‘EA’ คว้ารางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น ปี 66 สะท้อนองค์กรส่งเสริม-มุ่งเน้นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เข้ารับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น (รางวัลระดับสูงสุด) ประจำปี 2566 (Human Rights Awards 2023) ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ตอกย้ำความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กร ด้วยนโยบายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยได้รับเกียรติจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบรางวัล โดยมี นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้เข้ารับมอบรางวัล จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืน ภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) โดยนำนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงาน ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้ ผู้ถือหุ้น ผู้ร่วมค้า ตลอดจนชุมชนและสังคม ซึ่งถือเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการเติบโตของ EA อย่างต่อเนื่อง

รางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น นับเป็นรางวัลสูงสุดระดับประเทศ สะท้อนความสำเร็จในเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของ EA ในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักปรัชญาองค์กร ‘พลังงานบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ที่มีพลัง’ โดยมีเป้าหมายมุ่งมั่นที่จะตอบแทนสังคม ให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว 

EA ดำเนินธุรกิจ ‘Green Product’ ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere ซึ่งขับเคลื่อนธุรกิจโดยสร้างคุณค่าร่วมใน 3 แนวทางหลัก ดังนี้

แนวทางที่ 1 สนับสนุนประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions โดย EA มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2565 พร้อมพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารประจำทาง EV เป็นโครงการแรกของทวีปเอเชียที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต

แนวทางที่ 2 สร้างโอกาส-ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยกิจการเพื่อสังคม อาทิ การออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าที่เอื้อเฟื้อต่อกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้พิการที่ใช้วีลแชร์, ที่นั่งสำหรับสตรีมีครรภ์ เด็ก และคนชรา นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชน เช่น โครงการโรงเรียนวัว และโครงการ EASE Organic ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

แนวทางที่ 3  เคารพความหลากหลายอย่างเสมอภาค มีการพัฒนาพนักงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ Work from Anywhere พร้อมสร้างคุณค่าร่วมผ่านโครงการ Re-employment Program การรับผู้สูงอายุเข้าร่วมทำงานเพื่อแบ่งปันและแชร์ประสบการณ์

“รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลดีเด่น ที่สำคัญต้องขอบคุณพนักงานทุกคนที่ร่วมมือกันผลักดันนโยบายขององค์กร ซึ่งถือเป็นความท้าทายและสร้างโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าร่วมกันด้านสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน” นายอมร กล่าวทิ้งท้าย