ในห้องแนะแนว Clubhouse วันก่อนมีการสนทนาที่น่าสนใจระหว่าง โจ้ - ธนา เธียรอัจฉริยะ ซึ่งได้พูดคุยร่วมกับ เอ๋ - นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) และ พี่ตุ้ม - หนุ่มเมืองจันท์ (สรกล อดุลยานนท์) ร่วมกับ คุณตัน ภาสกรนที เจ้าของ อิชิตัน กรุ๊ป

มีอยู่ประเด็นหนึ่งภายใต้บทสนทนาของทั้ง 4 ซึ่งกล่าวถึงเส้นทางความสำเร็จแบบตัน โดยเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ได้มีการหยิบยกส่วนหนึ่งมาโพสต์เป็นข้อความที่ชวนคิดต่อคนทำงานในยุคนี้อย่างมากว่า…

คุณตันทำอย่างไรถึงถีบตัวขึ้นมาจากการเป็น ‘จับกัง’ ซึ่งอยู่ ‘ล่างสุด’ ของห่วงโซ่อาหารได้?

คุณตันผู้ซึ่งบอกก่อนเลยว่าเป็นคนการศึกษาน้อย ‘รูปไม่หล่อ พ่อไม่รวย’ มีต้นทุนชีวิตที่ต่ำมาก ๆ นั้น ใช้วิธีอาสาสมัครทำทุกอย่างที่คนอื่นไม่ทำ ตอนเป็นจับกังแบกของอยู่ ใครใช้ไปส่งของก็ไปส่ง กลับมาก็มาบริการทำงานให้หัวหน้า ใช้อะไรก็ทำหมด เงินเดือนเท่าเดิม ไม่เคยเกี่ยงงาน

พอมีโอกาส มีตำแหน่งว่าง หัวหน้าก็ยื่นโอกาสเป็นเซลล์ให้ เป็นเซลล์ต้องขี่เวสป้าได้ คุณตันขี่ไม่เป็นก็รับไว้ก่อน แล้วไปหัดขี่มอเตอร์ไซด์เอา

พอได้เป็นเซลล์ก็ทำตรงข้ามคนอื่นเสมอ คนอื่นมาสายกลับเร็ว คุณตันไปเร็วกลับช้า งานอะไรใครใช้ ช่วยอะไรได้ทำหมด

ประสบการณ์ที่ทำหลายแผนก เจอคนหลายคน ทำให้เรียนรู้และก้าวหน้า ซึ่งความคิดของคุณตันในตอนนั้น ก็คือ เงินที่คุณตันหาคือ ‘เงินอนาคต’ วันนี้ได้น้อย แต่ประสบการณ์และโอกาสที่ได้นั้นคือเงินอนาคต และก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ

เพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ โพสต์ต่ออีกว่า ผมมานึกถึงสีหน้าคุณตันที่มีหลักคิดแบบนั้น เวลาหัวหน้าใช้งานที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง เช่น ให้ไปส่งของ หรือหาอาสาสมัครทำงานเวลาแปลกๆ หรือแม้กระทั่งถามว่าขี่มอเตอร์ไซด์เป็นหรือเปล่า ผมคิดว่าพอได้ยินคำสั่งหรือคำถามเหล่านั้น คุณตันน่าจะดูตื่นเต้น ‘ตาโต’ และรีบยกมืออาสาก่อนคนอื่นอย่างแน่นอน เพราะเหมือนเห็นเงินอนาคตกองอยู่ สีหน้าคุณตันคง น่าจะทำให้หัวหน้าสังเกตเห็นและชอบเรียกใช้เพราะไม่เกี่ยงงาน มีอะไรก็จะนึกถึงตลอดแน่ ๆ

ในขณะเดียวกัน ผมก็จะนึกถึงน้อง ๆ หลายคนที่พอได้ยินคำพูดที่ไม่ถูกใจ ที่อาจจะเกิดจากงานที่ไม่ชอบทำ กำลังเบื่อ ๆ ไม่อยากทำอะไรที่ไม่ใช่ของตัวเอง ไม่ชอบทำงานฟรี ๆ เงินได้เท่าเดิม คิดเล็กคิดน้อย ชอบเทียบกับเพื่อน แถมไวกับความรู้สึกตัวเองแล้วออกอาการ ‘ชักสีหน้า’ มีความไม่พอใจเล็ก ๆ

พอสังเกตเห็น คิ้วเริ่มชนกัน หรือมีคำพูด คำอ้างที่ไม่อยากทำ รับมาแบบเสียไม่ได้ หรือทำไปบ่นไปให้เข้าหู เวลามีงานด่วน งานเร่ง หรืองานที่ต้องแก้ปัญหา

ถ้าหลีกเลี่ยงน้อง ๆ เหล่านี้ได้ ผมก็จะหลีกเลี่ยง เพราะเสียความรู้สึกเวลาเห็นสีหน้าที่ไม่ค่อยพอใจ และในลักษณะคล้ายกัน ถ้ามีโอกาส มีงานที่อยากส่งเสริม น้อง ๆ เหล่านี้ ก็จะเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่นึกถึงเช่นกัน

ทัศนคติวิธีคิดเรื่องเงินอนาคตของคุณตันนั้น มีส่วนสำคัญมาก ๆ ต่อปฏิกริยาที่แสดงออกทางสีหน้า ซึ่งเป็นที่ชอบใจของหัวหน้า

ฉะนั้นไม่ว่าเราจะคิดอะไรต่อการใช้งานของหัวหน้า ไม่ว่างานนั้นจะแฟร์หรือไม่แฟร์ ทำไมคนอื่นไม่โดนบ้าง เป็นงานเกินหน้าที่ หรืออะไรก็ตาม สีหน้าที่แสดงออก ณ วินาทีนั้น มีความสำคัญมากๆ ที่จะสร้างภาพจำของเราต่อหัวหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อเวลาที่โอกาสมาถึงว่าเราจะอยู่ในใจของผู้ใหญ่ก่อนคนอื่นหรืออยู่ท้ายสุด

พูดง่าย ๆ ก็คือ ในโลกปัจจุบัน ต่อให้เราไม่เห็นด้วยแค่ไหน ก็ควรทำ ‘หน้า’ ที่ดูตอบรับ ดูรับฟัง และพยายามก่อน แล้วหาทางไปแก้ปัญหาทีหลัง ยังจะดีเสียกว่า

โดยเฉพาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มงานได้ไม่นาน ยังเป็น ‘จูเนียร์’ อยู่ หนทางที่เราจะก้าวหน้าในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร อย่า ‘ชักสีหน้า’ โดยเด็ดขาด เพราะไม่งั้น ก็จะแพ้คนอย่างคุณตันที่เจอปัญหาแล้ว ‘ตาโต’ เสมอ

เมื่อเจอ ‘งาน’ หรือ ‘ปัญหา’ จะ ‘ชักสีหน้า’ หรือ ‘ตาโต’ ก็ลองเลือกเอา


ที่มา: https://www.facebook.com/101815121284197/posts/291639775635063/