Thursday, 15 May 2025
Econbiz

‘แรงงาน’ งัดแผนอุ้ม ‘แรงงาน-ผู้ประกอบการ’ อ่วมพิษเศรษฐกิจ-ปิดโรงงาน ดัน 'Expo รับตำแหน่งงานหลักแสน-ลดดอกเบี้ยเงินกู้-ภาษี' แบบเร่งด่วน

(18 ก.ค. 67) นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำลังเร่งผลักดัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ มาตรการเยียวยาแรงงาน รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การย้ายฐานการผลิต และการนำเข้าสินค้าจากจีน

สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน มีทั้งการสนับสนุนทางการเงินและสวัสดิการ เช่น จ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ครั้งละไม่เกิน 180 วันต่อปีปฏิทิน จ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย

รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนที่ผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้สามารถใช้สิทธิลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินอื่น รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินแก่ผู้ประกันตนตามโครงการ Micro Finance ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน และนำไปลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ 

อีกทั้งยังได้จัดตั้งสถาบันเฉพาะทางด้านเทคนิคอัจฉริยะ เช่น การผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เทคโนโลยีอัตโนมัติและเทคคาทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งลดหย่อนภาษีให้กับสถานประกอบการที่ดำเนินการพัฒนาทักษะลูกจ้างในองค์กรด้วย

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงาน ได้เร่งสร้างงานในประเทศ จัดมหกรรม Job Expo Thailand 2024 มียอดสมัครงานกว่า 110,000 คน จับคู่การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม ‘คนทำงาน’ เพื่อรองรับผู้ถูกเลิกจ้างที่ต้องการทำงานแบบฟรีแลนซ์ จับคู่การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม ‘ไทยมีงานทำ’ มีตำแหน่งงานรองรับทั่วประเทศกว่า 177,000 อัตรา และจัดตลาดนัดแรงงานทุกจังหวัด 

รวมทั้งขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ จอร์แดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และเปิดตลาดใหม่ในอิตาลี เพื่อส่งแรงงานไปทำงานภาคเกษตร โดยในปีนี้มีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ 100,000 คน คาดว่าจะนำรายได้กลับสู่ประเทศ 385,617 ล้านบาท 

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า รมว.แรงงาน ต้องการให้กระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเราดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบมากกว่า 10 ล้านคน โดยจะทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันมาตรการเหล่านี้ให้สำเร็จ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการก้าวข้ามผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ด้วยดีและสนองนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

‘ไทย-มาเลเซีย’ เตรียมกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า-การลงทุน มุ่งการเติบโตระดับภูมิภาค ผ่านการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน 67

(18 ก.ค. 67) การประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 (Malaysia-China Summit (MCS) 2024) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ จะเป็นเวทีที่นำเสนอโอกาสครั้งสำคัญให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยได้ส่งเสริมการค้าและการลงทุน ไม่ใช่แค่เพียงกับมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนด้วย

ดาโต๊ะ ดร. ตัน ยู ชอง (Dato’ Dr. Tan Yew Chong) กรรมาธิการจัดงาน MCS 2024 กล่าวว่า อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยจะได้รับประโยชน์จากการพบปะพูดคุยกับผู้จัดแสดงสินค้ามากกว่า 500 ราย และผู้แทนการค้า 10,000 รายจากมาเลเซีย จีน และอาเซียน ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

“ทุกท่านไม่ควรพลาดโอกาสในการเข้าร่วมการจับคู่ทางธุรกิจ การประชุมอุตสาหกรรม การเสวนา การพบปะพูดคุยและสานสัมพันธ์ รวมถึงการแบ่งปันความรู้ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันในภูมิภาค” เขากล่าวในงาน MCS 2024: Networking Engagement Series ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ (17 ก.ค.)

สำหรับการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 จะจัดขึ้นในหัวข้อ ‘Prosperity Beyond 50’ ภายในงานประกอบด้วยมหกรรมการค้าและการลงทุนนานาชาติระยะเวลา 3 วัน และการประชุมผู้นำระยะเวลา 2 วัน ซึ่งให้ความสำคัญกับ 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Tech), ความรู้และประสบการณ์แห่งอนาคต (Future Knowledge and Experience), การเดินทางและการเชื่อมต่อแห่งอนาคต (Future Mobility & Connectivity), การเติบโตในอนาคต (Future Growth) และโอกาสในอนาคต (Future Opportunity) โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนหลักมากกว่า 20 ภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ บริการระดับโลก การท่องเที่ยว การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อระดับภูมิภาค อิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ การผลิตขั้นสูง อาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฮาลาล แฟรนไชส์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จะได้รับโอกาสมากมายในการสร้างความร่วมมือและการเติบโตในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

การประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 จัดขึ้นโดยบริษัท คิวบ์ อินทิเกรตเต็ด มาเลเซีย (Qube Integrated Malaysia) ร่วมกับบรรษัทพัฒนาการค้าต่างประเทศมาเลเซีย (MATRADE) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างมาเลเซียกับจีน ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและแสดงจุดแข็งร่วมกันของอาเซียน เนื่องในโอกาสที่มาเลเซียจะได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2568 

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซีย (MITEC) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

นายโมฮาเหม็ด ฮาฟิซ มูฮัมหมัด ชาริฟฟ์ (Mr. Mohamed Hafiz Md Shariff) กรรมาธิการการค้าประจำกรุงเทพฯ ของ MATRADE กล่าวว่า “MCS 2024 มอบโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ในการมีส่วนร่วม การทำงานร่วมกัน และการสำรวจเส้นทางการเติบโตใหม่ ๆ ร่วมกับคู่ค้าจากมาเลเซีย จีน และอาเซียน”

“เนื่องจากมีผู้จัดแสดงสินค้าและผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากจากหลากหลายภาคส่วน ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยสามารถขยายขอบเขตการเข้าถึงตลาด สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนรับทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มและเทคโนโลยีใหม่ ๆ” เขากล่าว

พร้อมกันนี้ เขาได้ชี้ให้เห็นว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้มุ่งมั่นสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 2 พันล้านริงกิต ตลอดจนมอบโอกาสมากมายให้แก่อุตสาหกรรมไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจ รวมทั้งคว้าประโยชน์จากการประสานความร่วมมือระหว่างตลาดมาเลเซียกับตลาดจีน

ในการกล่าวสุนทรพจน์หลัก ดาตุ๊ก โจจี แซมูเอล (Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำราชอาณาจักรไทย ได้เชิญชวนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยมาร่วมกันเสริมสร้างการค้าทวิภาคีกับมาเลเซีย เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันของทั้งสองประเทศ นั่นคือ การสร้างการค้ามูลค่ารวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2570

ทั้งสองประเทศต่างให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งตอกย้ำถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยต้องเข้าร่วมงาน MCS 2024 “เป้าหมายอันยิ่งใหญ่นี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของเราในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสำรวจโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ระหว่างทั้งสองประเทศ” เอกอัครราชทูตมาเลเซียกล่าว

นอกจากนี้ เขาได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีที่แน่นแฟ้นระหว่างมาเลเซียกับไทย โดยกล่าวว่าไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของมาเลเซียในระดับโลก และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน ขณะที่มาเลเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน

การพึ่งพาซึ่งกันและกันเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ ตลอดจนโอกาสในการสร้างความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

“ในช่วงปี 2560-2566 มาเลเซียและไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีที่แข็งแกร่ง ด้วยมูลค่าการค้าเฉลี่ย 2.473 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยในปี 2566 อันเนื่องมาจากการค้าโลกชะลอตัว แต่มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในอาเซียน” เขากล่าวเสริม

“สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 การค้าระหว่างมาเลเซียกับไทยมีมูลค่ารวม 9.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.616 หมื่นล้านริงกิต) โดยมีมูลค่าการส่งออก 5.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.374 หมื่นล้านริงกิต) และมูลค่าการนำเข้า 4.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.242 หมื่นล้านริงกิต)” เอกอัครราชทูตมาเลเซียกล่าว

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตมาเลเซียยังเน้นย้ำถึงจุดแข็งของมาเลเซียในการส่งออกสินค้าจำเป็นให้กับประเทศไทย เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า สินค้าเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพื่อรองรับชาวมุสลิมจำนวนมากในไทย

“การประชุมสุดยอดครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราที่อยากเห็นภูมิภาคอาเซียนที่เจริญรุ่งเรืองและเชื่อมโยงกันด้วยการค้าและการลงทุนที่แข็งแกร่ง โดยงานนี้จะเป็นเวทีอันทรงพลังที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาค” เขาเน้นย้ำ

นอกจากนี้ เขายังตอกย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของประเทศไทยในการผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ “ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน มาเลเซียและไทยได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบูรณาการ และเสถียรภาพของภูมิภาค เมื่อร่วมมือกัน เราสามารถต่อยอดความสำเร็จของอาเซียน ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน และภูมิภาคที่มีความเป็นเอกภาพ”

สำหรับกิจกรรม MCS 2024: Networking Engagement Series ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนรวม 200 คน โดยมีนายเย็บ ซู ชวน (Mr. Yeap Swee Chuan) ประธานกิตติมศักดิ์ของสภาหอการค้ามาเลเซีย-ไทย และแอร์เอเชีย (AirAsia) มาร่วมเป็นวิทยากรภายในงาน

ทั้งนี้ แอร์เอเชียเป็นพันธมิตรสายการบินอย่างเป็นทางการของงาน MCS 2024 ส่วนพันธมิตรเชิงกลยุทธ์รายอื่น ๆ ได้แก่ การท่องเที่ยวมาเลเซีย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการมาเลเซีย, สภาธุรกิจมาเลเซีย-จีน, สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติมาเลเซีย, สภาหอการค้ามาเลเซีย-จีน, สภาหอการค้าวิสาหกิจจีนในมาเลเซีย, MAYCHAM China, สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอาเซียน และ Persatuan Muafakat One Belt One Road ในขณะที่พันธมิตรสื่อประกอบด้วย เบอร์นามา (Bernama), เดอะสตาร์ (The Star) และ ซินจิวเดลี (Sin Chew Daily)

‘ดร.หิมาลัย’ เผย ‘พีระพันธุ์’ ทุ่มเทแก้ปัญหาพลังงานให้เป็นธรรม ชูกลยุทธ์ ‘ระบบสำรองน้ำมัน’ ไว้ใช้ยามเกิดวิกฤตนาน 90 วัน

เมื่อวานนี้ (17 ก.ค.67) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผู้ทุ่มเทในการแก้ปัญหาราคาพลังงาน ที่ต้นเหตุ เพื่อทำให้เป็นพลังงานที่มั่นคงเป็นธรรมและยั่งยืน โดยได้มีการแก้ไขกฎหมายและจะแก้ไขหลายฉบับเพื่อทำให้ระบบต้นทุนพลังงานมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยโครงสร้างราคาน้ำมันที่ผู้ประกอบต้องแจ้งต้นทุนน้ำมันจริง และกองทุนน้ำมันสำรอง ช่วยลดภาระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรายวัน แก้น้ำมันราคาแพงที่ประชาชนต้องแบกรับตามภาวะขึ้นลงของราคาน้ำมันโลก สร้างระบบราคาน้ำมันเป็นธรรมที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง

ดร.หิมาลัย กล่าวว่า นายพีระพันธุ์ มีแผนจะทำระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน และจะแก้ไขปรับเปลี่ยน จากที่เคยเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมันพลังงานเป็นเงิน แต่จะเปลี่ยนเป็นการจ่ายเป็นน้ำมันแทน เพื่อนำมาเก็บสำรองในคลังน้ำมันสำรอง เพื่อความมั่นคง เพื่อมีไว้ใช้หากเกิดวิกฤต นาน 90 วัน

โดย นายพีระพันธ์ เล็งที่จะใช้ศูนย์ปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นบ่อน้ำมันทหาร และทำเรื่องน้ำมันทหารมายาวนาน ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สร้างคลังสำรองเพื่อความมั่นคง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายพีระพันธ์ุ ได้เคยเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบพื้นที่และระบบการทำงาน ของตลาดน้ำมัน อาหาร และสถานที่มาแล้ว และมีแผนที่จะพัฒนาโรงกลั่นทหาร โดยใช้งบ 300 ล้านบาท เพื่อทำให้โรงกลั่นน้ำมันทหารสามารถกลั่นน้ำมันดีเซล ที่ได้มาตรฐาน Euro 5 ของกรมธุรกิจพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันน้ำมันทหาร ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซล แต่มีค่ากำมะถันสูง

ดร.หิมาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายพีระพันธุ์ เดินทางไปยังซาอุดีอาระเบีย เพื่อชวนให้มาลงทุน ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน

“เรื่องนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้สำเร็จ และอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยาก ท่านพีระพันธ์ุ เป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง ไม่เคยโอ้อวดตนเอง มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างเดียว” ดร.หิมาลัย กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ กำชับ ‘กรมโรงงานฯ’ ติดตามสถานที่เก็บไซยาไนด์ต่อเนื่อง ย้ำ!! เข้มงวดการขึ้นทะเบียน-ใช้ผิดประเภทดำเนินคดีตาม กม.สูงสุด

เมื่อวานนี้ (18 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงมาตรการป้องกันวัตถุอันตราย หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย โดยมีการตรวจพบสารไซยาไนด์บริเวณที่เกิดเหตุ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลวัตถุอันตราย ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม รับผิดชอบสารตามบัญชี 5 ซึ่งใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสารที่ควบคุมตามอนุสัญญา ของเสียเคมีวัตถุ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว รวมจำนวน 615 รายการ และ 26 กลุ่ม 

ทั้งนี้ โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะนำเข้า ผลิต จะต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ที่ชัดเจนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องได้รับอนุญาตก่อนการดำเนินการ โดยการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น 

“สำหรับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นสารที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ในกระบวนการทำความสะอาดโลหะ ชุบโลหะ สกัดแร่ทองและเงิน และใช้ในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทั้งนี้ สถานที่เก็บรักษาโพแทสเซียมไซยาไนด์ จะต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้งประกอบการพิจารณาขออนุญาต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจติดตามสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในครอบครองตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปในรอบ 6 เดือน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงของการนำไปใช้ ปริมาณคงเหลือ การจำหน่าย เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงผู้ใช้ได้” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้มีการนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 และมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เพิ่มเติม และวันที่ 15 มิถุนายน 2566 อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 

โดยได้แบ่งกลุ่มผู้นำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ เป็น 3 กลุ่ม คือ 
1) กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน 
2) กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย 
และ 3) กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก ซึ่งครอบคลุมถึงการนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ความเข้มข้นต่ำเป็นองค์ประกอบสำหรับกิจการอื่น 

อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อกำกับดูแลการใช้สารประกอบไซยาไนด์ จำนวน 16 รายการอย่างเข้มงวด และสามารถติดตามการใช้งานได้จนถึงผู้ใช้รายย่อย ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายตามรายชื่อท้ายประกาศนี้อยู่ในความครอบครองในแต่ละรายชื่อของวัตถุอันตรายทุกปริมาณ ทุก 6 เดือน

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายต้องนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในการขึ้นทะเบียนเท่านั้น หากพบว่า ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ใช้  มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

‘ไทยเบฟฯ’ ขายหุ้น ‘เฟรเซอร์สฯ สิงคโปร์’ เกลี้ยงพอร์ต ลาธุรกิจอสังหาฯ หันลุย ‘ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม’ เต็มสูบ

(18 ก.ค. 67) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าในวันนี้ (18 ก.ค.67) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ไทยเบฟ’ ได้แจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ว่า บมจ.ไทยเบฟจะขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัท ‘เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้’ (Frasers Property) ในสิงคโปร์ ให้กับบริษัท ‘ทีซีซี แอสเซ็ทส์’ (TCC Assets) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งในเครือของไทยเบฟเช่นกัน

ภายใต้ข้อตกลงการสวอปหุ้นกับทีซีซี แอสเซ็ทส์นั้น ไทยเบฟจะเพิ่มการถือครองหุ้นในบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (Fraser & Neave - F&N) ซึ่งเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์แทน

บลูมเบิร์ก ระบุว่า ‘นายเจริญ สิริวัฒนภักดี’ ซึ่งเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย กำลังมองหาลู่ทางปรับโฉมอาณาจักรธุรกิจให้มีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ไทยเบฟ ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ได้ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เขาถือครองอยู่เช่นกัน

ทางด้านนายประภากร ทองเทพไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) ของไทยเบฟระบุในแถลงการณ์ว่า ธุรกรรมดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมสถานะของไทยเบฟให้มีความชัดเจนมากขึ้น ด้วยการถอนตัวออกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ หุ้นจำนวน 28.78% ที่ไทยเบฟถือครองในบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้นั้น จะลดลงเหลือศูนย์หลังเสร็จสิ้นการทำธุรกรรม โดยธุรกรรมดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน หุ้นที่บริษัททีซีซีถือครองอยู่ในเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 86.89% จากปัจจุบันที่ระดับ 58.1% และหุ้นที่ไทยเบฟถืออยู่ใน F&N จะเพิ่มขึ้นเป็น 69.61% จากปัจจุบันที่ระดับ 28.31%

รายงานระบุว่า ราคาหุ้น F&N ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ พุ่งขึ้น 23% ในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นระหว่างวันที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 ในขณะที่ราคาหุ้นของ Frasers เพิ่มขึ้น 4.4% หรือสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ปีนี้ ซึ่งช่วยชดเชยจากที่ร่วงลงไป 6% ในปีนี้ได้

ทั้งนี้เคยมีการคาดเดากันถึงอนาคตของเฟรเซอร์สมาแล้ว หลังจากที่สำนักข่าวดาวโจนส์เคยรายงานก่อนหน้านี้ว่า กำลังมีพิจารณาลดการลงทุนในเฟรเซอร์สโดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับกลยุทธ์องค์กร แต่นายเจริญได้ปฏิเสธข่าวการขายหุ้นเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา

‘บ.กุลธรเคอร์บี้’ แจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ในส่วนการผลิต รับ!! ขาดสภาพคล่องซื้อวัตถุดิบ กำลังเจรจาสถาบันการเงิน

(18 ก.ค. 67) นายฐิติศักดิ์ สิมะกุลธร กรรมการ บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด แจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เรื่อง แจ้งหยุดกิจการชั่วคราว

โดยระบุว่า บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) แจ้งหยุดกิจการชั่วคราวเฉพาะบริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) สำหรับบริษัทย่อยยังคงปฏิบัติงานเหมือนเดิม ในระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2567 บริษัทจะทำการหยุดกิจการเป็นช่วง ๆ โดยพิจารณาจากจำนวนการผลิด และวัตถุดิบ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท เนื่องจากการขาดสภาพคล่องในการซื้อวัตถุดิบ เพื่อผลิตและส่งมอบ เนื่องจากวัตถุดิบหลัก เช่น เหล็ก ทองแดง มีความจำเป็นต้องใช้วงเงิน working capital (LC) จากธนาคารในการซื้อ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคาร

โดยจ่ายเงินเดือนพนักงานที่หยุดปฏิบัติงาน 75% ตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 เรื่องการหยุดกิจการชั่วคราว การหยุดกิจการชั่วคราวเฉพาะส่วนงานการผลิตที่ไม่มีวัตถุดิบ

ส่วนงานอื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานประจำบางส่วน จะยังคงปฏิบัติงานอยู่ได้แก่ พนักงานดูแล (เครื่องจักร) ส่วนการผลิต ส่วนวิศวกรรมโรงงาน ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายวางแผนการผลิตและคลังสินค้า ฝ่ายปฏิบัติงานการเงิน ฝ่ายบัญชี ฝ่ายความปลอดภัยแผนกสรรหาและค่าจ้างเงินเดือน

รายงานความคืบหน้าแนวทางแก้ไข

1.เร่งดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เพื่อจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด และอยู่รอการอนุมัติวงเงิน กระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกหนังสือ SET ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลการหยุดกิจการชั่วคราวของ KKC ตามที่ บริษัทกุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) (KKC) แจ้งหยุดกิจการชั่วคราวระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2567 รายละเอียดปรากฏตามข่าวของบริษัทวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.12 น. นั้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลดังกล่าวเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน และขอให้ไช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ของ KKC

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างแก้ไขเหตุเพิกถอนกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์ โดยหลักทรัพย์ของบริษัทอยู่ระหว่างการเปิดให้มีการซื้อหรือขายชั่วคราวด้วยบัญชี Cash Balance เป็นระยะเวลา 1 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2567-26 กรกฎาคม 2567) และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย SP หลักทรัพย์ของบริษัทตั้งแต่ วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะสามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนได้ วันที่ 17 กรกฎาคม 2567

ทั้งนี้ สำหรับ บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) เป็นโรงงานคอมเพรสเซอร์แห่งแรกของไทย ผลิตคอมเพรสเซอร์อุปกรณ์ทำความเย็นในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศที่พาธุรกิจ มากว่า 40 ปี 

'รัดเกล้า' เผย ‘Depa’ เดินหน้าโครงการ ‘Coding for Better Life’ ขับเคลื่อนโมเดลพัฒนาคนดิจิทัล สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย

(19 ก.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เดินหน้าโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างยั่งยืน ภายหลังที่ประชุม ครม. (9 มกราคม 2567) รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการดังกล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กิจกรรม Coding Bootcamp และ Coding Roadshow ภายใต้โครงการ Coding for Better Life มี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ Coding Bootcamp Coding Roadshow และ Coding War รอบคัดเลือก ที่จะมีการเดินสายทั่วประเทศใน 8 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเริ่มพื้นที่แรกไปแล้ว

(1) เมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2567 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,600 และมีผู้ชมผ่าน FB Live รวมกว่า 23,000 คน 
(2) วันที่ 8-9 กรกฎาคม 2567 กรุงเทพฯ 
(3) วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 จังหวัดอุบลราชธานี 
(4) วันที่ 15-16 กรกฎาคม 2567 จังหวัดพิษณุโลก 
(5) วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่ 
(6) วันที่ 23-24 กรกฎาคม 2567 จังหวัดภูเก็ต 
(7) วันที่ 15-16 สิงหาคม 2567 จังหวัดชลบุรี 
(8) วันที่ 19-20 สิงหาคม 2567 จังหวัดสงขลา

โดยในส่วนของกิจกรรม Coding Bootcamp นั้น จัดขึ้นสำหรับครูและนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ภาคกลางที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 400 คน 100 ทีม เพื่อเรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้งเข้มข้น ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในหัวข้อต่าง ๆ ก่อนคัดเลือก 10 ผลงานยอดเยี่ยมเพื่อเป็น 1 ใน 100 ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน Coding War รอบ Final ที่ MCC Hall เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2567 เพื่อค้นหาสุดยอดผลงาน ชิงเงินรางวัล และรับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันโค้ดดิ้งเวทีระดับนานาชาติอย่าง Seoul International Invention Fair 2024 (SIIF 2024) ณ สาธารณรัฐเกาหลี

โดยกิจกรรม Coding Roadshow จัดขึ้นสำหรับผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยภายในกิจกรรมมีทั้งนิทรรศการ และกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโค้ดดิ้ง เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล 

ส่วนกิจกรรม Coding War เป็นการเปิดพื้นที่ให้ครูและนักเรียนจากโรงเรียนที่สนใจ และส่งใบสมัครเข้าร่วมแข่งขันนำเสนอผลงานและคัดเลือกสู่การเป็น 1 ใน 100 ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน Coding War รอบ Final ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือติดตามรายละเอียดและข่าวสารต่าง ๆ ของโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ได้ทาง www.depa.or.th และเฟซบุ๊กเพจ depa Thailand และ Coding Thailand by depa

‘CARS x' ผนึกกำลัง ‘TPG X’ ยกระดับธุรกิจ ‘รถมือสอง’ ในไทย ชู!! มืออาชีพคัด ‘รถยนต์คุณภาพ’ พร้อมบริการหลังการขายเต็มพิกัด

(19 ก.ค. 67) ดร.สัณหพัฒน ตันติธนาทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ‘CARS x’ กล่าวว่า การร่วมทุนกับ ‘TPG X’ ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนชั้นนำ เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของเรา การร่วมทุนในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถขยายสาขาและสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับธุรกิจรถยนต์มือสองในไทย

โดย CARS x มีความมุ่งมั่นสูงสุดในการคัดสรรรถยนต์คุณภาพ และมีการตรวจเช็กรถ 210 จุดโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมทั้งการดูแลบริการหลังการขายให้กับลูกค้า โดยมีการรับประกันสูงสุด 5 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร และบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างความอุ่นใจในทุกสถานการณ์และเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า เพื่อให้ ‘ทุกการขับขี่มีรอยยิ้ม’

การผนึกกำลังครั้งนี้ CARS x’ ในฐานะที่อยู่ในวงการรถยนต์มือสองมายาวนาน มีความเข้าใจในความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภครวมถึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี จึงมั่นใจว่าการผนึกกำลังในครั้งนี้ร่วมกับ TPG X ที่มีศักยภาพและความพร้อมในทุกด้านจะช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น โดย CARS x ยังคงเน้นเรื่องความเป็นมืออาชีพและคุณภาพในเรื่องรถยนต์มือสอง มุ่งมั่นจะยกระดับธุรกิจรถยนต์มือสองในไทย และในปลายปีนี้มีแผนขยายสาขาเพิ่มเติมเพื่อส่งมอบที่สุดของประสบการณ์การซื้อ-ขายรถยนต์มือสองให้ครอบคลุมการบริการแก่ลูกค้าชาวไทยในฐานะผู้นำตลาดรถมือสองในประเทศ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CARS x สามารถติดต่อได้ที่ Line Official : @carsx หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ www.carsx.info

'แบงก์ชาติ' ชี้!! 'แบงก์พาณิชย์' ทยอยใช้ Biometric ยืนยันตัวตนร่วม OTP สร้างความปลอดภัยแก่ลูกค้าจากภัยไซเบอร์ ที่นับวันจะซับซ้อนมากขึ้น

(19 ก.ค. 67) ตามที่ ‘ธนาคารกลางสิงคโปร์’ ประกาศให้ธนาคารในประเทศสิงคโปร์ ยุติการใช้รหัส OTP (One Time Password) ทำธุรกรรมทางการเงินภายในอีก 3 เดือน โดยจะหันมาออก ‘ดิจิทัล โทเคน’ ผ่านแอปพลิเคชันของแต่ละธนาคารแทน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวงข้อมูลและสวมรอยทำธุรกรรมในรูปแบบ ‘ฟิชชิ่ง’ ซึ่งจะช่วยเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ และการยืนยันตัวตนนั้น

จากกรณีดังกล่าว ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ระบบ OTP ของธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบัน ยังมีความสามารถเพียงพอรองรับ และป้องกันการหลอกลวงในการทำธุรกรรมออนไลน์หรือไม่ และในอนาคต ธปท. มีแนวทางให้ธนาคารพาณิชย์ เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยของลูกค้าจากภัยไซเบอร์ ที่นับวันจะหลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้นในอนาคตอย่างไร

ด้าน น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2566 การยืนยันตัวตนผ่าน mobile banking ของไทย ได้ทยอยเปลี่ยนจากการใช้ PIN ร่วมกับ One-Time-Password (OTP) ที่มาจาก SMS มาเป็นการใช้ PIN ร่วมกับรูปใบหน้า (Facial recognition) ซึ่งเป็น Biometric ที่มีความปลอดภัยสูงกว่า และถือเป็นการยืนยันตัวตน 2 ชั้น ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ดี การใช้ SMS ส่ง OTP ยังคงใช้ในบางธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิต เป็นต้น

สำหรับการใช้งาน Mobile Banking ให้มีความปลอดภัย นั้น ธปท. ได้กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง เช่น การห้ามใช้โทรศัพท์ที่ผ่านการ Root/Jailbreak เข้าใช้งาน mobile banking

นอกจากนี้ ธปท. ได้ยกระดับมาตรการดูแลความปลอดภัย ป้องกันภัยหลอกลวงธุรกรรมออนไลน์ ติดตามรูปแบบภัยต่าง ๆ อีกทั้งมีการประสานความร่วมมือ กับ ‘ศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร’ (TB-Cert) อย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภัยจากแอปดูดเงิน ได้แก่ การตรวจจับการแก้ไข application, การติดตั้งโปรแกรมแปลกปลอมที่ขอสิทธิ์ accessibility, การป้องกันการแก้ไข mobile banking application ของธนาคาร เป็นต้น

9 หุ้นโรงไฟฟ้าปรับตัวลงยกแผง 'BGRIM' ร่วงหนักสุด หลัง 'พีระพันธุ์' สั่งตรึงค่าไฟไว้ราคาเดิมที่ 4.18 บาท

(19 ก.ค. 67) ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยภาคเช้า ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับตัวลงยกแผง หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีคำสั่งให้ตรึงค่าไฟงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเท่าเดิม

1.หุ้น BGRIM ร่วง 9.01% หรืออยู่ที่ 2.00 บาท  หรือระดับราคาอยู่ที่ 20.20 บาท
2.หุ้น GPSC ร่วง 6.13% หรืออยู่ที่ 2.50 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 38.25 บาท
3.หุ้น IRPC ร่วง 1.21% หรืออยู่ที่ 0.02 บาท  หรือระดับราคาอยู่ที่ 1.63 บาท
4.หุ้น EGCO ร่วง 0.97% หรืออยู่ที่ 1.00 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 102.50 บาท
5.หุ้น BANPU ร่วง 0.96% หรืออยู่ที่ 0.05 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 5.15 บาท
6.หุ้น EA ร่วง 0.94% หรืออยู่ที่ 0.05 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 5.25 บาท
7.หุ้น RATCH ร่วง 0.86% หรืออยู่ที่ 0.25 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 28.75 บาท
8.หุ้น GUNKUL ร่วง 0.81% หรืออยู่ที่ 0.02 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 2.46 บาท 
9.หุ้น BPP ร่วง 0.81% หรืออยู่ที่ 0.10 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 12.30 บาท 

ขณะที่ หุ้น GULF ปรับบวกเพิ่ม 1.68% หรือเพิ่มขึ้น 0.75 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 45.50 บาท

อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ ได้เปิดเผยผ่านเพจกรุงเทพธุรกิจ ว่า ก่อนหน้านี้ กกพ. มีแผนที่จะขึ้นค่าไฟฟ้า อีก 20-40 สตางค์ หลังต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ล่าสุด นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ออกมาบอกว่า ไม่ยังไม่ขึ้นค่าไฟ แต่จะยังคงยึดราคาเดิมที่ 4.18 บาท ทำให้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าได้รับผลลบ เพราะไม่สามารถขึ้นค่าเอฟทีได้ ในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2567 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลกระทบเชิงเซนติเมนระยะสั้น แต่ยังคงสะท้อนไม่แน่นอนในอนาคต ขณะที่ประมาณการก็ไม่ได้มีการคิดว่าจะมีการปรับขึ้นค่าไฟ โดยในปีหน้าอาจจะมีการปรับประมาณการณ์ดาวน์ไซด์ ซึ่งก็ยังคงต้องติดตาม เนื่องจากรัฐบาลยังคงยื้ออยู่เพื่อไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top