Wednesday, 14 May 2025
Econbiz

‘จุรินทร์’ เตรียม "ลงนามข้อตกลงขายข้าว 1 ล้านตันต่อปี" หลังครม.อนุมัติร่าง MOU การค้าข้าว ไทย - อินโดนีเซีย เพิ่มโอกาสส่งออกข้าวไทยเจาะตลาดอินโด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำ MOU ว่าด้วยการค้าข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ของไทย กับ กระทรวงการค้าแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้แจ้งความประสงค์ขอจัดทำ MOU และได้ประชุมหารือประเด็นดังกล่าวผ่านระบบ Video Conference กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อช่วงปลายปี 2563 โดยสาระสำคัญของ MOU ดังกล่าวระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจะซื้อขายข้าวปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตของทั้งสองประเทศและระดับราคาในตลาดโลก ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการเจรจาและทำสัญญากันต่อไป โดยที่ MOU ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี

"รัฐบาลอินโดนีเซียขอทำ MOU โดยเป็นข้าว 15% - 25% กับรัฐบาลไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสำรองข้าว เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ หากเกิดเหตุการณ์ที่ปริมาณผลผลิตข้าวภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (self-sufficiency policy) ส่งเสริมการปลูกข้าวภายในประเทศ เพื่อให้เพียงพอและนำเข้าเท่าที่จำเป็น แต่ในบางปีอินโดนีเซียประสบปัญหาผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพื่อบริโภคและเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศ "

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การทำข้อตกลง หรือ MOU ดังกล่าว จะเป็นโอกาสให้รัฐบาลอินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดอินโดนีเซียให้มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือ ทางการค้าข้าวอันดีระหว่างไทยและอินโดนีเซียที่มีมาอย่างยาวนานด้วย

ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศ รายงานว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกข้าวไป อินโดนีเซีย ปริมาณ 89,406 ตัน มูลค่า 2,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 46.23

กรมบังคับคดีจัดโครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทยช่วยลูกหนี้จากโควิด-19 ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 91.51% ลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงผลการช่วยเหลือลูกหนี้ในกระบวนการบังคับคดี จากการจัดโครงการ ‘ไกล่เกลี่ยทั่วไทยร่วมใจช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019’ ตามข้อสั่งการของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสร้างสังคมที่เป็นสุข

สำหรับโครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทยร่วมใจช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโคโรน่า 2019 จะช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระแก่เจ้าหนี้ได้ ซึ่งกรมบังคับคดีได้จัดให้มีโครงการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2564 - 31 มี.ค. 2564 ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดีและสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ 116 แห่ง โดยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เจรจากัน ให้ลูกหนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ต้องถูกบังคับคดีหรือถูกฟ้องล้มละลาย

นางอรัญญา กล่าวอีกว่า กรมบังคับคดี ได้ร่วมกับสถาบันการเงิน บริษัทบัตรเครดิต บริษัทลิสซิ่งเช่าซื้อ โดยผลการจัดโครงการดังกล่าว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 459 เรื่อง ทุนทรัพย์ 214,489,235.06 บาท ผลไกล่เกลี่ยสำเร็จ 345 เรื่อง ทุนทรัพย์ 147,935,604.71 บาท ความสำเร็จของการไกล่เกลี่ยฯ คิดเป็นร้อยละ 91.51

ทั้งนี้กรมบังคับคดียังได้ยกระดับการให้บริการ ด้วยการเปิดบริการยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ของกรมบังคับคดี www.led.go.th การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Session Call โดยผู้ประสงค์จะเข้าไกล่เกลี่ยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรมบังคับคดี หมายเลขโทรศัพท์ 02 881 4840,02881 4940 , 02887 5072 หรือสายด่วนกรมบังคับคดี 1111 กด 79 และสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีมติขยายเวลาการปรับลดการผลิตที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือน เม.ย. 64

อีกทั้งซาอุดีอาระเบีย ยังอาสาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไปอีก 1 เดือน ไปสิ้นสุดเดือนเม.ย. 64 สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าโอเปกพลัสจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนเม.ย. 64 ที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

รวมทั้งข่าวกลุ่มกบฏฮูตีของเยเมนยิงโดรนและขีปนาวุธ เพื่อหวังโจมตีแห่งอุตสาหกรรมน้ำมันของซาอุดีฯ โดยยิงถังเก็บน้ำมันที่ท่าเรือรัสทานูรา หนึ่งในเมืองท่าน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก และโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทซาอุดี อารามโค

ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าว มีผลให้ทิศทางราคาน้ำมันสูงขึ้นแล้ว ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันยังได้แรงสนับสนุนจากความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด -19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาพรวมน้ำมันมีทิศทางที่จะปรับตัวสูงขึ้น

สวทช. เผยผลงานวิจัย ‘เนื้อไก่จากโปรตีนพืช’ พร้อมเตรียมจัดงาน NAC2021 เสิร์ฟงานวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ครั้งแรก! บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ 25 - 30 มีนาคมนี้

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำลังจะมีการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (16th NSTDA Annual Conference: NAC2021) ภายใต้แนวคิด ‘30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคม 2564 เพื่อให้สอดรับกับวิถี New Normal

โดยในงานนี้จะมีทั้งกิจกรรมสัมมนา นิทรรศการ การจัดกิจกรรมเยี่ยมชม Open House การรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี S&T Job Fair และกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน หลังจากที่ได้มีการผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นวาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตามจากงานแถลงข่าวดังกล่าว ทาง สวทช. ได้นำ 7 ตัวอย่างผลงานวิจัยซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะมีให้ชมในวันจัดงานจริงผ่านระบบออนไลน์มาแสดง

หนึ่งในตัวอย่างงานผลงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช (Plant-based chicken meat) พัฒนาขึ้นโดยอาศัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างของอาหาร และคุณสมบัติของโปรตีน ประกอบกับการใช้สารที่ทำหน้าที่ยึดเกาะ และเส้นใยอาหารที่เหมาะสมในการสร้างเนื้อสัมผัสให้คล้ายคลึงกับเนื้อไก่

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถปั้นขึ้นรูปได้ง่ายภายหลังการปั่นผสม และสามารถนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแช่แข็ง เช่น วิธีการทอด ย่าง ผัด หรือ แกง ทำให้ง่ายต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมากนัก มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อไก่

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์มีปริมาณโปรตีนประมาณ 10 - 16% ใยอาหารประมาณ 6 - 10% และไขมันจากพืชที่ปราศจากไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลประมาณ 6 - 9% โดยปริมาณสารอาหาร และความนุ่มของผลิตภัณฑ์ฯ ขึ้นอยู่กับปริมาณส่วนผสมที่ใช้ในสูตรที่สามารถปรับได้ตามความต้องการ


ที่มา: https://www.facebook.com/1523107561151019/posts/3496377517157337/

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เล็งเสนอศบค. เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 1 เม.ย. 64 ลดเวลากักตัวคนฉีดวัคซีนแล้วเหลือ 7 วัน ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดกัก 10 วัน นำร่อง 6 จังหวัดท่องเที่ยว ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี และพังงา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 19 มี.ค.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอให้พิจารณาเกี่ยวกับการลดจำนวนวันกักตัวท่องเที่ยวต่างชาติจาก 14 วัน แยกเป็น

1.) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก เข้ากักตัวในโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการแอเรีย ควอรันทีน เพียง 7 วัน แต่ไม่ต้องอยู่เฉพาะในห้องพัก สามารถออกมาทำกิจกรรมภายในบริเวณที่กำหนดได้ แล้วค่อยสวอปหาเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ถ้าไม่เจอเชื้อถึงจะสามารถออกไปท่องเที่ยวได้

2.) นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมา ต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก แล้วเข้ากักตัว 10 วัน ก่อนสวอปเชื้ออีกครั้ง จากนั้นถึงจะสามารถท่องเที่ยวได้

ทั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ และรัฐบาลจะออกไทม์ไลน์อย่างชัดเจนว่าทุก ๆ 2 เดือนนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 64 จะผ่อนปรนได้ขนาดไหนและอย่างไร โดยนำร่อง 6 จังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา และจอมเทียน) และพังงา (เขาหลัก) ที่เพิ่งเพิ่มมาล่าสุด เนื่องจากมีความต้องการจากนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน

ในห้องแนะแนว Clubhouse วันก่อนมีการสนทนาที่น่าสนใจระหว่าง โจ้ - ธนา เธียรอัจฉริยะ ซึ่งได้พูดคุยร่วมกับ เอ๋ - นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) และ พี่ตุ้ม - หนุ่มเมืองจันท์ (สรกล อดุลยานนท์) ร่วมกับ คุณตัน ภาสกรนที เจ้าของ อิชิตัน กรุ๊ป

มีอยู่ประเด็นหนึ่งภายใต้บทสนทนาของทั้ง 4 ซึ่งกล่าวถึงเส้นทางความสำเร็จแบบตัน โดยเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ได้มีการหยิบยกส่วนหนึ่งมาโพสต์เป็นข้อความที่ชวนคิดต่อคนทำงานในยุคนี้อย่างมากว่า…

คุณตันทำอย่างไรถึงถีบตัวขึ้นมาจากการเป็น ‘จับกัง’ ซึ่งอยู่ ‘ล่างสุด’ ของห่วงโซ่อาหารได้?

คุณตันผู้ซึ่งบอกก่อนเลยว่าเป็นคนการศึกษาน้อย ‘รูปไม่หล่อ พ่อไม่รวย’ มีต้นทุนชีวิตที่ต่ำมาก ๆ นั้น ใช้วิธีอาสาสมัครทำทุกอย่างที่คนอื่นไม่ทำ ตอนเป็นจับกังแบกของอยู่ ใครใช้ไปส่งของก็ไปส่ง กลับมาก็มาบริการทำงานให้หัวหน้า ใช้อะไรก็ทำหมด เงินเดือนเท่าเดิม ไม่เคยเกี่ยงงาน

พอมีโอกาส มีตำแหน่งว่าง หัวหน้าก็ยื่นโอกาสเป็นเซลล์ให้ เป็นเซลล์ต้องขี่เวสป้าได้ คุณตันขี่ไม่เป็นก็รับไว้ก่อน แล้วไปหัดขี่มอเตอร์ไซด์เอา

พอได้เป็นเซลล์ก็ทำตรงข้ามคนอื่นเสมอ คนอื่นมาสายกลับเร็ว คุณตันไปเร็วกลับช้า งานอะไรใครใช้ ช่วยอะไรได้ทำหมด

ประสบการณ์ที่ทำหลายแผนก เจอคนหลายคน ทำให้เรียนรู้และก้าวหน้า ซึ่งความคิดของคุณตันในตอนนั้น ก็คือ เงินที่คุณตันหาคือ ‘เงินอนาคต’ วันนี้ได้น้อย แต่ประสบการณ์และโอกาสที่ได้นั้นคือเงินอนาคต และก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ

เพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ โพสต์ต่ออีกว่า ผมมานึกถึงสีหน้าคุณตันที่มีหลักคิดแบบนั้น เวลาหัวหน้าใช้งานที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง เช่น ให้ไปส่งของ หรือหาอาสาสมัครทำงานเวลาแปลกๆ หรือแม้กระทั่งถามว่าขี่มอเตอร์ไซด์เป็นหรือเปล่า ผมคิดว่าพอได้ยินคำสั่งหรือคำถามเหล่านั้น คุณตันน่าจะดูตื่นเต้น ‘ตาโต’ และรีบยกมืออาสาก่อนคนอื่นอย่างแน่นอน เพราะเหมือนเห็นเงินอนาคตกองอยู่ สีหน้าคุณตันคง น่าจะทำให้หัวหน้าสังเกตเห็นและชอบเรียกใช้เพราะไม่เกี่ยงงาน มีอะไรก็จะนึกถึงตลอดแน่ ๆ

ในขณะเดียวกัน ผมก็จะนึกถึงน้อง ๆ หลายคนที่พอได้ยินคำพูดที่ไม่ถูกใจ ที่อาจจะเกิดจากงานที่ไม่ชอบทำ กำลังเบื่อ ๆ ไม่อยากทำอะไรที่ไม่ใช่ของตัวเอง ไม่ชอบทำงานฟรี ๆ เงินได้เท่าเดิม คิดเล็กคิดน้อย ชอบเทียบกับเพื่อน แถมไวกับความรู้สึกตัวเองแล้วออกอาการ ‘ชักสีหน้า’ มีความไม่พอใจเล็ก ๆ

พอสังเกตเห็น คิ้วเริ่มชนกัน หรือมีคำพูด คำอ้างที่ไม่อยากทำ รับมาแบบเสียไม่ได้ หรือทำไปบ่นไปให้เข้าหู เวลามีงานด่วน งานเร่ง หรืองานที่ต้องแก้ปัญหา

ถ้าหลีกเลี่ยงน้อง ๆ เหล่านี้ได้ ผมก็จะหลีกเลี่ยง เพราะเสียความรู้สึกเวลาเห็นสีหน้าที่ไม่ค่อยพอใจ และในลักษณะคล้ายกัน ถ้ามีโอกาส มีงานที่อยากส่งเสริม น้อง ๆ เหล่านี้ ก็จะเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่นึกถึงเช่นกัน

ทัศนคติวิธีคิดเรื่องเงินอนาคตของคุณตันนั้น มีส่วนสำคัญมาก ๆ ต่อปฏิกริยาที่แสดงออกทางสีหน้า ซึ่งเป็นที่ชอบใจของหัวหน้า

ฉะนั้นไม่ว่าเราจะคิดอะไรต่อการใช้งานของหัวหน้า ไม่ว่างานนั้นจะแฟร์หรือไม่แฟร์ ทำไมคนอื่นไม่โดนบ้าง เป็นงานเกินหน้าที่ หรืออะไรก็ตาม สีหน้าที่แสดงออก ณ วินาทีนั้น มีความสำคัญมากๆ ที่จะสร้างภาพจำของเราต่อหัวหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อเวลาที่โอกาสมาถึงว่าเราจะอยู่ในใจของผู้ใหญ่ก่อนคนอื่นหรืออยู่ท้ายสุด

พูดง่าย ๆ ก็คือ ในโลกปัจจุบัน ต่อให้เราไม่เห็นด้วยแค่ไหน ก็ควรทำ ‘หน้า’ ที่ดูตอบรับ ดูรับฟัง และพยายามก่อน แล้วหาทางไปแก้ปัญหาทีหลัง ยังจะดีเสียกว่า

โดยเฉพาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มงานได้ไม่นาน ยังเป็น ‘จูเนียร์’ อยู่ หนทางที่เราจะก้าวหน้าในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร อย่า ‘ชักสีหน้า’ โดยเด็ดขาด เพราะไม่งั้น ก็จะแพ้คนอย่างคุณตันที่เจอปัญหาแล้ว ‘ตาโต’ เสมอ

เมื่อเจอ ‘งาน’ หรือ ‘ปัญหา’ จะ ‘ชักสีหน้า’ หรือ ‘ตาโต’ ก็ลองเลือกเอา


ที่มา: https://www.facebook.com/101815121284197/posts/291639775635063/

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 64 อยู่ที่ 49.4 จาก 47.8 ในเดือน ม.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังสถานการณ์โควิดเริ่มซา พร้อมได้อานิสงส์มาตรการรัฐหนุน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.พ.64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการกลับมาปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 63 เป็นต้นมา โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 47.8 เป็น 49.4 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มปรับตัวลดลง รวมทั้งมีการเริ่มต้นการฉีดวัคซีนเกิดขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หากการฉีดวัคซีนในประเทศมีแผนการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศดำเนินการได้กว้างขวางขึ้นในอนาคต เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไป และจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไปด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ประเมินว่า ผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการควบคุมโควิด-19 ในไทยว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเยียวยาผลกระทบรอบใหม่ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 2 จาก โครงการ “เราชนะ” “คนละครึ่ง” และ “ม33เรารักกัน” ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลง อย่างไรหลังจากการปรับครม.ไปแล้ว

เศรษฐกิจเวียดนามแซงไทยแล้วจริงหรือ?? | BizMAX EP.29

จากข่าว "เวียดนาม ไม่ทำตัวเป็น 'กบต้ม' วิ่งฉิวไปต่อไม่รอใคร"

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021022315

ประเทศเวียดนามในขณะนี้มีการแซงหน้าประเทศไทยในเรื่องของเศรษฐกิจหลายดัชนี ทั้งในเรื่องของการส่งออก #Export ทุนต่างชาติไหลเข้า #FDI (แม้ไทยยังคงมี GDP และ GDP per capita สูงกว่าเวียดนาม) แล้วประเทศไทยจะมีวิธีการแข่งขัน งัดไม้เด็ดมาสู้ทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างไร มาร่วมวิเคราะห์กันกับ หยก THE STATES TIMES  

.

นอกจากไวรัสโคโรน่าจะสร้างวิกฤติต่อภาคธุรกิจบางกลุ่ม แต่ในธุรกิจบางกลุ่มก็สามารถเติบโตขึ้นมาได้ โดยเฉพาะกับธุรกิจบริการด้านอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเข้ามาช่วยลดขั้นตอนในการสื่อสารระหว่างองค์กรและยังช่วยให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จรวดเร็วมากขึ้น

ควบคู่ไปกับการประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า

นายอเล็กซ์ โลท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SYMC กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันหลายองค์กรมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนากระบวนการต่างๆ ในธุรกิจ (Digital Transformation) และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วตลอดจนสร้างผลกำไรในระยะยาว ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตชั้นนำ จึงมีนโยบายที่จะนำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Services เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายหลัก และนำเสนอประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าของ SYMC ได้ในอนาคต

โดยสิ่งที่เริ่มต้นไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือการผนึกกำลังกับ บริษัท ครีเดน เอเชีย จำกัด พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพิสูจน์และยืนยันตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) และบริการลงลายมือชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เข้าถึงบริการในรูปแบบดิจิทัลได้ด้วยความรวดเร็ว ปลอดภัย ลดขั้นตอนในการติดต่อสื่อสาร แต่ยังสามารถใช้บริการสำคัญได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเวลาและสถานที่ อันสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าและวิวัฒนาการของการดำเนินธุรกิจที่ได้ปรับเปลี่ยนไปภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19

"ในอนาคตยังมีแผนจะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้บริการด้าน e-Service อื่นๆ ให้ครบวงจร อาทิ การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ปรับรูปแบบจากกระดาษเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี มีความน่าเชื่อถือ ลดปัญหาการจัดการข้อมูลหรือเอกสารในรูปแบบกระดาษ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประมวลผลในระบบสารสนเทศ เพื่อทำให้ธุรกิจลูกค้าสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวเท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป"    นายอเล็กซ์ กล่าว

ด้าน นายสุวัฒน์ เจษฎางษ์กุล หัวหน้าสายงานธุรกิจใหม่และกลยุทธ์ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า e-Services จะเป็นเป้าหมายทางธุรกิจใหม่ที่เข้ามาสร้างโอกาสสำคัญให้กับบริษัท จากการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าที่มีอยู่พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการนำดิจิทัลสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการอำนวยความสะดวก ที่สำคัญคือลดต้นทุนในการบริหารงาน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยาวแบบเห็นผลได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ SYMC จึงได้ขยายแผนธุรกิจที่เน้น Digital Transformation ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ธุรกิจของลูกค้า และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันได้เป็นอย่างดี

"ขณะนี้บริษัทได้เริ่มนำเสนอบริการ e-KYC และ e-Signature ให้กับหลากหลายธุรกิจแล้ว โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการของตัวเองที่ต่างกันไป อาทิ ธุรกิจโรงแรมและธนาคาร ลูกค้าสามารถลงทะเบียนจองคิวเพื่อรับบริการในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ล่วงหน้า เมื่อเดินทางมาถึงสถานที่ให้บริการนั้น ๆ เพียงแค่ยืนยันตัวตนและถ่ายภาพผ่านแพลตฟอร์ม e-KYC ก็สามารถเข้าใช้บริการได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการรอคิว หากเข้าใช้บริการในครั้งถัดไป เพียงแค่ถ่ายภาพและเข้ารับบริการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องทำการยืนยันตัวตนหรือแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้เกิดความยุ่งยาก ส่วนธุรกิจโรงพยาบาล แพทย์สามารถลงนามในใบรับรองแพทย์ได้ตลอดทุกที่ทุกเวลา เพื่อนำส่งเอกสารส่งไปยังแผนกอื่น ๆ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนได้ต่อไปอย่างรวดเร็วแม้แต่การเคลมประกัน เพราะมีการเชื่อมต่อ API ระหว่างบริษัทประกันและโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังมองไปถึงกลุ่มธุรกิจที่จะเกิดประโยชน์จากการใช้บริการ e-Services เพื่อตอบโจทย์การบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ที่ช่วยตอบสนองการทำงานในองค์กรที่เน้นความคล่องตัว สามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ กลุ่มธุรกิจที่มีเครือข่ายอยู่คนละประเทศ ที่ต้องมีการส่งเอกสารหรือยืนยันเอกสารสำคัญกันระหว่างประเทศ จนถึงกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ก็ได้ประโยชน์โดยตรงจากบริการเหล่านี้เช่นเดียวกัน"

ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยและความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างแน่นอน โดย e-KYC มีเทคโนโลยี Face Verification และ Artificial Intelligence (AI) ในการตรวจสอบใบหน้าและข้อมูลบัตรประชาชนกับกรมการปกครองผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่รวดเร็ว และยังเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ส่วนบริการ e-Signature ที่ทำให้เซ็นเอกสารธุรกรรมออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ที่รองรับได้ทุกรูปแบบ

ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์พีซี โดยข้อมูลมีความปลอดภัยสูงจากการตรวจสอบของเทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) เอกสารดิจิทัลมีการประทับเวลาบันทึกตามมาตรฐาน e-Stamping ของ TEDA หรือ Trusted Electronic Document and Authentication จัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud) หรือเซิร์ฟเวอร์ (Server) สามารถเรียกดูและตรวจสอบได้ตลอดเวลา

สำหรับองค์กรธุรกิจที่สนใจในบริการทางด้าน e-Services ที่ครบวงจรสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่โทร. 02-101-1111 หรือ e-mail : [email protected]

หอการค้าไทย - จีน มั่นใจ เศรษฐกิจฟื้น พร้อมชง ศบค. เร่ง ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ คาดช่วยนักท่องเที่ยวปีนี้เพิ่ม 8 ล้านคน ย้ำ!! หากช้าจะเสียโอกาสให้ประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า

หอการค้าไทย - จีน ได้จัดทำผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจหอการค้าไทย - จีน ซึ่งสำรวจความคิดเห็นจากคณะกรรมการหอการค้าไทย - จีน และสมาคมธุรกิจ รวม 409 คน ต่อภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยสำรวจในระหว่างวันที่ 18 - 26 ก.พ.2564 พร้อมทั้งมีข้อเสนอให้รัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย - จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย - จีน จะทำหนังสือถึงศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้รีบดำเนินมาตรการออก ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ให้เร็วที่สุดภายในเดือน มี.ค.2564 หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มมีทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการออกวัคซีนพาสปอร์ตแล้ว ศบค.ควรกำหนดให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนพาสปอร์ต ไม่ต้องกักตัวแล้ว เพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องกักตัวแล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 ล้านคน และคาดว่าในจำนวน 8 ล้านคน จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 2 ล้านคน

“หอการค้าไทย - จีน อยากให้รัฐบาลรีบดำเนินการเรื่องของวัคซีน พาสสปอร์ต ให้เร็วที่สุด เพราะหากช้าไทยสูญเสียตลาดนักท่องเที่ยวให้กับประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งขณะนี้คนจีนมีความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศมาก ประเทศที่เป็นตัวเลือกก็คือ เอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย เพราะเห็นว่าประเทศไทยปลอดภัย”

นอกจากนี้ หากมีวัคซีนพาสปอร์ต ออกมาภายในเดือน มี.ค. คาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้อย่างช้าสุดภายในเดือน เม.ย.เป็นต้นไป ส่วนการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีก 2 ปี หรือประมาณปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

ส่วนการชุมนุมทางการเมืองจะกระทบต่อการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจีนไม่กังวล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ก็ไปท่องเที่ยวตามหัวเมืองหลักของประเทศ โดยจังหวัดหลักที่นักท่องเที่ยวต้องการไป คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา

สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจหอการค้าไทย - จีน พบว่า 60% มั่นใจเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในไตรมาส 2 จะเติบโตต่อเนื่อง แม้จะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในส่วนของการส่งออกของไทยไปจีน ผลสำรวจส่วนใหญ่เห็นว่าการส่งออกของไทยไปจีนจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตต่อเนื่อง และการนำเข้าของไทยจากจีนก็เริ่มฟื้นตัวเช่นกัน รวมทั้งแนวโน้มการลงทุนในไทยของนักลงทุนจีนจะไม่ลดลงและมีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้าประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากมาตรการการสนับสนุนการท่องเที่ยวและการมีวัคซีน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจีนได้เริ่มมีการฉีดให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หอการค้าไทย - จีน คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 1.5 - 2.5% เพราะยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ด้าน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ต่อเนื่องไปถึงปี 2565 ปัญหาเสถียรภาพการเมือง เศรษฐกิจโลกที่ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ภาครัฐและหนี้ครัวเรือนของไทย และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไทยกำลังทยอยฉีดว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน

รวมทั้งผลสำรวจยังเห็นว่า การฉีดวัคซีนจะมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย และเห็นด้วยว่าหากต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว โดยเฉพาะจะช่วยหนุนภาคท่องเที่ยวของไทยที่รับผลกระทบหนัก และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ดังนั้นจึงสนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว และต้องการเข้ามาเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทย โดยขอให้ภาครัฐเร่งรัดการออกนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีเวลาเตรียมตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้วางแผนการท่องเที่ยวล่วงหน้า

“ดัชนีเชื่อมั่นในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 เห็นแนวโน้มการขยายตัวทางการค้าไทยและจีน สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในเดือน ม.ค.2564 และการค้าไทยและจีนมีมูลค่า 7,579 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.11% ซึ่งผลสำรวจส่วนใหญ่มองการส่งออกไปจีนในปีนี้จะเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการเศรษฐกิจจีนปีนี้เติบโต 8.1% เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทย”

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจรายสาขาที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังคงเป็นธุรกิจออนไลน์มากที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจพืชผลเกษตร โลจิสติกส์ ธุรกิจบริการสุขภาพ และเกษตรแปรรูป ในขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่เห็นว่าควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/926950


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top