Sunday, 27 April 2025
CoolLife

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 2

วิกฤตการณ์สุเอซ (The Suez Crisis) หรือสงคราม อิสราเอล-อาหรับ ครั้งที่ 2 เป็นการรุกรานอียิปต์ในช่วงปลายปี 2499 โดยฝ่ายอิสราเอล ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส จุดมุ่งหมายคือการควบคุมทางด้านตะวันตกของคลองสุเอซ และเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีแห่งอียิปต์ ญะมาล อับดุนนาศิร ที่ได้ถือสิทธิ์ว่าคลองนั้นให้กลายเป็นของรัฐ แต่หลังจากการสู้รบได้เริ่มต้นขึ้น แรงกดดันทางการเมืองจากสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และสหประชาชาติ นำไปสู่การถอนตัวจากรุกรานของทั้ง 3 ประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต้องได้รับความอับอาย ในขณะเดียวกันก็ทำให้นัสเซอร์เข้มแข็งขึ้น

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม อิสราเอลได้ส่งทหารมาบุกรุกคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ ขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศส ก็ได้ยื่นคำขาดร่วมกันเพื่อให้มียุติการยิง ซึ่งก็ถูกเพิกเฉย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน อังกฤษและฝรั่งเศสได้ส่งทหารโดดร่มลงพื้นตามคลองสุเอซ และก็เป็นที่ชัดเจนว่าอิสราเอล ฝรั่งเศส และอังกฤษได้สมคบคิดกันเพื่อวางแผนการบุก แต่ก่อนที่กองกำลังอียิปต์จะพ่ายแพ้ พวกเขาได้ปิดกั้นคลองไม่ให้เรือเดินสมุทรทั้งหมดผ่าน โดยการจมเรือ 40 ลำในคลอง ทำให้การคมนาคมทางน้ำในขณะนั้นถือว่าถูกตัดขาด เกิดกระทบระดับโลก

ผลพวงมาจากความขัดแย้งครั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations:UN จึงได้เข้ามาจัดการ เหตุการณ์นี้จึงได้จบลงโดยการที่อังกฤษ ฝรั่งเศสและอิสราเอลต้องถอยทัพกลับ ส่วนอียิปต์ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายจากการล่มเรือถึง 81.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ย้อนไปเมื่อ 46 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์

ภายหลังการผนวชแล้วเสด็จฯ ทรงไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาลผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้สละราชบัลลังก์เพื่อประชาชน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 น. หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 

โดยเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 96 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 14 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

โดยตลอดรัชสมัยพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” เป็นต้น ความไม่พอพระราชหฤทัยและการเพลี่ยงพล้ำในการคัดค้านคณะราษฎรในหลายโอกาสนำไปสู่การสละราชสมบัติ และพระองค์ยังทรงถูกฟ้องคดียึดทรัพย์

สำหรับชีวิตส่วนพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (ต่อมาเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่มีพระราชโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต 

ทั้งนี้พระองค์ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริพระชนมพรรษา 47 พรรษา หลังสวรรคต พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ว่าเป็น "กษัตริย์นักประชาธิปไตย" ผู้เผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยอมสละราชบัลลังก์ เพื่อให้คนกลุ่มใหม่ปกครองประเทศ เพราะไม่อยากสู้รบให้คนไทยต้องเสียเลือดเนื้อ

7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ในหลวง ร. 9 เสด็จฯ ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามฯ

วันนี้ เมื่อ 28 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ครองราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัชกาล ครั้งใหญ่ซึ่งเป็นที่จดจำ คือ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เฉลิมฉลองในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 

ซึ่งทรงครองราชย์นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีต โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 อย่างยิ่งใหญ่ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม

ซึ่งขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ได้มีการจัดริ้วขบวนอย่างยิ่งใหญ่และสง่างาม อีกทั้งยังมีเรือพระราชพิธีลำใหม่ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย

โดยได้นำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มาเป็นแม่แบบ ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินการสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือ พายและคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด

โดยหัวเรือพระที่นั่ง จำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ ซึ่งได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น

ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑ เจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาค เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 จำนวน 15 ครั้ง

และจัดขบวนเรือพระราชพิธี จำนวน 2 ครั้ง สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม

ส่วนการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้ง ได้แก่ การจัดขบวนเรือพระราชพิธี เนื่องในการประชุมเอเปก 2003 (20 ตุลาคม พ.ศ. 2546)

และเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (12 มิถุนายน พ.ศ. 2549) โดยการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้งนี้ เป็นเพียงการสาธิตแห่ขบวนเรือซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จในขบวนด้วย

9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 สหพันธ์พิทักษ์เด็ก ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณ แด่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วันนี้เมื่อ 43 ปีที่แล้ว ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สหพันธ์พิทักษ์เด็ก (Save The Children Federation) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย รางวัลเกียรติคุณ (First Distinguished Service Award) แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่ ทรงเป็นบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก อันเนื่องมาจากการที่ทรงช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเขมรที่เขาล้าน จ.ตราด และทรงมีพระเมตตาอย่างยิ่งแก่เด็ก ๆ 

สำหรับ พระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองของกัมพูชากับเขมรแดงเมื่อ พ.ศ. 2522 ส่งผลให้เกิดการอพยพของชาวกัมพูชาจำนวนมากสู่ชายแดนไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยร่วมมือกับสภากาชาดสากลในการช่วยเหลือผู้อพยพโดยการจัดตั้ง “ศูนย์ราชการุณย์” บ้านเขาล้าน จังหวัดตราด และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เมื่อพบเห็นสภาพที่ย่ำแย่อย่างยิ่งของผู้อพยพ พระองค์จึงพระราชทานความช่วยเหลือทันที ทั้งพยาบาลสนาม และอาสาสมัครไปช่วยเหลือจัดหาอาหารและยาบรรเทาความเจ็บไข้ พร้อมทั้งพระราชทานครูสอนวิชาชีพแก่ผู้อพยพเพิ่มเติมอีกด้วย โดยทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะช่วยเหลือประชาชนโดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น

10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กลับคืนสู่ไทย หลังถูกลักลอบนำออกนอกประเทศกว่า 30 ปี

วันนี้ เมื่อ 36 ปีก่อน นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทย เมื่อ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังศิลาโบราณวัตถุล้ำค่าของไทย ซึ่งถูกลักลอบนำไปจากปราสาทหินเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเวลาเกือบ 30 ปี กลับคืนสู่ไทยอีกครั้ง 

โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นประติมากรรมศิลาจำหลักบนทับหลังประตูของปรางค์ประธาน ด้านทิศตะวันออกของปราสาทหินพนมรุ้ง โบราณวัตถุชิ้นนี้ มานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์พิเศษ แห่งกรมศิลปากร ได้สำรวจและบันทึกภาพไว้เมื่อ พ.ศ. 2503 ปรากฏว่าทับหลังชิ้นนี้นั้น หักออกเป็นสองท่อน ตกอยู่ที่เชิงประตูปรางค์ประธาน และต่อมาทับหลังทั้งสองชิ้น ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย จนปี พ.ศ. 2508 จึงได้ พบทับหลังชิ้นนี้ขนาด 1 ใน 3 ของด้านขวาที่ร้านขายของเก่าแห่งหนึ่ง กรมศิลปากรจึงได้ยึดมาเก็บรักษาไว้ แล้วนำไปประดับไว้ที่เดิม เมื่อมีการซ่อมปราสาทแต่ยังขาดชิ้นส่วนของทับหลังที่เหลืออีกสองส่วน 

ต่อมาในปี 2515 ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ไปพบทับหลังส่วนที่เหลือซึ่งเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่สถาบันศิลปะชิคาโก (The Art Institute of Chicaco) ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยบังเอิญ จึงแจ้งให้กรมศิลปากรทราบ จนเกิดการเรียกร้อง จนผู้ครอบครองยอมคืนให้ในที่สุด

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิด 'พระบรมรูปทรงม้า' ด้วยพระองค์เอง

วันนี้ในอดีต เมื่อ 116 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดพระบรมรูปทรงม้า ด้วยพระองค์เอง

ทั้งนี้ พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นเนื่องในงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งเป็นพิธีที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และสมโภชสิริราชสมบัติ ในมหามงคลสมัยที่ทรงครองแผ่นดินครบ 40 ปี ซึ่งยาวนานกว่าทุกพระองค์ โดยจ้างบริษัท Susse Frères (Fondeur) ทำการหล่อที่ประเทศฝรั่งเศส มีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย อยู่ในอิริยาบถทรงม้า ฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมพลทหาร สร้างเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 เสร็จทันในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2451 นับเป็นอนุสาวรีย์บุคคลแห่งแรกในไทยที่สร้างขึ้นในขณะที่บุคคลนั้นยังมีชีวิต

เมื่อพระบรมรูปสร้างเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดด้วยพระองค์เองก่อนจะเสด็จสวรรคตอีก 2 ปีต่อมา

ขณะที่ประเพณีถวายบังคมและวางพวงมาลาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิตนั้น เริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากที่พระบรมชนกนาถ ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยเสด็จสวรรคต จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงความจงรักภักดีในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระองค์

ในปีต่อมา มีพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้ามาเป็นวันที่ 23 ตุลาคมแทน ซึ่งกลายเป็นพิธีสืบเนื่องต่อมา

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 พิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก สร้างที่โรงงานมักกะสัน ตามโครงการพัฒนาของการรถไฟฯ ปี 2510 - 2514

การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรกที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของการรถไฟฯ พ.ศ.2510 - 2514 ออกจากโรงงานมักกะสัน จำนวน 14 คัน ได้แก่ รถ บชส. 10 คัน และรถ บพห. (ข้างโถง) 4 คัน โดยมี พลเอกครวญ สุทธานินทร์ ประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย มาเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2511 

สำหรับโครงการ 5 ปีดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดสร้างรถโดยสาร 180 คัน และรถสินค้า 597 คัน เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้รวมทั้งสิ้น 223.55 ล้านบาท ในการสร้างรถโดยสารนี้ จำนวนหนึ่งเป็นการสร้างตัวรถขึ้นใหม่ทั้งคัน และอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดโดยใช้โครงประธาน และแคร่โบกี้ของเดิมของรถโบกี้โดยสารที่ตัดบัญชีแล้ว นำมาสร้างตัวรถบนโครงประธานเหล่านี้ เรียกว่าประเภทรถ Rebuilt

13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวง ร.9 เสด็จเยือนจังหวัดนครพนม ก่อเกิดภาพประวัติศาสตร์ ‘ดอกไม้แห่งหัวใจ’

วันนี้เป็นวันครบรอบ 69 ปี ของภาพเหตุการณ์ที่กลายมาเป็นภาพประวัติศาสตร์สำคัญภาพหนึ่ง ...ของประเทศเล็กๆ..บนโลกใบนี้ที่ชื่อว่าประเทศไทย กับภาพ ‘ดอกไม้แห่งหัวใจ’ ที่ตราตรึงอยู่ในใจคนไทยตลอดมา

วันนั้นเป็นหนึ่งวันในพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน 2498 โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2498 ทรงสร้างประวัติศาสตร์อย่างแรกคือทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯไปสักการะ พระธาตุพนม 

แต่ในวันเดียวกันนั้นยังเกิดภาพประทับใจ ที่คนไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี และถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึง 'ความอ่อนโยน' ( หรือ มทฺทวํ) ของพระผู้เป็นประมุขของประเทศ ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ 

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากพระราชกรณียกิจภาคเช้าที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จกลับมายังที่ประทับแรม ตลอดทางมีราษฎรมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ตามรายทางเป็นระยะ ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็ทรงหยุดรถพระที่นั่ง เสด็จลงไปทักทายปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้นเป็นระยะ 

ที่สามแยกชยางกูร-เรณูนคร มีราษฎรอุ้มลูกจูงหลานมารอเฝ้าอยู่กลุ่มใหญ่ หนึ่งในนั้นคือครอบครัวจันทนิตย์ ที่บรรดาลูกหลานได้พา แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี(อายุในขณะนั้น) มาเฝ้าอยู่ ณ จุดนั้นด้วย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน 700 เมตร และได้หาดอกบัวสาย สีชมพูให้แม่เฒ่ามาถวาย 3 ดอก แล้วพาไปนั่งแถวหน้าสุดเพื่อให้ได้โอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท 

ตั้งแต่เช้าจนบ่าย แม้ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้ดอกบัวในมือของแม่เฒ่าเหี่ยวเฉา แต่ก็ไม่อาจจะแผดเผาให้หัวใจแม่เฒ่าวัย 102 ปีเหี่ยวเฉาไปได้ จะขอเฝ้าล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์สักครั้งในชีวิต 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงตรงหน้า แม่เฒ่ายกดอกบัวสายที่เหี่ยวทั้ง 3 ดอกนั้นขึ้นเหนือหัว แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง 

พระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่า และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมืออันกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยน รับดอกบัวทั้ง 3 ดอกไว้ด้วยพระหัตถ์ 

ขอบพระคุณ ที่วินาทีนั้น คุณอาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ ได้กดชัตเตอร์บันทึกภาพนี้ไว้ได้ในนาทีประวัติศาสตร์ 

ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีรับสั่งกับแม่เฒ่าอย่างไร ภาพนี้ก็ไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ ทั้งสิ้น และบอกถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ที่ทรงมีกับราษฎรของพระองค์ ได้มากกว่าคำอธิบายใด ๆ เป็นล้านคำ 

หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว สำนักพระราชวังยังได้ส่งภาพนี้ พร้อมด้วยพระบรมรูปหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึกด้วย และนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แม่เฒ่าวัย 102 ปียังคงมีชีวิตยืนยาวอย่างชุ่มชื่นหัวใจต่อมาอีก 3 ปี 

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของพวกเราคงไม่เคยพบเห็นภาพ ประมุขหรือผู้นำของประเทศไหน ๆ ในโลกใบนี้ ได้แสดงออกถึงความรักและให้ความใกล้ชิดกับประชาชนของตนอย่างมากในลักษณะเช่นนี้อีกแล้ว ภาพนี้จึงมักเป็นภาพแรกๆ ที่ปรากฏในห้วงความทรงจำของคนไทยเมื่อยามที่ระลึกถึงพระองค์ท่าน....

14 พฤศจิกายน ของทุกปี วันพระบิดาแห่งฝนหลวง น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ร.9

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระองค์ทรงพบว่าราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้ง ทำให้ทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า "สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่าของน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง" ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระราชหฤทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้า ไปรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้ง

จาก พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศ เมื่อทรงมั่นพระราชหฤทัยแล้ว ทรงพระราชทานแนวคิดนี้แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 โดยใช้พื้นที่บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ทำให้กลุ่มเมฆทดลองมีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆทำให้เกิดการกลั่นรวมตัวกันอย่างหนาแน่น และต่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และจากการติดตามผล ก็ได้รับรายงานว่าเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในที่สุด การทดลองดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่บ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และความสำเร็จดังกล่าวยังส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดโครงการฝนหลวงเรื่อยมา 

จากการที่ทรงศึกษาค้นคว้า ทรงทดลองทางวิทยาศาสตร์ และปฏิบัติการทำฝนที่ประสบความสำเร็จมาโดยลำดับ โดยทรงประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีในการทำฝนเบื้องต้น และทรงบัญญัติคำศัพท์ การทำฝน 3 ขั้นตอน เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและการสื่อสารคือ 'ก่อกวน เลี้ยงอ้วน และโจมตี' โดยเฉพาะเทคนิคการโจมตีให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายอย่างแม่นยำ และเพิ่มปริมาณฝนตกให้สูงขึ้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกว่า เทคนิคการโจมตีแบบแซนด์วิช (SANDWICH) และพระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีการทำฝนตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา

พ.ศ. 2542 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรม และราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง โดยในการปฏิบัติการนี้ ทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตีที่เรียกว่า 'เทคนิคการโจมตี แบบ SUPER SANDWICH' อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีฝนหลวงที่สามารถกู้ภัยแล้งให้คืนสู่สภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง และพระราชทานให้ใช้เป็น 'ตำราฝนหลวงพระราชทาน' ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้ดำเนินงานโครงการพระราชดำริฝนหลวงมาตั้งแต่เริ่มแรกโครงการได้เสนอให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น 'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง' ในการประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2545

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงจนประสบผลสำเร็จสามารถช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากภัยแล้งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้จนถึงปัจจุบัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top