Sunday, 27 April 2025
CoolLife

๕ ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้

5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และภายหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย มีใจความสำคัญให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้ 

1. เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

2. เป็นวันชาติ 

3. เป็นวันพ่อแห่งชาติ

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป 

‘5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ประชาชนคนไทยยังคงน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันประเสริฐ และเทิดทูนพระองค์ด้วยความรัก ความศรัทธา โดยตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

‘5 ธันวาคม เป็นวันชาติไทย’ แม้โดยทั่วไปมักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้น ๆ ได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของกษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง ‘วันชาติ’ ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใดขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้น ๆ โดยความเป็นมาของวันชาติไทยนั้น แต่เดิมกำหนดให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน โดยวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติไทยได้ 21 ปี ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 รัฐบาลในขณะนั้นมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศ และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติ จึงให้ถือวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น ‘วันชาติ’ มาจนถึงปัจจุบัน

‘5 ธันวาคม เป็นวันพ่อแห่งชาติ’ วันพ่อแห่งชาติ มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 เนื่องจากพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ และเพื่อให้ผู้เป็นพ่อสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น ‘วันพ่อแห่งชาติ’

6 ธันวาคม พ.ศ. 2443 ร.5 ทรงโปรดฯ ให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ มาจำวัดที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ร.5 ทรงโปรดฯ ให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ มาจำวัดที่วัดเบญจมบพิตร และพระราชทานสร้อยนาม 'วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม'

วันนี้ เมื่อ 124 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์จำนวน 33 รูป จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ มาจำวัดที่วัดเบญจมบพิตร และพระราชทานสร้อยนาม 'ดุสิตวนาราม' ต่อท้ายชื่อวัด เรียกรวมว่า 'วัดเบญจ มบพิตรดุสิตวนาราม' 

ทั้งนี้ เดิมวัดเบญจมบพิตรเป็นวัดโบราณชื่อ 'วัดแหลม' หรือ 'วัดไทรทอง' ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า 'วัดเบญจมบพิตร' 

๗ ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งปีนี้ทรงเจริญพระชันษา 45 ปี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในหลากหลายด้าน ทางด้านกฎหมาย ทรงส่งเสริมหลักการยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะสตรีและผู้ต้องขังหญิง อีกทั้งส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมในระดับนานาชาติ โดยทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญา สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ

อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย โดยทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ด้วยวัตถุประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนช่วยเหลือประชาชนคนไทย ทั้งในยามประสบภัยพิบัติ และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันประสูติ ขอพระองค์ทรงมีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของประชาชนคนไทยสืบไป ทรงพระเจริญ

8 ธันวาคม ของทุกปี วันนักศึกษาวิชาทหาร รำลึกวีรกรรมหาญกล้าเยาวชนไทย

จากวีรกรรมอันกล้าหาญของ 'ยุวชนทหาร' ที่ร่วมกับทหาร ตำรวจ และราษฎรอาสา ต่อต้านทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดชุมพร และในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484

เพื่อเป็นการรำลึกถึงความกล้าหาญของเยาวชนดังกล่าว กรมการรักษาดินแดน หรือ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ในปัจจุบัน จึงได้ขออนุมัติไปยังกองทัพบก ในปี พ.ศ.2542 เพื่อกำหนดเป็นวันสำคัญสำหรับนักศึกษาวิชาทหาร ซึ่งในการนี้ กองทัพบก ได้เห็นชอบ และอนุมัติให้ถือเอา วันที่ 8 ธันวาคม เป็น 'วันนักศึกษาวิชาทหาร'

โดยมอบให้ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เป็นหน่วยรับผิดชอบในส่วนกลาง สำหรับในส่วนภูมิภาค มอบให้ ศูนย์การฝึกหรือหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบก เป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้ประกอบพิธีกระทําสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของนักศึกษาวิชาทหาร พร้อมกันทั่วประเทศ

สำหรับการสวนสนามของ นศท. นั้น ได้เริ่มจัดขึ้นในส่วนกลาง เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2509 ณ พระลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) โดยมี จอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในพิธี และได้ประกอบพิธีดังกล่าว ในห้วงประมาณ เดือนพฤศจิกายน เรื่อยมา

ถือได้ว่าพิธีกระทําสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของนักศึกษาวิชาทหารนั้น เป็นพิธีสําคัญและเป็นเกียรติแก่นักศึกษาวิชาทหารทุกคน

9 ธันวาคม ของทุกปี วันต่อต้านการทุจริตสากล ร่วมรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันแห่งการต่อต้านการทุจริตสากล หรือ International Anti-Corruption Day ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 (United Nations Convention against Corruption-UNCAC, 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์ 

จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN 191ประเทศรวมถึงประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญา ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริดา ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ UN จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล

สำหรับ วันต่อต้านการทุจริตสากล มีวัตถุประสงค์หลัก ๆ คือ เพื่อรณรงค์ต้านการทุจริต และสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้คนในเรื่องการทุจริต ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังทำลายรากฐานของประชาธิปไตยอีกด้วย

11 ธันวาคม พ.ศ. 2489 วันก่อตั้ง ยูนิเซฟ (UNICEF) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ

ยูนิเซฟ (UNICEF) หรือ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เป็นหน่วยงานที่สมัชชาสามัญแห่งสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้น โดยเริ่มแรกเพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่เด็กหลายล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในชื่อ “กองทุนฉุกเฉินสำหรับเด็กแห่งสหประชาชาติ”

โดยเมื่อ 11 ธันวาคม ปี 2489 ยูนิเซฟถือกำเนิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในปี 2491 ยูนิเซฟได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย และดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตลอด 75 ปี การทำงานของเราปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของเด็กในประเทศไทย แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือความมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงเด็กและครอบครัวในกลุ่มเปราะบางที่สุด

ปัจจุบัน ยูนิเซฟได้เปลี่ยนเป้าหมาย เน้นเด็กในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กเพื่อให้เด็กทุกคนมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ได้รับการคุ้มครองจากอันตรายทั้งปวง ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ และเมื่อเกิดภัยพิบัติ สงคราม หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เด็กและครอบครัวที่ประสบภัยเช่นเดิม

12 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ‘กีฬาแหลมทอง’ ครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ก่อนพัฒนามาเป็น ‘ซีเกมส์’ ในปัจจุบัน

สืบเนื่องจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 3 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2501 องค์กรการกีฬาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้ร่วมประชุมก่อตั้งองค์กรการกีฬาในระดับภูมิภาค เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

องค์กรดังกล่าวใช้ชื่อว่า สหพันธ์กีฬาแหลมทอง (SEAP Games Federation) มีประเทศสมาชิกประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ร่วมกันจัดการแข่งขัน กีฬาแหลมทอง หรือ SEAP Games (Southeast Asian Peninsular Games) กำหนดทุกๆ 2 ปี

การแข่งขันครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม 2502 เรียกว่า มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า, ลาว, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย (สิงคโปร์มาเข้าร่วมภายหลัง ส่วนกัมพูชาไม่ได้ร่วมแข่งขัน)

กีฬาแหลมทองครั้งแรกมีการแข่งขันทั้งหมด 12 ประเภท คือ กรีฑา, แบดมินตัน, บาสเก็ตบอล, มวย, จักรยาน, ฟุตบอล, เทนนิส, ยิงปืน, ว่ายน้ำ, ปิงปอง, วอลเลย์บอล และยกน้ำหนัก ประเทศที่ได้เหรียญรางวัลมากที่สุดคือ ประเทศไทย รองลงมาคือ เมียนมาร์ และ มาเลเซีย

ต่อมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอีกครั้งในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ซึ่งจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 9 – 16 ธันวาคม 2510 ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเข้าร่วมในการแข่งขันด้วย โดยวันที่ 16 ธันวาคม 2510 ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค

การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2518 ซึ่งเป็นครั้งที่ 8 จัดที่ประเทศไทย ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ซีเกมส์ หรือ SEA Games (South-East Asian Games) ในปี 2520 และมีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นคือ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และบรูไน รวมทั้งติมอร์-เลสเต ในเวลาต่อมา

13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ยูเนสโก ยกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และพระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

วันนี้ เมื่อ 33 ปีก่อน คณะกรรมการมรดกโลกยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 

นอกจากนี้ ยังประกาศให้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และในวันเดียวกันนี้ในปีต่อมายูเนสโก ก็ได้มีมติให้ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเพิ่มอีกแห่ง

14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับพระราชทานพระนาม ‘ภูมิพลอดุลเดช’ จาก รัชกาลที่ 7

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระหัตถเลขาถึงเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชสมภพที่นั่น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 โดยระบุว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานพระนามว่า ‘ภูมิพลอดุลเดช’ 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ได้รับพระราชทานทางโทรเลขที่รัชกาลที่ 7 ทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Bhumibala Aduladeja"  ทำให้สมเด็จย่า ทรงเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า "ภูมิบาล" และในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว "ย" สะกด

พระนามของพระองค์มีความหมายว่า
• ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า "แผ่นดิน" และ พล หมายความว่า "พลัง" รวมกันแล้วหมายถึง "พลังแห่งแผ่นดิน"
• อดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า "ไม่อาจเทียบได้" และ เดช หมายความว่า "อำนาจ" รวมกันแล้วหมายถึง "อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้"

15 ธันวาคม วันชาสากล วันรณรงค์ให้ตั้งราคาสินค้าใบชาอย่างเป็นธรรม กับเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก

‘วันชาสากล’ วันที่เกษตรกรผู้ปลูกชา ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการค้าชา และเป็นวันแห่งเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก!!

วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีเป็น ถูกยกให้เป็น ‘วันชาสากล’ (International Tea Day) วันนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2548 จุดเริ่มต้นมาจากเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ ในเบงกอลตะวันตก และหลายรัฐทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิและความชอบธรรมในการค้าชาของตน โดยในช่วงนั้น แม้ว่าชาจะเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่อุตสาหกรรมค้าชาในประเทศอินเดียกลับมีความอ่อนแอและบริหารจัดการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ 

กระทั่งองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดีย (CEC – Centre for Communication and Education) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยได้รับความร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติด้วยอีกทาง ในที่สุดจึงสามารถเข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ค้าชากลุ่มย่อย ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมในการค้าชาและทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

ชาจึงได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งให้วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันชาสากล เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชาและตระหนักถึงความสำคัญของเหล่าเกษตรกรตัวเล็ก ๆ ผู้ปลูกพืชซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าชนิดนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top