Monday, 28 April 2025
CoolLife

25 กันยายน พ.ศ. 2541 วันสถาปนา ‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ รำลึกถึง ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’

‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ประชาชนชาวเชียงรายร่วมกับหน่วยราชการในจังหวัดเชียงรายเห็นพ้องต้องกันว่า โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่ออาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเชียงรายที่ได้ทรงเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่สร้างพระตำหนัก หรือบ้านหลังแรกของพระองค์ และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งได้นำความเจริญรุ่งเรือง มายังจังหวัดและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ฉะนั้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายต่อรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย ได้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 ให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้

ต่อมารัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงราย และได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณในการดำเนินการเพื่อการเตรียมการจัดตั้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2542 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,325 ล้านบาท การก่อสร้างตามโครงการระยะแรกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี บนพื้นที่ 4,997 ไร่ ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

26 กันยายน พ.ศ. 2430 ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ลงนามปฏิญญาทางพระราชไมตรี จุดเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีในครั้งนั้น ได้ทำให้ไทยและญี่ปุ่น มีระดับความใกล้ชิดที่ราบรื่น จนเกิดความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ และไทยเองก็ได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

โดยมีการเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

โดยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 ซึ่งในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น โดยปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นในปี 2019 ประมาณ 86,666 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยในปี 2021 จำนวน 82,574 คน 

27 กันยายน พ.ศ. 2448 ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เสนอสมการก้องโลก ‘E=mc2’ เป็นครั้งแรก

27 กันยายน ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เผยแพร่บทความเรื่อง ‘Does the Inertia of a Body Depend Upon Its Energy Content ?’ (จริงหรือไม่ที่ความเฉื่อยขึ้นอยู่กับพลังงานภายในของวัตถุ) เป็นครั้งแรก ซึ่งได้นำเสนอสมการก้องโลก E=mc2 สมการนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมวลและพลังงาน อธิบายได้ว่า เมื่อให้พลังงานกับมวลเพื่อให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น มวลนั้นก็จะมีค่าเพิ่มขึ้นด้วย จากทฤษฎีนี้ทำให้นำสู่ผลที่ว่าไม่มีอะไรเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง หลักการนี้จึงเป็นหลักการเบื้องต้นของ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป’ (theory of relativity) 

แม้ว่าไอน์สไตน์จะใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน ในการสร้างผลงานปฏิวัติโลกด้วยผลงานเด่น ๆ 3 ผลงานในปีนี้ คือ ‘ปรากฏการณ์โฟโตอิเลกตริก’ (Photoelectric Effect) / ‘การเคลื่อนที่แบบบราวเนียน’ (Brownian Motion) และ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (special relativity) แต่โลกต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษเพื่อทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าในผลงานเหล่านี้ 

ต่อมาได้มีการประกาศให้ปี 2448 เป็นปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์และในปี 2548 วงการวิทยาศาสตร์โลกได้ประกาศให้เป็น ‘ปีฟิสิกส์โลก’ (World Year of Physics 2005) และมีการจัดงานฉลองครบรอบ 1 ศตวรรษปีมหัศจรรย์ไอน์สไตน์

28 กันยายน พ.ศ. 2460 ครบรอบ 107 ปี ในหลวง ร.6 ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็น ‘ธงชาติไทย’ สะท้อนถึงความเป็นเอกราช ไม่ตกเป็นเมืองขึ้น อาณานิคมของชาติใด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดยให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ เนื่องจากในสมัยนั้นไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งส่วนใหญ่ธงจะมีสามสี ธงชาติไทยในสมัยนั้นจึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 3 ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 6 ของขนาดความกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ และเรียกธงนี้ว่า ‘ธงไตรรงค์’ 

ทั้งนี้ ทรงกำหนดความหมายของสีธงชาติไว้ว่า สีแดง หมายถึง ชาติ คือประชาชน สีขาว หมายถึง ศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ ซึ่งธงไตรรงค์ หรือธงชาติไทย ถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติเป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนได้รำลึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษเพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดิน และร้อยดวงใจคนทั้งชาติให้เป็นหนึ่ง หล่อหลอมความรักสามัคคี สร้างเสริมความภูมิใจในความเป็นชาติ ก่อเกิดเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชาติไทยให้วัฒนาสถาพร

จากนั้นคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557 ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) และเริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นวันแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานธงไตรรงค์ เป็น ‘ธงชาติไทย’ และถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลก ที่มีวันธงชาติอีกด้วย

29 กันยายน พ.ศ. 2566 ‘กองทัพเรือไทย’ ต้อนรับ ‘ทัพเรือแคนาดา’ เยือนประเทศไทย เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 ฐานทัพเรือสัตหีบ ให้การต้อนรับ เรือ HMCS OTTAWA เนื่องในโอกาสเดินทางมาเข้าจอดตามกิจวัตรปกติ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2566 - 6 ตุลาคม 2566 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

สำหรับ เรือหลวงของประเทศแคนาดา ที่ชื่อว่า ‘ออตตาวา’ (Ottawa) เป็นหนึ่งในเรือฟริเกต ชั้นฮาลิแฟ็กซ์ ของกองทัพเรือแคนาดา ซึ่งมีทั้งหมด 12 ลำ จะจอดเทียบท่าที่ประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่มีอย่างต่อเนื่อง 

โดยเรือหลวงออตตาวา มาพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ ประจำการบนเรือ รุ่นไซโคลน ซีเอช-148 (CH-148 Cyclone) ที่พร้อมปฏิบัติการ อีกทั้งยังมีทหารเรือ ทหารบก และนักบิน ซึ่งล้วนได้รับการฝึกฝนขั้นสูงและมีความเป็นมืออาชีพ ประจำเรือ รวม 250 นาย พร้อมทั้งมีการติดตั้งระบบอาวุธและเซนเซอร์สำหรับการปราบเรือดำน้ำ การรบผิวน้ำด้วย

30 กันยายน พ.ศ. 2395 วันก่อตั้ง ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ โรงเรียนประจำแห่งแรกของสยาม

วันนี้เมื่อ 172 ปีก่อน ถือเป็นวันก่อตั้ง ‘กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’ โรงเรียนมิชชันนารีชาย ที่เป็นแบบเรียนประจำแห่งแรกของสยาม

ย้อนกลับไป เมื่อปี พ.ศ. 2380 คริสตจักรเพรสไบทีเรียนในอเมริกา ได้จัดตั้งคณะกรรมการแผนกต่างประเทศขึ้น คณะกรรมการใหม่นี้ได้จัดส่งมิชชันนารีมายังประเทศสยามตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2383 มิชชันนารีเพรสไบทีเรียนคนสำคัญ ได้แก่ ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน, ศาสนาจารย์ ดร.ซามูเอล อาร์. เฮาส์, ศาสนาจารย์ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี, ศาสนาจารย์ เอส. จี. แมคฟาร์แลนด์ เป็นต้น ท่านเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนแห่งแรกในสยามและสภาคริสตจักรในประเทศไทยในเวลาต่อมา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394 สถานการณ์ของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนในแดนสยามก็ดีขึ้นมาก พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เช่าที่ดินระยะยาวที่กุฎีจีน ใกล้ ๆ บริเวณวัดอรุณราชวราราม โดยเริ่มแรกในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2395 นางแมรี่ แอล แมตตูน ได้เริ่มต้นสอนหนังสือแก่ เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ในละแวกนั้น จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2395 มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน โดยศาสนาจารย์ ดร.ซามูเอล เรโนลด์ เฮ้าส์ และศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน ได้ก่อตั้งโรงเรียนที่ทำการสอนตามแบบสากล เพื่อให้เด็กสยามและเด็กเชื้อสายจีนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ทันสมัยตามแบบตะวันตก โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า ‘โรงเรียนคริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน’ (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) และมีซินแสกีเอ็ง ก๋วยเซียน เป็นครูใหญ่

คริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) ถือเป็นโรงเรียนประจำแห่งแรกในสยามและยังเป็นโรงเรียนแรกที่มีการนำระบบการศึกษาสากลมาใช้อีกด้วย

‘คริสเตียนบอยส์สกูลที่กุฎีจีน’ ถือเป็นสถาบันการศึกษาแบบสากลแห่งแรกในสยาม มีอาคารและห้องเรียนเป็นหลักแหล่ง มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเรียนหัดอ่านหัดเขียนแล้ว ยังมีวิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ และการสอนทางศาสนา นอกจากนี้มิชชันนารียังได้ริเริ่มให้มีการตรวจสุขภาพเด็ก ๆ ก่อนเข้าเรียน นับว่าเป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น

ปี พ.ศ. 2400 คณะมิชชันนารีเริ่มตั้งหลักปักฐานที่สำเหร่ ได้มีการสร้างพระวิหาร โรงเรียน โรงพิมพ์ บ้านพักมิชชันนารี โกดังเก็บของ ต่อมาได้ย้ายโรงเรียนจากกุฎีจีนมายังสำเหร่ใช้ชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์สกูล’ ที่โรงเรียนแห่งนี้มีขุนนางผู้ใหญ่จนถึงพระเจ้าแผ่นดินให้ความร่วมมือสนับสนุน ส่งเด็ก ๆ มาเล่าเรียนหนังสือ ซึ่งมีทั้งเจ้านาย 2 พระองค์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 4 และพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 3 บุตรชายของอัครมหาเสนาบดี บุตรชายของพวกมหาดเล็กมาเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่สำเหร่ 

นอกจากนี้ชาวบ้านก็ส่งลูกหลานมาเรียน โดยพวกที่อยู่ไกลก็ได้เป็นนักเรียนประจำ กินนอนอยู่ที่โรงเรียน ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะตอบแทนโรงเรียนด้วยในการช่วยทำงานต่าง ๆ มากกว่าจะจ่ายเงินเป็นค่าเล่าเรียน ในปี พ.ศ. 2402 นายชื่นได้รับเชื่อเป็นคริสเตียนในคณะเพรสไบทีเรียนคนแรกและเป็นครูสอนภาษาไทยคนแรกของโรงเรียนที่สำเหร่ในเวลาต่อมา

ในขณะที่กิจการของโรงเรียนกำลังดำเนินไปดี โรงเรียนกลับต้องประสบกับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนครู อันเนื่องมาจากปัญหาความไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศเขตร้อนและมลพิษจากโรงสีในบริเวณนั้น ครูหลายคนล้มป่วยจนต้องเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน คณะมิชชันนารีได้ขอความช่วยเหลือไปยังอาจารย์จอห์น แอนเดอร์สัน เอกิ้น ซึ่งเปิดโรงเรียน ‘บางกอกคริสเตียนไฮสกูล’ อยู่ที่กุฎีจีน (โรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นหลังจากโรงเรียน ‘คริสเตียนบอยส์สกูล’ ของศาสนาจารย์แมตตูนที่กุฎีจีน 36 ปี (ปี พ.ศ. 2431)) อาจารย์เอกิ้นจึงตัดสินใจย้ายโรงเรียนของตัวเองมารวมกันเมื่อปี พ.ศ. 2433 โดยมาสร้างตึกเรียนใหม่ให้ใหญ่โตกว้างขวางขึ้น เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้หลังคามุงกระเบื้องตั้งชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล’

แม้จะรวมโรงเรียนส่วนตัวที่กุฎีจีน ‘บางกอกคริสเตียนไฮสกูล’ และโรงเรียนของมิชชันที่สำเหร่ ‘สำเหร่บอยส์สกูล’ จนมีขนาดใหญ่โตโดยใช้ชื่อว่า ‘สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล’ ผู้บริหารวิสัยทัศน์ไกลเช่นอาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น ยังได้ตระหนักว่าโรงเรียนควรจะมีที่ตั้งบริเวณฝั่งพระนครเพื่อความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ท่านจึงหารือกับอาจารย์เจ. บี. ดันแลป ในการหาซื้อที่ดินใหม่ 

ต่อมาคณะมิชชันนารีได้ตกลงซื้อที่ดินของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่ถนนประมวญ ย่านสีลม โดยใช้เงินที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ในปี พ.ศ.2445 โรงเรียนชายในระบบสากลโรงเรียนแรกในสยามก็ถือกำเนิดขึ้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล’ นอกจากโรงเรียนแห่งใหม่บนถนนประมวญจะดำเนินการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างจริงจังแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการอบรมเชิงจริยธรรมและความมีระเบียบวินัย มาตรฐานการศึกษาที่สูงทำให้โรงเรียนได้รับการยกระดับขึ้นเป็นวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2456 และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย’

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 วันสวรรคต ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เสด็จทรงพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด ฉศก จุลศักราช 1166 ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 มีพระนามเดิมว่า ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย และที่ 2 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) และทรงเป็นพระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สถาปนา พระบรมราชจักรีวงศ์และสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี

เมื่อ พ.ศ. 2367 ได้เสด็จออกผนวชเป็นเวลา 27 พรรษา ระหว่างทรงอยู่ในสมณเพศ ได้สนพระราชหฤทัยศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ปรากฏในพงศาวดารว่า ได้เป็นเปรียญ ในพ.ศ.  2394 ได้ทรงลาผนวชเนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้อัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน จุลศักราช 1213 ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามตามที่เฉลิมพระบรมนามาภิไธย จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงษ์ วงษาดิศวร กระษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 17 ปี 6 เดือน เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระชนมพรรษา 65 พรรษา มีพระราชโอรส 39 พระองค์ และพระราชธิดา 43 พระองค์

2 ตุลาคม ของทุกปี ‘วันปลอดความรุนแรงสากล’ (International Day of Non-Violence) วันคล้ายวันเกิด ‘มหาตมะ คานธี’ ผู้ริเริ่มปรัชญา-หลักการไม่ใช้ความรุนแรง

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ร่วมกันลงมติให้วันที่ 2 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงสากล เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ มหาตมะ คานธี (2 ตุลาคม ค.ศ. 1869) ผู้ที่ริเริ่มปรัชญาและหลักการไม่ใช้ความรุนแรง 

ทั้งนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้กำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้คนทั่วโลก ตระหนักถึงการไม่ใช้ความรุนแรง และเพื่อให้เกิดสังคมที่มีความสันติสุข มีความอดทนอดกลั้น และเข้าใจหลักการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างลึกซึ้ง

ตามคำนิยามขององค์กรอนามัยโลก ‘ความรุนแรง (violence)’ คือการใช้กำลังหรือพลังทางกายข่มขู่ เพื่อให้ผู้อื่นทำตามความต้องการของตัวเอง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต การทำร้ายจิตใจ

และความรุนแรงนั้นสามารถเกิดได้แทบทุกที่บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ใหญ่ ๆ อย่างสงคราม หรือแม้แต่ในที่ที่น่าจะปลอดภัยที่สุด อย่างเช่น ในบ้าน หรือในครอบครัว และสิ่งที่ตามมาหลังจากความรุนแรงได้เกิดขึ้น นั่นก็คือ จะมีคนได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะทางร่างกาย หรือทางจิตใจ

ดังนั้น ในวันที่ 2 ตุลาคมของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น ‘วันปลอดความรุนแรงสากล’ หรือ International Day of Non-Violence ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ มหาตมะ คานธี 2 ตุลาคม ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412) ผู้ที่ริเริ่มปรัชญาและหลักการไม่ใช้ความรุนแรง 

โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมถึงให้ตระหนักรู้ถึงผลเสียมากมายที่จะตามมาหลังจากที่ความรุนแรงเกิดขึ้นอีกด้วย

3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 วันประสูติ ‘สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร’ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เป็นวันประสูติ ‘สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)’ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับพระนามเดิมนั้นมีว่า ‘เจริญ คชวัตร’ ประสูติที่ อ.เมืองกาญจนบุรี พระชนกชื่อ ‘น้อย คชวัตร’ พระชนนีชื่อ ‘กิมน้อย คชวัตร’

ปี 2469 บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ.กาญจนบุรี เมื่ออายุครบ 20 พรรษาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี จากนั้นได้ทรงทำทัฬหีกรรม (ญัตติซ้ำ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476

ต่อมาทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในปี พ.ศ. 2484 และอีก 6 ปีต่อมาได้เป็นพระราชาคณะสามัญที่พระโสภนคณาภรณ์ และได้เลื่อนขั้นขึ้นตามลำดับจนได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่ง ‘สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก’ ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นอกจากนี้ ยังถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและเป็นพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี โดยสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

ตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญ ที่ได้รับการถวาย คือ ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา (Supreme Holiness of World Buddhism) อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับการทูลถวายจากผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศเข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ ปี 2555 ในฐานะที่ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุด

รวมทั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแห่งประเทศไทย ผู้สอนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรม นำไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมีพระบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทยและทั่วโลก นับเป็นแบบอย่างของสากลโลก ซึ่งเป็นการมอบตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย

4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 ‘พระเจ้าตากสินมหาราช’ สถาปนาราชธานีแห่งใหม่ ทรงพระราชทานนามว่า ‘กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร’

ย้อนกลับไปเมื่อที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 ‘เมืองธนบุรี’ ได้ถูกสถาปนาเป็น ‘ราชธานีแห่งใหม่’ หลังจาก ‘สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี’ หรือ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ สามารถกู้เอกราชคืนมาจากพม่า  

ในเวลานั้นสภาพบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยาทรุดโทรมมาก ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเมืองหลวง เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายและยากแก่การบูรณะ นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังมีพื้นที่กว้างขวางยากแก่การรักษาบ้านเมือง และอยู่ห่างจากปากแม่น้ำไม่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้ต้องสถาปนาราชธานีแห่งใหม่

สำหรับสาเหตุที่พระเจ้าตากสินมหาราชเลือก ‘กรุงธนบุรี’ เพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ โดยตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และยังสะดวกในการควบคุมการลำเลียงอาวุธและเสบียงต่าง ๆ ไปตามหัวเมืองเมื่อเกิดศึกสงคราม 

นอกจากนี้ หากข้าศึกยกกำลังมามากเกินกว่ากำลังจะต้านทานก็ยังสามารถย้ายไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้โดยอาศัยทางเรือ อีกทั้งยังมี 2 ป้อมปราการทั้งป้อมวิไชยประสิทธิ์ และป้อมวิไชเยนทร์ อยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใช้ป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามารุกรานโดยยกกำลังมาทางเรือ 

โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 พระราชทานนามว่า ‘กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร’ และทรงสร้างพระราชวังขึ้นทางทิศใต้ของกรุงธนบุรี ขนาบข้างด้วยวัดแจ้ง หรือวัดมะกอก (ปัจจุบันคือ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร) และวัดท้ายตลาด (ปัจจุบันคือวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร)   

อย่างไรก็ดี ‘อาณาจักรธนบุรี’ เป็นอาณาจักรเพียงแค่ช่วงสั้น ๆ ระหว่างปี 2310 - 2325 หรือเพียง 15 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว คือ ‘สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี’ และต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top