Monday, 19 May 2025
Econbiz

'ชัยวุฒิ' โชว์เน็ตประชารัฐ ลดช่องว่างการเข้าถึงดิจิทัลของไทย ในการประชุมรัฐมนตรีดิจิทัลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ชัยวุฒิ เข้าร่วมประชุม เอสเเคป รัฐมนตรีดิจิทัลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เกาหลีใต้ ส่งเสริมการเชื่อมโยงดิจิทัลคุณภาพสูงราคาเข้าถึงได้ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจอทัลอย่างเท่าเทียม โชว์เน็ตประชารัฐลดช่องว่างการเข้าถึงดิจิทัลของไทย

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมการประชุม รัฐมนตรีดิจิทัลของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก Asia - Pacific Digital Ministerial Conference สมัยที่ 1 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Ministry of Science and ICT) ของสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific - ESCAP) มี Dr. Lee Jong - Ho (ดร. ลี จอง โฮ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสาธารณรัฐเกาหลี ทำหน้าที่ประธานการประชุม 

โดยมีรัฐมนตรี ผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกเอสแคป ที่รับผิดชอบด้านดิจิทัล ร่วมด้วย Ms. Armida Salsiah Alisjahbana (อาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา) เลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) เข้าร่วมการประชุมฯ

โดยในการประชุมฯ ได้มีการหารือสถานะ ความท้าทาย และแนวทางการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างความร่วมมือดิจิทัลในระดับภูมิภาค ตามเจตจำนงที่ประเทศสมาชิกเอสแคปให้ไว้ในปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งเอสแคป รวมทั้งการรับรองปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือทางดิจิทัลเพื่อกำหนดอนาคตร่วมกัน (Ministerial Declaration on Digital Cooperation for Shaping Our Common Future) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้

นอกจากนี้ รัฐมนตรี/ผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกเอสแคป ได้มีการกล่าวถ้อยแถลงในประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นโยบายและการดำเนินการที่ประเทศของตนดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงและราคาเข้าถึงได้ เพื่อมุ่งไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลให้เป็นสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุมและเท่าเทียม

'ก.อุตฯ' เดินหน้าขับเคลื่อน EV ชงมาตรฐานเข้ม 'แบตเตอรี่-สถานีชาร์จ' เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV เร่งรัด สมอ. ชงมาตรฐาน 'แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า - รถยนต์ไฟฟ้า' และ 'สถานีชาร์จ' เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน พร้อมนำทีมลงพื้นที่พบผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของไทย เพื่อศึกษาข้อมูลประกอบการทำมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำมาตรฐานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ รวมทั้งสถานีชาร์จ เสนอบอร์ดเพื่อขอความเห็นชอบในการบังคับใช้มาตรฐาน โดยกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้แล้วจำนวน 128 มาตรฐาน เช่น จักรยานยนต์ไฟฟ้า, รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า, ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า  ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, เซลล์และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบจอดอัตโนมัติของรถยนต์, สมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ EV เป็นต้น  

ซึ่งในการกำหนดมาตรฐานดังกล่าว อ้างอิงมาจากข้อกำหนดและมาตรฐานระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านความปลอดภัย และด้านการใช้พลังงาน และทั้ง 128 มาตรฐานนั้นยังเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยื่นขอการรับรอง แต่เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลก ขณะเดียวกันแนวคิดการยกเลิกการใช้ยานยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป รวมถึงกระแสการตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพิจารณาบังคับใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย

4 ข้อดีของสกุลเงินดิจิทัล ที่ทุกธนาคารกลางต้องให้ความสำคัญ

นอกจากคริปโตแล้ว ในอนาคต สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง(central bank digital currency : CBDC) ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะสามารถใช้เป็นสื่อการชำระเงินชีวิตประจำวัน(retail CBDC) ได้ แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังศึกษาและเร่งพัฒนาความเป็นไปได้

retail CBDC มีข้อได้เปรียบกว่าสื่อการชำระเงินอื่น ๆ คือมีความรวดเร็วในการทำธุรกรรมและมีการรองรับมูลค่าการชำระเงินต่อครั้งสูง มีความปลอดภัยสูง และหากกล่าวถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชนแล้ว retail CBDC ก็มีประโยชน์ 4 ข้อดังนี้

1. ช่วยลดพฤติกรรมการผูกขาดของธุรกิจการเงินภาคเอกชนรายใดรายหนึ่ง (monopolistic behaviors) เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ ระบบการเงินมีแนวโน้มที่จะมีผู้เล่นภาคเอกชนไม่กี่ราย นำมาซึ่งการคิดต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็น บริการที่ไม่ได้คุณภาพ หรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ retail CBDC ซึ่งเป็นสกุลเงินภาครัฐที่ไม่ได้แสวงหากำไรและเป็นกลาง น่าจะช่วยลดผลกระทบของการครอบครองตลาดและการผูกขาดของภาคเอกชนได้ 

2. สร้างอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมในเศรษฐกิจนอกระบบ (grey economy) และเศรษฐกิจผิดกฎหมาย (black economy) เนื่องจากกิจกรรมส่วนใหญ่มักอาศัยเงินสดในการทำกิจกรรม การใช้ retail CBDC จะสามารถติดตามการทำธุรกรรมที่มีบทบาทในการลดกิจกรรมเหล่านี้ได้ (data trail for transactions) งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า เศรษฐกิจนอกระบบและเศรษฐกิจผิดกฎหมายของไทยรวมกันมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 60–70 ของ GDP ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพนัน การค้ามนุษย์ และยาเสพติด การมี retail CBDC จะสร้างอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ได้

กรุงเทพฯ ขึ้นแท่น เมืองไมซ์พัฒนามากสุด หลังมีคะแนนเพิ่มจากปีก่อนอย่างก้าวกระโดด

กรุงเทพฯ คว้ารางวัล 2022 Most Improved Award เมืองไมซ์ทำคะแนนปรับปรุงการพัฒนายั่งยืนเพิ่มสูงสุด

เฟซบุ๊กเพจ MICE in Thailandโพสต์ข้อมูลว่าข่าวดีสำหรับประเทศไทยอีกครั้ง 'กรุงเทพฯ' ได้รับรางวัลจาก Global Destination Sustainability Index (GDS-Index)ในหมวด Most Improved Award 2022 ในฐานะเมืองที่มีคะแนนปรับปรุงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมไมซ์และท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้ามากที่สุด (73.66%)

ทั้งนี้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการเป็นตัวแทนเข้ารับรางวัลในงาน ICCA Annual Congress 2022 ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีของสมาคมอุตาหกรรมการประชุมนานาชาติหรือ International Congress and Convention Association ที่จัดขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองคราโคว ประเทศโปแลนด์

ผลการดำเนินงาน ปตท. 9 เดือนแรกของปี 2565 ปรับตัวลดลง รวมกลุ่ม ปตท. นำเงินส่งรัฐกว่า 64,461 ล้านบาท

ผลการดำเนินงาน ปตท. 9 เดือนแรกของปี 2565 ปรับตัวลดลง รวมกลุ่ม ปตท. นำเงินส่งรัฐกว่า 64,461 ล้านบาท พร้อมช่วยเหลือต้นทุนค่าพลังงานต่อเนื่อง

เมื่อ (10 พ.ย. 65) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ใน 9 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งในและต่างประเทศ มีรายได้ 2,570,029 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิจำนวน 73,303 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ ภาษีเงินได้ และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้หากมองกำไรสุทธิจำนวน 73,303 ล้านบาท ที่มาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. จะคิดเป็น 13% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้นมาก และอีก 87% มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 49% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและบริษัทย่อยอื่นๆ 24% ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 11% ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีสัดส่วนเพียง 3% 

โดยผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากขาดทุนสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาก ตามทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย 

จัดงาน ‘Asia International Hemp Expo 2022’ ปักหมุดไทย สู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมกัญชง

สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย จับมือ เอ็น. ซี. ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ กลุ่มสมาคมพันธมิตรและผู้ประกอบการในธุรกิจ อุตสาหกรรม เดินหน้าการจัดงานแสดงสินค้า Asia International Hemp Expo งานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย มุ่งสร้างมาตรฐานขับเคลื่อนธุรกิจ ย้ำจุดยืนการเป็นงานแสดงสินค้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ คาดมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่า พันล้านบาท 

นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) เผยว่า จากพันธกิจที่สมาคมได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ในการขับเคลื่อนพืชกัญชงสู่ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และประกาศการจัดงานนิทรรศการและการแสดงสินค้านานาชาติ ที่ทางสมาคมจะร่วมจัดกับพันธมิตรจากต่างประเทศ ตอนนี้ทางสมาคมมีความพร้อมอย่างมากที่จะเรียนเชิญทุกท่านให้มาร่วมงาน Asia International Hemp Expo 2022 และ 2nd International Hemp Environmental Forum ภายใต้แนวคิด ‘Hemp For All’ เพราะกัญชงเป็นพืชสำหรับทุกคน และเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนโดยไม่เหลือทิ้งในหลากอุตสาหกรรม 

ซึ่งภายในงานนี้จะมีการนำเอานวัตกรรมต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมกัญชงมาจัดแสดงให้องค์ความรู้ เช่น วัสดุทางการแพทย์จากกัญชง รถไฟฟ้าจากไฟเบอร์กัญชงคันแรกของประเทศไทย ส่วนประกอบอากาศยาน และยานยนต์ รวมไปถึง ยา อาหารแห่งอนาคต 

ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ร่วมออกบูธจากทั่วโลกกว่า 300 ราย ในอุตสาหกรรมกัญชงตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ และจากการดำเนินการเตรียมการจัดงานมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ร่วมกับพันธมิตรนานาประเทศ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างมากของผู้ประกอบการทั่วโลก โดยคาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะสร้างรายได้หมุนเวียนในอุตสาหกรรมกัญชงไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท และคาดว่ามูลค่าตลาดกัญชง กัญชา กระท่อมของไทยจะเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อปี 

นอกจากส่วนแสดงสินค้าแล้ว ทางสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทยได้มีความร่วมมือกับ International Hemp Environmental Committee (คณะกรรมการกัญชงและสิ่งแวดล้อมนานาชาติ) และ Japan Hemp Association (สมาคมกัญชงแห่งประเทศญี่ปุ่น) จัดสัมมนานานาชาติ ‘The 2nd Hemp Environmental Forum’ ในหัวข้อ ‘The New Innovation Landscape of Hemp’ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และจุดประกายความคิดจากนวัตกรรมของกัญชงที่เป็นมิตรต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม และการนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้คน ซึ่งเป็นการรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในวงการกัญชงทั่วโลกมาให้คนไทยในงานนี้ ถึง 14 หัวข้อตั้งแต่แนวโน้มตลาดกัญชงโลก โอกาสและความท้าทายของประเทศไทย หัวข้อสำหรับอุตสาหกรรมในแขนงต่างๆ โดยวิทยากร 38 ท่าน จาก 15 ประเทศ 

และเนื่องในวโรกาสพิเศษ ในการจัดงานครั้งนี้จะมีการจัดนิทรรศการพิเศษ ‘Golden Hemp’ จากประเทศญี่ปุ่น นับเป็นครั้งแรกในรอบ 150 ปีที่มีการจัดแสดงนอกประเทศ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชมมายุ 90 พรรษา ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยแรงบันดาลใจจากวิถีวัฒนธรรมของเส้นใยกัญชงสีทอง ซึ่งปลูกจากเมล็ดกัญชงสายพันธุ์โบราณ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติของประเทศญี่ปุ่น สำหรับใช้ผลิตเส้นใยเพื่อการทอเฉพาะในราชสำนักญี่ปุ่นเท่านั้น

นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด เผยว่างาน ‘Asia International Hemp Expo 2022’ หรืองานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์นานาชาติสำหรับอุตสาหกรรมกัญชง ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ครั้งนี้ เป็นรูปแบบ Business to Business (B2B) ที่เราใช้ศักยภาพของงานแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติทุกด้าน ในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และนำเสนอมาตรฐานสำหรับพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่นี้ของประเทศไทยในมิติใหม่ ผ่านบริบทที่หลากหลายภายในงาน 

เริ่มตั้งแต่การใช้ศักยภาพของงานแสดงสินค้าเป็นเวทีในการนำเทคโนโลยีล่าสุดซึ่งเป็นโซลูชั่น ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจกัญชง เพื่อให้สามารถผลิตวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ ที่ได้มาตรฐาน ทั้งในเชิงของคุณภาพ และการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการเป็นเวทีทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มสารสกัด เช่น เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มเส้นใย เช่น แฟชั่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

‘ศิริกัญญา’ หอบหลักยื่น ป.ป.ช. เอาผิด กสทช. ปล่อยควบรวม True-DTAC ผิดมาตรา 157

‘ศิริกัญญา’ ยื่นหนังสือ ป.ป.ช. ให้เอาผิด กสทช. เสียงข้างมากที่ปล่อยควบรวม True-DTAC พร้อมหอบหลักฐานมีกรรมการ กสทช. บางคนมีรับผลประโยชน์จากซีพี

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปยังอาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นหนังสือให้มีการไต่สวนและตรวจสอบกรณีการปล่อยให้มีการควบรวมทรู-ดีแทค ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังกสทช.มีการลงมติเพียงแค่รับทราบการควบรวมกิจการ 2 ค่ายมือถือ โดยทำการยังยั้งการควบรวมตามอำนาจหน้าที่ที่ตนเองมี

ศิริกัญญา ได้พูดถึงปัญหาของการควบรวมกิจการไว้ว่าได้ทำการศึกษาราคาค่าบริการหลังควบรวมพบว่า ราคาค่าบริการจะสูงขึ้นและศักยภาพการให้บริการจะด้อยลง แตกต่างจากในตลาดมือถือที่มีการแข่งขันของรายใหญ่ 3 เจ้า แต่กสทช. ไม่ทำหน้าที่ของตนให้เหมาะสมในการยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ในการลงมติของกสทช. ที่เป็นมติพิเศษ มีหลักเกณฑ์ว่า จะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งในการลงมติ และคณะกรรมการในครั้งนี้มีทั้งหมด 5 คน จึงจะต้องลงเสียงให้ได้คะแนน 3:2 แต่มติในครั้งนี้คือ 2:2:1 งดออกเสียงหนึ่งเสียง หากว่ากันตามข้อบังคับการประชุมจะต้องได้ทั้งหมด 3 เสียงขึ้นไป ดังนั้นกสทช. กำลังทำผิดกฎหมายที่ตนเองร่างขึ้นมา

Sony โยกฐานผลิตเซมิคอนดัคเตอร์จากญี่ปุ่นมาไทย ทุ่มงบ 2.5 พันล้าน สร้างงานได้กว่า 2 พันตำแหน่ง

Sony จะลงทุนราว 2,500 ล้านบาท สร้างโรงงานเซมิคอนดัคเตอร์ในไทย โดยย้ายการผลิตออกจากญี่ปุ่น เพื่อลดต้นทุนการผลิต

(11 พ.ย. 65) Nikkei Asia รายงานว่า การย้ายฐานการผลิตกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยคาดว่าโรงงานจะพร้อมดำเนินงานภายในเดือนมีนาคมปี 2025 สามารถสร้างงานได้กว่า 2,000 ตำแหน่ง โรงงานดังกล่าวจะรับหน้าที่ผลิตเซนเซอร์รับภาพที่มีส่วนช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติรับรู้สภาพสิ่งกีดขวางและผู้คนรอบ ๆ

กระจ่างชัด!! ทำไมน้ำมันไทยมีหลายประเภท แล้วแต่ละประเภทต่างกันยังไง

ในปัจจุบันน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสิ่งที่เจ้าของรถทุกคนในประเทศไทยใช้กันเป็นประจำทุกวัน แต่ทราบหรือไม่ว่าน้ำมันแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วทำไมราคาถึงไม่เท่ากัน? 

ก่อนที่จะมาหาข้อแตกต่างระหว่างน้ำมันแต่ละชนิด เราต้องเข้าใจถึงความแตกต่างกันระหว่าง ‘เครื่องยนต์’ ก่อนว่ามีหลายรูปแบบ เช่น เครื่องยนต์ ‘ดีเซล’ กับ ‘เบนซิน’ แต่ละแบบก็มีอัตรากลไกการทำงานที่ต่างกัน อย่าง อัตราส่วนของการอัดอากาศ ก็คนละอย่างกัน อาทิ ดีเซล จะมีอัตราการอัดอากาศเยอะ ในขณะที่เบนซินจะมีแรงอัดอากาศที่ต่ำกว่า

โดยดีเซลไม่ใช่ชื่อตัวละครใน Fast And Furious แต่อย่างใด แต่น้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันดิบที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน (เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะใช้กับรถกระบะ, รถบรรทุก, เรือประมง, เรือโดยสาร, เพราะสามารถสร้างแรงบิดได้สูง ตั้งแต่ในรอบต่ำ นั้นจึงเหมาะกับการฉุดลากหรือขนส่งสิ่งของนั้นเอง 

ส่วนน้ำมันไบโอดีเซล คือ น้ำมันที่สกัดจากพืชผลทางการเกษตร เช่น ปาล์ม (ส่วนหลัก), ข้าวโพด, รำข้าว, สบู่ดำ, มะพร้าว, ทานตะวัน, ถั่วเหลือง, เมล็ดเรพ และน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำมาทำปฏิกิริยาทางเคมีจนเกิดเป็น สารเอสเตอร์ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล เรียกว่า ‘ไบโอดีเซล’ หรือ ‘B100’

ทีนี้ เรามาดูกันต่อ สำหรับความแตกต่างระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ว่ามันต่างกันอย่างไร?

น้ำมันเบนซินนั้นไม่มีส่วนผสมของสารที่เอาไว้เพิ่มค่าออกเทนหรือเอทานอล ส่วนแก๊สโซฮอล์นั้นมาจากคำว่า แก๊สโซลีน + แอลกอฮอล์ หรือน้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล โดยในประเทศไทย 

แก๊สโซฮอล์ไม่เพียงหมายถึงการผสมเอทานอลในระดับต่ำ (E 10, E 20) แต่ยังรวมถึงเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นด้วย (เช่น E 85 ซึ่งเป็นส่วนผสมของเอทานอล 85% และน้ำมันเบนซิน 15%)

ในการใช้งาน ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เบนซินให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า และการหล่อลื่นที่ดียิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันน้ำมันเบนซินหาได้ยาก ในขณะที่แก๊สโซฮอล์จะเป็นที่แพร่หลายมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แก๊สโซฮอล์ ก็ยังมีทั้งแก๊สโซฮอล์ 91 กับ 95 แล้ว 2 ตัวนี้ มันต่างกันยังไง? 

'การบินไทย’ โชว์กำไรไตรมาส 3 กว่า 3.9 พันล้านบาท แง้ม!! เปิดเส้นทางบินใหม่ ขยายฝูงบินดันรายได้ต่อเนื่อง

(12 พ.ย. 65) รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ต.ค.) การบินไทยได้รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,920 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุน 5,310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 32,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 582% จากไตรมาส 3 ของปี 2564 

อย่างไรก็ดีมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า 30,890 ล้านบาท อันเป็นผลจากการเพิ่มความถี่เที่ยวบินจากช่วง 6 เดือนแรกของปี ได้แก่ เส้นทางลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต เจนไน เบงกาลูรู นิวเดลี มุมไบ ละฮอร์ การาจีอิสลามาบัด ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ จาการ์ตา ธากา เดนปาซาร์ ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก และซูริค และกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ เส้นทาง ปีนัง โตเกียว (ฮาเนดะ) และบรัสเซลส์ ประกอบกับอัตราบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากเป็น 77.0% เทียบกับ 9.9% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564  

ในขณะเดียวกันบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 28,940 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน 186% จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณขนส่งตามจำนวนเส้นทางบินและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันถึง 44% ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 80% ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีได้รายงานผลการสอบทาน แบบให้ข้อสรุปแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟู

ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 3,672 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีการปรับปรุงดอกเบี้ยจ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 2,160 ล้านบาท และแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และการขายทรัพย์สินในส่วนของรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่บริษัทฯ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชีอันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ 

อีกทั้งยังมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่ายรวม 5,212 ล้านบาท และมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 4,780 ล้านบาท เป็นส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 4,785 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ และบริษัทย่อยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าทั้งในส่วนของเครื่องบินและอื่นๆ เป็นกำไรจำนวน 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท ทั้งนี้ EBITDA สำหรับบริษัทฯ มากกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนคือเงื่อนไขหนึ่งในการออกจากแผนฟื้นฟู 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top