Tuesday, 17 September 2024
Econbiz

‘ทายาทเจ้าสัวเจริญ’ ทุ่ม 3 หมื่นล้าน พลิกที่ดิน 100 ไร่ ผุด ‘ลานนาทีค’ เชียงใหม่ ปั้นแลนด์มาร์กแห่งเมืองเหนือ

(21 ก.ย.66) นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะพัฒนาโครงการ ‘ลานนาทีค’ (LANNATIQUE) บนพื้นที่รวมกว่า 100 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นแลนด์มาร์กใหม่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ และเป็นการสร้างเดสติเนชันให้กับเมืองเชียงใหม่ ให้เป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลก 

การพัฒนาโครงการลานนาทีค จะครอบคลุมเชื่อมโยงหลายพื้นที่เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ถนนช้างคลาน ไนท์บาซ่า ตลาดอนุสาร ไปจนถึงริมน้ำปิง เพื่อสร้างประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ท่องเที่ยว รวมถึงเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ตามมาสเตอร์แพลนการลงทุนโครงการ ‘ลานนาทีค’ ของ AWC ในจังหวัดเชียงใหม่ คือการเชื่อมโยงการพัฒนาการลงทุนรวมกว่า 10 โครงการ บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปีในการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ เชื่อมโยงพื้นที่ทั้ง 100 ไร่ของ AWC ได้สำเร็จ

โครงการ ‘ลานนาทีค’ จะประกอบไปด้วยการลงทุนโรงแรม 4 แห่งที่มีทั้งที่เปิดบริการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนาได้แก่ โรงแรม มีเลีย เชียงใหม่ ที่เปิดให้บริการแล้ว เน้นลูกค้าที่มองหาโรงแรมสไตล์โมเดิร์น ไลฟ์สไตล์ ,โรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ซึ่งซื้อมาจากกลุ่มดุสิตธานี ที่เราจะเน้นกลุ่ม young generation Traveller

ส่วนโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ที่ปรับปรุงใหม่จากเดิมที่เป็นโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง ซึ่งโรงแรมแห่งแรกของพอร์ตโฟลิโอโรงแรมในกลุ่มทีซีซี ที่เพิ่งเปิดให้บริการแล้วในเฟสแรกสำหรับห้องพักและห้องสวีท 240 ห้อง ส่วนเฟส 2 จะเป็นห้องพักแบบพูลวิลล่า, คลับอินเตอร์คอนติเนนตัล คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 ปี ภายใต้การลงทุนรวมทั้ง 2 เฟสกว่า 5 พันล้านบาท กลุ่มลูกค้าจะเป็นลักชัวรี ไฮเอนท์

โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง จะเป็นโรงแรมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งแรกของประเทศไทย เน้นศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีของล้านนามาประยุกต์ตกแต่ง และนำเทคโนโลยี AR มา เป็นนวัตกรรมแบบอินเตอร์แอคทีฟ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ เข้าใจถึงศิลปะล้านนา ที่นำมาใช้ในการออกแบบและตกแต่งโรงแรม รวมถึงโรงแรมแมริออท เชียงใหม่ (รีแบรนด์จากเดิมที่เป็นโรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่) จะเปิดให้บริการวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ กลุ่มลูกค้าจะเน้นคอร์ปอเรตและไมซ์

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง คือ ‘พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่’ ใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท เพื่อยกระดับพันธุ์ทิพย์ให้ทันสมัยมากขึ้นภายใต้ชื่อโครงการ เดอะพันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ ฮับ พื้นที่รวม 13,000 ตารางเมตร ที่จะเปิดในเดือนธ.ค.นี้ จะมี 3 ไฮไลต์หลัก ได้แก่…

•  ATTRATIONS แลนด์มาร์กสำหรับกิจกรรมความสนุกหลากหลายเสมือนห้องนั่งเล่น
•  FOOD LOUNGE แหล่งรวมร้านอาหารชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดภาคเหนือ
•  LIFESTYLE MARKET แหล่งไลฟ์สไตล์สำหรับทุกคนพร้อมต้อนรับทุกการพบปะสังสรรค์

รวมไปถึงทยอยการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่ต่อกับโรงแรมแมริออท เชียงใหม่ ที่จะทำไลฟ์สไตล์มาร์เก็ต และพื้นที่สำหรับค้าปลีก ในพื้นที่ไนต์บาซาร์ และพื้นที่ตรงกาแล ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรระดับโลก เข้ามาร่วมพัฒนาให้เป็น Attraction ด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

โดยจะเป็นเหมือนหมู่บ้านศิลปะและวัฒนธรรมเราจะปั้นให้เชียงใหม่เป็นไลฟ์สไตล์ฮับ แหล่งรวมศิลปะวัฒนธรรม งานอาร์ตแอนด์ คราฟต์ในภาคเหนือ สร้างให้เป็นเดสติเนชั่นท่องเที่ยวระดับโลก ที่จะว๊าวกว่าเกียวโต เพื่อทำให้ย่านช้างคลานกลายเป็นศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย (อาร์ตวิลเลจ)ที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลกให้เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น

>> 10 โปรเจกต์ในโครงการลานนาทีค ได้แก่...
•  สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์
•  SIEM PAKDEE (ดีไซน์ โฮเทล)
•  พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ (ปรับโฉมเป็น เดอะพันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ ฮับ)
•  โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง (ปรับโฉมจากโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิงเดิม)
•  โรงแรมแมริออท เชียงใหม่
•  บ้านโบราณ เชียงใหม่ (พัฒนาเป็น ลักซัวรี่ บูทีค โฮเทล)
•  BAAN K SIRIN (พัฒนาเป็นเวลเนส โฮเทล)
•  โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่
•  การพัฒนาในโซนไนท์บาซาร์ และกาแลที่จะสร้างโครงการ ลานนาทีค บาซาร์ (ไนท์บาซาร์) Traditional Luxury Souvenirs , โครงการลานนาทีคกาแล เน้นความเป็นไลฟ์สไตล์มาร์เก็ต มีบิวตี้ คลีนิค และโรงแรมในระดับอัพสเกล
•  โครงการลานนาทีค มาร์เก็ต (ตลาดอนุสาร)พัฒนาเป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มาร์เก็ต

ด้าน เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัทบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวในงานเปิดตัวโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ว่า “โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง เป็นโรงแรมที่ผมซื้อมากว่า 30 ปีก่อน ถูกขอให้ช่วยก็เลยช่วยไป ผมใช้คติธรรมของบรรพบุรุษซึ่งก็ไม่ใช่คนมีเงินอะไรเพียงแต่สอนให้เราทำยังไงให้คนเห็นดีเราถึงจะดีได้ และคนโบราณจีนสอนให้ ยิ่งให้ยิ่งดี เราถูกขอร้องก็เลยซื้อ

“ตอนมาซื้ออีกโรงแรมที่ปัจจุบันเป็นโรงแรมมีเลียเชียงใหม่ เราถูกขอร้องก็เลยซื้อ ซื้อมาก็คิดว่า ถ้าลูกจะไปทำต่อที่ดินไม่ติดกันจะทำอย่างไร ก็เลยจำเป็นต้องเก็บนิดผสมน้อยไปเพื่อให้เป็นรูปธรรมวันหน้าทำอะไรจะได้สวย ซึ่งก็ใช้เวลากว่า 30 ปี เราถูกขอให้ช่วยก็ช่วยไป เราทำให้ดีให้ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใคร ก็เก็บมาอย่างยากลำบากให้ลูกได้รู้คุณค่า

“เมื่อลูกสาว (วัลลภา ไตรโสรัส) มาทำ AWC ก็พัฒนาต่อทำสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ให้พื้นที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ ทำให้เกิดความทรงคุณค่าและไม่เสียหาย เพื่อทำให้เชียงใหม่กลับมาเจริญรุ่งเรืองดึงดูดนักท่องเที่ยวจากการทำโครงการต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวชอบ”

‘กรมพัฒน์ฯ’ ปั้นผู้ประกอบการชุมชนผลิตสินค้า ตาม BCG Model ภายใต้โครงการ DBD SMART Local BCG ครอบคลุม 77 จังหวัด

(21 ก.ย.66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการจัดทำโครงการ DBD SMART Local BCG ปี 2566 ว่า กรมได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการชุมชน ที่มีความหลากหลายทั้งทางชีวภาพ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม เพื่อให้มีการผลิตสินค้าและบริการที่ผสมผสานแนวคิด BCG Economy Model และให้นำไปพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน

ให้มีความโดดเด่น และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยได้เข้าไปช่วยสร้างความรู้เรื่องผ่านบทเรียนออนไลน์ในหลักสูตร BCG ธุรกิจสร้างรายได้ รักชุมชน รักษ์โลกเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจชุมชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จำนวน 139 ราย และได้มีการพัฒนาต่อให้เป็นธุรกิจชุมชนต้นแบบ ก่อนที่จะช่วยเหลือเพิ่มโอกาสในการตลาดต่อไป

โดยผลการดำเนินงาน ได้เข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพการประกอบธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จากผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเชิงลึกทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online สามารถสร้างชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ครอบคลุม 77 จังหวัด จำนวน 88 ราย ประกอบด้วย 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์

ได้แก่ 1.อาหารและเครื่องดื่ม 2.ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3.ของใช้ของตกแต่งของที่ระลึก และ 4.สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร แบ่งเป็นธุรกิจ Bio Economy จำนวน 22 ราย ธุรกิจ Circular Economy จำนวน 29 ราย และธุรกิจ Green Economy จำนวน 37 ราย

ส่วนการนำผู้ประกอบการชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ไปเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 56 ราย กับกลุ่มผู้จัดจำหน่าย และผู้ซื้อชั้นนำ 16 หน่วยงาน จำนวน 198 คู่ เกิดมูลค่าการค้า 30,629,500 บาท

นอกจากนี้ ได้นำผู้ประกอบการตัวแทน 18 กลุ่มจังหวัด และกรุงเทพฯ จำนวน 28 ราย เข้าร่วมออกบูธในงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ช่วงเดือนก.ค. เกิดการซื้อขายภายในงาน 1,484,152 บาท โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ พระพิฆเนศจากนิล ภาชนะจากเศษไม้สัก บ้านแมวจากผักตบชวา ชุดเดรส และผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ

สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 กรมจะมุ่งเน้นสร้างโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน DBD SMART Local BCG อย่างยั่งยืนในกลุ่มตลาดใหม่ เช่น โรงแรม บริษัท องค์กร สถาบัน เพื่อเข้าสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจแบบ B2B มากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ DBD SMART Local BCG เป็นโครงการที่กรมได้เข้าไปคัดเลือกผู้ประกอบการชุมชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยต้องเป็นของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น และตรงตามหลัก S-M-A-R-T คือ

ต้องเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่ (Superlative), มีการผลิตสินค้าที่ทันสมัยรองรับตลาดยุคใหม่ (Modern), คงเสน่ห์เอกลักษณ์ไทย ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น (Attractive), สินค้ามีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ สร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง (Remarkable) และต้องมั่นใจได้ในคุณภาพมาตรฐาน (Trust) 

‘ไทย-เกาหลี’ เตรียมจัดงาน ‘สตรอว์เบอร์รีนานาชาติ’ ที่กทม. ปีหน้า หวังเผยแพร่ผลไม้เมืองนนซาน ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับสากล

(21 ก.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้การต้อนรับ นายแบ็ก ซอง ฮยอน (H.E. Mr. Baek Seong Hyeon) นายกเทศมนตรีเมืองนนซาน สาธารณรัฐเกาหลี และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือเกี่ยวกับการจัดงานเทศกาลสตรอว์เบอร์รีนานาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร (International Strawberry Festival in Bangkok) และประเด็นความร่วมมืออื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่ทางเมืองนนซาน ได้มาเยี่ยมกรุงเทพฯ และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นายกเทศมนตรีเมืองนนซาน จะจัดงานเทศกาลสตรอว์เบอร์รีนานาชาติขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปีหน้า ซึ่งมีความสำคัญในแง่ของการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองเมือง ซึ่งกรุงเทพฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือในทุกด้าน ทั้งในเรื่องของการอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ และการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนไปร่วมงานนี้

ในส่วนของลักษณะงาน เป็นการจัดแสดงและจำหน่ายสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ต่างๆ และผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปจากสตรอว์เบอร์รี ตลอดจนการนำศิลปินเกาหลีชื่อดังมาร่วมงานฯ เพื่อดึงดูดประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มาเข้าร่วมมากยิ่งขึ้น โดยมีกำหนดจัดงานฯ ระหว่างวันที่ 15-18 ก.พ. 67 ณ ลานพาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน

สำหรับงานเทศกาลสตรอว์เบอร์รีนานาชาติ ณ กรุงเทพฯ เป็นความคิดริเริ่มของเมืองนนซาน ที่จะจัดงานดังกล่าวในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นการขยายการดำเนินงานจากการจัดงานฯ ภายในเมืองนนซานเองในช่วงเดือนมี.ค. ของทุกปีเป็นระยะเวลา 27 ปีติดต่อกัน

ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกเป็นสถานที่จัดงานฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่สตรอว์เบอร์รีคุณภาพดีจากเมืองนนซาน ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในระดับสากล สนับสนุนศักยภาพสินค้าทางการเกษตรของเกาหลีไปสู่ตลาดโลก และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเมืองนนซาน และกรุงเทพฯ 

CNN เปิดรายชื่อสุดยอดโรงแรมจาก The World’s 50 Best Hotels ไทยมาแรง!! ครองอันดับ 3 แถมเข้าติด Top 20 ถึง 3 แห่ง

สำนักข่าว CNN รายงานการจัดอันดับของ ฟิฟตี้ เบสต์ (50 Best) ประกาศชื่อ โรงแรมที่ดีที่สุดในโลก 50 แห่ง เมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) โดยยกให้โรงแรมปาสซาลากกวา (Passalacqua) ซึ่งเป็นโรงแรมที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 บริเวณริมทะเลสาบโคโม่ ของประเทศอิตาลี เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในโลก ขณะที่ โรงแรมไทยนั้น เข้าอันดับดีที่สุด 20 อันดับแรก ถึง 3 โรงแรม ได้แก่ โฟร์ซีซั่นส์ แม่น้ำเจ้าพระยา มาเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ตามด้วย แมนดาริน โอเรียนเต็ล อันดับ 10 และ คาเพลลา กรุงเทพ อันดับ 11

ทั้งนี้ โรงแรมปาสซาลากกวา เคยเป็นบ้านของนายวินเชนโซ เบลลีนี นักประพันธ์โอเปราชาวอิตาลี ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 7 เอเคอร์ และมีราคาเข้าพักเริ่มต้นที่ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 47,000 บาท) ต่อคืน

รายงานระบุว่า 50 Best ทำการจัดอันดับโรงแรมที่ดีที่สุดในโลกในปีนี้เป็นครั้งแรก แม้เคยจัดอันดับ 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก และ 50 บาร์ที่ดีที่สุดในโลกมาแล้วหลายปีก็ตาม

50 Best เผยว่า การจัดอันดับครั้งนี้อิงตามผลการให้คะแนนของผู้ออกเสียงโดยไม่ระบุชื่อจำนวน 580 ราย ซึ่งประกอบด้วยนักข่าวด้านการเดินทาง ผู้บริหารโรงแรม และนักเดินทางทั่วโลก

สำหรับผลโหวตและการจัดอันดับดังกล่าว ปรากฏว่าในส่วนของโรงแรมไทยนั้นติดอันดับโรงแรมดีที่สุดในโลกหลายโรงแรมด้วยกัน โดยมีโรงแรมไทย 4 แห่งที่อยู่ใน 50 อันดับแรก ในจำนวนนี้ 3 แห่งอยู่ใน Top20 หรือ 20 อันดับแรก ได้แก่

-โฟร์ซีซั่นส์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (Four Seasons Bangkok at Chao Phraya River) อันดับ 3
-แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ (Mandarin Oriental Bangkok) อันดับ 10
-คาเพลลา กรุงเทพ (Capella Bangkok) อันดับ 11
-โรงแรมเดอะ สยาม (The Siam) อันดับ 42

รายชื่อโรงแรมดีที่สุดในโลก 10 อันดับแรกจาก 50 Best ปี 2023 ได้แก่

1.ปาสซาลากกวา (Passalacqua) อิตาลี
2.โรสวู้ด ฮ่องกง (Rosewood Hong Kong) ฮ่องกง
3.โฟร์ซีซั่นส์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (Four Seasons Bangkok at Chao Phraya River) ไทย
4.ดิ อัปเปอร์ เฮาส์ (The Upper House) ฮ่องกง
5.อมัน โตเกียว (Aman Tokyo) ญี่ปุ่น
6.ลา มามูเนีย (La Mamounia) โมร็อกโก
7.โซเนวา ฟูชิ (Soneva Fushi) มัลดีฟส์
8.วันแอนด์โอนลี มันดารินา (One&Only Mandarina) เม็กซิโก
9.โฟร์ซีซั่นส์ ฟิเรนเซ (Four Seasons Firenze) อิตาลี
10.แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ (Mandarin Oriental Bangkok) ไทย

ดูรายชื่อทั้งหมด 50 โรงแรมดีที่สุดในโลก ปี 2023 >> https://www.theworlds50best.com/stories/News/the-worlds-50-best-hotels-2023-list-in-pictures.html  

สำรวจ Lounge ผู้โดยสารชั้น 1 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บริการดีๆ ที่น่าชื่นชม แต่เชื่อเถอะว่า 'ทำได้ดีกว่านี้' หาก...

(22 ก.ย.66) จากเพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'Lounge ผู้โดยสารชั้น 1 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เปิดแล้ว…มีบริการก็ดี แต่เชื่อเถอะว่า 'ทำได้ดีกว่านี้' ดูตัวอย่าง Lounge สถานี Amsterdam Central' ว่า...

วันนี้หลายๆ คนน่าจะเห็นโพสต์ การเปิดให้บริการ ห้องรับรอง (Lounge) สำหรับผู้โดยสารชั้น 1 โดยเปิดให้บริการอยู่บริเวณ ระหว่างชานชาลา 7 และ 8 ข้างห้องน้ำด้านเหนือของสถานี 

รายละเอียดโพสต์ ห้องรับรองผู้โดยสารชั้น 1 ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/100064440019733/posts/702223165269011/

วันนี้ ผมก็ได้ไปเยี่ยมชมห้องรับรองผู้โดยสารชั้น 1 มา ซึ่งก็ดีใจที่การรถไฟ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร

แต่…ผมคิดว่า การรถไฟฯ สามารถทำได้ดีกว่านี้ครับ

ผมเลยอยากจะเอาตัวอย่างของรับรองผู้โดยสารชั้น 1 (First Class) ของต่างประเทศ จาก สถานี Amsterdam Central มาให้เพื่อน ๆ ชม เพื่อมาเป็นตัวอย่าง และช่วยกันแสดงความคิดเห็นในการพัฒนากันครับ

ในพื้นที่อาคารสถานี Amsterdam Central มีพื้นที่รับรองผู้โดยสารชั้น 1 คือ NS International Lounge Regus Express 

ซึ่งอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของชานชาลา 1 ซึ่งเปิดให้ผู้โดยสารชั้น 1 ของหลายเส้นทาง และหลายผู้ให้บริการเข้าใช้ได้ รวมถึงผู้ถือบัตรสมาชิกของผู้ให้บริการ ได้แก่ ...

- 1st class international ticket (incl. Interrail 1st class)
- DB BahnBonus comfort card
- SNCF Grand Voyageur Le Club
- SNCF T card
- Eurostar Carte Blanche
- Österreich card
- SBB General-subscription
- Regus Business lounge membership

ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ไม่มีสิทธิ์ที่บอกมา ก็สามารถเข้าใช้บริการได้โดยจ่ายค่าใช้บริการเป็นรายชั่วโมง และรายวัน ...
- ชั่วโมงละ 6€ (ประมาณ 240 บาท)
- วันละ 15€ (ประมาณ 600 บาท)

ซึ่งรองรับผู้โดยสารที่รอต่อขบวนรถไฟ ได้อย่างสะดวก 

สิ่งอำนวยความสะดวก ภายใน Lounge
- โต๊ะ และพื้นที่ทำงาน พร้อมปลั๊กไฟ ทุกโต๊ะ
- มีโซฟา พร้อมกับโต๊ะส่วนตัว สำหรับบางคนที่ต้องการความสงบ หรือพักผ่อน
- WiFi ฟรี ที่เร็วพอสมควร
- มีน้ำดื่ม ชา กาแฟ ให้บริการฟรี สามารถหยิบได้เลย

ที่สำคัญที่สุดที่ผมมองว่าสำคัญ และคนที่เดินทางต้องการ ระหว่างการรอเดินทาง คือ 'บรรยากาศ' ที่ผ่อนคลาย ห้องไม่สว่างเกินไป เหมาะสำหรับการพักผ่อน และมีเจ้าหน้าที่ มาเรียกก่อนการเดินทาง ป้องกันการตกรถไฟ

กลับมามองที่ห้องรับรองผู้โดยสารชั้น 1 ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

ซึ่งก็ต้องบอกว่าเราพึ่งเปิดให้บริการมาได้ 2 วัน อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่พร้อม แต่ก็อยากให้ปรับปรุงให้ดีขึ้น ได้แก่ ...

- จัดหาโต๊ะทำงาน ที่สามารถให้เปิดคอมทำงานได้อย่างสะดวก พร้อม WiFi ที่เร็วสำหรับคนนั่งทำงานก่อนเดินทาง

- ปรับบรรยากาศ ทั้งแสง และสีใหม่ทั้งหมด ให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น คล้ายกับใน Starbuck และควรเปิดม่าน ให้มองเห็นบรรยากาศภายนอกห้องด้วย

- แยกพื้นที่ Zone ครอบครัว กับผู้ต้องการความสงบออกจากกัน

- จัดหาเครื่องดื่ม หรืออย่างน้อยก็มีตู้จำหน่ายน้ำ และอาหารอัตโนมัติ มาตั้งหน้าห้องก็ได้

- มีป้ายแสดงเวลาออกเดินทางของรถไฟทั้งสถานี เพื่อให้ผู้โดยสารไม่ร้อนใจและระแวงเวลารอรถไฟ

ซึ่งสิ่งที่ผมบอกมา มั่นใจว่ามีสถาปนิก และมันฑนากร สามารถออกแบบได้เหมาะสมไม่น้อยไปกว่า Amsterdam Central แน่นอน 

โดยถ้าทำทั้งหมด ผมอยากให้การรถไฟเปิดให้จ่ายค่าใช้บริการสำหรับผู้โดยสารชั้นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับเรา อาจจะ ชั่วโมงละ 100 บาท ผมว่าก็มีคนใช้บริการครับ

ซึ่งทั้งหมดนี้อยากจะติเพื่อก่อ เพื่อให้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นนะครับ และฝากไปถึงผู้บริหารการรถไฟ ช่วยจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้เพื่อยกระดับประสบการณ์ 

การใช้บริการของการรถไฟ ไปอีกระดับ เทียบเท่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน Business Class จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้อีกกลุ่มแน่นอนครับ

‘รฟท.’ ไฟเขียว!! รถไฟฟ้าสายสีแดง 20 บาทตลอดสาย หวังช่วยลดค่าใช้จ่าย - จูงใจประชาชนใช้บริการมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (21 ก.ย. 66) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด รฟท.) ว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติดำเนินการตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เบื้องต้นจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งตามขั้นตอน ในการขอปรับค่าโดยสารจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 27 ที่ระบุว่าหากหน่วยงานมีมาตรการหรือโครงการใด ๆ ที่กระทบต่อรายได้ขององค์กรสามารถดำเนินการได้ซึ่งจะต้องกำหนดแผนหรืองบประมาณที่ใช้จ่าย รวมทั้งระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับด้วย หากกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษานโยบายดังกล่าว พบว่า รฟท.จะสูญเสียรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนเงินชดเชยประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารนั้น จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5-20% ต่อปี ซึ่งจะมีผลทำให้รายได้ของ รฟท. เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 2 หมื่นคนต่อวัน

‘พิมพ์ภัทรา’ รุกสร้างต้นแบบ ‘Smart Farmer’ พื้นที่ภาคใต้ มุ่งสร้างรายได้-ลดค่าใช้จ่ายด้วย ‘เทคโนโลยี-นวัตกรรมพลังงาน’

(22 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มุ่งสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงาน

ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้มีผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม 2 แห่ง ในจังหวัดชุมพร ประกอบด้วย บริษัท ห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง และ บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง ผู้ประกอบการฟาร์มโคนม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนม ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากิจการให้เป็นเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farmer ต้นแบบ โดยการนำระบบ IoT (Internet of Things) มาใช้ติดตาม วิเคราะห์พฤติกรรมโคนมที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม และบริหารจัดการนำผลิตภัณฑ์นมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า

รวมถึงนำของเสียจากฟาร์ม อาทิ มูลวัว มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ตามแนวทาง BCG Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 11.2 ล้านบาท เพื่อใช้จัดซื้อโคนม เครื่องผลิตอาหาร ปรับปรุงโรงเรือน โรงแปรรูป และเป็นเงินทุนหมุนเวียน จนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ถึง 40 % ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านบาทต่อปี

ส่วนบริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัดผู้ประกอบการสวนผลไม้ผสมผสาน และโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรด้วยวิธีการแช่แข็ง และการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งหรือ Freeze Dry ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อโดรนเพื่อใช้ในการพ่นยาฆ่าแมลงภายในสวนทุเรียน รวมทั้งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน โดยสามารถลดต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และยกระดับการบริหารจัดการสวนผลไม้ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยการพัฒนาโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีแช่แข็งและฟรีซดราย และได้รับมาตรฐาน GMP พร้อมทั้งส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกทุเรียนมาทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบผลิต

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ราย มีการขับเคลื่อนการดำเนินกิจการ ตามนโยบาย MIND 4 มิติ ได้แก่

-ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ

-ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและมีความสุข

-ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก

-การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ด้วยการกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิกระบวนการผลิต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และเป็นแหล่งสร้างงานให้กับชุมชน

‘กรมพัฒนาธุรกิจฯ’ เสริมแกร่งร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปี 67 ปั้น 30 ร้านต้นแบบ เร่งเข้มติว 2 พันราย ดันเป็นสมาร์ตโชห่วย

(22 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงแผนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2567 ว่า กรมตั้งเป้าที่จะเดินหน้าส่งเสริมร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ระดับอำเภอและจังหวัดที่เป็นนิติบุคคล และมียอดขายตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานแข็งแรง สามารถยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการตามแนวทางของกรม และพัฒนาสู่การเป็น ‘ร้านค้าต้นแบบ’ ได้ โดยตั้งเป้าที่จะเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ ที่สนใจพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบจำนวน 30 ร้านค้า ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้

โดยแนวทางการพัฒนาจะเริ่มตั้งแต่การเสริมสร้างองค์ความรู้ การศึกษาดูงานร้านต้นแบบรุ่นพี่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ ตลอดจนการลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำในเชิงลึกที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจได้ตรงจุด ทั้งประเด็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเร่งด่วน รวมถึงการเสริมจุดแข็งให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย หรือ ‘โชห่วย’ ให้มีความเข้มแข็ง เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาร้านค้าโชห่วย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจของห้างโมเดิร์นเทรด ที่ปรับตัวย่อขนาดเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีภาพลักษณ์ดีและเทคโนโลยีทันสมัย ขยายตัวออกสู่ชุมชน รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากเทคโนโลยี จึงต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับโชห่วย โดยกำหนดจัดสัมมนาออนไซต์ใน 4 ภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ พัฒนาโชห่วยไทยทั่วประเทศให้เป็น ‘สมาร์ตโชห่วย’ โดยมีร้านค้าต้นแบบเข้ามาช่วยเหลือ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือร้านโชห่วย จะเน้นการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าตามหลัก 5 ส. (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า และส่งเสริมการใช้ระบบ POS เพื่อผลักดันให้ร้านค้าโชห่วยปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิม สู่การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยในปี 2567 ตั้งเป้าจัดสัมมนาออนไซต์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และ 4 ภูมิภาค เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,000 ราย และพัฒนาต่อยอดเป็น ‘สมาร์ตโชห่วย’ ต้นแบบในพื้นที่ จำนวน 20 ราย

ปัจจุบัน มีร้านค้าส่งค้าปลีก ที่ได้รับการพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบ รวม 307 ร้านค้า และมีร้านโชห่วยที่ผ่านการพัฒนา และได้รับป้ายสัญลักษณ์โครงการ ‘สมาร์ตโชห่วย พลัส’ จำนวน 306 ร้านค้า

'ทีเอ็มบีธนชาต' จัดโปรมือถือ iPhone15 ผ่อน 0% นานสุด 48 เดือน ถึง 31 ต.ค.นี้

ไม่นานมานี้ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี มอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ttb จับมือ 24 ร้านจำหน่ายมือถือชั้นนำ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ iPhone อาทิ TRUE / Studio7 / iStudio by SPVI / iStudio by Copperwired / iStudio by Uficon / BaNANA / TG Fone / Jaymart / Power Buy / Power Mall / IT CITY / CSC / Advice เป็นต้น

***พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ttb เมื่อซื้อ iPhone15 และทำรายการแบ่งชำระดอกเบี้ย 0% นานสูงสุด 48 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2566 - 31 ตุลาคม 2566 นี้

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิพิเศษ 1: รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 5% จากร้านค้าชั้นนำที่ร่วมรายการ โดยร้านที่มอบเครดิตเงินคืนสูงสุดในอัตรา 5% คือร้าน TRUE และ Com7 จำกัดรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 4,000 บาท ต่อบัญชีบัตรหลัก ตลอดรายการส่งเสริมการขาย

สิทธิพิเศษ 2: แลกคะแนนรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 12% เมื่อใช้คะแนนสะสมทุก 1,000 คะแนน และทำรายการแบ่งชำระ 0% บัตรเครดิต ttb reserve infinite และบัตรเครดิต ttb reserve signature รับเครดิตเงินคืน 12% (ทุก 1,000 คะแนน รับ 120 บาท) บัตรเครดิต ttb (บัตรเครดิต ทีเอ็มบี และ บัตรเครดิต ธนชาต) และบัตรเครดิต ttb Global House รับเครดิตเงินคืน 10% (ทุก 1,000 คะแนน รับ 100 บาท) โดยต้องมียอดใช้จ่ายขั้นต่ำ 1,000 บาท ต่อเซลล์สลิป จำกัดการแลกคะแนนไม่เกินยอดใช้จ่าย จำกัดการแลกคะแนนสะสมสูงสุด 50,000 คะแนน ต่อบัญชีบัตรหลัก ตลอดรายการส่งเสริมการขาย

'สุริยะ' เตรียมพร้อมรับ VISA Free 'จีน-คาซัคฯ' ยืนยันทุกสนามบินมีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร

(22 ก.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อรองรับผู้โดยสารชาวจีนและคาซัคสถานตามนโยบาย VISA Free ของรัฐบาล โดยมี นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมคมนาคม กระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้กำหนดนโยบายมาตรการ VISA Free ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวนั้น จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น อันจะนำไปสู่การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566 - 2567 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับเทศกาลวันชาติของจีน คาดการณ์ว่า จะมีเที่ยวบินจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากมาตรการ VISA Free ของรัฐบาล จากเดิม เฉลี่ย 72 เที่ยวบิน/วัน เป็น 96 เที่ยวบิน/วัน และปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย จากเดิม 9,680 คน/วัน เป็น 18,656 คน/วัน โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ล้านคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุดตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย

"ผมได้สั่งการให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต และให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าอากาศยานไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น" รมว.คมนาคม กล่าว

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว บริหารจัดการท่าอากาศยานให้การบริการมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ดังนี้...

(1) ผู้โดยสารขาเข้า

- ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ประสานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เตรียมประจำการเต็มช่องตรวจหนังสือเดินทาง ทั้ง 138 ช่อง ในชั่วโมงหนาแน่น และเตรียมเครื่องตรวจอัตโนมัติ 16 เครื่อง ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ กำกับดูแลและติดตามเวลาการจัดส่งสัมภาระให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกำชับให้ผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน จัดเตรียมอัตรากำลังและอุปกรณ์ให้เต็มขีดความสามารถและสอดคล้องกับเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น

(1.1) ผู้โดยสารขาออก

- ขั้นตอนการเช็กอิน ประสานสายการบินจัดให้มีพนักงานให้บริการเช็กอินเต็มทั้ง 302 เคาน์เตอร์ และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้ผู้โดยสารใช้บริการเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) และใช้บริการเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมการทำ Early Check-in

- ขั้นตอนจุดตรวจค้น จัดเจ้าหน้าที่เกลี่ยแถวผู้โดยสารให้สามารถเข้าสู่จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 3 โซน ในปริมาณใกล้เคียงกัน เพื่อให้การใช้อุปกรณ์ตรวจค้น ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์ 25 เครื่อง ที่ได้ติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) แล้ว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนการตรวจลงตรา ประสานเจ้าหน้าที่ ตม. ให้นั่งเต็ม 69 ช่องตรวจ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเร่งด่วน และเตรียมเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คน ซึ่งในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. จะได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด และการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

'กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ" รมว.คมนาคม ทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top