‘BOI’ เผย ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรก แตะ 4.5 แสนล้าน เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 35% ในแง่เงินลงทุน
(1 ส.ค. 67) Business Tomorrow รายงานว่า BOI เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรก ปี 2567 ยังเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 1,412 โครงการ เงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 นำโดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรและแปรรูปอาหาร
ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์อันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง ครึ่งปีหลังเร่งแผนโรดโชว์ชิงลงทุนฮับภูมิภาค ควบคู่กับการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
ตามรายงานจากนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การลงทุนในประเทศไทยแสดงแนวโน้มการเติบโตที่น่าประทับใจในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและความน่าดึงดูดของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุน
ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีโครงการทั้งสิ้น 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุนรวมสูงถึง 458,359 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35
>> กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก
1. อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า : 139,725 ล้านบาท
2. ยานยนต์และชิ้นส่วน : 39,883 ล้านบาท
3. เกษตรและแปรรูปอาหาร : 33,121 ล้านบาท
4. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ : 25,344 ล้านบาท
5. ดิจิทัล : 25,112 ล้านบาท
>> โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนี้
- กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบ และทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ และวงจรรวม 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,543 ล้านบาท
- กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท
- กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,182 ล้านบาท
- กิจการ Data Center 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,289 ล้านบาท
- กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบ Automation 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,271 ล้านบาท
- กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ 255 โครงการ เงินลงทุนรวม 72,475 ล้านบาท
หากยังมีโจทย์ท้าทายสำหรับประเทศไทยที่จะต้องเอาชนะปัญหาใหญ่ 5 ประการ ดังกล่าวได้ โดยคุณสุวัฒน์ สินสาฎก CFA, FRM, ERP รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) BYD ได้มีความเห็นไว้ว่า ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกละเลยมากว่า 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990s ที่ไทยริเริ่มก่อเกิดโครงการมาบตาพุดที่ได้กลายเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมส่งออกไทยมากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
>> โดยปัญหาเชิงโครงสร้างมีดังนี้
1. ไทยเป็นประเทศสังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยของประชากรถึง 40.5 ปี เทียบกับเวียดนาม 32.8 ปี และอินโดนีเซีย 29.9 ปี หรือยังมากกว่าจีนที่ 39 ปี จากผลของนโยบายลูกคนเดียว (one child policy)
2. ไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก แม้ตัวเลขอัตราการว่างงานต่ำมากเพียง 1.06% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 2.0% แต่เป็นการทำงานแบบแฝง ดังนั้นไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคนที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย (8.5% ของแรงงานนอกภาคเกษตรของไทย) แต่คาดว่าตัวเลขแรงงานต่างด้าวจริงในประเทศไทยน่าจะสูงกว่า 5 ล้านคน
3. ไทยเป็นประเทศที่มีค่าแรงค่อนข้างสูง แม้รายได้ต่อหัวจะสูงราว $7,298 สำหรับไทย เทียบกับ $5,109 ของอินโดนีเซีย และ $4,316 ของเวียดนาม
แต่แม้ไทยจะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่ามาเลเซียที่ $13,034 แต่มาเลเซียสามารถดึง FDI ได้มากกว่าไทยมาก เพราะนโยบายภาครัฐที่เน้นการสร้างบุคลากร การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่สำคัญเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรม Semiconductor และ AI ต่างกับไทยที่ไม่มีการเตรียมพร้อมใด ๆ ในช่วงที่ผ่านมาเลย
4. ไทยมีค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสูงกว่าแม้แต่ค่าไฟฟ้าในอเมริกา ทำให้ไทยเสียเปรียบในการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น AI data center semiconductor EV ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล
ค่าไฟฟ้าไทยปัจจุบันที่ 4.18 บาทต่อ kWh แพงกว่าอเมริกา 11%, แพงกว่ามาเลเซีย 20%, แพงกว่าเกาหลีใต้ 33%, แพงกว่าอินเดีย 35%, แพงกว่าไต้หวัน 39%, แพงกว่าแคนาดา 52%, แพงกว่าจีน 79%, และแพงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียกว่าเท่าตัว
5. ไทยไม่มีความพร้อมแรงงานที่มีคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0 แตกต่างกับสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ภาครัฐมีความชัดเจนในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และมีความพร้อมของบุคลากรมากกว่าไทย
โดยคุณสุวัฒน์ สินสาฎก มองว่ามีทางแก้ปัญหาเพื่อเพิ่ม FDI มีสองทางหลัก ได้แก่
ทางแก้แรก: ‘ลดค่าเงินบาท’ ทางแรกคือการลดค่าเงินบาท เช่นที่เคยทำหลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 เพราะหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ด้วยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ที่ 42-45 บาท FDI เติบโตมากถึง 3 เท่าตัว และการเติบโตของการลงทุนมากถึง 12.6% ในปี 2004 และ 15% ในปี 2005 หากทางนี้เป็นการทำลายประเทศ ซึ่งเป็นไปไม่ได้
ทางแก้ที่สอง: เพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและเร่งสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยให้รวดเร็วขึ้น ดังเช่นที่ทำได้เป็นรูปธรรมสำหรับอุตสาหกรรมรถ EV
นอกจากนี้ นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางการลงทุนโลกยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายการลงทุนและการปรับซัพพลายเชนทั่วโลก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องช่วงชิงการลงทุนมาให้ได้ โดย BOI จะให้ความสำคัญกับการบุกเจาะกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น
โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 1,451 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 476,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้
คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีกกว่า 1.3 ล้านล้านบาท/ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 4.9 แสนล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 1 แสนตำแหน่งด้วยกัน