Wednesday, 2 July 2025
Econbiz

‘สุริยะ’ เตรียมชง ครม. สร้างมอเตอร์เวย์ 2 สาย วงเงิน 8.7 หมื่นลบ. ช่วงรังสิต-บางปะอิน และบางขุนเทียน-บางบัวทอง คาด!! เปิดใช้ปี 71

(27 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าขณะนี้ได้เสนอโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่จำนวน 2 โครงการ ที่มีความพร้อม ไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้วเพื่อรอบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คือโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5)  ระยะทาง 22 กม. และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทองระยะทาง 35.85 กม.

โดยจะมีการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน คาดว่าจะนำเสนอ ครม.พิจารณาได้ในเดือนม.ค. 2567 

สำหรับ โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,280 ล้านบาท จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว การออกแบบรายละเอียด (Detail& Design) เสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับอนุมัติแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

ปัจจุบันเส้นทาง ‘ดอนเมืองโทลล์เวย์’ ที่เปิดให้บริการจากดินแดง-อนุสรณ์สถาน-รังสิต ระยะทาง 25 กม. ซึ่งถนนพหลโยธินยังมีปัญหารถติด การต่อขยายเส้นทางออกไป เชื่อมไปถึง Junction บางปะอินซึ่งจะเป็นจุดตัดของทางหลวงและมอเตอร์เวย์มอเตอร์เวย์ 3 สาย จะช่วยแก้ปัญหาจราจรบนถนนพหลโยธิน

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท จะเป็นการก่อสร้างปรับปรุงเพื่อยกระดับการให้บริการวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกเต็มรูปแบบ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บริเวณเกาะกลางของถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นที่ กม.0 ที่ต่างระดับบางขุนเทียนและสิ้นสุดที่ กม.36 ต่างระดับบางบัวทอง มีทางขึ้น 8 จุด ทางลง 6 จุดและมีทางแยกต่างระดับ 5 แห่ง (บางขุนเทียน บรมราชชนนี ศรีรัชบางใหญ่ และบางบัวทอง) มีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คิดตามระยะทาง ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและก่อสร้างปี 2567-2570 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2571

'พิมพ์ภัทรา' เผย!! นายกฯ รับ 'นิคมฯ สระแก้ว' เป็นพื้นที่ศักยภาพสูง เหมาะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เล็งหาแนวทางจูงใจนักลงทุนเพิ่มขึ้น

(27 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก และชื่นชมที่ กนอ.จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วสำเร็จตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม พัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปสินค้าเกษตรรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรสู่อาเซียน 

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมายังมีปัญหาอุปสรรคในด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราค่าเช่าที่ดินระยะยาวที่สูง และข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EIA ที่กำหนดไม่ให้มีปล่อง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงปัญหาดังกล่าว และมีนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้พื้นที่ที่มีศักยภาพนี้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้มากขึ้นตามนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2562 มีพื้นที่ 660 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียว 64 ไร่ มีพื้นที่ขายเช่า 433 ไร่ สามารถขายได้ 26 ไร่ มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนแล้ว 4 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เสื้อผ้า 3 ราย อุตสาหกรรมทำเบาะรถ ชิ้นส่วนยานยนต์ 1 ราย และที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ อีก 2 ราย โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้วมุ่งเน้นกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (EIA) จึงไม่อนุญาตให้โรงงานที่มีปล่องมาตั้งในนิคมฯ ได้ ส่งผลให้ประเภทอุตสาหกรรมที่สามารถตั้งได้นั้นมีจำกัด ซึ่ง กนอ. มีแนวคิดที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วต่อไป เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังพบว่าหากสามารถเปิดกว้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ทุกประเภทกิจการที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคที่พบคือ ที่ดินราคาค่าเช่าสูง เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นผู้กำหนดค่าเช่า กนอ.จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจรจากับกรมธนารักษ์ ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่า เพื่อจูงใจนักลงทุนในพื้นที่ โดยล่าสุดทราบว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับทางกรมธนารักษ์แล้ว คาดว่าจะทราบผลการหารือได้ในเร็วๆ นี้ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำด้วยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรในกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMVT ได้อีกด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้

"ผมเชื่อว่า หากนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้สำเร็จ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างมาก" ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย

‘WHA’ ผนึก ‘บ.จีน’ ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนหลังคาโรงงาน จ.ชลบุรี ช่วยลดปล่อยคาร์บอน 3 หมื่นตัน-การใช้ถ่านหิน 1.5 หมื่นตัน/ปี

(27 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานจากจังหวัดชลบุรี ระบุว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของไทยตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) ในจังหวัดชลบุรี ร่วมก่อสร้างโดยผู่หลิน เฉิงซาน บริษัทของจีน และดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA Group) นักพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทย

กำลังการผลิตติดตั้งของโครงการฯ ระยะที่ 1 อยู่ที่ 19.44 เมกะวัตต์ เริ่มต้นดำเนินงานเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2022 ส่วนระยะที่ 2 คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นภายในปีหน้า โดยกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดจะอยู่ที่ 24.24 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้ารายปีสูงเกิน 30 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของไทยแห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 30,000 ตัน และการใช้ถ่านหินมาตรฐาน 15,000 ตัน ในแต่ละปี หลังดำเนินงานและเชื่อมต่อกับโครงข่ายการไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

‘นายกฯ’ รับเรื่อง ‘รมว.ปุ้ย’ ชงลดค่าเช่าที่ดินจูงใจนักลงทุน ช่วยดัน!! ‘นิคมฯ สระแก้ว’ ผงาด!! สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่

สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าบ้านรับการมาเยี่ยมเยือนของ นายกฯ นั้น 

ผู้สื่อข่าวเผยถึงสาระสำคัญที่ ‘นายกฯ นิด’ ได้หารือกับ ‘รมว.ปุ้ย’ ในหลายประเด็น แต่หนึ่งในประเด็นที่ทั้งคู่ต่างมองเห็นเป็นนัยเดียวกัน คือ ทิศทางและศักยภาพของจังหวัดสระแก้ว ที่สามารถพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอนาคตได้ต่อจากนี้

แน่นอนว่า ในสายตาของนายกฯ ที่ได้ลองสำรวจและศึกษาข้อมูลพื้นที่ ก็ดูจะเข้าใจแบบเชิงลึกได้ทันทีที่ว่า จังหวัดสระแก้วนี้ มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจที่สูงมากขนาดไหน

“นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรในกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMVT ได้อีกด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้” นายกฯ กล่าว

หลังจากนั้น รมว.ปุ้ย ได้กล่าวเสริมให้ นายกฯ ทราบอีกด้วยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ถือเป็นหนึ่งในโครงการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone: SEZ) ที่มีการวางไว้ 10 จังหวัดชายแดนต้นแบบได้แก่ ตาก, มุกดาหาร, ตราด, สงขลา, หนองคาย, นครพนม, กาญจนบุรี, นราธิวาส, เชียงราย และ สระแก้ว โดยรัฐบาล ได้สนับสนุนกลไกการอำนวยความสะดวกทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น การนิคมอุตสาหกรรม ด่านศุลกากร ถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่สำคัญคือสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อเป็นการจูงใจนักพัฒนานักลงทุน โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา

“ที่นี่มีความโดดเด่นในเชิงของทำเลที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงมีการพัฒนาด้านการค้าขายและด้านการท่องเที่ยว ที่ปีหนึ่งๆ มีมูลค่าสะพัดมากกว่า 1 แสนล้านบาทกันเลยทีเดียว” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

แน่นอนว่าจากการสนทนาของ นายกฯ นิด และ รมว.ปุ้ย ในครั้งนี้ ดูจะทำให้นายกฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น แต่ก็มิใช่ว่าจะราบรื่นเสียทั้งหมด โดยช่วงหนึ่ง รมว.ปุ้ย ได้เผยให้เห็นถึงอุปสรรคปัญหาที่กำลังเป็นกำแพงขวางโอกาสในด้านการลงทุนอยู่ด้วย ว่า…

“หากพิจารณาถึงศักยภาพของพื้นที่และโอกาสที่จะเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในสระแก้วนี้ ดูจะมีพร้อมมาก แต่ติดอยู่ที่ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราค่าเช่าที่ดินระยะยาวที่สูง และข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EIA ที่กำหนดไม่ให้มีปล่อง กำลังเป็นเงื่อนไขที่จะบีบรัดให้การเติบโตของนิคมฯ สระแก้วมีโอกาสไปต่อแบบไม่ราบรื่น”

พูดแบบนี้มา ‘นายกฯ’ ก็สวนกลับอย่างไว โดย ‘เศรษฐา’ ได้บอกกับ รมว.ปุ้ย ไปว่า…“หากสามารถเปิดกว้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ทุกประเภทกิจการที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในเรื่องของ ‘ที่ดินราคาค่าเช่าสูง’ เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์นั้น เดี๋ยว นายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไปเจรจากับกรมธนารักษ์ ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่า เพื่อจูงใจนักลงทุนในพื้นที่ ซึ่งผลลัพธ์คงได้ทราบในเร็ว ๆ นี้ 

ทำงานแบบนี้ ถือเป็นมิติใหม่ คนหนึ่งชงปัญหา อีกคนรับลูกปัญหา แก้ได้แก้ ส่งเสริมได้ส่งเสริม เดี๋ยวผลบวกต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ก็จะค่อย ๆ ประจักษ์ชัดโดยเร็วเอง...

เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 'สีม่วง-แดง' 20 บาทตลอดสาย  ดีเดย์ 30 พ.ย.นี้ เบื้องต้นใช้ผ่านระบบบัตร EMV

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของ รฟม. และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วม 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทดลองใช้ระบบ EMV Contactless เดินทางข้ามสาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง พร้อมๆ กับประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อติดตามตรวจสอบความเรียบร้อยในการให้บริการด้านการเดินทางแก่ประชาชน โดยนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย’ เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล ในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในด้านการเดินทาง และการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดที่ดำเนินงานด้านระบบรางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของ รฟม.และ รฟท. ที่เป็น 2 หน่วยงานนำร่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท มาใช้ในการให้บริการรถไฟฟ้าของภาครัฐ ตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ให้มีการติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมาในระบบเปรียบเทียบกับรายได้ เพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในการศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไป ที่สามารถสานต่อนโยบายดังกล่าวได้ และต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคตด้วย ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติมของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ในระยะ 1 เดือนกว่าๆ ที่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ได้เริ่มให้บริการด้วยอัตราค่าโดยสาร สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารในวันทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,274 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 6.07% และในวันหยุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,789 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 13.33% และ รฟม.คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้อัตราค่าโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมือง สายสีแดง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป รวมถึงการที่รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนถ่ายระบบได้โดยสะดวกที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ รฟม.พร้อมสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดทดแทน ในระยะยาวย่อมจะช่วยลดมลพิษทางอากาศและบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงได้ โดย รฟม.มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยไม่จำกัดการดำเนินงานเฉพาะในรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเท่านั้น แต่จะศึกษาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกับ ขร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถต่อยอดนโยบายนี้ไปใช้กับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในความรับผิดชอบของ รฟม.ได้อีกด้วย

ประกอบกับ รฟม.ได้พัฒนาระบบรับการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ไว้รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทุกสาย กับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างครบครันแล้ว จึงมีความมั่นใจว่า หากมีแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบใหม่ในอนาคต รฟม.จะสามารถให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

'พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับ 'ฉางอาน' บิ๊กอีวียักษ์ใหญ่จากจีน ปักธงสร้างฐานผลิตพวงมาลัยขวาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 พ.ย.66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานในกิจกรรมการเปิดตัว 'ฉางอาน' ยานยนต์ อีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ชื่อดังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังผลิตออกสู่ตลาดชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง โดย รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยในขณะนี้ กำลังเป็นดาวรุ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นฐานการผลิตแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้ค่ายผู้ผลิตชั้นนำมากมายที่ต่างสนใจเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกับค่ายผู้ผลิตในประเทศจีน ถือเป็นผู้เล่นที่ก้าวหน้าล้ำสมัยอย่างมาก ภายใต้ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ ทั่วโลก จนส่งผลให้ตลาดอีวีขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกใช้ยานยนต์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทยในเวลานี้นั้น มุ่งให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้เดินหน้าไปด้วยกันได้กับอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมที่ยังมีอยู่

"ในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ นั้นจะมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศต่าง ๆ มากมาย จนเกิดเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การขนส่ง, การผลิต, ทรัพยากร, วัตถุดิบ, แรงงาน และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ลำดับ 10 ของโลก ก็ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศของรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ในไทยเกิดการหมุน ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทาย แต่กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมที่กำลังเป็นอนาคตของโลก"

ในโอกาสนี้ ทาง รมว.พิมพ์ภัทรา ยังได้กล่าวขอบคุณทางผู้บริหารของ 'ฉางอาน' ด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอชื่นชมและขอบคุณการตัดสินใจของคุณจู หัวหรง และคณะ ผู้บริหาร บริษัท ฉางอาน ออโต้โมบิล จำกัด ที่ได้ใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลงทุน ภายใต้มูลค่าการลงทุนกว่า 8,860 ล้าน และยังทราบว่าต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรองรับความต้องการในภูมิภาค และส่งไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศใช้รถพวงมาลัยขวา...

"ดิฉันในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ขอกล่าวคำขอบคุณและขอต้อนรับอย่างเป็นทางการ ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์รักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย โดยหนึ่งในย่างก้าวสำคัญนี้จากฉางอานจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ประเทศไทยก้าวไปสู่หมายเลข 1 ของภูมิภาคในด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงทะยานสู่เป้าหมายการเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมนี้ในโลกต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา ทิ้งท้าย

'โฆษก รทสช.' ขอบคุณ 'นายกฯ' สานต่อนโยบาย 'ลุงตู่' อนุมัติช่วยชาวนาไร่ละ 1 พัน เชื่อ!! ช่วยลดภาระได้มาก

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อราย จะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.66) ว่า ขอขอบคุณรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แทนชาวนาทั้งประเทศ ที่รัฐบาลเห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ดี ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับชาวนา เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการผลิตสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย หรือยาฆ่าหญ้า 

ดังนั้น การที่รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาท ต่อไร่ จึงถือเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับชาวนาคลายความเดือดร้อนได้บางส่วน แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยก็ตาม แต่ในปีต่อไปก็อยากจะให้เดินหน้าโครงการนี้ต่อช่วยเหลือชาวนาให้ได้มากกว่าไร่ละ 1,000 บาท ขอเป็นไร่ละ 2,000 บาท ถือเป็นสิ่งที่ชาวนาเรียกร้องมา จากการที่ตนได้ลงพื้นที่มีเสียงสะท้อนกลับมาขอไร่ละ 2,000 บาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ในการช่วยเหลือชาวนา เพื่อลดภาระให้กับเกษตรกร

สำหรับนโยบายดังกล่าวนี้ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย.66 ภายหลังจากที่ นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือชาวนาค่าเก็บเกี่ยวข้าว ว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในฐานะที่ตนรับผิดชอบ โดยเรื่องข้าวทางคณะกรรมการนโยบายข้าวได้ประชุมและให้ส่วนที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หลังคุยได้สรุปและนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันเดียวกัน โดยเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำนวนทั้งหมดไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครัวเรือน ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรียบร้อยแล้วให้ดำเนินการนับตั้งแต่มติ ครม.ออก รอเพียงให้ ธ.ก.ส.เคลียร์รายละเอียดประชุมบอร์ด จากนั้นเกษตรกรก็จะได้รับเงินตรงนี้ต่อเนื่องไป

‘เศรษฐา’ ประกาศสางหนี้นอกระบบคนไทย 5 หมื่นล้าน ดอกห้ามเกินร้อยละ 15 ถ้าจ่ายเกินแล้วก็เลิกแล้วต่อกัน

(28 พ.ย. 66) ที่ตึกสันติไมตรี หลังใน ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าววาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

โดย นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก วันนี้เราจะเอาจริงเอาจัง ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย ในวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และฝ่ายตำรวจที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย จะมาทำงานร่วมกัน แก้ไขทั้งเรื่องหนี้ และมีเรื่องของความสัมพันธ์ในระดับชุมชนที่ละเอียดอ่อน นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลก็จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก

นายเศรษฐา กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งตนคิดว่าเลขนี้ น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริงๆ น่าจะมีมากกว่านั้น คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สิน ที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะฝัน หรือทำตามแพสชั่นได้ ปิดโอกาสการต่อยอดไปหลายอย่าง ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังทุกภาคส่วน สำหรับตน หนี้นอกระบบถือว่าเป็น Modern World Slavery เป็นการค้าทาสในยุคใหม่ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้

นายเศรษฐา กล่าวว่า ปัญหานี้เรื้อรัง และใหญ่ เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ในวันนี้รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามาทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้สินนอกระบบอีก โดยภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ การทำสัญญา ที่หลายครั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย พูดง่ายๆ คือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อทำให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจพอจะดำเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ให้ได้

นายกฯ กล่าวว่า ในความตั้งใจนี้ ตนได้สั่งการในช่วงต้นเดือน พ.ย. ให้ตำรวจและมหาดไทยไปทำการบ้านมา โดยทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่เคยแยกกันทำพูดให้ชัดๆ คือ การแก้หนี้นอกระบบจะต้องทำด้วยกันแบบ End-to-end ต้องมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าไปอยู่ในวงจรอีก และทั้งสองหน่วยงานจะต้องเข้าใจกระบวนการ ทำงานของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการทำงานไม่ซ้ำซ้อน มีขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบร่วมกัน ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ จะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ มีการให้เลขตรวจสอบ (Tracking ID) ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ติดตามผลได้ มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา จะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เพราะบางกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตนก็ขอให้ทุกส่วนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน ตนขอฝากให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย มีเป้าประสงค์ (KPI) ร่วมกัน และกรอบเวลาที่ชัดเจน และตนจะติดตามดูผลอย่างใกล้ชิด

นายกฯ กล่าวว่า หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และ กระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย แน่นอนว่ารัฐบาลก็จะระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด การแก้ไขหนี้ในวันนี้คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ตนมั่นใจว่า ด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็ก รายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น นอกจากหนี้นอกระบบแล้ววันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะมีการแถลงเรื่องภาพรวมหนี้แบบครบวงจร ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบอีกครั้งนึง และตนจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลัง มีแรงใจ ที่จะทำตามความฝัน นับจากนี้เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ จะมีหลักเกณฑ์เรื่องดอกเบี้ยอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี และต้องดูว่าตั้งแต่เป็นหนี้ไปแล้วจ่ายเงินไปแล้วเท่าไหร่ หากจ่ายเกินไปแล้วก็ต้องยกเลิกต่อกัน

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการสำรวจอย่างจริงจังหรือไม่ว่า จำนวนหนี้นอกระบบมีเท่าไหร่ และมาตรการแก้หนี้นี้เหมือนทุกอย่างจะเป็นแบบเดิมที่เคยทำกันมาแล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้มีปัญหาหนี้นอกระบบเช่นเดิมอีก นายเศรษฐา กล่าวว่า การแก้หนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำแบบบูรณาการ ครั้งนี้ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายมั่นคง จะให้เจ้าหนี้มาเจรจา และกระทรวงการคลังที่จะเข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งยังจะมีการแก้หนี้ในระบบด้วย ตรงนี้จะเป็นอีกส่วนที่จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ โดยจะมีการแถลงวันที่ 12 ธ.ค. เราจะนำการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบมาประสานกัน เพื่อทำให้ประชาชนกลับมาเป็นหนี้ยากขึ้น การจะไม่ให้เป็นหนี้เลยคงลำบาก แต่เราจะทำให้เป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด

เมื่อถามว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศมีเยอะ ผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอีลิท อาจไม่เห็นความชัดเจนของปัญหา นายเศรษฐา กล่าวว่า การที่เรามีวันนี้ คือ พูดคุยระหว่างฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง กระทรวงการคลัง เชื่อว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่นำทุกภาคส่วนมาบูรณาการกัน ไม่ใช่ว่าเรามองไม่เห็น ถ้ามองไม่เห็นคงไม่มานั่งกันวันนี้ ยืนยันเรื่องนี้เราให้ความสำคัญ การยกระดับเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ นโยบายของรัฐบาลมีอีกหลายเรื่องที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น เราต้องเริ่มจากลดค่าใช้จ่ายก่อน ซึ่งตนทำแล้ว ทั้งลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร แต่เรื่องหนี้นอกระบบเราต้องแก้ไขอย่างจริงจัง วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในวันที่ 8 ธ.ค.จะมีการประชุมนายอำเภอและผู้กำกับทั่วประเทศ โดยจะให้นโยบาย มอบ KPI ติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง จะไม่เหมือนที่เคยทำกันมา

เมื่อถามว่า คนที่ปล่อยกู้นอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพล หากไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการการไกล่เกลี่ย จะดำเนินการอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลเราไม่ยอมรับผู้มีอิทธิพลนอกระบบ หรือเป็นมาเฟีย ตรงนี้ต้องจัดการไป บ้านเมืองมีกฎหมาย อัตราดอกเบี้ยที่คิดไว้ต้องชัดเจน โดยเราจะเรียกทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้มาคุย 

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ขอยืนยันจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาตินี้ ไปดำเนินการอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพต่อไป โดยเราจะใช้เครือข่ายและกลไกการทำงานที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ และใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม และได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็ง ที่เราจะใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ ที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้มีการดำเนินการผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและระดับอำเภอ โดยนายอำเภอจะมีบทบาทในฐานะประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยร่วมกับพี่น้องประชาชนในนามคณะผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งนายอำเภอก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการให้คู่พิพาททำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ตามเงื่อนไขของหลักกฎหมาย

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับมาตรการล่าสุดของรัฐบาลนั้น จะเป็นการต่อยอดให้เราสามารถช่วยเหลือประชาชนในเชิงรุกได้มากขึ้นผ่านศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทางกระทรวงมหาดไทยขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนถูกข่มขู่คุกคามหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมมาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ในศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ในที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง และในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละเคสก็มีความเฉพาะตัวที่ต่างกัน

นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการการบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งมีพฤติกรรมข่มขู่ใช้ความรุนแรง หรือเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ทางฝ่ายปกครองจะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งในส่วนนี้จะมีความสอดคล้องกับงานปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ด้วย เพราะหนึ่งในกลุ่มผู้มีอิทธิพลก็คือกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบด้วย ถือว่า Watch List ที่เรามีอยู่ ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการจับตาพฤติกรรมกัน เชื่อว่าหลังการแถลงในวันนี้ ทุกฝ่ายคงร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และหากชุมชนช่วยกันสอดส่อง ตักเตือนให้ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เราก็น่าจะไม่ต้องมีคดีความเพิ่มขึ้นมาก และจะโฟกัสกับการแก้ปัญหาหนี้สิน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ตั้งหลักได้ต่อไป 

ขณะที่ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สตช.รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมาย เราเห็นความเดือดร้อนการท้วงโดยใช้ความรุนแรง โดยมีสายด่วน 1559 เพื่อรับแจ้งปัญหา มอบหมายให้ตำรวจตรวจตราพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด โดยตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 ถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 134 ราย ยึดของกลางมูลค่า 8 ล้านบาท ทั้งนี้ ผบ.ตร.พร้อมทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการติดตามผลอย่างโปร่งใส 

ส่วน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังดูแลลูกหนี้นอกระบบ ภายหลังที่ปรับโครงสร้างหรือไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีธนาคารของรัฐดูแล อย่างธนาคารออมสิน และเรามีโครงการอยู่แล้วในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะให้กู้รายหนึ่งไม่เกิน 50,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี และอีกส่วน จะเป็นเรื่องของโครงการสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระรายย่อยเพื่อส่งเสริมอาชีพ ซึ่งนี่จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย นอกจากนี้ ทาง ธ.ก.ส.ก็มีโครงการเพื่อรองรับ หากใครจะนำที่ดินมาฝากขาย หรือติดจำนองที่เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ทาง ธ.ก.ส.จะมีวงเงินให้กับเกษตรกรต่อราย 2.5 ล้านบาท ในการแก้ไขเรื่องที่ดินทำกิน

"สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย เรามีช่องทางให้ขออนุญาตเรื่อง pico finance ซึ่งมีผู้มาขออนุญาตแล้วพันกว่ารายทั่วประเทศ ซึ่งเรามีทุนจดทะเบียนให้ผู้ประกอบการแต่ละราย 5 ล้านบาท" นายกฤษฎา กล่าว

‘การบินไทย’ เปิดบินในประเทศ 9 เส้นทาง ชดเชย ‘ไทยสมายล์’ หยุดบิน เริ่ม ธ.ค.นี้

(28 พ.ย. 66) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศในตารางบินฤดูหนาว 2566 รองรับการเดินทางและการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จำนวน 9 เส้นทาง

โดยทำการบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 เริ่มวันที่ 29 ตุลาคม 2566 – 30 มีนาคม 2567 ใน ตารางบินฤดูหนาวนี้

การบินไทยกลับมาเปิดเส้นทางบินในประเทศ 9 เส้นทาง มีดังนี้

1.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 35 เที่ยวบิน 
2.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 56 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 ธันวาคม 2566) 
3.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุดรธานี ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 ธันวาคม 2566)
4.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงราย ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
5.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ขอนแก่น ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 28 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)

6.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
7.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-กระบี่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
8.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
9.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นราธิวาส ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)

ผู้โดยสารสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รายละเอียดตารางบิน พร้อมสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสารได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานขายการบินไทย

‘ซีพี’ ผนึก ‘อัลเตอร์วิม’ รุกธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร สานต่อภารกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593

(28 พ.ย.66) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (ALTERVIM) ธุรกิจในเครือฯ ด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เปิดตัว ‘Total Clean Energy Solution’ โครงการต้นแบบการจัดการพลังงานสะอาดแบบครบวงจร นำร่องที่สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดซึ่งถือเป็นภารกิจครั้งสำคัญ ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์เป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2593

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้มากที่สุด โดยภายในงานมีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน พร้อมด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้เปิดงาน และนายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของอัลเตอร์วิม เป็นผู้กล่าวรายงานโครงการ รวมทั้งผู้บริหารในเครือซีพี และกลุ่มธุรกิจในเครือฯ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะ ‘โลกร้อน’ คือ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของโลก เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตระหนักในประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นภารกิจสำคัญในกระบวนการสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือฯ จึงได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2573 

ทั้งนี้เครือซีพีได้ผลักดัน สนับสนุน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ โดยยกระดับแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โครงการต้นแบบการบูรณาการการจัดการพลังงานโดยใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจร ณ สถาบันผู้นำฯ ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน เป็นต้นแบบที่ดีในการใช้พลังงานสะอาด

“เครือฯ มีความมุ่งมั่นจะขยายผลโครงการบูรณาการ การจัดการพลังงานโดยใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจรไปยังทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ รวมถึงคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเป็นแบบอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่ชุมชน สังคมและประเทศไทย” ซีอีโอเครือซีพี กล่าว

นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัลเตอร์วิม กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องของพลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยอัลเตอร์วิมก็เป็นบริษัทที่ยึดมั่นในเรื่องค่านิยม 3 ประโยชน์ของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ และมองว่าจะนำพลังงานสะอาดมาใช้อย่างไรให้ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งสร้างรูปแบบการให้บริการซึ่งสามารถให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น ต้องมีต้นทุนที่ต่ำ เข้าถึงง่าย และมีรูปแบบการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ แล้วถึงคิดในเรื่องขององค์กรเป็นลำดับสุดท้าย

โดยโครงการต้นแบบการจัดการพลังงานสะอาดแบบครบวงจร (Total Clean Energy Solutions) ซึ่งทางอัลเตอร์วิมได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมาจากนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นกลางในปี 2573 รวมทั้งเป็นผู้นำในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดนั้น ทางทีมงานได้ลงลึกศึกษาและร่วมมือกับทางสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการนำนโยบายมาต่อยอดเป็นโครงการจริง

นายสมบูรณ์ ขยายความถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่

1.ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 832 กิโลวัตต์ หรือเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าได้มากกว่า 670 ครัวเรือน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.2 ล้านหน่วยไฟฟ้าต่อปี คิดเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 17,500 ตันตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งเป็นต้นน้ำในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด เพื่อนำมาใช้ภายในสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งหมด

2. สถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยในช่วงเริ่มต้นเรามีการติดตั้งเครื่องชาร์จแบบที่เหมาะกับการใช้งานของสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ สำหรับรถที่ใช้ไฟฟ้า 100% จำนวน 4 ช่องจอด และเครื่องชาร์จที่รองรับรถไฮบริดที่ใช้ได้ทั้งน้ำมัน และไฟฟ้า จำนวน 2 ช่องจอด รวมเป็น 6 ช่องจอด ซึ่งคิดเป็น 7% จากพื้นที่ที่จอดรถทั้งหมดภายในอาคาร และมีแผนในการติดตั้งเพิ่มเติมตามสัดส่วนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นในปีหน้า

และ 3. พัฒนาระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยปัจจุบันใช้ระบบจัดการวางแผน การผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบตรวจติดตามประสิทธิภาพ และการจัดการงานซ่อมบำรุงรักษาของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำในโครงการนี้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ที่พัฒนาบนเมฆ และทางอัลเตอร์วิมมีการใช้งานจริงสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 2,500 จุดทั่วประเทศไทย

สำหรับเครือซีพีได้ออกแบบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้มีประสิทธิภาพ โดยได้มีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด โดยบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (Altervim) เป็นบริษัทพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยเป็นส่วนหนึ่งของเครือฯ ซึ่งมีปณิธานที่จะจัดหาโซลูชันแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน (Energy Transition) และทำให้ผู้คนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากยิ่งขึ้น เช่น

การติดตั้งระบบจัดการพลังงานผ่านระบบอัจฉริยะเรียลไทม์บนคลาวด์ การติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Altervim Super Charge ทั่วประเทศกว่า 100 สถานี ผ่านการใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน Altervim Super Charge เป็นแอปที่ไว้สำหรับใช้ติดต่อสื่อสาร และควบคุมระบบสถานีจ่ายไฟฟ้า สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ปัจจุบันมีผู้ติดตั้งแอปมากกว่า 2 หมื่นรายจากผู้ใช้รถมากกว่า 7 คัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top