอบการรถยนต์ และธุรกิจพลังงาน สร้างระบบนิเวศที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายตามพฤติกรรมของผู้บริโภค 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

• NIGHT : กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่บ้าน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนสูงสุดหรือคิดเป็น 80% ของผู้ใช้รถ EV ทั้งหมด เพราะจากการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานรถ EV ในสหรัฐฯ จีน และยุโรป พบว่า ส่วนใหญ่จะนิยมชาร์จที่บ้านในเวลากลางคืน เพราะสะดวกและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ประจำวันที่คนส่วนใหญ่จะจอดรถไว้บ้านในเวลากลางคืน รวมถึงการชาร์จตามบ้านมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่า

• DAY : กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่จุดหมายปลายทาง เช่น การชาร์จตามศูนย์การค้า แหล่งไลฟ์สไตล์ต่างๆ สถานศึกษา และอาคารสำนักงาน  โดยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 15%

• ON THE GO : กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่ต้องการชาร์จตามสถานีชาร์จระหว่างการเดินทางข้ามจังหวัด หรือการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนน้อยที่สุดคือ 5% ของจำนวนผู้บริโภคทั้งหมด

สำหรับกลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มนั้น SHARGE ได้จับมือกับพันธมิตรที่หลากหลายกลุ่มธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากที่สุด รวมถึงจัดหาโซลูชันการชาร์จ EV ให้กับพันธมิตร เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุกกลุ่มแบบเฉพาะเจาจง โดยเริ่มจากกลุ่ม NIGHT ที่ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย 5 ราย ในการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จให้กับโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภททั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ทำให้ปัจจุบันมีหัวชาร์จครอบคลุมการให้บริการมากกว่า 25,000 ครัวเรือน ที่อยู่ในแผนที่จะมาใช้บริการติดตั้งอุปกรณ์จากชาร์จ ซึ่งจากกลุ่มลูกค้าที่ต้องการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จตามที่อยู่อาศัยนี้จะสนับสนุนให้ SHARGE ก้าวสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของผู้ให้บริการได้ 

ส่วนกลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่ม DAY นั้น SHARGE ได้จับมือกับศูนย์การค้าและค่ายรถยนต์ชั้นนำกว่า 7 ราย (ศูนย์การค้า 5 แห่ง ค่ายรถยนต์ 2 แห่ง) ในการติดตั้งหัวชาร์จที่ศูนย์การค้าและโชว์รูม ซึ่งล่าสุดได้ทำการติดตั้งหัวชาร์จที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และเซ็นทรัล ชิดลม และดูแลงานด้านระบบการให้บริการการชาร์จแบบครบวงจรให้กับโชว์รูมรถยนต์ปอร์เช่ โดยภายในปีนี้จะติดตั้งเพิ่มอีก 10 แห่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและหัวเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหัวชาร์จแบบชาร์จเร็ว (Quick Charge) 8 แห่ง

ขณะที่กลุ่ม ON THE GO ได้ร่วมมือกับพันธมิตรคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาสถานีชาร์จและร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านสถานีบริการน้ำมัน 1-2 รายรายในการปรับปรุงสถานีแบบเดิมให้กลายเป็นสถานีชาร์จรถ EV ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมสำหรับเปิดให้บริการ ครอบคลุมไปถึงหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี, ระยอง, อยุธยาและภูเก็ต 

จุดแข็งที่สำคัญของ SHARGE คือเราเป็นผู้ให้บริการ Total Solution ในด้าน ‘LIFESTYLE CHARGING ECOSYSTEM’ เชื่อมโยงผู้ใช้บริการทั้งรูปแบบ NIGHT, DAY, ON-THE-GO ด้วยแอปพลิเคชัน SHARGE ที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานอย่างครอบคลุมทุกพฤติกรรมการใช้งาน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถ EV ในการค้นหาและจองสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าทั้งของชาร์จ และเครือข่ายพันธมิตรในแหล่งไลฟ์สไตล์ทั่วกรุงเทพฯ อีกทั้งยังสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันได้ 

“อย่างไรก็ดีเป้าหมายการเติบโตยอดขายของ SHARGE นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่คาดว่าจะมีการใช้รถ EV รวมทุกประเภทในปี 2568 ที่ 1,055,000 คัน และชาร์จได้คาดการณ์ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะสนับสนุนให้ตลาดอุปกรณ์ชาร์จรถ EV ขยายไปสู่มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทในเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ มองว่าการเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Ecosystem) เพื่อส่งเสริมการใช้รถ EV เป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนที่ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคในอนาคตอันใกล้” นายพีระภัทร กล่าว


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘กกร’ หั่นจีดีพีปี 2564 อีกระลอก หลังประเมินโควิด-19 รุนแรงจากเดิมคาดจะโต 1.5-3% เหลือ 0.5-2% พร้อมหนุนรัฐกู้ 7 แสนล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจ แนะเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง เป็น 6,000 บาท ดันกำลังซื้อ ภายในมิ.ย. ชี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุมกกร.ประจำเดือนพ.ค. ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 อย่างมาก

ดังนั้นกกร.จึงปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ใหม่จากเดิมในเดือนเม.ย. คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะโต 1.5 -3% เป็นขยายตัว 0.5-2% ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยจากสหรัฐจึงปรับการส่งออกจากเดิม โต 4-6% เป็น 5- 7% ขณะที่เงินเฟ้อคงเดิมที่ 1-2%

“ประเมินว่าโควิดที่ระบาดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และไตร 3 เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2% ดังนั้นการเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจน ไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน “นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มี Momentum ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป

ทั้งนี้กกร.ได้ขอให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจใน 4 เรื่อง โดยเสนอ

1.) เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4

2.) เร่งผลักดัน พรก เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณะสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

3.) เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิถุนายน และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

4.) เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 3-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกับบริษัทสมาชิก ผุดโครงการ "ฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล" แจกประกันภัยแพ้วัคซีนฟรี 11.5 ล้านสิทธิ์ เพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และหนทางหนึ่งที่จะช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในกลุ่มประชากร เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหนักและการเสียชีวิตลง ซึ่งจะเป็นการบริหารและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยั่งยืนในระยะยาว

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ในฐานะตัวแทนของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยที่ส่งเสริมการนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนและประเทศชาติ มีความห่วงใยต่อวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ประชุมหารือร่วมกับบริษัทสมาชิกจัดโครงการ "ฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล" ขึ้น เพื่อมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการแพ้วัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปฟรี จำนวน 11.5 ล้านสิทธิ์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 กันมากขึ้น

“สมาคมประกันวินาศภัยไทยมีความเชื่อมั่นว่า วัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยล้วนเป็นวัคซีนที่ได้รับการทดสอบในวงกว้างแล้วว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย และเพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดโครงการมอบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนให้กับประชาชนฟรี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของบริษัทประกันวินาศภัยที่มีเจตนารมณ์ในการเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อร่วมกันช่วยชาติให้ฝ่าวิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้ไปด้วยกัน”

สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยการมอบประกันภัยแพ้วัคซีนฟรีให้กับประชาชน รวมทั้งสิ้น 11.5 ล้านสิทธิ์ ได้แก่

1.) บมจ.กรุงเทพประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

2.) บมจ.ทิพยประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

3.) บมจ.เมืองไทยประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

4.) บมจ.วิริยะประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

5.) บมจ.สินทรัพย์ประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์

6.) บมจ.สินมั่นคงประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์

7.) บมจ.อาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์

8.) บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำนวน 500,000 สิทธิ์

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเลือกลงทะเบียนรับสิทธิ์ฟรี ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยกำหนดการเริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์ รวมถึงระยะเวลาและเงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่แต่ละบริษัทกำหนด สมาคมประกันวินาศภัยไทย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย มีความเชื่อมั่นว่าการมอบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีน จำนวน 11.5 ล้านสิทธิ์ในครั้งนี้จะกระจายไปสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมและสร้างความมั่นใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคนไทยให้ฉีดวัคซีนได้อย่างมั่นใจเพื่อร่วมกันหยุดเชื้อเพื่อชาติ ให้เราสามารถผ่านวิกฤติไวรัสร้าย COVID-19 นี้ไปได้ด้วยกันในที่สุด


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

รอเลย คลังประกาศผลเก็บตกเราชนะ 21 พ.ค.นี้

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการเราชนะ จะประกาศผลการทบทวนสิทธิ์สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (กลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน) ที่ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้แสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ระหว่างวันที่ 6 มี.ค.-13 พ.ค. 2564 ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หรือ Call Center ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 0 2111 1122 

โดยผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ครั้งแรก จำนวน 8,000 บาท ในวันที่ 22 พ.ค. 2564 และจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ที่รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมอีก จำนวน 1,000 บาท ในวันที่ 28 พ.ค. 2564 รวม 9,000 บาท โดยสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ ได้ที่ผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.-30 มิ.ย. 2564

สำหรับประชาชนประชาชนกลุ่มที่แสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงกรณีที่ผลการทบทวนสิทธิ์ในกรณีอื่น ๆ ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง สามารถตรวจสอบผลการทบทวนสิทธิ์ใหม่อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป 

ปัจจุบันโครงการเราชนะ มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว รวม 32.9 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 205,897 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการ ที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์เดิม จำนวน 7,000 บาท แล้ว จำนวน 25.6 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชันถุงเงิน ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1.3 ล้านกิจการ

เอกชนหนุนรัฐบาลกู้ 7 แสนล. สู้โควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการใช้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้ นอกจากจะใช้ในด้านสาธารณสุข ด้านการเยียวยา และชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

“เอกชนอยากเห็นกรอบการใช้เงิน โปร่งใส ตรวจสอบการใช้เงินอย่างรอบคอบ ไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ควรนำเงินมาช่วยเหลือกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ต้องการให้พิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท อยากให้เริ่มเดือนมิ.ย.เลย จากแผนเดิมเริ่มเดือนก.ค. เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก”  

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กรอบการกู้เงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อเพดานหนี้สาธารณะของไทย ซึ่งไทยมีเงินทุนสำรองปริมาณสูง แข็งแกร่ง เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวจะมีเงินใช้หนี้ได้ต่อเนื่อง และควรเร่งฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย ปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน บริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

นอกจากนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอยากให้เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออมด้วยการฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน รัฐสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 30,000-50,000 บาทต่อราย จะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มวงเงินคนละครึ่ง และฟื้นช้อปดีมีคืน จะมีเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก 2-3 แสนล้านบาท จะช่วยประคองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ ให้ขยายตัวได้ระดับ 2% หรือมากกว่านั้นได้

กกร. รับเศรษฐกิจซบเซา หั่นจีดีพีปีนี้คาดโตเหลือ 0.5-2%

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าที่ประชุมมีมติปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 0.5-2% จากเดิมคาดไว้โต 1.5-3% สอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่า 2%

ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย. มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน และส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เป็นอย่างมาก

“ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ดังนั้น จีดีพีจะโตได้ 2% การเร่งฉีดวัคซีนดูจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาส 4 โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ”นายสุพันธุ์ กล่าว

โดยทาง กกร.หวังว่ารัฐบาลจะเร่งผลักดันพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณะสุข มาตรการเยียวยาชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้ ควรเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิ.ย. และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านบาท เป็น 180,000 ล้านบาท

นายสุพันธุ์ กล่าวว่าเมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่งเสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 30,000-50,000 บาทต่อราย จะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่ายอย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป ซึ่งทาง กกร.ได้ปรับประมาณการการส่งออกปีนี้ขยายตัว 5-7% จากเดิมคาดไว้ที่ 4-6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1-1.2% เห็นได้จากเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาส 1/2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% ไม่รวมการส่งออกทองคำ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การภาคการผลิตและการส่งออกยังเติบโตได้ แต่พบปัญหาติดขัดคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และปัญหาค่าระวางเรือระดับสูง จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือส่วนนี้

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ประเด็นรัฐบาลกู้เงินนั้น หากพิจารณาเพดานหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันถือเป็นนโยบายที่กำหนดในอดีต ดังนั้นประเด็นเพดานหนี้สามารถดำเนินการอย่างยืดหยุ่นได้ในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่ผ่อนคลาย เพื่อเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบการเงินที่กู้มาก็มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยกกร. มีคณะทำงานย่อยเพื่อพิจารณาหนี้สาธารณะจะมีการหารือและเสนอความเห็นต่อรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้

ช่องทางรวย ชี้ตลาดอาหารเสริม-สมุนไพรไทยมาแรง 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารเสริมและวิตามินในไทยและทั่วโลกมีทิศทางเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดได้ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่ม ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายมากกว่าเดิม จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารเสริมวิตามินของไทย จะเข้ามาขยายตลาดภายในประเทศ และส่งออกได้เพิ่มขึ้น  

ทั้งนี้ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงนิยมรับประทานอาหารเสริมและวิตามินในรูปแบบเม็ดแคปซูลมากสุด รองลงมา คือ แบบเม็ด แบบผง และแบบน้ำ รวมทั้งให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ มีฉลากชัดเจน ซึ่งผู้บริโภคชาวอเมริกันถึง 27% ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น หากสินค้านั้นเป็นอาหารเสริมที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง   

ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลาย ในปี 63 มีสถิติการส่งออกอาหารเสริมและวิตามิน 1,616 ตัน คิดเป็นมูลค่า 794 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปเวียดนามและเมียนมารวมกันถึง 50% แต่ยังน้อยกว่าการนำเข้าที่มีมากถึง 11,942 ตัน มูลค่า 5,504.93 ล้านบาท โดยนำเข้าจากจีนมากสุด 40% รองลงมา ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี

ทูตมองโกเลีย เข้าพบ "จุรินทร์" ตั้งเป้าการค้า 3,000 ล้าน ดันส่งออก "ข้าว ยาง อาหาร" เพิ่ม พร้อม "จับมือ" หาเส้นทางขนสินค้าทางบก ลดต้นทุน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้อนรับนายทูมูร์ อามาร์ซานา H.E. Mr. Tumar Amarsanaa เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย โดยใช้เวลาหารือร่วม 1 ชั่วโมงภายหลังการหารือ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโอกาสต้อนรับท่านทูตจากมองโกเลียหลังจากมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมา 47 ปี โดยประเทศมองโกเลียมีประชากร 3,300,000 คน มีจีดีพีประมาณ 440,000 ล้านบาท ถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับ 6 ของไทยในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลียปี 2563 ประมาณ 1,140 ล้านบาท ประโยชน์ที่จะได้รับคือมองโกเลียสามารถใช้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนได้ เพราะมีศักยภาพในเรื่องของการส่งออกสินแร่ หนังสัตว์ เป็นต้น และประเทศไทยสามารถใช้มองโกเลียเป็นประตูการค้าสู่รัสเซียหรือกลุ่มประเทศที่แตกตัวจากรัสเซียได้ 

"จากการหารือมองโกเลียต้องการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันและส่งออกเนื้อสัตว์ และนมมาประเทศไทย ตลาดใหญ่มองโกเลียคือ จีนและรัสเซีย โดยไทยยินดีให้การสนับสนุนโดยต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร ผ่านกรมวิชาการเกษตรและกรมปศุสัตว์ของไทยและดำเนินการขั้นตอนให้ครบถ้วน จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ยินดีให้การสนับสนุนและท่านทูตขอให้ช่วยสนับสนุนการจัดทำข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะทำโมเดลกลางรูปแบบการคุ้มครองการลงทุนที่เป็นมาตรฐาน จะสามารถนำไปใช้กับทุกประเทศในโลกและสนใจทำข้อตกลงเรื่องการไม่จัดเก็บภาษีซ้อนและมีความเห็นเรื่องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจากไทยไปมองโกเลีย เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะห่างไกลและเน้นการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหลัก ควรเพิ่มเส้นทางทางบกเพื่อลดต้นทุนการขนส่งและมองโกเลียสนใจที่จะต้อนรับการลงทุนทางด้านสุขภาพจากนักลงทุนชาวไทยเพราะมีโรงพยาบาลบางแห่งเริ่มไปลงทุนในมองโกเลีย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว 

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย ประเด็นที่หารือ

1.) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

2.) เชิญให้ท่านทูตประสานผู้นำเข้าจากมองโกเลียเข้าร่วมงาน THAIFAX ที่กระทรวงพาณิชย์จัดในเดือนกันยายน 2564 ประสานให้เอกชนหรือผู้นำเข้าของมองโกเลียเข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจ สนับสนุนการนำเข้าสินค้าอาหารของไทย ทั้งข้าว เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยางและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงกระดาษด้วย และประเด็นถัดมา เมื่อการเดินทางสามารถทำได้ให้ประสานให้นักท่องเที่ยวจากมองโกเลียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ และได้ข้อสรุปร่วมกันคือ

1.) จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันจากปีที่แล้ว 1,140 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท ในปี 2566

2.) มีคณะทำงานร่วมเจรจาระหว่างไทยกับมองโกเลีย เสนอให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการทางการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพร่วมเจรจากับมองโกเลีย 

3.) จะร่วมมือกันเร่งกำหนดข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันและเร่งบังคับใช้ข้อตกลงการจัดเก็บภาษีซ้อนโดยเร็ว 4.จะทำงานร่วมกันในการลดต้นทุนการขนส่ง
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top