แนะเพิ่มช่องทางหาเงินเข้ารัฐ ภาษีลาภลอย ช่วยรัฐบาลได้
(29 ต.ค. 67) ไม่แปลกนักที่ในห้วงระยะเวลานี้จะมีข่าวการเตรียมจัดเก็บค่าธรรมเนียม ภาษี หรือรายได้อื่น ๆ จากทางภาครัฐ เนื่องจากการทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
แต่มีอีก 1 ช่องทางในการสร้างรายได้อีก 1 ช่องทาง ที่เหมือนจะหลงลืมกันไป นั่นก็คือ ‘ภาษีลาภลอย’
ภาษีลาภลอย คือ ภาษีที่จะจัดเก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน หรืออื่น ๆ
เหตุผลที่มีแนวคิดในการจัดเก็บ เนื่องจากบรรดาที่ดินที่ได้รับประโยชน์เหล่านี้ อยู่ดี ๆ ก็มีมูลค่าสูงขึ้นจากการลงทุนของทางภาครัฐ
ขอย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีการเตรียมเสนอกฎหมายที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันมาแล้ว ร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐพ.ศ. …
โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ
2.โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกระทรวง
3.การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
3.1 ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนด
3.2 เมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจาก
1) ที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประชาชนในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท (ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม)
2) ห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ
4.พื้นที่จัดเก็บภาษี กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ
5.หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯตั้งอยู่
6.ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้จำนวนจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือที่ขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ
7.การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือท้องที่ชุดคำนวณได้คุมด้วยอัตราภาภาษี
8.อัตราภาษี กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา
9.ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน
จะเห็นได้ว่าการเอาภาษีตัวนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านอื่น ๆ ของประเทศได้อีกด้วย