'อ.พงษ์ภาณุ' ซัด!! ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังแบงก์ชาติดำเนินนโยบายพลาดเป้า
(30 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดของประเทศไทย ตอนจบ ไว้ว่า…
ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อ 29 พฤศจิกายน น่าจะถือเป็นการยอมรับความผิดพลาดทางนโยบาย (Policy Blunder) ที่เกิดจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่ลืมหูลืมตาภายหลังการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่ยอมรับความผิดอย่างสง่าผ่าเผยแบบลูกผู้ชาย แต่กลับโยนความผิดให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง ซึ่งสังเกตได้จากแถลงการณ์ที่ออกมาหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีการอ้างถึงการไม่มี Digital Wallet เป็นเหตุให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
การเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศไทย เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวได้บ่งบอกมาระยะหนึ่งแล้วว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืดค่อนข้างสูง ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากตัวเลขจริงที่มีการทยอยประกาศออกมา อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างแรงและต่อเนื่องจนถึงระดับติดลบในเดือนตุลาคม และน่าจะติดลบต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายนด้วยเมื่อมีการประกาศออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สภาพัฒน์ฯ ประกาศ GDP ไตรมาส 3 มีอัตราเติบโตเพียง 1.5% ทั้งๆ ที่การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา
ทั้งนี้เพราะอุปสงค์ในประเทศเหือดหาย และถูกกดโดยนโยบายการเงิน ซึ่งยืนยันจากปริมาณสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราเติบโตติดลบต่อเนื่องมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนตรงกันข้ามกับข้ออ้างของธนาคารแห่งประเทศไทยและนักวิชาการ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายคน ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ความเป็นอิสระของธนาคารกลางต้องมีควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและกรอบนโยบาย เมื่อมีการดำเนินนโยบายผิดพลาดจากเป้าหมายอย่างมากมายจนเกิดความเสียหายในวงกว้าง น่าจะถึงเวลาที่ต้องมีคนรับผิดชอบแล้ว ถ้าเป็นธนาคารกลางอื่นผู้ว่าการฯ คงจะลาออกไปนานแล้วครับ