รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (7) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ปริมาณ เหตุผล และความจำเป็น
จากตอนที่แล้ว “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (6) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ จำเป็นหรือไม่...ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างไร???” ได้เล่าถึง ‘การสำรองไฟฟ้า’ ในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้การใช้ไฟฟ้ามีความเสถียร และเป็นการลดความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2567 กระทรวงพลังงาน โดยนายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยที่สูงถึง 50% นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ซึ่งการคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้
ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะสูงซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด จึงทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่มีความสอดคล้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่ในปัจจุบันหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจึงไม่ได้สูงถึง 50% ตามที่มีการเผยแพร่ ด้าน Peak Demand หรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบทั้ง 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ในปี พ.ศ. 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. อยู่ที่ 36,792 เมกะวัตต์ ในระยะหลังการเกิด Peak จะเป็นช่วงกลางคืนซึ่งต่างจากในอดีต แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเปลี่ยนไป ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาประมาณ 46,191 เมกะวัตต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงนั้นเพียง 25.5% เท่านั้น
เหตุผลหนึ่งที่ต้องมี ‘การสำรองไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างไม่ได้คาดคิดหรือนึกถึงมาก่อน และไม่มีการหยิบยกมาพูดเล่า บอกกล่าว อธิบายเลย นั่นก็คือ การผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน (Alternative Energy) หรือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)” ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) ที่ใช้ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2579 โดยบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ซึ่งในแผน PDP ฉบับล่าสุด กำหนดว่า จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในสัดส่วน 20% ในปี พ.ศ. 2579 แต่หากคิดรวมในภาพรวมทั้งที่ใช้ผลิตเป็นไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง การส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผน AEDP2015 จะมีสัดส่วน 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2579
โดยที่การผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน หรือ พลังงานหมุนเวียน” ไม่ว่าจะเป็นจาก ‘พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)’ หรือ ‘พลังงานลม (Wind Energy)’ แต่พลังงานทั้งสองแบบนี้ไม่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของการผลิตไฟฟ้า กรณีพลังงานแสงอาทิตย์ มาจากสภาพอากาศและดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องแสงตลอดเวลา แม้ว่า บ้านเราจะอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อน แต่ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้เพียง 6-8 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ถ้าไม่มีแบตเตอรี่เพื่อเก็บกักให้เพียงพอต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ต้องมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อ 16-18 ชั่วโมงที่ไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย และหากความเข้มของพลังงานแสงอาทิตย์นั้นอาจไม่สูง และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์และพื้นที่ติดตั้งที่มากตามไปด้วย ในกรณีของพลังงานลมก็เช่นกัน ลมในประเทศไทยมีความเร็วค่อนข้างต่ำ อีกทั้งความแรงของลมขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ในบางฤดูอาจไม่มีลมเลยก็เป็นไปได้ จึงยากที่จะควบคุมความสม่ำเสมอได้
ดังนั้นเพื่อคง ‘ความสม่ำเสมอของพลังงานไฟฟ้า (Uniformity of Electric Energy)’ รัฐจึงต้องจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้พลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ด้วยประสบการณ์การเกิด Blackout (เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง) ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับกินพื้นที่ 14 จังหวัดของภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร, ระนอง, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, พัทลุง, พังงา, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส มาแล้ว โดยภาคอุตสาหกรรมได้ประเมินความเสียหายในครั้งนั้นว่า ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมห้องเย็น แปรรูปประมง แปรรูปยางพารา ที่ได้รับความเสียหายจากการที่เครื่องจักรหยุดทำงานกะทันหัน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง-ถุงยางอนามัย ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิต 24 ชั่วโมง เรื่องนี้จึงทำให้แนวคิดของการสำรองกระแสไฟฟ้าแบบ ‘เหลือดีกว่าขาด’ จึงถูกนำมาใช้ในบ้านเราจนทุกวันนี้ และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญอีกคือ การถูกคัดค้านการสร้างเขื่อนโดย NGO ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม/ทดแทนจากพลังงานน้ำ (Water Energy) ได้ โดยการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีความสม่ำเสมอของพลังงานไฟฟ้ามากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้แล้ว เพราะนอกจากฤดูร้อนที่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศนานกว่าปกติแล้ว ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ต้องประสบภัยจากฝุ่น PM2.5 ทำให้ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศนานทั้งวัน และยังต้องใช้เครื่องฟอกอากาศอีกด้วย กว่าปกติแล้ว ดังนั้น ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมผลิตไฟฟ้าสำรองในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งต้องมี ‘ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ เป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า เพื่อให้พลังงานไฟฟ้ามีความเสถียร สม่ำเสมอ แน่นอน เช่นทุกวันนี้
