Saturday, 18 January 2025
Econbiz

‘พีระพันธุ์‘ เตรียมออกกฎหมายแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน หลังกองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ปี 69

(6 พ.ย. 67) “พีระพันธุ์” ใช้โมเดลพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ เตรียมคลอดกฎหมายช่วยแก้ปัญหาเกษตรกร
ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันโดยดึงกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมแก้ปัญหากับกระทรวงพลังงานแบบครบวงจรทั้งเกษตรกรและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม หวังช่วยหาทางออกให้เชื้อเพลิงชีวภาพภายหลังจากปี 2569 ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อปลดภาระกองทุนน้ำมันฯ คาดเตรียมตั้งคณะทำงานในสองสัปดาห์นี้ 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวใน
การบรรยายพิเศษหัวข้อ “ทิศทางของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต” ในกิจกรรมศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาให้กับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) และผู้เกี่ยวข้อง จัดโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ว่า แม้ว่าปี 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล แต่ไม่ได้หมายความว่า จะยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นราคาขายปลีกน้ำมันจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเท่าตัว ยิ่งผสมยิ่งทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งต่างจากเดิมวัตถุประสงค์การนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาผสมในน้ำมันเพราะมีราคาถูกนำมาผสมเพื่อลดราคาน้ำมันลง

“ในความเป็นจริงแล้วจุดประสงค์ของการนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล เอทานอลผสมในเบนซินไม่ได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสมเพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ แต่เนื่องจากการอุดหนุนเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่าเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ความจริงเป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจด้วยว่า กระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็หลีกหนีไม่ได้เนื่องจากนโยบายนี้ได้ปล่อยดำเนินการมาเนิ่นนาน และไม่มีหน่วยงานอื่นช่วยคิดแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องพยายามช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกร”

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า มีแนวคิดจะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาลตามพ.ร.บ.อ้อยและ
น้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้ โดยเล็งเห็นแนวทางของการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาล เพราะหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบ จึงเตรียมยกร่างกฎหมายเหมือนพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโชคดีที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรี โดยจะร่วมกันทำงานระหว่างสองกระทรวงเพื่อรองรับเมื่อเชื้อเพลิงชีวภาพจะต้องถูกยกเลิกการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน ฯ ในปี 2569 คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะมีคณะทำงานชุดนี้เกิดขึ้นเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมและพลังงานทำงานด้วยกัน โดยพยายามจะเร่งออกกฎหมายให้เป็นทางออกของกองทุนน้ำมันฯ ต่อไป

สำหรับกฎหมายอ้อยและน้ำตาลซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยทำให้การผลิตและจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทรายสอดคล้องกัน ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายร่วมมือกับทางการตั้งแต่ผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นระบบที่ดีเกษตรกรพอใจได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังมองอนาคตการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต หากความต้องการสูงขึ้นจะสามารถดูดซับวัตถุดิบอย่างปาล์มน้ำมันไปใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งการวางแนวทางพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพต้องวางฐานให้เข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ต่างประเทศมาลงทุน

รัฐ-เอกชน-นักวิชาการ ชี้ ก๊าซฯ แหล่งพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา จำเป็นต่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทย

(7 พ.ย.67) รัฐ-เอกชน-นักวิชาการ หนุนเดินหน้าเจรจาแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ดึงก๊าซฯ มาใช้ประโยชน์สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ ปตท. ระบุ ก๊าซ LNG ยังจำเป็นในช่วงที่ OCA ยังไม่มีความชัดเจน พลังงานแนะเอกชนนำเข้า LNG ในอนาคตควรเน้นเป็นสัญญาระยะยาว ช่วยลดต้นทุนราคาก๊าซฯ และค่าไฟฟ้าประชาชนได้

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนา 'พลังงานราคาถูก ทางรอดเศรษฐกิจไทย' ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า การใช้ไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนมากขึ้น โดยในปี 2566 ยอดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 7% จากปกติจะเติบโตประมาณ 2% ทุกปี และในปี 2567 นี้ คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีความต้องการปริมาณไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ากลับลดลง จากเดิมเคยผลิตก๊าซฯได้ 70-80% ปัจจุบันเหลือเพียง 56% ของความต้องการใช้ก๊าซฯ ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาทดแทน ซึ่งในอดีตเมื่อ 8 ปีที่แล้วไทยเคยนำเข้า LNG ประมาณ 4-5 ลำเรือ แต่ปัจจุบันต้องนำเข้าถึง 90 ลำเรือ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ก๊าซฯ ในอ่าวไทยกลับลดลงและแหล่งผลิตก๊าซฯ เริ่มถดถอยลงหลังจากใช้งานมานาน ส่วนปริมาณน้ำมันที่จัดหาได้และใช้ในประเทศก็เริ่มลดลงจากเดิมเคยจัดหาได้ 15% แต่ในปี 2567 เหลือเพียง 7% ของความต้องการใช้ทั้งหมด

ดังนั้นจะเห็นว่า สิ่งสำคัญสำหรับไทยในปัจจุบันคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งคุณภาพการให้บริการไฟฟ้าของไทยยังอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน โดยไทยใช้เกณฑ์ความมั่นคงไฟฟ้า LOLE ที่มีดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับตลอด 1 ปีไม่เกิน 0.7 วันต่อปี ดังนั้นไทยยังมีความมั่นคงด้านพลังงานและยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน จะเห็นได้จากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มียอดการขอรับการสนับสนุนการลงทุนกว่า 722,500 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการลงทุนกว่า 93,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนด้าน Data Center และ Cloud Service โดยเรื่องหลักที่ผู้ลงทุนต้องการคือ ไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งกระทรวงพลังงานมีความพร้อมทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ ราคาและความยั่งยืน เช่น การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสีเขียวตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2567-2580 หรือ PDP 2024 ให้มากขึ้นจาก 26% เป็น 51%

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานไม่ได้มองแค่ราคาพลังงานถูก แต่ยังมองเรื่องความมั่นคง การรักษาเสถียรภาพด้านราคา ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในประเทศ ไปพร้อมกันด้วย

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าของไทยมีความเปลี่ยนแปลงที่ต้องคำนึงถึงในอนาคตให้มากขึ้น ได้แก่  1.การเกิดยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีคไฟฟ้า) ที่เปลี่ยนจากช่วงกลางวันมาเป็นกลางคืน 2.การเปลี่ยนแปลงด้านไฟฟ้า ที่เกิดการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมีมากขึ้น 3.การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโตแบบก้าวกระโดด และ 4.การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นตามแผนพลังงานชาติ

ดังนั้นในร่างแผน PDP 2024 จึงมุ่งดูแลใน 3 มิติ ได้แก่ 1. การเพิ่มเป้าหมายไฟฟ้าสะอาดมากขึ้นเป็น 51% ภายในปี 2580 โดยลดการใช้ก๊าซฯ ลงจาก 60% เหลือ 41% แต่ก๊าซฯ ยังจำเป็นต่อการรองรับความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ 2.นโยบายยังยึดมั่นด้านความมั่นคงพลังงาน สิ่งแวดล้อม และราคาที่เป็นธรรม และ 3.ต้องบริหารจัดการระบบสมาร์ทกริดรองรับไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่จะเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในแผน PDP 2024 ไม่ได้พิจารณาถึงการจัดหาก๊าซฯในแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA) เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ซึ่งแผน PDP 2024 จำเป็นต้องพิจารณาเฉพาะแหล่งพลังงานที่มีความชัดเจนก่อน ส่วน OCA ก็ยังถือว่าจำเป็น เนื่องจากจะเป็นแหล่งก๊าซฯ ราคาไม่สูงเกินไป และราคาไม่ผันผวนเมื่อเทียบกับ LNG ถ้าสามารถเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะสอดคล้องกับแผนพลังงานชาติที่ต้องการก๊าซฯ ระยะยาว แต่หาก OCA ยังไม่เกิดขึ้น การบริหารจัดการก๊าซ LNG แบบสัญญาระยะยาวก็จำเป็นและต้องมีสัดส่วนที่มากขึ้น เนื่องจากจะได้ราคาที่ถูกกว่าซื้อจากตลาดจร

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าการเจรจา OCA ภายใต้กรอบความร่วมมือ MOU 2544 ควรเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ เนื่องจากจะเห็นได้ว่าปัจจุบันการนำเข้า LNG มีมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าประชาชน ขณะที่ OCA จัดเป็นแหล่งก๊าซฯ ที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งใช้เวลาเพียง 3 เดือนก็สามารถวางระบบท่อเพื่อนำก๊าซฯ มาใช้ได้เลย เพราะไทยมีท่อก๊าซฯ อยู่ 3 เส้นรองรับก๊าซฯ ได้ 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่มีการใช้งานจริงเพียง 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากเกิดการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพจะทำให้ค่าผ่านท่อถูกลงได้ด้วย

สำหรับในเรื่องพลังงานนั้นเห็นว่าสิ่งที่ไม่ควรทำคือ อย่าอุดหนุนราคาพลังงานแบบเหวี่ยงแห อย่าฝืนกลไกตลาดเสรี และปิดประเทศ รวมทั้งอย่าอ้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเกินควร จนกระทบความมั่นคง ราคา และธรรมาภิบาล นอกจากนี้อย่าสร้างกระแสเกลียดชังพลังงาน โดยอ้างเกี่ยวกับการระแวงเพื่อนบ้าน, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, สินค้าแพง หรือตลาดทุนนิยม เป็นต้น

แต่สิ่งที่ควรทำด้านพลังงานคือ ตั้งงบประมาณมาช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งราคาน้ำมัน ราคาค่าไฟฟ้า, ปล่อยให้ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) ลอยตัว ไม่ฝืนกลไกตลาด เพราะจะเสี่ยงขาดแคลน, เร่งเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ( TC-OCA ) เพื่อเปิดพื้นที่สำรวจและเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซฯ แทนที่จะปล่อยให้นำเข้า LNG มากขึ้นเรื่อย ๆ, ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและการซื้อไฟฟ้าให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไม่ต่อสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) หรือ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่จะหมดอายุ แต่ให้มาแข่งขันเสนอค่าไฟฟ้าในตลาดเสรีแทน และการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ แต่ควรมีกติกาที่โปร่งใส การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศควรใช้ระบบประมูลค่าไฟฟ้า ไม่ใช่เจรจารายโครงการ

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ไม่อยากให้ยึดนโยบายราคาพลังงานถูก เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แม้ราคาถูกในวันนี้ แต่จะแพงในวันหน้าได้ และการตรึงค่าไฟฟ้าระยะยาว จะนำไปสู่ภาระหนี้ที่ประชาชนต้องจ่ายในภายหลัง ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับพลังงานที่เป็นธรรม รักษาสมดุลเศรษฐกิจ ที่รับได้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

สำหรับทางออกด้านพลังงานของประเทศไทยคือ 1.ปรับบทบาทโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ให้ทำหน้าที่เสริมความมั่นคงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ไม่เพียงพอแทน ส่วนกรณี OCA ถือว่ามีประโยชน์อย่านั่งทับไว้เฉยๆ 2. เร่งลงทุนพลังงานสะอาด โดยเฉพาะระบบแบตเตอรี่ การมีส่วนร่วมลดการใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจ 3.รัฐควรปรับระบบผลิตและซื้อขายไฟฟ้า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ในรูปแบบกิจการไฟฟ้าเสรี ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด   

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก๊าซฯ ยังมีความจำเป็นต่อประเทศไทยอยู่ การแสวงหาก๊าซฯ จากแหล่งใหม่ๆ ทั้ง OCA และแหล่งอื่นๆ ก็จะช่วยลดต้นทุน และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานได้ แต่ถ้าแหล่งก๊าซฯ อยู่ใกล้ไทยจะดีกว่าเพราะมีโครงสร้างท่อก๊าซฯ รองรับอยู่แล้ว และลักษณะทางธรณีวิทยาก็ใกล้เคียงไทย ซึ่งรูปแบบความร่วมมือก็มีหลายรูปแบบที่จะทำให้เกิดต้นทุนที่ต่ำลงได้

สำหรับ OCA ยังไม่ชัดเจนว่าจะนำก๊าซฯ ขึ้นมาใช้ได้เมื่อไหร่ ดังนั้นการทำแผนพลังงานต้องมีหลายทางเลือกไว้ โดยเมื่อยังไม่มีความชัดเจน ก็ต้องนำเข้า LNG มาใช้ไปก่อน ซึ่งบางช่วง LNG ก็มีราคาถูกและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเช่นกัน

กมธ.อุตฯ หนุนออกกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรม ย้ำชัด ต้องเพิ่มโทษผู้ทำผิด - เร่งปราบปรามอย่างจริงจัง

กมธ.อุตสาหกรรม หนุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรมเพิ่มโทษผู้ทำผิดกฎหมาย เดินหน้าปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม พร้อมด้วยกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ได้แถลงข่าวถึง การจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ว่า จากกรณีเมื่อไม่กี่วันมานี้ได้มีการเข้าตรวจค้น รวมถึงปราบปรามผู้กระทำความผิดจากกรณีการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งปิดโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี จนนำมาสู่การจับกุมรวมถึงตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก

ทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ได้เคยลงพื้นที่ไปยังโรงงานแห่งนี้ครั้งหนึ่ง และได้มีการกำชับให้มีการดำเนินการตามมาตรฐาน รวมถึงกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งต่อมาได้มีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ผู้ประกอบการยังคงลักลอบเปิดโรงงานจนนำมาสู่การตรวจค้นและจับกุมดังกล่าว และยังตรวจพบกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายที่มีน้ำหนักรวมมากกว่า 41 ตัน 

โดย จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเป็นต้นแบบของการปราบปรามการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากมลภาวะต่าง ๆ 

ซึ่งทางนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีแนวนโยบายชัดเจนว่าจะต้องปราบปรามการกำจัดของเสียที่ไม่ถูกวิธีอย่างจริงจัง เพื่อคืนน้ำที่สะอาด คืนอากาศที่บริสุทธิ์ให้กับพี่น้องประชาชน ทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับแนวนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง 

เพราะก่อนหน้านี้ได้มีหลายครั้งที่การจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมไม่ถูกวิธีนำมาซึ่งอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งทางคณะกรรมาธิการก็ได้มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในกิจการเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (โรงงานประเภท 101 105 และ 106) โดยทางคณะกรรมาธิการได้ติดตามอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ เมื่อเกิดเหตุการณ์พบสารแคดเมียม เรื่อยมาจนถึงการพบสารอะลูมิเนียมดรอส โดยได้มีการเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมสมัยต่อไป 

นอกจากนี้ยังได้รับทราบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะได้มีการเสนอกฎหมายอีกฉบับหนึ่งในเรื่องนี้ด้วย คือ พ.ร.บ.จัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งต้องขอชื่นชมและสนับสนุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มีวิสัยทัศน์ในการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม เพื่อการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

โดยจะมีการกำหนดโทษทางอาญากับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างหนัก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการจัดการของเสียโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ดังนั้นการเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำผิดดังกล่าวย่อมจะทำให้การบังคับใช้ และการป้องกันการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

แต่อย่างไรก็ดียังมีข้อห่วงใยว่า แม้จะมีการควบคุมการจัดการกากของเสียในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม พบว่า มีการลักลอบนำเข้ากากอุตสาหกรรม เช่น ของเสียอิเล็กทรอนิกส์ และกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายช่องทาง 

ข้อห่วงใยดังกล่าวมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรไม่สามารถเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบได้ครบถ้วน ซึ่งในลำดับต่อไปทางกรรมาธิการจะเร่งศึกษาเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีการนำเข้ามาในประเทศได้ เพื่อไม่ให้กากของเสียอุตสาหกรรมสามารถทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างมลภาวะให้แก่พี่น้องประชาชน

จึงต้องขอเรียนไปยังพี่น้องประชาชนที่ติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมว่า ทางคณะกรรมาธิการดำเนินการทำงานในเรื่องการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขอชื่นชมในการทำงานของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ที่เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการจัดการของเสียอุตสาหกรรมที่ผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องพี่น้องประชาชนจากมลพิษที่จะเกิดขึ้น

บุกตลาดลักซ์ชูรีรีสอร์ทแดนภารตะ ‘เดวาราณา – ดุสิต รีทรีตส์’ กำหนดเปิด มีนาคม 2571

(7 พ.ย. 67) กลุ่มดุสิตธานีเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่องประกาศลงนามในข้อตกลงการบริหารจัดการโรงแรมเชิงกลยุทธ์กับบริษัทชราวันตี โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ไพรเวท จำกัด ผู้พัฒนาโรงแรมและรีสอร์ทระดับลักซ์ชูรีชั้นนำในประเทศอินเดีย เพื่อดำเนินกิจการ เดวาราณา สากเลศปุระ, กรณาฏกะ – อะ ดุสิต รีทรีตส์ โดยมีกำหนดเปิดตัวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2571 ซึ่งถือเป็นโครงการ “เดวาราณา –ดุสิต รีทรีตส์” แห่งแรกที่ลงนามนอกประเทศจีน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มดุสิตธานีในการขยายแบรนด์รีสอร์ทระดับลักซ์ชูรีไปยังจุดหมายปลายทางสุดพิเศษทั่วโลก 

มร. จิลล์ เครตัลเลช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เดวาราณา สากเลศปุระ, กรณาฏกะ – อะ ดุสิต รีทรีตส์ เป็นการให้บริการภายใต้แบรนด์ “เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” ซึ่งกลุ่มดุสิตธานีวางตำแหน่งแบรนด์ในระดับลักซ์ชูรี โดยเป็นการให้บริการครั้งแรกในประเทศอินเดีย และเป็นครั้งแรกที่มีการลงนามความร่วมมือนอกประเทศจีน เนื่องจากความสอดคล้องอย่างลงตัวระหว่างความงามตามธรรมชาติอันเงียบสงบของเมืองสากเลศปุระ กับแก่นแท้อันสมบูรณ์แบบของ เดวาราณา – ดุสิต รีทรีตส์ ทำให้จุดหมายปลายทางอันงดงามแห่งนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับแบรนด์ระดับลักซ์ชูรีของกลุ่มดุสิตธานี เดวาราณา สากเลศปุระ, กรณาฏกะ – อะ ดุสิต รีทรีตส์

ออกแบบมาเพื่อมอบประสบการณ์การพักผ่อนที่มีความหมายให้กับนักเดินทางทั้งในอินเดียและจากต่างประเทศ โดยที่พักประกอบด้วยวิลล่าและห้องสวีท 75 ห้องขนาดตั้งแต่ 47 ถึง 90 ตร.ม. โดยจะมี 25 ยูนิตที่มาพร้อมสระว่ายน้ำส่วนตัวผู้เข้าพักจะได้เพลิดเพลินไปกับสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสุขภาพ รวมถึง เดวาราณา เวลเนส เซ็นเตอร์ ที่มีทั้งคลับสุขภาพ สปา ห้องออกกำลังกาย ห้องอบไอน้ำ และซาวน่า นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมไว้บริการ

ได้แก่ สระว่ายน้ำแบบอินฟินิตี้ ห้องอาหารที่ให้บริการอาหารอินเดียและห้องอาหารเพื่อสุขภาพที่เปิดตลอดทั้งวัน โดยเน้นไปที่การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน สากเลศปุระ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาฆาฏตะวันตก อยู่ห่างจากบังกาลอร์ เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะประมาณ 4 ชั่วโมงโดยรถยนต์ มีชื่อเสียงในเรื่องการทำไร่กาแฟ ชา และเครื่องเทศอันอุดมสมบูรณ์รวมถึงศาสนสถานโบราณ และเส้นทางเดินป่าอันงดงามโดยจะผ่านป่าสงวนไบเซิล ซึ่งเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่อยู่ไม่ไกล ได้แก่ ป้อมปราการมัญจาราบัดที่สร้างเป็นรูปดาว สามารถมองเห็นวิวเทือกเขาได้แบบพาโนรามา
และยอดเขาเจนุกัลลู กุดดา ที่สามารถมองเห็นทะเลอาหรับได้จากจุดนี้ สำหรับสนามบินนานาชาติมังกาลอร์ ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 130 กม. และสถานีรถไฟสากเลศปุระ อยู่ห่างจากที่พักเพียง 20 กม.

“เรามีความยินดีที่จะนำการต้อนรับอันอบอุ่นแบบไทยมาสู่เมืองสากเลศปุระและมีความมุ่งมั่นที่ปรารถนาสร้างประสบการณ์เพื่อการบำบัดและการเปลี่ยนแปลง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งคัดสรรมาอย่างพิถีพิถันจากทั่วโลก เรามุ่งหวังที่จะมอบการเข้าพักเพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างไม่มีใครเหมือนให้กับทุกท่านที่มาเยือน ซึ่งจะเสริมสร้างทั้งจิตใจ ร่างกาย และจิตวิญญาณ
รวมถึงยังได้เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์และมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ของรัฐกรณาฏกะอีกด้วย” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ดุสิตธานี กล่าว

มร. ซานโตช บาลากฤษณะ กรรมการบริหาร บริษัท ชราวันตี โฮเทล แอนด์รีสอร์ท ไพรเวท จำกัด กล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มดุสิตธานีเพื่อเปิดตัวแบรนด์ เดวาราณา – ดุสิต รีทรีตส์ ในประเทศอินเดียด้วยความมุ่งมั่นของดุสิตฯ ในการสร้างประสบการณ์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้ดียิ่งขึ้นนั้น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราเพื่อสร้างโครงการพิเศษนี้ด้วยความเชี่ยวชาญของดุสิตฯ เรามีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า เดวาราณา สากเลศปุระ, กรณาฏกะ – อะ ดุสิต รีทรีตส์ จะมอบประสบการณ์เหนือระดับผสมผสานความหรูหราและความเป็นอยู่ที่ดีเข้าด้วยกันเพื่อเชื่อมโยงผู้มาเยือนสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีคุณค่าซึ่งจะดึงดูดนักเดินทางผู้ที่กำลังแสวงหาแรงบันดาลใจจากความงามอันเงียบสงบของเทือกเขาฆาฏตะวันตก ในรัฐกรณาฏกะแห่งนี้”

ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีมีโรงแรมในเครือทั้งหมด 301 แห่ง เปิดให้บริการใน 18 ประเทศ แบ่งเป็นโรงแรม 57 แห่งซึ่งดำเนินงานภายใต้ ดุสิต โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท และวิลล่าหรู 244 แห่งภายใต้แบรนด์อีลิท เฮเวนส์ ผู้ให้บริการเช่าวิลล่าระดับลักซ์ชูรีทั่วเอเชีย ซึ่งรวมถึงวิลล่าหรูหลายแห่งในรัฐกัวด้วย โดยในเดือนธันวาคมนี้ กลุ่มดุสิตธานีจะกลับมาให้บริการในประเทศอินเดียอีกครั้งด้วยการเปิดโรงแรมดุสิต ดีทู ฟากู ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาหิมาลัยอันอุดมสมบูรณ์ ใกล้กับเมืองชิมลา นอกจากนี้ กลุ่มดุสิตธานียังมีแผนเปิดโรงแรมอีก 4 แห่งในรัฐกรณาฏกะ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี ​​พ.ศ. 2569

บีโอไอ เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย เข้าสู่ซัพพลายเชนอีวี ผนึกกำลัง GAC AION จัดงาน 'AION Sourcing Day'

(7 พ.ย.67) บีโอไอจับมือ GAC AION ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีน เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ซัพพลายเชน EV ผ่านการเจรจาธุรกิจในงาน 'AION Sourcing Day' ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในอาเซียน เผยยอดเจรจาธุรกิจ 74 บริษัท คาดเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มอีกกว่า 2,250 ล้านบาท  

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 บีโอไอ และบริษัท GAC AION ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ได้ร่วมกันจัดงาน 'AION Sourcing Day' ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อจัดหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศสำหรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งได้เริ่มเปิดโรงงานผลิตตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเน้น 7 กลุ่มชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Interior Parts, Exterior Parts, Electrical and Electronics Parts, Chassis Parts, Car Body Parts, Traction Motor Parts และ Battery Parts โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมงานกว่า 400 คน จาก 220 บริษัท และในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เจรจาธุรกิจเป็นรายบริษัทกับ GAC AION จำนวน 74 บริษัท คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 2,250 ล้านบาท  

บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ GAC Group ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน ด้วยยอดขายสะสมกว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลก และเป็นบริษัทที่ใหญ่อันดับ 165 ของโลกจาก Fortune Global 500 โดย GAC AION ได้ตัดสินใจสร้างฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีนที่ไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท โดยเฟสแรกได้ลงทุน 1,300 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี โดยมีแผนจะขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันยังใช้สำนักงานในไทยเป็น Regional Headquarters ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

“การจัดงานครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความร่วมมือระหว่างบีโอไอกับ GAC AION ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้มีโอกาสเข้าสู่ Supply Chain ของ EV ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ การรับช่วงการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดย GAC AION ก็จะได้พบกับซัพพลายเออร์ในประเทศที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับค่ายรถยนต์ระดับโลกมาแล้ว อีกทั้งมีที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานของ GAC AION จะช่วยให้โรงงานสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ” นายนฤตม์ กล่าว

นายโอเชียน หม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า GAC AION ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต จำหน่าย และการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำระบบการผลิตที่ครบวงจรมาใช้ในประเทศไทย ไม่เพียงแค่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่รวมถึงชิ้นส่วน แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ โดยจะร่วมกันส่งเสริมระบบซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งในประเทศไทย เพื่อผลักดันอุตสาหกรรม EV ในไทยสู่ตลาดโลก โดยปัจจุบัน GAC AION มีโชว์รูม 50 แห่งทั่วประเทศ และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในปี 2568 และตั้งเป้าหมายขยายสถานีชาร์จให้ครบ 1,000 แห่ง ภายในปี 2570 นอกจากนี้บริษัทจะเริ่มขยายสายการผลิตเพื่อผลิตรถรุ่น AION V ในช่วงกลางปี 2568 อีกด้วย

“GAC AION มีความเชื่อมั่นในอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราจะดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาที่เน้นการเติบโตในระยะยาว ผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งใจที่จะขยายฐานในประเทศไทย และนำระบบที่ครบวงจรเข้ามาพัฒนาต่อยอดในประเทศ งาน sourcing day ในครั้งนี้เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของ GAC Aion ที่จะช่วยผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถเติบโตสู่ระดับโลก” นายโอเชียน หม่า กล่าว

นอกจากนี้ GAC AION มีเป้าหมายชัดเจนที่จะพัฒนาซัพพลายเชน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย โดยปัจจุบันมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศกว่าร้อยละ 47 และมีแผนจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้มากขึ้นในอนาคต โดยเหตุผลสำคัญของ GAC AION ในการเลือกผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมี 3 ประการ คือ 1) ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตไทยมีคุณภาพและมาตรฐาน 2) กลุ่มชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นขนาดใหญ่จะมีโอกาสมาก เพราะหากนำเข้าจากต่างประเทศ จะมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าการจัดซื้อในประเทศ และ 3) การจัดซื้อในประเทศมีข้อได้เปรียบเรื่องการบริการหลังการขาย ที่มีความสะดวกและรวดเร็วกว่า 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ BYD, NETA, MG, CHANGAN และ BMW ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 45,000 ล้านบาท

‘สุริยะ’ ยังไม่ชงแก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้า ครม. ยัน ไม่ติดพรรคร่วม แต่ต้องให้นักกฎหมายดูให้รอบคอบ

‘สุริยะ’ ชี้ แก้ 'สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน' ยังไม่เข้าครม. เพราะต้องดูให้รอบคอบชัดเจนและรัฐไม่เสียเปรียบก่อน ยัน ไม่ติดพรรคร่วม

(7 พ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่อง การแก้สัญญารถไฟเชื่อมสามสนามบิน ว่า สัปดาห์หน้าน่าจะยังไม่นำเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะยังมีเรื่องรายละเอียดที่ต้องดูกันให้รอบคอบอีกครั้ง

เมื่อถามว่า มีปัญหาติดขัดที่ทำให้ล่าช้าหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ตนมองว่าหลักๆคือการแก้ไขครั้งนี้มันเป็นการไปเปลี่ยนหลักการ ก็ต้องไปเช็กให้ชัดเจนก่อน

เมื่อถามต่อว่า ไม่ได้ติดอยู่ในพรรครวมใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ไม่เกี่ยว

เมื่อถามว่า แล้วจะนำเข้าครม. ได้ในปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนธ.ค.หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ก็ต้องดูรายละเอียดให้เรียบร้อยก่อน เรียบร้อยเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

เมื่อถามว่า การแก้ไขสัญญาครั้งนี้อาจจะทำให้การก่อสร้างยื่นออกไปอีกใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า การแก้ไขสัญญาณนี้มันเป็นเรื่องหลักการเพียงอย่างเดียว ที่เปลี่ยนจากสร้างจนเสร็จแล้วทางรัฐค่อยจ่าย เป็นการสร้างไปจ่ายไป และมีการวางเงินค้ำประกัน ก็ต้องไปเช็กดูว่าตรงนี้จะขัดหลักการหรือไม่ แต่ตนจะต้องขอย้ำอีกทีว่าที่เปลี่ยนสัญญาเป็นจ่ายรายปีต่อปีนั้น เพราะทางภาคเอกชนก็ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ว่าจะต้องจ่ายเงินโครงการได้ตามเวลาที่กำหนด และทางฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่สามารถส่งพื้นที่ให้กับทางเอกชนได้ เมื่อต่างคนต่างผิดสัญญา ก็ต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้โครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เดินต่อไปได้ จึงต้องแก้ไขสัญญา แต่การแก้ไขสัญญานี้ก็จำเป็นจะต้องมีนักกฎหมายมาดูเพื่อที่ทางรัฐจะไม่เสียเปรียบ

ฉางอันแจงดราม่าราคา EV เป็นแคมเปญเฉพาะ Motor Expo 2024 เท่านั้น

(7 พ.ย. 67) CHANGAN Automobile ผู้ผลิตรถไฟฟ้าแบรนด์ DEEPAL ชี้แจงกรณี ดราม่าการลดราคารถยนต์ DEEPAL S07 โดยบริษัทขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายลดราคารถยนต์ DEEPAL S07, S07L และ L07 แต่เป็นเพียงแคมเปญ Motor Expo และ Big Surprise Deal เพื่อมอบข้อเสนอสุดพิเศษสำหรับลูกค้าที่ทำการจองและวางมัดจำระหว่างวันที่ 1 พ.ย. -  10 ธ.ค. 67 และทำการส่งมอบรถภายในวันที่ 31 ธ.ค. 67 เท่านั้น 

ทั้งนี้ แคมเปญสุดพิเศษในช่วง Motor Expo 2024 และช่วงสิ้นปีที่กำลังจะมาถึง มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าทุกท่านที่ซื้อรถยนต์ DEEPAL S07, DEEPAL S07 L และ DEEPAL L07

โดยข้อเสนอที่น่าสนใจของ DEEPAL S07 และ DEEPAL S07 L ยกตัวอย่างเช่น ฟรี ประกันภัยชั้นหนึ่งพร้อมพ.ร.บ. นานสูงสุด 2 ปี มูลค่า 60,000 บาท, รับข้อเสนอพิเศษ Motor Expo 2024 อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0% เมื่อดาวน์ 25% และผ่อนชำระ 60 เดือน

นอกจากนี้ยังฟรีฟิล์มติดรถยนต์ มูลค่า 10,000 บาท รวมไปถึงรับเงินคืน 34,000 บาท หลังส่งมอบรถภายในวันที่ 31 ธ.ค. 67 และยังมีสิทธิพิเศษ Big Surprise Deal ช่วยผ่อน 4 เดือน เดือนละ 25,000 บาท มูลค่ารวม 100,000 บาท เป็นต้น

กบง. ปรับสูตรน้ำมันดีเซล ป้องกันราคาพุ่ง หลังราคาน้ำมันปาล์มดิบดีดตัวสูง เริ่ม 21 พ.ย. นี้

(7 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดสัดส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล B100 ในช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) สูงขึ้นมาก 

ภายหลังจากการประชุม นายพีระพันธุ์ฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคา CPO ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาไบโอดีเซลอยู่ที่ประมาณ 48 บาทต่อลิตร หรือ 2 เท่าของราคาเนื้อน้ำมัน ทำให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลสูงขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ขายให้ประชาชนมีราคาสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและ เพื่อให้การจัดการราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ดังนี้ 
น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีมติ กบง. เปลี่ยนแปลง โดยมอบหมายให้ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2567 ให้สอดคล้องกับการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล และ มอบหมายให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นำเสนอการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เพื่อทราบต่อไป

คลื่นนักท่องเที่ยว 39 ล้าน จ่อทะลักไทยในปี 68 ‘อโกด้า’ เชื่อ จะทุบสถิติสูงสุดก่อนโควิดระบาด

อโกด้า คาดการณ์คลื่นนักท่องเที่ยว 39 ล้านคน จ่อทะลักไทยในปี 68 มาเยือนสูงเป็นประวัติการณ์ ทุบสถิติก่อนโควิดระบาด

(8 พ.ย.67) อโกด้า โฮลดิงส์ (Agoda Holdings) แพลตฟอร์มสำรองห้องพักออนไลน์ชั้นนำ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนสูงสุดในประวัติการณ์ในปี 2568 โดยมีกระแสการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นตัวกระตุ้น 

ออมรี มอร์เกนสเติร์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอโกด้า เปิดเผยว่า การยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวและความคึกคักของการบินระหว่างประเทศมายังไทย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามา โดยอโกด้าคาดว่าจำนวนจะสูงถึงกว่า 39 ล้านคนในปีหน้า

การคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองเชิงบวก จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ซึ่งมองว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากที่เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด - 19 สอดคล้องกับการที่จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มอร์เกนสเติร์น กล่าวว่า อโกด้าเชื่อมั่นว่าจำนวนผู้เยือนไทยจะสูงเกินสถิติปี 2562 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนเดินทางเข้ามา สร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เขาเสริมด้วยว่า ข้อมูลของอโกด้าชี้ให้เห็นถึงความนิยมของประเทศไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย 46% ของนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์จะเดินทางเยือนไทยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่สอง สาม หรือสี่ 

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมอันดับสองรองจากญี่ปุ่นในการกลับมาเที่ยวซ้ำตามข้อมูลจากอโกด้า

จากข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เผยว่านับตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วกว่า 29 ล้านคน ซึ่งกำลังขยับเข้าใกล้เป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ 36.7 ล้านคนสำหรับปี 2567 ทั้งนี้ การฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวนี้ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเสาหลัก

'รองนายกฯประเสริฐ' เปิดงาน Thailand Space Week 2024 ชี้เป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงเครือข่ายด้านเทคโนโลยีอวกาศจากทั่วโลก สร้างโอกาสทางธุรกิจและการใช้ประโยชน์ให้กับไทยและภูมิภาคอาเซียน

(8 พ.ย.67) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. จับมือหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดงาน Thailand Space Week 2024 อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้ว

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดงาน Thailand Space Week 2024 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดขึ้น

โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งใจจัดงาน Thailand Space Week 2024 ในครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมเปิดบ้านต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจด้านอวกาศของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะนำมาสู่การขับเคลื่อนทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีในอนาคต โดยเทคโนโลยีอวกาศจะแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกส่วนของการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและยังมีบทบาทสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็น New S Curve สำหรับการจัดงาน Thailand Space Week ในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับการใช้เทคโนโลยีของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอวกาศ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมุ่งมั่นในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมในด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะเร่งการพัฒนาดาวเทียมเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในประเด็นสำคัญต่างๆของประเทศ ส่งเสริมการเติบโตธุรกิจด้านอวกาศทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เช่น Spaceport และความร่วมมือกับธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ไม่เพียงแค่นั้นรัฐบาลยังส่งเสริมให้เยาวชนได้เกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอวกาศ ผ่านการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ การสร้างความตระหนักและความสามารถด้านอวกาศนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคตต่อไป

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า งาน Thailand Space Week 2024 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีฯกระทรวง อว. ที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดความร่วมมือและการใช้ประโยชน์สำหรับประเทศไทยมากที่สุด งานนี้ถือเป็นเวทีระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดในด้านเทคโนโลยีอวกาศและธุรกิจในประเทศไทย คาดว่าตลอดการจัดงาน 3 วันจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 3,000 คนจาก 34 ประเทศทั่วโลก บริษัทเข้าร่วมงานมากกว่า 70 บริษัท บูธนิทรรศการมากกว่า 100 บูธ 

ซึ่งแนวทางการจัดงานของปีนี้เราเน้นเรื่อง 'Converging Technologies, Connecting People' ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องนำมาหลอมรวมกับเทคโนโลยีอื่นๆ (Technology Convergence) ที่จะนำมาสู่เครื่องมือ ข้อมูล และการจัดการที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับมนุษย์และการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดงานครั้งนี้ผู้ร่วมงานนอกจากจะมีโอกาสอัพเดทข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกิจการอวกาศจากนานาประเทศแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้รู้จักและสร้างเครือข่ายทางความรู้และธุรกิจกับผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย 

ซึ่งปีนี้เราได้รับเกียรติจากเอกอัคราชทูตและนักการทูตมากกว่า 10 ประเทศ  มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรด้านอวกาศจากหลายประเทศทั้งในเอเซียและภูมิภาคอื่นๆ อาทิ CNSA ประเทศจีน, KARI สาธารณรัฐเกาหลีใต้, OSTIN ประเทศสิงคโปร์, EU , MYSA จากประเทศมาเลเซีย, QZSS ประเทศญี่ปุ่น และ PHILSA ประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองภายในงานด้วย 

สำหรับจุดเด่นของงาน Thailand Space Week 2024  มีหลายกิจกรรม โดยเฉพาะในส่วนของ Plenary Stage จะมี Session ที่น่าสนใจ อาทิ Space Leaders Forum, Unveiling Asean Space Ecosystems, การใช้เทคโนโลยีอวกาศรับมือกับความท้าทายที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน, Financing the Future กับโอกาสในอุตสาหกรรมอวกาศ หรือจะมาร่วมส่องอนาคตเทคโนโลยีอวกาศ ไปกับ นางฟ้าไอที คุณเฟื่องลดา กับ Trend ในอีก 10 ข้างหน้า ทั้งหมดล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยที่พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างโอกาสและประโยชน์ให้กับภูมิภาค

ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสและขยายความร่วมมือ ทั้งด้านองค์ความรู้ ธุรกิจ และการลงทุนในระดับนานาชาติ โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงของภูมิภาค ซึ่งมุ่งหวังจะให้เกิดการยกระดับและเปิดโอกาสให้กับ Space related Industry ของไทยกับพันธมิตรจากนานาประเทศ อันจะนำมาสู่การเพิ่มรายได้ใหม่ๆให้กับภาคเศรษฐกิจของไทย เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top