Wednesday, 14 May 2025
Econbiz

‘ต่างชาติ’ แห่ลงทุนไทย 5 เดือนแรกปี 67 เพิ่มขึ้น 16% สร้างเม็ดเงินทะลุ 71,702 ล้านบาท ‘ญี่ปุ่น’ ครองแชมป์

(27 มิ.ย. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 317 ราย เพิ่มขึ้น 16% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 85 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 232 ราย มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 71,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% 

นายคารม กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น จำนวน 84 ราย คิดเป็น 26% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุนรวม 40,214 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ จำนวน 51 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 5,189 ล้านบาท 3.สหรัฐฯ จำนวน 50 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 1,196 ล้านบาท 4.จีน จำนวน 38 ราย คิดเป็น 12% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 5,485 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง จำนวน 28 ราย คิดเป็น 9% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 12,048 ล้านบาท

“สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนชาวต่างชาติในช่วง 5 เดือนของปี 2567 มีชาวต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 99 ราย คิดเป็น 31% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 106% และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 18,224 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 93% โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 3,523 ล้านบาท จีน 19 ราย ลงทุน 1,803 ล้านบาท ฮ่องกง 11 ราย ลงทุน 5,005 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 38 ราย ลงทุน 7,893 ล้านบาท” นายคารม กล่าว

‘ดร.จ๊ะ ชญณา’ ปั้น ‘Chayanna’ แบรนด์ผ้าไหมไทยธรรมชาติ สืบสานอัตลักษณ์-ภูมิปัญญาไทย มุ่งดันสู่สายตานานาชาติ

ชื่อของ ‘ดร.ชญณา ศิริภิรมย์’ หรือ คุณจ๊ะ โดดเด่นอยู่ในธุรกิจประกันภัย ในฐานะซีอีโอบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาทำตามความฝันของตัวเอง คือทำแบรนด์ผ้าไหมไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

แม้ความฝันจะดูแตกต่างจากอาชีพที่ทำมานานเกือบ 30 ปี แต่ ดร.ชญณา บอกว่า เราสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานบริษัทญี่ปุ่น มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะปรัชญาการทำงานของคนญี่ปุ่น นั่นคือหลัก ‘ikigai’ คือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ที่แท้จริง คือรู้ว่า ตื่นเช้ามาเราต้องทำอะไรเพื่อให้ชีวิตที่เหลืออยู่ หรือต้องรู้ว่ามีชีวิตเพื่ออะไร โดยทำใน 4 สิ่ง ต่อไปนี้คือ 

1.ทำในสิ่งที่ชอบ 
2.ทำในสิ่งที่ถนัด 
3.ทำในสิ่งที่มีรายได้เลี้ยงชีพเพียงพอ 
และ 4.ทำในสิ่งมีประโยชน์กับโลกใบนี้ หากครบ 4 สิ่งนี้ ikigai เกิดแน่นอน

ดร.ชญณา เล่าว่า การที่ตัดสินใจออกมาทำแบรนด์ผ้าไหม เป็นของตัวเอง หลายคนก็เตือนว่า เราจะทำได้เหรอ ไม่ใช่ผ้าไหมทั่วไปด้วย แต่เป็นผ้าไหมธรรมชาติ ที่หาคนทำยาก ใช้เวลาในการทำงาน และต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ด้วยความที่เราเองก็ผูกพันกับผ้าไหม ด้วยการซึมซับจากความรักในผ้าไหมของคุณแม่ ที่เก็บสะสมไว้นับร้อยผืน ผ่านกาลเวลามากว่า 40 ปี ในวันที่เราได้มีโอกาสสัมผัส ทำให้เข้าใจว่าทำไมคุณแม่ถึงรักผ้าไหม เพราะเราเองก็ตกหลุมรักในทันที เพราะผ้าไหมมีความพิเศษคือมีชีวิตชีวา ซึ่งนอกจากงดงามด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เนื้อผ้ายังสามารถปรับอุณหภูมิได้อย่างน่าอัศจรรย์ และเมื่อนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นชุด ในแบบที่ทันสมัย ก็สามารถสวมใส่ออกงานได้ ใช้ในชีวิตประจำวันก็โก้เก๋ ไม่ซ้ำใคร คนเห็นต่างทักว่าสวย หลายคนขอซื้อ จนตอนนี้แทบจะไม่เหลือแล้ว

“จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่า เราควรจะนำผ้าไหม ซึ่งเป็น ‘ศิลปะแห่งภูมิปัญญา’ ออกแบบโดย ‘ศิลปินพื้นบ้าน’ มีเรื่องราวในทุกผืนผ้า มาพัฒนาเป็นแฟชั่น ที่สามารถสวมใส่ได้หลากสไตล์ ลงตัวในทุกโอกาส ในแบบที่เป็นตัวเอง และสามารถทำตลาดได้ทั่วโลก” คุณจ๊ะ กล่าว 

>>หากันจนเจอคนทอผ้าไหมธรรมชาติ 

จนกระทั่งได้มีโอกาสได้เจอกับคุณสุวลักษณ์ มาศยะ หรือคุณเอ๋ เจ้าของแบรนด์ผ้าไหม ‘โชติกา’ ซึ่งมีชื่อเสียงมากใน อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ครอบครัวของคุณเอ๋ ในอดีตเคยทอผ้าไหมแบบธรรมชาติ แต่ด้วยความนิยมที่ลดลง เพราะต้องใช้เวลาในการทอนาน หาคนทอยาก และขายก็ยากด้วย ทำให้ครอบครัวต้องปรับตัวไปใช้เคมี และจะย้อมธรรมชาติสำหรับการประกวดเท่านั้น และมือทออย่าง คุณเอ๋ และคุณย่าบัวตอง (แม่สามีของคุณเอ๋) แพ้สารเคมี จึงหันไปทำอาชีพอื่น

ด้วยความเสียดายฝีมือและภูมิปัญญาจะตกหาย คุณจ๊ะเลยสั่งครอบครัวของคุณเอ๋ ทำเฉพาะผ้าสีธรรมชาติ เดือนละเป็นร้อยเมตร ในแบรนด์ของ ‘Chayanna’ และขอให้คุณเอ๋ และคุณย่าบัวตอง กลับคืนสู่กี่ทออีกครั้ง ซึ่งทั้งสองมีความสุขกับการได้ทอผ้าไหม เพราะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้สัมผัสทั้งกลิ่นใบไม้ กลิ่นดิน และความนุ่มนวลของเส้นไหม ที่ส่องประกายแวววาว ยามต้องแสงยามเช้า และแสงสุดท้ายของวัน

ส่วนลายที่ย่าบัวตองหลงใหลและทอเป็นหลักคือลายดอกบัว ที่มีความงดงาม วิจิตร ส่วน คุณเอ๋ เป็นผู้ที่มีฝีมือในการให้สี จึงเป็นคนคุม ซึ่งคุณจ๊ะบอกว่า เรื่องแบบนี้สอนกันไม่ได้ ต่อให้ได้โจทย์เดียวกัน และเรียนมาเหมือนกัน คุณเอ๋ สามารถกำหนดสี ให้กลมกลืน สวยงาม ยากต่อการเลียนแบบ กลายเป็นจุดเด่นของแบรนด์ ‘Chayanna’  (ชะ-ยัน-น่า)

>> กว่าจะเป็นแบรนด์ ‘Chayanna’

ในช่วงของการเริ่มต้น คุณจ๊ะ ซื้อเส้นไหมคุณภาพพรีเมี่ยมเกรด 3A จากพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณภาพ และในอนาคตจะประสานกับทางกลุ่มผ้าไหมที่ อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและผลิตเส้นไหมคุณภาพดีแหล่งใหญ่ ให้มาเป็นต้นน้ำสำหรับการผลิตผ้าไหม Chayanna 

และนับเป็นความโชคดีที่ครอบครัวคุณเอ๋ มีคนรุ่นใหม่อย่าง ‘น้องนาเดีย’ สาวสองที่รักการทอผ้าไหม และมีร่างกายที่แข็งแรง เป็นแรงงานคนสำคัญ อดีตเธอเคยย้อมผ้าไหมด้วยเคมี แต่หันมาย้อมสีธรรมชาติ และถูกวางตัวให้ทำทุกอย่าง ตั้งแต่ไปหาโคลนจากหนองน้ำกองแก้ว ซึ่งอยู่หน้าบ้าน ตัดกิ่งไม้เพื่อทำฟืน ตัดใบไม้หลากหลายชนิดในท้องถิ่น เพื่อนำมาต้มให้เกิดสีที่แตกต่างกันไปตามชนิดของใบไม้ ในแต่ละฤดู  

“นอกจากจะได้ความรู้ในการเลือกวัสดุธรรมชาติจากประสบการณ์ตรงแล้ว ยังได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ มาจากหนังสือ ‘สีสร้างสรรค์ Color Creation’ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานให้ไว้ศึกษา นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างที่สุดของครอบครัว” คุณเอ๋ กล่าวอย่างภูมิใจ

ส่วนกรรมวิธีกว่าจะเป็นผ้าไหม คุณเอ๋ เล่าว่า ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถันละเอียดอ่อน ต้องเริ่มจากการเลือกเส้นไหมคุณภาพดี ซึ่งถือเป็นต้นน้ำสำคัญในการผลิตผ้าไหม โดยเริ่มจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนได้ฝักเหลือง จากนั้นนำมาสาวเพื่อให้ได้เส้นไหม แล้วนำมากวักแยกเส้นไม่ให้พันกัน เสร็จแล้วนำมาต้มเพื่อลอกกาวไหม และกวักอีกรอบ ก่อนจะนำไปค้นลำหมี่ให้เป็นไปตามลวดลายที่วางไว้ แล้วนำมามัดลวดลายตามที่ต้องการลงย้อมสี 

สำหรับสีธรรมชาติ ที่ใช้ในการย้อมสี คุณเอ๋จะเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติตามฤดูกาล และหาได้ในท้องถิ่น ได้แก่ ใบสัก ถ้าเป็นใบอ่อน ให้สีชมพูอ่อน แต่ถ้าใบแก่ จะให้สีน้ำตาลทอง, ใบสบู่เลือด (หรือท้องถิ่นเรียกว่าใบตุ๊กตา) ให้สีเขียว, ฝักคูณดิบ ให้สีโทนเหลือง ฝักแก่ให้สีโทนน้ำตาล, ตัวครั่ง ให้สีแดง ชมพู และโอลด์โรส แล้วแต่จำนวนครั้งของการย้อม, มะเกลือดิบ ให้สีเขียวเข้ม ถ้านำมาตากแดดหลาย ๆ ครั้ง จะให้สีโทนน้ำตาล, เปลือกมะพร้าวน้ำหอม ให้โทนสีเทา, ใบหูกวาง ใบอ่อนให้สีน้ำตาลอ่อน ใบแก่ให้โทนสีน้ำตาลแก่ 

นอกจากนี้ กรรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติ ยังมีความมหัศจรรย์ คือ ถ้านำสีที่ได้จากธรรมชาติ ไปผสมกับโคลน ก็จะให้สีที่เข้มขึ้น เช่น ครั่งผสมกับโคลนจะให้สีม่วงกะปิ มะเกลือผสมโคลนจะให้สีเทาเขียว เป็นต้น และถ้านำมาผสมกับปูนขาวก็จะเปลี่ยนสีที่สวยไปอีกแบบ เช่น ผสมกับครั่ง จะได้โทนน้ำตาลชมพู

เมื่อได้สีตามที่ต้องการแล้ว ก็เป็นช่วงของการโอบสี โดยนำเชือกฟางมาโอบไว้ให้แน่น เพื่อแยกให้ได้สีตามที่ต้องการ จากนั้นก็นำมาย้อมสีพื้น แล้วแก้เชือกฟางที่โอบอยู่ออกทั้งหมดก่อนนำไปกวักอีกครั้ง แล้วปั่นใส่หลอดนำไปทอ ซึ่งกระบวนการนี้สำคัญมากเพราะมีการวางลวดลายไว้แล้ว หากเส้นไหมขาดก็ต้องต่อให้สนิท

“ผ้าไหมธรรมชาติแต่ละผืน มีความยาว 4 เมตร ใช้เวลาทอเป็นเดือน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านจึงไม่นิยมทำกันนัก แต่ถ้าไหมธรรมชาติ จะโดดเด่นคือมีความแวววาวสะท้อนแสง เหมือนเพชรร้อยเหลี่ยมที่มองมุมไหนก็สวย ไหมทุกผืนจะแตกต่างกันด้วยสีสันและลวดลาย เนื่องจากเป็นการทำมือ และใช้วัสดุจากธรรมชาติ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความสวยงาม มีชีวิตชีวา และความมหัศจรรย์ของผ้าไหมคือ ปรับอุณหภูมิตามสภาพอากาศ ฉ่ำเย็นเมื่ออากาศร้อน และจะอบอุ่นเมื่ออากาศเย็น”

หลายคนถามว่า ไหมธรรมชาติสีตกไหม และจะซีดเร็วหรือเปล่า ซึ่งเป็นคำถามยอดฮิตของคนขายผ้าไหมมักเจอเสมอ ซึ่งคุณเอ๋ ที่คลุกคลีกับผ้าไหมมาทั้งชีวิตบอกว่า สีสันที่มาจากธรรมชาติฆ่าไม่ตาย สมัยก่อนคนโบราณ ก็ใช้ยางกล้วยผสมกับการย้อมผ้า ทำให้เกิดความคงทนของสี และไม่ตกสี ยิ่งซักยิ่งสวย ยิ่งเก่า ยิ่งมีคุณค่า ผ้าไหมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังมีการเก็บไว้อย่างดี สวยงาม เป็นมรดกที่ล้ำค่าของหลาย ๆ ตระกูล 

>> 4 ลวดลายบนผืนผ้าไหม ‘Chayanna’

แบรนด์ ‘Chayanna’ มีทั้งผ้าทอเต็มผืน และชุดสำเร็จ ที่ถูกออกแบบตัดเย็บอย่างประณีตทุกขั้นตอน จากช่างผู้ชำนาญ เพื่อให้ผู้ที่สวมใส่ สวย เรียบหรู มีความร่วมสมัย มีรสนิยม สวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกไลฟ์สไตล์ และทุกโอกาส ฉีกทุกข้อจำกัดที่เคยมีมา มี 4 ลวดลายที่สร้างสรรค์จากลายโบราณนำมาประยุกต์เพิ่มเติมให้มีเอกลักษณ์และเรื่องราว คือ

-ลายดวงใจดอกแก้ว ประยุกต์จากลายประจำกระทรวงมหาดไทยให้ละมุนอ่อนช้อยสะดุดตาขึ้น 

-ลายบัวหลวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาคุณความดี 

-ลายกุหลาบเล่นไฟ ที่มีความสวยสะดุดตา 

-ลายคั่นนาคพิง ประยุกต์การใส่เทคนิคหมี่คั่นโบราณให้เห็นถึงความมีสไตล์ผู้มาก่อนกาลของคนโบราณ

และได้นำลายทั้ง 4 มาออกแบบเป็น 3 คอลเล็กชันให้เหมาะกับทุกคน คือ
1. Nirvana หรือ นิพพาน สะท้อนถึงความอิ่มเอมในชีวิต ให้ความหมายของชีวิตตัวเองด้วยตัวเอง สงบเย็นสบายชุดจึงถูกออกแบบให้เป็น ‘KIMONO ROBE’ บ่งบอกถึง Unisex Dress มีความทันสมัย โดดเด่น ในแบบที่เป็นตัวเอง

2. Diplomat เป็นการนำคุณค่าของผ้าไหมไทย มาออกแบบให้เป็น Luxury Dress สุภาพ เรียบหรู สามารถสวมใส่เป็นทางการได้ ให้ความรู้สึก Business ที่ยังคงความ Friendly เข้าถึงได้

และ 3. MetrOriental นำความเป็นไทยของผ้าไหม มาออกแบบให้มีกลิ่นอายของความเป็นคนเมืองในแบบเอเชีย หรือ Oriental ใส่ความมีชีวิตชีวา สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน 

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.chayannasilk.com โดย Chayanna มีวางจำหน่ายที่ Thimian Shop โรงแรมสุโขทัย แบงค์คอก ถนนสาทร / O.P. Garden ซอยเจริญกรุง 36 บางรัก และกำลังจะวางขายที่พราวไทย บลูพอร์ต หัวหิน แล้ว เนื่องจากเป็นงานฝีมือพิถีพิถันที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ก็มีติดต่อให้จัดแสดง Silk walk & Talk และจัดจำหน่ายในรูปแบบของ pop up closet งาน exclusive ต่าง ๆ โดยเฉพาะงานนานาชาติ

'รมว.ปุ้ย' โชว์ตัวเลขโรงงานเปิดใหม่ พบสูงกว่าปิดถึง 74% เงินลงทุนใหม่เฉียด 1.5 แสนล้าน เงินหยุดกิจการหาย 1.4 หมื่นล้าน

(27 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวการปิดกิจการโรงงานในปัจจุบันว่า จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า...

ภาพรวมในปี 2567 ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2567 มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน ขณะเดียวกันมีโรงงาน 'เปิดกิจการใหม่' ถึง 848 โรงงาน โดยจำนวนโรงงานเปิดใหม่ 'สูงกว่าปิด' ถึงร้อยละ 74 และเมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนจากการเลิกประกอบกิจการ พบว่า มีจำนวน 14,042 ล้านบาท 

ในขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีเงินลงทุนถึง 149,889 ล้านบาท ซึ่งมีเงินลงทุนมากกว่าปิดกิจการกว่า 10 เท่า และในด้านการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การปิดกิจการมีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน ในขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีการจ้างงานถึง 33,787 คน ซึ่งมีความต้องการแรงงานมากกว่า 21,236 คน 

นอกจากนี้ เมื่อรวมกับโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการจะมีอีกจำนวนกว่า 126 โรงงานเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748  ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4,989 คน

‘ผู้บริหาร LINE MAN’ อ้าแขน!! รับ 'ไรเดอร์-ร้านค้า' Robinhood ลั่น!! "เราเป็นผู้เล่นสัญชาติไทยรายเดียวที่เหลืออยู่"

(27 มิ.ย.67) โรบินฮู้ด (Robinhood) เตรียมประกาศปิดบริการในวันที่ 31 ก.ค.2567 ผ่านการดำเนินงานมา 4 ปี และขาดทุนสะสมกว่า 5.5 พันล้านบาท แม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่ม SCBX อย่างเต็มที่

ฟู้ดดิลิเวอรีสตาร์ตอัปเจ้านี้เปิดตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้วยแนวคิด ‘แอปเพื่อคนตัวเล็กที่ยั่งยืน’ ไม่เก็บค่า GP จากร้านค้า แต่ไม่สามารถแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่าง GrabFood และ LineMan ที่ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 100% (GrabFood 56% และ LineMan 53%) ในขณะที่โรบินฮู้ดมีส่วนแบ่งเพียง 5%

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า ภาพรวมของธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี (Food Delivery) หรือธุรกิจบริการส่งอาหาร ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะไทยมีผู้เล่นหลายรายอยู่ในตลาด หรือถ้าส่งผลกระทบก็ยังคงเป็นเชิงบวก เพราะทำให้การแข่งขันมีผู้เล่นน้อยลง โดยได้กล่าวว่า…

“เมื่อโรบินฮู้ดปิดตัวลง ไลน์แมน วงใน กลายเป็นฟู้ดดิลิเวอรีสัญชาติไทยรายสุดท้ายที่เหลืออยู่ เพราะเป็นบริษัทโดยคนไทยเป็นเจ้าของ ผมได้คุยกับทีมงานโรบินฮู้ด คุยถึงเรื่องว่าพนักงานคนไหนที่ไลน์แมน วงในสามารถรับเข้าทำงานต่อได้บ้าง” 

“ไรเดอร์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของโรบินฮู้ดสามารถที่จะเข้ามาสมัครทำงานกับ ไลน์แมน วงใน ต่อได้เลย โดยเราจะช่วยรับคนเท่าที่จะรับได้เพราะกำลังขยายการเติบโต ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม บางพื้นที่อาจจะยังไม่เข้าถึงบริการ บางพื้นที่อาจต้องรอการเพิ่มบริการ” 

ส่วนร้านค้า 98% ที่อยู่ในแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดก็ได้อยู่กับไลน์แมน วงใน ด้วยแล้ว แต่ร้านค้าไหนที่ประสบปัญหาทางบริษัท ก็ยินดีต้อนรับเสมอ และพร้อมที่จะช่วยเหลือร้านค้าอย่างใกล้ชิด อาจจะพูดได้ว่าการเป็นภารกิจที่ต้องรับไม้ต่อจากโรบินฮู้ด”

สำหรับแนวโน้มของการเติบโตของตลาดดิลิเวอรี คุณยอด ระบุว่า ตลาดดิลิเวอรีปี 2567 นี้ค่อนข้างที่จะเติบโต แม้กำลังซื้อโดยรวมในประเทศไทยอาจจะไม่มากนัก แต่กำลังซื้อออนไลน์ยังมีอยู่ โดยคาดการณ์ว่าตลาดดิลิเวอรีไทยในปีนี้จะโตถึง 10% แต่ไลน์แมน วงในอาจโตมากกว่านั้น

“การเติบโตของไลน์แมน วงใน สำหรับฟู้ดดิลิเวอรียังคงเติบโต เรียกได้ว่าเป็นลำต้นที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะมี product ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนของไลน์เพลย์ (LINE Play) ที่เพิ่มบริการเข้ามาเมื่อปีที่แล้วก็มีมูลค่าธุรกิจที่เติบโตถึง 2 เท่า”

“ผมอยากให้มองฟู้ดดิลิเวอรีเป็นเหมือนอีคอมเมิร์ซของร้านอาหาร แต่เดิมเราต้องเดินไปกินที่ร้าน ซึ่งในตอนนี้เราสั่งมากินที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ แม้โควิดจบคนก็ยังใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะกลายเป็นนิสัยของคนไปแล้ว”

“หากจะบอกว่าธุรกิจดิลิเวอรีทำกำไรไม่ได้เลย หรือไม่มีวันจะทำกำไรได้ ก็คงคิดว่าไม่ใช่ เพราะอย่างผมเห็นตัวเลขกำไรที่วิ่งหลังบ้านทุกวัน คาดว่าในอนาคตก็อาจทำกำไรได้อีกขึ้นอยู่กับสภาพโดยรวมของตลาดด้วย”

“ตลาดต่างประเทศที่มีผู้เล่นน้อยราย เช่น จีน มีผู้เล่นเพียง 2 ราย ซึ่งทั้งสองรายก็สามารถทำกำไรจากกิจการดิลิเวอรีได้ ฝั่งอเมริกาก็มีอีกหลายบริษัทที่สามารถทำกำไรได้ ดังนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับสภาพของตลาด จำนวนผู้เล่น และสภาพเศรษฐกิจของประเทศ แต่สุดท้ายแล้ว ฟู้ดดิลิเวอรีจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่หลายผู้เล่นสามารถทำกำไรได้” 

คุณยอด ยังได้กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล มองว่าหากสามารถใช้จ่ายออนไลน์หรือแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีตัดยอดเงินจากเงินตรงนี้ได้ ก็จะทำให้ช่วยร้านค้ารายย่อยหรือร้านค้าที่ไม่ได้มีหน้าร้านได้มากขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มจำนวนยอดขาย

“ผมได้อ่านความเห็นของกลุ่มสตาร์ตอัป ซึ่งผมก็เห็นด้วยบางรายโดยเฉพาะนายกสมาคมสตาร์ตอัปไทย เขาตั้งคำถามเรื่องการ subsidize ของสตาร์ตอัปหรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่ลงมาทำสตาร์ตอัปเอง 

โดยผมมองว่า หากรัฐบาลจะช่วยเหลือโรบินฮู้ด อยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบว่าทำไมถึงต้องให้การสนับสนุน (subsidize) และจะทำในรูปแบบใด รวมถึงควรพิจารณาว่าการช่วยเหลือควรจำกัดเฉพาะวงการนี้หรือไม่” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวทิ้งท้าย 

อย่างไรก็ดี การปิดตัวลงของโรบินฮู้ด ได้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรียังเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งการแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนดำเนินการสูง และความยากในการรักษาฐานลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องค่า GP ที่สูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อร้านอาหารขนาดเล็ก และผู้บริโภค ในสภาวะที่ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น นักลงทุนเริ่มไม่อดทนกับธุรกิจที่ขาดทุนต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายแพลตฟอร์มต้องปรับตัว ควบรวมกิจการหรือพยายามครองตลาดเพื่อความอยู่รอด

‘สมศักดิ์’ ลั่น!! ‘ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย’ ปี 70 แตะแสนล้าน หลังดันเกษตรกรปลูกเพิ่มจาก 18,000 ไร่ เป็น 1,059,818 ไร่

(27 มิ.ย.67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 21 ภายใต้แนวคิด ‘นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทย สู่เวทีโลก’ ระหว่างวันที่ 3 - 7 กรกฎาคม 2567 ที่ ฮอลล์ 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ว่า การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งยกระดับการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ และยังสอดรับกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์อย่างครบวงจร

>> ไทยเบอร์ 1 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ปัจจุบัน ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย และตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ในปี 2570 ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 104,000 ล้านบาท

กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเสริมพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร โดยในส่วนของ 'ต้นน้ำ' มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรจาก 18,000 ไร่ เป็น 1,059,818 ไร่ เกษตรกรปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้นจาก 5,400 ราย เป็นกว่า 360,000 ราย

'กลางน้ำ' มีโรงงานภาคเอกชนผลิตยาสมุนไพร ประมาณ 1,000 แห่ง โรงงานสกัด 11 แห่ง และโรงพยาบาลที่ผลิตยาสมุนไพรตามมาตรฐาน WHO GMP ทั่วประเทศ 46 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละ 1.5 พันล้านบาท

ในส่วน 'ปลายน้ำ' ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศมีมูลค่า 56,944 ล้านบาท มีการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรมากขึ้น โดยพัฒนาต่อยอดสมุนไพรแชมเปี้ยน 12 รายการ มีผลงานวิจัยมากกว่า 141 โครงการ เพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 6,604 ล้านบาท และยังเพิ่มการลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมเป็น 3,631 ล้านบาท โดยเป็นการวิจัยพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร กว่า 1,295 โครงการ

>> ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังส่งเสริมให้มี ‘ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย’ (Thainess Wellness Destination) ที่นำอัตลักษณ์ความเป็นไทย อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น องค์ความรู้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพรและการแพทย์ทางเลือก มาเชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 5 ประเภท ได้แก่...

1.ที่พักนักท่องเที่ยว
2.ภัตตาคารหรือร้านอาหาร
3.นวดเพื่อสุขภาพ
4.สปาเพื่อสุขภาพ
และ 5.สถานพยาบาล

ปัจจุบันมีศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทยที่ผ่านการรับรองทั่วประเทศแล้ว 73 แห่ง ในปี 2567 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ขับเคลื่อนโครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก เดินหน้าให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ

และสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรที่ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 94 แห่ง ไปสู่ชุมชนสุขภาพดี เพื่อให้เป็นที่รู้จักและรองรับนักท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

>> มหกรรมสมุนไพร แจกฟรีต้นพันธุ์สมุนไพร

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 21 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 7 กรกฎาคม 2567 ที่ ฮอลล์ 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด ‘นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทย สู่เวทีโลก’ เพื่อแสดงคุณค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ ให้คนไทยและคนทั่วโลกมั่นใจในผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น.

สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 6 โซน ได้แก่...

-โซนวิชาการ มีการประชุมและการประกวดผลงานด้านแพทย์แผนไทยฯ

-โซน Service มีคลินิกให้คำปรึกษา ตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยฯ และคลินิกบำบัดยาเสพติด โซน Wisdom พบหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ หมอพื้นบ้าน 4 ภูมิภาค การนวดอัตลักษณ์ไทยและสมุนไพรอัตลักษณ์จาก 76 จังหวัด

-โซน Product ให้คำปรึกษาเรื่องการส่งออกและภาพรวมตลาดสมุนไพร

-โซน Wellness ให้บริการนวดไทย โชว์โมเดลสปาเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพกว่า 300 ร้านค้า

-และโซน Innovation ให้คำปรึกษา นวัตกรรมและวิจัยพัฒนา การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมต้นแบบ ตลอดจนการอบรมหลักสูตรระยะสั้นและตลาดความรู้

-แจกต้นพันธุ์และเมล็ดพันธุ์สมุนไพรฟรีวันละ 1,000 ชิ้น และการเรียนรู้สวนสมุนไพรและสมุนไพรหายากภายในงาน เป็นต้น ซึ่งตลอด 5 วันของการจัดงานคาดว่าจะมีเงินสะพัดมากกว่า 300 ล้านบาท

'บิ๊กสหพัฒน์ฯ' เปิดตัว ‘MILKIE WAY’ ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ ท้าชน 'ตู้เต่าบิน' ปักธงวางตลาดไตรมาสแรกปี 68

(27 มิ.ย.67) จากบทสัมภาษณ์ของกรุงเทพธุรกิจ เปิดเผยว่า ‘ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี’ ได้เปิดตัว ‘ตู้ MILKIE WAY’ โดย เวทิต โชควัฒนา กรรมการ บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ MILKIE WAY เพราะมองเห็น ‘โอกาส’ จากมีผู้เล่นในตลาดสามารถแจ้งเกิดตู้ได้ สร้างความโด่งดังเป็นกระแสนิยมให้กับผู้บริโภคได้อย่างดี ขณะที่ ‘ซันเวนดิ้ง’ ก็โด่งดังมานาน จึงคิดพัฒนาประกอบตู้อีกแบบเข้าสู่ตลาด

"เดิมเราทำตู้เวนดิ้ง แมชชีน เราคือ เบอร์ 1 มีจำนวนตู้ให้บริการ 1.67 หมื่นตู้ เราเน้นธุรกิจนี้เป็นหลัก ในฐานะเราเป็นลีดเดอร์จึงมองว่าต้องมีตู้แบบนี้ด้วย(ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ) เรามีการผลิตตู้ ขาย ให้เช่า ตู้เวนดิ้งทั้งหมดมาจากเรา จึงอยากให้ทุกคนมองเราคือ วัน สต๊อป เวนดิ้ง โซลูชั่น อยากให้มองว่าเราทำได้"

สำหรับการเลือกตั้งชื่อแบรนด์ว่า MILKIE WAY เพราะมีความหมายยิ่งใหญ่ในกรอบของกาแล็กซี 'ทางช้างเผือก' โดยเครื่องดื่มที่จะจำหน่ายในตู้เบื้องต้น มีประมาณ 40 เมนู ทั้งเครื่องดื่มผสมโซดา กาแฟ เครื่องดื่มปั่น เช่น มัทฉะปั่นในตำนาน สตรอว์เบอร์รีโยเกิร์ต ลิ้นจี่กุหลาบโซดา และมอคค่า เอสเฟรสโซ่ โกโก้ ฯลฯ พร้อมเปิดราคาแนะนำที่ 19 บาท เฉพาะในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน 2567 เฉพาะในงานเมนูละ 19 บาท 

ส่วนราคาขายเมนูเครื่องดื่มที่ตั้งไว้สูงสุดจะอยู่ที่ราว 50 บาทต่อแก้ว โดยตู้ MILKIE WAY สามารถเสิร์ฟเครื่องดื่มได้มากถึง 500 แก้วต่อวัน โดยพร้อมจะเปิดตัวทำตลาดในไตรมาสแรก ปี 2568

>> ลุยธุรกิจแฟรนไชส์ต่อยอดโต
การขยายธุรกิจตู้เวนดิ้ง แมชชีน บริษัทยังเปิดกว้างโอกาสด้วยการส่งโมเดล ‘แฟรนไชส์’ เจาะลูกค้าทั่วไทยที่ต้องการนำตู้เวนดิ้ง แมทชีนไปจำหน่ายสินค้า ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ซี 1 ราย อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วน ‘ตู้ MILKIE WAY’ จะยังไม่มีแฟรนไชส์เพราะต้องการยกระดับมาตรฐาน คุณภาพให้มั่นใจก่อน โดยเฉพาะ ‘ความสะอาด’ สำคัญมาก ต้องมีทีมงานคอยดูแลตู้ทุกวัน

“ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ MILKIE WAY เราให้ความสำคัญกับการดูแลความสะอาด การกำหนดมาตรฐาน เพราะตู้รูปแบบดังกล่าวต้องดูแลค่อนข้างมาก”

>> ตู้ชงเครื่องดื่มร้อน-เย็นทำตลาดมา 20 ปี มีกว่า 1,000 ตู้
ด้าน พิศณุ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีตู้ชงเครื่องดื่มร้อน และเย็นทำตลาดตอบสนองผู้บริโภคมาราว 20 ปี แต่ส่วนใหญ่เป็นเมนูราคา 5-7 บาท และตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เร่งรีบ เช่น พนักงานโรงงานต่างๆ เป็นต้น โดยมีจำนวนตู้ให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายมากกว่า 1,000 ตู้ โดยเฉพาะพื้นที่โรงงานครองสัดส่วนถึง 70%

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ MILKIE WAY จะเห็นไตรมาส 1 ปีหน้า กลยุทธ์เบื้องต้นจะประกอบคู่กับตู้เวนดิ้งแมชชีนของบริษัทในทำเลต่างๆ

“เราเห็นโอกาสเพราะมีผู้ทำตลาดค่อนข้างประสบความสำเร็จ แม้เทรนด์จะเริ่มลดลงก็ตาม แต่เราทำโอเปอเรชันอยู่แล้วเกือบ 1.7 หมื่นตู้ จึงต้องการเสริมตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ MILKIE WAY เพิ่มออปชันให้ลูกค้าของเรา”

สำหรับการพัฒนาปรับปรุงตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ MILKIE WAY ปัจจุบันต้นทุนอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อตู้ ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งที่ต้นทุนราว 2 แสนบาทต่อตู้

>> ลุยทวงคืนส่วนแบ่งตลาดตู้เวนดิ้ง แมชชีน
พิศณุ กล่าวอีกว่า ภาพรวมธุรกิจตู้เวนดิ้งแมชชีนปี 2567 จะเป็นปีแห่งการทวงคืนส่วนแบ่งทางการตลาดให้กลับไปอยู่ในระดับสูงขึ้น โดยบริษัทเคยครองส่วนแบ่งถึง 60% ของตลาด กระทั่งมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น ส่วนแบ่งทางการตลาดจึงปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 45%

“ตู้เวนดิ้ง แมชชีน เราเป็นเบอร์ 1 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 45% เมื่อก่อนเราเคยอยู่สูงถึง 60% แต่ลงมาเพราะคู่แข่งมากขึ้น ตอนนี้คู่แข่งไม่ค่อยสบาย เชื่อว่าปลายปีนี้ส่วนแบ่งตลาดเราจะกลับขึ้นมาเติบโต”

>> เต่าบินรับน้อง (ทุน) ใหญ่
พลันที่คู่แข่งหน้าใหม่เปิดหน้าท้าชน ด้าน ‘เต่าบิน’ ผู้นำตลาด ที่ตู้สามารถชงเครื่องดื่มสารพัดได้ถึง 200 เมนู สร้างยอดขายทะลุหลายร้อยแก้วต่อวัน และยิ่งกว่านั้นเป้าหมายใหญ่ ‘เต่าบิน’ ต้องการมีตู้ให้บริการทะลุ ‘1 หมื่นตู้’ ในปีนี้ ก็ถือโอกาสเปิดตัวแคมเปญการตลาด จัดโปรโมชันดึงดูดลูกค้า จังหวะเหมาะเหมือน ‘รับน้อง’ ที่เป็นทุนใหญ่ 

โดย ‘เต่าบิน’ ได้เผยว่า "เรียนคุณลูกค้าที่น่ารัก เพื่อประกาศขอเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความตื่นเต้น!! ด้วยกิจกรรมสุดพิเศษจะจัดขึ้นในครึ่งปีหลังไปจนถึงต้นปีหน้า มูลค่าของรางวัลที่ทางเต่าบินจะทำการแจกทั้งสิ้น 5.9 ล้านบาท แต่ขออุบเอาไว้ก่อนว่าแจกอะไรบ้าง เพื่อประกาศ 1 กรกฎาคมนี้...

"ส่วนขั้นตอนการลุ้น เพียงแค่ทำการสั่งซื้อเครื่องดื่มทุก ๆ 15 บาทก็มีสิทธิร่วมตื่นเต้นกับการลุ้นรางวัล ซึ่งการสะสมสามารถร่วมได้ตั้งแต่ 17 มิถุนายน 2567 สะท้อน ‘รับน้องของแท้’ เพราะรางวัลยังกั๊กไว้ แถมสะสมสิทธิย้อนหลังได้"

'ใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน' นวัตกรรมแปรรูปเกษตรเหลือทิ้ง มอบความหวังแก้ปัญหา PM2.5 ยั่งยืน รายแรกของเมืองไทย

(28 มิ.ย.67) ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี ให้บริการวิชาการและวิจัยการแปรรูปชีวมวลเหลือทิ้ง มาเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆ เพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล ทำงานวิจัยเกี่ยวกับชีวมวลหลากหลาย โดยได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งปัญหาของชีวมวลประเภทหนึ่งเรียกว่า ‘ชีวมวลเบา’ เช่น ใบอ้อย ฟางข้าว ถ้าขนย้ายเพื่อนำไปทำพลังงานทางเลือกจะมีปัญหาค่าขนส่งแพง คนนำไปใช้ไม่คุ้ม

โดยเฉพาะ ‘ใบอ้อย’ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเบาชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาที่ศูนย์วิจัยจุฬาฯ สระบุรี ว่าจะมีแนวทางการแปรรูปอย่างไร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมเกษตรกรไม่ให้เผาอ้อย ซึ่งสุดท้ายได้แนวคิดว่า ชีวมวลเบาทุกชนิดจำเป็นจะต้องทำให้เป็นชีวมวลหนาแน่นก่อน จึงได้มีการทดลองผลิตเป็นเชื้อเพลิงแข็งหนาแน่นประเภท ‘อัดเม็ด’

หลังจาก ศูนย์วิจัยจุฬาฯศึกษาการนำใบ้อ้อยมาอัดเม็ดสำเร็จ จึงศึกษาวิจัยการ ‘อัดก้อน’ โดยได้รับทุนวิจัยจาก บพข. และ สกว. ศึกษาเรื่องใบอ้อยอัดก้อนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว พบว่าการนำใบอ้อยมาอัดเป็นก้อนทำให้มีความหนาแน่นมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการขนส่ง คือจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ขณะที่ต้นทุนการขนส่งลดลงเกือบ 3 เท่าตัว ที่สำคัญเชื้อเพลิงนี้มีความชื้นต่ำ เก็บรักษาได้นาน การป้อนเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ทำได้ง่าย ไม่เกิดฝุ่นขณะการป้อน อีกทั้งยังสามารถเผาใบอ้อยอัดก้อนให้เป็นถ่านที่เรียกว่า ‘ไบโอชาร์’ ได้ สามารถนำไปใช้เพื่อคิดเป็นคาร์บอนเครดิต นี่คือปลายทางที่จะได้จากการแปรรูปดังกล่าว

ปัจจุบัน บริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส จำกัด ได้นำงานวิจัยดังกล่าว ไปแก้ปัญหาการเก็บเกี่ยวอ้อย ที่มีเรื่องการเผาเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีรถตัดอ้อย ต้องใช้คนเก็บเกี่ยว จึงจำเป็นต้องเผา บริษัท ทรัพย์ถาวรฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวไร่ มีพื้นที่ปลูกอ้อยหลายพันไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ทางบริษัทมีรถตัดอ้อยเก็บเกี่ยว จึงไม่ได้มีการเผาอ้อย และยังสามารถนำใบอ้อยที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวขายให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล อีกส่วนหนึ่งบริษัทก็รับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรในเครือข่ายด้วย แต่ปัญหาคือการขนใบอ้อยเป็นฟ่อนๆ ไม่คุ้มกับต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากรถบรรทุกน้ำหนัก 25 ตัน ใช้ขนใบอ้อยได้แค่ 17-18 ตันก็เต็มคันรถ ทางบริษัทจึงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะแปรรูปใบอ้อยก่อนส่งขายให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อสะดวกในการขนส่งและใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ด้วย

บริษัทได้รับคำแนะนำจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ไปดูงานวิจัยของศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี และได้พบงานวิจัยการแปรรูปใบอ้อยเป็น ‘ใบอ้อยอัดเม็ดและอัดก้อน’ ถือเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย ที่นำงานวิจัยไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้  แม้การนำใบอ้อยไปผลิตกระแสไฟฟ้าจะมีมานานแล้ว แต่รูปแบบการใช้เป็นการนำใบอ้อยไปป่นก่อนทำเป็นเชื้อเพลิง แต่ของทางบริษัทเป็นรูปแบบการอัดเม็ดหรืออัดก้อน ขนส่งสะดวก เก็บไว้ได้นาน มีความชื้นต่ำและมีความหนาแน่นสูง ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้หลายประเภท

ขณะที่เครื่องจักรซึ่งนำมาใช้ในการแปรรูปใบอ้อยเป็นใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน บริษัท ทรัพย์ถาวร ได้พันธมิตรคือ บริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) มาผลิตให้ โดยจุดเริ่มต้นความร่วมมือมาจากการที่ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. มีความชำนาญในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ต้องการใช้ความชำนาญในอุตสาหกรรมดังกล่าว มาพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ทางปาล์ม ฯลฯ 

บริษัท ที.เอ็ม.ซี. ได้ทำการศึกษาว่า มีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่ไหนบ้าง ที่สามารถแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมขั้นสูง และพบว่า ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี ทำเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว มีการตั้งศูนย์สระบุรีขึ้นมา เพื่อการวิจัยด้านการเกษตรเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. จึงเข้าไปขอใช้บริการทางวิชาการ โดยให้จุฬาฯช่วยถ่ายทอดงานวิจัย เพื่อผลิตเป็นเครื่องจักรกลการเกษตรแบบต่างๆ

พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจุฬาฯ สระบุรี ได้แนะนำผู้บริหารบริษัท ที.เอ็ม.ซี. ให้รู้จักกับผู้บริหารบริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส ซึ่งมีความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตโดยคนไทย มีนวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาแปรรูปใบอ้อยเป็นผลิตภัณฑ์ใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสองบริษัทมีความร่วมมือกัน โดย บริษัท ที.เอ็ม.ซี.มีความชำนาญในด้านการผลิตเครื่องจักรกล ส่วน บริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส มีวัตถุดิบใบอ้อยที่ต้องการแปรรูป

ความร่วมมือของสองบริษัทที่มี ศูนย์วิจัยจุฬาฯ สระบุรี เป็นจุดเชื่อมโยง จึงเปรียบเสมือนการนำร่องแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร แก้ปัญหาการเผา ลดมลพิษ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในอนาคตอาจมีโรงงานแบบนี้เกิดขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศ เพราะใบอ้อยเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ถ้านำมาทำประโยชน์ด้านพลังงานทางเลือกได้ ก็จะช่วยลดการเผา ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ไม่ใช่ได้ประโยชน์เฉพาะชาวไร่ แต่ได้ทุกฝ่าย แม้กระทั่งประเทศชาติก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาทุกปี นอกเหนือจากไร่อ้อย ยังสามารถนำไปปรับใช้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างอื่น เช่น ข้าว ข้าวโพด หรือ ใบไม้ต่าง ๆ ก็สามารถเก็บมาขายให้กับโรงงานแปรรูปได้ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมบีซีจี ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! 'กองทุน Thai ESG-ต่างชาติถือครองอสังหาฯ' น่าสน เชื่อ!! เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชั้นดี ในยามที่รัฐไม่มีทางเลือกมากนัก

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ' เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีความพยายามจากรัฐบาลที่จะออกมาตรการเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึง การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนของปี 2567 การตั้งวงเงินงบประมาณปี 2568 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ การออกมาตรการกระตุ้นตลาดหุ้นโดยใช้กองทุน Thai ESG การให้ต่างชาติถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศได้มากขึ้น

มาตรการเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากสังคมในทางที่ดี เพราะส่วนใหญ่ (ยกเว้นธนาคารแห่งประเทศไทย) เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีอาการหนักในขณะนี้ และจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน แม้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มลดดอกเบี้ยแล้วก็ตาม และแม้ว่าบางมาตรการอาจสร้างภาระต่อผู้เสียภาษีอยู่บ้าง แต่รัฐบาลก็ไม่มีทางเลือก เพราะ ธปท. ดื้อแพ่งที่จะไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงิน ยังคงหลงระเริงอยู่กับโลกแห่งความฝันที่สวยหรู และทำทุกอย่างที่สวนทางกับนโยบายการคลัง เสมือนว่าเป็นรัฐอิสระในประเทศไทย

มาตรการเหล่านี้ คาดว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีในระยะสั้น การให้ต่างชาติเช่า/ถือครองอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น เป็นมาตรการที่ดีมาก ไม่ถือเป็นการขายชาติที่นักการเมืองลัทธิชาตินิยมบางคนชอบอ้าง แต่กลับจะช่วยให้มีเงินทุนต่างชาติเข้ามากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยที่รัฐไม่ต้องใช้เงินผู้เสียภาษีแม้แต่แดงเดียว ส่วนมาตรการกองทุน Thai ESG แม้ว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้อยู่บ้าง เนื่องจากให้ผู้ลงทุนหักค่าลดหย่อนได้ถึง 300,000 บาท แต่ก็จะช่วยให้มีเม็ดเงินใหม่จำนวนมากเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความเหมาะสม แต่อาจจะยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุแห่งความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ดูเหมือนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุดที่สุดจะมีทางเดียวคือ การเปลี่ยนตัวผู้ว่า ธปท.

‘พีระพันธุ์’ ตรึงราคา LPG 3 เดือน ก.ค. - ก.ย. 67 พร้อมชงช่วยค่าน้ำมันบัตรคนจน 120 บ./ด. นาน 3 เดือน

เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 2/2567 (ครั้งที่ 66) ซึ่งเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางผู้มีรายได้น้อย และเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ราคาพลังงานในอนาคต

นายพีระพันธุ์เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน และมีการสรุปบทเรียนที่ได้จากการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่ผ่านมา รวมทั้งข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานต่อไป

โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำเป็นแผนงาน/ข้อริเริ่มโครงการ อาทิ การปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้ช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบัน ทางคณะทำงานฯ กำลังเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมและมาตรการบริหารวิกฤตการณ์พลังงาน (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567 เพื่อกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนแผนงาน/ข้อริเริ่มโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรตั้งแต่ภาวะปกติ แนวทางการบูรณาการที่จำเป็นของประเทศ และการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และได้มีมติให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป

นายพีระพันธุ์ยังได้กล่าวถึง ความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้เปราะบางในช่วงที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องตลอดปี 2567 เนื่องจากปัจจัยด้านราคาในตลาดโลก โดยที่ประชุมได้พิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาน้ำมันสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 13,570,169 ราย และเป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางที่แท้จริง

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ ‘มาตรการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ซึ่งจะให้สิทธิเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าน้ำมัน (กลุ่มเบนซิน และกลุ่มดีเซล โดยให้ใช้กับยานพาหนะ) แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 120 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2567 และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานหารือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอเรื่องขออนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มสถานีบริการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

‘สุริยะ’ อัปเดตความคืบหน้า ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ปักธง!! เข็น ‘ทุกสี-ทุกสาย’ เข้าร่วมภายในเดือน ก.ย.68

(28 มิ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ยืนยันว่านโยบายนี้จะแล้วเสร็จ รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายจะมีค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายตามเป้าหมายในเดือน ก.ย. 2568

ทั้งนี้ในปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนคู่สัญญา และผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อให้มีผลในการปรับโครงสร้างและบูรณาการรถไฟฟ้าทุกโครงการ

"การปรับลดราคาค่าโดยสารนั้น รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อสัญญาสัมปทาน เพราะรัฐบาลจะจัดหาวงเงินชดเชยรายได้ที่หายไป" นายสุริยะ กล่าว

ขณะเดียวกันในปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางจัดหาเงินชดเชย คาดว่าจะจัดตั้งเป็นกองทุนตั๋วร่วมที่นำเงินมาจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ส่วนผลการศึกษาเบื้องต้น คาดว่าจะจัดใช้วงเงินชดเชยประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี โดยหากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ปริมาณจ่ายเงินชดเชยก็จะลดลงอย่างต่อเนื่อง 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2568

จากข้อมูลการศึกษาล่าสุด มั่นใจว่าในช่วงกลางปี 2568 จะสามารถนำรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว 3 สายในปัจจุบัน เข้าร่วมนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง
เนื่องจากทั้ง 3 โครงการดังกล่าว อยู่ภายใต้การดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถเจรจากับเอกชนคู่สัญญาและปรับลดราคาค่าโดยสารได้ ซึ่งทางภาครัฐจะจัดหาเงินชดเชยรายได้ที่หายไป โดยไม่ให้กระทบต่อสัญญาสัมปทาน

“ขณะนี้รถไฟฟ้าที่พร้อมจะปรับราคาตามนโยบาย 20 บาทตลอดสาย จะเป็นรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การกำกับของ รฟม. ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นที่มีสัญญาสัมปทาน เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็คงต้องรอให้ พรบ.ตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้ จะมีผลในการปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสาร ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลภายในปี 2568” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับปัจจุบันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่มใช้ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยจากข้อมูลตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2567 หรือประมาณ 7 เดือนครึ่ง พบว่า ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรวม 2 สาย 20.86 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.94%

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 (16 ต.ค.2565-31 พ.ค.2566) ซึ่งผู้โดยสารอยู่ที่ 17.68 ล้านคน โดยสายสีแดง ผู้โดยสาร 6.21 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27.61%

นอกจากนี้สายสีม่วง ผู้โดยสาร 14.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.53% ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการ ส่งผลให้การสูญเสียรายได้ของทั้ง 2 สายลดลงจากที่คาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top