Monday, 28 April 2025
CoolLife

28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ในหลวงรัชกาลที่ 10

28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10

โดยพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ’

>> การศึกษา

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467

ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ อาณาประชาราษฎร์ ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ นานัปการ เพื่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย โดยมิได้ย่อท้อ

ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์ และทรงปฏิบัติส่วนพระองค์ ทั้งในด้านความมั่นคง ของประเทศ ด้านสังคมสงเคราะห์ การศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรม การแพทย์และสาธารณสุข การทหาร การบิน การต่างประเทศ ฯลฯ เพื่อ ความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่บ้านเมืองและ ประชาชนคนไทยทั้งปวง

ดั่งพระราชดำรัสในพิธี ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ในการสถาปนาขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ความว่า “ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ ต่อประชาชนจะปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและ โดยความเสียสละเพื่อความเจริญสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบ เท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”

>> ทรงรับขึ้นทรงราชย์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 19.16 น. ปวงชนชาวไทยทั้งผอง ต่างปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออก ณ ห้อง UPPER MAIN CR.M (ห้อง วปร.) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระรัชทายาทเสด็จ ขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า “ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติ แห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา และกล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง” 

การทุ่มเทพระวรกายปฎิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ โดยมิทรงว่างเว้นของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สะท้อนถึงพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร สมดั่งพระราชปณิธานที่ทรงมีพระราชประสงค์ สืบสาน รักษาต่อยอด ในหลวงรัชกาลที่ 9

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ก่อสร้าง ‘พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ’ สำเร็จ นับเป็นรูปปั้นที่สูงที่สุดในประเทศไทย เทียบเท่าตึก 40 ชั้น

‘พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ’ หรือชื่อที่นิยมเรียกติดปากของคนในพื้นที่ว่า ‘หลวงพ่อใหญ่’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดม่วง ตำบลหัวตะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เป็นรูปปั้นที่สูงที่สุดในประเทศไทย จัดเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกองค์หนึ่ง

ทั้งนี้ ‘พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ’ สร้างขึ้นโดยดำริของ พระครูวิบูลอาจารคุณ (เกษม อาจารสุโภ) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดม่วง เพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2534 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ใช้ทุนทรัพย์ในการสร้างทั้งหมด 104,261,089.65 บาท จากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา รวมเป็นระยะเวลากว่า 16 ปี โดยที่พระครูวิบูลอาจารคุณนั้นได้ถึงแก่มรณกรรมไปเสียก่อนที่การก่อสร้างจะเสร็จด้วยโรคมะเร็ง ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2544 ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ท่านได้ให้ชื่อพระพุทธรูปว่า ‘พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ’ เป็นการอุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

อย่างไรก็ตาม ‘พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ’ มีความสูงจากฐานองค์พระถึงยอดเกศา 95 เมตร เทียบเท่ากับตึก 40 ชั้น และมีความกว้างของหน้าตัก 63.05 เมตร ซึ่งการเดินวนรอบองค์พระต้องใช้เวลากว่า 3 นาที และยังเป็นพระพุทธรูปที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล นับเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัดม่วงและจังหวัดอ่างทอง

29 กรกฎาคม ของทุกปี รำลึก ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ ตามแนวพระราชดำรัส ‘ในหลวง ร.9’ หวังคนไทย 'รู้คุณค่า-รักษาบริสุทธิ์' ในการออกเสียงภาษาที่ถูกต้อง

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่คนไทยควรตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

วันภาษาไทยแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย ในราวปี พ.ศ. 1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ ‘ลายสือไทย’ ขึ้นเป็นครั้งแรก ดัดแปลงมาจากอักษรมอญและเขมร มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อใช้แทนความหมายและเสียงต่าง ๆ ในภาษาไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น ‘อักษรไทย’ ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับวันภาษาไทยแห่งชาติ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยมีความเป็นมาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินไปอภิปรายหัวข้อ ‘ปัญหาการใช้คำไทย’ ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระองค์ท่านทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า…

“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็นวันเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติลงความเห็นให้ วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ‘โชคสองชั้น’ ภาพยนตร์ฝีมือคนไทยเรื่องแรก ถูกนำเข้าฉาย ณ โรงภาพยนตร์พัฒนากร

‘โชคสองชั้น’ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่สร้างและผลิตโดยคนไทยทั้งหมด เป็นภาพยนตร์เงียบ ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำขนาด 35 มม. ผลิตโดย กรุงเทพ ภาพยนตร์ บริษัท (ต่อมา คือ บริษัท ภาพยนตร์ศรีกรุง ของมานิต วสุวัต ร่วมกับคณะนักหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และศรีกรุง)

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ ‘โชคสองชั้น’ เข้าฉายครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร มีจำนวนผู้ชมสูงสุด 4 คืน กับ 1 วัน เท่ากับ 12,130 คน ทำลายสถิติเมื่อ 4 ปีก่อนหน้า ของภาพยนตร์เรื่อง ‘นางสาวสุวรรณ’ ปัจจุบันหนังเรื่องนี้ได้รับความเสียหายจากความเสื่อมสภาพ โดยหอสมุดแห่งชาติได้ค้นพบฟิล์มและพิมพ์สำเนาใหม่เอาไว้ได้เพียง 42 ฟุต คิดเป็นภาพนิ่งทั้งหมด 1,319 ภาพ รวมความยาวประมาณ 1 นาที

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2555 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ ขณะมีอายุเก่าแก่ที่สุด 85 ปี ในบรรดา 25 เรื่อง

31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ถือกำเนิด ‘แท็กซี่’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ยุคนั้นเรียก 'รถไมล์' ช่วยทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังปลดราชการ

วันนี้ในอดีต 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ประเทศไทยเริ่มมี ‘แท็กซี่’ ให้บริการเป็นครั้งแรก โดย พระยาเทพหัสดินร่วมกับพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ‘บริษัท แท็กซี่สยาม’ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังจากปลดจากราชการ โดยนำเอารถเก๋งออสติน (Austin) ขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง โดยติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า-หลังของตัวรถ โดยมีรถให้บริการ 14 คัน คิดค่าบริการตามไมล์ ไมล์ละ 0.15 บาท หรือ 15 สตางค์ (1 ไมล์ = 1.609344 กิโลเมตร) ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบกับราคาค่าโดยสารในปัจจุบัน ในสมัยนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า ‘รถไมล์’ เพราะเก็บค่าโดยสารตามเลขไมล์ระยะทางที่วิ่ง โดยใช้รถยนต์ยี่ห้อออสติน แต่ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากค่าโดยสารแพง ผู้คนยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง ประกอบกับเมืองกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่น ๆ อยู่มากและราคาถูกกว่าจึงต้องล้มเลิกกิจการไป 

จนกระทั่งปี 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าของธุรกิจเอกชนบางราย ได้เริ่มการฟื้นฟูกิจการแท็กซี่ในประเทศไทยขึ้นมาใหม่ โดยในช่วงแรกจะนิยมใช้รถยนต์ยี่ห้อเรโนลต์ (Renault) สมัยนั้นจึงเรียก ‘แท็กซี่’ ว่า ‘เรโนลต์’ ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นที่ฮือฮา มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่กันมากขึ้นจนระบาดไปต่างจังหวัด จนต้องมีการควบคุมกำหนดจำนวนรถ ต่อมารถแท็กซี่ เปลี่ยนกลับมานิยมยี่ห้อออสติน ตามด้วยรถดัทสัน, บลูเบิร์ด, และโตโยต้าในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนป้ายทะเบียนของรถประเภทแท็กซี่จะมีราคาแพงเป็นหลักแสนบาท จึงทำให้ผู้ให้บริการใช้รถยนต์แท็กซี่นานหลายสิบปี จนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเพื่อให้คุ้มทุนค่าป้ายทะเบียน 'แท็กซี่’

และในสมัยก่อน กฎหมายไม่ได้บังคับให้มีการติดมิเตอร์ การจ่ายค่าโดยสารจึงเป็นไปตามการต่อรองระหว่างผู้โดยสารและผู้ให้บริการ เมื่อยุคสมัยผ่านไป ในช่วงเวลาหนึ่ง 'แท็กซี่' กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจรจากการจอดต่อรองราคาดังกล่าว 

ดังนั้นในปี 2535 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการออกกฎหมายให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป ‘ต้องติดมิเตอร์’ อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกยังได้เปลี่ยนระบบป้ายทะเบียนแท็กซี่ ให้จดทะเบียนได้ในราคาถูกลงจากเดิม (เป็นหลักพันบาท) แต่จำกัดอายุของรถแท็กซี่ไว้มิให้เกิน 12 ปี หากเกินจากนี้จะต้องปลดประจำการไม่สามารถเป็นรถแท็กซี่ได้อีก และยังได้สั่งให้เปลี่ยนสีรถแท็กซี่บุคคล จากสี ‘ดำ-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบเก่า เป็นสี ‘เขียว-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบจำกัดอายุ

ปัจจุบันแท็กซี่ในเมืองไทยเป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและเวลา โดยเริ่มต้นที่ 35 บาท พร้อมทั้งมีวิทยุสื่อสาร บางคันอาจมีทีวีให้ดูในระหว่างการเดินทางด้วย

1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษก โดยแบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ซึ่งต้องย้อนกลับไปหลายศตวรรษ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบไปด้วย พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก พระราชพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และการสถาปนาพระราชินี และพระราชวงศ์ ส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ในพระบรมมหาราชวัง

ภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว พระมหากษัตริย์จะประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทองไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี

อย่างไรก็ตาม สำหรับวันที่ 1 ของเดือนสิงหาคมปี 2567 นี้ หากย้อนกลับเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 3 ทรงประกอบ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีอย่างเต็มกระบวนการเยี่ยงอย่างบรรพราชประเพณีสืบ ๆ มา หลังจากที่เสด็จเสวยราชสมบัติต่อจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367

ทั้งนี้ พระองค์ทรงเป็นราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับ เจ้าจอมมารดาเรียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ได้ทรงรับราชการหลายตำแหน่ง อาทิ กำกับราชการกรมท่าและกรมตำรวจ ทรงว่าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวงและตุลาการทุกศาล ทรงค้าขายทางสำเภาจีน นำเงินรายได้เข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา รวบรวมสรรพตำราวิทยาการต่าง ๆ พัฒนาการเศรษฐกิจไทยหลาย ๆ ด้าน โดยการเจริญสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำให้รัฐมั่งคั่งเป็นอันมาก

2 สิงหาคม พ.ศ. 2413 ‘Tower Subway’ รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ที่กรุงลอนดอน

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2413 ทาวเวอร์ ซับเวย์ (Tower Subway) รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดให้บริการที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเทมส์ (Thames) ซึ่งมี 2 สถานีคือ ทาวเวอร์ ฮิลล์ (Tower hill) และ ไวน์ เลน (Vine lane) โดยรถไฟใต้ดินสายนี้ได้ชื่อมาจาก ‘หอคอยแห่งลอนดอน’ (Tower of London)

ทั้งนี้ อุโมงค์ออกแบบและก่อสร้างโดย เจมส์ เกรทีด (James Henry Greathead) ส่วนเปลือกอุโมงค์ออกแบบโดย ปีเตอร์ บาร์โลว์ (Peter William Barlow) และมีลูกชายของบาร์โลว์คือ ปีเตอร์ บาร์โลว์ จูเนียร์(Peter W. Barlow Jr.) เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งเริ่มก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2412 โดยขุดอุโมงค์รถไฟด้วยเครื่องจักรไฮดรอลิก ลึกประมาณ 18 เมตรใต้ผืนดิน ในระยะแรกอุโมงค์ยาวเพียง 410 เมตร กว้าง 2.1 เมตร รางกว้าง 76.2 เซนติเมตร ใช้เครื่องจักรไอน้ำขนาด 4 แรงม้าเป็นตัวลากรถเคเบิลคาร์ ขนาด 12 ที่นั่ง ใช้เวลาโดยสารเที่ยวละประมาณ 70 วินาที

หลังจากเปิดใช้งานได้ประมาณ 3 เดือน ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะความคับแคบและไม่สะดวกของสถานี ประชาชนจึงนิยมเดินเท้ามากกว่า ต่อมาในที่สุดทางการจึงปรับปรุงใหม่ นำลิฟต์มาแทนบันได เปลี่ยนเครื่องจักรไอน้ำเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้รถไฟฟ้าใต้ดินสายนี้กลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยมีผู้โดยสารกว่า 2 หมื่นคนต่อสัปดาห์ ก่อนจะคลายความนิยมไปหลังจากมีการก่อสร้างสะพาน ’ทาวเวอร์ บริดจ์‘ (Tower Bridge) ในปีพ.ศ. 2437 เนื่องจากไม่ต้องเสียเงินเหมือนรถไฟฟ้า ไม่นานก็ขาดทุนจนรัฐบาลต้องขายกิจการให้เอกชนดำเนินการต่อ ก่อนจะปิดการใช้งานในปีพ.ศ. 2441

3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง-พระราชินี’ เสด็จฯ เปิด ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ระยะ 2-3 พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชาวกรุงฯ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมข้าราชการ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธีทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายสวนเบญจกิติ โดยถ่ายทอดผ่านจอมอนิเตอร์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

ต่อมา เสด็จฯ ไปยังบริเวณจัดนิทรรศการ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสวนป่าระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะเบญจกิติ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น เมื่อสมควรแก่เวลาเสด็จฯ กลับ

ทั้งนี้ โครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ดำเนินการออกแบบภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของ คนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม และสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในการออกแบบได้เน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 โดยปลูกต้นไม้เพิ่ม ในพื้นที่โครงการฯ กว่า 7,000 ต้น มีพรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้น้ำ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองจึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำจำนวน 4 บึง สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำแบบบึงประดิษฐ์ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติของระบบรากพืชชุ่มน้ำ และได้ออกแบบบ่อดักตะกอน ซึ่งเป็นจุดแรกในการรับน้ำจากคลองไผ่สิงโต มีสารแขวนลอยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากคลองไผ่สิงโต เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ อีกทั้งมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่และบึงน้ำ มีการออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ความสูง 5-8 เมตร ที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของสวนที่สามารถให้ทุก ๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่สวนป่าได้ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมได้ออกแบบอาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย

มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับอาคารโกดังเดิมจำนวน 3 หลัง ได้ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา และได้เปิดพื้นที่กลางอาคารทั้ง 4 หลัง ให้โปร่งโล่งและปลูกต้นไม้เพิ่มกลางอาคารโดยใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน

โดยสวนป่าแห่งนี้เป็นสวนที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทยที่สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน สัตว์ ป่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน สวนแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดี ต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และกรมธนารักษ์ คาดหวังว่า สวนป่าแห่งนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งความสุขต่อไปได้

4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ‘ในหลวง ร.5’ โปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ จุดกำเนิดกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นของการสื่อสารในสมัยก่อนนั้น เกิดจากการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า โดยมีการติดต่อข่าวสารกันอย่างง่าย ทั้งผ่านทางพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว จนถึงการจัดตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ ก็ถือเป็นพัฒนาการทางการส่งข่าวสารอย่างง่ายอีกช่องทางหนึ่งและเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแรกของ ‘การไปรษณีย์ไทย’ ด้วยการจัดตั้ง ‘กรมไปรษณีย์’ ในประเทศไทย และการผลิต ‘แสตมป์ชุดโสฬส’ แสตมป์ชุดแรกของประเทศ รวมไปถึงจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรครั้งแรก เพื่อรองรับกิจการไปรษณีย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

โดยปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ข่าวราชการ’ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงวางโครงการและเตรียมการไว้พร้อมที่จะเปิดบริการไปรษณีย์แล้ว ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า ‘ไปรษณียาคาร’

ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่าราชการของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นก่อนกรมไปรษณีย์แล้วนั้นเป็นงานในด้านสื่อสารด้วยกัน ควรรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกันเสีย เพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นการสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’

ต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ที่ทำการไปรษณีย์กลาง’ การไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะ จำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติ เมื่อเปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปีแล้ว รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นในปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248’

ทั้งนี้ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’ และจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ 100 ปี การสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลกของสหประชาชาติ

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงเรียนนายร้อย จปร.’ มุ่งมั่นผลิตนายทหารที่มีคุณลักษณะตามกองทัพต้องการ

‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานกำเนิดเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ณ บริเวณพระราชวัง สราญรมย์ ต่อมาเมื่อปี 2451 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมมาอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก เนื่องจากมีผู้นิยมเข้าเรียนจำนวนมากและสถานที่เดิมคับแคบ จนกระทั่งปี 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก ด้วยเหตุที่สถานที่ตั้งเดิมแออัด ประกอบกับสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยในการฝึกศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2524 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแห่งนี้ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ยังความปลาบปลื้มแก่บรรดานักเรียนนายร้อย ศิษย์เก่า และกำลังพลของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอย่างหาที่สุดมิได้

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง เริ่มแรกใช้ชื่อว่า ‘คะเด็ตสกูล’ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้เหมาะสม ได้แก่ โรงเรียนทหารสราญรมย์ โรงเรียนสอนวิชาทหารบก โรงเรียนทหารบก โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมและโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก จนกระทั่ง 1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามโรงเรียนนายร้อยทหารบกว่า ‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’ ต่อมาเมื่อปี 2493 ได้พระราชทานตราอาร์มหรือตราแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้เป็นตราประจำโรงเรียน และยังให้ใช้เป็นเครื่องหมายเหล่าและสังกัดของนักเรียนนายร้อยด้วย

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับยุคสมัย นับตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญและวิชาทหารหลักสูตรตามแนวทางของโรงเรียนโปลีเทคนิค ประเทศฝรั่งเศส 5 ปี หลักสูตรตามแนวทางของโรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสต์ปอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา 5 ปี ต่อมาในปี 2544 ได้ปรับปรุงหลักสูตร 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของกองทัพบก และมติคณะกรรมการพัฒนาระบบการศึกษาของกองทัพบกใช้ชื่อหลักสูตรว่า ‘หลักสูตรนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พุทธศักราช 2544’ ต่อมาหลักสูตรนี้ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีการประเมินและปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต 9 หลักสูตร หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 6 หลักสูตร และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต 3 หลักสูตร การจัดการศึกษาในแต่ละภาคการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาวิชาการ วิชาทหาร และการเสริมสร้างคุณลักษณะผู้นำ

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจะได้รับพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา พิธีพระราชทานกระบี่ได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2471 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระบี่และรางวัลการศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนราชดำเนินนอก นับตั้งแต่นั้นมาได้มีการจัดพิธีพระราชทานกระบี่ขึ้นเป็นประจำจนถึงทุกวันนี้ 

ต่อมาเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้บัญชาการพิเศษโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตลอดระยะเวลาหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามุ่งมั่นผลิตนายทหารสัญญาบัตรหลักที่มีคุณลักษณะตามที่กองทัพต้องการ มีความเป็นสุภาพบุรุษ นักรบ นักพัฒนา เป็นผู้นำที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ เทิดทูนชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มุ่งพัฒนากองทัพและประเทศชาติ พร้อมเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top