Wednesday, 2 July 2025
Econbiz

‘วีระศักดิ์’ ยกธุรกิจทั่วโลกเริ่มตื่นตัว ‘สังคม-สิ่งแวดล้อม’ ชูหลัก ‘5 P’ ช่วยภาคธุรกิจปรับประยุกต์ในงาน AFECA

เมื่อไม่นานนี้ ณ ห้องบอลรูม ที่ Bangkok Marriott Hotel The Surawongse ทางสหพันธ์สมาคมการจัดการประชุมและนิทรรศการแห่งเอเชีย ‘Asian Federation of Exhibition & Convention Associations’ หรือ ‘AFECA’ ได้เดินทางเข้ามาจัดการประชุมนานาชาติ ‘ASIA 20 BUSINESS EVENTS FORUM’ ที่ประเทศไทย โดยมีสมาชิกจากประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมงานประมาณ 170 คน

โดยงานนี้ได้เชิญ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตประธานบอร์ด TCEB เป็น Keynote Speaker ของการประชุมในหัวข้อ ‘Business Events & Future Implications’ ซึ่งนายวีระศักดิ์ได้กล่าวถึงความตื่นตัวของธุรกิจต่างๆ ในระดับโลกที่กำลังพยายามตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งคำถามต่อการจัดการความยั่งยืนที่องค์กรและธุรกิจกำลังดำเนินการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างตื่นตัว

นายวีระศักดิ์ เสนอให้วงการธุรกิจปรับมุมมองจากการเป็น Business Community ที่มักมีไว้เพิ่มโอกาสธุรกิจระหว่างกัน ให้ยกระดับสู่การเป็น Business for Humanity ด้วยหลักการ 5 P ของสหประชาชาติ คือ ‘People - Planet - Peace - Partnership’ และสุดท้าย คือ ‘Prosperity’ ซึ่งแปลว่า ‘รุ่งเรือง’ ไม่ใช่เรื่องความร่ำรวย

พร้อมทั้งยกตัวอย่าง พระราชบัญญัติคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ภาคธุรกิจสามารถรับพนักงานผู้พิการให้อยู่ตามภูมิลำเนาบ้าน เพื่อปลูกป่าในนามของบริษัท ทำให้ได้ทั้งเรื่องของ ‘ESG’ (Environment Social Responsibility และ Good Governance) ไปในตัวด้วย

OR ปักธงครบ!! ขยายไลน์ธุรกิจ 'ออยล์-นอนออยล์' คลุมอาเซียน โฟกัส!! 'กัมพูชา' ผุดปั๊มเพิ่ม พ่วง 'ไลฟ์สไตล์-กาแฟ-สะดวกซื้อ'

ไม่นานมานี้ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยแนวโน้มผลดำเนินงานในปี 2567 ว่า เป็นปีที่ดีของธุรกิจ โดยมียอดขายน้ำมันเติบโตกว่าการขยายตัว GDP +1% จากปีนี้ที่ไทยมีการเติบโต GDP ราว 2.8-2.9% ยอดการขายน้ำมันจะโตประมาณ 4% รวมทั้งบริษัทเน้นการบริหารสต๊อกน้ำมันให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้มีปัญหาการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน แต่จะเห็นการมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน พร้อมนำเทคโนโลยี Dashboard มาใช้ทำให้รับรู้ผลกำไรขาดทุนได้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจขยายการลงทุนธุรกิจ Food and Beverage (F&B) และเร็ว ๆ นี้จะมีการลงนามบันทึกช่วยจำ (MOU) กับบริษัทเกาหลีและญี่ปุ่นในธุรกิจ Health & Wellness ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนในไตรมาส 1/2567

สำหรับอีกเรื่องที่น่าสนใจของ OR คือ แผนกลยุทธ์ และทิศทางการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทฯ ต่อจากนี้ ซึ่งในเบื้องต้นนั้น จะมุ่งขยายธุรกิจไปยังประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ซึ่งทางบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ไว้ให้เป็นบ้านหลังที่ 2 โดยจะเพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงแสวงหาโอกาสร่วมกับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและพันธมิตรในพื้นที่ รวมไปถึงการขยายธุรกิจไปในประเทศใหม่ ๆ

"กลุ่มธุรกิจ Global ของ OR วางงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-71) เอาไว้ที่ราว 8,007.4 ล้านบาทเพื่อขยายสถานีบริการ PTT Station และ Cafe Amazon และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีศักยภาพ โดยเน้นการลงทุนในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาก โดยมีการเติบโต GDP ที่ 5% มีค่าการตลาดเสรี รวมทั้งการเมืองมีเสถียรภาพ ส่วนเมียนมาคงต้องชะลอไปก่อนเนื่องจากมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่วนลาว ก็มองโอกาสการทำธุรกิจใหม่ โดยวางเป้าเป็นแหล่งซัปพลายเม็ดกาแฟให้ประเทศต่าง ๆ ในอนาคต" นายดิษทัต กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชานั้น ทาง OR ได้เตรียมทุ่มงบลงทุนราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.7 พันล้านบาท เพื่อลงทุนขยายสถานีบริการ PTT Station ในกัมพูชาอีก 27 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 172 แห่ง คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีเพิ่มเป็น 175 แห่ง มีมาร์เก็ตแชร์ 15% เป็นอันดับ 2 รองจากอันดับ 1 คือ Tela ที่มีแชร์เกือบ 30%

ส่วนการขยาย Cafe Amazon คาดขยายเพิ่มอีก 31 สาขา โดยปัจจุบันมีสาขา 231 สาขา ซึ่งหากมองมาร์เก็ตแชร์แล้วจะคิดเป็น 23% หรือเป็นอันดับ 1

ในส่วนของการสร้างคลัง LPG ในกัมพูชา ความจุ 2,200 ตัน ทาง OR จะใช้งบลงทุนรวม 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และเปิดดำเนินการในปี 2568 และเบื้องต้นจะขาย LPG ให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักก่อน

ไม่เพียงเท่านี้ OR ยังได้ร่วมทุนในบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) ให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3/2567 รวมถึงยังแสวงหาโอกาสธุรกิจพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Battery Swapping และสถานีชาร์จไฟฟ้า EV station PluZ และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ที่มี Cafe Amazon, ร้านสะดวกซื้อ และร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry เป็นตัวชู

"สำหรับประเทศอื่น ๆ OR ยังคงมองโอกาสอย่างต่อเนื่อง เช่น เมียนมา แต่ก็คงต้องชะลอไปก่อน เนื่องจากมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่วนลาว ก็มองโอกาสการทำธุรกิจใหม่ โดยวางเป้าเป็นแหล่งซัปพลายเมล็ดกาแฟให้ประเทศต่าง ๆ ในอนาคต ส่วนเวียดนาม OR จับมือกับเซ็นทรัล กรุ๊ปเข้าสู่ธุรกิจ Food and Beverage เนื่องจากเวียดนามยังไม่เปิดให้ต่างชาติลงทุนเปิดสถานีบริการน้ำมัน ขณะที่ฟิลิปปินส์ ยังคงเดินหน้าจำหน่ายน้ำมันเครื่องบิน และขายให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อไป" นายดิษทัต ทิ้งท้าย

'บอย-อิทธิพัทธ์' คลาย 5 ข้อสงสัย Landbridge 'ระนอง-ชุมพร' ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่ 'สิ่งแวดล้อม-วิถีชีวิต' ไม่สะเทือน

(25 พ.ย.66) คุณบอย อิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีกลุ่มไอ้โม่งนำชาวบ้านไปคัดค้านการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ โดยไขข้อสงสัยสำคัญ 5 ข้อดังนี้ ว่า...

1. ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่จะสูญเสีย รวมถึงผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน 

ตอบ : ทางรัฐบาล ได้ทำการประชาพิจารณ์ทุกหมู่บ้านและผู้เข้าร่วมเห็นด้วยกับโครงการ Landbridge แต่อาจจะมีบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมจึงอาจจะยังไม่เข้าใจจึงมีการตั้งคำถามกันขึ้นมา ส่วนค่าเวนคืนทางกระทรวงคมนาคมเวนคืนตามหลักของกฎหมายการเวนคืนซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กันทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศไทยไม่ได้มีการเอารัดเอาเปรียบแต่อย่างใดและสามารถ อุทธรณ์เรื่องค่าเวนคืนหากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมได้

2. ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับผลพลอยได้ด้วยหรือไม่ มีอุตสาหกรรมอะไรใหม่ๆ หรือจะมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์อะไรเกิดขึ้นเพิ่มเติมบ้าง

ตอบ : โครงการ Land bridge เป็น Mega Project ทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยให้พัฒนาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท จากภาคเอกชนที่ประมูลได้จะมาลงทุนทำท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 จังหวัด สร้างมอเตอร์เวย์ สร้างทางรถไฟ และทำท่อส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซ ซึ่งเมื่อสำเร็จอุตสาหกรรมหลังท่าที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเน้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นและจะไม่สร้างโรงกลั่นน้ำมันมาแข่งกับทาง EEC และจะเพิ่มอัตราการจ้างงานมากกว่า 200,000 อัตรา ยกระดับคุณแรงงานและความเป็นอยู่ของคนภาคใต้ และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พลิกโฉมภาคใต้และประเทศไทยแน่นอน 

3. มีผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินจากยูเนสโก อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว การกระจายรายได้ถึงชุมชน รวมถึงป่าชายเลนซึ่งเป็นระบบนิเวศที่กักเก็บก๊าซคาร์บอน

ตอบ : รัฐบาลไม่หยุดเตรียมคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน และจะใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการจัดการพื้นที่รอบท่าเรือ ให้เหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่มีท่าเรือขนาดใหญ่และสามารถอนุรักษ์ที่อยู่อาศัยของสัตว์และพันธุ์พืชหายากได้ ส่วนพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือเป็นพื้นที่ใกล้ป่าชายเลนซึ่งไม่เหมาะกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือสร้างประโยชน์อะไรได้มากและพื้นที่ตรงนั้นมีความลึกที่เพียงพออาจขุดลงไปอีกไม่มากไม่กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน 

4. การพัฒนาระบบท่อส่งน้ำมัน ทุกวันนี้เรายังเห็นปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเลเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลขึ้นในโครงการนี้ รัฐบาลได้วางแผนระบบการกำจัดคราบน้ำมันที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม และจะมีกองทุนเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่

ตอบ : Mega Project อย่าง Land bridge จะต้องมีการเตรียมการ มีการศึกษาเชิงลึก และวางปัญหาที่จะเกิดขึ้นเอาไว้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ผู้ประมูลที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก จะไม่เสี่ยงที่จะทำงานให้ผิดพลาดเพราะในสัญญาการประมูล จะมีเพียงผู้ชนะการประมูลเพียงเจ้าเดียว เพื่อให้เป็น One port two sides ที่มีระบบการจัดการทั้งหมดเป็นAutomation รวมเป็นศูนย์เดียว และเป็นจะต้องถูกออกแบบและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดหากมีข้อผิดพลาดบริษัทผู้ชนะประมูลต้องรับผิดชอบ

5. การขนส่งทางบกและทางรางซึ่งต้องผ่านพื้นที่ป่า ก็ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงสัตว์ป่าด้วยการสร้างทางเดินให้สัตว์ป่าด้วย

ตอบ : แน่นอนว่าการทำถนน เจาะอุโมงค์ ต้องกระทบกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่การพัฒนาโครงการ Land bridge จากการศึกษามีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเพราะฉะนั้นแผนการก่อสร้างต่างๆ จะออกแบบให้เกิดผลกระทบที่น้อยสุด และตรงจุดที่้เลี่ยงไม่ได้ก็จะสร้างพื้นที่ป่าทดแทนให้เท่าเทียมหรือมากกว่าเดิมเพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์ป่า 

นโยบายพัฒนาคุณภาพข้าว หรือแค่แจกเพื่อรักษาฐานเสียง

หลังมีข่าวจากการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในโครงการชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 780 ล้านบาท เฉพาะผู้ประกอบการโรงสีชดเชยดอกเบี้ย 4% เป้าหมาย 4 ล้านตัน ระยะเวลาการรับซื้อ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ - 30 มีนาคม 2567 ส่วนภาคใต้ วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567 กรอบระยะเวลาโครงการ ครม.อนุมัติ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2568

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการจ่าย 'เงินช่วยเหลือชาวนา' ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 เกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ โดยผู้แทน ธ.ก.ส. แจ้งว่า จะมีการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2566 โดยจะจ่าย 5 วันต่อเนื่องพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันแรกจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกดปุ่มโอนจ่ายเงินคิกออฟที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับ โครงการ 'เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท' ใช้วงเงินงบประมาณจ่ายขาดทั้งสิ้น 56,321.07 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร โดยใช้แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 2557-2565) หรือในช่วงรัฐบาล คสช. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ รวมถึงปีที่ 1 ของรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พบว่า ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยมีวิธีการ ‘แจกเงิน' 9 ปีการผลิต รวมงบประมาณที่ใช้มากถึง 485,497 ล้านบาท ได้แก่...

>> รัฐบาล คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ)

- ปีการผลิต 2557/58 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 3.63 ล้านครัวเรือน งบจ่ายขาด 39,506 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2559/60 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยเหลือชาวนา 3.7 ล้านราย งบจ่ายขาด 37,860.25 ล้านบาท

- และมาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ให้แก่ผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ และผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 1 งบจ่ายขาด 32,541.58 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2560/61 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 37,898.11 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2561/62 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี งบจ่ายขาด 62,791.35 ล้านบาท (อนุมัติ กรอบวงเงินงบประมาณ 2 ครั้ง)

>> รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

- ปีการผลิต 2562/63 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 28,054.83 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 26,458.89 ล้านบาท หรือใช้งบจ่ายขาดรวม 54,553.72 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์รวม 4.57 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2563/64 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,093.63 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.56 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2564/65 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,567.36 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.69 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2565/66 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,364.75 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

>> รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

- ปีการผลิต 2566/67 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

งบประมาณที่ใช้ไปมากกว่า 485,497 ล้านบาท ในรอบ 9 ปี ไม่ได้ทำให้คุณภาพข้าวของไทย มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ได้สร้างให้เกิด Productivity ในการพัฒนาคุณภาพการผลิต จึงเป็นคำถามที่ว่า สิ่งที่ทุกรัฐบาลทำอยู่ เพียงเพื่อเป็นการรักษาฐานเสียง เพราะไม่ได้จูงใจให้เกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพข้าว ตามชื่อของโครงการ 'พัฒนาคุณภาพผลผลิต' ได้อย่างแท้จริง

เมื่อเทียบกับ ประเทศเวียดนาม ที่มีการยกระดับการปลูกข้าวให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งในแง่ปริมาณผลผลิตต่อไร่ โดยการจัดสรรงบประมาณภาครัฐลงไปในส่วนการวิจัย การพัฒนาสายพันธุ์ ที่เห็นได้ชัดในปี 2565 การวิจัยพันธุ์ข้าวหอมพื้นนุ่มสายพันธุ์ ST25 ในพื้นที่เพาะปลูกบริเวณดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงของเวียดนาม ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในจีน และให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวเปลือก 1,600 กิโลกรัมต่อไร่) ซึ่งมากกว่าผลผลิตต่อไร่ของข้าวหอมมะลิของไทย 

นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติแผนงาน การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2573 วางนโยบายที่มุ่งเน้นการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าสูงทดแทนการส่งออกที่เน้นปริมาณเป็นหลัก

ถึงเวลาหรือยัง ที่จะต้องกลับมาทบทวนนโยบายการ ‘แจกเงิน’ กับโครงการในลักษณะนี้ ว่าหากจะต้องแจกต่อควรมีเงื่อนไขอย่างไร ในการที่จะควบคุมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

เรื่อง: The PALM

‘MK’ บุกตลาด ‘น้ำจิ้มสุกี้’ ไร้ ‘ผงชูรส’ ปลอด ‘สารกันเสีย’ ชู!! เก็บได้นาน 1 ปี ชาวเน็ตแห่ดีใจ เชียร์ให้ขายน้ำชาด้วย

(25 พ.ย.66) หนุ่มเมืองจันท์ หรือ สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่าร้านเอ็มเคสุกี้ เปิดขายน้ำจิ้มสุกี้อย่างเป็นทางการวันนี้เป็นวันแรก ระบุว่า เมื่อวาน คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน เจ้าของ ‘เอ็มเคสุกี้’ ส่งรูปนี้มาทางไลน์ ‘ขออนุญาตเป็น presenter เองเลย’ คาดว่าคุณฤทธิ์คงจะบุกตลาด ‘น้ำจิ้มสุกี้’ อย่างจริงจัง หลังจากทดลองขายมาได้พักหนึ่ง

แต่ครั้งนี้มีการใช้เทคโนโลยีให้เก็บได้นานถึง 1 ปี จากเดิมเก็บได้นานแค่ 7 วัน โดยที่ ‘ไม่ใส่ผงชูรส’ และ ‘ไม่ใส่สารกันเสีย’ เหมือนเดิม จะเริ่มขายวันนี้ที่ร้าน ‘เอ็มเคสุกี้’ ทุกสาขา ดูเหมือนว่าคุณฤทธิ์จะบุกตลาด ‘น้ำจิ้มสุกี้’ อย่างจริงจัง เพราะการเพิ่มอายุสินค้าได้นานถึง 1 ปี เป็นจุดเปลี่ยนของเกม

อย่าลืมว่าตลาดน้ำจิ้มสุกี้ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านค้าปลีกต่างๆ มีมูลค่าน่าจะหลายพันล้านบาท นึกเล่นๆ ว่าถ้ามีน้ำจิ้มสุกี้ ตรา ‘เอ็มเคสุกี้’ เข้าไปวางแข่ง ตลาดคงสะเทือน ผมตอบคุณฤทธิ์ไปสั้นๆ ด้วยความเป็นห่วง “ระวังรายได้จะมากกว่าร้านเอ็มเคนะครับ“ เป็นห่วงจริงๆ ครับ

หลังจากข้อความนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่แสดงความยินดี อาทิเช่น “ควรทำนานแล้วคับ รอซื้อเลย”, “ส่งต่างประเทศ​ไหมเนี่ยคืออยู่แคนาดา​แต่อยากกินบ้าง”, “น่าจะทำตั้งนานแล้วนะครับ” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลายคนอยากให้ทำน้ำชาของเอ็มเคขายด้วย

'นักวิเคราะห์' หวั่น!! 'แลนด์บริดจ์' สะเทือนมาเลเซีย เชื่อ!! อาจทำ 'ท่าเรือกลัง' ยอดให้บริการวูบ 20%

(25 พ.ย.66) หลังจากที่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปนำเสนอโครงการ Land Bridge (แลนด์บริดจ์) ต่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ที่จะกลายเป็นเส้นทางการค้าทางเลือกผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปแบบการขนส่งเชื่อมสองท่าเรือให้โยงถึงกันอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ 

เนื่องจากโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ นี้จะสร้างข้ามมาจากภาคใต้ของไทย เพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะเป็นการค้าทางเรือที่เลี่ยงผ่านมาเลเซียและสิงคโปร์ไป โดยที่เรือไม่ต้องแล่นลงไปตามปลายสุดของสิงคโปร์ผ่านช่องแคบมะละกา หนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

มุมมองและความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และนักวิชาการ Free Malaysia Today หรือ FMT ในมาเลเซียรายงานว่า แลนด์บริดจ์ของไทยอาจทำให้ท่าเรือมาเลเซียพ่ายแพ้ทางการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า

สายการเดินเรือจะได้รับประโยชน์จากเส้นทางลัดระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามที่นักวิเคราะห์ระบุ ท่าเรือกลังมีแนวโน้มที่จะประสบกับความพ่ายแพ้ทางการเงินที่สำคัญ แต่ท่าเรือปีนังอาจได้รับผลประโยชน์จากสะพานแลนด์บริดจ์ทางภาคใต้ของประเทศไทย 

Karisma Putera Rahman แห่งสถาบันวิจัย Bait Al-Amanah กล่าวว่า อาจเห็นท่าเรือกลังที่ทำหน้าที่เป็น ‘ผู้เฝ้าประตู’ ของช่องแคบมะละกา และเป็นช่องทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก อาจมีการลดบริการจัดการสินค้าลงถึง 20% แต่ในทางกลับกัน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า ปีนังอาจได้รับประโยชน์จาก ‘ทางลัด’ ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทย 

อีกทั้งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ว่า ประเทศไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอใหม่ในการฟื้นฟูโครงการที่มีอายุหลายศตวรรษ พร้อมกล่าวปราศรัยกับนักลงทุนนอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ว่า เส้นทางภาคพื้นดินนี้จะสามารถลดเวลาการเดินทางของเรือได้ถึง 4 วัน และลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 15%

>> ย้อนอดีตเชื่อมสองฝั่งทะเล

แนวคิดเรื่องการทำเส้นทางตรงระหว่างผืนน้ำทั้งสองที่ประกบกับคลองกระ ซึ่งเป็นแถบแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับคาบสมุทรมลายู เคยถูกเสนอมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2220 แต่แทนที่จะทำเพื่อการค้าขาย กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อให้สามารถเคลื่อนกำลังทหารได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่มีการรุกรานโดยอาณาจักรพม่า (เมียนมา) ที่อยู่ใกล้เคียง

ทั้งนี้ ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษยังพิจารณาแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลทางการค้า แต่มุ่งเน้นไปที่การขุดคลองมากกว่าการสร้างเส้นทางบก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น

Karisma Putera Rahman คาดว่า ช่องแคบมะละกาจะเต็มความจุภายในปี 2573 สะพานแลนด์บริดจ์จะทำหน้าที่เป็นเส้นทางทางเลือกในอุดมคติสำหรับการจราจรทางทะเล อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางสินค้าส่วนใหญ่ออกจากท่าเรือกลัง (Klang Port) ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียสายการเดินเรือในท้องถิ่น และเป็นอันตรายต่อสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วของท่าเรือนี้

ทั้งยังคาดการณ์ว่า 15-20% ของการขนส่งสินค้าจะถูกเปลี่ยนเส้นทางจากมาเลเซียและสิงคโปร์ทันทีที่สะพานแลนด์บริดจ์เปิดใช้งาน พร้อมเสริมว่า “จากปริมาณปี 2565 ของท่าเรือกลัง อยู่ที่ 13.22 ล้านหน่วยเทียบเท่า (TEU) ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 2.4 พันล้านริงกิตนั้น คาดว่ารายรับจะลดลงจาก 360 ล้านริงกิต ถึง 480 ล้านริงกิต” 

>> ข้อได้เปรียบสำหรับปีนัง มาเลเซีย

นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า หากท่าเรือปีนังดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ขนส่งในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งทางรถไฟมายังประเทศไทย “แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าท่าเรือในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” เขากล่าวเสริม 

แม้ว่าผลกระทบของสะพานแลนด์บริดจ์อาจก่อให้เกิดความกังวลในมาเลเซีย แต่ก็มีบางคนที่ไม่กังวลมากนัก

Alvin Chua รองประธานสมาพันธ์ผู้ขนส่งสินค้าแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า ต้นทุนเพิ่มเติมในการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือไทยทั้งสองแห่ง น่าจะช่วยในเรื่องความประหยัดจากระยะเวลาเดินทางที่สั้นลงได้พอๆ กัน พร้อมเสริมว่า “การขนถ่ายสินค้ามีราคาแพง โดยอาจมีราคาอยู่ที่ 125,000 ถึง 150,000 เหรียญสหรัฐต่อลำ ต่อวัน” นอกจากนี้ กระบวนการใหม่นี้จะต้องใช้เรือสองลำแทนที่จะเป็นลำเดียวในการส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง

Karisma Putera Rahman เห็นด้วยว่า กระบวนการเทียบท่า การขนส่งสินค้าทางถนนเป็นระยะทางมากกว่า 100 กม. จากนั้นก็บรรจุลงเรืออีกลำหนึ่งนั้น อาจลดปริมาณการใช้งานสะพานแลนด์บริดจ์ลงได้ “ดังนั้น ผลกระทบที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของโครงการดังกล่าวต่อมาเลเซีย จึงยังคงไม่แน่นอน จับต้องไม่ได้” Karisma กล่าวเสริม

>> ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์
โครงการดังกล่าวยังคงทำให้เกิดข้อกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น เส้นทางภาคพื้นดินจะช่วยให้เรือของจีนสามารถเลี่ยงท่าเรือของมาเลเซียได้ ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมกับชิปต่อรองที่มาเลเซียมีในความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน 

Karisma Putera Rahman กล่าวอีกว่า “นี่อาจทำให้ความสามารถในการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ที่มีระหว่างมหาอำนาจทั้งสองของมาเลเซียเกิดความซับซ้อนมากขึ้น และอาจทำให้ความสามารถในการดำเนินการตามกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศมีความซับซ้อน เนื่องจากมาเลเซียมีบทบาทในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมสำหรับสหรัฐฯ และจีน”

ด้าน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) มองว่านี่เป็น ‘การเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด’ ของไทย ในการรับประกันการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในและรอบๆ ท่าเรือทั้งสองแห่ง และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจในภาคใต้ แต่ตอนนี้ได้แต่หวังเพียงว่าจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว” 

หลังจากได้มีการเสนอโครงการนี้ให้กับนักลงทุนจากประเทศจีนและซาอุดิอาระเบีย นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างงานได้ 280,000 ตำแหน่ง และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ถึง 5.5%

‘นายกฯ’ ลุยสงขลา เร่งหารือทางการค้า ‘นายกฯ มาเลเซีย’ ส่องความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

(26 พ.ย. 66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ในวันที่ 27 พ.ย. เพื่อสำรวจความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย และมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับ ‘ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม’ (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อผลักดันในประเด็นที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารือกันไว้

โดยนายกฯ จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และไปถึงด่านสะเดาแห่งใหม่ เวลา 11.00 น. เพื่อให้การต้อนรับนายกฯมาเลเซีย พร้อมหารือทวิภาคี และรับฟังความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย และสถานการณ์การค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ผู้นำไทย-มาเลเซีย จะร่วมกันสำรวจเส้นทางเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่โรงแรม Vista

นายชัย กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย สืบเนื่องมาจากการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้นำไทยและมาเลเซีย เห็นพ้องในการผลักดันการค้าชายแดน การแก้ปัญหาความแออัดของด่านสะเดา รวมถึงการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และประเด็นความร่วมมืออื่น ให้มีผลคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

นายชัย กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในทุกด้าน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ระดับประชาชน ซึ่งมาเลเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย และเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน โดยตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการค้าให้บรรลุเป้าหมายที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30 billion USD) ภายในปี 2568 โดยการค้าระหว่างกันส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดนและผ่านแดน โดยการค้าชายแดนไทย - มาเลเซีย ในปี 2565 มีมูลค่า 336,125 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.76 ของมูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่ผ่านด่านศุลกากรสะเดา ปาดังเบซาร์ เบตงและสุไหงโก-ลก ตามลำดับ นอกจากนี้ ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียมาเยือนไทยมากเป็นอันดับที่ 1 ทั้งปีมากกว่า 2.9 ล้านคน คิดเป็นลำดับ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ทำให้มาเลเซียนับเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญและมีความสัมพันธ์หลากหลายมิติกับไทย
 
“การพบหารือของนายกฯและมาเลเซีย สะท้อนความตกลงร่วมกันของรัฐบาลทั้งสองในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทยและมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความเชื่อมโยงในการเดินทาง รวมถึงการค้าขายบริเวณชายแดนระหว่างกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเพื่อประโยชน์โดยตรงของประชาชนไทยและมาเลเซีย ทั้งการค้า ลงทุน การท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และทางด้านสังคม การไปมาหาสู่ระหว่างกัน” นายชัย กล่าว

‘การบินไทย’ ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าสู่ ‘Net Zero 2050’ ยก 3 หลักสำคัญ บริหารทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่กระทบแผนฟื้นฟูองค์กร

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TG’ เปิดเผยว่า การบินไทยกำลังเดินหน้าปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

ภายใต้แนวคิด ‘Zero Waste Living’ ซึ่งประกอบด้วย หลักการหลัก 3 ประการได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม, FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าแผนธุรกิจด้านความยั่งยืน จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เทียบง่าย ๆ แค่การเปลี่ยนขวดนํ้าพลาสติก PET สู่วัสดุที่รีไซเคิลได้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นราว 20% แล้ว เพราะฉะนั้น การทำงานของการบินไทย ต้องเดินหน้าภายใต้กรอบจำกัดเรื่องของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยด้วย

“ถ้าเอาเงินมาใส่ตรงนี้ทั้งหมด มันไม่ได้ เราจะทำในสิ่งที่ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ เราต้องทบทวนก่อน มิฉะนั้นจะกระทบกับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย” นายชาย กล่าว

จากแผนธุรกิจของการบินไทยปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ประกาศไปล่าสุดว่า จะเดินหน้าลุยหาเงิน 1.2 แสนล้านบาท คืนเจ้าหนี้ทุกรายครบภายใน 8 ปี โดยมั่นใจว่า 2566 จะสามารถทำกำไรได้ 2 หมื่นล้านบาท มีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 การบินไทยมีเงินสดสะสมแล้ว 51,153 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 14,795 ล้านบาท

- ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน หลายอย่างการบินไทยได้ดำเนินการมานานแล้ว เช่น การบริหารจัดการขยะอาหารและขยะพลาสติก ที่เดินเน้นการคัดแยกแล้วส่งต่อให้ผู้รับซื้อ แต่ปัจจุบันการบินไทยเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากร ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก

ล่าสุด ได้พัฒนาเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง ที่ผลิตมาจากวัสดุเหลือใช้ขวดนํ้าพลาสติกที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกผสมผสานกับเส้นใยไหมธรรมชาติในอัตรา 70:30 ซึ่งเครื่องแบบดังกล่าวใช้ขวด PET จำนวน 54 ขวด ต่อการผลิตชุดไทย 1 ชุด เริ่มใช้ 1 มกราคม 2567 กับพนักงานต้อนรับหญิงที่รับเข้ามาใหม่ และคาดว่าประมาณกลางปี 2567 จะปรับเปลี่ยนได้ครบทั้งหมด ซึ่งชุดเครื่องแบบใหม่นี้ นอกจากมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลแล้ว ยังมีความคงทน และไม่ต้องซักแห้งเหมือนชุดผ้าไหม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มได้อีก

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับชุดยูนิฟอร์มเก่าจากพนักงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้ยูิฟอร์มเก่ามาเกือบ 10 ตัน จากเบื้องต้นตั้งเป้าเพียง 2 ตัน ทำให้สามารถนำไปปันเป็นเส้นใยใหม่ ผลิตเป็นยูนิฟอร์มใหม่ได้อีก โดยเสื้อ 1 ตัว ใช้ผ้าเก่า 2 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ได้เสื้อยูนิฟอร์มใหม่ 500 ตัว ซึ่งนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานการบินไทยทุกคน และอนาคตมีแผนที่จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อลดขยะบนเครื่องบินให้ได้มากที่สุด

อีกหนึ่งแนวคิด เป็นการต่อยอดเศรษฐกิจหมุนเวียนของการบินไทย คือ การจับมือกับจิม ทอมป์สัน จัดทำ ‘Travel Kit Bag’ ที่นำอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegradable) ผลิตออกมาเป็นกระเป๋าผ้าพิมพ์ลายไทยพิเศษ 6 ลาย และในกระเป๋า ยังบรรจุอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เช่นกัน อาทิ แปรงสีฟัน ถุงเท้า ลูกกลิ้งนํ้ามันหอมระเหย ลิปบาล์ม โลชั่นทามือ ยาสีฟัน ผ้าปิดตา และไม้ช้อนรองเท้า

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินอื่น ๆ ที่คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ช้อนส้อมอะลูมิเนียม ใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก แก้วนํ้า ถาดใส่อาหาร และอื่น ๆ

- ลุยเชื้อเพลิง SAF ปี 2030
ส่วนทางด้านการบิน ได้เปลี่ยนมาใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งพนักงานหรือลูกเรือจากศูนย์ปฏิบัติการไปยังสนามบิน รวมทั้งมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดภายใน 5 ปี และอีกหนึ่งโครการที่การบินไทยดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วและมีผลเป็นที่น่าพอใจคือ การใช้นํ้ามันอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการคือ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล จากสถิติเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์ จะได้ค่าตัวหนึ่ง ที่นำมาใช้งาน ไปใช้เป็นส่วนประกอบการวางแผนการบิน วางแผนการใช้นํ้ามัน และจัดเส้นทางการบิน เพื่อให้ใช้นํ้ามมันอย่างแม่นยำไม่น้อยหรือมากเกินไป

“เรื่องของวิธีการบิน เทคนิคการบิน เช่น เครื่องบินแลนดิ้ง เข้าหลุมจอด ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่อง เป็นการลดใช้นํ้ามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ และเครื่องยนต์ยุคใหม่ ที่ใช้นํ้ามันลดลง”

ส่วนนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) การบินไทยมีแผนที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในเครื่องบืนของการบินไทย ได้มีการใช้นํ้ามัน SAF อยู่บ้าง จากการบินเข้ายุโรป ที่เริ่มบังคับใช้กับผู้ผลิตและบริษัทนํ้ามันแล้ว

“การใช้นํ้ามัน SAF ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เราต้องมีการผลักดันในหลาย ๆ ภาคส่วน จะให้ผู้ใช้เป็นคนผลักดันฝั่งเดียวเกิดได้ยาก นโยบายการใช้ SAF ผู้คุมนโยบาย ผู้ใช้ ผู้ผลิต ก็ต้องมาคุยกัน มันไม่ใช่แค่การบินไทยบอกอยากจะใช้ มันต้องกลับไปดูถึงซัพพลายเชนว่า วัตถุดิบในการผลิต SAF มาจากไหน จะบริหารจัดการกันอย่างไร มีนโยบายอย่างไร”

‘ภูมิธรรม’ หารือ ‘ผู้ว่าฯ เกียวโต’ ร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการ-ศก. ยกระดับการเกษตร-สินค้า-ท่องเที่ยว ดัน Soft Power ระหว่างประเทศ

(26 พ.ย. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับ ‘นายนิชิวากิ ทากาโตชิ’ (NISHIWAKI Takatoshi) ผู้ว่าราชการจังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่ห้องรับรองชั้น 11 กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้มีการหารือถึงแนวทางการผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือกับญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่น แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคคันไซ และแลกเปลี่ยนมุมมองสินค้าและบริการที่มีศักยภาพเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน และได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงาน ‘Expo 2025 Osaka Kansai’ เนื่องในโอกาสที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการจัดงาน

โดยในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้หารือกันถึงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อปรับใช้กับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และสตาร์ตอัปของไทย ด้านการเกษตร ได้มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เกี่ยวกับการนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลผลิตทางการเกษตรของไทย และอาจมีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาสินค้า อาทิ งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาด และด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ได้หารือเรื่องความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการจังหวัดเกียวโต มีโอกาสเชื่อมโยงและพัฒนาสินค้า ดีไซน์ร่วมกันให้สอดรับกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น

ส่วนในด้านการท่องเที่ยว เห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่นในภาพรวม และยินดีที่มีการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเกียวโต เป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และเห็นตรงกันว่า ไทยและเกียวโตมีโอกาสเพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวสองทาง และส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม Soft Power ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ

ทางด้านญี่ปุ่น ได้แจ้งความคืบหน้าการจัดงาน World Expo ที่เป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลกที่จัดขึ้นทุก 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (The Bureau International des Exposition : BIE) โดยไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งต่อไปกำหนดจัด ‘Expo 2025 Osaka Kansai’ ระหว่างวันที่ 13 เมษายน-13 ตุลาคม 2568 รวมระยะเวลา 184 วัน ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น มีหัวข้อหลักในการจัดงาน คือ ‘Designing Future Society for Our Lives’ ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมแสดงนิทรรศการและนำผู้ประกอบการสินค้าและบริการในสาขา HEALTH & WELNESS เข้าร่วม

‘ภูมิธรรม’ หนุน ‘คนรุ่นใหม่’ สานต่อการเกษตรกรในอนาคต เชื่อ!! พลังของคนตัวเล็กเกิดได้ แค่มีใจรัก-กล้าคิด-กล้าฝัน

(27 พ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความและภาพผ่านเพจ ‘Phumtham Wechayachai’ ระบุว่า

“ศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่

ผมเพิ่งกลับมาจากการตรวจราชการที่ อ.พาน จ.เชียงราย

มีเรื่องของเกษตรกรรุ่นใหม่ 2 ท่าน ที่ได้พูดคุย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังของคนตัวเล็กเกิดขึ้นและเป็นจริงได้หากมีใจรัก กล้าคิด กล้าฝัน พร้อมองค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ และการเรียนรู้จากผู้อื่นทั้งเครือข่ายภายใน และภายนอกชุมชนของตน สุดท้ายคือความเชื่อมั่นและการกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ๆ

ท่านแรก คือ คุณอานู มัสจิต เจ้าของร้านดงดิบคาเฟ่ ซึ่งเคยเป็นพนักงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ กลับมาทำเกษตรอินทรีย์ บุกเบิกที่ดินของตัวเองเป็นนาข้าว พืชผักอินทรีย์ และคาเฟ่ ตั้งใจทำให้เป็นร้านกาแฟและร้านอาหารสายสุขภาพ โดยมีลูกชายที่เรียนจบเชฟจากเลอกอร์ดองเบลอช่วยเป็นที่ปรึกษา และที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ย การทำน้ำหมัก คุณอานูบอกว่าอยากทำร้านนี้เป็นธุรกิจแบบ Social Enterprise

อีกท่าน คือ คุณนพดล ธัญวรรธนา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะส่งออก ซึ่งเคยเป็นอดีตนายกองค์การศึกษา มช. และเคยเข้าร่วมกิจกรรม Young Leader พรรคไทยรักไทย วันนี้ได้นำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานในบริษัทเอกชน กลับมาพัฒนางานเกษตรด้านปศุสัตว์ที่บ้านเกิด โดยวางแผนการทำโรงเชือดแพะแกะที่ได้มาตรฐานการส่งออก

ซึ่งทั้งสองท่านได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีองค์ประกอบของ 3C ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเคยพูดถึง นั่นคือ C-Common หมายถึงประชาชน กลุ่มเป้าหมาย ทั้งสองท่านเริ่มต้นทำงานด้วยการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย รู้จักตลาด C-Connection การทำงานร่วมกับเครือข่าย ไม่ทำตัวคนเดียว เพราะเครือข่ายจะสร้างพลังในการขับเคลื่อนงานได้ในทุกมิติ และ C-Can Do ความเชื่อมั่นว่าทำได้ มีใจรักในงานที่ทำ รวมถึงการทำงานด้วยพื้นฐานของความรู้ทั้งที่มาจากประสบการณ์ จากผู้รู้ หรือจากข้อมูลตามหลักวิชาการ

ผมคิดว่าวันนี้ในสังคมต่างจังหวัด มีเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่นำความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับจากการทำงานในเมืองใหญ่ กลับไปพัฒนาต่อยอดงานด้านการเกษตรของรุ่นพ่อรุ่นแม่ ตามแนวทาง ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’

เกษตรกรรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยในอนาคต

“พลังของคนตัวเล็ก

ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์เสมอ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top