Thursday, 15 May 2025
Econbiz

‘OR’ ผนึกกำลัง ‘บาชุนดารา กรุ๊ป’ ขยายธุรกิจ ‘Café Amazon’ ในบังกลาเทศ ตั้งเป้าเปิดสาขาแรกไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมวางแผนต้องมีอย่างน้อย 100 สาขา

(31 ก.ค.67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และนายอาห์เมด อัคบาร์ โซบาน (Ahmed Akbar Sobhan) ประธานกรรมการ บาชุนดารา กรุ๊ป (Chairman of Bashundhara Group) ร่วมลงนามสัญญาการมอบสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ (Master Franchise) คาเฟ่ อเมซอน ในประเทศบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ โดยมี นายพสุศิษฏ์ วงศ์สุรวัฒน์ อัครราชทูต ณ กรุงไคโร ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ และ นายโมฮัมหมัด มาซูมูร์ ราฮามาน (Mr. Md. Masumur Rahaman) อัครราชทูตที่ปรึกษา (Counsellor and Head of Chancery) สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องกรุงเทพ 1 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยวางแผนจะเปิดคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 และมีเป้าหมายเปิดร้านอย่างน้อย 100 สาขาต่อไป

โดยนายดิษทัต เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขยายธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน สู่ตลาดบังกลาเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ตลาดผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และวัฒนธรรมการบริโภคกาแฟที่กำลังเติบโตอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวบังกลาเทศยังมีความชื่นชอบในสินค้าและแบรนด์จากประเทศไทย เนื่องจากไว้วางใจในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงมีความเชื่อมั่นในแบรนด์ที่มาจากประเทศไทย และยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจของ OR ที่มุ่งสร้างทางเลือกเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกไลฟ์สไตล์อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ การขยายธุรกิจครั้งนี้ OR หวังว่าด้วยความชำนาญในธุรกิจกาแฟของ OR ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการเติบโตของคาเฟ่ อเมซอน ผนวกกับความเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจหลากหลาย ซึ่งครอบคลุมธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของบาชุนดารา กรุ๊ป จะทำให้ คาเฟ่ อเมซอน ได้รับการต้อนรับจากผู้บริโภคในบังกลาเทศเป็นอย่างดี และสามารถร่วมกันสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดย OR จะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่ง และจะยังคงพัฒนาธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอเครื่องดื่มและบริการที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภคชาวบังกลาเทศต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ OR ในการขยายฐานการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันกับสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจในพื้นที่ ตลอดจนสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ OR คือ ‘Empowering All toward Inclusive Growth’ หรือ เติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน 

‘ธอส.’ ออกมาตรการช่วยเหลือ ‘ลูกหนี้’ รักษาบ้านของตนเอง ปรับดอกเบี้ยเหลือ 3.55% ต่อปี-ขยายเวลาผ่อนชำระนาน 2 ปี

(31 ก.ค. 67) นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้ความช่วยเหลือลูกค้านานสูงสุด 2 ปี จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย

>> 1. มาตรการช่วยเหลือ ‘DC1’ สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM, ลูกค้าสถานะ NPL และลูกหนี้สถานะมีโจทก์นอก ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 

สามารถผ่อนชำระเงินงวดที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ 3.55% ต่อปี และ +100 บาท เป็นระยะเวลา 2 ปี กรณีลูกค้าชำระเกินกว่าที่ธนาคารกำหนด ให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี)

>> 2. มาตรการช่วยเหลือ ‘DC2’ สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL และลูกหนี้สถานะมีโจทก์นอก ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 4 เดือนแรก 0% ต่อปี 

โดยผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาทต่อเดือน, เดือนที่ 5-8 ผ่อนชำระเงินงวดที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ 1.90% เพียง 50% และ +100 บาท และเดือนที่ 9-12 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ 3.90% เพียง 50% และ +100 บาท 

กรณีลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี) ทั้งนี้ ดอกเบี้ย 50% ของงวดที่ 5-12 ธนาคารจะพักชำระไว้ เมื่อลูกค้าผ่อนชำระครบตามเงื่อนไขจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 50% ช่วงที่อยู่ในมาตรการ

“การจัดทำมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของ ธอส. ในภาวะที่ลูกค้าได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือลูกค้าให้ได้มีบ้านเป็นของตนเองแล้ว ยังช่วยลูกค้ารักษาบ้านของตนเองได้ต่อไป ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้ ในภาพรวมจะส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ขยายตัวดีขึ้นตามไปด้วย” 

สำหรับลูกค้าที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการข้างต้น สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND โดยลูกค้าจะต้อง Upload หลักฐานยืนยันการได้รับผลกระทบทางรายได้เพื่อให้ธนาคารพิจารณาด้วย 

'รัดเกล้า' เผย!! ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม AALCO สมัยที่ 62 เล็งยก 'กฎหมายทะเล-การค้าระหว่างประเทศ' ขึ้นถกเพื่อประโยชน์ไทย

(1 ส.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) (การประชุมประจำปีของ AALCO) สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 - 13 กันยายน 2567

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า AALCO ตั้งขึ้นเมื่อปี 2499 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจากทวีปเอเชียและแอฟริกา รวม 48 ประเทศ โดยสำนักงานเลขาธิการของ AALCO ตั้งอยู่ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกามีบทบาทในการประมวลและพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันพัฒนาการดังกล่าวให้สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศในเอเชียและแอฟริกา การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นเวทีที่ประเทศสมาชิกจะอภิปรายแสดงความเห็นและท่าทีในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่สนใจของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการในกรอบคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission: ILC) และคณะกรรมการ 6 (กฎหมาย) ของสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย ในฐานะสมาชิกของ AALCO ได้ใช้เวทีดังกล่าวในการติดตามพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันท่าทีประเทศไทยในประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเพื่อให้พัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในทวีปเอเชียและแอฟริกา

การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นการประชุมที่มีหัวหน้าคณะระดับรัฐมนตรี โดยมีกำหนดจัดการประชุมในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ของทุกปีก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) โดยในการประชุมประจำปี AALCO สมัยที่ 61 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี ของ AALCO ในสมัยที่ 62 โดย กต. เสนอให้จัดการประชุมประจำปี สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 - 13 กันยายน 2567 โดยไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ AALCO มาแล้ว 2 สมัย ได้แก่ สมัยที่ 8 เมื่อปี 2509 และสมัยที่ 26 เมื่อปี 2530

ทั้งนี้ AALCO ครั้งที่ 62 จะมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก ผู้แทนประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากสาขาต่าง ๆ และผู้แทนจากหน่วยงานของประเทศไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ 250 - 300 คน โดยประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา อาทิ เรื่องกฎหมายทะเล และกฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นต้น

‘ปชช.’ แห่ลงทะเบียน 'ทางรัฐ' รับสิทธิเงินดิจิทัล จนขึ้นเทรนด์ X หลายรายโอด!! แอปฯ ‘ค้าง-เด้งออก’ หลังเปิดให้กรอกมา 1 ชม.

(1 ส.ค. 67) วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดให้ลงทะเบียนยืนยันรับสิทธิโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก โดยแฮชแท็ก #แอปทางรัฐขึ้นอันดับ 1 เทรนด์แอปพลิเคชัน X รวมถึง #ดิจิทัลวอลเล็ต ก็อยู่อันดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดลงทะเบียนมาประมาณ 1 ชั่วโมง เริ่มมีหลายรายบ่นว่า แอปทางรัฐมีอาการค้าง หรือบางรายก็ล็อกอินเข้าระบบแล้วก็เด้งออก รวมถึงบางรายก็ได้รับข้อความ แจ้งขออภัย เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่บางคนก็สามารถลงทะเบียนได้

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอีเอส และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ตั้งวอร์รูม รองรับการแก้ไขปัญหาการลงทะเบียนที่อาจไม่คาดหมายที่จะเกิดขึ้น และหากประชาชนมีข้อสงสัย หรือติดปัญหาใด สามารถติดต่อ Call Center ได้ที่หมายเลข 1111

'พีระพันธุ์' นั่งหัวโต๊ะ กบง.ไฟเขียวพยุงราคาขายปลีก NGV 3 เดือน หลังมองเกม!! ราคาก๊าซธรรมชาติช่วงปลายปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

เมื่อวานนี้ (31 ก.ค.67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า

ที่ประชุม กบง. ซึ่งมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้นำส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากผลการดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566

โดยในการปรับหลักเกณฑ์การคิดราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มาช่วยลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชนผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยการนำส่วนต่างราคาดังกล่าวมาช่วยพยุงราคาขายปลีก NGV ไม่ให้มีการปรับขึ้นอย่างทันทีจากราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงปลายปีที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 16 สิงหาคม - 15 ตุลาคม 2567 โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับไปดำเนินการและให้รายงานผลการดำเนินการให้ กบง. ทราบต่อไป

นายวีรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้ากลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573 เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาด

โดยมีการทบทวนและปรับหลักการสำหรับผู้ยื่นคำเสนอที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการพิจารณารับซื้อเป็นลำดับแรกในปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับโควตาส่วนที่เหลือจากการเปิดรับซื้อข้างต้น ให้เป็นการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง จำนวน 22 โครงการ ทำให้โครงการต้องชะลอการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ไปพิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อนกำหนด SCOD สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร

ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อให้ไม่กระทบต่อแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 30-40% (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

ปิดตำนาน 41 ปี Daidomon โบกมือลา สาขาสุดท้าย 5 ส.ค.นี้ แฟนคลับใจหาย!! หากกลับมาเปิดใหม่ พร้อมจะกลับไปอุดหนุน

(1 ส.ค.67) หลังออกมาประกาศปิด ไดโดม่อน โคเรียน กริลล์ สาขาเซ็นทรัลอุบลราชธานี ไปเมื่อ 30 เมษายน ทำให้ลูกค้าต่างใจหาย พร้อมว่า จะยังเหลือเพียงสาขา ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ตามที่เคยรายงานไปนั้น

ล่าสุด Daidomon ก็ได้ออกมาประกาศข่าวเศร้ากับแฟน ๆ อีกครั้งว่า ไดโดมอน สาขาฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จะให้บริการ 5 สิงหาคม 2567 เป็นวันสุดท้าย

พร้อมระบุว่า “ขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้การสนับสนุน DAIDOMON สาขาฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และขอเรียนให้ทราบว่า ทางร้านจะเปิดให้บริการถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2567 นี้”

ซึ่งก็มีคนเข้าไปคอมเมนต์ว่า…

- “ขอบคุณที่ผ่านมาเหมือนกัน เกือบ 20 ปีแล้ว ร้านปิ้งย่างขวัญใจวัยรุ่น ครั้งแรกที่กินสาขาฟิวเจอร์พาร์คบางแค น้ำจิ้มอร่อย ข้าวผัดกระเทียมอร่อย น้ำรีฟิล เติมได้เรื่อย ๆ ไว้ถ้าเศรษฐกิจดีกว่านี้มีโอกาสกลับมาเปิดใหม่ เราก็จะกลับไปอุดหนุนเหมือนเดิม”
- “ร้านของเด็กยุค 90 ตลอดไป”
- “ใจหายมาก ความทรงจำสมัยเรียนเลยสาขานี้”
- “ควรปิดตั้งนานแล้วครับ”

สำหรับ ไดโดมอน เป็นร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่างที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 นับเป็นร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างแห่งแรก ๆ ในไทย ก่อนที่ บริษัท ​ฮอทพอท จำกัด (มหาชน) จะเข้าซื้อกิจการ บริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 ในระยะหลัง ประสบกับปัญหาขาดทุนมาตลอด จนกระทั่งเหลือเพียงสาขาเดียวในปีนี้

‘สุชาติ’ หารือ ‘ทูตโมซัมบิก’ ผลักดันอุตสาหกรรม-การค้าอัญมณี เล็งแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ-วัตถุดิบในการทำเครื่องประดับ

(1 ส.ค. 67) ณ กระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้การต้อนรับและหารือกับนายเบลมีรู จูแซ มาลาตี (H.E. Mr. Belmiro José Malate) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโมซัมบิกประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงจาร์กาตา ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วม ‘พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗’ 

โดยโมซัมบิกเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณแอฟริกาตอนใต้ เป็นเมืองท่าสำคัญ สามารถเป็นประตูการค้าไปสู่ทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้ อาทิ แอฟริกาใต้ มาลาวี ซิมบับเว แซมเบีย และเอสวาตินี 

นอกจากนี้ โมซัมบิกยังเป็นแหล่งวัตถุดิบอัญมณีและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทย ขณะเดียวกัน ไทยมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตร และเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งโมซัมบิกมีความต้องการใช้ภายในประเทศสูง จึงได้ฝากเชิญชวนนักธุรกิจโมซัมบิกเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทย อาทิ Bangkok Gems & Jewelry Fair (อัญมณีและเครื่องประดับ) งาน Bangkok RHVAC and E&E (สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) และงาน THAITHAM (เครื่องจักรกลการเกษตร) เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยเข้าสู่ตลาดโมซัมบิก ขณะเดียวกัน โมซัมบิกได้ฝากเชิญชวนนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงาน FACIM ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ของโมซัมบิก จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567 ณ กรุงมาปูโต 

“ผมได้พูดคุยหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของทั้งสองประเทศ
ซึ่งมีผลประโยชน์เกื้อกูลกัน โดยโมซัมบิกมีความประสงค์ที่จะเรียนรู้ทักษะการเจียระไนจากไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ขณะที่ไทยมีความต้องการวัตถุดิบอัญมณี โดยเฉพาะพลอยแดงและพลอยเนื้ออ่อนจากโมซัมบิก ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดพลอยคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผมจึงเสนอให้ทั้งสองฝ่ายจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกัน และในโอกาสเดียวกัน ผมได้แจ้งท่านเอกอัครราชทูตว่า ขอเรียนเชิญนายการ์โลส ซาคาเรียส (H.E. Mr. Carlos Zacarias) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรณีและพลังงานโมซัมบิก เดินทางเยือนประเทศไทย ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์มีการจัดงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair ในเดือนกุมภาพันธ์และกันยายนของทุกปี เพื่อต่อยอดความสัมพันธ์ด้านการค้าอัญมณีระหว่างสองประเทศต่อไป” นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โมซัมบิกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 56 ของไทย และอันดับที่ 6 ในทวีปแอฟริกา โดยในปี 2566 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 693.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (24,254.61 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกไปโมซัมบิก 181.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,264.90 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากโมซัมบิก 511.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (17,989.71 ล้านบาท) สำหรับการค้าระหว่างกันในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีมูลค่า 299.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,765.76 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกไปโมซัมบิก 134.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,813.16 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากโมซัมบิก 164.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,952.60 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคหะสิ่งทอ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ก๊าซธรรมชาติ อัญมณี ถ่านหิน สินแร่โลหะ และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง

‘BOI’ เผย ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรก แตะ 4.5 แสนล้าน เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 35% ในแง่เงินลงทุน

(1 ส.ค. 67) Business Tomorrow รายงานว่า BOI เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรก ปี 2567 ยังเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 1,412 โครงการ เงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 นำโดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรและแปรรูปอาหาร

ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์อันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง ครึ่งปีหลังเร่งแผนโรดโชว์ชิงลงทุนฮับภูมิภาค ควบคู่กับการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

ตามรายงานจากนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การลงทุนในประเทศไทยแสดงแนวโน้มการเติบโตที่น่าประทับใจในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและความน่าดึงดูดของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุน

ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีโครงการทั้งสิ้น 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุนรวมสูงถึง 458,359 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35

>> กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก

1. อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า : 139,725 ล้านบาท
2. ยานยนต์และชิ้นส่วน : 39,883 ล้านบาท
3. เกษตรและแปรรูปอาหาร : 33,121 ล้านบาท
4. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ : 25,344 ล้านบาท
5. ดิจิทัล : 25,112 ล้านบาท

>> โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนี้

- กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบ และทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ และวงจรรวม 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,543 ล้านบาท
- กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท
- กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,182 ล้านบาท
- กิจการ Data Center 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,289 ล้านบาท
- กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบ Automation 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,271 ล้านบาท
- กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ 255 โครงการ เงินลงทุนรวม 72,475 ล้านบาท

หากยังมีโจทย์ท้าทายสำหรับประเทศไทยที่จะต้องเอาชนะปัญหาใหญ่ 5 ประการ ดังกล่าวได้ โดยคุณสุวัฒน์ สินสาฎก CFA, FRM, ERP รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) BYD ได้มีความเห็นไว้ว่า ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกละเลยมากว่า 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990s ที่ไทยริเริ่มก่อเกิดโครงการมาบตาพุดที่ได้กลายเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมส่งออกไทยมากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

>> โดยปัญหาเชิงโครงสร้างมีดังนี้

1. ไทยเป็นประเทศสังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยของประชากรถึง 40.5 ปี เทียบกับเวียดนาม 32.8 ปี และอินโดนีเซีย 29.9 ปี หรือยังมากกว่าจีนที่ 39 ปี จากผลของนโยบายลูกคนเดียว (one child policy)

2. ไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก แม้ตัวเลขอัตราการว่างงานต่ำมากเพียง 1.06% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 2.0% แต่เป็นการทำงานแบบแฝง ดังนั้นไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคนที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย (8.5% ของแรงงานนอกภาคเกษตรของไทย) แต่คาดว่าตัวเลขแรงงานต่างด้าวจริงในประเทศไทยน่าจะสูงกว่า 5 ล้านคน

3. ไทยเป็นประเทศที่มีค่าแรงค่อนข้างสูง แม้รายได้ต่อหัวจะสูงราว $7,298 สำหรับไทย เทียบกับ $5,109 ของอินโดนีเซีย และ $4,316 ของเวียดนาม

แต่แม้ไทยจะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่ามาเลเซียที่ $13,034 แต่มาเลเซียสามารถดึง FDI ได้มากกว่าไทยมาก เพราะนโยบายภาครัฐที่เน้นการสร้างบุคลากร การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่สำคัญเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรม Semiconductor และ AI ต่างกับไทยที่ไม่มีการเตรียมพร้อมใด ๆ ในช่วงที่ผ่านมาเลย

4. ไทยมีค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสูงกว่าแม้แต่ค่าไฟฟ้าในอเมริกา ทำให้ไทยเสียเปรียบในการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น AI data center semiconductor EV ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล

ค่าไฟฟ้าไทยปัจจุบันที่ 4.18 บาทต่อ kWh แพงกว่าอเมริกา 11%, แพงกว่ามาเลเซีย 20%, แพงกว่าเกาหลีใต้ 33%, แพงกว่าอินเดีย 35%, แพงกว่าไต้หวัน 39%, แพงกว่าแคนาดา 52%, แพงกว่าจีน 79%, และแพงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียกว่าเท่าตัว

5. ไทยไม่มีความพร้อมแรงงานที่มีคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0 แตกต่างกับสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ภาครัฐมีความชัดเจนในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และมีความพร้อมของบุคลากรมากกว่าไทย

โดยคุณสุวัฒน์ สินสาฎก มองว่ามีทางแก้ปัญหาเพื่อเพิ่ม FDI มีสองทางหลัก ได้แก่

ทางแก้แรก: ‘ลดค่าเงินบาท’ ทางแรกคือการลดค่าเงินบาท เช่นที่เคยทำหลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 เพราะหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ด้วยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ที่ 42-45 บาท FDI เติบโตมากถึง 3 เท่าตัว และการเติบโตของการลงทุนมากถึง 12.6% ในปี 2004 และ 15% ในปี 2005 หากทางนี้เป็นการทำลายประเทศ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ทางแก้ที่สอง: เพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและเร่งสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยให้รวดเร็วขึ้น ดังเช่นที่ทำได้เป็นรูปธรรมสำหรับอุตสาหกรรมรถ EV

นอกจากนี้ นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางการลงทุนโลกยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายการลงทุนและการปรับซัพพลายเชนทั่วโลก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องช่วงชิงการลงทุนมาให้ได้ โดย BOI จะให้ความสำคัญกับการบุกเจาะกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 1,451 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 476,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้

คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีกกว่า 1.3 ล้านล้านบาท/ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 4.9 แสนล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 1 แสนตำแหน่งด้วยกัน

'รมว.ปุ้ย' ตอบกระทู้สด 'ก้าวไกล' ปมการบริหารจัดการ 'แคดเมียม' 'ขนกลับต้นทางครบ-ไร้กระทบสุขภาพ ปชช.' ลั่น!! คนผิดต้องไม่ลอยนวล

(1 ส.ค. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ทำหน้าที่เป็นประธานพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายศิรโรจน์ ธนิกกุล ส.ส.สมุทรสาคร เขต 2 พรรคก้าวไกล ถาม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การบริหารจัดการสารเคมีอันตรายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยตั้งคำถามปริมาณของกากแคดเมียมที่ขนกลับไป จ.ตาก ตลอดจนถึงความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนหรือไม่ นอกจากนี้แนวทางการบริหารจัดการหลังจากนี้เป็นอย่างไรบ้าง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาเพียงใด และการสอบสวนผู้กระทำทั้งกระบวนการมีความคืบหน้าอย่างไร  

รมว.พิมพ์ภัทรา ได้มาตอบกระทู้สดด้วยตัวเอง โดยระบุว่า ตนในฐานะ รมว.อุตสาหกรรม หลังจากที่ได้รับรายงานว่ามีการพบกากตะกอนแคดเมียม ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ก็ได้ลงพื้นที่ในทันที โดยได้พบและหารือผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้นำส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยได้ตรวจสอบถึงที่มาของกากแคดเมียมว่ามาจากแหล่งใด ปริมาณเท่าไร จากนั้นได้มีการตรวจสุขภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสารปนเปื้อนทั้งนี้ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงาน คนงาน ทั้งหมด หลังจากนั้นก็ได้เร่งหากกากตะกอนแคดเมียมซึ่งกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทั้งหมด 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของจำนวนตัวเลขกากตะกอนแคดเมียมที่ระบุว่า มีประมาณ 15,000 ตัน เป็นตัวเลขกลม ๆ ที่เกิดจากการแจ้งขอขนย้าย และเมื่อมีการตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่ามีการนำออกจริงผ่านระบบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 13,800 ตัน สำหรับปริมาณน้ำหนักของกากแคดเมียมที่ได้ขนกลับไปที่แหล่งต้นทางจังหวัดตากเหลือเพียง 12,912 ตัน สิ่งที่หายไปคือความชื้น และเมื่อไปดูการขุดออกมาจากหลุมฝังกลบ ทั้งกระบวนการ และฤดูกาล ล้วนมีผลต่อน้ำหนัก ซึ่งเราได้ทำการตรวจสอบตามหลักวิชาการในทุกขั้นตอน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวถึง การย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เข้ามาประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ทันทีที่เกิดเรื่อง ก็เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อหาข้อเท็จจริงมาตอบสังคมว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ตั้ง นายเดชา จาตุธนานันท์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทาง จ.สมุทรสาคร จนถึงปลายทาง จ.ตาก 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการจาก 6 กระทรวงมาทำงานร่วมกันเพื่อให้การกำจัดกากตะกอนแคดเมียมเป็นไปตามกระบวนการ EIA โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ไม่เฉพาะ จ.สมุทรสาครเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งประเทศต่อการจัดการของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับมาว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนกลับคืนมา  

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนหาผู้กระทำความผิดว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการทางการปกครองโดยให้บริษัทต้นทางนำกากตะกอนแคดเมียมกลับไปในพื้นที่ต้นทางต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึง ยังได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) แจ้งข้อกล่าวหาทางอาญา โดยในพื้นที่ จ.ชลบุรี ศาลได้พิพากษาจำคุกผู้กระทำความผิดเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และยังได้ฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น จากบริษัทที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต้นทางและปลายทาง ในจำนวนที่รัฐต้องจ่ายไปก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ยืนยันว่าคนทำผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย 

"ส่วนการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานร่วมกับดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน นี้" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

‘บอร์ด EA’ ไฟเขียว!! แต่งตั้ง ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’ นั่งกรรมการฯ ส่ง ‘ฉัตรพล ศรีประทุม’ ขึ้นนั่ง CEO ส่วน ‘วสุ กลมเกลี้ยง’ นั่ง CFO

บอร์ด EA อนุมัติแต่งตั้ง ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการคนใหม่ พร้อมตั้ง ‘ฉัตรพล ศรีประทุม’ ขึ้นแท่น CEO ขณะที่ ‘วสุ กลมเกลี้ยง’ ขึ้นนั่ง CFO มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ ทางด้าน ‘สมใจนึก เองตระกูล’ ยังคงนั่งเป็นประธานบอร์ด มั่นใจศักยภาพทีมผู้บริหารรุ่นใหม่สามารถผลักดันแผนธุรกิจที่วางไว้ให้องค์กรเติบโตในแนวทางพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบโจทย์ Net Zero สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

(2 ส.ค. 67)  นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติแต่งตั้งนายสุพันธ์ มงคลสุธี เข้ารับตำแหน่งกรรมการแทนนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ และมีมติแต่งตั้งทีมผู้บริหารรุ่นใหม่โดยมี นายฉัตรพล ศรีประทุม ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และนายวสุ กลมเกลี้ยง ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท พลัส เทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน)

ขณะที่นายฉัตรพล ศรีประทุม จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท MBA การเงิน ร่วมงานกับบริษัทฯ มากว่า 10 ปี ผ่านงานด้านการพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน รวมถึงโครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนา ปัจจุบันเป็นซีอีโอ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และประธานกรรมการ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ไต้หวัน) ผลงานโดดเด่นล่าสุด นำ EA เข้าโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ นับเป็นโครงการแรกของโลกที่มีการซื้อขายกันเกิดขึ้น ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ผ่านกรอบความร่วมมือกันระหว่างประเทศที่มีการระบุชัดเจนว่าจะต้องเป็นโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ นับเป็นแรงกระตุ้นที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

ส่วนนายวสุ กลมเกลี้ยง จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ สาขาการเงินระหว่างประเทศ ก่อนเข้ามาร่วมงานกับบริษัทฯ เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถาบันการเงินหลายแห่ง และเมื่อร่วมงานที่บริษัทฯ ได้ดูแลด้านการบริหารการเงินการจัดหาแหล่งเงินทุนจากทั้งตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงรับผิดชอบงานการลงทุนทั้งในและต่างประเทศของกลุ่มบริษัทฯ ทั้งหมด 

ผลงานโดดเด่นล่าสุด เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเจรจาและจัดโครงสร้างการลงทุนใน บมจ. เน็กซ์ พอยท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการบริหาร บมจ. เน็กซ์ พอยท์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร่วมผลักดันการตั้งบริษัทร่วมทุน Super Holding Company กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย EA มีสิทธิในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของ สปป.ลาวทั้งหมด เพื่อให้กลายเป็นศูนย์กลางจำหน่าย และ บริหารพลังงานสะอาดแบบครบวงจร 

นายสมใจนึก กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมในฐานะประธานกรรมการมั่นใจว่าทีมผู้บริหารใหม่ ทั้ง CEO และ CFO เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับ EA มานาน พร้อมที่จะสานต่อภารกิจทั้งด้านธุรกิจพลังงานสะอาด แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน การซื้อขายคาร์บอนเครดิต การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ นำพาองค์กรเติบโตได้ตามแผนงานที่วางไว้”

ในส่วนของหุ้นกู้บริษัทฯจะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 9 และ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 โดยบริษัทฯ จะเพิ่มอัตราผลตอบแทนและขอเลื่อนการไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปเป็นภายในปีหน้า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top