Saturday, 10 May 2025
Econbiz

‘มนุษย์เงินเดือน’ โอด ‘ข้าวของแพง-ค่าครองชีพพุ่ง’ แถมรายรับสวนทางกับรายจ่าย วอนภาครัฐช่วยดูแลด่วน

(27 ก.ย.66) ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นมนุษย์เงินเดือนบอกว่าค่าใช้จ่ายทุกวันนี้ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าเดินทาง รวมๆ แล้ววันละ 200-300 บาท รวมถึงค่าอาหารที่แพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ราคาต้นทุนจะลดลงบ้าง แต่ราคาที่ปรับขึ้นไปแล้วไม่ได้ปรับลดลง ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ก็ยังแพงเช่นเดียวกัน อยากให้ภาครัฐออกมาตรการดูแลประชาชนให้มากกว่านี้โดยเร็ว

ผลสำรวจ นีลเส็น ล่าสุดระบุว่า คนไทยยังกังวลกับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กระทบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า และยังพบว่าคนไทย 57% กังวลเรื่องรายรับที่ไม่เพียงพอกับรายจ่ายด้วย ซึ่งตัวแปรที่กระทบต่อค่าครองชีพพุ่ง มาจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

‘แกร็บ’ จับมือ ‘เอเชีย แค็บ’ เปิดให้บริการแอปฯ เรียกรถ ‘CABB’ ต้นฉบับแบบแท็กซี่ลอนดอน หวังเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม

‘แกร็บ’ ผนึกพันธมิตร ‘เอเชีย แค็บ’ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการ CABB รถแท็กซี่วีไอพีต้นฉบับแบบลอนดอนแท็กซี่ เปิดตัวบริการ ‘Taxi VIP’ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ CABB ผ่านแอปพลิเคชัน Grab นำร่องให้บริการแล้วในกรุงเทพฯ และภูเก็ต เล็งขยายพื้นที่การให้บริการในเมืองท่องเที่ยว อาทิ พัทยาและเชียงใหม่

(27 ก.ย. 66) นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ตเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน แกร็บมุ่งพัฒนาบริการและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอบริการการเดินทางผ่านยานพาหนะที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละกลุ่ม ซึ่งรวมถึงลูกค้าพรีเมียม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจการเดินทางของแกร็บในปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาเราได้ปรับปรุงบริการ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับการให้บริการกับลูกค้ากลุ่มนี้ อาทิ การปรับโฉมบริการเดินทางแบบพรีเมียมเพื่อสร้างความประทับใจผ่าน 5 ประสาทสัมผัส และการเพิ่มช่องทางการชำระเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าชาวต่างชาติ”

“สำหรับการผนึกความร่วมมือกับ CABB ซึ่งถือเป็นผู้นำในตลาดแท็กซี่ระดับพรีเมียมในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มตัวเลือกที่หลากหลายในการเดินทาง ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์การเดินทางให้กับลูกค้าในกลุ่มพรีเมียมของแกร็บให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยรูปลักษณ์ของรถแท็กซี่ที่มีดีไซน์โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ บริการและฟังก์ชันเหนือระดับภายในรถ รวมถึงมาตรฐานของคนขับที่ได้รับการอบรมเป็นพิเศษ โดยผู้ใช้บริการ Grab สามารถเรียกรถ CABB ได้แล้วผ่านเมนู Taxi VIP ในแอปพลิเคชันของเรา ซึ่งได้นำร่องให้บริการในจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเริ่มขยายการให้บริการในกรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดว่าจะเชื่อมต่อระบบและสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในไตรมาส 4 ของปีนี้”

นายภาสกร ดารารัตนโรจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด กล่าวว่า “CABB เปิดให้บริการในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2563 ปัจจุบันเรามีรถแท็กซี่ CABB ให้บริการในกรุงเทพฯ และภูเก็ตรวมกว่า 400 คัน โดยลูกค้าหลักของเราคือกลุ่มลูกค้าพรีเมียมที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบาย และเชื่อมั่นในบริการที่มีความปลอดภัย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ที่ผ่านมาเราให้บริการผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์ โดยลูกค้าสามารถเรียกรถ CABB ได้ตามจุดให้บริการต่างๆ และช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน CABB ซึ่งมีสัดส่วนราว 40%”

“เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ เราจึงได้ร่วมมือกับ แกร็บ ซึ่งถือเป็นผู้นำแพลตฟอร์มเรียกรถผ่านแอปฯ เพื่อขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเราจะเปลี่ยนช่องทางการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน CABB ไปอยู่ที่แอปพลิเคชัน Grab เพียงช่องทางเดียว ทั้งนี้ เราตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนรถแท็กซี่ CABB เป็น 600 คันภายในสิ้นปี พร้อมเตรียมขยายบริการไปยังเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ พัทยา และเชียงใหม่ โดยเราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้บริการของ CABB สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น และช่วยส่งมอบบริการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพให้กับคนไทยและชาวต่างชาติ”

‘GISTDA’ เตรียมส่ง 'THEOS-2' ฝีมือคนไทยพิชิตอวกาศ 7 ต.ค.นี้ ชี้ เป็นดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูงมากดวงแรกของประเทศ

(27 ก.ย.66) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า-GISTDA) นายเรมี ล็องแบร์ อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และนายโอลิวิเย่ร์ ชาร์ลเวท จากบริษัท AIRBUS ร่วมแถลงข่าวความพร้อมของดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส2) ก่อนขึ้นสู่อวกาศ

น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า ประเทศไทย มีกำหนดการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 08.36 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ในทวีปอเมริกาใต้ โดยดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite หนึ่งในสองดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา ที่ดำเนินการโดยจิสด้า ซึ่งมีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และข้อมูลจากดาวเทียมจะถูกใช้ในการปรับปรุง (Update) ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ในการจัดการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐมนตรี อว.กล่าวว่า สำหรับข้อมูล THEOS-2 นี้ GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อจะได้นำไปต่อยอดหรือการบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันเพื่อขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนักพัฒนานวัตกรรมทุกระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน startup SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ตามนโยบายของ อว. ที่มุ่งเน้นในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศ

น.ส.ศุภมาสกล่าวอีกว่า สำหรับการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเป็นการนำส่งดาวเทียมที่จะนำมาสู่การยกระดับรูปแบบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในฐานะผู้แทนของรัฐบาลที่กำกับดูแลหน่วยงานกิจการอวกาศของประเทศและคนไทย จะร่วมเดินทางไปปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับความสำเร็จในการนำดาวเทียมความละเอียดสูงมากของไทยดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศ ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้กับทีมงาน GISTDA และประเทศไทยในการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เพราะการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลกครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมความละเอียดสูงมากครั้งแรกของประเทศไทย

เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้วจะใช้เวลาอีกประมาณ 5-7 วัน ในการปรับตัวเองให้เข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ที่จะทดสอบระบบต่างๆ ก่อนเปิดให้บริการ ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS-2 จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยกระทรวง อว. จะผลักดันนโยบายเรื่องเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยให้เป็นจริงโดยเร็ว

ด้าน ดร.ปกรณ์กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับรัฐบาลในการบริหารจัดการประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อีกด้วย สำหรับการนำข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 มาใช้ในการพัฒนาประเทศ สามารถเป็นไปได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การจัดทำแผนที่ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1:1000

“การจัดการเกษตรและอาหาร ดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร เป็นต้น”

ดร.ปกรณ์ยังกล่าวอีกว่า การส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามภารกิจของประเทศดวงที่ 2 ของไทยในรอบ 15 ปี หลังจากส่งไทยโชตเมื่อปี 2551 ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เพราะ ‘เศรษฐกิจ’ คือปากท้องของประชาชน จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ GISTDA ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมดวงนี้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และมิติของการพัฒนาพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

‘รัฐบาลไทย’ หารือ ‘ทูตอินเดีย’ เตรียมฟื้นฟู FTA-เปิดตลาดเสรี หนุนการค้า-ลงทุนทุกมิติ ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค

(28 ก.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ ‘FTA’ โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

นางนลินี กล่าวว่า อินเดียให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้าการลงทุนของอาเซียนและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยวันนี้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น โดยการพูดคุยหารือครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่อินเดียต้องการจะฟื้นฟู FTA

รวมทั้งยังอยากเห็นผลการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ ‘JTC’ ไทย-อินเดีย และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ ‘RCEP’ ที่เติบโตขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ ‘BIMSTEC’ จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

รวมทั้งยังหวังว่าจะมีโอกาสเดินทางเยือนระดับผู้นำอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป สำหรับนโยบาย Startups India ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดอินเดียใหม่ (New India) เพื่อให้สอดคล้องกับที่อินเดียกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 นั้น อินเดียได้แสดงความจำนงที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ Startup รุ่นใหม่ของไทยและอินเดียให้เกิดผลสำเร็จ

“มิติการเจรจาหารือทางการค้าวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เพราะครอบคลุมหลายด้าน โดยทูตอินเดียได้พูดถึงความต้องการส่งออกสินค้าเกษตรมายังไทย เช่น กุ้งหรือเนื้อสัตว์อื่น สินค้ายาและเวชภัณฑ์โดยเฉพาะยารักษาโรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งความร่วมมือด้านความมั่นคงหรือยุทโธปกรณ์ที่อินเดียมีศักยภาพ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์หรือเรือดำน้ำ ผ่านนโยบาย Offset Policy หรือการชดเชยในกรณีซื้อจากต่างประเทศของกระทรวงกลาโหม สำหรับมิตรประเทศอีกด้วย” นางนลินี ระบุ

ข้อมูลการค้า ไทย-อินเดีย 
จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 18.06%

โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18 - 22 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้แนวโน้ม 25 - 29 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบทุกชนิดเฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปตึงตัว หลังกระทรวงพลังงานรัสเซียประกาศห้ามส่งออก Gasoline และ ดีเซลไปยังทุกประเทศ ยกเว้นอดีตรัฐโซเวียต 4 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนียและคีร์กีซสถาน เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 66 เพื่อสร้างเสถียรภาพตลาดภายในประเทศ 

วันที่ 22 ก.ย. 66 บริษัทผู้ดำเนินการท่อขนส่งน้ำมัน Transneft ของรัสเซียหยุดลำเลียงดีเซลทางท่อสู่ท่าส่งออก Primorsk ชายฝั่งทะเล Baltic ปริมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และท่าส่งออก Novorossiysk ชายฝั่งทะเลดำ ปริมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวัน (รวมคิดเป็น 60% ของปริมาณส่งออกดีเซลของรัสเซีย) ซึ่งในช่วงปี 2566 รัสเซียส่งออกดีเซลเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ส่งออก Gasoline ประมาณ 160,000 บาร์เรลต่อวัน และอุปทานน้ำมันโลกตึงตัวจากมาตรการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC+

วันที่ 20 ก.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25 - 5.50% อย่างไรก็ตาม ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 5.50 - 5.75% ภายในสิ้นปี 2566 (การประชุม FOMC ครั้งถัดไปวันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66) และจะเริ่มปรับลดในปี 2567 และ 21 ก.ย. 66 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) ของธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) มีมติ 5-4 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25%  

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 90-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

‘ดร.ดนุวัศ’ สรุป ‘10 เทคโนโลยีเกิดใหม่มาแรงปี 2023’ ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ใน 3-5 ปีข้างหน้า

เมื่อไม่นานมานี้ รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Danuvas Sagarik’ ถึง 10 เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มาแรงสุดในปี 2023 โดยระบุว่า…

😀10 อันดับ เทคโนโลยีเกิดใหม่สุดปัง ที่มาแรงสุดในปี 2023🌈

🎉 World Economic Forum ได้เผย 10 เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่น่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ได้แก่

📌 1. แบตเตอรี่แบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Batteries)

ในอนาคต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะเห็นได้จากพัฒนาการของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์พับได้ สมาร์ทโฟนพับได้

ทำให้แบตเตอรี่แบบแข็งอาจถูกแทนที่ด้วยแบตเตอรี่ที่ทำจากวัสดุน้ำหนักเบา บาง สามารถบิด งอ หรือยืดหยุ่นได้ง่าย 

📌 2. ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI)

เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการ ‘สร้างใหม่’ จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ด้วยอัลกอริทึม 

Generative AI กำลังได้รับความนิยม จากการปรากฏตัวของ ChatGPT และถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรม

📌 3. เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel)

เป็นอีกเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ท่ามกลางกระแสการคมนาคมสีเขียว (Green Transportation) ซึ่งรวมไปถึงความนิยมการใช้รถ EV 

แม้ปัจจุบัน Sustainable Aviation Fuel ถูกใช้ในสัดส่วนไม่ถึง 1% ของความต้องการเชื้อเพลิงเครื่องบินทั่วโลก 

แต่สัดส่วนดังกล่าวจำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 13-15% ภายในปี 2040 เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

📌 4. ไวรัสที่ถูกออกแบบ และปรับแต่งเพื่อใช้ทางการแพทย์ (Designer Phages)

เช่น สามารถใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับไมโครไบโอม เช่น กลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่ร้ายแรง ซึ่งส่งผลต่อไตและการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเกิดจากเชื้ออีโคไลบางชนิด

📌 5. Metaverse เพื่อสุขภาพจิต (Metaverse for Mental Health)

Metaverse หรือโลกเสมือนที่เปิดให้ผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน ผ่านการใช้เทคโนโลยี AR และ VR

ปัจจุบัน Metaverse ถูกนำไปใช้ในการรักษาสุขภาพจิตในหลายวิธี ซึ่ง Metaverse ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยผ่านการรักษาทางไกล

เช่น บริษัท DeepWell Therapeutics ที่สร้างวิดีโอเกมเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล

และบริษัท TRIPP ซึ่งสร้าง ‘Mindful Metaverse’ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนผ่านการเจริญสติ และการทำสมาธิ 

📌 6. เซ็นเซอร์ติดที่พืช (Wearable Plant Sensors)

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า การผลิตอาหารของโลกจะต้องเพิ่มขึ้น 70% เพื่อเลี้ยงประชากรทั้งโลกให้เพียงพอ ภายในปี 2050 

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านการเกษตรจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเสริมความแกร่งด้านความมั่นคงด้านอาหารของโลก

เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ติดที่พืชกำลังกลายเป็นวิธีตรวจสอบสุขภาพและคุณภาพของพืชที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สุขภาพของพืชผลต่าง ๆ ดีขึ้น และมีผลผลิตมากขึ้น

อุปกรณ์มีขนาดเล็ก และไม่รบกวนพืช ใช้ติดเข้ากับพืชต่าง ๆ เพื่อการตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้น และระดับสารอาหารได้อย่างต่อเนื่อง 

ทำให้เกษตรกรควบคุมการใช้น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคได้ดีขึ้น

📌 7. เทคโนโลยีที่ใช้วิเคราะห์โมเลกุลในพื้นที่ที่เซลล์หรือโครงสร้างชีวภาพต่าง ๆ อยู่ (Spatial Omics)

Spatial Omics จึงอาจให้คำตอบแก่นักวิจัยได้เพิ่มขึ้น ด้วยการรวมเทคนิค ‘การถ่ายภาพขั้นสูง’ เข้ากับความเฉพาะเจาะจงและความละเอียดของการจัดลำดับ DNA 

วิธีการที่เกิดขึ้นใหม่นี้ช่วยทำให้นักวิจัยค้นพบความลึกลับของสิ่งมีชีวิตได้มากขึ้น และดูรายละเอียดเซลล์ และเหตุการณ์ทางชีววิทยาที่ไม่สามารถสังเกตได้ก่อนหน้านี้

📌 8. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อระบบประสาทแบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Neural Electronics)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างคลื่นสมองและคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ภายนอก อื่น ๆ หรือ Brain-Machine Interfaces (BMI) เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ 

และถูกนำมาใช้ในหลายกรณี เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู และแขนขาเทียมที่เชื่อมต่อกับระบบประสาท ทำให้เกิดการจินตนาการเกี่ยวกับศักยภาพในการควบคุมเครื่องจักรด้วยความคิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

📌 9. คลาวด์คอมพิวติงแบบยั่งยืน (Sustainable Computing)

ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลง มนุษย์จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็กำลังพึ่งพาข้อมูลมากขึ้น 

ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าและการปล่อยความร้อนของศูนย์ข้อมูล (Data Center) สำหรับเทคโนโลยี Cloud Computing มากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการขยายตัวของ Metaverse AI และเทคโนโลยีอื่นๆ 

แต่คาดว่าในทศวรรษหน้า ศูนย์ข้อมูลที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และ Sustainable Computing จะมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างมาก 

📌 10. การดูแลสุขภาพที่ใช้ AI (AI-Facilitated Healthcare)

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างระบบสาธารณสุขที่น่าเชื่อถือมากขึ้น 

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นหนึ่งแนวทางสำคัญในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ลดความล่าช้าที่ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเจอเมื่อพยายามเข้ารับการรักษาพยาบาลผ่านระบบ 

เช่น บริษัท Medical Confidence ที่ใช้ AI เพื่อจัดการความต้องการในการรักษาของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้ช่วยลดเวลารอการรักษาได้อย่างมาก บางกรณีช่วยลดเวลารอจากหลายเดือนเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

นอกจากนี้ AI ยังสามารถอำนวยความสะดวกในการระบุรายละเอียดที่สำคัญทางรังสี หรือภาพ CT ที่แพทย์อาจมองข้ามได้ และการรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างข้อมูลเชิงลึกต่อไปได้อีกด้วย

‘Swap & Go - OR’ รุกขยายสถานีสลับแบตฯ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เชื่อมต่อการเดินทางทุกรูปแบบ ตั้งเป้า 100 แห่ง ภายในปี 67

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ นายพิมาน พูลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) และนางสาวอาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด ตอกย้ำโปรเจกต์ความร่วมมือ ‘Swap & Go - Universal Battery Swapping Network Expansion Empowered by OR’ การขยายเครือข่ายแพลตฟอร์มสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของสวอพ แอนด์ โก ที่ใช้ได้กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ (Universal Swapping) ภายในสถานีบริการ PTT Station ของโออาร์ ตอบโจทย์การเดินทางที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว 

เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) ตั้งเป้าขยายจุดให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่ครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑลกว่า 100 แห่งในปี 2567 และบริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ผ่านเครือข่ายสถานีบริการ PTT Station เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาดและเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงาน โดยสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทุกมิติ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเติบโตไปพร้อมกัน

'อ.ธนวรรธน์' เชื่อ 3 มาตรการเร่งด่วนรัฐบาล ช่วยเซฟเงิน ปชช.ได้เกือบ 5 หมื่นล้านบาท

(28 ก.ย. 66) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 4/2566 เศรษฐกิจจะได้แรงสนับสนุนจากมาตรการเร่งด่วนของ ‘รัฐบาลเศรษฐา 1’ เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้า มาตรการลดราคาน้ำมันดีเซล และการพักชำระหนี้เกษตรกร รวม 3 มาตรการประหยัดเงินได้ถึง 49,834 ล้านบาท และหากนำเงินราว 5 หมื่นล้านบาท จากกำลังซื้อประชาชนได้อัดฉีดในระบบเศรษฐกิจ มีผลต่อจีดีพีช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2566 ประมาณ 72,939 ล้านบาท โดยจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.43% ของจีดีพีที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4/2566

‘EA’ คว้ารางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น ปี 66 สะท้อนองค์กรส่งเสริม-มุ่งเน้นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เข้ารับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น (รางวัลระดับสูงสุด) ประจำปี 2566 (Human Rights Awards 2023) ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ตอกย้ำความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กร ด้วยนโยบายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยได้รับเกียรติจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบรางวัล โดยมี นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้เข้ารับมอบรางวัล จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืน ภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) โดยนำนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงาน ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้ ผู้ถือหุ้น ผู้ร่วมค้า ตลอดจนชุมชนและสังคม ซึ่งถือเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการเติบโตของ EA อย่างต่อเนื่อง

รางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น นับเป็นรางวัลสูงสุดระดับประเทศ สะท้อนความสำเร็จในเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของ EA ในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักปรัชญาองค์กร ‘พลังงานบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ที่มีพลัง’ โดยมีเป้าหมายมุ่งมั่นที่จะตอบแทนสังคม ให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว 

EA ดำเนินธุรกิจ ‘Green Product’ ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere ซึ่งขับเคลื่อนธุรกิจโดยสร้างคุณค่าร่วมใน 3 แนวทางหลัก ดังนี้

แนวทางที่ 1 สนับสนุนประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions โดย EA มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2565 พร้อมพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารประจำทาง EV เป็นโครงการแรกของทวีปเอเชียที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต

แนวทางที่ 2 สร้างโอกาส-ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยกิจการเพื่อสังคม อาทิ การออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าที่เอื้อเฟื้อต่อกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้พิการที่ใช้วีลแชร์, ที่นั่งสำหรับสตรีมีครรภ์ เด็ก และคนชรา นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชน เช่น โครงการโรงเรียนวัว และโครงการ EASE Organic ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

แนวทางที่ 3  เคารพความหลากหลายอย่างเสมอภาค มีการพัฒนาพนักงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ Work from Anywhere พร้อมสร้างคุณค่าร่วมผ่านโครงการ Re-employment Program การรับผู้สูงอายุเข้าร่วมทำงานเพื่อแบ่งปันและแชร์ประสบการณ์

“รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลดีเด่น ที่สำคัญต้องขอบคุณพนักงานทุกคนที่ร่วมมือกันผลักดันนโยบายขององค์กร ซึ่งถือเป็นความท้าทายและสร้างโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าร่วมกันด้านสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน” นายอมร กล่าวทิ้งท้าย

‘เน็กซ์’ เดินหน้าส่งมอบยานยนต์หัวลากอีวี-รถบรรทุกอีวี หนุนผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตน้ำมันแพง-ลดต้นทุนการขนส่ง

(28 ก.ย. 66) นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เน็กซ์’ ผู้นำนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของเมืองไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ทำการส่งมอบยานยนต์หัวลากพลังงานไฟฟ้า 423.93 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ให้กับ บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งผู้นำด้านบริการขนส่งทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำไปใช้ในการขนส่งสินค้า ทดแทนรถบรรทุกเดิมที่ใช้พลังงานน้ำมัน ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนพลังงานน้ำมันในตลาดโลกที่ราคาพุ่งแรงอย่างมาก จึงเห็นว่ายานยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถช่วยลดต้นทุนพลังงานลงได้ และยังมีค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษาระยะยาวที่ถูกกว่ายานยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันอีกด้วย

“เรามั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างเน็กซ์ และมนต์ทรานสปอร์ต จะเป็นตัวจุดประกายให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานน้ำมันแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และที่สำคัญยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายคณิสสร์กล่าว

นายคณิสสร์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บริษัทยังได้ส่งมอบรถบรรทุกไฟฟ้า 6 ล้อ 15 ตัน ให้กับ บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ระดับแนวหน้าในเครือ CMA CGM Group เพื่อนำไปใช้ในการให้บริการด้านการขนส่งและจัดเก็บสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งความร่วมมือระหว่าง NEX กับ CEVA Logistics ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ Green Logistics Sustainability ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน ยังช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เน็กซ์มีความพร้อมเดินหน้าให้บริการอย่างเต็มกำลัง โดยโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 9,000 คันต่อปี และอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้รถอีวี โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถส่งมอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทุกประเภท ทั้งรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้า รวมไปถึงรถหัวลากไฟฟ้า ให้กับผู้ประกอบการได้ตามความต้องการ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ เน็กซ์มีรายได้รวมเติบโตแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้

ด้าน น.ส.ธีรินทร์ อู่ทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลลูกค้า บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า มั่นใจว่าการจับมือกับเน็กซ์ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถบรรทุกให้กับบริษัทตอบโจทย์ Green Logistics เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี ทั้งนี้ บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด ผู้นำด้านบริการขนส่งทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ด้วยทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท ผ่านการดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถบรรทุกจำนวนมากกว่า 1,000 คัน ตลอดจนการริเริ่มขยายการให้บริการในด้านบริหารจัดการคลังสินค้า

ขณะที่ นายสุตนัย เหมศรีชาติ ผู้อำนวยการขนส่งทางบก บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชั่นโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน ระดับแนวหน้าในเครือ CMA CGM Group กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของบริษัทที่มีความมุ่งสู่ Green Logistics Sustainability เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยวางเป้าให้บริการรถบรรทุกไฟฟ้าขนส่งสินค้า ทั้งหมด 1,450 คัน ในปี 2568 ทั่วโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top