Thursday, 15 May 2025
Econbiz

‘พีระพันธุ์’ ยืนยัน!! ตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย ขอบคุณ ‘กกพ.-กฟผ.-ปตท.’ ช่วยทำเพื่อประชาชน

(19 ก.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวกรณีมีกระแสข่าวว่าจะปรับขึ้นค่าไฟ 6 บาทต่อหน่วย ว่า "จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อยุติว่า จะตรึงค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาท รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 โดยในวันนี้ได้เชิญประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการบมจ. ปตท. (PTT) มาหารือร่วมกัน

"ส่วนจะตรึงต่อไปอีกกี่เดือนนั้น ต้องพิจารณาตามราคาตามค่าเอฟทีที่ปรับทุก 4 เดือน ซึ่งต้องมาดูตรงนี้ด้วย ถ้ามีการปรับลดลงราคาไฟก็ลดลง อย่างไรก็ตามสำหรับการตรึงค่าไฟรอบนี้ ต้องขอบคุณการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และปตท.ที่ยินดีไม่รับค่าตอบแทนใดๆ จากค่าไฟฟ้างวดนี้เลย เพื่อช่วยเหลือประชาชน"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากระแสข่าวที่ออกมาเกิดจากอะไร? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ก็เป็นเหมือนทุกครั้ง ที่พยายามทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด สื่อก็ต้องช่วยทำความเข้าใจ ต้องเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดในสิ่งที่ควรจะเป็นจริง ก่อนที่สุดท้ายจะต้องมาดูด้วยว่า นโยบายจะสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง" 

"การที่จะช่วยประชาชน ไม่ว่าจะค่าไฟฟ้าหรือน้ำมัน ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงกระทรวงเดียว แต่ต้องประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานพยายามตรึงไว้ที่ราคาเดิมที่ 33 บาท/ลิตร แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนับวันเป็นภาระหนี้สินมากขึ้น การจะปรับลดราคาน้ำมันลงมาได้ต้องปรับลดภาษีด้วย ซึ่งตนพยายามปรับปรุงกฎหมายอยู่ ขณะนี้การยกร่างกฎหมายฉบับที่ 1 เกี่ยวกับการดูแลราคาน้ำมันประจำวันเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการทบทวนความถูกต้อง จากนั้นจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป" นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘กทพ.’ ประกาศข่าวดี รับ!! เดือนกรกฎาคม เตรียมใช้บริการ ‘ทางด่วนฟรี’ 3 วัน 3 สาย

(19 ก.ค.67) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม แจ้ง ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในเดือนกรกฎาคม จำนวน 3 วัน รวม 3 สายทาง ดังนี้ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) จำนวน 20 ด่าน ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) จำนวน 31 ด่าน และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) จำนวน 10 ด่าน ดังนี้

- วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567 (วันอาสาฬหบูชา)
- วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2567 (เข้าพรรษา)
- วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 (วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10)

โดยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ปรากฏในสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไขใหม่ระหว่าง กทพ. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในวันหยุดและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน รวมทั้งช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนผู้ใช้บริการบัตร Easy Pass ลงทะเบียนปรับปรุงข้อมูลด้วยตนเองทาง EXAT Portal Application หรือ www.thaieasypass.com เพื่อยกระดับบัตร Easy Pass เป็น Easy Pass Plus สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ทางพิเศษ (EXAT Call Center) โทร 1543 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

‘อัครเดช รวมไทยสร้างชาติ’ ชม ‘พีระพันธุ์’ ตรึงค่าไฟงวดก.ย.-ธ.ค.67 เคาะราคา 4.18 บ./หน่วยเท่าเดิม ช่วยลดภาระประชาชนยาวถึงปลายปี

(19 ก.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะคงอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 ไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเท่าเดิม ว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติต้องขอชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ตระหนักถึงภาระและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ ซึ่งที่ผ่านมาท่านพีระพันธุ์ได้ไปต่อสู้ให้กับประชาชนด้วยการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อตรึงราคาค่าไฟฟ้าต่อไปอีกในงวด ก.ย.-ธ.ค. 67 

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า  สส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ผ่านมาหลายครั้งในการประชุมพรรคก็ได้สะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องค่าครองชีพ โดยอยากให้รัฐบาลตรึงราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะหัวหน้าพรรค ท่านก็รับทราบปัญหาและพยายามหาวิธีแก้ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน วันนี้ถือว่าเป็นข่าวดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ใช้ทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้ตรึงราคาค่าไฟฟ้าต่อไปจนถึงปลายปีให้กับประชาชน

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังกล่าวต่อถึงการแก้ปัญหาราคาค่าไฟฟ้าในระยะยาว ว่า เรื่องนี้ทางรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการจัดทำแผนและวางแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาวไว้แล้ว และจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ครม. ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร คาดว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะได้มีการชี้แจงอีกครั้ง ดังนั้นการตรึงราคาค่าไฟฟ้าครั้งนี้ขอยืนยันว่าเป็นความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต่อสู้หาวิธีแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด โดยเฉพาะเรื่องของจัดหาแก๊ส LNG จากต่างประเทศ ที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้า และปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นจากภาวะสงครามอีกด้วย 

”การตรึงราคาค่าไฟฟ้าครั้งนี้ขอยืนยันว่าเป็นความสามารถและความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของท่านพีระพันธุ์ ที่ต้องการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ ซึ่งต้องขอชื่นชม และต้องบอกว่าถ้าไม่ใช่ท่านพีระพันธุ์ที่มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ราคาค่าไฟฟ้าคงไม่ใช่เท่านี้แน่นอน“ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่พลาด!! ‘บริดจสโตน’ คว้าแบรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ประเภทยางรถยนต์ รางวัลแห่งความภาคภูมิจาก Marketeer No.1 Brand Thailand 2024

(20 ก.ค. 67) รายงานข่าวระบุว่า บริดจสโตนคว้ารางวัล ‘แบรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2567’ หรือ ‘Marketeer No.1 Brand Thailand 2024’ ประเภทยางรถยนต์ นับเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจและตอกย้ำความแข็งแกร่งของบริดจสโตนซึ่งครองอันดับหนึ่งในใจผู้บริโภคมาอย่างยาวนานเป็นปีที่ 13 จากการสํารวจความคิดเห็นของผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยคุณโชทาโร่ คิตะมุระ ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจยางรถยนต์นั่งและรถบรรทุกขนาดเล็ก บริษัท บริดจสโตนเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้ารับรางวัลอันทรงเกียรติจากคุณเพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสาร Marketeer ณ ห้องฉัตราบอลรูม โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

“นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งจากเสียงสะท้อนของผู้บริโภคทั่วประเทศที่สนับสนุนให้บริดจสโตนเป็นแบรนด์ยางรถยนต์ยอดนิยมอันดับหนึ่ง ผมขอขอบคุณทุกความเชื่อมั่นและไว้วางใจที่มอบให้บริดจสโตนเสมอมา ความสำเร็จดังกล่าวยังต่อยอดเป็นแรงผลักดันให้ทีมงานของเราไม่หยุดยั้งพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานต่อไปด้วย ‘ความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ’ บนพื้นฐานลูกค้าเป็นศูนย์กลางสำคัญ ควบคู่กับการสร้างคุณค่าร่วม เราพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์พรีเมียม บริการ และโซลูชั่นที่ทันสมัยและหลากหลายให้ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์การเดินทางอย่างลงตัว พร้อมกันนี้ เรายังพัฒนาเทคโนโลยียางสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อร่วมยกระดับการเดินทางที่ยั่งยืนและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทย โดยทั้งหมดนี้ ถือเป็นความตั้งใจของเราที่จะยกระดับแบรนด์บริดจสโตนสู่ความพรีเมียมที่ยั่งยืน” คุณโชทาโร่ คิตะมุระ เผยหลังจากรับรางวัล

พิธีมอบรางวัล ‘แบรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2567’ หรือ ‘Marketeer No.1 Brand Thailand 2024’ จัดขึ้นโดยนิตยสาร Marketeer อ้างอิงจากผลสำรวจของบริษัท มาร์เก็ตติ้ง มูฟ จำกัด ผู้ให้บริการด้านงานวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจ ในการสำรวจแบรนด์ยอดนิยมในสินค้าและบริการประเภทต่างๆ ของผู้บริโภคชาวไทย ประจำปี พ.ศ. 2567

>> เกี่ยวกับบริดจสโตน ประเทศไทย: บริดจสโตน ผู้นำระดับโลกด้านยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาง พร้อมนำเสนอโซลูชั่นด้านการเดินทางที่ปลอดภัยและยั่งยืน และสำหรับประเทศไทย บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด คือหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัท บริดจสโตนเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านการนำเข้า จัดจำหน่าย และทำการตลาดยางรถยนต์ภายใต้แบรนด์บริดจสโตน, ไฟร์สโตน และเดย์ตันแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย บริดจสโตนเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ตัวแทนจำหน่าย และพันธมิตรทางธุรกิจ เรานำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์พรีเมียมที่หลากหลายและโซลูชั่นขั้นสูงซึ่งพัฒนาจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการเดินทาง, การใช้ชีวิต, การทำงาน และการพักผ่อนของผู้คนทั่วโลก

‘รมว.ปุ้ย’ นำทีมเยือนญี่ปุ่น ศึกษาโมเดล ‘นิคมอุตสาหกรรม Circular’ เน้น!! นำระบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มาปรับใช้ในไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

(21 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 21 – 27 กรกฎาคม 2567 มีภารกิจเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยนำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมศึกษาดูงานการพัฒนาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยเฉพาะรถยนต์ EV ตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตและลงทุนในประเทศไทย โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular จะตอบโจทย์ในโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นอกจากนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีกำหนดการหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (NEDO) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และระดมความคิดไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน นอกจากนี้ คณะผู้แทนยังจะได้เยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลรถยนต์และการกำจัดของเสียในโรงงานของบริษัท Eco-R Japan และศึกษาเทคโนโลยีของบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น (IHI Corporation) รวมถึงการใช้แอมโมเนียแทนก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมทั้งเยี่ยมชม กระบวนการรีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ของบริษัท J-Relights และกระบวนการรีไซเคิล แผงโซล่าเซลส์ บริษัท Shinryo Corporation ด้วย

อีกหนึ่งไฮไลท์ของการเยือนครั้งนี้ คือ การศึกษาดูงานเมืองเชิงนิเวศคิตะคิวชู (Kitakyushu Eco-Town) ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ประสบความสำเร็จและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ รวมทั้งหารือกับสำนักสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองคิตะคิวชู เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ BCG Model

“การเดินทางเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ทุกประเทศมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

สำหรับการเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ คณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ กนอ. สายงานยุทธศาสตร์ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ กนอ. สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทย ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 6 ของญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสแรกปี 2566 โตถึง 1.6% มีสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เภสัชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของไทย โดยในปี 2565 มีโครงการลงทุนถึง 293 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท

รู้จัก 'คัดสรร 999' ผู้คัดสรร 'เหรียญรางวัลทรงคุณค่า'  เติมเต็มความสำเร็จให้ทุก 'ชัยชนะ' ผ่าน 2 พี่น้องคนเก่ง

ถ้าพูดถึงเรื่องงานด้านกีฬา การแข่งขัน การประกวดต่างๆ ก็ต้องมีเรื่องของผลการแพ้ การชนะ เข้ามาเกี่ยวข้อง และถ้ามองไปถึงจุดหมายแห่งความสำเร็จของชัยชนะ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยและเป็นตัวแทนแห่งความสำเร็จ นั่นคือ 'เหรียญรางวัล' ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติแก่นักกีฬาและผู้ที่รับได้รับรางวัล 

'ณัฏฐนิชา ตันติพงศ์' และ 'ดารากร สุวรรณสัญญา' 2 พี่น้องสตาร์ตอัป ที่มองเห็นโอกาสจากจุดนี้ ได้ร่วมกันสร้างธุรกิจตัวแทนแห่งความสำเร็จ/ความภาคภูมิใจของผู้ที่ได้รับรางวัล ภายใต้ บริษัท คัดสรร 999 (ประเทศไทย) จำกัด 

"ในปัจจุบัน กีฬาเป็นการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการแข่งขัน เพื่อให้การออกกำลังกายไม่น่าเบื่อ หลายคนจึงนิยม ไปร่วมงานการแข่งขันต่างๆ เช่น การแข่งขันจักรยาน, ว่ายน้ำ, และการแข่งขันวิ่ง เป็นต้น จัดขึ้นโดยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือ ผู้จัดงานการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และเพื่อสร้างความสนุกสนานกับกลุ่มเพื่อนๆ โรงเรียน ชุมชน จนถึงกลุ่มองค์กรต่างๆ" พวกเธอทั้งสองกล่าวและว่า...

"ดังนั้นเรา 2 คน พี่น้อง จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และตัดสินใจที่จะเปิดบริษัทฯ รับผลิต จำหน่าย และนำเข้าเหรียญรางวัล โดยทางเรายินดีให้คำปรึกษาช่วยคิดออกแบบงาน ช่วยวางแผนงานให้กับลูกค้า ด้วยประสบการณ์การทำงานความเป็นมืออาชีพเกือบ 10 ปี"

ทั้งสองกล่าวเสริมอีกว่า "ที่ผ่านมา 'สินค้าของเราถือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงและราคาถูก' โดยไม่เพียงแค่ในส่วนของเหรียญเท่านั้น แต่ยังมีโล่รางวัล ถ้วยรางวัล ของที่ระลึก รวมถึงรับจัดงานอีเวนต์การแข่งขัน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีให้กับผู้จัดงานต่างๆ ไม่ต้องเสียเวลาตามหาให้เหนื่อยหรือวุ่นวาย ภายใต้ความเชี่ยวชาญที่สามารถทำได้ตั้งแต่ช่วยออกแบบงาน ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและที่สำคัญ เวลาจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว ด้วยประสบการณ์ความเป็นมืออาชีพ ความตั้งใจ และผลงานสินค้าคุณภาพ ... ที่เรามั่นใจว่าไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพและเวลาการจัดส่งสินค้าที่เร็วทันใจลูกค้า"

>> Medal Trophy Award Event

สำหรับธุรกิจของ 'คัดสรร 999' ประกอบไปด้วย...

🏅🏅รับผลิตนำเข้าเหรียญรางวัลโลหะซิงค์อัลลอยด์พร้อมสายดิจิตอลปริ๊นพิมลายตามแบบ, เข็มกลัด, ที่เปิดขวด, พวงกุญแจ ,สายคล้องคอพร้อมตะขอ ฯลฯ🎖️🧷🥇🥈🥉🎗️

⭐ให้คำปรึกษา ช่วยออกแบบงานต่างๆ เหรียญรางวัลพร้อมสายพิมลายที่ต้องการและช่วยดูราคาที่เหมาะสมให้กับลูกค้า
⭐นำเข้าเองโดยตรง💥
⭐งานของโรงงานสวย และมีคุณภาพ
⭐ช่วยดูแบบและช่วยปรับแบบให้ลูกค้าเพื่องานที่ออกมาสวยและมีคุณภาพ
⭐ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านงานเหรียญรางวัลและสินค้าต่างๆ มามากมาย จึงมั่นใจได้ในความเป็นมืออาชีพ
⭐เวลาในการผลิตงาน 30 วันขึ้นไป (แต่ถ้างานด่วนมีไฟล์ a.i.แล้ว ไม่ถึง 30 วัน ปรึกษาขอดูงานก่อน สามารถผลิตทัน‼️)
⭐เหรียญรางวัลทำได้ทั้งแบบเงา, แบบด้าน ได้ทั้งสีทอง, เงิน, ทองแดง, สีเข้มและสีอ่อน และชุบสีอื่นๆ เช่น สีน้ำเงิน, สีชมพู, สีดำ...ได้ทั้งแบบสีด้านและสีเงา ยินดีให้คำปรึกษา

⭐สำหรับผู้ใดที่สนใจติดต่อ☎️ (นาเดียร์)
Tel.0922556456
Line ID: 0922556456
หรือ inbox มาสอบถามและปรึกษาฟรี⭐
⭐พร้อมบริการลูกค้าด้วยใจและความเป็นมืออาชีพ⭐

พลิกฟื้น 'เศรษฐกิจไทย' เริ่มได้หรือยัง?  ในจังหวะที่ยังมีศักยภาพพอให้ทำได้

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยระบุว่า การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศไทย

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในฐานะที่ดูเศรษฐกิจต่างจังหวัดต้องบอกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศแย่มาก ทุกคนต่างบ่นกันหมด ต่างจังหวัดเงียบมาก กรุงเทพก็เงียบ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากภายในก็แย่ ขณะที่ผลกระทบจากต่างประเทศก็กดดันสูง โดยเฉพาะกับจีน 

ที่สำคัญ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. แสดงจุดยืนชัดเจน คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หากยังยืนยันจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะได้เห็นสัญญาณอันตรายยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SMEs) อาจได้เห็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น

เสียงสะท้อน สัญญาณอันตราย กับ ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับที่โฆษกรัฐบาล เคยออกมาชี้แจง สินค้าอุปโภคไม่แพง แหล่งท่องเที่ยวยังคึกคัก...ไม่แน่ใจว่า สำรวจพื้นที่ไหนบ้าง?
ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของทุกประเทศสามารถเขียนเป็นสมการ ได้ว่า ‘GDP = C + I + G + NX’

I = Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน
G = Government Spending คือ งบประมาณรัฐบาล
NX = Net Export คือ การส่งออกสุทธิ

C – ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ มีรายได้ มีกำลังซื้อจำกัด แต่ใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่ควรใช้ ไม่อยู่ในระบบเศรษฐกิจเช่น หวยใต้ดิน ยาเสพติด บ่อนออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ผิดกฎหมาย หากกระตุ้นให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายกับการซื้อบ้าน ปลูกบ้าน ซื้อรถคันใหม่ ซื้อของกินของใช้มากขึ้น จับจ่ายใช้สอย กินข้าวนอกบ้าน ท่องเที่ยวในประเทศ หรือมีเงินลงทุนค้าขายซึ่งยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น 

แต่ปัจจุบัน อัตราการปฏิเสธสินเชื่อบ้าน พุ่งเกือบ 70% ยอดจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจรายย่อย โรงงาน ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก

I - การลงทุน ต้องเข้าใจและฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์การเมืองของโลกที่ขั้วอำนาจกำลังมีปัญหาระหว่างกัน ประเทศไทยมีแรงงานที่นักลงทุนจากต่างประเทศต้องการ ที่ค่าจ้างไม่แพงเกินไป มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานด้านโลจิสติกส์ มีตลาดเงินตลาดทั้งสินค้าและทุน อาจขาดเพียงทักษะของแรงงานด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยังมีจำนวนน้อย สิ่งเหล่านี้ ยังพอดึงดูดทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เราต้องการ และมีประโยชน์ระยะยาวต่อประเทศชาติ

G - ใช้เงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ สร้างระบบชลประทาน สร้างไซโล/คลังเก็บผลผลิตทางการเกษตร สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมากกว่าสิบล้านคนได้ประโยชน์ ได้มีรายได้มากขึ้น หรือทุ่มงบประมาณให้กับการศึกษา สายวิทยาศาสตร์ สายวิศวกรรม สายอาชีพ ผลิตคนที่มีความรู้ ความสามารถที่เป็นที่ต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรม

ที่สำคัญ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะความล่าช้าของงบประมาณแผ่นดิน เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ

NX - สนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เราผลิตได้เองแล้วทั้งอุตสาหกรรมและเกษตร รวมถึงภาคบริการ(การท่องเที่ยว) ให้มีประสิทธิภาพ การระบายข้าวเปลือกจำนำสิบปี ไม่ควรประโคมข่าว จะทำลายชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของข้าวไทย

ทั้งหมดนี้ในปัจจุบัน เหมือนจะเริ่มเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี ไม่มีวี่แววว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ถึงเวลาหรือยัง ที่จะพุ่งเป้าไปผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต มีความมั่นคง ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่ทำได้ ... ถึงเวลาหรือยัง?

‘วปอ.รุ่น 66’ เป็นเจ้าภาพ จัดงานสัมมนาใหญ่ ประสานความร่วมมือ 6 สถาบัน ‘วปอ.-TEPCoT-วตท.-บ.ย.ส.-ปปร.-พตส.’ สานพลังเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศ

(22 ก.ค.67) สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ยังคงเป็นปัญหาสั่งสม หนักหน่วง รุนแรงเพิ่มขึ้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเกิดการชะงักงันชะลอตัว กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือคนระดับรากหญ้าต่อเนื่องมาถึงคนชั้นกลาง หนี้ภาคครัวเรือนของไทยขยับขึ้นสูงถึงกว่า 90% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ความยากจนยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้ถ่างออกกว้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รายได้ สาธารณสุข การเมือง รวมไปถึงด้านความยุติธรรม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันออกนโยบายและหาทางแก้ปัญหาในการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ

โจทย์ใหญ่นี้ ยังได้ถูกโยนลงมากลางวงจาก นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ในงานปาฐกถาพิเศษ ให้กับนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ที่ผู้เข้ารับการอบรมล้วนเป็นผู้นำระดับสูงจากองค์กรต่างๆ โดยขอให้ช่วยเหลือประเทศ ลดความไม่เสมอภาค และความเหลื่อมล้ำของสังคม ช่วยคนตัวเล็กให้ยืนอยู่ในสังคมได้

ทำให้โจทย์นี้ ได้ถูกนำมาขยายวงให้หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงที่สำคัญอีก 5 หลักสูตร ได้ร่วมกันจัดทำรายงานการศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยในด้านต่างๆ พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา

ประกอบด้วย หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) สถาบันวิทยาการการค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม วิทยาลัยการยุติธรรม, หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) สถาบันพระปกเกล้า, หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ก่อนที่จะนำผลงานทางวิชาการของทั้ง 6 สถาบัน มาเผยแพร่แลกเปลี่ยน สัมมนาและต่อยอดความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 6 หลักสูตร ร่วมมือผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และให้เกิดพลังแห่งการพัฒนาประเทศชาติ และสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยปีนี้ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ วปอ.รุ่น 66 เป็นเจ้าภาพในการสัมมนาร่วม 6 สถาบัน ในหัวข้อ ‘สานพลังลดความเหลื่อมล้ำนำไทยยั่งยืน’ หรือ The POWER Of SIX

ซึ่งในที่นี้ จะขอหยิบยกข้อสรุปรายงานการศึกษาเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ มานำเสนอดังนี้คือ

‘ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ’ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 66

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ
รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แม้ประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ยังคงปรากฏอยู่ และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศมาทุกยุคทุกสมัย

ผลการศึกษาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดีที่สุด มีโอกาสศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย และปริญญาตรีสูงกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะต่ำสุดหลายเท่า การเข้าถึงบริการสาธารณสุขยังเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ส่วนโครงสร้างทางภาษี ที่ยังไม่สามารถกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น

และไม่มีทีท่าว่าความเหลื่อมล้ำจะหมดไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปรียบเทียบระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกัน แนวทางการแก้ปัญหานี้ จึงไม่ใช่การทำให้คนทุกกลุ่มเท่ากัน แต่เป็นการดำเนินการบนหลักการของขั้นการพัฒนาคือ “อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน” บนหลักการของการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาต่าง ๆ

โดยหลักการของ “การอยู่รอด” คือ ทำให้คนไทยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี โดยมีมาตรฐานขั้นต่ำตามแต่ละบรรทัดฐาน เช่น จัดสวัสดิการสังคมให้ทุกคนเข้าถึงได้ “พอเพียง” คือ คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาศักยภาพจนพึ่งพาตนเองได้ หลุดพ้นกับดักความเหลื่อมล้ำ และ ‘ความยั่งยืน’ คือ ไทยมีระบบโครงสร้างที่ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และพัฒนาคนไทย สังคมไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ที่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

คณะนักศึกษาหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 66 จึงนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย การปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม การส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการปรับปรุงนโยบายภาษี เพื่อให้กระจายรายได้ที่เป็นธรรม

โดย ‘การอยู่รอด’ นั้น จะพัฒนาแอปพลิเคชันการรับรู้สิทธิและการเข้าถึงสิทธิทั้งหมดที่บุคคลพึงมี เพื่อให้เข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ โดยต่อยอดแอปฯที่มีอยู่คือ ThaiD รวมถึงช่วยสร้างโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่มีผลต่อการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เพื่อตัดวงจรความยากจน หลุดพ้นกับดักความยากจนข้ามรุ่น และเป็นบันไดสู่การเลื่อนลำดับชั้นในสังคม

ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำในขั้น 'พอเพียง' จะบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการให้บริการ และพัฒนากลุ่มเป้าหมายแบบ ‘พุ่งเป้า’ เช่น ปรับโครงสร้างจัดสรรงบประมาณภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการคลังเพื่อลดเหลื่อมล้ำ โดยปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้จัดเก็บทั่วถึงและเป็นธรรม ผลักดันประชาชนทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นอกจากนี้ ยังทบทวนแนวทางจัดสรรงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้ครอบคลุมองค์ประกอบด้านความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงกับสภาพปัญหา และความต้องการของพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชน เช่น รายได้ครัวเรือน สัดส่วนคนจน จำนวนประชากรกลุ่ม

ส่วนขั้น ‘ยั่งยืน’ กลไกต่างๆต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ต้องทบทวนให้เป็นไปตามบริบทของการพัฒนาและเอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ ใช้มาตรการทางการคลังลดความยากจนและสร้างความเท่าเทียม โดยภาครัฐต้องลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อยกระดับบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งต้องบริหารจัดการงบประมาณอย่างพุ่งเป้า เพื่อให้แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้อย่างตรงเป้าหมายมากขึ้น

‘แต่การดำเนินการเหล่านี้ จะต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ และครอบคลุมทุกมิติของปัญหา เพื่อนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’

'รมว.ปุ้ย' เยือน!! 'Eco R Japan' โรงงานรีไซเคิลรถยนต์ ศึกษากระบวนการเชิงลึก พาไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

'รมว.พิมพ์ภัทรา' ลุยภารกิจแดนปลาดิบ เยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ 'Eco R Japan' เพื่อศึกษาการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมทั้งหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

(22 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ 'Eco R Japan' จังหวัดโทจิหงิ ภูมิภาคคันโตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและสนับสนุนการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยมาตรการ ELV มุ่งเน้นลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ การบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธี และการนำชิ้นส่วนวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่

ทั้งนี้ บริษัท Eco-R Japan เป็นผู้นำด้านรีไซเคิลรถยนต์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1959 ด้วยพันธกิจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมรีไซเคิลที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการนำทรัพยากรจากรถยนต์เก่ากลับมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด Eco-R ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรและสังคม ไปสู่ความยั่งยืน

ต่อมาในช่วงบ่ายได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อหารือร่วมกับ นายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO) และผู้บริหาร JETRO ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นโยบาย BCG สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการผลักดันมาตรการ ELV ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานที่มีกระบวนการจัดการของเสียที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการซากรถยนต์ หลอดไฟ และแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ รวมถึงมีโอกาสได้เยี่ยมชม Eco Town ของจังหวัดคิตะคิวชู ซึ่งเป็นต้นแบบของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศด้วย

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงวางนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

"การหารือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่าง JETRO และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียวในภูมิภาค ยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน และจะเดินหน้าผลักดันให้มาตรการต่าง ๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว 

ด้านนางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ กนอ. (สายงานยุทธศาสตร์) กล่าวเสริมว่า รัฐบาลมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมอบหมายให้ กนอ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันพัฒนา นิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายS-Curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน และส่งเสริมการจัดการซากแบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular นี้ เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดของเสีย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กนอ. และ สกพอ. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม คาดว่านิคมอุตสาหกรรม Circular จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular กำหนดนัดประชุมครั้งที่ 1 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เพื่อเร่งขับเคลื่อนงานด้าน Circular ร่วมกัน

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน ‘สมอ.’ คุมเข้มมาตรฐานนำเข้าเหล็กเคลือบ ปิดช่องเหล็กด้อยคุณภาพ สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน

(23 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์เหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด พบว่ามีการนำเข้าเหล็กเคลือบ ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี ที่มีราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหล็กที่มีคุณภาพต่ำ และไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็กเคลือบภายในประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าได้ 

นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบดังกล่าวไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เร่งดำเนินการควบคุมเหล็กเคลือบทุกประเภทที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยเร็ว เพื่อสกัดกั้นเหล็กเคลือบที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและอุตสาหกรรมภายในประเทศ 

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ 

1) เหล็ก PPGI หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 

2) เหล็ก PPGL หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 

3) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 2% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 

4 ) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 0.5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 0.4% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่น ๆ อีก จำนวน 122 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก เครื่องซักผ้า เครื่องสูบของเหลว เต้ารับเต้าเสียบสำหรับงานอุตสาหกรรม ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ระบบบันทึกการขับขี่รถยนต์ น้ำยางข้นธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์จากขยะชีวภาพ ถั่วลันเตากระป๋อง และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ 

รวมทั้ง เห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปีนี้อีกจำนวน 192 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้วชนิดฮาโลคาร์บอน เจลกันยุงนาโน ชุดทดสอบฟอร์มาลินแบบกระดาษ และกันชนหรือชิ้นส่วนที่ป้องกันอุปกรณ์ด้านหน้าและด้านหลังยานยนต์ เป็นต้น รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ. ตั้งเป้าจัดทำในปีนี้ จำนวน 1,450 มาตรฐาน

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. มิได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลังจากที่บอร์ดมีมติเห็นชอบมาตรฐานเหล็กเคลือบทั้ง 4 มาตรฐาน แล้ว สมอ. จะเร่งดำเนินการให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ 

ปัจจุบัน สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานเหล็กจำนวน 213 มาตรฐาน เป็นสินค้าควบคุมจำนวน 22 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจจำนวน 191 มาตรฐาน นอกจากการดูแลประชาชนและอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ด้านการค้าระหว่างประเทศ สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะทำงานด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการส่งออกเหล็กของไทยได้ทราบถึงความคืบหน้าของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ ‘มาตรการ CBAM’ (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าที่เข้ามาใน EU โดยอ้างอิงตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า 

สำหรับสินค้า 6 กลุ่มแรกที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงในกระบวนการผลิต ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย อะลูมิเนียม ไฟฟ้า และไฮโดรเจน โดยในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้องรายงานตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต 

ทั้งนี้ สมอ. อยู่ระหว่างการหารือกับผู้แทน EU เพื่อให้ยอมรับรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ออกโดยหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง สมอ. จะแจ้งความคืบหน้าของการหารือดังกล่าวให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าวต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top